วันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา อาจถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ธุรกิจการบินต้นทุนต่ำของไทย พร้อมกับวันครบรอบขวบปีแรกของ “วันทูโก (One-Two-Go)” สายการบินต้นทุนต่ำสายแรกของไทย
“วันนี้เรายังหายใจดีอยู่ ยังพร้อมที่จะปรับปรุงขึ้น และสู้ต่อไป” อุดม ตันติประสงค์ชัย CEO บริษัทสายการบินโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัด “วันทูโก” ประกาศเข้มภายหลังที่เผชิญข่าวลือที่สั่นคลอนความมั่นคงของสายการบินหลายครั้ง ตั้งแต่การดัมพ์ราคาค่าตั๋วของ “ไทยแอร์เอเชีย” ที่ทำให้วันทูโกต้องลดเที่ยวบินไปเชียงใหม่ จนมาถึงเปิดตัวของ “นกแอร์” ที่ทำให้ต้องยกเลิกเส้นทางบินไปอุดรธานีลงชั่วคราว…จึงเป็นที่มาข่าวลือว่า “วันทูโกไปไม่รอด”
“ใน 3 สายนี้ เราขาดทุนน้อยที่สุด เพราะเมื่อไรที่ขาดทุน เราหยุดได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่สายอื่น กลยุทธ์ของเขาคือแข่งกันที่ราคาต่ำที่สุด เขาขาดทุนเยอะได้เพราะสายป่านของเขายาว แต่ผมไม่ได้เอาสายป่านมาทำธุรกิจ” เหมือนเป็นคำอธิบายของอุดมถึงลักษณะการแข่งขันธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ
จากนั้น อุดมได้โชว์ตัวเลขที่คาดไม่ถึงว่า วันทูโกมีผู้โดยสารกว่า 1.5 ล้านคน ในปีแรก ปัจจุบัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละ 120,000 คน มีเที่ยวบินบริการ 112 เที่ยวต่อสัปดาห์ ทั้งในและต่างประเทศ และมีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด
แต่เพียงแค่สิบวันหลังวันทูโกฉลองครบปี ไทยเอแอร์เชียก็ออกมาจัดงานฉลอง “ผู้โดยสารครบล้าน” ภายในเวลาราว 10 เดือน ปัจจุบันมีเที่ยวบินกว่า 200 เที่ยวต่อสัปดาห์ และความเห็นต่อกรณีที่วันทูโกอ้างว่าเป็นผู้นำตลาด ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทย แอร์เอเชีย กล่าว “คงต้องดูกันที่รอบปี เพราะข้อมูลของวันทูโก เขาบันทึกตอนนั้นแอร์เอเชียก็เพิ่งเปิดไม่กี่เดือน ขณะที่นกแอร์เปิดมาแค่เพียงเดือนกว่า”
ในงานนี้ ทัศพลยังถือโอกาสแถลง “เส้นทางใหม่ 2005” โดยรับว่า แม้ปี 2547 ไทยแอร์เอเชียจะมีรายได้พันกว่าล้าน แต่ก็คงจะเจอภาวะขาดทุนเนื่องจากราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ปี 2548 ทัศพลตั้งเป้าว่าจะได้ลูกค้าราว 2 แสนคนต่อเดือน หรือ 2.4 ล้านคนต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น 200% อันหมายถึงกำไรแน่นอนในปีนี้ แต่แม้ถึงจะตั้งเป้ากำไร ทัศพลก็ยังคงให้คำมั่นเสียงดังราวกับประกาศจุดยืนว่า
“สัญญาว่าปีหน้า เราจะเป็นสายการบินที่ราคาต่ำที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะอย่างไร “lowcost” ก็คงต้องแข่งกันที่ราคาอยู่ดี ซึ่งจะอยู่รอดได้ก็ต้องอยู่ที่การบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำ”
ขณะที่อุดมประกาศยังคงยึดจุดยืน “lowfare Airline” ไม่แข่งตัดราคากับใคร โดยเส้นทางในประเทศมีเพียง 2 ราคา คือ 1,350 บาท และ 1,650 บาท (ดูตาราง) แต่จะเน้นบริการ เช่น แจกกาแฟฟรี อันเป็นความร่วมมือกับเนสกาแฟ หรือร่วมมือกับ “บางกอกแอร์”ในการเชื่อมไฟลต์จากภูเก็ตไปสมุย เพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสารและการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ร้าน 7-eleven บางสาขา และ SF Cinema ฯลฯ และบริการส่งตั๋วถึงบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเพิ่มฝูงบิน จากเครื่องบินขนาดใหญ่พิสัยไกล 11 ลำ ในปัจจุบัน จะเพิ่มเครื่องบินเล็กพิสัยกลางอีก 12 ลำ เพื่อรองรับกับเส้นทางบินที่จะเพิ่มขึ้น เช่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ และอุดรธานี และเส้นทางไปประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้เวลาบินไม่เกิน 3 ชั่วโมง เช่น สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และคุนหมิง เป็นต้น ซึ่งแผนเพิ่มเครื่องบินและเส้นทางบินไปจีนตอนใต้ และอินโดจีนก็เป็นแผนที่ไทยแอร์เอเชียใช้เป็นกลยุทธ์การต่อสู้ในปีนี้เหมือนๆ กัน
เพื่อความอยู่รอด วันทูโกจึงพยายามเพิ่มรายได้จากลู่ทางต่างๆ เช่น ใช้พื้นที่ใต้ท้องเครื่องขนส่งคาร์โก้ และใช้พื้นที่บนตั๋วหรือภายในเครื่องเพื่อหารายได้ค่าโฆษณา สุดท้าย วันทูโกยังใช้กลยุทธ์ “Public Responsibility”หรือคืนกำไรสู่สังคมมาใช้สร้างภาพลักษณ์หรือความรู้สึกที่ดีให้กับแบรนด์และลูกค้า ด้วยโปรแกรม “ทุกตั๋วจะแปรเป็นเงิน 30 บาท ให้น้องในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก”
ราวกับเป็นการตอกย้ำความทรงจำคนไทยอีกครั้งว่า “วันทูโก บาย โอเรียนท์ ไทย…เราภูมิใจในความเป็นไทย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่อุดมเชื่อว่าน่าจะขายได้ “เพราะอย่างไร เราก็คนไทยด้วยกัน…จริงใจต่อกันที่สุด”
Did you know?
ความต่างระหว่าง Lowcost & Lowfare
Lowcost Airlines หมายถึง สายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะตัดบริการฟรีทุกอย่างออกมหมด ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความบันเทิงและความสะดวก เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุดในการบินแต่ละครั้ง เช่น แอร์เอเชีย ไทเกอร์ แอร์เวย์ หรือนกแอร์
Lowfare หรือ Budget Airlines เป็นสายการบินราคาประหยัด โดยจะยังคงการเสิร์ฟอาหารหรือเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ เหมือนการบินทั่วไป เปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ ทั้งนี้ บางรายใช้วิธีรักษากำไรให้สูงสุดในราคาต่ำโดยผ่านระบบการขายแบบหลายราคาโลว์คอสต์ และลดต้นทุนในส่วนอื่น เช่น แวลูแอร์ ขณะที่บางรายใช้วิธีลดกำไรลงเพื่อทำให้ราคาต่ำ เช่น วันทูโก
เส้นทางบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ณ วันที่ 14 ธ.ค. 2547
เส้นทางในประเทศ : เชียงใหม่, เชียงราย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, หาดใหญ่ และภูเก็ต
แผนปี 2548 : เพิ่มเส้นทางเพียง 2 จังหวัด คือ กระบี่ และเลยหรือน่าน (อยู่ระหว่างพิจารณา)
เส้นทางต่างประเทศ : สิงคโปร์, กัวลาลัมเปอร์, มาเก๊า, ปีนัง, โคตาคินาบาลู และ ภูเก็ต-สิงคโปร์, ภูเก็ต-กัวลาลัมเปอร์, หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์
แผนปี 2548 : เส้นทางสู่จีนตอนใต้ 3 เส้นทาง คือ เซี๊ยะเหมิน, คุนหมิง, กวางเจา และเส้นทางอินโดจีน คือ พนมเปญ และฮานอย
เส้นทางบิน “วันทูโก” ณ วันที่ 3 ธ.ค. 2547
กรุงเทพฯ – เชียงใหม่, เชียงราย, ภูเก็ต : ราคา 1,350 บาท
กรุงเทพฯ – หาดใหญ่ : ราคา 1,650 บาท (ภายใน ธ.ค. 2547 จะเปิดเส้นทางสุราษฎร์ฯ และกระบี่)
กรุงเทพฯ – ฮ่องกง : ราคา 4,000 บาท
กรุงเทพฯ – กวางเจา : ราคา 7,000 บาท
กรุงเทพฯ – อินชอน (โซล ประเทศเกาหลี) : ราคา 8,000 บาท
ภูเก็ต – ฮ่องกง : 6,000 บาท