อินเดีย-เบลเยียมไม่สนคว่ำบาตร “เพชรรัสเซีย” ธุรกิจยังเดินต่ออย่างเงียบๆ

(Photo: Shutterstock)
จากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย บริษัทจำนวนมากในธุรกิจ “เพชร” เลือกที่จะหยุดซื้อ “เพชรรัสเซีย” เพราะกังวลว่าจะถูกแบนการขายสินค้าในตลาดตะวันตก ยกเว้นประเทศอินเดียและเบลเยียมที่ยังซื้อเพชรรัสเซียกันอย่างลับๆ

เหมืองเพชรรายใหญ่ของรัสเซียคือ Alrosa PJSC นั้นได้รับผลกระทบเมื่อสหรัฐอเมริกาดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย จนกระทั่งผู้ซื้อในอินเดียและเบลเยียมหวนกลับมาซื้อ “เพชรรัสเซีย” อย่างลับๆ

โดยทั่วไปแล้วซัพพลายเออร์จัดหาเพชรให้กับผู้ผลิตเครื่องประดับจะกังวลมากหากยังรับซื้อเพชรรัสเซียอยู่ เพราะอาจจะสูญเสียสัญญาขายเพชรให้กับผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังฝั่งตะวันตก เช่น Tiffany & Co. หรือ Signet Jewelers ได้

รวมถึงสหรัฐฯ นั้นเป็นตลาดขายเพชรสำคัญ เพราะ 50% ของเพชรที่เจียระไนแล้วจะขายอยู่ในสหรัฐฯ ตลาดใหญ่ที่ตอบรับเครื่องประดับเพชรทุกระดับตั้งแต่ระดับราคาชิ้นละหลายร้อยล้านบาท ไปจนถึงเครื่องประดับเพชรทั่วไปสนนราคาหลักหมื่นบาท

เมื่อตลาดผู้ซื้ออยู่ในมือสหรัฐฯ เป็นหลัก จึงทำให้ผู้ขายตลอดซัพพลายเชนระวังตัวเมื่อสหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรรัสเซีย

 

แต่ในทางปฏิบัติ…ยากหน่อยถ้าจะบอยคอต “เพชรรัสเซีย”

อย่างไรก็ตาม การที่บางบริษัทไม่กลัวที่จะซื้อเพชรรัสเซียก็สะท้อนให้เห็นภาพว่าการบอยคอตสินค้านี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนในอุตสาหกรรมต่างรู้ดีว่า เมื่อเพชรหลุดรอดเข้ามาในซัพพลายเชนได้แล้ว ก็เป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดตามสืบย้อนว่าแท้จริงแล้วเพชรเม็ดนั้นมาจากไหน

เพชรนั้นจะถูกคัดแยกคุณภาพและขนาดออกมาโดยแยกประเภทได้ถึง 15,000 แบบ และเมื่อมีการซื้อขายต่อ พ่อค้าอาจจะนำไปผสมปนเปกันแม้เป็นเพชรต่างที่มา กว่าจะขึ้นไปอยู่บนตัวเรือนแหวนเพชรหรือบนจี้ห้อยคอก็ยากที่จะบอกได้แน่ชัดแล้วว่าเพชรถูกขุดหรือผลิตมาจากไหน

หนำซ้ำ รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่ โดยเพชรของ Alrosa จะโดดเด่นในเวทีโลกเพราะเป็นผู้ผลิตเพชรขนาดเล็กเป็นพิเศษและมีราคาถูกกว่าแหล่งอื่น ทำให้เกิดความกังวลตลอดซัพพลายเชนว่าเพชรจะมีไม่เพียงพอหลังคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว

แม้ว่าแบรนด์ลักชัวรีในยุโรปจะร้องขอกับ De Beers ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ช่วยเพิ่มการผลิตและโควตาขายแก่ซัพพลายเออร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพชรในตลาดเพียงพอ แต่ดูเหมือน De Beers ก็เพิ่มการผลิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผลสุดท้ายคือ ประเทศที่มีเพชรเป็นอุตสาหกรรมสำคัญก็จำต้องซื้อเพชรรัสเซียต่อไป อย่างเช่น “อินเดีย” ที่เป็นแหล่งซื้อขายและเจียระไนเพชร แรงงานนับล้านๆ คนในอินเดียต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมนี้ หรือใน “เบลเยียม” ท่าทีของประเทศก็ลังเลที่จะคว่ำบาตรเพชรรัสเซียเต็มตัว เนื่องจากปกติ 80% ของเพชรดิบในโลกนี้จะมีการซื้อขายผ่านเมืองท่าแอนต์เวิร์ปของเบลเยียม ทำให้เลี่ยงยากที่จะสกัดกั้นเพชรรัสเซียออกไป

 

ตลาดตะวันออกไม่มีปัญหากับเพชรรัสเซีย

ก่อนหน้าการคว่ำบาตร Alrosa มีผู้ซื้อสำคัญอยู่ราว 50 ราย บัดนี้ลดเหลือ 10 ราย โดยแหล่งข่าวของสำนักข่าว India Times ระบุว่ามีบริษัทอินเดียสองรายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด คือ Kiran Gems และ Shree Ramkrishna Exports

(Photo: Shutterstock)

สำหรับเพชรรัสเซียที่นำเข้ามาผลิตในอินเดียคาดว่าส่วนใหญ่จะเข้าไปขายต่อที่ตลาดใหญ่ของฝั่งตะวันออกคือ จีน ญี่ปุ่น และในอินเดียเอง ซึ่งสามประเทศนี้รวมกันคิดเป็นตลาดราว 30% ของตลาดเครื่องประดับเพชรทั่วโลก และทั้งสามตลาดไม่ได้มีปัญหากับการใช้เพชรรัสเซียเหมือนอย่างตะวันตกขณะนี้

แต่แน่นอนว่า ด้วยธรรมชาติในการซื้อขายวงการเพชรดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่จะมีเพชรรัสเซียเล็ดรอดไปอยู่ในตลาดตะวันตกด้วย

อินเดียยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญกับ Alrosa ในทางการเงินด้วย เพราะการคว่ำบาตรทำให้ธนาคารสหรัฐฯ ยุโรป จนถึงตะวันออกกลางหยุดให้เงินทุนกับ Alrosa และหยุดสนับสนุนการซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ธนาคารอินเดียจึงกลายเป็นคนสำคัญในการเป็นตัวกลางซื้อขายให้ผ่านสกุลเงินยูโรและรูปี

ถึงแม้ว่า Alrosa จะกลับมาทำการค้าขายได้ เพราะมีตลาดพร้อมรับซื้อแบบนี้ แต่บริษัทก็ตกอยู่ในสถานะที่ต้องยอมยืดหยุ่นให้ผู้ซื้อมากกว่าเดิม เพราะปกติผู้ขายจะทำการจัดเพชรใส่กล่องไว้ให้แล้ว ผู้ซื้อจะไม่สามารถคัดเพชรได้ แต่ในปัจจุบัน บริษัทต้องยอมให้ผู้ซื้อคัดเพชรเอง ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ซื้อที่จะทำการเลือกเพชรที่กำลังขาดแคลนในตลาดหรือเพชรที่จะได้กำไรดีกว่าไว้ก่อน

Alrosa ยังมีนโยบายจะเพิ่มออฟฟิศสาขาใหม่ในอินเดียด้วย เรียกได้ว่า “อินเดีย” เป็นผู้รับผลบวกในตลาดเพชรเต็มๆ หลังจากการคว่ำบาตรของรัสเซียกับตะวันตก

Source