Blumarine … สวยหรูแบบสาวอิตาลี

กางเกงยีนส์ตัวละ 115,000 บาท และเดรส (dress) ชุดละ 259,000 บาท ถือเป็นไฮไลต์ของงานเปิดตัวแบรนด์น้องใหม่อย่าง “Blumarine” ซึ่งในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน มีผู้คนพากันมาสัมผัส ลูบชม และมาให้เห็นกับตา จนแน่นขนัดร้าน ณ ชั้น 1 บนห้างหรูอย่างเอ็มโพเรียม

“บลูมารีน” แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าผู้หญิงนำเข้าจากอิตาลี ก่อตั้งโดย Anna Molinari สาวสังคมผู้มั่งคั่งและดีไซเนอร์ชื่อดังของอิตาลีและยุโรป แม้บลูมารีนจะเพิ่งสร้างแบรนด์ในปี ค.ศ. 1977 แต่เพียง 4 ปี สไตล์ที่แตกต่างและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของบลูมารีนก็เป็นที่รู้จักทั่วโลก บนเวที Milan Fashion Week จนได้รับความนิยมจากบรรดาสาวมั่นนักช้อปผู้มีอันจะกินจากทั่วโลก ลามถึงไฮโซสาวชาวเอเชีย
ในประเทศไทย บลูมารีนนำเข้ามาโดยเครือ วรรณมานี บริษัทยักษ์ใหญ่แวดวงสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมระดับโลก ซึ่งนำเข้าแบรนด์หรู เช่น Tod’s, Emporio Armani, Hermes, Rodo, Christofl และล่าสุด Chleo ซึ่งช้อปแรกจะเปิดตัวเสร็จสมบูรณ์ที่สยาม พารากอน เร็วๆ นี้

“ส่วนใหญ่ แบรนด์ที่เลือกเข้ามาจะเป็นแบรนด์ที่ขายตัวเองได้อยู่แล้ว เพราะเป็นแบรนด์ที่ established และเป็นที่นิยมอยู่แล้ว เราก็แค่รักษาภาพลักษณ์แบรนด์ให้ได้ตามคอนเซ็ปต์ต่างประเทศ” นวลพรรณ ล่ำซำ MD แห่ง “วรรณมานี” กล่าวพร้อมเหตุผลการนำเข้าบลูมารีน “แบรนด์นี้ในอิตาลีและยุโรปนิยมมาก เราก็มองว่า สาวไทยเองก็ชอบแต่งตัวทันสมัยกับแฟชั่นโลก แบรนด์นี้ก็น่าจะถูกใจลูกค้าคนไทย”

นวลพรรณเลือก “ฉัตรเบญจา นันทาภิวัฒน์” ลูกสาวคนเดียวของท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว มาเป็น Brand Manager เพราะเธอไม่เพียงเป็นสาวร่างเล็กอ่อนหวานเข้ากับสไตล์เสื้อผ้า เธอยังเติบโตในวงไฮโซมาตลอดซึ่งน่าจะทำให้เธอเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าแวดวงเดียวกันได้ดี ขณะที่ Boutique Manager เป็นหน้าที่ของ “ศศิกานต์ อภัยวงศ์” ซึ่งจบด้าน Fashion Merchandising Management จากสถาบันชื่อดัง Fashion Institute of Technology ที่นิวยอร์กมาหมาดๆ

ฉัตรเบญจาเริ่มต้นด้วยการอธิบายที่มาของราคาอันแพงลิบลิ่วว่า เพราะชื่อเสียงดีไซเนอร์ บวกคุณภาพวัสดุที่ใช้ เช่น คริสตัล Swarovski ของออสเตรีย ผ้าไหมจากอิตาลี หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การปักเลื่อม ลูกปัด ลูกไม้ ลายปักดอกไม้ และลูกเล่นบนเนื้อผ้า เช่น ผ้าพิมพ์ลายลูกไม้ จีบระบายเป็นชั้น ผ้าลายฉลุ พลีทขนฟูฟ่อง ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องอาศัยแรงงานฝีมือประณีต ซึ่งมาจากโรงงานในเมือง Carpi ทางเหนือของอิตาลี …ทั้งหมดนี้ทำให้บลูมารีนทั้งแพงและหรู แต่ขายได้

สำหรับคอนเซ็ปต์แต่งร้าน ฉัตรเบญจาชี้ภาพรวม “เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนว่า ร้านเราเป็น walk-in closet ของผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาลองสวมใส่ได้ทุกชิ้น” ทั้งนี้ เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นนำเข้าจากบริษัทแม่ที่อิตาลี เช่น โคมไฟระย้า มูลาโน่กลาส บางส่วนก็คัดสรรวัสดุของไทยที่ดีที่สุดมาใช้ เช่น ผ้าไหมจิมทอมป์สัน และมีรายละเอียดการตกแต่งอีกมากมาย เช่น เพิ่มความอ่อนช้อยให้กับร้านด้วยขาโต๊ะและเก้าอี้ที่โค้งมน และลายสลักบนขอบกระจก ฯลฯ โดยมีดีไซเนอร์จากบริษัทแม่มาคุมให้ตรงคอนเซ็ปต์อีกที

พื้นที่นั่งรอที่เสกเสากลางร้านเป็นเกาอี้หรูบุผ้าไหมสีดอกกุหลาบซึ่งเป็นสีประจำตัวของ Anna กลายเป็นมุมโปรดของลูกค้าและสัญลักษณ์ของร้านไปแล้ว ซึ่งฉัตรเบญจาเล่าว่า ในวันหยุด มุมนี้จะเหมือนห้องนั่งเล่นที่ลูกค้าจะมาเฮฮากันที่นี่ นั่งคุยแล้วลองเสื้อไป หากลูกค้าอยากอาหาร ก็จะมีพนักงานไปสั่งอาหารจากกัลปพฤกษ์หรือโอเรียนเต็ล ช็อปมาบริการให้ฟรี

“Luxury ไม่ใช่แค่ตัวสินค้า แต่เป็นประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับตั้งแต่เข้ามาในร้าน บรรยากาศ การต้อนรับ สินค้าและบริการ ซึ่งประสบการณ์นี้แหละที่ทำให้ Luxury ต่างจาก Mass product” ฉัตรเบญจาอธิบายแนวคิดในการสร้างความพรีเมียมที่มีปรัชญาบริการที่ว่า Customer is the King “ลูกค้าอยากได้อะไร เราต้องพยายามที่สุดให้ตรงตามความต้องการลูกค้า ถ้าไม่มี เราก็ต้องบอกว่าได้ แล้วรีบติดต่อสั่งเข้ามาให้ลูกค้า”

“เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้าน พนักงานต้องทักทาย และเริ่มสังเกตว่าลูกค้าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ พร้อมทำให้รู้ว่าเราใส่ใจเขา ดูลักษณะการแต่งตัวและดูว่าหยิบอะไรก่อน แนะนำตามสไตล์หรือความชอบของลูกค้า ต้องไม่ยัดเยียดสไตล์ที่ไม่ใช่ อีกทั้งต้องให้ข้อมูลของแบรนด์ คอลเลกชั่น ข่าวคราวแฟชั่น และคำแนะนำในแก้ไขเสื้อผ้าไม่ให้เสียทรงได้ ฯลฯ” …นี่คือคัมภีร์บทแรกที่พนักงานบลูมารีนทุกคนต้องสอบผ่าน

ในการสื่อสารการตลาด ฉัตรเบญจารับว่า แบรนด์นี้ใหม่มากสำหรับคนไทยจึงต้องเน้น educate แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นก่อน ด้วยกลยุทธ์ advertorial และ celebrity ซึ่งกลุ่มวรรณมานีถนัด ขณะที่แคมเปญลด 10% สำหรับยอดซื้อครบแสน พร้อมสะสมยอดร่วมกับแบรนด์อื่นในเครือ และกิจกรรมสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น test drive หรือกิจกรรมสปา ซึ่งคิดค้นขึ้นมากระตุ้นยอดขายและผูกใจนักช้อปแบรนด์เนมอย่างได้ผล

แม้ราคาจะสูงลิ่ว แต่ด้วยคุณภาพ ชื่อเสียง กลยุทธ์การตลาด และบริการ ทำให้เดรสสีชมพูตัวละ 259,000 บาท ที่นำเข้ามาเพียง 2 ตัว ขายหมดไปตั้งแต่ไม่ถึง 2 เดือน ซึ่งผลการตอบรับที่ดีขนาดนี้ ยิ่งทำให้นวลพรรณมั่นใจในการนำแบรนด์หรูอีก 4-5 แบรนด์เข้ามาในปีนี้มากขึ้น และเพิ่มความเป็นไปได้ที่อาจนำเข้าของแต่งบ้านแบรนด์บลูมารีนมากระตุ้นความต้องการของแฟนคลับบลูมารีน ในเร็ววันนี้ด้วย

ความเป็น “บลูมารีน”

1. ความเป็น feminine ที่ดูโรแมนติก เซ็กซี่ และอ่อนหวาน แต่แฝงความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน
2. รายละเอียดในดีไซน์และเสื้อผ้าเยอะๆ เช่น ลูกปัด คริสตัล ลูกไม้ ทริม ขนสัตว์ ฯลฯ
3. เสื้อถักนิตติ้ง และผ้าชีฟองบางเบา รวมทั้งเสื้อแบบคาร์ดิแกน (cardigan) หรือเสื้อสวมที่มีกระดุมข้งหน้าเป็นเหมือน DNA ของบลูมารีน
4. ลวดลายดอกกุหลาบ ลายดอกไม้ ลายทะเล และลวดลายคดโค้งอ่อนช้อย เป็นที่นิยม
5. โทนสีน้ำตาลไล่ไปถึงชมพูดอกกุหลาบ และโทนสีน้ำทะเลอันเป็นที่มาของชื่อ โทนสีทั้ง 2 นี้จะเป็นโทนสียอดฮิตในคอลเลกชั่นต่างๆ ของบลูมารีน นอกจากนี้ก็มีสีดำ

History

Anna Morinali และสามีนักธุรกิจเจ้าสัวใหญ่คือ Count Gianpaolo Tarabini Castellani แยกตัวออกมาจากธุรกิจเสื้อผ้าของพ่อแม่เธอออกมาสร้าง “บลูมารีน” เมื่อปี ค.ศ. 1977 จนวันนี้กลายเป็นแบรนด์ประจำสำหรับผู้หญิงอิตาเลียนผู้มั่งคั่ง จากนั้นบริษัทขายใหญ่จึงแตกแบรนด์เพิ่มอีก 2 แบรนด์ คือ ปี ค.ศ. 1995 สร้างแบรนด์ Anna Morinali สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่กว่าด้วยดีไซน์ที่มีความเป็นอิสระและเซ็กซี่กว่า และปี 2002 คือแบรนด์ Blugirl ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายเด็กและหญิงสาววัยแรกรุ่น

ปัจจุบัน บลูมารีนอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท “Blufin”โดยมีบูติคช็อปของบลูมารีนอยู่ในอิตาลี และเมืองแฟชั่นทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน เวียนนา โตเกียว โอซาก้า ฮ่องกง สิงคโปร์ โซล เดจู กัวลาลัมเปอร์ ฯลฯ และล่าสุดคือ ลอสแองเจลิส ปลายเดือน ต.ค. 2548 และกรุงเทพฯ ต้นเดือน พ.ย. 2548