หลังก่อตั้งแบรนด์มา 55 ปี ล่าสุด Ralph Lauren เปลี่ยนโลโก้บนอกเสื้อโปโลจากรูปคนขี่ม้าเป็นรูปคนขี่ลามะ ในคอลเล็กชันพิเศษที่คอลแลปกับเกม Fortnite เปลี่ยนมู้ดแบรนด์เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่
ภาพจำของโลโก้ Ralph Lauren บนอกเสื้อโปโลคือภาพของชายคนหนึ่งขี่ม้าเล่นกีฬาโปโล แต่ภาพที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์นี้กำลังจะเปลี่ยนไปในคอลเล็กชันใหม่ที่แบรนด์คอลแลปกับเกม Fortnite
โลโก้ใหม่จะเปลี่ยนสัตว์พาหนะที่ชายคนนี้ขี่จาก “ม้า” มาเป็น “ลามะ” (piñata llamas) ซึ่งเป็นสัตว์ไอคอนของเกม Fortnite เป็นการดีไซน์ใหม่อย่างหนึ่งในการจับมือกันของสองแบรนด์
คอลเล็กชันนี้ แบรนด์ Ralph Lauren ได้เข้าไปดีไซน์เครื่องแต่งกาย “ในเกม” ให้กับ Fortnite และไลน์เสื้อผ้า “ในชีวิตจริง” ก็จะดีไซน์ให้สอดคล้องหรือบางชิ้นก็เหมือนกับที่มีในเกมดิจิทัลเลย
“เดวิด ลอเรน” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรม และลูกชายของผู้ก่อตั้งแบรนด์ บอกว่า การเปลี่ยนโลโก้ไม่ได้มีงานวิจัยหรือโฟกัสกรุ๊ปรองรับด้วยซ้ำ “เราทำงานด้วยหัวใจและสัญชาตญาณของเรา และมันก็รู้สึกว่าถูกต้อง รู้สึกสนุกที่ได้ทำ” ลอเรนกล่าว
การปรับตัวให้แบรนด์แฟชั่นสนุกมากขึ้น และคอลแลปกับโลกดิจิทัล ไม่ได้มีแค่ Ralph Lauren ที่ทำ Fortnite เองเคยคอลแลปกับทั้งแบรนด์ Balenciaga และ Moncler มาแล้ว หรืออย่าง Burberry ก็เป็นพาร์ทเนอร์กับ Roblox และค่ายเกม Mythical Games เพราะแบรนด์แฟชั่นต่างก็ขยับไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ และลูกค้าของพวกเขาเริ่มจะขยับไปอยู่ในโลกเสมือนจริงกันมากขึ้น
- ผู้บริโภค 66% เชื่อว่า “เมตาเวิร์ส” จะมา “เปลี่ยนชีวิต” อัปเดตเทรนด์นวัตกรรมใหม่นี้จาก 3 วงการ
- ‘Horizon Worlds’ เมตาเวิร์สของ ‘Meta’ ส่อแววไปไม่ถึงฝัน หลังมีผู้ใช้ 2 แสนราย จากเป้า 5 แสนราย
แบรนด์ที่จับไลฟ์สไตล์สุดเท่ของคนแต่ละยุค
สำหรับ Ralph Lauren การขยับครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นแบรนด์ที่ตามเทรนด์เทคโนโลยีอยู่ตลอด เดวิด ลอเรน กล่าวว่า แบรนด์นี้ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่มีเว็บไซต์ และมีเทคโนโลยีโฮโลแกรม วิดีโอเกม ตกแต่งหน้าร้านสาขา
ลอเรนอธิบายว่า การทดลองกับเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพราะฟังก์ชันของตัวเทคโนโลยีเองสักเท่าไหร่ แต่เพราะแฟชั่นนั้นคือ “แรงบันดาลใจ” และแรงบันดาลใจจะเกิดได้เมื่อแบรนด์เล่าเรื่องของตนเองได้ดี เทคโนโลยีเหล่านี้จึงเป็นวิธีหนึ่งในการเล่าเรื่องของแบรนด์
เรื่องราวของแบรนด์ Ralph Lauren เมื่อมาจับมือกับ Fortnite จึงถูกชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกับวิธีคิดของแบรนด์ที่มีมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยลอเรนคนลูกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการตั้งแบรนด์ของคนพ่อว่า ในยุคทศวรรษ 60s พ่อของเขาได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Thomas Crown Affair และในหนังมีฉากเด็ดคือฉากขี่ม้าตีโปโล ซึ่งสะท้อนไลฟ์สไตล์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมยุคนั้น
ตัวเอกในหนังเป็นผู้ชายที่รวยมากจนวางแผนปล้นธนาคารเพื่อความตื่นเต้นเท่านั้น เขาอาศัยอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงในรัฐนิวอิงแลนด์ และลอเรนคนพ่อก็ได้ไอเดียขึ้นมาว่า ใครๆ ก็อยากจะเป็นเหมือนตัวเอกในหนัง เขาจึงสร้างแบรนด์เสื้อผ้าที่จะช่วยให้คนมีไลฟ์สไตล์แบบนั้นบ้าง
แต่ในเจนเนอเรชันนี้ วัยรุ่นคงไม่สนจะไรกับการขี่ม้าตีโปโลกันอีกแล้ว ความเท่ของคนยุคนี้คือชีวิตเมตาเวิร์สในเกม Fortnite นี่แหละ ในเกมที่ใช้สไตล์สีสันสดใส สู้กันด้วยปืนอวกาศ คือโลกใหม่ที่มาแทนที่ภาพยนตร์เรื่อง The Thomas Crown Affair
ลอเรนเชื่อว่าเมตาเวิร์สจะเป็นสื่อกลางใหม่ในการสื่อสารแบรนด์ เหมือนกับภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ ลอเรนคาดว่าความจริงเสมือน (Virtual Reality) จะติดตลาดในไม่ช้า
ไม่ว่าสื่อกลางจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แบรนด์เสื้อผ้าก็ยังมีปลายทางสุดท้ายคือต้องขายสินค้าให้ได้ ทำให้การพูดคุยกับเจนเนอเรชันใหม่คือเรื่องสำคัญ ในโลกเสมือนของ Fortnite หากต้องการชุดแบรนด์ Ralph Lauren ในเกม จะต้องจ่ายในราคา 1,500 VBUX (สกุลเงินในเกมนี้) และมีเซ็ตเครื่องประดับขายในราคา 1,300 VBUX ด้วย ขณะที่ในโลกจริง บริษัทจะขายหมวกและเสื้อโปโลปักโลโก้ใหม่ขี่ลามะในราคา 60-188 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,260-7,090 บาท)