“อาร์เซลิก ฮิตาชิ” ชูจุดขาย “ความยั่งยืน” ซื้อใจลูกค้า “จ่ายสูงกว่าแต่ทนกว่า” สู้เศรษฐกิจฝืด

“อาร์เซลิก ฮิตาชิ” มองตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2567 กระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แบรนด์ฮิตาชิขอชูจุดขายซื้อใจลูกค้าด้วย “ความยั่งยืน” ทั้งในแง่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าไฟ และใช้ทนกว่าแม้ราคาสูงกว่า เน้นความคุ้มค่าในช่วงที่ต้องระวังการใช้จ่าย

ครบรอบ 3 ปีหลัง “อาร์เซลิก” จากตุรกี และ “ฮิตาชิ” จากญี่ปุ่น ควบรวมกิจการกัน (*เฉพาะกิจการนอกประเทศญี่ปุ่น) โดยในเชิงการตลาดแบรนด์ยังคงใช้ชื่อ “ฮิตาชิ” ต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และฐานผลิตสินค้าของฮิตาชิที่ จ.ปราจีนบุรี ยังเดินเครื่องต่อเพราะเป็นฐานผลิตส่งออกไปกว่า 65 ประเทศทั่วโลก (อ่านข้อมูลย้อนหลังในช่วงควบรวมกิจการได้ที่นี่)

อาร์เซลิก ฮิตาชิ
ประวัติการทำการตลาดของแบรนด์ “ฮิตาชิ” และการร่วมทุนกันของ “อาร์เซลิก-ฮิตาชิ”

ขณะที่การพัฒนาปรับเปลี่ยนต่างๆ หลังผ่านไป 3 ปี “ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ กล่าวว่า บริษัทมีการเพิ่มสินค้าจำนวนมากตามแผนงานที่วางไว้ ยกตัวอย่างปีนี้ผ่านมากว่าครึ่งปี ฮิตาชิออกสินค้าใหม่ไปแล้วกว่า 120 SKUs

ฮิตาชิยังมีการวางสโลแกนใหม่ “The Art of Ease” ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคเห็นว่าฮิตาชิมีดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น คู่ไปกับนวัตกรรมและความพิถีพิถันในสไตล์ญี่ปุ่น รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่ม Gen Y มากกว่าเดิม เพื่อให้คน Gen Y ได้รู้จักความเป็นฮิตาชิ เหมือนที่คน Gen X จดจำแบรนด์ได้

 

กำลังซื้อฝืด เน้นซื้อใจลูกค้าด้วยความทนทาน

ด้านตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2567 ซาแฟร์ไม่ได้ให้ตัวเลขประมาณการที่ชัดเจน แต่มองว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไม่มั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปีนี้จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยเชื่อว่าผู้บริโภคจะหันมา “ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพคงทนยาวนานขึ้นเพื่อให้คุ้มค่า” และต้องการสินค้าที่ “ประหยัดพลังงาน” เพราะค่าไฟฟ้าที่ถีบตัวสูงขึ้น

ฮิตาชิ
“ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์

การสื่อสารการตลาดของฮิตาชิจะเน้นในแง่มุมนี้ คือให้ผู้บริโภคเห็นว่าการจ่ายสูงกว่าให้กับสินค้าคุณภาพจะได้ของที่ทนทานกว่า และได้นวัตกรรมช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าด้วย ในอีกมุมหนึ่งการซื้อสินค้าที่ใช้ทนยังเป็นการช่วยเรื่อง “ความยั่งยืน” ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องผลิตใหม่ออกมามากๆ เพื่อชดเชยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พัง

ซาแฟร์กล่าวว่าฮิตาชิเน้นการเป็นสินค้าเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด และมีเป้าหมายไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปีค.ศ. 2030 ซึ่งทางแบรนด์ก็หวังว่าผู้บริโภคไทยจะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะอันที่จริงแล้วภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเสี่ยงภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี จึงอยากเห็นคนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้

ประเด็นเรื่องการจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือ “Green Products” นั้นเป็นสิ่งที่นักการตลาดพูดคุยกันมานานเพราะยังเป็นเรื่องยาก(แต่ต้องทำ)ในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC)

มีงานวิจัยจาก Kantar ที่ปรึกษาด้านการตลาด พบว่า ผู้บริโภค 60% ใน APAC สนใจที่จะซื้อสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่ยอมควักกระเป๋าซื้อจริง แถมมีแค่ 11% ที่มีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เหตุผลก็เพราะ Green Products มักจะเป็นสินค้าที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป และผู้บริโภคใน APAC ก็ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ฮิตาชิถือเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มตลาดพรีเมียม ทำให้เรื่องกำลังซื้อที่จะยอม “จ่ายมากกว่า” เพื่อสิ่งที่ทนทานกว่าก็มีแนวโน้มเป็นไปได้เช่นกัน