ซูเปอร์มาร์เก็ต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 06 Sep 2023 11:40:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สกัดเคล็ดลับ “UFM FUJI” ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยมา 39 ปี มีแค่ 5 สาขา แต่ไม่เคยขาดทุน! https://positioningmag.com/1443659 Wed, 06 Sep 2023 10:30:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443659 มีซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นอยู่รายหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจอย่างเงียบๆ ในไทยมานานเกือบ 4 ทศวรรษ เปิดแค่ 5 สาขา แต่คนย่านพร้อมพงษ์ต่างรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซูเปอร์ฯ ที่ว่านั้นคือ “UFM FUJI” ผู้ไม่เคยขาดทุนเลยตลอดการก่อตั้งในเมืองไทย

ถ้าใครอาศัยอยู่ในย่านพร้อมพงษ์น่าจะรู้จักซูเปอร์มาร์เก็ต “UFM FUJI” ในฐานะซูเปอร์ฯ ที่เน้นขายสินค้าจากญี่ปุ่นเพื่อคนญี่ปุ่นแท้ๆ ภายในซูเปอร์ฯ มีขายสินค้าที่ซูเปอร์ฯ ไทยทั่วไปอาจไม่มี ทั้งปลาทะเลสดนำเข้า ผงโรยข้าวนับสิบชนิด มันเผา ไปจนถึงผักญี่ปุ่น เช่น โกโบ ต้นหอมญี่ปุ่น

ซูเปอร์ฯ UFM FUJI ดำเนินกิจการในไทยมานานถึง 39 ปีแล้ว แต่ยังมีสาขาน้อยมากเพียง 5 สาขา ทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในย่านพร้อมพงษ์ สาขาแรกอยู่ที่ ซอยสุขุมวิท 33/1, สาขา 2 อยู่ในซอยสวัสดี, สาขา 3 ซอยพร้อมศรี 1, สาขา 4 ซอยสุขุมวิท 49 และ สาขา 5 เพิ่งจะข้ามถนนมาเปิดในฝั่งเลขคู่ที่ซอยสุขุมวิท 24

UFM FUJI
สาขาของซูเปอร์มาร์เก็ต UFM FUJI ล้วนอยู่ในย่านพร้อมพงษ์ทั้งหมด

ถึงแม้จะเปิดสาขาน้อย แต่กิจการก็ดำเนินไปอย่างมั่นคง “จุนจิ คิคุจิ” ประธานกรรมการ บริษัท ฟูจิ ชิติโอะ จำกัด และ “สุดาวัลย์ ตั้งตรงศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอฟเอ็ม ฟูจิ ซูเปอร์ จำกัด มีโอกาสพบปะสื่อมวลชนจากการเปิดแกรนด์โอเพนนิ่งสาขาที่ 5 ทำให้เราได้พูดคุยถึงการดำเนินธุรกิจและโอกาสในอนาคตของบริษัท

ทั้งคู่บอกกับเราก่อนเลยว่า แม้จะมีสาขาไม่มากแต่บริษัทไม่เคยขาดทุนเลยตลอดการก่อตั้งในเมืองไทย!

 

ทำเลตั้งสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อ “แม่บ้านญี่ปุ่น”

จากการพูดคุย เราพบว่าเคล็ดลับของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้คือความเข้าใจในจุดขายและกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

“UFM FUJI” เข้ามาในไทยเพื่อจะจับกลุ่มเป้าหมาย ‘expat’ ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานและอาศัยระยะยาว และเหล่าพนักงานออฟฟิศชายเหล่านี้มักจะไม่ได้มาคนเดียว แต่จะพา “อ๊กซัง” หรือภรรยาชาวญี่ปุ่นรวมถึงลูกๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว

ไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ สามีจะออกไปทำงาน ขณะที่ภรรยาหรือ “แม่บ้านญี่ปุ่น” จะอยู่บ้านคอยดูแลลูก บ้านเรือน และทำอาหาร

“แม่บ้านญี่ปุ่น” นี่เองคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของ UFM FUJI เพราะพวกเธอคือลูกค้าหลักที่จะเข้ามาช้อปปิ้งสรรหาวัตถุดิบทำอาหารและดูแลบ้านในแต่ละวัน

บรรยากาศใน UFM Fuji สาขาเนเบอร์ 24

“นายญี่ปุ่นจะดูโลเคชันสาขาละเอียดมาก เพราะต้องอยู่ใจกลางที่พักที่คนญี่ปุ่นอาศัยหนาแน่น และซูเปอร์มาร์เก็ตเราจะต้องให้บริการแม่บ้านญี่ปุ่นซึ่งพวกเขาจะไม่มีรถขับ ดังนั้น เราจะต้องตั้งอยู่ในระยะเดินถึงจากที่พักของคนญี่ปุ่น” สุดาวัลย์อธิบาย

นั่นคือเหตุที่ UFM FUJI กระจุกกันอยู่ในพร้อมพงษ์ เพราะบริเวณนี้เป็นจุดที่คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด

 

สินค้าต้องญี่ปุ่นแท้ๆ เน้นคุณภาพ

ประเด็นต่อไปที่ต้องใส่ใจคือ สินค้าในซูเปอร์ฯ จะต้องตรงใจกลุ่มเป้าหมาย โดย 90% ของสินค้าใน UFM FUJI จะเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากญี่ปุ่น

สุดาวัลย์ระบุว่า สินค้าซิกเนเจอร์ของที่นี่คือ “ปลาสด-อาหารทะเล” และ “ของสด” อื่นๆ เช่น ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ซึ่งวัตถุดิบอาหารเหล่านี้จะเน้นคุณภาพสูง แม้แต่ตู้แช่สำหรับของสดก็สั่งนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่เหมาะสม

UFM FUJI
ของสดและอาหารเซ็ต

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม “อาหารเซ็ต” เช่น ซูชิ ซาชิมิ ที่ขายดี เพราะทำราคาไม่สูงเพียงเซ็ตละ 90-300 บาท แต่ได้คุณภาพเทียบเท่าภัตตาคาร

 

คาดขยายได้อีก 5 สาขา – เริ่มเจาะคนไทยมากขึ้น

ขณะนี้ UFM FUJI มีฐานสมาชิกประมาณ 50,000 คน โดยแบ่งเป็น 50% คนญี่ปุ่น และ 50% คนไทย

ประธานคิคุจิจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นมองว่า สาขาของ UFM FUJI ในกรุงเทพฯ นั้นน่าจะยังขยายได้อีก เพราะ 80% ของชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในไทยอยู่อาศัยกันในพื้นที่ตั้งแต่สถานีอโศกจนถึงสถานีเอกมัย ซูเปอร์มาร์เก็ตของเขาจึงน่าจะขยายได้อีกประมาณ 5 สาขา

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงขยายสาขาแบบ ‘ไม่รีบร้อน’ เหมือนที่เคยเป็นมา เพราะต้องหาโลเคชันที่ ‘ใช่’ จริงๆ และถ้าโลเคชันไม่ดีก็จะไม่ลงทุน

UFM FUJI
(ขวาบน) “จุนจิ คิคุจิ” ประธานกรรมการ บริษัท ฟูจิ ชิติโอะ จำกัด

ทั้งนี้ คิคุจิมีประเด็นที่เริ่มกังวลเช่นกัน คือ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พนักงานชาวญี่ปุ่นเริ่มลดลงในเมืองไทย วัดได้จากสถิติลงทะเบียนใบอนุญาตทำงาน (work permit) ที่เริ่มเติบโตช้าลงในแต่ละปี นั่นหมายความว่า จำนวนลูกค้าและกำลังซื้อหลักของ UFM FUJI จะลดลงเช่นกัน

ดังนั้น ในระยะหลังจะเห็นว่า UFM FUJI เริ่มหันมาทำการตลาดกับคนไทยให้มากขึ้น ต้องการเป็นที่รู้จักของคนไทยในย่านสุขุมวิท แต่จุดขายของซูเปอร์ฯ จะยังคงเป็นซูเปอร์ฯ “สินค้าญี่ปุ่น” เช่นเดิม เน้นจับตลาดคนไทยที่ชื่นชอบอาหารและสินค้าญี่ปุ่น

โดยสาขาที่ 5 ที่เพิ่งเปิดใหม่ของ UFM FUJI ในคอมมูนิตี้ มอลล์ “เนเบอร์ 24” น่าจะเป็นสาขาที่ช่วยสร้างชื่อในกลุ่มคนไทยและชาติอื่นๆ ได้มากขึ้น เพราะสาขานี้เป็นแห่งแรกที่ข้ามมาเปิดในซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ ซึ่งมีคนญี่ปุ่นอาศัยน้อยกว่าฝั่งเลขคี่ จึงน่าจะได้กลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นสัดส่วนมากกว่าคนญี่ปุ่นด้วย

ส่วนการขยายไปยังแหล่งอาศัยของคนญี่ปุ่นในจังหวัดอื่น เช่น อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คิคุจิประเมินแล้วว่าน่าจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายของ UFM FUJI เนื่องจาก expat ชาวญี่ปุ่นในศรีราชามักจะเป็นชายหนุ่มโสด ไม่มีภรรยาติดตามและไม่มีลูก ส่วนใหญ่จึงนิยมทานข้าวนอกบ้านมากกว่าทำอาหารเอง ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นจึงไม่น่าจะขายดีนัก

]]>
1443659
Foodland ฝ่าวงล้อมค้าปลีก ขอเปิดปีละ 2 สาขา เตรียมผุดไซส์เล็ก เกาะไปกับคอนโด https://positioningmag.com/1439392 Tue, 01 Aug 2023 12:54:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439392 Foodland กลับมาขยายสาขาอีกครั้งนับจากปี 2562 ขอขยายเบาๆ ปีละ 2 แห่ง เน้นในกรุงเทพฯ ไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว เพราะกำลังซื้อไม่เหมือนกัน เตรียมเปิดฟอร์แมตใหม่ Foodland Grocerant ไซส์เล็ก เจาะตามคอนโด ยุทธการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ท้าชน Maxvalu เต็มตัว

เปิดปีละ 2 สาขา เน้นในกรุง ไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว

Foodland เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทย ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ในปีนี้มีอายุ 51 ปีแล้ว แต่แผนในการทำตลาดค่อนข้าง Conservative เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัว และไม่ได้เน้นจำนวนสาขาเยอะ ต้องการเน้นคุณภาพของลูกค้า และโลเคชั่นที่ตั้งมากกว่า

51 ปีที่ผ่านมา Foodland มีสาขารวม 24 สาขา อยูในกรุงเทพฯ 21 สาขา และต่างจังหวัด 3 สาขา อยู่ในพัทยา 2 แห่ง และโคราช 1 แห่ง

Foodland

เมื่อ 4-5 ปีก่อน Foodland ตั้งเป้าว่าจะขยายสาขาให้ได้ปีละ 3-5 สาขา เพราะโอกาสในตลาดยังมีอีกมาก รวมถึงทำเลในต่างจังหวัดก็ยังมีอีกเยอะ แต่หลังจากปี 2562 ที่ธุรกิจเจอความท้าทายรอบด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Foodland ได้ลดเป้าในการขยายสาขาเหลือปีละ 2 สาขา

และเมื่อต้นปี 2563 ก็ดันเจอเหตุการณ์ “กราดยิงที่โคราช” ในตอนนั้น Foodland อยู่ในจุดที่ได้รับความเสียหายหนัก ต้องปิดปรับปรุง 2-3 เดือน สูญรายได้เดือนละ 10 ล้านบาท หลังจากนั้น Foodland ก็ไม่ได้ขยายสาขาใดๆ เพิ่ม ประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ด้วยพอดี

ในปีนี้ Foodland พร้อมกลับมาขยายสาขาอีกครั้ง โดยมองอยู่ที่ปีละ 2 สาขาเช่นเคย พื้นที่เฉลี่ย 1,200-1,500 ตารางเมตร เน้นโลเคชั่นในกรุงเทพฯ ได้ทั้งโซนที่ติดรถไฟฟ้า โซนที่มีหมู่บ้านใหญ่ๆ

Foodland

อธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เล่าว่า

“ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา Foodland มียอดขายสูงขึ้น แต่ได้กำไรน้อย เนื่องจากคนอยู่บ้านทำอาหารมากขึ้น แต่การบริหารจัดการคนยาก เพราะมีพนักงานติดเชื้อ กักตัวอยู่ตลอด ทำให้ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเราไม่ได้เจ็บตัวมาก ในปีนี้เรากลับมาขยายสาขา ในกรุงเทพฯ ยังขยายตามเส้นรถไฟฟ้าได้อีก ไม่กล้าขยายไปต่างจังหวัดแล้วเพราะกำลังซื้อไม่ได้ กลุ่มลูกค้าของ Foodland จะอยู่ระดับกลางไปถึงบน แต่คนต่างจังหวัดมองความคุ้มค่าเป็นหลักมากกว่า”

ผุดสาขาสีลม โซนลูกค้ากำลังซื้อสูง

ปีนี้ได้ประเดิมสาขาแรกที่โครงการพาร์คสีลม พื้นที่ 1,700 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 60 ล้านบาท มีการดีไซน์แนวโมเดิร์น ลักชัวรี่ให้เข้ากับดีไซน์ของตึก

ถึงแม้ว่าสาขานี้จะอยู่ใจกลางเมืองมากๆ เป็นโลเคชั่น CBD ใจกลางสีลม แต่ก็ไม่ใช่สาขาในเมืองแห่งแรกของ Foodland ก่อนหน้านี้ได้มีสาขาพัฒน์พงษ์ และสาขาสุขุมวิทที่เปิดมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่สาขาพาร์คสีลมจะมาช่วยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

Foodland

อธิพล เสริมอีกว่า ความพิเศษของสาขานี้คือ ประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่มากขึ้น โดยปกติแล้วลูกค้าของ Foodland จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวัตถุดิบอาหารพอสมควรอยู่แล้ว และรู้ความ้ตองการของตัวเอง แต่ที่สาขานี้จะมีพนักงานที่เทรนเรื่องข้อมูลสินค้าอย่างดี เรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำแผนกมาให้ความรู้ รวมไปถึงมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเยอะมากขึ้น ทั้งเนื้อ ชีส ไส้กรอก ไวน์ เป็นต้น สินค้าแต่ละตัวจะมีหลายเกรดให้ลูกค้าเลือกได้มากขึ้น

สาขานี้ตั้งเป้ามีทราฟฟิกคนใช้บริการเฉลี่ย 2,000-2,500 คน/วัน มีรายได้ 20 ล้านบาท ปกติแต่ละสาขาจะมีรายได้เฉลี่ย 15-20 ล้านบาท

Foodland

“ในช่วงปี 2561 เราตั้งเป้าเปิดสาขาเฉลี่ยปีละ 3-5 สาขา แต่ติดเรื่องคนไม่พอ ผู้จัดการคนเก่าๆ ก็เริ่มเกษียณออกไป ทำให้ไม่มีคนเทรนนิ่งพนักงาน ยุคนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีอยากทำงานบริการแล้วด้วย เพราะต้องทำอาทิตย์ละ 6 วัน เราเลยต้องจูงใจด้วยรายได้เริ่มต้น 14,000 บาท เพิ่งปรับเพิ่มจาก 12,500 บาท เราให้มากกว่า 450 บาทอีก”

ในปีนี้จะเปิดอีก 1 สาขาที่โครงการ Icon 56 ย่านสายไหม เป็นโครงการใหม่ของปั๊มปตท. ยังคงเจาะทำเลย่านที่พักอาศัย รวมไปถึงมีแผนที่จะรีโนเวตสาขาเก่าเพิ่ม เช่น สาขาลาดพร้าว มีการปรับถูกและดีใหม่ และสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ใช้งบลงทุน 20 ล้าน

เตรียมปั้นไซส์เล็ก ชน Maxvalu

วงการค้าปลีกในปัจจุบันเน้นการทรานส์ฟอร์มตัวเองอย่างหนัก จะเห็นว่าหลายเจ้ามีการผุดโมเดลใหม่ๆ เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค มีทั้งขนาดเล็กลง เพื่อให้ขยายได้มากขึ้น เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ไปจนถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในการมีทำเลใหม่ๆ ไปเลย เทรนด์หนึ่งที่สำคัญคือ การออกนอกศูนย์การค้า เป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่ง หลังจากที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤต COVID-19

ที่ผ่านมา Foodland เป็นแบรนด์ส่วนน้อยที่ไม่มีการแตกโมเดลใหม่ๆ ไม่ได้ลงทุนใหม่ๆ มากนัก แต่ในปีนี้เริ่มมีแผนเป็นรูปเป็นร่างในการผุดโมเดลใหม่ขึ้นมา เพราะมีโจทย์สำคัญในการเข้าถึงลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงต้องเจาะเข้ากลุ่มคอนโด

Foodland

ในปีหน้าเราจึงจะได้เห็น Foodland Grocerant (ฟู้ดแลนด์ โกเซอรองต์) เป็นคอนเซ็ปต์ของ Grocery + Restaurant หรือร้านสะดวกซื้อ ผสมร้านอาหาร โมเดลนี้จะมีพื้นที่ราวๆ 200 ตารางเมตร ไม่เชิงเป็นร้านสะดวกซื้อ แต่พื้นที่จะเป็นร้านถูกและดีครึ่งหนึ่ง และเป็น Grocery อีกครึ่งหนึ่ง มีอาหารพร้อมทาน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าร้านถูกและดีจะมีพื้นที่นั่งหรือไม่ กำลังศึกษากันอยู่

คอนเซ็ปต์นี้จะเริ่มพันธมิตรกับ SC ASSET ในการไปเปิดกับโครงการใหม่ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญา 2 แห่งแล้ว คอนโดใหม่ย่านวงเวียนใหญ่ และรัชดาฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2567

“ตอนนี้โจทย์ใหญ่ของ Foodland อยากได้ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่บ้าง ปกติลูกค้าเราอายุเฉลี่ย 30 ปลายๆ แต่เราอยากได้อายุต่ำกว่า 30 ปีมากขึ้น เลยต้องเจาะฐานคนอยู่คอนโด หรือหมู่บ้านที่อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อ อยากทำให้แบรนด์เฟรชขึ้น”

การเปิดร้านไซส์เล็กตามโครงการคอนโด เรียกว่าเป็นการท้าชน Maxvalu จากค่ายอิออนเต็มตัวเช่นกัน เพราะ Positioning มีความใกล้เคียงกัน เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แตกต่างจากเจ้าอื่นที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่แล้ว เห็นได้ว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคต่อไปน่าจะเนื้อหอมมากขึ้น จากการเป็นพันธมิตรจากผู้เล่นค้าปลีก

Photo : Shutterstock

สำหรับร้าน “ถูกและดี” อธิพลบอกว่า ยังไม่สามารถขยายสาขาไปนอก Foodland ได้แบบฟูลสเกล ถ้าเป้นโมเดลเล็กๆ เป็นเคาน์เตอร์ยังมีโอกาส เนื่องจากบริหารจัดการยาก

อธิพลทิ้งท้ายด้วยประเด็นการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เทียบกับรายอื่นในตลาดถือว่ามีการเปิด 24 ชั่วโมงน้อยรายมากๆ

“การเปิด 24 ชั่วโมงเป็นภาระอย่างหนึ่ง มีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับรายอื่น แต่ที่เราต้องเปิด 24 ชั่วโมง เพราะตลาดของสดจะกระจายสินค้าตอนเที่ยงคืน เราต้องการกระจายสินค้าในวันเดียวกัน เพื่อไม่ให้ค้างคืน ทีนี้แต่ก่อนผับบาร์เปิดได้ถึงตี 4 คนออกจากผับยังมาทานอาหารที่เราได้ แต่ตอนนี้พฤติกรรมเปลี่ยนไป ผับบาร์ปิดเร็ว เราขายได้น้อยลง 

ส่วนหนึ่งเป็นภาระ แต่ก็เป็นจุดขายด้วยเช่นกัน ถามว่าเราจะต้องปิดตอนกลางคืนมั้ย… ถ้าอยากได้กำไรมากขึ้นก็ปิดได้ แต่เรายังมีลูกน้องที่ยังต้องเรียนในตอนกลางวันก็จะได้รับผลกระทบ คิดว่าถ้าเรายังอยู่ได้ก็ไม่อยากยกเลิก” 

]]>
1439392
ค้าปลีก 2565 ปัจจัย “เงินเฟ้อ” ยังรุมเร้า ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าจำเป็น แฟชั่น-บิวตี้ยังฟื้นตัวช้า https://positioningmag.com/1389653 Wed, 22 Jun 2022 09:41:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389653
  • SCB EIC คาดมูลค่าธุรกิจ “ค้าปลีก” 2565 กลับมาโต 11% YoY จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวฟื้น แต่ปัจจัยลบยังรุมเร้าจากค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อผู้บริโภค
  • การฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มสินค้า กลุ่มของสด (grocery) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจะฟื้นตัวได้ดี รวมถึงกลุ่มซ่อมแซมตกแต่งบ้านและสวน ยังไปได้ดีจากพฤติกรรมอยู่บ้านมากขึ้น ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มแฟชั่นและบิวตี้ยังฟื้นอย่างช้าๆ
  • ช่องทางค้าปลีกที่ได้อานิสงส์คือกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และอีคอมเมิร์ซ ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านเครื่องสำอางจะยังซบเซา
  • SCB EIC เปิดรายงานคาดการณ์ธุรกิจ “ค้าปลีก” ปี 2565 คาดการณ์ว่า ตลาดจะกลับมาโต 11% YoY หรือคิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท (ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.48 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคมีการเดินทาง ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ช่วยเสริมกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

    อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า “ปัจจัยลบยังมีมากกว่าปัจจัยบวก” เพราะราคาพลังงานพุ่งสูง ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า หมวดไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 14.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขึ้นมา 15.5% และหมวดการขนส่งและการสื่อสารขึ้นมาแล้ว 10.8%

    เมื่อรวมกับปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราว่างงานสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำ และจะส่งผลต่อการเลือกจับจ่ายของผู้บริโภค สินค้าแต่ละกลุ่มในธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวแบบไม่เท่ากัน

     

    ของสด-แต่งบ้าน สินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น

    สำหรับกลุ่มสินค้าที่ EIC คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มของจำเป็น ได้แก่ ของสด (grocery) และ สินค้าซ่อมบ้านและตกแต่งบ้าน

    กลุ่มสินค้าของสดนั้นคาดว่าปี 2565 จะโต 12% YoY ทำให้มูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562

    ส่วนสินค้าซ่อมบ้านและแต่งบ้านคาดว่าจะโต 4% YoY กลับมาใกล้เคียงปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่มีอายุมาก อายุบ้าน 11-20 ปีจะต้องการรีโนเวตครั้งใหญ่ และอายุบ้าน 5-10 ปี จะต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สองกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านอายุน้อยกว่า 5 ปีก็มีการตกแต่งบ้านจากเทรนด์ “อยู่บ้าน” มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตได้

     

    บิวตี้-แฟชั่น ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่

    ด้านสินค้าบิวตี้นั้น EIC เชื่อว่าปีนี้จะโต 13% YoY แต่เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวนี้ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 ต้องรอให้การกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้นก่อน

    สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และรองเท้าก็เช่นกัน คาดว่าจะโต 14% YoY แต่ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ยกเว้นตลาดระดับลักชัวรีซึ่งพยุงตัวได้มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยก็หันมาช้อปภายในประเทศแทน เพราะยังไม่สะดวกเดินทางออกต่างประเทศ

    2565 ค้าปลีก

     

    ช่องทางการขายมีทั้งคึกคักและซบเซา

    จากกลุ่มสินค้าที่มีทั้งกลับมาฟื้นตัวสุดขีด และกลุ่มที่ยังฟื้นแบบช้าๆ ทำให้ช่องทางการขายที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดปีนี้คือ “ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต” เพราะเป็นช่องทางขายของสด และผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลส่งซูเปอร์ฯ ไซส์เล็กเข้าหาแหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อจากสาขาใกล้บ้าน (กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการปรับตัวต่อไป)

    อีคอมเมิร์ซ ยังเป็นช่องทางมาแรงสำหรับธุรกิจค้าปลีก

    ขณะที่ช่องทางที่น่าจะยังซบเซา ฟื้นตัวได้ไม่มาก คือ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้ากลุ่มแฟชัน-บิวตี้เป็นหลัก รวมถึง “รีเทลขายเครื่องสำอาง” โดยเฉพาะ ยกเว้นร้านกลุ่มดรักสโตร์ที่มีการขายยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มนี้จะยังได้กระแสรักสุขภาพของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยพยุงยอดขายไว้ได้

    ช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งคือ “อีคอมเมิร์ซ” EIC คาดว่ามูลค่าตลาดการขายผ่านช่องทางนี้จะโต 24% YoY ในปี 2565 เพราะเป็นช่องทางที่ซื้อสินค้าได้หลากหลาย และเติบโตขึ้นมากจากความสะดวกในช่วงเกิด COVID-19 แม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคพบว่า 26% จะใช้อีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และมี 24% ที่จะยังซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่คงเดิม ทำให้ช่องทางนี้จะยังคงความสำคัญต่อไป

    ]]>
    1389653
    ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ จำกัดซื้อ ‘น้ำมันพืช’ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อินโดฯ ระงับส่งออก https://positioningmag.com/1382552 Sun, 24 Apr 2022 09:34:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382552 ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Tesco เเละซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร ประกาศจำกัดการซื้อน้ำมันพืชของลูกค้า ท่ามกลางภาวะขาดเเคลนจากผลกระทบวิกฤตรัสเซียยูเครนเเละอินโดนีเซียสั่งระงับส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศ

    โดย Tesco กำหนดให้ลูกค้าสามารถซื้อน้ำมันพืชได้ไม่เกินคนละ 3 ขวด ส่วนห้าง Waitrose และ Morrisons มีผู้ซื้อจำกัดที่ละ 2 รายการ จำกัดให้ลูกค้าซื้อได้ไม่เกินคนละ 2 ขวด

    ผลิตภัณฑ์น้ำมันดอกทานตะวันส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรนำเข้ามาจากยูเครน การรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก ทำให้เกิดการขาดแคลนและต้องหาน้ำมันพืชอื่นๆ มาทดแทนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารเเพงขึ้นตามไปด้วย

    สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ข้อจำกัดนี้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้นเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะเข้าถึงสินค้า

    โดยกลุ่มน้ำมันมะกอกและน้ำมันดอกทานตะวัน จะอยู่ในลิสต์ที่ถูกจำกัดการซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ทั้งในหน้าร้านและสั่งทางออนไลน์

    “ผู้ค้าปลีกกำลังทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำมันปรุงอาหารทางเลือก เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค”

    บริษัทวิจัยค้าปลีก Assosia วิเคราะห์ว่า อุปทานน้ำมันดอกทานตะวันที่ลดลงอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งในยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อราคาในตลาด โดยพบว่า น้ำมันดอกทานตะวันยี่ห้อหนึ่งมีการปรับขึ้นราคามากกว่า 10% ตั้งเเต่ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

    ด้านรัฐบาลอินโดนีเซีย เพิ่งตัดสินใจออกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม..นี้ เพื่อเป็นการช่วยตรึงราคาไม่ให้พุ่งขึ้นไปกว่านี้ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มที่ใช้ทำอาหารภายในประเทศ

    ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลกและเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศ

     

    ที่มา : BBC , theguardian 

     

    ]]>
    1382552
    “โลตัส โก เฟรช” บุกโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต ดึงร้านอาหารดัง ประเดิมสาขาสุทธิสาร https://positioningmag.com/1381928 Tue, 19 Apr 2022 08:41:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381928 โลตัส โก เฟรช ขยับจากไซส์เล็ก สู่ไซส์ใหญ่ เปิดสาขาสุทธิสารเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมคอมมูนิตี้รวมร้านอาหารดัง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ตั้งแต่เช้าจนถึงดึก รวมถึงไลฟ์สไตล์การนั่งทานในร้าน หรือเดลิเวอรี่ก็ได้

    คอมมูนิตี้มอลล์ขนาดย่อม

    เทรนด์ของธุรกิจค้าปลีกในช่วงหลายปีมานี้ หลายรายต้องปรับขนาดไซส์ให้เล็กลง เพื่อความคล่องตัวในการขยายสาขา เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น อีกทั้งยังใช้งบลงทุนน้อยกว่ารูปแบบขนาดใหญ่ จะเห็นได้ว่าโมเดลร้านสะดวกซื้อจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะเข้าถึงได้ในแหล่งชุมชน

    ผู้เล่นในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องหาโมเดลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ ปั๊มน้ำมัน หรือสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ด้วยความที่ต้องการไซส์ที่เล็กลงด้วย และยังต้องการกระจายความเสี่ยงจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ต้องเผชิญมาตลอด 2 ปีนี้ด้วย

    ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh) หนึ่งในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กของโลตัส ได้เปิดโมเดลใหม่แบบซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ได้มีแค่ร้านค้าของตัวเอง แต่มีพื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารดังๆ อื่นๆ แถมยังเปิดให้บริการดึกขึ้นได้ด้วย

    โมเดลนี้อาจจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดย่อมๆ ก็ได้ มีรวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับอาหารสด อาหารแห้ง พร้อมกับร้านอาหารจากเชนร้านอาหารใหญ่ๆ วางจุดยืนเป็น Food Destination ประเดิมสาขาสุทธิสาร ซึ่งทำเลนี้ขึ้นชื่อว่ามีผู้คนอาศัยอยู่เยอะ

    เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า โลตัส กล่าวว่า

    “หนึ่งในพันธสัญญาของโลตัส คือการเป็น inspiring food destination จำหน่ายอาหารคุณภาพสูงหลากหลายประเภท ทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้า และแพลตฟอร์มออนไลน์ เราได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับรูปแบบสาขาให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ล่าสุด โลตัสได้มีการเปิดสาขาใหม่ โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh) สุทธิสาร โดยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าบริเวณนั้นอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ SMART F&B Heaven สวรรค์ของนักกิน”

    โดยมีการสำรวจตลาดเพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้า และรูปแบบการใช้ชีวิตด้านการจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่นั้น ทั้งเรื่องประเภทอาหาร แบรนด์ร้านค้าที่เป็นที่ต้องการ จุดประสงค์และช่วงเวลาที่สะดวกในการช้อปปิ้ง และนำมาออกแบบเป็นสาขาใหม่ที่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และความต้องการของผู้คนที่อยู่อาศัยในโซนนี้

    ที่สาขานี้สามารถตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เปิดบริการตั้งแต่เช้าถึงดึก มีร้านที่เปิดให้บริการเช้าสุด 06.00 น. และปิดให้บริการดึกสุดถึง 23.00 น. มีพันธมิตรร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ที่เปิดให้บริการในโลตัส โก เฟรช ครั้งแรกที่สาขานี้ ได้แก่ Subway, Phoenix Lava, MX bakery และ Mikka

    ยังมีร้านค้าดีไซน์เอ็กซ์คลูซีฟ ออกแบบพิเศษโดดเด่นแปลกตาจากสาขาทั่วไป มี Swensen’s ในรูปโฉมร้านสีชมพู เอาใจลูกค้าเด็ก และวัยรุ่น และ Shushi Express ที่มีดีไซน์ผนังครัวด้วยกราฟิกแบบใหม่ จากบริษัทแม่ที่ไต้หวัน ยังไม่เคยใช้ในสาขาอื่นมาก่อน

    ]]>
    1381928
    Amazon ส่งเทคโนโลยี “ไร้แคชเชียร์” เข้าซูเปอร์ฯ Whole Foods หยิบของแล้วเดินออกได้เลย https://positioningmag.com/1375994 Tue, 01 Mar 2022 13:02:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375994 หลังจาก Amazon ทดลองเทคโนโลยี “ไร้แคชเชียร์” ในซูเปอร์มาร์เก็ตของตัวเองมา 3 ปี ปีนี้บริษัทเริ่มส่งเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาเดิมอยู่แล้วอย่าง Whole Foods เป็นครั้งแรกในวอชิงตัน ดีซี และจะขยายสาขาที่ 2 ต่อไปที่ลอสแอนเจลิส

    Amazon นำเทคโนโลยี “ไร้แคชเชียร์” หยิบของแล้วเดินออกได้เลย (Just Walk Out) เข้าไปใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต Whole Foods โดยเริ่มครั้งแรกที่สาขา Glover Park วอชิงตัน ดีซี ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022

    แม้ว่า Amazon จะขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้กับซูเปอร์มาร์เก็ต Amazon Go และ Amazon Fresh มานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำไปใช้กับซูเปอร์ฯ แบรนด์อื่นซึ่งเปิดแบบดั้งเดิมมานานอย่าง Whole Foods (บริษัท Amazon เข้าซื้อเชนซูเปอร์ฯ Whole Foods มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงการบริการถึงกันมากนักจนกระทั่งขณะนี้)

    การนำมาใช้กับซูเปอร์ฯ ดั้งเดิม สะท้อนให้เห็นความมั่นใจมากขึ้นของบริษัทต่อเทคโนโลยีไร้แคชเชียร์ ขณะนี้บริษัทยังไม่ยืนยันว่าจะมีการนำไปใช้กับ Whole Foods ทุกสาขาหรือไม่ แต่สาขาที่สองจะตามมาแน่นอนในลอสแอนเจลิส

    สแกนเพื่อเดินออกได้เลย ไม่ต้องหยุดชำระเงิน (Photo: Amazon)

    วิธีการใช้งานซูเปอร์ฯ ไร้แคชเชียร์ ผู้ที่ต้องการใช้ระบบนี้สามารถเปิดแอปพลิเคชัน Amazon และสแกน QR Code ที่หน้าสาขา หรือใช้ “ฝ่ามือ” สแกนเพื่อยืนยันตัวตนก็ได้ จากนั้นในร้านจะมีกล้องและเซ็นเซอร์จับอยู่ตลอดเวลา เพื่อดูว่าลูกค้าหยิบสินค้าอะไรขึ้นมาบ้าง หรือหยิบอะไรคืนลงบนชั้นวาง เมื่อเสร็จจากการช้อปปิ้ง ลูกค้าสามารถเดินออกจากร้านได้เลย และรายการสินค้าจะถูกส่งเข้าแอปฯ Amazon เพื่อตัดเงินกับบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับแอปฯ

    สำนักข่าว The New York Times ลงพื้นที่สาขาแรกของ Whole Foods ที่มีเทคโนโลยีไร้แคชเชียร์ และพบว่ายังมีพนักงานคอยแนะนำวิธีใช้งานอยู่ และมีช่องสำหรับชำระเงินด้วยตนเอง (Self Check-out) สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการใช้เทคโนโลยีนี้

    ผลตอบรับของลูกค้าเก่าของ Whole Foods ยังต้องใช้เวลาปรับตัว และมีบางคนที่ไม่ค่อยมั่นใจกับการมีกล้องจับจ้องอยู่รอบตัวระหว่างช้อปปิ้ง

    Source

    ]]>
    1375994
    มาถึงที่! Tops Fresh Truck รถขายของสดบุกคอนโดฯ กลยุทธ์ดักลูกค้ายุค COVID-19 https://positioningmag.com/1333381 Fri, 21 May 2021 10:36:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333381 Tops Supermarket เปิดตัวกลยุทธ์การขายแบบใหม่ “Tops Online Fresh Truck” ขนของสดขึ้นรถบรรทุกเล็กมาขายในคอนโดฯ แบบแวะเวียนมาสัปดาห์ละครั้ง แก้เกมช่วงโรคระบาด คนเลี่ยงการเดินห้างสรรพสินค้า

    กลยุทธ์ครั้งนี้ Tops Online จับมือกับ SMART บริษัทนิติบุคคลในเครือเอพี บริการรถขายของสด Tops Online Fresh Truck นำร่อง 4 โครงการแรก คือ ไลฟ์ สุขุมวิท 48 (ทุกวันจันทร์), แอสปาย อโศก-รัชดา (ทุกวันพุธ), ไลฟ์ รัชดา-สุทธิสาร (ทุกวันศุกร์) และ ไลฟ์ อโศก-พระราม 9 (ทุกวันอาทิตย์) รถจะจอดระหว่างเวลา 14.00 – 19.00 น.

    โดยสินค้าที่จำหน่ายจะเน้นของสด เช่น ผัก ผลไม้ นม เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ และของแห้ง-เครื่องปรุง เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ซีอิ๊ว

    รถขายของสด Tops Online Fresh Truck (Photo : Facebook@TopsThailand)

    ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจาก Tops เพราะถึงแม้ว่ายุคนี้จะมีบริการเดลิเวอรี่สินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีขั้นต่ำในการจัดส่งฟรี ตัวอย่างเช่น Tops Online ช้อปครบ 888 บาทขึ้นไปจึงจะจัดส่งฟรี หากไม่ถึงขั้นต่ำ ค่าจัดส่งเริ่มต้น 60 บาท

    แต่พฤติกรรมคนอยู่คอนโดฯ มักจะอาศัย 1-2 คนต่อยูนิต การซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละครั้งอาจไม่ถึงยอดการจัดส่งฟรี และลูกค้าอาจเลือกซื้อจากแหล่งอื่นที่ใกล้บ้านแทน เช่น ตลาดนัด มินิซูเปอร์มาร์เก็ต

    ตัวอย่างสินค้าของสดที่มากับรถ (Photo : Facebook@TopsThailand)

    นอกจากนี้ หากเป็นเรื่องของสด หลายคนยังพึงพอใจที่จะเลือกด้วยตนเองมากกว่าให้พนักงานดูแล ทำให้การมาของ Tops Online Fresh Truck น่าจะตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะยุค COVID-19 ที่ลูกค้าต้องการอยู่ในบ้านให้มากที่สุด และทำอาหารทานเองมากขึ้น การมีร้านมาถึงที่ แค่ลงลิฟต์มาที่หน้าตึกจึงน่าจะถูกใจชาวคอนโดฯ เหมือนกับรถพุ่มพวงที่มาถึงหน้าบ้านในหมู่บ้าน

    ทั้งนี้ Positioning สอบถามไปยัง Tops Supermarket แต่บริษัทยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะมีการจัดรถขายสินค้าถึงที่แบบนี้จนถึงเมื่อใด และจะขยายไปยังโครงการอื่นทั้งในเครือเอพีหรือนอกเครือเอพีหรือไม่

    อ่านเพิ่มเติม

    ]]>
    1333381
    พลิกโฉม “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” สู่พรีเมียมซูเปอร์ฯ ภารกิจคน 2 เจนแห่งตระกูล “อัมพุช” https://positioningmag.com/1325680 Tue, 30 Mar 2021 07:27:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325680 ถึงเวลา “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ปรับโฉมครั้งใหญ่ เพิ่มพื้นที่ พร้อมอัปเกรดเป็นพรีเมียม ซูเปอร์มาร์เก็ต นำร่องสาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน, สยามพารากอน ภารกิจนี้เป็นการทำงานร่วมกันของคน 2 เจนแห่งตระกูล “อัมพุช” ด้วย

    โจทย์ต้องเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเวิลด์คลาส

    ในอดีตซูเปอร์มาร์เก็ตของเดอะมอลล์ กรุ๊ปได้ใช้ชื่อว่า “โฮม เฟรช มาร์ท” ภายหลังได้รีแบรนด์ใหม่ให้เป็นชื่อ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เป็นการปรับโฉมแบรนด์ให้ดูพรีเมียมขึ้น

    แต่ต้องบอกว่าในยุคนี้ หลายแบรนด์ หรือสินค้าหลายๆ ตัวเริ่มมีการปรับโฉม ปรับแพ็กเกจจิ้ง ปรับดีไซน์ หรือรีแบรนด์ใหม่ในทุกๆ 5-10 ปี เพราะด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในวงการค้าปลีกก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเติม เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกไม่จำเจ

    เดอะมอลล์ กรุ๊ปจึงถือโอกาสของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นช่วงที่คนมาเดินศูนย์การค้าน้อยลง ปรับโฉมกูร์เมต์ มาร์เก็ตใหม่ ประเดิมที่สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พร้อมกับการรีโนเวตศูนย์การค้าไปในตัว

    ล่าสุดไปรีโนเวตสาขาสยามพารากอน ในงบลงทุน 200 ล้านบาท บนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร เริ่มรีโนเวตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 และเสร็จสมบูรณ์ตอนเดือนธันวาคม 2563

    อัจฉรา อัมพุช

    เบื้องหลังของการปรับโฉมครั้งนี้ อัจฉรา อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า ได้มีการเดินทางดูคอนเซ็ปต์ไปทั่วโลก โดยมีโจทย์หลักที่ว่าต้องทำกูร์เมต์ มาร์เก็ตให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเวิลด์คลาส

    “สาขาสยามพารากอนเปิดมา 17 ปีแล้ว ได้โจทย์มาว่าต้องทำเป็นเวิลด์คลาส เดสติเนชั่น ต้องมีคอนเซ็ปต์ใหม่ ก่อนหน้านี้ได้เดินทางตลอด 1 ปี ไปยุโรปอย่างเดียว ดูคอนเซ็ปต์ต่างๆ ใช้เวลาซึมซับไปกับภาพตามหมู่บ้าน นั่งรถไปตามเมืองต่างๆ เมืองเล็กๆ ดูตลาดชุมชน ระหว่างทางจะเห็นร้านตามเมืองต่างๆ มีขายชีส ขายเนื้อ มีบรรยากาศที่น่าเข้า มีทั้งสินค้าโลคอล และดูมีวัฒนธรรม”

    gourmet market the mall

    อัจฉรา เสริมอีกว่า ตอนนี้กูร์เมต์ฯ มีทีมคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมเยอะขึ้น ต้องการอยากสร้างบรรยากาศที่เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ให้เห็นว่าสินค้ามาจากโลคอลฟาร์ม ให้กูร์เมต์ฯ เป็นเมืองๆ หนึ่งขึ้นมา

    สรุปแล้วคอนเซ็ปต์ใหม่ของกูร์เมต์ฯ จะรวมบรรยากาศเมืองเก่าที่เรียกว่า Old Town มีการดึงเสน่ห์จากตลาดน้อย แพร่งนรา นางเลิ้ง ตลาดชุมชนเก่าของไทยมาไว้ มีการตกแต่งแบบโคโรเนียลยุคเก่า และมี New Town ด้วย ได้บรรยากาศของยุโรปเข้ามาเสริม มีกลิ่นอายของจีน ไทย ฝรั่งผสมเป็นกูร์เมต์ฯ โฉมใหม่

    ภารกิจใหญ่ของคน 2 เจนแห่ง “อัมพุช”

    นอกจากคอนเซ็ปต์ในการรีโนเวตกูร์เมต์แล้ว ความสำคัญของภารกิจนี้ก็คือ เป็นการทำงานของคน 2 เจนแห่งตระกูล “อัมพุช” แต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยเป็นอุปสรรค

    โดยที่ พลอยชมพู อัมพุช ผู้จัดการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารวัย 28 ปีเท่านั้น ได้เข้ามาบริหารได้ 6 ปี ดูแลในส่วนของกลุ่มอาหารสดของกูร์เมต์ อัจฉรามีศักดิ์เป็นคุณอาของเธอนั่นเอง

    พลอยชมพู อัมพุช และอัจฉรา อัมพุช
    พลอยชมพู อัมพุช และอัจฉรา อัมพุช

    พลอยชมพูบอกว่าโปรเจกต์การทำงานระหว่าง 2 เจนเริ่มตั้งแต่รีโนเวตสาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วานแล้ว แต่ที่สาขาสยามพารากอนได้เห็นชัดขึ้น เพรามีการปรับครั้งใหญ่ แต่คุณอาอ้อย (อัจฉรา) ค่อนข้างฟังคนรุ่นใหม่เยอะ เป็นคนดูเทรนด์ใหม่ๆ เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่คิด ไม่ได้จับมือเขียน เปิดกว้างให้ทำสิ่งใหม่ๆ แต่จะช่วยตบๆ ให้เข้าที่เข้าทาง

    แต่สิ่งที่ท้าทายพลอยชมพูที่สุดคงไม่ใช่เรื่องการทำงาน แต่เป็นเรื่องอายุ และประสบการณ์ เธอบอกว่า “ด้วยอายุ และประสบการณ์ และกับตำแหน่งนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ยากมาก ปกติถ้าตำแหน่งนี้ต้องสะสมประสบการณ์นาน มีอายุเยอะ เราเลยต้องสปีดตัวเอง 4-5 เท่า ไม่มีเวลาเรียนรู้เยอะ ต้องทำจริงเลย เวลาไปคุยกับคู่ค้าก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด อายุน้อยก็ต้องอาศัยความกล้า ความเร็ว และการปรับตัว”

    gourmet market the mall

    ทางด้านอัจฉราไปเซอร์เวย์ที่โซนยุโรป แต่พลอยชมพูจะไปเซอร์เวย์คนละประเทศกัน โดยจะเก็บแรงบันดาลใจในแต่ละที่อย่างละนิดละหน่อยมารวมกัน แต่จะประทับใจที่ประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีอาหารพร้อมทาน มีเคาน์เตอร์ปลา ผลไม้ต่างๆ อีกทั้งญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ายืนหนึ่งเรื่องอาหารการกิน วัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทย และคนไทยก็ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นด้วย

    กูร์เมต์ฯ ที่สยามพารากอนโฉมใหม่จึงมีโซน “ตลาดปลาทาคาชิมายา” ได้ร่วมมือกับสยามทาคาชิมายานั่นเอง

    ทยอยปรับทุกสาขาภายใน 3 ปี

    การปรับโฉมกูร์เมตฯ แต่ละสาขา ใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 100-200 ล้านบาท โดยสาขาต่อไปเตรียมปรับโฉมที่เดอะมอลล์ท่าพระ มีพื้นที่ 12,000-14,000 ตารางเมตร ใช้งบ 200 ล้านบาท เริ่มปรับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะเปิดได้เดือนกรกฎาคม สาขานี้ใช้โอกาสปรับโฉมไปพร้อมๆ กับการทำอุโมงค์ด้านหน้าศูนย์การค้าไปเลย

    อัจฉราบอกว่า “การทำธุรกิจในไทยไม่ง่ายเลย นอกจาก COVID-19 แล้ว ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากมาย มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ อย่างที่เดอะมอลล์ท่าพระก็ทำอุโมงค์ด้านหน้าศูนย์ฯ พอรถติดมากๆ คนก็เข้าศูนย์น้อยลง เราเลยต้องแก้เกม ถือโอกาสรีโนเวตกูร์เมต์ มาร์เก็ตไปด้วยเลย จะได้เสร็จพร้อมๆ กับถนน”

    พลอยชมพูเสริมอีกว่า หลังจากที่ปรับโฉมสาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน มียอดขาย และผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 25% ยอดการซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่พฤติกรรมของลูกค้าในช่วง COVID-19 มักจะมาซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยความถี่น้อยลง แต่ซื้อในจำนวนที่เยอะขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องออกจากบ้านบ่อยๆ ยอดจะขึ้นสูงๆ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

    กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มของสด ผัก และผลไม้ รองลงมาคือ อาหารพร้อมทาน ของแห้ง ของชำ ส่วนพวกสินค้าอุปโภค บริโภคลูกค้าสามารถหาซื้อที่ไหนก็ได้ กูร์เมต์เลยต้องพัฒนาเอาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขาย เป็นสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่หาซื้อจากที่ไหนไม่ได้

    ปัจจุบันกูร์เมต์ฯ มีทั้งหมด 17 สาขา รวม 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. สาขาในเมือง เช่น สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เอ็มโพเรียม 2. สาขาดาวน์ทาวน์ อยู่รอบนอกเมือง ได้แก่ เดอะมอลล์บางกะปิ, ท่าพระ, งามวงศ์วาน เป็นต้น 3. สแตนด์อโลน สาขาที่เปิดร่วมกับพาร์ตเนอร์

    มีการตั้งเป้าว่าจะรีโนเวตกูร์เมต์ทุกสาขาในคอนเซ็ปต์ใหม่ให้ครบทุกสาขาภายใน 3 ปี โดยใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

    สาขาที่มีรายได้เยอะที่สุด ได้แก่ สยามพารากอน, เดอะมอลล์บางกะปิ, บางแค และเอ็มควอเทียร์ มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยเกือบ 1,000 บาท/บิล

    ถ้าถามถึงเป้าหมายของกูร์เมต์ฯ เป็นอย่างไร อัจฉราบอกว่า ขอเติบโตให้ได้ 10% และเป็นเดสติเนชั่นสำหรับอาหารให้ได้

    gourmet market the mall

    ]]>
    1325680
    Walmart เตรียมทดสอบระบบใช้ “รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ” ส่งเดลิเวอรี่สินค้า https://positioningmag.com/1305681 Thu, 12 Nov 2020 07:20:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1305681 Walmart ยังคงเดินหน้าทดลองการใช้นวัตกรรมในธุรกิจรีเทล ล่าสุดเปิดโครงการนำร่องร่วมกับ Cruise ในเครือ General Motors (GM) นำรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ มาเป็นเครื่องมือเดลิเวอรี่สินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะทดสอบในรัฐแอริโซนา

    “ทอม วาร์ด” รองประธานอาวุโสด้านผลิตภัณฑ์ลูกค้า Walmart ประกาศในบล็อกโพสต์ของเขาว่า โครงการนำร่องของ Walmart กับ Cruise จะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2021 บริเวณพื้นที่เมืองสก็อตส์เดล รัฐแอริโซนา ทางตะวันตกของสหรัฐฯ

    โดยรถยนต์ที่ใช้ในโครงการนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะชาร์จไฟจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นด้วย เพื่อให้ตรงกับนโยบายบริษัทซึ่งมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

    คอนเซ็ปต์ของบริการนี้คือต้องการให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าจากร้านในท้องถิ่น และรถยนต์ของ Walmart จะนำสินค้าไปส่งให้เอง โดยเป็นรถยนต์แบบไร้คนขับเพื่อลดการสัมผัสของคนกับสินค้า “เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงมีศักยภาพในการประหยัดเงินและเวลาให้กับลูกค้า แต่ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมโลกด้วย เทคโนโลยีเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการศึกษาเพิ่มเติม” วาร์ดกล่าว

    Cruise รถยนต์ไร้คนขับ มีการทดสอบส่งเดลิเวอรี่อาหารในซานฟรานซิสโกไปแล้ว 20,000 ครั้ง (Photo : Cruise)

    ขณะนี้ Walmart ยังไม่ประกาศว่าหน่วยรถยนต์ไร้คนขับในโครงการนี้จะมีทั้งหมดกี่คัน และลงทุนไปทั้งหมดเท่าไหร่แต่โครงการร่วมกับ Cruise ไม่ใช่โครงการแรกของ Walmart ก่อนหน้านี้ในปี 2018 บริษัทมีความร่วมมือกับ Waymo บริษัทในเครือเดียวกับ Google เพื่อใช้รถยนต์ไร้คนขับส่งของมาแล้ว (ในโครงการดังกล่าว บริษัทเลือกใช้รถตู้ขนาดเล็ก Pacifica และเป็นรถระบบไฮบริดที่ใช้ไฟฟ้าเป็นบางส่วน)

    โรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกับแผนของรถยนต์ไร้คนขับอย่าง Cruise และ Waymo จากเดิมที่มองว่าจะมุ่งเป้าเป็นแท็กซี่ขนส่งผู้โดยสาร กลับกลายมามีจุดแข็งในระบบเดลิเวอรี่และโลจิสติกส์แทน เพราะลูกค้าต้องการการขนส่งที่ถูกสัมผัสจากคนน้อยที่สุด

    ยกตัวอย่างเช่น Waymo เริ่มมีให้บริการชื่อ “Via” ที่สามารถไปรับพัสดุจากร้านรับส่งพัสดุ UPS ได้ หรือบริษัทสตาร์ทอัพ Nuro สามารถระดมทุนได้สำเร็จเพื่อทำธุรกิจหุ่นยนต์เดลิเวอรี่อย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ ในอีกฟากโลกคือที่ประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวเพิ่งมีรายงานว่า มีบริษัทกำลังทดลองใช้รถส่งอาหารเดลิเวอรี่แบบไร้คนขับ จำนวน 4 คัน ที่นิคมนวัตกรรมหูหลี่ เมืองเซี่ยเหมิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยรถดังกล่าวเป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อขนส่งอาหารโดยเฉพาะ มีการติดตั้งระบบอุ่นร้อนภายใน และผู้สั่งเพียงสแกน QR CODE ชำระเงินก็รับอาหารออกจากรถได้ทันที

    แต่อย่าเพิ่งตกใจไปว่าหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีจะมาแทนที่มนุษย์ได้แบบฉับพลัน เพราะอาจจะยังไม่ถึงจังหวะที่เหมาะสม Walmart เองเพิ่งจะตัดสินใจยกเลิกใช้ “หุ่นยนต์เช็กสต๊อก” ไปในเดือนนี้เอง หลังทดลองมา 3 ปีแล้วพบว่าต้นทุนการใช้มนุษย์ยังถูกกว่า (ในเวลานี้) และลูกค้ามีปฏิกิริยาทางลบเมื่อพบหุ่นยนต์เช็กสต๊อกบนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

    อย่างไรก็ตาม Walmart และอีกหลายธุรกิจรีเทลยักษ์ใหญ่ก็ยังไม่หยุดทดลองใช้สารพัดเทคโนโลยีที่จะทำให้ตนได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นต้องจับตาว่า “จังหวะ” ที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์ได้ในแต่ละตำแหน่งจะเป็นเมื่อไหร่

    Source

    ]]>
    1305681
    สายการบินต้องสู้ “Finnair” ส่งเมนูอาหารที่เสิร์ฟใน Business Class วางขายใน “ซูเปอร์มาร์เก็ต” https://positioningmag.com/1301997 Sat, 17 Oct 2020 19:36:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301997 สายการบินทั่วโลกกำลังหาช่องทางธุรกิจใหม่ เพื่อความอยู่รอดในวิกฤต COVID-19 ทั้งการจัดเที่ยวบินจำลอง เปิดร้านอาหารบนเครื่องบิน หรือขายปาท่องโก๋

    ล่าสุด Finnair สายการบินเเห่งชาติของฟินเเลนด์ จับกระเเสคนคิดถึงรสชาติอาหารบนเครื่อง นำเมนูอาหารที่เสิร์ฟในชั้น Business Class ส่งตรงวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อรักษาการจ้างงานในเเผนกอาหาร ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำการบินปกติได้

    โครงการดังกล่าวมาในธีม “Taste of Finnair” ซึ่งมีการนำร่องวางขายในร้าน K-Citymarket สาขาหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 15 ..ที่ผ่านมา เเละต่อไปจะมีการขยายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตในสาขาอื่นๆ ทั่วฟินแลนด์

    ด้วยความที่ Finnair เป็นสายการบินที่มีเส้นทางหลักระหว่างยุโรปและเอเชีย ทำให้มีทีมงานเป็นเชฟและพ่อครัวชาวเอเชียหลายคน เมนูอาหารที่ได้รับความนิยมจึงเป็นสไตล์เอเชียและนอร์ดิก เช่น เนื้อย่างซอสเทอริยากิสไตล์ญี่ปุ่น ลูกชิ้นกวางเรนเดียร์ และปลาอาร์คติกชาร์ โดยราคาขายจะอยู่ที่ 10-13 ยูโร (ราว 365 – 540 บาท)

    Photo : Finnair

    Kimmo Sivonen ผู้จัดการร้าน K-Citymarket Tammisto บอกว่า ทางสายการบินมีการ “ปรับสูตร” เล็กน้อยโดยได้ลดเกลือและเครื่องเทศในเมนูอาหารให้น้อยลงกว่าที่ใช้ที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน เนื่องจากเมื่อเครื่องบินไต่ระดับสูงขึ้น ความดันอากาศลดลง ส่งผลทำให้ปุ่มรับรสที่ลิ้นของเราก็จะรับรสได้น้อยลงไปด้วย

    ยอดขายอาหารแบบซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฟินแลนด์ เพราะช่วงที่ผู้คนกว่า 60% ต้องทำงานจากที่บ้าน เนื่องจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19

    วิกฤตโรคระบาด ทำให้สายการบินทั่วโลกต้องระงับเที่ยวบินจำนวนมาก การเดินทางของผู้คนถูกจำกัด Finnair ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนถึงขั้นต้องปลดพนักงานแบบชั่วคราวเกือบ 7,000 คน และลดปริมาณเที่ยวบินลงน้อยกว่าปีก่อนถึง 91%

    โดยทางสายการบินหวังว่า โครงการ “Taste of Finnair” จะช่วยให้บริษัทสามารถนำพนักงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนกลับมาทำงานได้อีกครั้ง

     

    ที่มา : AP , CNN

     

    ]]>
    1301997