ธุรกิจอีเวนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Jan 2024 13:23:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แข่งเป็นเมืองแห่งอีเวนต์! “ฮ่องกง” วางแผนดึง “ศิลปิน” ระดับโลกจัด “คอนเสิร์ต” กระตุ้นเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1460319 Thu, 25 Jan 2024 12:40:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460319 “จอห์น ลี” (ลี กาจิว) ผู้นำสูงสุดของฮ่องกง ประกาศนโยบายดึง “ศิลปิน” ระดับโลก เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ เข้ามาจัด “คอนเสิร์ต” บนเกาะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แข่งขันกับเมืองหลักอื่นๆ ของเอเชียให้ได้

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า จอห์น ลี ผู้นำสูงสุดของฮ่องกง ให้คำมั่นว่าจะนำซูเปอร์สตาร์ระดับโลกมาจัดการแสดงบนเกาะฮ่องกงให้ได้ แต่ยอมรับว่าการเชิญชวนศิลปินมาจัดคอนเสิร์ตนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก “เหมือนชวนใครสักคนออกเดต”

โดยจะมีการทำงานผ่านคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนใ ‘one-stop shop’ ให้กลุ่มออร์กาไนเซอร์คอนเสิร์ตสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้ง่ายที่สุด ทำให้ฮ่องกงมีเสน่ห์ดึงดูดการจัดอีเวนต์มากขึ้น

ไม่เฉพาะการดึงดูดคอนเสิร์ตของซูเปอร์สตาร์เท่านั้น ฮ่องกงยังต้องการดึงดูดอีเวนต์ระดับโลกทุกประเภทให้มาจัดบนเกาะ

“เราจะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ แต่ก็เหมือนการขอใครสักคนออกเดต” ลีกล่าว “ผมโทรฯ ไปหาเขาได้อยู่แล้ว แต่ก่อนอื่นต้องขึ้นอยู่กับเขาด้วยว่ามีเวลาจะคุยกับผมไหม และการมาจัดงานที่ฮ่องกงจะใส่เข้าไปในแผนของเขาได้หรือเปล่า”

ลีมองว่าการสร้างความสำเร็จของรัฐในประเด็นนี้ จะต้องอาศัยส่วนผสมของ “จังหวะเวลา สถานที่ และคน” ที่ถูกต้อง

เรจิน่า อิป ที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลฮ่องกง เคยวิจารณ์ภาครัฐไว้ก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถดึงซูเปอร์สตาร์อย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” มาจัดคอนเสิร์ตในฮ่องกงได้ โดยสวิฟต์มีการจัดเวิลด์ทัวร์ 2024 ในเอเชีย แต่เธอเลือกจัดแสดงเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น กับ สิงคโปร์

นอกจากสวิฟต์แล้ว อีกหนึ่งศิลปินดังระดับโลกที่มีทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียปีนี้อย่าง “Coldplay” ก็เลือกจัดแสดงเพียง 2 ประเทศเช่นกัน คือ สิงคโปร์ กับ ไทย ไม่มีแผนการจัดแสดงบนเกาะฮ่องกง

จอห์น ลี (ลี กาจิว) ผู้นำสูงสุดของฮ่องกง (Photo: Shutterstock)

ฮ่องกงจึงตื่นตัวมากในการดึงอีเวนต์ระดับโลกให้เข้ามามากขึ้น เพราะต้องการใช้อีเวนต์เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้สองต่อคือทั้งการจัดอีเวนต์และการท่องเที่ยว

ระหว่างการหารือของภาครัฐ ซันนี่ ถัน ประธานสภาการสร้างประสิทธิผลแห่งฮ่องกง คือผู้เรียกร้องถึงรัฐบาลว่าควรจะมีการสร้าง “สถานที่” จัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ใหญ่ๆ ที่เหมาะสม โดยกล่าวเปรียบเทียบถึง “Opera House” ของซิดนีย์ ที่สามารถเป็นทั้งจุดจัดงานสำคัญและแลนด์มาร์กของเมืองได้

จอห์น ลีตอบเห็นด้วยว่าฮ่องกงควรจะมีสถานที่จัดงานที่ดีกว่านี้และมากกว่านี้ พร้อมเสนอแผนงานว่าจะมีการจัดสร้างสถานที่จัดอีเวนต์ให้มากขึ้นอีก 40% จากที่มีอยู่เดิม แต่จะต้องใช้เวลากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้

ลียังเชิญชวนให้ภาคธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมรวมกำลังกันเพื่อผลักดัน “เศรษฐกิจอภิมหาอีเวนต์” ให้เกิดขึ้นจริงบนเกาะฮ่องกง

“เพื่อฟื้นชีวิตชีวาให้กับเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ บทบาทของภาครัฐคือการเป็นโปรดิวเซอร์และคนเขียนบท” ลีกล่าว “แต่ออร์กาไนเซอร์และภาคธุรกิจต่างๆ ต้องเล่นตามบทบาทที่เขียนไว้ด้วย รวมไปถึงผู้บริหารและพนักงานในธุรกิจท่องเที่ยว เคเทอริ่ง และอุตสาหกรรมรีเทล”

เขากล่าวด้วยว่าตลาดเองก็ต้องมีสินค้าใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและทำให้นักเดินทางต้องการอยู่เที่ยวต่อ รวมถึงกระตุ้นให้คนท้องถิ่นเองต้องการออกมาใช้จ่ายในเศรษฐกิจช่วงกลางคืนด้วย

“ผมเชื่อว่าผู้บริหารและพนักงานในฮ่องกงมีความสามารถ พวกเขาจะแสดงถึงองค์ประกอบที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจและความสำเร็จให้กับฮ่องกงได้อีกครั้ง” ลีกล่าว

Source

]]>
1460319
“อินเด็กซ์ฯ” ฮึดสู้พายุไวรัสปี’65 วางเป้าฟื้น 60% ใช้กลยุทธ์ปั้น “อีเวนต์” เอง ลดพึ่งพิงงานลูกค้า https://positioningmag.com/1370150 Wed, 12 Jan 2022 09:42:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370150
  • อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ สรุปผล ปี 2564 ทำรายได้ 580 ล้านบาท เติบโต 33% แม้ภาพรวมธุรกิจ “อีเวนต์” จะดิ่งลงต่อเนื่องจากปี 2563
  • เชื่อปี 2565 ตลาดอีเวนต์ฟื้นตัว วางเป้าหมายปีนี้รายได้เติบโต 60% กลับมายืนที่กว่า 900 ล้านบาท โดยจะเป็นปีเก็บเกี่ยวจากการลงทุนงานแบบ ‘Own Project’ หลังพัฒนาโครงการซิกเนเจอร์ของตนเองตั้งแต่ปีก่อน พร้อมเพิ่มงานใหม่ๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์
  • “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” มองการจัดการรัฐบาลและ ศบค. ควรผ่อนคลายมาตรการมากกว่านี้เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และสื่อสารให้ประชาชนไม่ตื่นกลัวจนเกินไป
  • “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทด้านครีเอทีฟ อีเวนต์รายใหญ่ของไทย เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของบริษัทและธุรกิจ “อีเวนต์” ไทย

    โดยปี 2564 ที่ผ่านมามองว่าเป็นปีที่ “หนักที่สุด” ตั้งแต่เกิดโรคระบาด เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ยาวนานในช่วงการระบาดรอบที่ 3 ทำให้มูลค่าตลาดอีเวนต์ไทยลดลงไปเหลือประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับช่วงก่อนการระบาดที่เคยมีมูลค่าสูงถึงปีละ 14,000-15,000 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม อินเด็กซ์ฯ มีการปรับตัวตามกลยุทธ์ใหม่ ทำให้สามารถฟื้นตัวได้ โดยปิดรายได้ไปที่ 580 ล้านบาท เติบโต 33% เทียบกับปี 2563 ซึ่งดีกว่าสถานการณ์ตลาด

    อีเวนต์ของ House of illumination เซ็นทรัลเวิลด์ จัดร่วมกับวง POLYCAT ช่วยดึงดูดคนเข้าชม

    กลยุทธ์การเติบโตมาจากการปรับตัวไปจัดอีเวนต์ที่เป็น ‘Own Project’ มากขึ้น โดยเป็นโครงการที่สร้างสรรค์และลงทุนเองทั้งหมด และเก็บรายได้จากการเข้าชม ทำให้พอร์ตสมดุลและมั่นคงมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงงานจ้างจากลูกค้าเป็นหลัก สามารถตัดสินใจการเดินหน้าจัดต่อ เลื่อนการจัดงาน หรือยกเลิกงานเองได้ตามที่เห็นเหมาะสม

    โครงการที่อินเด็กซ์ฯ จัดเองจนเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ กลายเป็นแบรนด์งานที่จะไปต่อได้ทุกปี เมื่อปีก่อนมีการจัดทั้งหมด 6 งาน ขณะนี้มีผู้เข้าชมสะสมรวมทุกงานมากกว่า 100,000 คน ได้แก่

    • Village of illumination @Singha Park Chiang Rai เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว
    • House of illumination งานศิลปะดิจิทัล จัดที่เซ็นทรัลแกลลอรี เซ็นทรัลเวิลด์
    • เมืองโบราณไลท์เฟส เทศกาลประดับไฟฤดูร้อนยามค่ำคืน
    • Forest of illumination at Kirimaya เขาใหญ่ เทศกาลประดับไฟและการแสดงแสง สี เสียง
    • เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ
    • Tha Maharaj illumination เทศกาลประดับไฟที่ท่ามหาราช
    เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ (Photo: FB@เมืองโบราณ สมุทรปราการ)

    เห็นได้ว่าซิกเนเจอร์ของอินเด็กซ์ฯ คือการจัดงานประดับไฟและศิลปะดิจิทัลจนติดตลาด โดยเล็งเห็นว่าผู้มาร่วมงานเกิดเทรนด์ FOMO-FOTO: Fear of Missing Out และต้องการถ่ายรูป ทำคอนเทนต์ตลอดเวลา ทำให้ประสบการณ์ในงานจะต้องได้รูปถ่ายสวยงาม มีคอนเทนต์สวยๆ ให้เล่า และเทรนด์เหล่านี้จะมีการขยายต่อในปีนี้

     

    ปี 2565 บุกด้วย Own Project ต่อเนื่อง

    เกรียงไกรกล่าวต่อถึงแผนปีนี้ว่า จะยังคงใช้กลยุทธ์ปั้น Own Project ต่อเนื่อง โดยมองว่า ปีที่แล้วเป็นการลงทุนและสร้างฐานแฟนคลับ ส่วนปีนี้จะได้เก็บเกี่ยวเต็มเม็ดเต็มหน่วย

    ทำให้วางแผนงานไว้แล้ว 20 โครงการตลอดปี ทั้งงานที่จัดอีกครั้งต่อเนื่องจากปีก่อน เช่น Kingdom of Lights งานแสงสีเสียงที่เมืองโบราณในค่ำคืนฤดูร้อน, งานเทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติเมืองโบราณ ซึ่งจะจัดในช่วงฤดูหนาว

    งานวิ่ง Sub 1 กำลังจะเริ่มครั้งแรกเดือนมีนาคมนี้

    และจะมีงานที่จัดขึ้นใหม่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เช่น งานประกาศรางวัล Young Self-made Millionaire Awards จัดร่วมกับรายการอายุน้อยร้อยล้าน, งานแข่งขันวิ่ง V RUNNER แข่งวิ่ง 10 กม. ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะมี 3 ครั้ง ที่เมืองโบราณ และอีก 2 ครั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง, งาน Wind Toy Fest อีเวนต์กับสนูปปี้และผองเพื่อน ที่จะจัดแบบในร่มกับศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลพัฒนา 6 แห่ง เป็นต้น

    งานใหม่ Wind Toy Fest จัดร่วมกับ CPN

    นอกจากนี้ อินเด็กซ์ฯ จะกลับมาจัดงานเทรดแฟร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น Bangkok Beauty Show 2022 ที่ไบเทค, Cambodia Architect & Décor, Cambodia Health and Beauty Expo, Cambodia Food Plus Expo ประเทศกัมพูชา

    ทั้งหมดนี้คาดหวังว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมไม่ต่ำกว่า 200,000 คน และทำให้รายได้ส่วน Own Project ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้รวมบริษัท เทียบกับเมื่อปี 2562 (ก่อนโรคระบาด) มีสัดส่วนเพียง 6.2% และคาดว่า ปี 2565 นี้ บริษัทจะมีรายได้เติบโต 60% อยู่ที่ประมาณ 925 ล้านบาท

    เทียบรายได้ อินเด็กซ์ฯ ปี 2562-2564 และคาดการณ์ผลประกอบการปี 2565

    เกรียงไกรมองว่า การพัฒนา Own Project เองทำให้พอร์ตของบริษัทมั่นคงขึ้น เพราะท่ามกลางความไม่แน่นอนของโรค ทำให้งานกลุ่ม Marketing Service รับจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอีเวนต์การตลาด มักจะมีการยกเลิกหรือเลื่อนไปทันทีที่เกิดกระแสการระบาดใหม่ แต่งานที่บริษัทพัฒนาเอง สามารถตัดสินใจเองได้ว่ามีความคุ้มค่าและความปลอดภัยพอที่จะลงทุนและเดินหน้าต่อหรือไม่

     

    วอนรัฐบาลหยุดสร้างความกังวล

    สำหรับสถานการณ์โดยรวมปี 2565 เชื่อว่าธุรกิจอีเวนต์น่าจะกลับมามีมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท หากไวรัสโอมิครอนไม่สร้างผลร้ายแรงมากนัก โดยถือเป็นการกลับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังไม่กลับมาแบบเต็มที่

    อย่างไรก็ตาม เกรียงไกรมองด้วยว่าการรับมือกับไวรัสโอมิครอนนั้นรัฐบาลและ ศบค. ควรจะปรับมาตรการและสื่อสารให้เป็นปัจจุบันมากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วเกิน 70% ของประชากร และเริ่มทยอยเข้ารับบูสเตอร์โดสกันแล้ว ทำให้ความเสี่ยงลดลงมากจากก่อนหน้าที่จะมีวัคซีน เห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตที่ยังต่ำแม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น

    “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

    “ศบค.ควรจะผ่อนคลายกฎระเบียบ เพราะกฎเดิมตั้งมาตั้งแต่ก่อนมีวัคซีนแล้ว เช่น การจัดอีเวนต์ให้มีผู้ร่วมงานไม่เกิน 500 คน โดยไม่ได้พิจารณาถึงขนาดสถานที่และลักษณะว่าเป็นแบบกลางแจ้งหรือในร่ม หรือระเบียบการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรจะผ่อนผันให้ไม่ต้องมีการกักตัวทั้งหมด เพียงแค่นักท่องเที่ยวมีหลักฐานฉีดวัคซีนครบโดสและมีผล RT-PCR มาจากประเทศต้นทางแล้ว” เกรียงไกรกล่าว

    “อีกเรื่องหนึ่งคือ ศบค. รวมถึงสื่อควรจะเลือกสื่อสารให้ประชาชนไม่หวาดกลัวไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมากเกินไป เพราะมีผู้เสียชีวิตต่ำ และประเทศไทยฉีดวัคซีนได้อัตราสูงแล้ว มีวัคซีนบูสเตอร์เพียงพอกับประชาชน อยากให้ ศบค. เน้นย้ำส่วนนี้มากกว่าย้ำเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันซึ่งทำให้ประชาชนตื่นกลัว”

    ]]>
    1370150
    ธุรกิจ “อีเวนต์” เลื่อนยาวถึงกุมภา’64 ZAAP ปรับแผนงัดกิจกรรมเว้นระยะห่างกลับมาอีกครั้ง https://positioningmag.com/1312049 Fri, 25 Dec 2020 04:57:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312049 COVID-19 ระบาดรอบใหม่สร้างความปั่นป่วนวงการอีเวนต์ ZAAP Party มือจัดงานคอนเสิร์ต-เฟสติวัล เผยสถานการณ์ “อีเวนต์” ที่จะจัดช่วงสิ้นปียาวถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัย พร้อมปรับแผนงัดแนวทางเดิมมาใช้ใหม่ จัดกิจกรรมไซส์เล็ก เว้นระยะห่างได้ เจาะตลาดพรีเมียม ประเดิมด้วย “Single Camp” แคมป์ปิ้งทริปคนโสดต้นปีหน้า

    สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 กลับมาระลอกใหม่ในประเทศไทย และประจวบเหมาะตรงกับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นาทีทองของวงการอีเวนต์ต้องฝันสลาย งานจำเป็นต้องเลื่อนเพื่อความปลอดภัยและเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย

    โดยเมื่อวานนี้ (24 ธ.ค. 63) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพิ่งประกาศแบ่งโซนพื้นที่เป็น 4 ระดับตามความรุนแรงของการระบาด ซึ่งทำให้มี 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมสาธารณะรวมคนจำนวนมากได้ เพราะเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเขตพื้นที่ควบคุม ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ต้องเฝ้าระวังเข้มงวดมากขึ้น

    เช่นเดียวกับงานอีเวนต์ในมือของ “เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” ซีอีโอ บริษัท ZAAP Party จำกัด เปิดเผยกับ Positioning ว่า ขณะนี้งานอีเวนต์ที่บริษัทดูแลเลื่อนไปแล้วเกือบ 10 งาน โดยงานที่จะจัดตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2563 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะเลื่อนออกไปก่อนทั้งหมด บางงานมีกำหนดการใหม่แล้ว และบางงานยังไม่มีกำหนด

    “ดีกว่ารอบก่อน เพราะไม่ได้ใช้คำว่ายกเลิกแต่เป็นการเลื่อน รอบก่อนจะมีงานที่ยกเลิกเลย” เทพวรรณกล่าว โดยเขากล่าวถึงสถานการณ์รอบที่มีการล็อกดาวน์ประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม’63 ซึ่งทำให้งานบางส่วนต้องยกเลิกทันที

    แถลงการณ์เลื่อนการจัดงาน “บางกอกเฟส” โดยยังอยู่ระหว่างพิจารณาการรับคืนบัตร ทำให้มีเสียงวิจารณ์ทั้งบวกและลบ

    สำหรับการระบาดรอบนี้ งานใหญ่ที่สุดที่ส่งผลกระทบกับบริษัทคือ “บางกอกเฟส #เฟสใหญ่ส่งท้ายปี” ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 ธันวาคม 2563 ที่สวนสนุก Wonder World รามอินทรา มีศิลปินดังขึ้นเวทีถึง 45 ราย และจะรวมผู้ชมในงานถึง 20,000 คน แต่บริษัทได้แจ้งเลื่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลกับสถานการณ์การระบาด

    งานนี้จะต้องเลื่อนยาวไปถึงวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2564 และบริษัทกำลังติดต่อศิลปินเพิ่มเติมขึ้นเวที เพื่อเป็นการชดเชยลูกค้าที่ได้ซื้อบัตรไว้แล้วและต้องรอไปอีกครึ่งปี อย่างไรก็ตาม หลังมีแผนชดเชยแล้ว หากลูกค้ายืนยันต้องการขอคืนบัตร (refund) ก็จะเปิดให้คืนบัตรได้

    “ถามว่าเจ็บตัวไหม? แน่นอน เพราะเรามีการลงทุนไปแล้ว เวทีจริงๆ เริ่มเซ็ตอัพไปแล้ว” เทพวรรณกล่าว “แต่เราไม่ดื้อ เราไม่เสี่ยงกับการถูกต่อว่า และเราไม่อยากให้ทุกคนไม่สบายใจ”

     

    งัดแผนอีเวนต์ไซส์เล็กกลับมาอีกครั้ง

    ซีอีโอ ZAAP กล่าวว่า สำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งงานที่รวมคนจำนวนมากทั้งหมดจะเลื่อนออกไป ทำให้บริษัทต้องปรับแผน นำไอเดียกิจกรรมที่เว้นระยะห่างทางสังคมได้กลับมาจัดใหม่อีกครั้งในช่วงนี้ โดยต่อยอดจากงานเดิมที่เคยจัดช่วงไตรมาส 2-3/63 หลังคลายล็อกดาวน์ แต่นำมาเพิ่มเติมกิมมิกใหม่ให้น่าสนใจขึ้น (อ่านเพิ่มเติม : กลยุทธ์ ZAAP Party พลิกเกม เมื่อ “อีเวนต์” จัดใหญ่เหมือนเดิมไม่ได้)

    คอนเสิร์ตผสานการจัดแคมป์ปิ้ง Social This Camping Event ที่ จ.เชียงราย งานต้นแบบที่จะนำมาปรับใช้กับ Single Camp ปี 2564

    งานที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วคือ Single Camp เป็นการผนวกรวมไอเดียจาก Single Fest คอนเสิร์ตคนโสดที่เป็น
    งานซิกเนเจอร์ของ ZAAP เข้ากับไอเดียของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่โปรโมตทริปคนโสดแล้วปรากฏว่าขายหมดอย่างรวดเร็ว ภายในงานจะเป็นการตั้งแคมป์กลางป่าเขา กับดนตรีอะคูสติกฟังสบาย บรรยากาศแบบเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่แออัด คาดว่าจะจัดได้ 5 จังหวัดเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย อยู่ระหว่างหารือว่าควรจัดที่ไหนเพื่อความปลอดภัย

    “เรามีฐานคิดว่าจะใช้กิจกรรมที่ทุกคนทำอยู่แล้ว เช่น แคมป์ปิ้ง ทานข้าวร้านอาหาร ท่องเที่ยว มาจัดเป็นอีเวนต์” เทพวรรณกล่าว “จะจับกลุ่มพรีเมียม คนจะไม่มาก ทำให้มีพื้นที่เว้นระยะห่างกันได้”

    เมื่อถามว่างานเล็กแต่พรีเมียมช่วยทดแทนงานขนาดใหญ่ได้แค่ไหน เทพวรรณบอกว่า “ตอนนี้ไม่คาดหวังเรื่องตัวเลขแล้ว”

    “ปีนี้มันไม่มีอะไรที่ปกติ เราคุยกันในบริษัทด้วยซ้ำว่า ‘ปีนี้ไม่ต้องนับ’ ว่าอย่างนั้นได้เลย” เทพวรรณกล่าว “แต่เราไม่อยากให้คิดว่าจัดอะไรไม่ได้ เรามองว่าต่อไปจะทำอะไรดีกว่า เหมือนตอนนี้เรามาสร้างบริษัทขึ้นใหม่ แล้วเราเตรียมพร้อมไว้สำหรับ 3 ปีข้างหน้า”

    ]]>
    1312049
    ZAAP Party พลิกเกม! เมื่อ “อีเวนต์” จัดใหญ่เหมือนเดิมไม่ได้ เตรียมขยายรับงาน “ทุกรูปแบบ” https://positioningmag.com/1295320 Thu, 03 Sep 2020 08:29:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295320 “อีเวนต์” หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพราะไม่สามารถจัดงานได้เลยในช่วงล็อกดาวน์ และปัจจุบันก็ยังต้องรักษาระยะห่างภายในงานอย่างเคร่งครัด กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้ ZAAP Party มือออร์กาไนซ์งานคอนเสิร์ตต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทั้งรูปแบบงาน แหล่งรายได้ ไปจนถึงขั้นตอนทำงาน แม้ครึ่งปีแรกรายได้จะลดแรง 70-80% แต่เชื่อว่าทั้งปีจะฟื้นกลับมาเติบโต 29% จากปี 2562

    “เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” ซีอีโอ บริษัท ZAAP Party จำกัด ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและปาร์ตี้ดังๆ ที่เรารู้จักกันดี เช่น S2O, Single Fest หรือเชียงใหญ่เฟส กล่าวถึงสถานการณ์บริษัทช่วงครึ่งปีแรก หลังเผชิญสถานการณ์ COVID-19 รายได้บริษัทลดลง 70-80% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ามีการล็อกดาวน์งดการพบปะของผู้คนจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่อีเวนต์ต้องยกเลิกหรือเลื่อนทั้งหมด

    แต่ขณะนี้หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์อนุญาตให้จัดอีเวนต์ได้ โดยต้องมีการเว้นระยะห่าง ลดความหนาแน่นของคนภายในงาน ทำให้ ZAAP เริ่มกลับมาจัดงานได้ แถมมองว่ารายได้รวมปี 2563 น่าจะยังเติบโตได้ 29% เทียบปี 2562 ที่มีรายได้เกือบ 500 ล้านบาท

    ขณะที่ผู้จัดงานอีเวนต์หลายแห่งต้องรัดเข็มขัดอย่างหนัก และยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ทำไม ZAAP ถึงยังเติบโต? ต้องฟังจากปากเทพวรรณ ซีอีโอของบริษัท

    “เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” ซีอีโอ บริษัท ZAAP Party จำกัด

     

    รูปแบบงานต้องเปลี่ยน เล็กลง ถี่ขึ้น และสร้างสรรค์

    ซีอีโอ ZAAP กล่าวว่า ข้อสรุปการทำงานหลังช่วง COVID-19 ของทีมงานประกอบด้วย 3C คือ Creativity – ความคิดสร้างสรรค์ , Collaboration – ความร่วมมือกับองค์กรอื่น และ Consumer Needs – ตอบความต้องการของลูกค้า

    เริ่มจากโจทย์แรกที่ต้องปรับตัวคือ “รูปแบบงาน” แน่นอนว่าข้อกำหนดด้านสุขอนามัยทำให้การจัดอีเวนต์ไม่สามารถให้คนเข้างานได้หนาแน่นเท่าเดิม งานจึงต้องจัดเล็กกว่าเดิม แต่จัดให้ถี่ขึ้น และมีไอเดียสร้างสรรค์ มองความต้องการที่เป็นกระแสในหมู่ผู้บริโภคซึ่งจะเป็น “นิชมาร์เก็ต” ยิ่งกว่าที่เคย

    “พฤติกรรมคนตอนนี้จะเลือกไปในแบบที่ตัวเองชอบจริงๆ ซึ่งมันจะแยกย่อยมากขึ้น จากเมื่อก่อนงานงานหนึ่งเพื่อนทั้งกลุ่มอาจจะชวนกันไปหมดทุกคน แต่ตอนนี้จะแยกกันไปกลุ่มเล็กๆ ไปเฉพาะที่อยากไปจริงๆ แล้วไปรู้จักเพื่อนใหม่ที่ชอบแบบเดียวกันในงาน” เทพวรรณกล่าว ดังนั้น งานที่จัดจะเล็กลงโดยปริยายเพราะเป็นนิชมาร์เก็ต บริษัทจึงต้องจัดงานให้บ่อยขึ้น และทำงานให้เร็วขึ้น

    คอนเสิร์ตผสานการจัดแคมป์ปิ้ง Social This Camping Event ที่ จ.เชียงราย

    ยกตัวอย่างงาน Social This Camping Event ที่ The Green-Chayana Resort จ.เชียงราย เป็นคอนเสิร์ตผสมกับการแคมป์ปิ้งท่ามกลางธรรมชาติ มีผู้ร่วมงานหลักร้อยคนเท่านั้น ไอเดียนี้มาจากการมอง Consumer Needs ที่บริษัทเล็งเห็นว่าคนยุคนี้กำลังสนใจแคมป์ปิ้ง ป่าเขา ธรรมชาติ ทำให้นำมาผสานกับอีเวนต์ดนตรี

    มุมที่มอง “งานอดิเรก” หรือความสนใจของผู้เข้าร่วมงานยังต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะจากเดิมงานอีเวนต์อาจจะมีงานที่ใช้ดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น S2O แต่เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้ถูกตัดออก จะเหลือเฉพาะลูกค้าคนไทย ทำให้ต้องคิดบนฐานว่าลูกค้าคนไทยชอบอะไร และจะดึงคนไทยให้ยอมลงทุนเดินทางไปงานได้อย่างไร

     

    พึ่งรายได้จาก “สปอนเซอร์” มากขึ้น

    เมื่อรูปแบบงานเปลี่ยน คอนเสิร์ตต้องเว้นระยะห่าง จำนวนคนเข้างานมีน้อยลง แต่หากจะขายบัตรแพงขึ้นนั้น ซีอีโอ ZAAP บอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะกำลังซื้อคนมีน้อยลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเป็นงานประเภทที่บริษัทเป็นโปรโมเตอร์คือร่วมลงทุนในงานด้วย โมเดลแหล่งรายได้จะเปลี่ยนไป

    จากปกติรายได้งานแบบที่บริษัทเป็นโปรโมเตอร์มักจะมาจากค่าบัตร 40% และจากสปอนเซอร์ 60% ตอนนี้ต้องมีสัดส่วนรายได้จากสปอนเซอร์มากกว่าเดิม เพื่อให้ค่าบัตรยังเท่าเดิม หรือบางงานเป็นรายได้จากสปอนเซอร์ “ล้วนๆ” ทำให้บัตรเข้างานแจกฟรีผ่านกิจกรรมของสปอนเซอร์

    Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection งานคอนเสิร์ตแบบไดรฟ์อิน ไอเดียดัดแปลงจากต่างประเทศโดยใช้รถตุ๊กตุ๊กแทนรถยนต์

    ยกตัวอย่างงานแรกที่บริษัทจัดหลังคลายล็อกดาวน์คือ Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection ผู้เข้าร่วมงาน 600 คนจะเข้างานได้ต้องร่วมกิจกรรมกับน้ำดื่มตราช้าง

    เทพวรรณกล่าวว่า ส่วนนี้คือการ Collaboration กับองค์กรอื่นๆ เพราะต้องคิดแพ็กเกจจูงใจสปอนเซอร์ แน่นอนว่าเศรษฐกิจเช่นนี้ สปอนเซอร์ไม่ได้ออกงบประมาณให้ง่ายๆ บริษัทต้องนำเสนอว่าทำอย่างไรการจัดงานนี้จะคุ้มค่าสำหรับลูกค้า และต้องเข้าให้ถูกอุตสาหกรรมที่ยังต้องการใช้งบประมาณกับธุรกิจอีเวนต์ สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทขณะนี้จะเป็นสินค้าเครื่องดื่ม ธุรกิจโทรคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ต้องการใช้อีเวนต์ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

     

    ลดต้นทุน เปลี่ยนขั้นตอนการทำงานเป็นเชิงรุก

    รายรับลดแล้ว รายจ่ายต้องลดด้วย ส่วนนี้เทพวรรณมองว่าเป็นโชคดีที่ทุกคนในอุตสาหกรรมร่วมมือกันลดราคา ยกตัวอย่างเจ้าของสถานที่แทบทุกแห่งยินดีลดราคาเกิน 50% เพื่อให้ได้จัดงาน หรือซัพพลายเออร์สนับสนุนงานต่างมีส่วนลดให้ ซึ่งทำให้อีเวนต์ตัดต้นทุนไปได้มาก การจัดงานจึงยังคงมีกำไรเหมือนเดิม

    Hotel Fest คอนเสิร์ตริมระเบียงที่พัทยา จะจัดขึ้นวันที่ 5-6 ก.ย. 63 ไอเดียจากคลิปนักร้องชาวอิตาลีที่ร้องเพลงริมระเบียงบ้านในช่วงล็อกดาวน์

    นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้บริษัทเปลี่ยนมาทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิม โดยให้ครีเอทีฟคิดรูปแบบงานไว้เป็นแคตตาล็อก ถ้ามีคอนเซ็ปต์ไหนเหมาะสมกับลูกค้าสามารถดึงมาใช้ได้ทันที ทำให้การทำงานเร็วขึ้น

    “ผมให้ครีเอทีฟคิดงานรอไว้เป็นสิบๆ งานเลย ปกติเราไม่ทำขั้นตอนแบบนี้ เมื่อก่อนเราจะไปรับบรีฟจากลูกค้าก่อน แล้วมาคิดงานอีก 2-3 อาทิตย์ค่อยกลับไปเสนอ ตอนนี้เรามีแบบงานพร้อมใช้ได้เลย” เทพวรรณกล่าว

     

    ขยายไปจัดงานที่ไม่เคยทำมาก่อน

    ปีนี้ ZAAP ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วย คือโอกาสที่จะทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จากจุดแข็งเดิมจะเน้นการจัดปาร์ตี้และคอนเสิร์ต ปีนี้สถานการณ์บีบให้ต้องรับงานทุกรูปแบบ ทำให้จะได้เห็นบริษัทออร์กาไนซ์งานวิ่ง ลานเบียร์ เทศกาลอาหาร ไปจนถึงงานเกมมิ่ง โดยอาศัยจ้างฟรีแลนซ์หรือบริษัทที่ถนัดงานรูปแบบนั้นๆ เข้ามาช่วยจัดอีเวนต์ร่วมกัน

    “เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว” เทพวรรณกล่าว “หลายคนบอกว่าต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ แต่ผมว่ามันรอไม่ได้ เราต้องทำให้เห็นว่าอีเวนต์มันจัดได้และไปได้”

    จากสถานการณ์ทั้งหมด ดูเหมือนกับว่า ZAAP จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ที่จริงบริษัทได้ผ่านจุดที่ “เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่” มาแล้ว โดยช่วงที่ไม่มีงานเลยทำให้บริษัทต้องลดขนาดองค์กรลงครึ่งหนึ่ง โชคดีที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้ว ทำให้การลดและกลับมาเพิ่มคนทำงานยังง่ายกว่าบริษัทที่จ้างพนักงานประจำจำนวนมาก

    เมื่อถามว่าถ้าสถานการณ์การจัดอีเวนต์ยังต้อง New Normal แบบนี้ไปจนถึงปีหน้า บริษัทจะยังไหวหรือไม่ เทพวรรณตอบว่า “ถ้าถามผมเมื่อเดือนที่แล้วผมอาจจะยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นตอนนี้เราคิดว่าเรารับมือไหว”

    ]]>
    1295320
    ออนไลน์ไม่ใช่ทุกอย่าง! หากทดแทนสัมผัสจริงไม่ได้ ผู้บริโภคจะกลับสู่อีเวนต์ on ground https://positioningmag.com/1285864 Tue, 30 Jun 2020 13:43:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285864 “เอ็นไวโร” วิจัยอินไซต์ผู้บริโภคช่วงเริ่มคลายล็อกดาวน์ พบว่ากิจกรรมบางส่วนจะกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิม เพราะการรับประสบการณ์ผ่านออนไลน์ยังทดแทน on ground ไม่ได้ แต่บางอย่างก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปถาวร พร้อมชี้แนวคิดผู้บริโภคยุคหลัง COVID-19 ใส่ใจสุขภาพและการเก็บออมสูงขึ้น แบรนด์ควรปรับวิธีสื่อสารใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์

    “สรินพร จิวานันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด บริษัทในเครือ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ เปิดเผยรายงานการวิจัยผู้บริโภคซึ่งสำรวจเมื่อวันที่ 1-15 มิถุนายน 2563 ตั้งคำถามว่า New Normal ที่ทุกคนพูดถึงกันจะเป็นแฟชั่นหรือเกิดขึ้นถาวร?

    โดยงานวิจัยมีการสำรวจกลุ่มประชากร 1,161 คน กระจายตัวจากทั่วประเทศ แบ่งกลุ่มเพศ 50% เพศหญิง และ 50% เพศชาย แบ่งช่วงอายุเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ 14% กลุ่มเจนเอ็กซ์ 48% เจนวาย 30% และเจนซี 8% สรุปผลงานวิจัยผู้บริโภคยุคหลัง COVID-19 ได้ดังนี้

     

    ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่แฮปปี้กับ “อีเวนต์ออนไลน์”

    สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมาคือ การจัดอีเวนต์คอนเสิร์ต สัมมนา อบรม การเรียน อาจจะปรับไปเป็นการจัดผ่านช่องทางออนไลน์แทน แต่จากการสำรวจครั้งนี้ เอ็นไวโรพบว่า มีผู้บริโภค 15% เท่านั้นที่เคยเข้าร่วมอีเวนต์ออนไลน์ และ 16% ที่เคยสมัครเรียนออนไลน์

    และในกลุ่มที่เคยเข้าร่วมเหล่านี้ มีเพียง 12% ที่พึงพอใจ และ 15% ที่ตอบว่าอีเวนต์ออนไลน์สามารถทดแทนอีเวนต์แบบ onground ได้ ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่พึงพอใจและไม่คิดว่าจะทดแทนได้

    (ที่มา : เอ็นไวโร)

    สรินพรกล่าวว่า สาเหตุที่ทดแทนไม่ได้เพราะอีเวนต์ออนไลน์ไม่ตอบโจทย์เรื่อง 5 senses หรือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส การรับประสบการณ์จึงไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

    ดังนั้นหากบริษัทหรือแบรนด์ไหนยังต้องการจะปรับไปทำอีเวนต์ออนไลน์ จึงไม่สามารถทำเพียงยกการจัดงานในรูปแบบเดิมมาถ่ายทอดผ่านหน้าจอ แต่ต้องมีอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้งานออนไลน์แตกต่าง คนละรูปแบบกับการจัดงาน on ground ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นโลกอีกใบหนึ่ง (ทั้งนี้ มุมมองของ Virtual Solution บริษัทจัดอีเวนต์ออนไลน์มองว่า ในระยะยาวอีเวนต์ออนไลน์จะกลายเป็นรูปแบบหลักของการจัดงาน หรือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ผสมผสานกับการจัดอีเวนต์ on ground สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่)

     

    ผู้บริโภคจะกลับไปอีเวนต์ on ground แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที

    อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะไม่พึงพอใจงานอีเวนต์ออนไลน์ และยังต้องการกลับไปงาน on ground แต่ผู้บริโภคถึง 69% ยังคงกังวลกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา ดังนั้นผู้บริโภคจะตัดสินใจกลับไปทำกิจกรรม on ground ต่างๆ ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ดังนี้

    • 70% พร้อม “รับประทานอาหารนอกบ้าน” ทันที
    • 44% พร้อม “ท่องเที่ยวในประเทศ” ทันที
    • 36% พร้อม “เดินงานแฟร์” ภายใน 3-6 เดือน
    • 31% พร้อม “ร่วมกิจกรรมงานวิ่ง” ภายใน 3-6 เดือน
    • 58% ไม่พร้อม “ชมกีฬาในสนาม”
    • 59% ไม่พร้อม “ดูภาพยนตร์ในโรง”
    • 66% ไม่พร้อม “ไปเที่ยวผับบาร์”
    • 66% ไม่พร้อม “ชมคอนเสิร์ต”
    • 70% ไม่พร้อม “ท่องเที่ยวต่างประเทศ”
    (ที่มา : เอ็นไวโร)

    จะเห็นได้ว่า มีกิจกรรมที่สามารถกลับสู่วิถีชีวิตปกติได้เลยคือ การรับประทานอาหารนอกบ้านและการท่องเที่ยวในประเทศ และงานที่จะทยอยกลับมาเป็นปกติเร็วๆ นี้คือ งานแฟร์สินค้าต่างๆ และงานวิ่ง ส่วนที่เหลือนั้นผู้บริโภคยังไม่พร้อม

    ทั้งนี้ สรินพรแนะนำว่าเนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 ดังนั้นงาน on ground ที่จัดควรเป็นงานขนาดเล็กแต่จัดถี่ขึ้น

    “ทุกคนในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันในการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เพราะงานควรจะจัดเล็กลงแต่จัดถี่ขึ้น สถานที่จัดงานอาจจะต้องคำนึงถึงราคาที่เหมาะสมหรือเปลี่ยนมาเป็นโมเดล profit sharing หรือคิดแพ็กเกจใหม่ๆ” สรินพรกล่าว

     

    ถ้ากิจกรรมออนไลน์ทดแทนได้ อาจเกิดขึ้นตลอดไป

    อย่างไรก็ตาม กิจกรรมออนไลน์บางอย่างก็ทดแทนการไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้เช่นกัน โดยอาจจะไม่ใช่การแทนกันโดยตรงก็ได้ แต่ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาทำอย่างอื่นแทนในช่วง COVID-19 จนกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ และละทิ้งการทำกิจกรรมแบบเก่าไป

    ตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์และการชมอี-สปอร์ตส กลายเป็นกิจกรรมมาแรง มีการดาวน์โหลดเกมใน Google Play Store เพิ่มขึ้น 25% หรือ Twitch มีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ Netflix มียอดสมัครสมาชิกเพิ่ม 22% ในไตรมาสแรกของปีนี้ (ทั้งหมดเป็นข้อมูลรวมทั่วโลก)

    นอกจากนี้ ยังมี “การช้อปปิ้งออนไลน์” ที่เพิ่มขึ้นทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเดลิเวอรี่ ออนไลน์มาร์เก็ตเพลซ กลุ่มขายของบนโซเชียล รวมถึงทีวีไดเร็คด้วย สวนทางกับร้านค้าออฟไลน์ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ตลาด ร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ที่ลดลงทั้งหมด

    สรินพรมองว่า กิจกรรมเหล่านี้อาจจะทดแทนวิถีชีวิตแบบเก่าได้ถาวร เพราะผู้บริโภคเคยชินกับการทำสิ่งใหม่ไปแล้ว

    “สตรีมมิ่งอาจจะกลายเป็นสิ่งทดแทนโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะกลุ่มเจนเอ็กซ์ถึงเบบี้บูมเมอร์ซึ่งติดบ้านมากขึ้น และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเองก็ปรับตัวเพิ่มความเร็วในการนำหนังใหม่เข้ามาฉาย ดังนั้นโรงภาพยนตร์อาจจะต้องปรับตัวในการดึงดูดผู้บริโภคมาที่โรงด้วยมุมอื่นมากกว่าการดูหนัง เช่น มีกิจกรรมพิเศษ หรือปรับไปจัดอีเวนต์อื่นๆ เพิ่มที่เข้ากับผู้บริโภคยุคนี้ เช่น แข่งขันอี-สปอร์ตส” สรินพรกล่าว

     

    “สุขภาพ” + “เก็บเงิน” = ผู้บริโภคสมถะและคิดเยอะขึ้น

    เอ็นไวโรยังสำรวจแนวคิดของผู้บริโภค พบว่าหลัง COVID-19 “เป้าหมายในชีวิต” ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือ ความต้องการ “รวย” และ “เที่ยวรอบโลก” ลดลงชัดเจน ขณะที่ความต้องการ “สุขภาพแข็งแรง” เพิ่มมากขึ้น

    สิ่งนี้ส่งผลต่อการใช้เงิน โดยผู้บริโภคเพิ่มสัดส่วน “เงินเก็บ” และ “ค่าใช้จ่ายการรักษาตัว/ประกัน” มากขึ้น และไปลดการใช้จ่ายกับ “สินค้าฟุ่มเฟือย” และ “การท่องเที่ยว”

    เป้าหมายชีวิตที่เปลี่ยนไปหลัง COVID-19 (ที่มา : เอ็นไวโร)

    86% จากที่สำรวจยังบอกด้วยว่าตนเองดู “ความจำเป็น” ก่อนซื้อมากขึ้น และ 65% ดู “ประโยชน์ที่จะได้จากสินค้า” ก่อนซื้อ เห็นได้ว่าผู้บริโภคระมัดระวังการใช้เงิน และต้องการสิ่งที่แสดงฐานะลดน้อยลง

    สรินพรกล่าวว่า ดังนั้นแบรนด์และสินค้าที่จะสื่อสารในยุคนี้ต้องเน้นไปที่ความจำเป็น ประโยชน์ใช้งาน มากกว่าการสื่อสารด้วยอารมณ์ โดยเฉพาะโปรโมชันลดราคาต่างๆ จะได้ผลมาก เพราะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าคุ้มค่า ประหยัด และสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพจะได้ปัจจัยบวก

     

    “เจนวาย-เจนซี” มีแนวโน้มใช้จ่ายมากที่สุด

    ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มเชิงลบจะไม่มีโอกาสไปเสียหมด เพราะยังมีข้อยกเว้นเมื่อเจาะไปในกลุ่มช่วงวัยต่างๆ เช่น

    • การชมภาพยนตร์ กลุ่มเจนซี 83% และกลุ่มเจนวาย 49% พร้อมกลับไปทันทีหรือกลับไปภายใน 3-6 เดือน
    • เที่ยวผับบาร์ กลุ่มเจนซี 51% และกลุ่มเจนวาย 42% พร้อมจะกลับไปทันทีหรือกลับไปภายใน 3-6 เดือน
    • ชมกีฬา กลุ่มเจนซี 67% พร้อมจะกลับไปทันทีหรือกลับไปภายใน 3-6 เดือน
    • ชมคอนเสิร์ต กลุ่มเจนซี 44% และกลุ่มเจนวาย 49% พร้อมจะกลับไปทันทีหรือกลับไปภายใน 3-6 เดือน

    เห็นได้ว่ากลุ่มเจนวายและเจนซีคือผู้บริโภคที่พร้อมจะกลับไปทำกิจกรรม on ground มากกว่ากลุ่มเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ ดังนั้น สรินพรแนะนำว่าแบรนด์สินค้าหรือบริการอาจจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายนี้ในช่วงที่โรคระบาด COVID-19 ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

    ]]>
    1285864
    ธุรกิจ “อีเวนต์” สะเทือนหนัก ยกเลิก-เลื่อน เซ่นไวรัส COVID-19 รายเล็กอ่วม หวังฟื้นปลายปี https://positioningmag.com/1266638 Mon, 02 Mar 2020 13:43:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1266638 ธุรกิจอีเวนต์สะเทือนหนัก เซ่นพิษไวรัส COVID-19 รายเล็กหมุนเงินไม่ทัน งานยกเลิก-เลื่อนจัดไปเเออัดกันในไตรมาส 3-4 หวังรัฐทุ่มงบอัดฉีดการท่องเที่ยวปลายปี “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ” วางกลยุทธ์ทำอีเวนต์ถาวรที่มีรายได้ประจำ 

    เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจจัดงานอีเวนต์ ท่ามกลางผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) นั้นค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะรายเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย เมื่อไม่มีงานเข้ามาในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ ก็ทำให้ “อยู่ยาก” รวมถึงทีมงานที่เป็นฟรีเเลนซ์งานก็จะลดลง

    “อีเวนต์ส่วนใหญ่ หรือเกือบจะทั้งหมดถูกเลื่อนจัดจากไตรมาส 1-2 ไปจัดในไตรมาส 3-4 โดยประเมินว่าตลาดธุรกิจรับจัดงานอีเวนต์ในปีนี้ จะลดลงไม่ต่ำกว่า -5% เเละหากปัญหาลากยาวทั้งปีอาจลดลงถึง 15 % จากมูลค่าตลาด 13,000-14,000 ล้านบาท” 

    เขายังมองว่าสิ่งที่น่ากังวลใจอีกอย่างคือ เมื่ออีเวนต์จำนวนมากถูกเลื่อนออกไปอัดกันในช่วงปลายปี ซึ่งเดิมก็ถือเป็นไฮซีซั่นที่ถูกจองสถานที่ไว้เต็มอยู่เเล้ว จะทำให้ตารางการจัดงานค่อนข้างแน่น หาตารางลงไม่ได้ จึงอาจจะมีบางงานจะต้องยกเลิกโดยเฉพาะ “บิ๊กอีเวนต์”  ที่หาสถานที่การจัดงานได้ยาก 

    ไม่เเรงเท่า “ต้มยำกุ้ง” หวังฟื้นได้ในช่วงปลายปี

    เมื่อถามว่าจากประสบการณ์ของ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ” ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปีเคยเจอมรสุมหนักที่สุดครั้งไหนบ้าง เกรียงกานต์ตอบว่า ธุรกิจอีเวนต์ได้รับความเสียหายที่สุดในช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เพราะตอนนั้นล้มทั้งระบบ ไม่มีใครสนใจจะว่าจ้างหรือจัดงานใดๆ ไม่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ซึ่งกว่าจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลาหลายปี 

    “หลังจากเจอช่วงเลวร้ายมากๆ เราก็เหมือนมีภูมิคุ้มกันขึ้น สำหรับผลกระทบจาก COVID-19 ครั้งนี้ยังมีความหวังที่จะฟื้นคืนได้ในช่วงปลายปี หากสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น” 

    วางกลยุทธ์ทำอีเวนต์ถาวร ที่มีรายได้ประจำ 

    ผู้บริหารอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาครัฐต้องทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) จะมีเเคมเปญกระตุ้น “การท่องเที่ยวในประเทศ” ให้ผู้คนหันมาเที่ยวในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจึงจะทำให้ธุรกิจจัดงานอีเวนต์มีโอกาสได้งานอีกครั้ง 

    สำหรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ คือจะเริ่มสร้างสรรค์อีเวนต์ใหม่ “ที่มีรายได้ประจำ” มากขึ้น อย่างนิทรรศการประจำปีหรือเเบบถาวร โดยตอนนี้มีการพัฒนาการแสดง (Illumination Showcase) อยู่ระหว่างเลือกสถานที่เช่าระยะยาว 5 ปี ลงทุน 150 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ในปลายปีนี้ 

    Photo : Index Creative Village

    นอกจากนี้ ยังจะมีอีเวนต์สร้างประสบการณ์ทานอาหารทำ Fine Dining Experience กับเชฟมิชลินสตาร์ ซึ่งจะจัดในครั้งแรกเดือน เม.ย.นี้ โดยขายบัตรให้สปอนเซอร์แล้ว 8 รอบ จำนวน 150 คน 

    “อินเด็กซ์โชคดีที่ยังไม่ส่งกระผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีช่องทางธุรกิจและบริการที่หลากหลาย ไม่ใช่การจัดอีเวนต์เพียงอย่างเดียว สัดส่วนงานส่วนใหญ่เป็นในประเทศ 90% เเละต่างประเทศ 10 % ซึ่งตอนนี้มีลูกค้าเลื่อนจัดงานไปช่วงไตรมาส 2 ราว 5-6 ราย เเต่ยังไม่มีใครยกเลิกจัดงานกับเรา

    นอกจากนี้งานที่รับรู้รายได้แน่นอน ซึ่งเป็นงานที่ทำรายได้สูงอย่าง “World Expo 2020 Dubai” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ถึง 10 เมษายน 2564 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละงาน VILLAGE OF ILLUMINATION งานไลท์ เฟสติวัลครั้งแรกในไทยใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2563 – 31 มกราคม 2564 ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายให้กับมาคึกคัก และคาดว่าจะนักท่องเที่ยวเข้าชมงานกว่า 300,000 คน ประมาณการรายได้อยู่ที่ 600 ล้านบาท 

    ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท โดยมีงานอีเวนต์ที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ตลอดทั้งปีนี้ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้รายได้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน เเม้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในช่วงต้นปี เเต่คิดว่าปลายปีจะดีขึ้นมาก ซึ่งยังคงคาดการณ์ผลประกอบการจะเติบโตสูงไว้ที่ 6-10%  (ปี2562 โต 13% รายได้รวม 1,800 ล้าน )

    บิ๊กอีเวนต์ในไทย “ยกเลิก-เลื่อน” ถ้วนหน้า 

    ล่าสุด งานใหญ่ในไทยอย่างการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก “โมโตจีพี 2020” รายการ “โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2020” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. 63 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ก็ประกาศยกเลิกเเล้วอย่างไม่มีกำหนด หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

    ด้านอีเวนต์ประจำปีของบรรดาหนอนหนังสือ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มี.ค.- 5 เม.ย. 63 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้เป็น “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์ 24 ชั่วโมง” ส่งเสริมการอ่านไปสู่การทำกิจกรรมและการขายผ่านช่องทางดิจิทัล “งานหนังสือดิ้นไปออนไลน์เต็มตัว” ในวันเเละเวลาเดิม 

    นอกจากนี้ mgronline รายงานว่ายังมีอีกหลายงานที่ยกเลิกหรือเลื่อนการจัด อาทิเช่น  “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42” ระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค. 63 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ได้เลื่อนการจัดงานออกไปไม่มีกำหนด 

    “Money Expo Hatyai 2020” มหกรรมการเงินหาดใหญ่ ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นวันที่ 13-15 มี.ค. 63 ณ หาดใหญ่ ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ ประกาศเลื่อนงานออกไปเป็นเดือน มิ.ย. 63

    ส่วนงาน “งานเดิน-วิ่ง 2020 โอลิมปิก เดย์” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 1 มี.ค. 63 ณ สนามศุภชลาศัย เลื่อนวันจัดงานออกไปเป็นวันที่ 14 มิ.ย. 63 เป็นต้น

    รวมถึงยังมีงานอีเวนต์ที่อยู่ระหว่างการรอผลสรุปว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนงาน อย่างเช่นงาน “บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์” ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.- 5 เม.ย. 63 ณ เมืองทองธานี ยังอยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทรถยนต์และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่จะเข้าร่วมแสดงงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ทางผู้จัดประกาศ “เลื่อน” อย่างเป็นทางการเเล้ว โดยกำหนดการใหม่จะจัดในวันที่ 20 เม.ย.-3 พ.ค. 

    ]]>
    1266638
    ปั้นโปรเจกต์อีเวนต์! กลยุทธ์สร้างบลูโอเชี่ยน “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ” เจาะตลาดกระเป๋าหนักตะวันออกกลาง https://positioningmag.com/1238320 Tue, 09 Jul 2019 23:05:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1238320 สถานการณ์ธุรกิจอีเวนต์ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไม่มีปัจจัยหนุนการเติบโต หลังจากก่อนหน้านั้นตลาดได้รับผลกระทบจากปัญหาชุมนุมทางการเมือง มาถึงวันนี้ภาพรวมตลาดก็ยังนิ่งอยู่ที่ 13,000-14,000 ล้านบาท ไม่ต่างจาก 5 ปีก่อน หากต้องการจุดพลุในธุรกิจนี้ คงต้องพึ่งพาเวิลด์ อีเวนต์เป็นแรงขับเคลื่อน

    เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ไทยช่วง 5 ปีนี้ แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและเติบโต มีบางปี “ติดลบ” ด้วยซ้ำ ปัจจัยที่ส่งผลและถือเป็นจุดเปลี่ยน คือสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ ทำให้การจัดงานระดับบิ๊ก อีเวนต์ มีความกังวลและลดจำนวนลงมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตไม่มาก การทำอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งจึงลดลง

    “ตลาดอีเวนต์ไทยยุคเฟื่องฟู มีบริษัทแห่เปิดจำนวนมาก และก็ปิดตัวในช่วงถดถอย ตลาดอยู่ในภาวะเรดโอเชี่ยนมาตลอด”

    เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

    ปั้น Own Project สร้างรายได้ประจำ

    กลยุทธ์การเติบโตของอินเด็กซ์ฯ คือ การสร้าง “บลูโอเชี่ยน” ในตลาดใหม่ๆ ปัจจุบันจัดโครงสร้างเป็น 3 ธุรกิจ คือ 1.ครีเอทีฟ บิสสิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ สัดส่วน 15.7% 2.มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส สัดส่วน 79.4% และ 3.กลุ่ม Own Project สัดส่วน 4.9%

    กลุ่มที่มองว่าเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน คือ Own Project ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยสร้างโปรเจกต์จัดงานประจำปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมี 4 งานประเภท “เทรดแฟร์” แบบ B2B ประจำปี ที่กัมพูชาและเมียนมา คืองาน Build & Decor และงาน FoodBev ที่เมียนมา จัดเป็นปีที่ 6 งาน Retail Sourcing ที่เมียนมา จัดเป็นปีที่ 4 และงาน Architech & Decor ที่กัมพูชา จัดเป็นปีที่ 4  แต่ละปีมียอดผู้เข้าชมงานและออกบูทเพิ่มขึ้น

    งาน กิโลรัน (KILORUN) เริ่มจัดปี 2018 งานวิ่งรูปแบบใหม่ “วิ่ง กิน เที่ยว” เส้นทางเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (The Iconic City) อีกด้วย โดยจัดเป็นรูปแบบ Asian Lifestyle Journey ปีละ 4 เมือง ปีนี้ที่ ฮานอย กรุงเทพฯ (เยาวราช) และเหลืออีก 2 เมือง ในวันที่ 22 ต.ค. ที่เชียงราย และวันที่ 15 ธ.ค. ที่ โอซาก้า ญี่ปุ่น ปี 2020 ยังเป็น 3 ประเทศเหมือนเดิม ในไทย คาดว่าจะเป็น ภูเก็ต

    ภาพจากเฟซบุ๊ก index creative village

    ในประเทศไทยยังมีงานเทรดแฟร์ด้านความงาม Bangkok Beauty Show ปีนี้จัดเป็นที่ 2 ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ค. 2562 ที่ประชุมไบเทค บางนา ปีหน้าจะนำงานเทรดแฟร์ Beauty Show ไปจัดที่กัมพูชาและเมียนมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการ “ครีเอต ดีมานด์” ในตลาดที่มีโอกาส ปัจจุบันกลุ่มสินค้าความงามทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศต่างมองโอกาสเข้าไปทำตลาดในประเภทเพื่อนบ้านที่กำลังซื้อมีแนวโน้มขยายตัวสูง

    อีก Own Project รูปแบบไลฟ์สไตล์ คือ วัดร่องขุ่นไลท์เฟส (Wat Rong Khun Light Fest) จังหวัดเชียงราย วันที่ 22 พ.ย. – 22 ธ.ค. 2562 การแสดงโชว์มัลติ-มีเดีย

    ลุยอีเวนต์ต่างประเทศเจาะตะวันออกกลาง

    ในกลุ่มธุรกิจอีเวนต์ที่ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุดของอินเด็กซ์ฯ สัดส่วน 79% งานบิ๊กอีเวนต์กลุ่มภาครัฐ ที่ได้มาแล้วคือ การสร้างไทย พาวิลเลียน ในงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020” ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 20 ต.ค. 2563 – 10 เม.ย. 2564

    นอกจากนี้ยังคว้างานใหญ่ จัดอีเวนต์งานวันกองทัพกาตาร์ ประเทศกาตาร์ เป็นการจัดงานวันเดียวมูลค่างานกว่า 120 ล้านบาท โดยจะจัดในเดือนพ.ย.นี้ โดยแข่งขันชนะบริษัทระดับโลกกว่า 10 ประเทศ จากยุโรป ปัจจุบันมีแบ็กล็อกราว 400 ล้านบาท

    หลังจากนี้จะเข้าไปแข่งขันชิงงานอีเวนต์อื่นๆ ในกลุ่มตะวันออกกลางอีก เพราะเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสูง และไอเดียสร้างสรรค์จากไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ปีนี้ อินเด็กซ์ฯ วางเป้าหมายรายได้รวม 1,800 ล้านบาท

    จุดพลุจัด “เวิลด์ อีเวนต์”

    เกรียงไกร มองว่าแนวทางผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโต ภาครัฐควรมองโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพจัด “เวิลด์ อีเวนต์” ระดับโลก โดยเฉพาะงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป”  ซึ่งมีระยะเวลาจัดงาน 6 เดือน สามารถดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หลังจากจบงานสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ยังใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีก ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ หอไอเฟล ที่สร้างขึ้นในปี 1889 จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานของ ฝรั่งเศส

    หลังจากนี้จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอภาครัฐเพื่อเข้าร่วมแข่งขันจัดงานเวิลด์อีเวนต์ โดยจังหวัดภูเก็ต สนใจที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป ปี 2027 หรือ 2028 นอกจากนี้ยังมีงานที่น่าสนใจ เช่น พืชสวนโลก ปัจจุบันกำลังเตรียมงานแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน ฟีฟ่า ยู-20 เวิลด์คัพ 2021 (FIFA U-20 World Cup).

    ]]>
    1238320
    บุพเพฯ ส่งกระแสนิยมไทยฟีเวอร์! หนุนธุรกิจอีเวนต์ กลับมาคึกคัก คาดปี 61 ทะลุ 1.32 หมื่นล้าน โต 10% https://positioningmag.com/1164550 Tue, 03 Apr 2018 11:39:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1164550 กลับมาคึกคักอีกครั้ง สำหรับธุรกิจอีเวนต์ หลังจากซบเซาไปพักใหญ่ โดยอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ 1 ในบิ๊กธุรกิจอีเวนต์ คาดการณ์ว่า ปี 2561 จะเติบโตมากกว่า 10% หรือคิดเป็นเงินราว 1.32 หมื่นล้าน

    ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาลุยทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างเต็มที่ หลังจากผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ความโศกเศร้าของประเทศไทย

    โดยทิศทางการจัดงานจะเป็นในรูปแบบของ เอนเตอร์เทนเมนต์เป็นหลัก อีกทั้งยังต้องจับตาดูกระแสนิยมไทยฟีเวอร์ที่เริ่มต้นมาจาก งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว”ต่อเนื่องถึงละครดังอย่าง บุพเพสันนิวาสที่จะยังฮอตฮิตต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บอกว่า อินเด็กซ์ฯ เอง กำลังจะมีอีเวนต์อีก 2-3 งานที่ต่อยอดจากการนำคอนเทนต์ของละครบุพเพฯ มาพัฒนาเป็นงานอีเวนต์ อีกไม่นานคงจะได้ทราบรายละเอียด

    ส่วนผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2561 อินเด็กซ์ฯ มีรายได้เติบโตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน 6% โดยผลประกอบการที่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์บ้านเมืองที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาอัดฉีดงบให้กับการจัดงานอีเวนต์มากขึ้น

    อินเด็กซ์เอง ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานใหญ่ให้กับภาครัฐอย่างงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว”ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากคนไทยอย่างล้นหลาม ตามด้วยงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 รวมถึงงานประจำปีของหน่วยงานใหญ่ต่างๆ และงานเปิดตัวสินค้าอีกกว่า 4-5 งาน

    ทิศทางในไตรมาสที่ 2 มองว่าจะยังคงเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดี อยากให้จับตาดูเมกะโปรเจกต์ปลายปี กับงานเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าการจัดงานไม่ต่ำกว่ากว่า 200 ล้านบาท โดยขณะนี้บริษัทฯ มีตัวเลขรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 700 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำรายได้ถึง 1,650 ล้านบาท.

    ]]>
    1164550