วิกฤตภาคอสังหาฯ เพื่อเช่าโดยเฉพาะ “ออฟฟิศ” ของสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่สาหัสกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 แล้ว โดยอัตราพื้นที่ว่างของสำนักงานขึ้นไปแตะที่ 16.4% คาดเป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเทรนด์ทำงานจากบ้าน (Work from Home)
Colliers บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน ประเมินอัตราพื้นที่ว่างของอาคารสำนักงานในสหรัฐฯ ว่าขึ้นไปแตะ 16.4% แล้ว ซึ่งถือเป็นสถิติ ‘นิวไฮ’ แซงหน้าอัตราสูงสุด 16.3% ที่เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 15 ปีก่อน
“พื้นฐานตลาดออฟฟิศของสหรัฐฯ กำลังอ่อนตัวลง เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2022 เรื่อยมาจนถึงไตรมาส 2 ปี 2023 จนทำให้ภาพรวมอัตราดูดซับพื้นที่เช่าออฟฟิศกลายเป็น ‘ติดลบ’ และอัตราพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานพุ่งขึ้นเป็นสถิติใหม่” Stephen Newbold ผู้อำนวยการประจำประเทศฝ่ายวิจัยอาคารสำนักงาน Colliers แสดงความเห็นในรายงาน
ตั้งแต่ต้นปี 2023 อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยสูง เทรนดทำงานจากบ้าน (Work from Home) และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น
“อัตราพื้นที่ว่างในออฟฟิศสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ที่ 16.4% เพิ่มขึ้นมา 30 basis points จากไตรมาสแรก” Newbold ระบุ และคาดว่าความกดดันเหล่านี้จะทำให้อัตราพื้นที่ว่างยิ่งเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป
ทำเลที่ถือว่ามีอัตราพื้นที่ว่างในออฟฟิศสูงสุด ได้แก่ ฮูสตัน รัฐเท็กซัส, อินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา และ ปริมณฑลของลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วรวม 500 basis points ในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมาเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อนั้น มีผลกระทบกับภาคอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์มาก
ในทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าของอาคารสำนักงานเหล่านี้สามารถขอเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมาตลอด แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น ทำให้อัตราหนี้สินสูงขึ้นด้วย
- เปลี่ยน “ออฟฟิศร้าง” เป็น “ที่พักอาศัย” ข้อเสนอเพื่อแก้วิกฤตสองด้านในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ
- กลับลำ! ซีอีโอ “Meta” “Snap” “Zoom” เลิกอวย Work from Home หันมากดดันพนักงานที่ไม่เข้าออฟฟิศ
ท่ามกลางความอึมครึมของภาคอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียรายหนึ่งคาดการณ์ว่า เมืองใหญ่บางเมืองในสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังยืนอยู่ปากเหวทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “วงจรหายนะ” เนื่องจากตลาดอาคารสำนักงานกำลังจะล้ม
กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ก็เริ่มส่งสัญญาณให้ระมัดระวังในการลงทุนอสังหาฯ ที่เกี่ยวกับอาคารสำนักงาน และมองว่าธนาคารในสหรัฐฯ น่าจะเสียหายประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8,900 ล้านบาท) จากการไปเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ เชิงพาณิชย์