ทิศทาง ‘LINE for Business’ ธุรกิจลักชัวรี่-ภาครัฐมาเเรง ลุยโซลูชันจัดการข้อมูลเเละ NFT

เปิดกลยุทธ์ LINE for Business เเพลตฟอร์มดิจิทัลยอดนิยม พบกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูเติบโตก้าวกระโดด ภาครัฐไทยทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API โตถึง 482 % ปีนี้พร้อมบุกโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เริ่มทำตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คว้าโอกาส NFT 

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย เล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่าเป็น ‘ปีเเห่งความท้าทาย’ ที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งวิถีการใช้ชีวิตเเละกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ

ในช่วงเเรกของวิกฤตโควิด-19 ผู้คนปรับตัวเเบบเฉพาะหน้า เเต่เมื่อเวลาผ่านไปมีหลายพฤติกรรมที่ได้กลายมาเป็นเทรนด์กระเเสหลักอย่างการทำงานจากที่บ้าน การใช้บริการส่งของหรือส่งอาหารเเบบเดลิเวอรี่ รวมไปถึงการหารายได้ในรูปเเบบสกุลเงินดิจิทัล

นอกจากนี้ เเรงกดดันจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ

ลักชัวรี่มาเเรง ภาครัฐใช้ LINE API โต 482%

ประเทศไทย มีการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก ในปี 2564 โดยมียอดผู้ใช้ LINE ทั้งสิ้น 50 ล้านราย เพิ่มจากสิ้นปี 2563 ที่มียอดผู้ใช้ 47 ล้านราย

ดัชนีชี้วัดของการใช้งานบริการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตขึ้นถึง 47% จาก 4.6 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2563 สู่ 6.9 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2564

โดยธุรกิจกลุ่มสถาบันการเงินยังคงเป็นผู้นำในการใช้งาน ‘LINE API’ มากที่สุด

ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู ‘Luxury’ ถือเป็นธุรกิจกลุ่มใหม่ที่มีการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากมูลค่าเงินลงทุนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดบน LINE for Business ถึง 200% ในช่วงปี 2562-2564

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มภาครัฐและบริการสาธารณะ กลายเป็นกลุ่มที่เติบโตทางด้านดิจิทัลมากที่สุดในปี 2564 ด้วยยอดการทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตถึง 482% เมื่อเทียบกับปี 2563

ตามมาด้วย กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่มียอดการเติบโตของการใช้งานผ่าน LINE API มากกว่า 100%

พัฒนาโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจกลาง-เล็ก

สำหรับกลยุทธ์ของ LINE ในปี 2565 จะมุ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับธุรกิจในการปรับตัวสู่ดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มธุรกิจไทยให้เเข่งขันในได้ในระดับสากล

นอกจากนี้ จะมีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล หรือ DATA ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต

ที่ผ่านมา LINE มีโซลูชันจัดการข้อมูลให้แบรนด์ธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ ‘MyCustome’ โซลูชันในการบริหารจัดการข้อมูลที่ทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลโดยได้รับการอนุญาตจากลูกค้าโดยตรง (1st party data consent)

ทั้งจากภายในแพลตฟอร์ม LINE หรือนำข้อมูลภายในของแบรนด์ หรือที่ได้จากช่องทางอื่นมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานได้ทั้งในและนอกแพลตฟอร์ม LINE

เเละในปีนี้ LINE พัฒนาโซลูชันใหม่ล่าสุด ‘Business Manager’ ช่วยบริหารจัดการข้อมูลอย่างง่าย ตอบโจทย์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้ต้องการบริหารงานข้อมูลที่ซับซ้อน โดยจะเน้นไปที่การบริหารจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยตรงบนแพลตฟอร์ม LINE ระหว่าง LINE Official Account และ LINE Ads Platform เพื่อให้แบรนด์สามารถนำมาวิเคราะห์ นำเสนอสินค้าบริการที่โดนใจลูกค้า

ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเเบรนด์ นอกจาก บัญชีรับรอง (Verified Account) เเล้ว ในปีนี้จะมีโปรแกรม BLUE BADGE ให้ความรู้ จัดอันดับ และให้รางวัลแก่แบรนด์ที่ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งในแง่ของสินค้า บริการ เเละการออกแบบผลิตภัณฑ์ร้านค้า

เดินหน้าลุย NFT for Business

ในปี 2022-2023 นี้ LINE เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจโลกใหม่ ผ่านการพัฒนาโซลูชันสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ NFT (Non-fungible Token)

โดย LINE ตั้งเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับองค์กรธุรกิจไทย ที่จะเดินหน้าสู่การทำการตลาดด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในด้าน การจัดหา creator ให้กับแบรนด์ และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการใช้งาน NFT เพื่อธุรกิจ (NFT for Business) ด้วยการร่วมมือกับ LINE Consumer Business ที่เพิ่งประกาศทิศทางในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม NFT อย่างเต็มรูปแบบ

โดย LINE เตรียมจะผลักดันให้เหล่าครีเอเตอร์ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านราย สร้างรายได้เพิ่ม ผ่านการสร้างสรรค์ commercial arts ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Licensing IP Business หรือการขายสินค้า (Merchandising) โดยที่ผ่านมา มีครีเอเตอร์ชาวไทยมากกว่า 28 รายที่กลายเป็นผู้เล่นธุรกิจ IP ผ่านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Uniqlo และ AIS สำหรับปีนี้ LINE ก็มีแผนจะจะเปิดตัว Line Valley สำหรับการขายสินค้าให้กับเหล่าครีเอเตอร์ด้วย

พร้อมออกโปรแกรมพัฒนาครีเอเตอร์ใหม่ จัดตั้ง LINE Creators Academy สร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ NFT ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสำหรับครีเอเตอร์ที่สนใจ ซึ่งปัจจุบัน LINE ประเทศไทย ได้เป็นพันธมิตรกับตลาด NFT (NFT Marketplace) ชั้นนำ อาทิ EAST NFT, Bitkub NFT, Coral by KASIKORN X และ Zixel by Zipmex  NFT

เมื่อวันพุธที่ 23 มี..ที่ผ่านมา  LINE ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเเผนเตรียมเปิดตัว “LINE NFT” ในวันที่ 13 เม.ย.ที่จะถึงนี้ โดยจะเปิดให้ซื้อขาย NFT ได้ครบจบในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงาน NFTs มากกว่า 100 รูปแบบ พร้อมเปิดให้ชมผลงาน NFT limited edition ของบริษัทบันเทิงญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Yoshimoto Kogyo ซึ่ง ณ ตอนนี้จะเปิดให้บริการ “LINE NFT” แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก NFT Nonfungible.com ระบุว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดขาย NFT ทั่วโลกถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 21,000% จากปี 2020 ที่มียอดรวมเเค่ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ