กฎหมายจ่ายค่า “โอที” ให้กลุ่มอาชีพ “รปภ.” จ่อเสนอเข้า ครม. ทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต้องได้ค่าล่วงเวลา ด้านบริษัทบริหารอาคาร “LPP” ชี้กฎหมายนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอาคารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “คอนโดฯ” ค่าจ้าง รปภ. อาจขึ้นถึง 50%
จากกระแสข่าวที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้เตรียมเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองค่าล่วงเวลา หรือ “โอที” ของพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อดูแลสวัสดิการของผู้ประกอบอาชีพ รปภ. กว่า 400,000 คนทั่วประเทศ
กฎหมายนี้เกิดจากทางกระทรวงเล็งเห็นว่า รปภ. ส่วนใหญ่จะทำงานกะละ 12 ชั่วโมง แต่ในส่วนที่เกิน 8 ชั่วโมงมานั้นจะไม่ได้ค่าโอทีเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทำให้ต้องการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ รปภ. ได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน
หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านมติ ครม. ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ กระทรวงแรงงานตั้งใจจะให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับกลุ่ม รปภ. ทันที
“สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP ซึ่งทำธุรกิจด้านบริหารจัดการอาคาร และมีบริการด้านการรักษาความปลอดภัย ให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นปัจจัยท้าทายของธุรกิจให้บริการ รปภ. เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนค่าจ้างพุ่งขึ้นอย่างมาก
โดยกฎหมายนี้ระบุให้ค่าจ้างในส่วนที่ล่วงเวลามา จะต้องจ่ายค่าแรงเป็น 1.5 เท่าของอัตราปกติ นั่นหมายความว่าค่าจ้างรปภ.จะสูงขึ้นมาก
ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างปกติคิดเป็นชั่วโมงตกชั่วโมงละ 50 บาท ในส่วนที่เป็น “โอที” จะต้องเพิ่มเป็นชั่วโมงละ 75 บาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รปภ. จะทำงานกะละ 12 ชั่วโมง (ค่าจ้างปกติ 8 ชั่วโมง + โอที 4 ชั่วโมง) ทำให้ค่าจ้างจากเดิมสมมติว่าเคยจ่ายวันละ 600 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 700 บาท และหากมีการเพิ่มระยะเวลาทำงานในหนึ่งกะขึ้นไปมากกว่านั้น ก็จะต้องจ่ายเป็นอัตราล่วงเวลาทั้งหมด
สุรวุฒิกล่าวว่า จากกฎหมายนี้อาจทำให้ค่าจ้าง รปภ. ต่อคนเพิ่มขึ้นได้ถึง 50% เช่น จากจ่ายค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ก็อาจจะขึ้นเป็น 30,000 บาทได้
ลูกบ้าน “คอนโดฯ” แบกภาระ – ต้องหาทางปรับตัว
หนึ่งในทรัพย์สินประเภทที่มีการจ้างงาน รปภ. จำนวนมากคือกลุ่มคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งค่าจ้าง รปภ. จะมาจากค่าส่วนกลางที่เก็บรวบรวมจากลูกบ้านทุกคน ดังนั้น สุรวุฒิมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงโอทีของ รปภ. จะมีผลต่อภาระค่าส่วนกลางของลูกบ้านในอนาคตอย่างแน่นอน
ความเป็นไปได้ในการรับมือเพื่อทุ่นภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ สุรวุฒิมองว่าหมู่บ้านและคอนโดฯ ต่างๆ อาจเริ่มพิจารณาเพื่อหาทางลดจำนวน รปภ. ลงเท่าที่เป็นไปได้ และหากเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่คุ้มค่าการลงทุน ก็อาจจะติดตั้งระบบเทคโนโลยีกล้องรักษาความปลอดภัยทดแทน
อีกแนวทางหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ เนื่องจาก รปภ. เป็นอาชีพที่ต้องสอบรับใบอนุญาต ทำให้ค่าจ้างมักจะได้สูงกว่าแรงงานทั่วไป แต่เนื้องานจริงในบางคอนโดฯ หรือหมู่บ้านจะมีพื้นที่ทำงานที่ รปภ. ดูแลงานลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เช่น อำนวยความสะดวกการจอดรถ ช่วยยกของ ตำแหน่งหน้าที่ในส่วนนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้แรงงานทั่วไปแทนการใช้ รปภ. ที่มีใบอนุญาต
- เจาะวิสัยทัศน์บริษัทนิติบุคคล “LPP” ก่อนเข้าตลาดปี’67 ขยายธุรกิจรีโนเวตตึกเก่า-บริหารหอพัก
- TOSSAKAN จาก “สกาย ไอซีที” พลิกโฉมธุรกิจ “รักษาความปลอดภัย” ด้วย AI จดจำใบหน้า
สุรวุฒิกล่าวต่อว่า ไม่ใช่แค่ค่า “โอที” รปภ. เท่านั้นที่จะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับโครงการจัดสรร แต่การพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายของอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาคาร เช่น แม่บ้าน ช่างอาคาร นิติบุคคล ขยับขึ้นตามในไม่ช้าเช่นกัน