Apple จะลดการพึ่งพาซัพพลายเชน “จีน” …ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องใช้เวลา 8 ปีเพื่อย้ายฐานผลิต

หากเป็นอุตสาหกรรมอย่างเสื้อผ้าหรือของเล่น การจะลดซัพพลายเชนใน “จีน” และย้ายฐานไปประเทศอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีการลงทุนในจีนมามากกว่า 2 ทศวรรษ ลงเงินไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การจะถอนตัวออกมาจึง “ไม่ง่าย” โดย Bloomberg Intelligence ประเมินว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี

บริษัทอเมริกันมีหลายเหตุผลให้ย้ายฐานผลิตออกจากจีน ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงนโยบายล็อกดาวน์ Zero-Covid ของจีน และยังมีความกดดันทางการเมืองระหว่างกันเพราะเกาะไต้หวันเพิ่มเข้ามาอีก

แต่การจะเลิกคบค้าสมาคมกันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

Apple Inc. กำลังพยายามจะลดการพึ่งพิงจีน โดยเริ่มขั้นแรกไปแล้วด้วยการย้ายการผลิต iPhone 14 บางส่วนไปผลิตในอินเดีย รวมถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Apple อย่าง Foxconn Technology Group ก็ตกลงที่จะขยายฐานการผลิตมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 11,000 ล้านบาท) ในเวียดนามแล้ว

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Intelligence (BI) รายงานบทวิเคราะห์ว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี โดยปัจจุบัน 98% ของ iPhone ถูกผลิตขึ้นในจีน

Photo : Shutterstock

ความพร้อมของซัพพลายเออร์ท้องถิ่น การขนส่งทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคมที่พร้อมสรรพ ซัพพลายเชนที่เลียนแบบได้ยากเหล่านี้ ร่วมกับการลงทุนลงแรงของบริษัทเทคฯ อเมริกันมานานกว่า 2 ทศวรรษกับเม็ดเงินหลายหมื่นล้านเหรียญ ทำให้การก้าวขาออกจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

มีหลายบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนสร้างฐานผลิตในจีน เช่น Amazon, HP, Microsoft, Cisco Systems หรือ Dell แต่บริษัทที่ลงทุนมากที่สุดก็หนีไม่พ้น Apple ทำให้เป็นบริษัทที่ลดการผลิตในจีนได้ยากที่สุด

สำหรับบริษัทอื่นๆ “กรณีส่วนใหญ่” นั้น BI คาดว่าจะสามารถลดการผลิตในจีนลงได้ 20-40% ภายในปี 2030

 

สหรัฐฯ ผลักดันเต็มที่ให้ย้ายฐานออกจากจีน

แน่นอนว่าเหตุไม่คาดฝันอย่างการคว่ำบาตรซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก กลายเป็นเหตุย้ำเตือน “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นหากบริษัทใดทุ่มลงทุนไปกับแหล่งเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังสานต่อแนวทางการทำสงครามเย็นทางเศรษฐกิจกับจีน โดยมีแนวนโยบายส่งเสริมให้บริษัทอเมริกัน ‘friend-shoring’ คือ ถ้าไม่ย้ายฐานผลิตกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ ก็ขอให้ย้ายไปอยู่ในประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง โดยใช้ทั้งแรงจูงใจทางภาษีและเงินสนับสนุนจากรัฐให้ย้ายฐาน และกดดันด้วยกำแพงภาษี โควตาการส่งออก-นำเข้ากับจีน นโยบายนี้จึงยิ่งเป็นแรงหนุนให้บริษัทอเมริกันย้ายออกจากจีน

(Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

แรงหนุนเหล่านี้ยังไม่เกิดผลจริงในทันที เม็ดเงินของบริษัทอเมริกันที่ลงทุนโดยตรงในจีนสะสมอยู่ที่ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2020 และแม้จะพูดกันเรื่องกระจายความเสี่ยง ไม่ลงซัพพลายเชนหลักไว้ในประเทศเดียว แต่ในปี 2021 บริษัทอเมริกันก็ยังลงทุนโดยตรงในจีนอีก 2,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 95,000 ล้านบาท) ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์แห่งประเทศจีน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะบางธุรกิจอาจจะใช้วิธีลงทุนผ่านทางบริษัทในฮ่องกงเพื่อเลี่ยงภาษี

อีกทั้งมิตรของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ตอบรับขันแข็งกับนโยบาย ‘friend-shoring’ พันธมิตรหลักอย่างสิงคโปร์ถึงกับเตือนรัฐบาลไบเดนว่า การแยกให้จีนไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนได้ และทำให้การเติบโต ความร่วมมือภายในภูมิภาคลดลง ทำให้ประเทศต่างๆ แตกแยกกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของภาคเอกชนต่อการลงทุนในจีนก็เริ่มลดลงแล้ว โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ US-China Business Council มีการสำรวจพบว่า ปัจจัยลบหลักๆ ที่ทำให้เอกชนลดความสนใจที่จะลงทุนในจีนต่อในอนาคต มาจากนโยบายล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ของจีนซึ่งรวมถึงการจำกัดการเดินทางช่วงโควิด-19 ด้วย ตามด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แย่ลง และความกังวลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์-ดาต้า

การสำรวจครั้งนี้พบด้วยว่า เกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทที่สำรวจเริ่มย้ายฐานซัพพลายเชนบางส่วนออกจากจีนในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นการย้ายแบบ “จีน+1” คือการผลิตหลักก็ยังคงอยู่ในจีน เพียงแต่เพิ่มกำลังเสริมในประเทศเขตเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย

Source