ธุรกิจท่องเที่ยว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 20 Dec 2022 10:06:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เช็กก่อนจัดทริปปี 2023! 5 สถานที่ท่องเที่ยวดังที่ “ปิดตัว” หรือ “ปิดปรับปรุง” หลังโควิด-19 https://positioningmag.com/1413145 Tue, 20 Dec 2022 05:42:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413145 แม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจ แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกเชื่อว่าปี 2023 ก็จะยังคงเป็นปีแห่ง ‘revenge travel’ ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อเที่ยวล้างแค้นตลอด 2-3 ปีที่ไม่ได้เที่ยวสมใจอยาก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หลายสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต้อง “ปิดตัว” หรืออาจใช้โอกาสไร้นักท่องเที่ยว “ปิดปรับปรุง” ดังนี้

 

1.Train Street เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม

Train Street ฮานอย (Photo by gokudo/Pexels)

สถานที่ท่องเที่ยวที่คล้ายตลาดร่มหุบบ้านเรา Train Street ในเมืองฮานอยเป็นถนนที่มีรถไฟผ่ากลาง โดยเมื่อรถไฟวิ่งมา ตัวขบวนรถจะห่างจากบ้านเรือนและร้านค้าเพียงไม่กี่นิ้ว ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมมากเพราะจะได้โพสท่ากับรางรถไฟโดยมีบ้านและร้านค้าเป็นฉากหลัง รวมถึงความตื่นเต้นของการนั่งจิบกาแฟพลางชมขบวนรถไฟผ่านหน้าไปแบบเฉียดฉิว

อย่างไรก็ตาม สภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกิน (Overtourism) บนถนน Train Street ก็ทำให้รัฐบาลเวียดนามมองถึงความปลอดภัยมากขึ้น โดยปี 2022 นี้เอง รัฐบาลเริ่มยกเลิกใบอนุญาตให้ร้านค้าต่างๆ บนถนนเส้นนี้ทำการค้าแล้ว และจะเริ่มนำแผงกั้นมาวางข้างรางรถไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปบนรางโดยเสรีเหมือนก่อน

 

2.สวนนกจูร่ง ประเทศสิงคโปร์

สวนนกจูร่ง (Photo: Shutterstock)

สวนนกที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ประกาศปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 หลังจากทำการมานานกว่า 50 ปี

แต่สวนนกนี้ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะจะไปรวมกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ ในบริเวณภาคเหนือของสิงคโปร์ เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชมสัตว์และธรรมชาติใหม่คือ Mandai Rejuvenation Project ซึ่งจะเปิดเฟสแรกปี 2023 ก่อนจะทยอยเฟสต่อๆ ไปในปี 2024 และ 2025

 

3.ภัตตาคารลอยน้ำ Jumbo Kingdom เกาะฮ่องกง

ภัตตาคารลอยน้ำ Jumbo ฮ่องกง (Photo: Shutterstock)

เป็นข่าวดังไปตั้งแต่กลางปี เมื่อภัตตาคารลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก Jumbo Kingdom เกาะฮ่องกง จะปิดกิจการถาวร

ภัตตาคารลอยน้ำนี้ไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์และรายการทีวีระดับโลกมากมาย รวมถึงเคยได้ต้อนรับคนดังต่างๆ เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ด้วยความใหญ่โตของมัน กับสถานการณ์ปิดตายของเกาะเพราะโควิด-19 ทำให้เจ้าของไม่สามารถจะยื้อกิจการไว้ได้ไหว

เจ้าของพยายามแล้วที่จะขายกิจการออกไป แต่เมื่อไม่มีผู้ซื้อ จึงต้องลากจูงไปหาที่เก็บเรือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรือก็กลับจบไปกลางทางเมื่อแล่นผ่านทะเลจีนใต้

 

4.TeamLab Borderless กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

TeamLab Borderless (Photo: Shutterstock)

มิวเซียมเพื่อรับประสบการณ์แสงสี “ดิจิทัล” เต็มรูปแบบ โด่งดังในระดับโลกจนเคยได้รับตำแหน่งมิวเซียมที่มีคนเข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์จากกินเนสบุ๊ก TeamLab Borderless จะมีการย้ายทำเลจากเดิมที่โอไดบะ ไปยังทำเลใหม่ที่โครงการชื่อ “Azabudai Hills” ซึ่งตัวโครงการจะสร้างเสร็จภายในปี 2023 แต่ TeamLab จะกลับมาเปิดจริงๆ เมื่อไหร่นั้นยังไม่มีประกาศแน่ชัด

 

5.พิพิธภัณฑ์รำลึก 9/11 เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ

พิพิธภัณฑ์รำลึก 9/11

ก่อนที่พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ วันที่ 11 กันยายน จะเปิดอย่างเป็นทางการ ณ Ground Zero ก่อนหน้านั้นเคยมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์รำลึก 9/11 ขึ้นมาก่อน

พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสถานที่ที่จัดขึ้นโดยญาติมิตรของเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 โดยเปิดตัวเมื่อปี 2006 เป็นมิวเซียมเล็กๆ เงียบๆ ในแมนฮัตตันที่จัดแสดงสิ่งของส่วนตัวของผู้จากไป รวมถึงเป็นสถานที่รวมตัวของญาติมิตรของเหยื่อในวาระต่างๆ

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มิวเซียมนี้ขาดทุนจนต้องปิดตัวไปในปี 2022 โปรแกรม Tribute Walking Tours ซึ่งปกติจัดโดยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 9/11 ก็ปิดการดำเนินการไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้มิวเซียมนี้จะปิดตัวลงแต่สิ่งของต่างๆ ที่เคยจัดแสดงได้ถูกส่งไปแสดงต่อที่ New York State Museum ในเมืองออลบานี ทางเหนือของเมืองนิวยอร์กซิตี้

Source

]]>
1413145
“ฮ่องกง” เตรียมแจกตั๋วเครื่องบิน 500,000 ใบ ดึงนักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1403535 Thu, 06 Oct 2022 16:42:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1403535 เกาะฮ่องกงจะแจกตั๋วเครื่องบิน 500,000 ใบ มูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 9,500 ล้านบาท) เพื่อกู้เศรษฐกิจท่องเที่ยวคืนมาหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

ฮ่องกงเริ่มปลดล็อกมาตรการโควิด-19 แล้วเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักเดินทางเข้าสู่ประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวในโรงแรม แต่จะยังไม่สามารถเข้าร้านอาหารและบาร์ได้ใน 3 วันแรก

กระนั้นก็ตาม Dane Cheng ผู้อำนวยการบริหารคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง ประกาศแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดเกี่ยวกับผู้โดยสารขาเข้า คณะกรรมการฯ จะเริ่มประชาสัมพันธ์แคมเปญตั๋วเครื่องบินฟรีทันที

Cheng กล่าวว่า นโยบายแจกตั๋วเครื่องบินเหล่านี้จุดประสงค์หลักมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือสายการบินในฮ่องกง คาดว่าจะได้เริ่มแจกจริงในปี 2023 และให้ทั้งตั๋วขาเข้าและออกฮ่องกง

 

สายการบินหลักหลายแห่งในฮ่องกงยังไม่ฟื้น

อย่างไรก็ตาม สายการบินหลักยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้เต็มที่เหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด บางสายประกาศหยุดบินเข้าออกฮ่องกงไปแล้ว เช่น Virgin Atlantic สายการบินสัญชาติอังกฤษที่หยุดบินถาวรหลังจากที่ทำการบินเส้นทางลอนดอน-ฮ่องกงมานานถึง 30 ปี

เหตุที่ต้องหยุดบินถาวรเพราะมีปัญหาความซับซ้อนเรื่องน่านฟ้ารัสเซียหลังเกิดสงครามยูเครน สุดท้ายจึงยกเลิกการกลับมาบินใหม่ในเดือนมีนาคม 2023 ที่เคยวางแผนกันไว้ ทั้งนี้ Virgin Atlantic หยุดบินไปฮ่องกงชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021

 

นักท่องเที่ยวจีน ปัจจัยสำคัญฟื้นเกาะฮ่องกง

Photo : Shutterstock

ก่อนหน้านี้ฮ่องกงใช้กฎการป้องกันโรคระบาดแบบเดียวกับจีน ทำให้ทุกคนที่เข้าสู่ฮ่องกงจะต้องกักตัวในโรงแรม แต่เมื่อฮ่องกงประกาศยกเลิกการกักตัว ทำให้อัตราการจองตั๋วเข้าออกฮ่องกงพุ่งขึ้นทันที

Prudence Lai นักวิเคราะห์อาวุโสที่ Euromonitor International บริษัทวิจัยตลาด คาดว่า การให้ตั๋วเครื่องบินฟรีจะช่วยเร่งสปีดชื่อเสียงของฮ่องกงให้กลับมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้เมื่อไหร่ เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เข้าออกฮ่องกง รวมถึงยอดใช้จ่ายบนเกาะด้วย” Lai กล่าว

8 เดือนแรกของปีนี้ ฮ่องกงมีคนเดินทางเข้าเพียงแค่ 184,000 คนเท่านั้น เทียบกับเมื่อปี 2019 (ก่อนโรคระบาด) เกาะฮ่องกงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 56 ล้านคนในปีเดียว

Source

]]>
1403535
กลุ่มพราวพร้อมเปิด “สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต” เบนเข็มดึง “อินเดีย” ทดแทนตลาดจีน https://positioningmag.com/1384633 Tue, 10 May 2022 09:15:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1384633 กลุ่มบริษัท พราว พร้อมเปิดตัว “สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต” วันที่ 21 พ.ค. 65 หลังดีเลย์มากว่า 1 ปีจากโควิด-19 ปีแรกคาดหวังนักท่องเที่ยว 4 แสนคน และหลังการท่องเที่ยวไทยฟื้นเต็มที่ วางเป้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ‘man-made’ หลักของภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวเข้าปีละ 1 ล้านคน ระยะแรกหันดึงชาว “อินเดีย” เป็นตลาดทดแทนจีนที่ยังออกนอกประเทศไม่ได้

หลังประสบความสำเร็จกับ “สวนน้ำ วานา นาวา หัวหิน” กลุ่มบริษัท พราว เริ่มเปิดโปรเจ็กต์ต่อไป “สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต” ต่อเนื่องเมื่อปี 2562 ตามกำหนดการเดิมจะต้องเปิดบริการปี 2564 แต่โครงการต้องดีเลย์ไปกว่า 1 ปี เพราะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 จนการก่อสร้างล่าช้า

ในที่สุดบริษัทพร้อมเปิดตัวสวนน้ำ อันดามันดาแล้วในวันที่ 21 พ.ค. 65 ท่ามกลางบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง

“พราวพุธ ลิปตพัลลภ” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่า ใช้งบลงทุนรวม 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เฟส 1 สวนน้ำ 50 ไร่ งบลงทุน 3,000 ล้านบาท เฟส 2 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท จำนวน 300 ห้อง และส่วนรีเทล รวม 8 ไร่ ลงทุน 1,500 ล้านบาท (เฟส 2 เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดเปิดบริการปี 2567)

สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต

กลุ่มบริษัท พราวเริ่มลงทุนสวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต จากการมองเห็นช่องว่างในตลาดภูเก็ตที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made attraction) ไม่มากนัก การท่องเที่ยวส่วนใหญ่เน้นไปในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ด้วยขนาดตลาดของภูเก็ต มีศักยภาพพอที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประเภท man-made บริษัทจึงเลือกเปิดสวนน้ำที่ใหญ่กว่าในหัวหินเกือบ 3 เท่า

ไฮไลต์เด่นของสวนน้ำอันดามันดาที่กำลังจะเปิดบริการ มีรายละเอียด เช่น

  • รวมเครื่องเล่นและจุดสนใจ 25 จุด
  • สไลเดอร์ยักษ์ 36 เลน
  • ทะเลจำลอง 10,000 ตร.ม.ที่สามารถสร้างคลื่นได้สูงสุด 3 เมตรสำหรับนักเซิร์ฟ
  • หาดเทียม 300 เมตรสำหรับนอนเล่นพักผ่อน
  • จุดเช็กอิน เขาตะปูจำลอง และตลาดน้ำ
สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต
คลื่นเทียมเพื่อนักเซิร์ฟ
สวนน้ำ อันดามันดา ภูเก็ต
เขาตะปูจำลอง
  • Wave Bar และ Sand Bar ระบบแสงสีเสียง พร้อมจัดอีเวนต์และมิวสิก ปาร์ตี้
  • เทคโนโลยีสายข้อมือ RFID และระบบ Gamification ทำกิจกรรมด้วยเทคโนโลยี AR ได้ในโครงการ
  • เครื่องเล่นทั้งหมดออกแบบและติดตั้งโดย WhiteWater ประเทศแคนาดา ซึ่งมีประสบการณ์อุปกรณ์เครื่องเล่นทางน้ำมากว่า 40 ปี
  • ไลฟ์การ์ดที่ได้รับการฝึกในระดับสากล 200 คน
  • ระบบหมุนเวียนน้ำใช้ในโครงการ และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

พราวพุธกล่าวว่า ฟังก์ชันในโครงการจะเห็นว่าสวนน้ำต้องการดึงดูดลูกค้าทุกกลุ่ม วางเป้าหมายสัดส่วนกลุ่มครอบครัว 40% กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ 40-50% และกลุ่มผู้เข้าร่วมงานอีเวนต์ 10-20%

 

ระยะสั้นเร่งดึง “อินเดีย” เข้าไทย

ด้านเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว ข้อมูลจาก “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อปี 2562 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 14 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย 4 ล้านคน และต่างชาติ 10 ล้านคน

ในช่วงที่ไทยเริ่มเปิดระบบ Test & Go ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ย 2,500 คนต่อวัน และเชื่อว่าเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งไทยปลดล็อกการตรวจหาเชื้อเหลือเพียง Antigen Test Kit (ATK) ไม่ต้องตรวจ RT-PCR จะทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตเฉลี่ย 9,000 คนต่อวัน พร้อมวางเป้าตลอดปี 2565 นี้น่าจะมีชาวต่างชาติเข้าภูเก็ตรวม 4 ล้านคน

จากตัวเลขนี้ พราวพุธมองว่า สวนน้ำ อันดามันดา จะดึงนักท่องเที่ยวได้ราว 10% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตทั้งหมด จึงตั้งเป้าทราฟฟิกชาวต่างชาติปี 2565 ไว้ที่ 4 แสนคน ยังไม่นับรวมนักท่องเที่ยวไทยที่จะเข้ามา

เป้าหมายคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยว และกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก

สำหรับชาวต่างชาติที่จะดึงมาท่องเที่ยวสวนน้ำ มีการปรับตัวตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยน จากช่วงเริ่มโครงการยังเป็นยุคของ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ แต่วันนี้จีนยังไม่เปิดประเทศ ทำให้เป้าหมายหลักทั้งของภูเก็ตและสวนน้ำ อันดามันดา ต้องเบนเข็มไปหาชาวออสเตรเลีย, อินเดีย, ยุโรป, อิสราเอล, UAE

โดยเฉพาะ “อินเดีย” นั้น ภูมิกิตติ์กล่าวว่านิยมเที่ยวไทยมาก ปัจจุบันมีการเดินทางเข้ามาเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน มีไฟลท์บินตรงเข้าภูเก็ตจากหลายเมืองของอินเดีย

 

เป้าระยะยาว 1 ล้านคนต่อปี “สวนน้ำ” คือจุดหมายยอดฮิต

ส่วนเป้าหมายระยะยาว พราวพุธมองว่า ถ้าหากการท่องเที่ยวประเทศไทยและภูเก็ตฟื้นตัวเต็มที่ได้เท่าปี 2562 เชื่อว่าจะมีทราฟฟิกเข้าสวนน้ำปีละ 1 ล้านคน แบ่งสัดส่วน 70% เป็นชาวต่างชาติ และ 30% เป็นคนไทย โดยกลุ่มคนไทยจะเป็นกลุ่มสำคัญ เพราะเห็นบทเรียนจากช่วงโควิด-19 ไม่ควรพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งทั้งหมด

“พราวพุธ ลิปตพัลลภ” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว

พราวพุธมองกระแส “สวนน้ำ” ยังคงมีเสน่ห์ทางการท่องเที่ยว เพราะเป็นกิจกรรมที่นิยมของชาวตะวันตกอยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มเอเชียก็เริ่มชื่นชอบมากขึ้น เพราะเป็นสถานที่ที่เหมาะกับครอบครัว สอดรับกับกระแสที่สำรวจโดยบัตร American Express พบว่า 79% ของนักท่องเที่ยวหลังผ่านโรคระบาด ต้องการจะท่องเที่ยวกับ “ครอบครัว” ก่อนเป็นอันดับแรก

ผลลัพธ์ของจริงอาจจะไม่ต้องสำรวจที่ไหนไกล พราวพุธระบุว่า สวนน้ำ วานา นาวา หัวหิน วันนี้มีทราฟฟิกกลับมาแล้ว 70-80% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นที่ชื่นชอบของพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาพักผ่อน เหลือเพียงการจัดงานอีเวนต์ปาร์ตี้ที่ถ้าหากฟื้นกลับมาเต็มสูบ เชื่อว่ากิจกรรมสวนน้ำจะกลับมาบูมเหมือนเก่าได้ไม่ยาก

]]>
1384633
“ไทย” ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ประเทศที่คน “มาเลย์-สิงคโปร์-เกาหลี” อยากมาเที่ยวมากที่สุด https://positioningmag.com/1383553 Sat, 30 Apr 2022 05:42:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383553 Agoda สำรวจการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อมาพักผ่อนในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ค้นหาการมาเที่ยว “ไทย” เป็นอันดับ 1 สะท้อนแรงดึงดูดของไทยหลังจากผ่อนคลายขั้นตอนการเข้าเมือง ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้

การสำรวจการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกโดย Agoda พบว่า “ไทย” เป็นจุดหมายอันดับ 1 ที่คนหลายประเทศค้นหามากที่สุด ดังนี้

  • มาเลเซีย – 1) ไทย  2) สิงคโปร์ 3) อังกฤษ
  • สิงคโปร์ – 1) ไทย 2) สิงคโปร์ 3) อินโดนีเซีย
  • เกาหลีใต้ – 1) ไทย 2) สหรัฐอเมริกา 3) เวียดนาม
  • ฟิลิปปินส์ – 1) สิงคโปร์ 2) สหรัฐอเมริกา 3) ไทย
  • อินโดนีเซีย – 1) สิงคโปร์ 2) สหรัฐอเมริกา 3) มาเลเซีย

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมในแถบนี้ มีเพียงชาวอินโดนีเซียที่ประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปอยู่ใน 3 อันดับแรกสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมได้

หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต วันที่ 16 พ.ย. 2564

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในไทยแล้ว การผ่อนคลายวิธีการเข้าเมืองให้ง่ายขึ้นของไทยน่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ประเทศไทยจะลดขั้นตอนสำหรับผู้เดินทางเข้าเมืองที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เพียงลงทะเบียนข้อมูลใน Thailand Pass และเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง มีเพียงข้อแนะนำให้ตรวจ ATK เท่านั้น

 

คนไทยอยากไป “สิงคโปร์” มากที่สุด

สำหรับนักท่องเที่ยวไทย หากไม่นับการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังครองใจมากที่สุดในระยะนี้ การเดินทางต่างประเทศ 5 อันดับแรกที่คนไทยต้องการไปมากที่สุด ได้แก่

  1. สิงคโปร์
  2. เกาหลีใต้
  3. ญี่ปุ่น
  4. สหรัฐอเมริกา
  5. อังกฤษ
“เกาหลีใต้” กำลังมาแรงในหมู่คนไทยที่ต้องการเที่ยวต่างประเทศ

ที่น่าสนใจคือประเทศเกาหลีใต้ซึ่งการสำรวจเมื่อเดือนเมษายนยังอยู่ในอันดับ 6 แต่ล่าสุดพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 2 หลังจากผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มค้นหาและวางแผนการท่องเที่ยวกันทันที

 

“ทะเล” บูมสุดขีด

ช่วงเดือนพฤษภาคม “ทะเล” ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยนิยม โดยสองอันดับแรกคือพัทยาและหัวหิน ยังคงครองใจคนไทยสูงสุดเมื่อคิดจะไปท่องเที่ยว โดย 10 อันดับแรกเมืองที่คนไทยค้นหามากที่สุด ได้แก่

  1. พัทยา
  2. หัวหิน
  3. ภูเก็ต
  4. กรุงเทพฯ
  5. เขาใหญ่
  6. เชียงใหม่
  7. กระบี่
  8. กาญจนบุรี
  9. ชลบุรี
  10. เกาะช้าง
]]>
1383553
ท่องเที่ยวทั่วโลก จะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2023 จ้างงานสู่ระดับปกติ เอเชียยังฟื้นช้ากว่ายุโรป https://positioningmag.com/1382310 Thu, 21 Apr 2022 09:58:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382310 WTTC ประเมินการเดินทางเเละการท่องเที่ยวทั่วโลก จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้อย่างเต็มที่ ในปี 2023

สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) เผยแพร่รายงานล่าสุด ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะขยายตัวเฉลี่ยราว 5.8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปี 2032 เเซงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ทั่วโลก ที่น่าจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.7% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน และจะสร้างงานใหม่ราว 126 ล้านตำแหน่ง

ในปี 2019 ธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็น 1 ใน 10 ของ GDP และการจ้างงานทั่วโลก แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง และมีผู้ว่างงานถึง 62 ล้านคน

Julia Simpson ประธาน WTTC กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวเเละการเดินทางจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพเเต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศอีกครั้งของประเทศใหญ่อย่างจีน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเปิดพรมแดน

โดยนโยบาย “zero COVID” ของจีนและการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคของการค้าโลกและการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

WTTC คาดว่า ในปีนี้การเดินทางและการท่องเที่ยวจะมีมูลค่า 8.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งเป็นระดับก่อนการระบาดใหญ่ ขณะที่การจ้างงานจะกลับมาอยู่ที่ 300 ล้านคนในปีนี้ และ 324 ล้านคนในปีหน้า ใกล้เคียงกับ 333 ล้านคนในปี 2019

โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวสูง คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าแตะ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ในปี 2023 ซึ่งสูงกว่าระดับ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการเดินทางในเอเชียแปซิฟิก ยังถือว่าฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับโซนอเมริกาเหนือและยุโรป เนื่องจากหลายประเทศยังคงใช้มาตรการควบคุมพรมแดนเข้มงวด ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดผู้โดยสารทางเครื่องบินเริ่มกลับมาแล้ว หลังมีการยกเลิกระเบียบเข้าประเทศและการกักกันโรค แต่โดยรวมเเล้วการฟื้นตัวอย่างเต็มที่จะยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1382310
ททท. วางเป้า 2565 “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน โรงแรมเครือ AWC คาดอัตราเข้าพักแตะ 50% https://positioningmag.com/1381190 Sun, 10 Apr 2022 11:51:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381190 อัปเดตสถานการณ์ “ท่องเที่ยว” ประเทศไทย อนาคตดูจะสดใสขึ้นแม้ยังห่างไกลกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดย ททท. วางเป้าปี 2565 ดึงนักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน ธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องพึ่งชาวไทยเป็นหลัก ด้านเครือโรงแรม AWC คาดอัตราเข้าพักปีนี้จะอยู่ระหว่าง 30-50% พร้อมเปิดโรงแรมแห่งล่าสุด “มีเลีย เชียงใหม่” รับลูกค้าคนรุ่นใหม่และธุรกิจ MICE

ปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวไทย หลังจากเริ่มทยอยคลายล็อกเปิดประเทศมาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยเมื่อช่วงต้นปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์แบบกว้างๆ ว่านักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” จะเข้าไทยประมาณ 5-15 ล้านคน ก่อนที่จะเกิดปัจจัยลบเพิ่มขึ้นอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท. เปิดเผยว่าปี 2565 ททท.วางเป้าดึงเม็ดเงินการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.07 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวรวม 17.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40% คือ 7 ล้านคน เห็นได้ว่าปีนี้ภาคท่องเที่ยวไทยจะยังต้องพึ่งพิงชาวไทยเที่ยวในประเทศเสียส่วนใหญ่

ปัจจัยลบอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือ “สงครามรัสเซียยูเครน” เนื่องจากปกตินักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในกลุ่ม Top 5 ของไทย และสงครามยังมีผลต่อราคาน้ำมันที่กระทบโดยอ้อมต่อนักท่องเที่ยวยุโรปด้วย

รัสเซีย
(Photo: Shutterstock)

“กลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียนั้นตอนแรกเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้ว เพราะมีการปิดช่องทางชำระเงินสากล และสายการบินที่บินตรงกรุงเทพฯ-มอสโกตอนนี้เหลือแค่การบินไทย” สมฤดีกล่าว “อีกส่วนหนึ่งที่กระทบคือราคาน้ำมันสูง ทำให้ตั๋วเครื่องบินแพง จนนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปจะเบนเข็มไปที่ที่ใกล้กว่า เช่น ตุรกี แต่เราก็มีตลาดอื่นทดแทน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง มีความต้องการเข้าไทยมาก และเป็นกลุ่มที่พร้อมด้านการเงิน”

 

รอปลดล็อกยกเลิกการตรวจ COVID-19

อีกประเด็นที่ยังเป็นข้อติดขัดทำให้ประเทศไทยยังแข่งขันยากในตลาดโลก คือ ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโรค COVID-19 ก่อนเข้าประเทศ ในขณะที่บางประเทศปลดล็อกไปแล้ว เช่น มัลดีฟส์ , ดูไบ (UAE) โดยวันที่ 1 เมษายน 2565 ไทยเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นโดยยกเลิกการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง แต่ยังต้องตรวจเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่างชาติยังไม่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย เพราะยังต้องเสียเวลาการรอคอยผลตรวจในโรงแรมที่พัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

(ซ้าย) “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (ขวา) “สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท.

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังต้องรอมาตรการที่พร้อมต้อนรับ

“นักท่องเที่ยวต่างชาติรอเข้ามาอีกเยอะ เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวก็ต้องการประสบการณ์โดยรวมที่ดีที่สุดจากประเทศที่เขาเลือกไป เวลาทุกนาทีที่เข้ามาท่องเที่ยว เขาต้องการให้เป็นเวลาที่มีคุณค่า ถ้าหากเราพร้อมเมื่อไหร่จะมีดีมานด์ขนาดใหญ่รออยู่แน่นอน” วัลลภากล่าว

ทั้งนี้ สมฤดีระบุว่า ททท. ได้ยื่นข้อเสนอให้ ศบค. ยกเลิกทั้งระบบ Thailand Pass, Test & Go และ Sandbox ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศสามารถเข้าประเทศได้ในแบบเดียวกับช่วงก่อนปี 2563 โดยเสนอให้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หาก ศบค. ตอบรับข้อเสนอนี้ก็จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน

 

AWC คาดอัตราเข้าพักขึ้นไปแตะ 50%

ด้านการดำเนินการของเครือโรงแรม AWC ซึ่งมีพอร์ตโรงแรม 19 แห่ง รวมห้องพัก 5,201 ห้อง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน เชียงใหม่ มองเช่นกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่กระเตื้องขึ้นของบริษัท

วัลลภาฉายภาพย้อนหลังว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เครือโรงแรม AWC มีอัตราเข้าพักที่ดีขึ้น โดยขึ้นไปพีคที่เดือนธันวาคม 2564 มีอัตราเข้าพัก 38% ก่อนจะกระทบจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เดือนมกราคม 2565 ลดลงมาบ้างที่ 30% แต่จากนั้นปรับเป็นขาขึ้นมาตลอด

โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค หนึ่งในพอร์ตโรงแรมของ AWC

คาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 อัตราเข้าพักจะอยู่ระหว่าง 30-50% แต่เชื่อว่าปี 2566 น่าจะเป็นปีที่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่าของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ อัตราเข้าพักของโรงแรมเครือ AWC เมื่อเดือนมกราคม 2563 ก่อนเกิดโรคระบาด เคยสูงถึง 78%

ด้านการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเครือ AWC วัดจากช่วงไตรมาส 4/64 ตลาดคีย์หลักอย่าง “ภูเก็ต” มีต่างชาติเข้าพักเพิ่ม 8 เท่า โดยเพิ่มสัดส่วนจาก 8% ในปีก่อนหน้าเป็น 66% ด้านตลาด “กรุงเทพฯ” ก็ปรับเพิ่ม 1.8 เท่า เช่นเดียวกับ “เชียงใหม่” มีต่างชาติพักเพิ่ม 1.8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าการเปิดประเทศสามารถดึงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้

 

“มีเลีย เชียงใหม่” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-ธุรกิจ MICE

วัลลภากล่าวต่อถึงโรงแรมล่าสุดในเครือ AWC ที่เปิดบริการได้แก่ “มีเลีย เชียงใหม่” เริ่มแกรนด์โอเพนนิ่งวันที่ 10 เมษายน 2565 โดยเป็นการรีโนเวตจากโรงแรมเดิม มีห้องพักทั้งหมด 260 ห้อง ใช้เชนโรงแรมมีเลียจากสเปนเป็นผู้บริการ เนื่องจากเชนนี้มีความเชี่ยวชาญด้าน Leisure และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้วัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่นจากฟาร์มออร์แกนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหลวงหรือ Ori9in Farm

มีเลีย เชียงใหม่ AWC
โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่

โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 1 ใน 3 แห่งที่ AWC มีในเชียงใหม่ โดยมีเลีย เชียงใหม่จะเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความเรียบง่าย แต่ยังแฝงด้วยความสนุกจากรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมือง รวมถึงตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจ MICE จากห้องประชุมที่สามารถปรับเป็นแบบกึ่งกลางแจ้งได้

มีเลีย เชียงใหม่
พบกับรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมืองเชียงใหม่ได้ที่ มีเลีย เชียงใหม่

อีก 2 แห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์เป็นแมริออทในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ซึ่งอยู่ระหว่างรีโนเวตจากโรงแรมแห่งเดิม แบรนด์นี้เป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่สื่อถึงมาตรฐานและความละเอียดในงานบริการ จะดึงดูดทั้งกลุ่มท่องเที่ยวและลูกค้าองค์กรได้

สมฤดีกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ว่า ปีนี้ ททท. คาดว่าเชียงใหม่จะดึงเม็ดเงินธุรกิจท่องเที่ยวได้ราว 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่ทำได้ในปี 2562

โดยขณะนี้ ททท. กำลังมุ่งต่อยอดชื่อเสียงของเชียงใหม่ในกลุ่ม “ดิจิทัล โนแมด” ซึ่งยกให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายอันดับ 25 ของโลกที่ดิจิทัล โนแมดชื่นชอบ และมองว่าจะเลือกดึงดิจิทัล โนแมดจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ การเจาะกลุ่มโนแมดยังทำให้ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์เพิ่มขึ้นด้วย

]]>
1381190
“จีน” ยังไม่เปิดประเทศตลอดปี 2022 แต่อาจผ่อนผันให้สำหรับการศึกษาต่อ-ทำงาน https://positioningmag.com/1372289 Mon, 31 Jan 2022 04:42:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372289 มีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่าจีนจะยังปิดประเทศอย่างเข้มงวดต่อไปในปีนี้ แต่ล่าสุดทางการจีนแง้มประตูแล้วว่า อาจเริ่มผ่อนผันให้กลุ่มคนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าออกเพื่อไปเรียนต่อ ทำงาน หรือทำธุรกิจ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2022 “Chen Jie” โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งประเทศจีน ประกาศว่า เร็วๆ นี้ตรวจคนเข้าเมืองจะเริ่มอนุมัติการเข้าและออกจากประเทศโดยมีเหตุจำเป็น สำหรับชาวจีนที่ต้องการเดินทางต่างประเทศเพื่อไปเรียนต่อ ทำงาน และทำธุรกิจ และสำหรับชาวจีนหรือชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าสู่ประเทศจีนเพื่อมาทำธุรกิจ หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และงานอาสาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม Chen ยังร้องขอให้ประชาชน “ลดการเดินทางออกนอกประเทศที่ไม่เร่งด่วนและไม่จำเป็น” เนื่องจากผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ทั่วโลกยังคงพุ่งสูงขึ้น

“นโยบายนี้จะการันตีว่าประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจะเดินทางได้อย่างราบรื่น และช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แข็งแรง สำหรับการเดินทางของชาวจีนและชาวต่างชาติ” Chen กล่าว

จีนเริ่มปิดประเทศอย่างเข้มงวดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 โดยมีการผ่อนผันเฉพาะชาวจีนหรือผู้ที่มีใบอนุญาตพำนักในจีนให้สามารถกลับถิ่นฐานได้ แต่การกลับเข้าประเทศก็ต้องเผชิญการกักตัวที่เข้มงวดอย่างมาก ซึ่งทำให้ชาวจีนที่ไปอยู่ต่างประเทศหรือไปเรียนต่อเลือกที่จะพักแผนการกลับไปเยี่ยมบ้านไว้ก่อน

ในกรณีชาวต่างชาติที่เคยเข้าออกเมืองจีนยิ่งลดน้อยลง จากตัวเลขเมื่อปี 2021 พบว่าจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้าออกประเทศปี 2021 เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 2020 แต่ชาวต่างชาติที่เข้าออกยังคงลดลง -65.9% จากปี 2020 ซึ่งทำให้บุคลากรที่มีทักษะในจีนลดลงไปอีก และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จีนจะเริ่มผ่อนผันให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ง่ายขึ้นในสาขางานที่จำเป็น

Zhang Wenhong ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชื่อดังในเซี่ยงไฮ้ เพิ่งประกาศในเดือนมกราคม 2022 หลังการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนว่า “ความเสี่ยงของการมีผู้ติดเชื้อจากภายนอกประเทศเข้ามายังคงสูงอยู่ และน่าจะเสี่ยงสูงมากต่อไปอีกประมาณ 6 เดือน” เพราะโอมิครอนยังกระจายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ขณะที่ในจีนก็มีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้แล้วใน 11 เมือง

การเดินทางออกนอกประเทศได้ของชาวจีนน่าจะเป็นข่าวดีของประเทศไทย แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนกับประเทศจีนจะยังไม่กลับมา แต่ในกลุ่มที่สามารถเดินทางมาทำงานและทำธุรกิจได้ ก็จะทำให้การติดต่อธุรกิจกับไทยคืบหน้าได้เร็วขึ้น และธุรกิจโรงแรมอาจได้อานิสงส์กลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจมากขึ้น

Source

]]>
1372289
10 อันดับสัญชาติถือ “พาสปอร์ต” ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกแห่งปี 2022 https://positioningmag.com/1370261 Thu, 13 Jan 2022 04:16:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370261 โลกเริ่มเปิดการเดินทางแม้จะยังหวาดระแวงโอมิครอน ทำให้ผู้ถือ “พาสปอร์ต” ที่ไม่ต้องขอวีซ่าก่อนเข้าประเทศได้หลายประเทศ เป็นกลุ่มที่มีทางเลือกมากและสะดวกกว่าสัญชาติอื่น ปีนี้ “ญี่ปุ่น” กลับมาทวงบัลลังก์แชมป์โดยตีคู่มากับพาสปอร์ต “สิงคโปร์” อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ 10 อันดับแรกนั้น ประเทศในยุโรปยังเป็นกลุ่มหลักที่ถือพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุด

Henley Passport Index อ้างอิงข้อมูลจากดาต้าของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มีการจัดอันดับ “พาสปอร์ต” ที่ทรงอิทธิพล เข้าออกได้หลายประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่ามากที่สุด มาตั้งแต่ปี 2006

ในปี 2022 จากดาต้าพบว่า การควบคุมการระบาดโรค COVID-19 ทำให้เกิดกำแพงกั้นการเดินทางมากกว่าก่อนเกิดโรคระบาด และทำให้ปีนี้คือปีที่เกิดความแตกต่างของผู้ถือพาสปอร์ตมากที่สุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ Henley Passport Index เคยจัดอันดับมา (ทั้งนี้ ดัชนีนี้ไม่ได้นับรวมถึงกฎระเบียบแบบชั่วคราว นับเฉพาะกฎพื้นฐานเท่านั้น)

ดัชนีพบว่า “ญี่ปุ่น” และ “สิงคโปร์” ซึ่งได้อันดับ 1 ร่วมพาสปอร์ตทรงอิทธิพลปี 2022 สามารถเข้าออกได้ถึง 192 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาซึ่งอยู่ท้ายตารางจากการรวบรวมข้อมูลพาสปอร์ต 199 ประเทศ สามารถเข้าออกประเทศอื่นได้แบบไม่ต้องขอวีซ่าก่อนเพียงแค่ 26 ประเทศ กลายเป็นช่องว่างที่แตกต่างกันอย่างมาก

สำหรับญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นการกลับมาทวงแชมป์ เพราะปีที่แล้วเสียตำแหน่งไปให้กับ “นิวซีแลนด์”

ผู้ถือพาสปอร์ตสิงคโปร์ ได้อันดับ 1 ร่วมกับพาสปอร์ตญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์จะได้อันดับ 1 แต่ภาพรวมของกลุ่ม 10 อันดับแรกยังเป็นประเทศในทวีปยุโรปเสียส่วนใหญ่ที่ประชากรจะเดินทางไปทั่วโลกได้ง่ายกว่าผู้อื่น

10 อันดับสัญชาติผู้ถือ “พาสปอร์ต” ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ปี 2022

อันดับ 1 (192): ญี่ปุ่น, สิงคโปร์
อันดับ 2 (190): เกาหลีใต้, เยอรมนี
อันดับ 3 (189): ฟินแลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, สเปน
อันดับ 4 (188): ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก, สวีเดน, ออสเตรีย
อันดับ 5 (187): ไอร์แลนด์, โปรตุเกส
อันดับ 6 (186): สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, เบลเยียม, นิวซีแลนด์
อันดับ 7 (185): ออสเตรเลีย, แคนาดา, เช็ก, กรีซ, มอลตา
อันดับ 8 (183): โปแลนด์, ฮังการี
อันดับ 9 (182): ลิทัวเนีย, สโลวาเกีย
อันดับ 10 (181): เอสโตเนีย, ลัตเวีย, สโลวีเนีย

(ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนประเทศที่ผู้ถือพาสปอร์ตเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า)

ด้านประเทศที่ผู้ถือพาสปอร์ตเข้าออกประเทศอื่นได้น้อยที่สุด คือน้อยกว่า 40 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ (39), เนปาล และ ปาเลสไตน์ (37), โซมาเลีย (34), เยเมน (33), ปากีสถาน (31), ซีเรีย (29), อิรัก (28) และ อัฟกานิสถาน (26)

ค่าเฉลี่ยกลางของจำนวนประเทศที่เข้าออกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอยู่ที่ 107 ประเทศ สำหรับประเทศไทยสามารถเข้าออกประเทศอื่นโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ 79 ประเทศ อยู่ในอันดับที่ 65 ร่วมกับอีก 3 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย, โบลิเวีย และเบลารุส

Source

]]>
1370261
มาแล้ว! Robinhood Travel เริ่มรับโรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม ชูจุดแข็งเดิม ‘ไม่เก็บค่าคอมฯ’ https://positioningmag.com/1363200 Mon, 22 Nov 2021 11:37:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363200
  • กุมภา’65 เจอกัน! “Robinhood Travel” บุกภาคท่องเที่ยว จองโรงแรม เครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ชูจุดแข็งเดิม “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” และโอนเงินให้พาร์ตเนอร์ไวเป็นรายชั่วโมง ช่วยหมุนกระแสเงินสด
  • อนาคตต่อยอดนักท่องเที่ยวไทยฝั่ง outbound จองโรงแรม 5 ประเทศยอดฮิตผ่านแอปฯ ได้
  • ปีหน้าเตรียมเพิ่มฟังก์ชัน Mart Express, ภาษาอังกฤษ, เชื่อมต่อ mobile payment ธนาคารอื่น เพื่อขึ้นเป็น “ซูเปอร์แอปฯ”
  • กลางปีคาดได้เห็นการระดมทุน Series A ของ Robinhood เล็งเป้าพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่ต้องการลงทุนกับกิจการเพื่อสังคม (SE)
  • หลังจากปล่อยทีเซอร์แย้มๆ มาสักพักว่ากำลังปั้นธุรกิจ Online Travel Agency (OTA) วันนี้ Robinhood ประกาศเปิด “Robinhood Travel” อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเริ่มรับสมัคร “โรงแรม” มาเป็นพาร์ตเนอร์บนแพลตฟอร์ม พร้อมให้บริการลูกค้าจองจริงเดือนกุมภาพันธ์ 2565

    รวมถึงจะมีการขยายต่อไปยังการขายตั๋วเครื่องบิน ทัวร์และกิจกรรม และรถเช่าผ่านแอปฯ ได้ด้วย โดยสามส่วนหลังนี้จะเริ่มเปิดให้จองได้เดือนเมษายน 2565

    “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ Robinhood Travel จะเหมือนกับจุดเริ่มต้นจากฟู้ดเดลิเวอรี่ คือการ “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” ธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีปัญหาเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่ถูกเก็บค่าคอมมิชชั่นจาก OTA ต่างประเทศสูงมาก

    และเช่นเดียวกันคือโรงแรมขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะยิ่งถูกเก็บในอัตราสูงกว่าโรงแรมเชนใหญ่ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ทำให้ Robinhood ต้องการเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ ตลาดนี้เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่

    (ซ้าย) “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และ (ขวา) “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

    “ทางรอดของเราคือเราพบโมเดลของเราเองที่เป็นความไทยมาก นั่นคือ ‘Kindness’ เราเข้าไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ไม่เก็บ GP ร้านอาหาร ซึ่งตอนแรกคนก็ไม่เชื่อว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร แต่เราก็รอดมาได้เพราะร้านค้าพอไม่ถูกเก็บค่า GP เขาก็ไม่ขึ้นราคาจากหน้าร้านหรือไม่ลดปริมาณอาหาร วงจรก็จะเกื้อหนุนกัน เพราะกำไรของร้านค้าไม่ได้ลดลง เขาก็เชียร์ลูกค้าให้ซื้อผ่านเรามากขึ้น” ธนากล่าว

     

    ไม่เก็บค่าคอมฯ – โอนไวเป็นรายชั่วโมง

    “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมก่อนเกิด COVID-19 โรงแรมในไทยมี 50,000 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 788,000 ห้อง และ 50% ของลูกค้าจะจองผ่าน OTA

    การจองผ่าน OTA ที่เป็นลูกค้าคนไทย มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่โรงแรมไม่ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะ OTA มีการหักค่าคอมมิชชั่น กรณีเชนโรงแรมใหญ่จะอยู่ที่ 10-15% แต่โรงแรมเล็กจะอยู่ที่ 10-25% แถมถ้าหากโรงแรมต้องการให้ตนเองขึ้นเป็น Top Search บนแอปฯ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 3-5% ทำให้โรงแรมเล็กอยู่ได้ยากมาก

    ที่มา: Robinhood

    ดังนั้น Robinhood Travel จะมาแก้ปัญหาสำหรับโรงแรม 5 ข้อหลัก คือ

    1. “ไม่คิดค่าคอมมิชชั่น” ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
    2. “โอนเงินคืนทุกชั่วโมง” จากปกติ OTA มักจะโอนคืนใช้เวลา 3-7 วัน ซึ่งเป็นปัญหามากในกรณีโรงแรมเล็กที่ต้องหมุนกระแสเงินสด
    3. “ระบบ add-on ปรับแต่งเองได้” เช่น ต้องการทำโปรโมชัน flash deal สามารถปรับแต่งเองเลยก็ได้ หรือจะทำแพ็กเกจห้องพัก+ดินเนอร์ก็ได้
    4. “สนับสนุนสื่อโฆษณา” ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อขึ้น Top Search แต่แพลตฟอร์มจะสนับสนุนด้วย Robinhood Stories ฟังก์ชันรีวิวการท่องเที่ยว ช่วยให้ลูกค้าสนใจจอง และทำการตลาดดิจิทัลให้ด้วย
    5. “เก็บดาต้า” เพื่อนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจ

    ส่วนฟังก์ชันท่องเที่ยวที่จะตามเข้ามาคือตั๋วเครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ส่วนนี้ธนาระบุว่าจะมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น 5-10% แล้วแต่การเจรจา

    Robinhood Travel
    หน้าอินเตอร์เฟซของ Robinhood Travel

    ขณะนี้ธุรกิจสายการบินจบดีลแล้ว 2 ราย คือ ไทยสมายล์ และ นกแอร์ ส่วนอีก 1 รายอยู่ระหว่างพูดคุยคือ แอร์เอเชีย

    ทัวร์ กิจกรรม และรถเช่า ส่วนนี้ไม่ได้เน้นเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ แต่ต้องการให้ธุรกิจรายเล็กเข้ามาสมัครด้วยเพื่อช่วยท้องถิ่น เช่น ไกด์ ชุมชนที่เปิดทำกิจกรรม กลุ่มรถเช่าในจังหวัดต่างๆ

     

    ตั้งเป้าปีแรกจอง 3 แสนครั้ง

    ปัจจุบันแอปฯ Robinhood มีฐานลูกค้าเกือบ 2.4 ล้านราย ซึ่งจะต่อยอดมาใช้ OTA ได้ และมีฐานลูกค้าของไทยพาณิชย์อีก 16 ล้านรายที่เป็นเป้าหมาย รวมถึงชื่อเสียงของ Robinhood ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ทำให้ฟังก์ชันนี้น่าจะโตได้เร็ว

    ผู้ใช้แอปฯ Robinhood ขณะนี้ส่วนใหญ่ต่อยอดมาจากฐานลูกค้าแบงก์ เป็นคนเมืองวัย 20-39 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
    เป้าหมายปีแรกของ Robinhood Travel
    • โรงแรมเข้าระบบ 30,000 แห่ง
    • นักท่องเที่ยวจองผ่านแอปฯ 200,000 คน
    • จำนวนการจองต่อปี 300,000 ครั้ง
    • ประหยัดค่าใช้จ่ายให้โรงแรม 200 ล้านบาท
    • ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท
    • รายได้จากค่าคอมมิชชั่นสูงสุด 50 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ธนากล่าวว่า รายได้รวมของ Robinhood ปี 2565 น่าจะอยู่ที่ราว 700-800 ล้านบาท ทำให้รายได้ส่วนท่องเที่ยวจะยังเป็นสัดส่วนน้อยในธุรกิจ แต่การขาดทุนจะน้อยกว่ามากเพราะบริษัทไม่ต้องออกเงินชดเชยค่าส่งให้กับไรเดอร์เหมือนกับฟู้ดเดลิเวอรี่

     

    เจาะตลาดคนไทย outbound ไปต่างประเทศ

    สเต็ปต่อไปของ Robinhood Travel ธนาเปิดเผยว่ากำลังศึกษาการจับตลาด outbound คนไทยออกเที่ยวต่างประเทศ โดยกำลังเจรจาพาร์ตเนอร์ 5-10 รายเพื่อลิสต์โรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม สำหรับคนไทยจองผ่านแอปฯ Robinhood (กรณีโรงแรมต่างประเทศ บริษัทจะคิดค่าคอมมิชชันตามราคาตลาด)

    สำหรับประเทศที่กำลังเจรจาคือ กลุ่มประเทศยอดฮิตของคนไทย 5-6 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ คาดว่ากลางปี 2565 น่าจะเริ่มเห็นการทดลองตลาด

    ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย (Photo by Tomohiro Ohsumi/Getty Images)

    ในอีกมุมหนึ่ง บริษัทสนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ inbound ด้วย แต่กรณีนี้จะดำเนินการยากกว่า เนื่องจาก Robinhood ไม่ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ดังนั้น อาจต้องเลือกจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปเปิดหน้าร้านในซูเปอร์แอปฯ ของประเทศอื่น โดยต้องหามุมที่น่าสนใจให้ชาวต่างชาติจองผ่าน Robinhood

    ขณะนี้ประเทศที่กำลังพูดคุยคือ “จีน” เพราะเป็นตลาดใหญ่ของท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีนจะไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกมาจนถึงปี 2566 ดังนั้น ยังมีเวลาในการเจรจา

     

    ปีหน้าเดินหน้า “ซูเปอร์แอปฯ” เปิดระดมทุน Series A

    แผนการปีหน้าของ Robinhood ไม่ได้มีเฉพาะการเปิด Travel แต่จะมี Mart Express มาในช่วงไตรมาส 2 โดยจะเน้นการขายและเดลิเวอรีสินค้ากลุ่มพรีเมียมที่เหมาะกับลักษณะฐานลูกค้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้แตกต่างจากเจ้าอื่นที่ทำอยู่

    นอกจากนี้ ไตรมาส 3 จะเริ่มมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษเพื่อเจาะ expat ในไทย และมีการเชื่อมให้ชำระเงินผ่าน mobile payment ธนาคารอื่นได้แล้ว

    ภาพรวมปีหน้า Robinhood จะกลายเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ คาดหวังฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย และจะทำให้แอปฯ มีหลายธุรกิจสำหรับจัดแพ็กเกจร่วมกันได้ เช่น จองโรงแรมผ่าน Travel พ่วงแพ็กเกจอาหารระหว่างท่องเที่ยว เป็นต้น

    เมื่อเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่มีฐานลูกค้าและมี Gross Merchandise Value (GMV) มากพอ จะทำให้แอปฯ เปิดระดมทุนรอบ Series A ได้เป็นก้าวถัดไป ซึ่งอาจจะได้เห็นช่วงกลางปี 2565 และทำให้บริษัทยืนด้วยตนเองหลังจากที่ผ่านมารับเงินลงทุนตั้งต้นจาก ‘ยานแม่’

    ส่วนตั้งเป้าระดมทุนเท่าไหร่และจากใคร ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ Robinhood ต้องการพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่จะมาช่วยต่อยอดด้านอื่นนอกจากเรื่องเงินทุน และเป็นคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการทำกิจการเพื่อสังคม (SE) อย่างที่เคยเป็นมา!

    ]]>
    1363200
    เรียกได้ว่า “หายนะ” ILO สรุปผลกระทบ COVID-19 ต่อ “แรงงานภาคท่องเที่ยว” ในเอเชีย https://positioningmag.com/1362927 Fri, 19 Nov 2021 08:51:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362927 ILO สรุปผลกระทบจาก COVID-19 ต่อ “แรงงานภาคท่องเที่ยว” ในภูมิภาคเอเชีย นับได้ว่าเป็น “หายนะ” เฉพาะ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวลดลงรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง UN ระบุภาคท่องเที่ยวมีคนตกงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 4 เท่า

    องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า 5 ประเทศดังกล่าวคือ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงานรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง

    ขณะที่องค์การสหประชาติ (UN) ระบุว่า ใน 5 ประเทศนี้ แรงงานภาคท่องเที่ยวที่ตกงานจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของแรงงานตกงานทุกภาคธุรกิจรวมกัน สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของประเทศเหล่านี้ และได้รับผลกระทบมากเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไม่ได้

    รายงานของ UN ยังระบุด้วยว่า แรงงานที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวเผชิญการตกงานมากกว่าแรงงานธุรกิจอื่นถึง 4 เท่า และผู้หญิงมักจะมีโอกาสตกงานมากกว่าผู้ชาย

    หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต วันที่ 16 พ.ย. 2564

    ชิโฮะโกะ อาซาดะ-มิยาวากะ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ILO กล่าวว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อภาคท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ “ไม่สามารถใช้คำใดที่น้อยกว่าคำว่าหายนะได้”

    “แม้ประเทศในภูมิภาคนี้จะเร่งฉีดวัคซีนและออกแบบกลยุทธ์เพื่อทยอยเปิดพรมแดน แต่ชั่วโมงทำงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็น่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดต่อไปในปีหน้า” อาซาดา-มิยาวากะกล่าว

     

    แรงงานท่องเที่ยวของไทยค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%

    ใน 5 ประเทศดังกล่าว บรูไนได้รับผลกระทบมากที่สุดในแง่จำนวนคนทำงานภาคท่องเที่ยวซึ่งลดลงถึง 40% แต่ถ้าวัดที่ชั่วโมงทำงาน ฟิลิปปินส์จะกระทบหนักที่สุด ชั่วโมงทำงานของแรงงานลดลงไป 38% ขณะที่เวียดนามกระทบด้านค่าจ้างแรงงานสูงสุด โดยลดลงเฉลี่ย 18%

    ส่วนประเทศไทยนั้น ภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ช่วงที่ผ่านมาเมื่อธุรกิจซบเซา ทำให้ค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%

     

    เอเชียฟื้นตัวช้ากว่าฝั่งตะวันตก

    เอเชียยังฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคฝั่งตะวันตกด้วย โดยข้อมูลจาก Capital Economics ระบุ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวขาเข้าของประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ยังลดลง 99% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่เม็กซิโกลดลงไปแค่ 20% และยุโรปใต้ลดลง 65%

    สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 13 พ.ย. 2564

    World Economic Forum ระบุข้อมูลปี 2019 ว่า ปีนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเอเชียแปซิฟิก 291 ล้านคน ซึ่งสร้างเศรษฐกิจให้ภูมิภาคนี้ประมาณ 8.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

    ซาร่า เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก ILO กล่าวว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอนาคตอันใกล้ จะบังคับให้ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวต้องกระจายความหลากหลายในเชิงเศรษฐกิจ

    “การฟื้นตัวต้องใช้เวลาและจะมีผลกระทบกับแรงงาน รวมถึงบริษัทต่างๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวจะยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป” เอลเดอร์กล่าว “รัฐบาลแต่ละประเทศควรจะยังมีนโยบายช่วยเหลือต่อไป ระหว่างที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย”

    Source

    ]]>
    1362927