ไปรษณีย์ไทย ครบรอบ 140 ปี ได้เปิดเผยกลยุทธ์ที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นไปยังเรื่องมุมมองของผู้บริโภค ผ่านคุณภาพการให่้บริการ รวมถึงบริการที่เข้าถึงง่าย และทำมากกว่าที่ผู้บริโภคคาดหวังเพื่อที่จะเปลี่ยนมุมมอง
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้กล่าวถึงการฉลองครบรอบ 140 ปี ว่าจากในอดีตไปรษณีย์ไทยเปรียบเหมือนกับคนส่งสาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นส่งสินค้า เขามองว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไว และก้าวกระโดดมาก ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เช่น จากการส่งข้อความแบบ Physical เปลี่ยนเป็นข้อความแบบดิจิทัล
สิ่งที่เกิดขึ้นต้องทำให้ไปรษณีย์ไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน เขาได้ยกตัวอย่างแม้แต่การแพร่ระบาดของโควิดก็เปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันคู่แข่งอย่างบริษัทเทคโนโลยีก็หันมาทำธุรกิจ Logistics เช่นกัน ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา
สำหรับกลยุทธ์ของไปรษณีย์ไทยล่าสุดคือ 1-4-0 โดย 1 คือ การเป็นที่หนึ่งเรื่องคุณภาพ 4 คือ เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางอากาศ และทางดิจิทัล รวมถึง 0 คือ การลดข้อร้องเรียนให้เป็นศูนย์ หรือแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด และ Net Zero เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
ขณะเดียวกันสิ่งที่จะได้เห็นบริการจากไปรษณีย์ไทยหลังจากนี้ เช่น
- บริการ Prompt Post ที่จะเปลี่ยนเอกสารทุกรูปแบบสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ Digital Post ID การให้บริการในรูปแบบ Postman as a service
- บริการและโซลูชันผ่าน Post Family ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการของไปรษณีย์ไทยขนส่งสินค้าที่หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขนาดใหญ่ สินค้าที่ใช้ความยุ่งยากในการส่ง สินค้าที่ส่งยาก หรือแม้แต่ส่งสินค้าที่ควบคุมความเย็นก็ทำได้ และจะมีสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติมให้กับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบัน ลูกค้าที่ใช้บริการของ Post Family เป็นประจำมีมากถึง 600,000 รายในครึ่งปีแรก และดนันท์ตั้งเป้าที่จะมีลูกค้าขาประจำที่ใช้บริการดังกล่าวมากถึง 1 ล้านรายหลังจากนี้
กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ไปรษณีย์ไทย ยังกล่าวถึงการปรับปรุงเรื่องของการคัดแยกสินค้าที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มขึ้น เขาชี้ว่าการที่สินค้าส่วนใหญ่เสียหายเพราะว่าพัสดุผ่านมือคนจำนวนมาก ฉะนั้นการลงทุนในระบบคัดแยกสินค้านั้นช่วยเพิ่มคุณภาพในการขนส่งด้วย
ทางด้านผลประกอบการในครึ่งปีแรกของปี 2023 นั้น ไปรษณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,833.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12.67% และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 157.72 ล้านบาท
ถ้าแยกสัดส่วนรายได้ของไปรษณีย์ไทยในครึ่งปีแรก กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ครองสัดส่วนมากถึง 44.11% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60% กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35% กลุ่มบริการการเงินและบริการอื่นๆ 2.84% และรายได้อื่นๆ 1.06% ตามลำดับ
ดนันท์ชี้ว่า ไปรษณีย์ไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้มีขอบข่ายของการให้บริการมากกว่านั้น และองค์กรมีการปรับโครงสร้างภายในหลายอย่าง จากผลการขาดทุนในปี 2021 และปี 2022 ซึ่งมีผลขาดทุน 1,730 ล้านบาท และขาดทุน 3,018 ล้านบาท ตามลำดับ
เขาชี้ว่าการปรับปรุงระบบหลังบ้านของไปรษณีย์ไทย 2 ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลให้ Gross Profit Margin ดีขึ้นกว่าเดิม และยังลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลงมาได้ด้วย
ขณะที่กลยุทธ์การตลาดครบรอบ 140 ปี ไปรษณีย์ไทยได้ใช้กลยุทธ์เรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน นอกจากนี้ผู้บริหารของไปรษณีย์ไทยยังกล่าวว่าบริษัทได้โฟกัสมากคือการนำระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เพื่อทำความรู้จักลูกค้ามากขึ้น และมองว่าบริษัทมีข้อมูลมหาศาลจากเครือข่ายของบุรุษไปรษณีย์
นอกจากนี้ ดนันท์ ยังกล่าวว่าไปรษณีย์ไทยจะต้องเปลี่ยนมุมมอง (Perception) ของผู้บริโภคว่าเข้าถึงง่าย แตกต่างกับราชการ แต่ต้องทำตัวเหมือนเอกชน และทำให้มากกว่าที่ผู้บริโภคคาดหวังในเรื่องของบริการ รวมถึงต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรด้วย
ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดของตลาดขนส่งพัสดุ กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ไปรษณีย์ไทย มองว่าถึงระยะเวลาหนึ่งจะมีผู้เล่นควบรวมกิจการกัน เนื่องจากจำนวนผู้เล่นจะต้องเหมาะสมกับขนาดของตลาด ขณะที่เรื่องสงครามราคา เขามองถึงเรื่องคุณภาพการให้บริการมากกว่า เพราะในที่สุดถ้าหากสงครามราคาเกิดขึ้นมาก ผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบ จากในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นบางรายมีข่าวที่ผู้บริโภคต้องไปหาพัสดุของตัวเองที่ศูนย์คัดแยก เป็นต้น
ดนันท์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่าอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุยังต้องการให้มีหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาดูแลการแข่งขัน เนื่องจากกังวลถึงการทุ่มตลาดจากผู้เล่นต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการบริการ และยังทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ และเขายังมองว่าไปรษณีย์ไทยเป็นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ