FMCG เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันรุ่ง

AC Nielsen รายงานแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อสินค้า (shopper trends) ประจำปี 2548 พบว่า ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2547 โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่ไทยมีอัตราการเติบโตของยอดขายลดลงจากปี 2546 ประมาณ 1%

Modern Trade คืบคลานทุกหัวระแหง

อุตสาหกรรมค้าปลีกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงตามกระแสแนวโน้มค้าปลีกโลก โดย modern trade ยังคงเติบโตมากกว่าตลาดรวมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3% ในเอเชีย

“ปัจจุบัน modern trade มีส่วนแบ่งตลาด 47% คาดว่าภายในสิ้นปี 2548 นี้จะมีส่วนแบ่งมากกว่า 50%” ปีเตอร์ เกล กรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Retailer Services ประจำ AC Nielsen Asia-Pacific บอก

เช่นเดียวกับในเอเชียเหนือช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกือบ 2 ใน 3 ของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) มาจาก modern trade เป็นช่องทางหลัก โดยมีการดึงดูดธุรกิจจากโชวห่วยไปเกือบ 10% โดยประเทศที่เป็นแรงขับสำคัญคือจีนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดย modern trade มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 35% เป็น 54,000 แห่ง

ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดรวมค้าปลีกของอินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตยอดขายของmodern trade 30% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปิดร้านค้าใหม่ จาก hypermarket 90 แห่ง และ minimart มีจำนวนเพิ่มขึ้น 40% เป็น 5,600 แห่ง เกลบอกว่า รูปแบบร้านค้าแบบนี้ในอินโดนีเซียได้รับความนิยมมาก 1 ใน 7 ของผู้ซื้อสินค้า FMCG ใช้บริการเป็นประจำ

Convenient Store ไทยพัฒนาที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพรวมธุรกิจร้านสะดวกซื้อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2547 มีร้านใหม่เปิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ประมาณ 14% โดยเติบโตเร็วที่สุดในจีนทำให้ปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อ 20,000 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ซึ่งมีการขยายตัวของร้านใหม่เพิ่มขึ้น 10% อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นมีการเติบโตก้าวไกลกว่าประเทศอื่นด้วยจำนวนร้านสะดวกซื้อกว่า 43,000 แห่ง ด้านไต้หวันมีจำนวนร้านหนาแน่นมากที่สุด คือ 8,000 แห่งทั่วประเทศ หรือร้าน 1 แห่ง/ประชากร 2,800 คน และพบว่าพฤติกรรมของคนไต้หวัน 80% ของผู้ซื้อสินค้าประจำครัวเรือนในไต้หวันแวะจับจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อทุกสัปดาห์ ส่วนฮ่องกงมีจำนวนการใช้บริการเฉลี่ย 14 ครั้ง/เดือน

ด้านประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาร้านค้าสะดวกซื้อ ยอดขาย 10% ของตลาดค้าปลีกมาจากช่องทางนี้ 50% ของลูกค้าผู้ซื้อในเมืองใช้ร้านสะดวกซื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ยังมีอัตราการใช้บริการเฉลี่ย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากเนื่องจากจำนวนร้านค้าทั่วประเทศมีเพียง 64 แห่ง/ประชากรชาวไทย 1 ล้านคน

Hypermarket กระตุ้นความถี่เพิ่มยอด

Hypermarket หรือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นรูปแบบหลักในเขตชุมชนเมืองใน 5 ประเทศแถบภูมิภาคนี้ ได้แก่ ไทย ไต้หวัน เกาหลี จีนและมาเลเซีย โดยประมาณ 40-60% ของผู้ซื้อสินค้าประจำครัวเรือนในเมืองใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลัก ในไทยเอง 90% ของผู้ซื้อในเมืองใช้ hypermarket อย่างน้อยเดือนละครั้ง และตลาดนี้มีสัดส่วนผู้ซื้อที่มี brand loyalty สูงที่สุด ขณะที่ภาพรวม เกล บอกว่า การเติบโตของยอดขายสำหรับhypermarket ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคมีความถี่ของการใช้บริการเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-4 ครั้ง/เดือน

Traditional Trade ยังไม่ตาย

แม้ modern trade จะโตวันโตคืนทั่วเอเชียแปซิฟิก แต่กระนั้นยอดรวมจำนวนร้านโชวห่วยหรือค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังคงที่โดยปี 2547 มีจำนวนถึง 11.4 ล้านแห่ง และในฟิลิปปินส์ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีจำนวน 590,000 แห่ง เพิ่มขึ้น 40,000 แห่งจากปี 2546 ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่ร้านโชวห่วยมีส่วนแบ่งยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 57% มากกว่า modern trade เช่นเดียวกับศรีลังกา อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีความหนาแน่นของร้านโชวห่วยสูงสุดอย่างน้อย 6,000 แห่ง/ประชากร 1 ล้านคน

3 ใน 4 ของประชากรในเขตเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงใช้ร้านโชวห่วยเป็นประจำ อย่างน้อย 1 ครั้งทุกวันเว้นวัน โดยเฉพาะสินค้าประเภทที่ไม่ได้มีการวางแผนซื้อล่วงหน้า (impluse)

รายงานแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อสินค้า (shopper trends) จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเป็นรายงานสำรวจความคิดเห็นระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ค้าปลีกเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าและแนวโน้มที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัจจัยที่ส่งเสริมความพึงพอใจและความภักดีของผู้ซื้อสินค้า เปรียบเทียบระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ และประเมินศักยภาพการพัฒนา รายงานประจำปี 2548 เป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนในเมืองเกือบ 15,000 รายทั่วตลาดเอเชียแปซิฟิก 14 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม