“Robinhood” วางโมเดลธุรกิจ 3 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรเพื่อจะเริ่ม “ทำกำไร” ได้จริง!?

Robinhood ทำกำไร
Robinhood เริ่มต้นจากการเป็นโครงการ ‘CSR’ ของธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเป็นแอปฯ ที่ “ไม่เก็บค่า GP” จากร้านอาหารและโรงแรมบนแพลตฟอร์ม เป้าหมายเพื่อ “ช่วยคนตัวเล็ก” ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อแอปฯ ได้รับผลตอบรับดีกว่าที่คิด ทำให้ไอเดียการ ‘monetize’ หากำไรเริ่มเข้ามา และคาดว่าจะทำได้เร็วที่สุดในปี 2568

ในงานแถลงข่าวแกรนด์โอเพนนิ่งบริการ ‘Robinhood Mart’ สองผู้บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ และ “สีหนาท ล่ำซำ” ซีอีโอบริษัท บอกกับสื่อมวลชนว่า Mart จะเป็นบริการรอยต่อเข้าสู่เฟส 2 ของ Robinhood เพราะจะเป็นบริการแรกที่ “ทำกำไร” จากเดิมเป็นโครงการ CSR ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยินดี ‘เผาเงิน’ เพื่อช่วยสังคม

ย้อนทบทวนประวัติและแผนของ Robinhood กันอีกครั้งหนึ่ง

2564 – เปิดตัวระบบ Food เดลิเวอรีจัดส่งอาหาร
พ.ค. 2565 – เปิดระบบ Travel จองโรงแรม บริการการท่องเที่ยว
ก.ค. 2565 – เปิดระบบ Mart ซื้อและจัดส่งของจากร้านค้า (soft launch)
ธ.ค. 2565 – เปิดระบบ Express จัดส่งเอกสารและพัสดุ
ภายในไตรมาส 4/2565 – เปิดระบบ Ride-hailing บริการเรียกรถรับส่งทั้งแท็กซี่และรถยนต์นั่งทะเบียนขาว

ที่ผ่านมาแอปฯ Robinhood ขาดทุนมาตลอดเพราะไม่มีการเก็บค่า GP ทำให้มีช่องทางเพียง 2 ช่องทางที่ทำเงินได้ ได้แก่ “การเก็บค่าโฆษณา” สำหรับร้านอาหารหรือโรงแรมที่ต้องการทำแบนเนอร์ให้เห็นเด่นชัดบนแอปฯ ส่วนนี้คาดว่าปี 2565 น่าจะสร้างรายได้ได้ 50 ล้านบาท กับอีกช่องทางคือ “ปล่อยกู้สินเชื่อ” ให้กับคนในระบบนิเวศ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มได้ 1 เดือน ทำให้ยังประเมินผลตอบรับได้ยาก

แล้ว Robinhood จะทำกำไรได้อย่างไรถ้าไม่แตะ GP ในธุรกิจเดิม? คำตอบคือการเก็บ GP ใน “ธุรกิจใหม่” ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ Mart, Express และ Ride-hailing รวมถึงการแตกไลน์ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อคิดถึงฐานลูกค้า Robinhood ที่วันนี้มีกว่า 3.2 ล้านราย ไรเดอร์อีกกว่า 35,000 ราย ยังไม่รวมร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม และพาร์ทเนอร์ขับรถยนต์โดยสารที่จะเข้ามาในระบบ ทำให้ไม่ยากที่แพลตฟอร์มจะแนะนำบริการใหม่ๆ ให้ทุกคนในระบบนิเวศ และเห็นหนทางทำกำไรข้างหน้า

 

ประเดิมการทำกำไรจาก Mart และ Express

Robinhood Mart
บริการใหม่ Robinhood Mart

Robinhood Mart เป็นรอยต่อเข้าสู่เฟสการสร้างกำไร บริการซื้อ-ส่งของเดลิเวอรีนี้มีการเก็บค่า GP ไม่เกิน 15% (รายเล็กจะไม่เก็บค่า GP หรือเก็บน้อยกว่ารายใหญ่) ทำให้คาดว่าปี 2566 บริการนี้จะทำกำไร 50 ล้านบาท ถือเป็นบริการแรกของแพลตฟอร์มที่จะทำกำไรได้จริง (อ่านรายละเอียดไฮไลต์ธุรกิจ ‘Mart’ ได้ที่)

ต่อด้วย Robinhood Express ที่จะมาช่วงปลายปี บริการนี้เน้นส่งเอกสาร-พัสดุให้บริษัทต่างๆ ทำให้สีหนาทมองว่าแพลตฟอร์มจะสามารถคิดค่าใช้จ่ายที่ทำกำไรได้เช่นกัน เพราะปกติบริษัทเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายจ้างเมสเซนเจอร์อยู่แล้ว แค่เปลี่ยนมาใช้บริการจาก Robinhood แทน

 

Ride-hailing ตัวจริงในการ “ทำกำไร”

แม้ Mart กับ Express จะเริ่มทำกำไรให้ก่อน แต่ธนามองว่า บริการที่อนาคตจะสร้างกำไรอันดับหนึ่งให้แพลตฟอร์มจะเป็นการ “เรียกรถ” เพราะเห็นบทพิสูจน์จากแพลตฟอร์มอื่นมาแล้วว่าบริการนี้สามารถเลี้ยงระบบได้จริง

ปัจจุบัน Robinhood กับ Grab เป็นเพียงสองแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็น “บริการรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ที่ถูกกฎหมาย ลูกค้าจะสามารถเรียกได้ทั้งแท็กซี่โดยสารและรถยนต์ป้ายทะเบียนขาวที่ไปจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะแล้ว

Robinhood Ride

แผนของ ‘Robinhood Ride’ กำลังรับสมัครรถยนต์และแท็กซี่ขึ้นระบบ คาดว่าในช่วงเปิดตัวไตรมาส 4 นี้จะมีรถให้เรียก 10,000+ คัน

การปลดล็อกกฎหมายรถยนต์รับจ้างครั้งนี้ยังจะทำให้การแข่งขันถูก ‘รีเซ็ต’ ในแง่ราคาโดยสารด้วย เพราะกฎหมายจะบังคับเพดานราคา ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ หากเจอระบบโก่งราคาสูงมากในช่วงพีคก็จะสามารถร้องเรียนได้

ธนาแย้มว่า Robinhood Ride จะหาทางเข้ามา ‘แก้ pain’ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเรียกรถ โดยมี 2 ประเด็นที่พบว่าลูกค้าต้องการ คือ 1)Availability ลูกค้าเรียกแล้วต้องมีรถทั่วถึง และเรียกแล้วมีรถตกลงไปยังจุดหมาย และ 2)Safety ความปลอดภัยต้องสูงขึ้น

 

ฉีกไปสู่ธุรกิจ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” EV

อีกหนึ่งธุรกิจที่วางเป้าไว้คือ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า

Robinhood พิจารณาธุรกิจนี้เพราะไรเดอร์ที่มีในระบบ และอนาคตจะมีพาร์ทเนอร์แท็กซี่-รถยนต์รับจ้างเพิ่มอีก ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะต้องการเช่าหรือผ่อนยานพาหนะ EV ซึ่งประหยัดค่าพลังงานกว่าและดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่าสำหรับไรเดอร์ Robinhood จากสองแบรนด์คือ H SEM และ ETRAN

จริงๆ บริษัทมีการชิมลางไปแล้วผ่านความร่วมมือกับ ETRAN และ H SEM สองแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยทั้งสองแบรนด์ทำตลาดให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับไรเดอร์ Robinhood ปัจจุบันมีผู้เช่าอยู่ประมาณ 400-500 คัน

เมื่อเห็นดีมานด์ บริษัทจึงมองว่าอาจจะลงทุนฟลีทรถ EV ให้เช่าด้วยตนเองทั้งแบบมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ โดยขณะนี้กำลังร่างแผนเสนอบอร์ดบริหารอนุมัติ เพราะจะต้องใช้เงินลงทุนราว 4,000-5,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อยานพาหนะ EV รวม 30,000 คันภายในปี 2568

Robinhood ยังจะเริ่มจัดซื้อก็ต่อเมื่อราคา EV ลงมาในจุดที่เหมาะสม กล่าวคือรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 900,000 บาทต่อคัน และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 50,000 บาทต่อคัน

“ธนา” สรุปว่า ปี 2566 อย่างไรทั้งแอปฯ Robinhood ก็ยังขาดทุนแน่นอน แต่ในปี 2568 นั้น ‘ไม่แน่’ ถ้าทุกอย่างเป็นใจ คือบริการต่างๆ ที่วางแผนเดินได้ตามเป้า มีผู้ใช้บริการมาก และบริษัทบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปีนั้นก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่ ‘ซูเปอร์แอปฯ’ รายนี้มีกำไรก็ได้