ภาคธุรกิจเตรียมรับมือ “ค่าแรง” 450 บาท/วัน มองต่างมุมผลกระทบมาก-น้อย

ค่าแรง 450
(Photo: Shutterstock)
ฟังเสียงผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม จากธุรกิจก่อสร้าง รีเทล และร้านอาหาร ประเด็น “ค่าแรง” 450 บาท/วัน ตามนโยบายพรรคก้าวไกล จะกระทบกับต้นทุนมากน้อยแค่ไหน

หลังผลการเลือกตั้งปรากฏ “พรรคก้าวไกล” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างร่าง MOU ข้อตกลงนโยบายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่มีความเป็นไปได้ว่านโยบาย “ค่าแรง” ขั้นต่ำน่าจะถูกบรรจุอยู่ใน MOU ฉบับนี้ โดยนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ระหว่างหาเสียง ต้องการจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน ทันทีภายใน 100 วันแรกหลังจัดตั้งรัฐบาล

ไปฟังเสียงจากผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจต่างๆ ว่ามองอย่างไรต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีของว่าที่รัฐบาลใหม่

 

ภาคก่อสร้าง กระทบ 10% ของต้นทุน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 กว่าบาท/วัน ซึ่งค่าแรงถือเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของต้นทุนการก่อสร้างบ้านทั้งหมด ดังนั้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน จะกระทบกับต้นทุนแน่นอนเพราะเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก และจะทำให้ราคาบ้านสูงขึ้น

ทั้งนี้ ต้นทุนส่วนใหญ่ของการสร้างบ้านจริงๆ แล้วคือ “ราคาที่ดิน” และวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูน กระเบื้อง ฯลฯ ซึ่งขณะนี้เทรนด์ราคาที่ดินยังปรับขึ้นกันทุกไตรมาส หากมีการขึ้นค่าแรงมาเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก เชื่อว่าภายในปลายปี 2566 จะได้เห็นการปรับขึ้นราคาบ้านอีก 5-10%

ดร.วิชัยยังฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า หากมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านง่ายขึ้น ควรจะใช้มาตรวัดจาก “ฐานภาษีเงินได้” มากกว่าการกำหนดที่ราคาบ้าน ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้นักลงทุนที่จะลงทุนซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคาไม่สูง ได้ประโยชน์ส่วนนี้ไปด้วย

 

“รีเทล” คาดกระทบ 0.05% ของยอดขาย

“สลิลทิพ เรืองสุทธิภาพ” รองกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชี การเงิน และสนับสนุนองค์กร บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) บริษัทรีเทลร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ปัจจุบันมี 21 สาขาใหญ่ทั่วประเทศ และมีศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง มีพนักงานในบริษัทกว่า 10,000 คน มองปัจจัยการขึ้นค่าแรงว่า อาจจะมีผลกระทบบ้างต่อบริษัท แต่ไม่สูงมาก

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทจ่ายค่าแรงในระดับที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จากการประเมินหากปรับค่าแรงเป็น 450 บาท/วัน น่าจะคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 0.05% ของยอดขายเท่านั้น

 

“ร้านอาหาร” เตรียมรับมือล่วงหน้ามานาน

ขณะที่ “นาฑีรัตน์ บุญรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บริษัทธุรกิจร้านอาหาร เช่น บาร์บีคิวพลาซ่า, เรดซัน, ฌานา มีพนักงานในเครือราว 4,000 คน กล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ย่อมมีผลกระทบอย่างแน่นอน

แต่บริษัทมีการเตรียมตัวมาแล้วล่วงหน้าเพราะทราบดีว่าค่าแรงจะต้องมีการปรับขึ้นในอนาคต โดยฟู้ดแพชชั่นใช้นโยบาย ‘Flexible Manpower’ เสริมทักษะให้พนักงานในร้านสามารถทำงานได้หลากหลาย ซึ่งทำให้ผลัดเปลี่ยนกันทำงานได้หลายตำแหน่งในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเสิร์ฟ เตรียมอาหาร แคชเชียร์ จึงไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานจำนวนมากต่อ 1 สาขา แต่ใช้การเพิ่มค่าแรงให้กับพนักงานที่มีทักษะหลากหลายแทนได้ สอดคล้องกับการขึ้นค่าแรงในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้ระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระพนักงาน ไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม อย่างไรก็ตาม นาฑีรัตน์ย้ำว่าจากนโยบายเหล่านี้จะไม่มีมาตรการเลย์ออฟพนักงานออกแน่นอน

ทั้งหมดเป็นความเห็นในมุมของบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่ ดร.วิชัย แห่ง REIC มีความเห็นข้อกังวลด้วยว่า การขึ้นค่าแรงกะทันหันเช่นนี้จะกระทบกับ SMEs มากกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีน้อย เน้นใช้แรงงานคน และปกติจ่ายค่าแรงต่ำกว่าบริษัทใหญ่ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาการฝึกทักษะให้ SMEs ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดแรงงานคนได้ดีเสียก่อนที่จะขึ้นค่าแรง