“เฟรเซอร์ส” ปี 2567 “คลังสินค้า” ยังเป็นขาขึ้น ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยงดเปิด “ทาวน์โฮม” เหตุลูกค้ากู้ไม่ผ่าน

  • แผนธุรกิจ “เฟรเซอร์ส” ปี 2567 ยังคงรักษาสมดุลพอร์ตกลุ่มที่อยู่อาศัยเพื่อขายกับกลุ่มสร้างรายได้ประจำ ชี้เทรนด์​ “คลังสินค้า” ยังเป็นธุรกิจขาขึ้น เตรียมลงทุนอีก 4,000 ล้านบาท
  • ขณะที่ธุรกิจ “ที่อยู่อาศัย” ยังอึมครึม งดเปิดตัว “ทาวน์โฮม” หลังแบงก์เข้มหนัก ลูกค้ากู้ไม่ผ่าน เทน้ำหนักเปิดใหม่ให้กับ “บ้านเดี่ยว” ทดแทน

“วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารเปิดทิศทางธุรกิจของเฟรเซอร์สในรอบปีบัญชี ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567 มองปีนี้โลกยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจสูงที่ต้องฝ่าไป

สรุปผลงานของรอบปี ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 ก่อนว่า เฟรเซอร์สทำรายได้รวมจากทุกกลุ่มธุรกิจไป 16,809 ล้านบาท เติบโต 2.1% YoY กำไรสุทธิ 1,852 ล้านบาท

สินทรัพย์การลงทุนภายในบริษัทยังรักษาสมดุลพอร์ตไว้ที่ 40:60 คือเป็นสินทรัพย์กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างรายได้จากการขาย 40% ขณะที่อีก 60% มาจากสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ประจำ (recurring income) ได้แก่ โรงงานและคลังสินค้า รีเทล อาคารสำนักงาน และโรงแรม

เฟรเซอร์ส
(จากซ้าย) “สมบูรณ์ วศินชัชวาล” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม, “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), “พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเตรียล

ธนพลมองภาพพื้นฐานการจัดสมดุลพอร์ตของบริษัทแบบนี้ว่า ถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีเพราะช่วยสร้างกระแสเงินสดเข้าบริษัทได้สม่ำเสมอ และพร้อมรับมือกับทุกวงจรอสังหาริมทรัพย์ที่มีขึ้นและลงสลับกันไปในแต่ละธุรกิจ

 

วงจรอสังหาฯ “คลังสินค้า” รุ่งสุด

ซีอีโอเฟรเซอร์สให้ความเห็นว่า ปีนี้ตลาดที่ยังคงมาแรงคือกลุ่ม “คลังสินค้า” ธุรกิจยังเติบโตจากนโยบาย China+1 กระจายฐานผลิตออกต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องที่ยังคงทยอยเข้ามาลงทุนในไทย

อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าจะเข้าวงจรฟื้นตัวคือ “โรงแรม” เพราะการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยและภาครัฐให้การสนับสนุน

เฟรเซอร์ส
วงจรนาฬิกาอสังหาฯ เมืองไทย (ข้อมูลจาก เฟรเซอร์ส)

ส่วนธุรกิจที่อยู่ในช่วงที่ท้าทายคือ “อาคารสำนักงาน” ยังเป็นขาลงเพราะตลาดมีซัพพลายเติมเข้ามาต่อเนื่อง ในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีอาคารสำนักงานเข้าตลาดอีกปีละ 5 แสนตร.ม. แต่ตลาดไทยมีดีมานด์ดูดซับได้เพียงปีละ 2.5 แสนตร.ม. ทำให้ตลาดนี้จะท้าทายมาก อัตราการเช่าอาจต่ำลง ขึ้นอยู่กับผู้ให้เช่าจะสามารถรักษาฐานผู้เช่าเดิมได้ดีแค่ไหน

รวมถึงกลุ่มธุรกิจ “รีเทล” ก็กำลังเคลื่อนเป็นขาลงด้วยซัพพลายศูนย์การค้าที่เติมเข้าตลาดสูงขึ้นเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือกลุ่ม “ที่อยู่อาศัย” ดูเหมือนจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเภทสินค้า “บ้านเดี่ยว” ที่ธนพลเห็นว่าขึ้นสู่จุดพีคเรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยดีมานด์ในตลาดสูง แต่ซัพพลายเข้าตลาดสูงยิ่งกว่า จนทำให้หลังจากนี้อาจจะเริ่มค่อยๆ เข้าสู่ช่วงขาลงเพราะซัพพลายล้นตลาด ตรงข้ามกับ “ทาวน์โฮม” ที่น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลายบริษัทหยุดหรือลดการพัฒนาทาวน์โฮม จนทำให้ซัพพลายน้อยลง ต่อจากนี้อาจได้เห็นตลาดฟื้นตัว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนความเข้มงวดให้กู้สินเชื่อบ้านของแบงก์ในสินค้ากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

“โกลเด้นทาวน์ ศรีนครินทร์-สุขุมวิท” ตัวอย่างโครงการทาวน์โฮมภายใต้บริษัทเฟรเซอร์ส

 

ลงทุน “คลังสินค้า” เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท

“พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเตรียล เปิดเผยส่วนธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าว่า ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวม 3.5 ล้านตร.ม. ทั้งพื้นที่ในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และมีอัตราการเช่าที่ 86.5%

ตลาดคลังสินค้าของเฟรเซอร์สมีผู้เช่าหลักมาจาก 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์ โมเดิร์นเทรด ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ และผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น ไทย และยุโรป

จากโอกาสในการเติบโตของคลังสินค้า ปีนี้เฟรเซอร์สจะมีใช้งบลงทุนอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายพื้นที่จัดการเพิ่มอีก 1.5 แสนตร.ม. และตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเช่าขึ้นเป็น 87% สร้างรายได้ให้บริษัทแม่ 6,000 ล้านบาท

 

ที่อยู่อาศัยงดเปิด “ทาวน์โฮม” ก่อน

ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัย “สมบูรณ์ วศินชัชวาล” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม เปิดข้อมูลรอบปีบัญชีก่อนว่าบริษัทมีการเปิดตัว 8 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ทำยอดขายไปได้ 24,926 ล้านบาท โต 4.4% YoY อย่างไรก็ตาม รับรู้รายได้ที่ 11,004 ล้านบาท ลดลง -5% YoY

ส่วนรอบปีบัญชีนี้ ตั้งเป้าเปิดตัว 7 โครงการ มูลค่ารวม 11,600 ล้านบาท เป้ายอดขาย 23,750 ล้านบาท ลดเป้าลง -5% YoY และวางเป้ารับรู้รายได้ 13,003 ล้านบาท เติบโต +18% YoY

ปีนี้เฟรเซอร์สฯ โฮมมีการลดการเปิดตัวใหม่ลง และในกลุ่มโครงการที่จะเปิดใหม่ประกอบด้วย

  • บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ราคา 15-40 ล้านบาท 2 โครงการ แบรนด์ “เดอะ แกรนด์” ทำเลแจ้งวัฒนะ-เมืองทอง และ ปิ่นเกล้า-วงแหวนกาญจนาฯ
  • บ้านเดี่ยว ราคา 7-15 ล้านบาท 3 โครงการ แบรนด์ “แกรนดิโอ” ทำเลแจ้งวัฒนะ-เมืองทอง และ เกษตร-นวมินทร์ และแบรนด์ “เพรสทีจ” สาทร
  • บ้านแฝด 1 โครงการ แบรนด์​ “นีโอ​ โฮม” ทำเลจังหวัดระยอง
  • คอนโดมิเนียม 1 โครงการ “โคลส รัชดา 7” ด้านหลังเดอะสตรีท รัชดา เป็นคอนโดฯ โลว์ไรส์ขนาดเล็ก (*เลื่อนเปิดตัวมาจากปีก่อนหน้า)

ในปีนี้เฟรเซอร์สเลี่ยง ‘ไม่เปิดตัวในตลาดทาวน์โฮมเลย’ โดยสมบูรณ์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะตลาดทาวน์โฮมกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทที่เฟรเซอร์สพัฒนานั้นมีดีมานด์ก็จริง แต่ลูกค้ากู้ไม่ผ่านสูงเกิน 30% เนื่องจากแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในปีที่ผ่านมายิ่งมีผลต่อกำลังการผ่อนของลูกค้ามาก

สมบูรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันเฟรเซอร์สมีสต็อกสร้างเสร็จในมือประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทาวน์โฮม โดยหลายโครงการยังยืนราคาเก่าไม่ปรับขึ้นตามราคาตลาด เพราะบริษัทต้องการระบายสต็อกเพื่อปิดโครงการ

ส่วนวงจรอสังหาฯ ที่ซีอีโอเฟรเซอร์สมองว่าทาวน์โฮมถึงจุดต่ำสุดแล้ว และควรจะเป็นขาขึ้นได้แล้วนั้น ขอรอดูสัญญาณว่ากลับมาแล้วจริงๆ ก่อนดีกว่าเพราะสุดท้ายตลาดนี้ต้องขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อจากแบงก์เป็นหลัก