บริการส่งอาหารออนไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 27 Jun 2024 14:32:26 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ย้อนรอยเส้นทาง Robinhood แอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก พร้อมวิเคราะห์เหตุผลก่อนที่ SCBX ประกาศปิดตัวในท้ายที่สุด https://positioningmag.com/1479825 Thu, 27 Jun 2024 11:19:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479825 พาไปย้อนรอยเส้นทางของแอปพลิเคชันส่งอาหารรวมถึงบริการอื่นๆ อย่าง Robinhood โดยชูจุดเด่นว่าเป็นแอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก ก่อนในท้ายที่สุดบริษัทแม่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง SCBX จะประกาศปิดตัวแอปฯ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจไม่น้อย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา SCBX ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทางคณะกรรมการบริษัทได้แจ้งถึงการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งจะมีผลภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ซึ่งการปิดตัวแอปพลิเคชัน Robinhood ทำให้ผู้บริโภคหลายคนใจหายไม่น้อย เนื่องจากเป็นอีกแพลตฟอร์มที่สามารถสั่งอาหารหรือบริการอื่นๆ ได้

Positioning พาไปย้อนรอยแอปฯ ดังกล่าว และวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องปิดตัวลง

เปิดตัวแอปฯ เพื่อช่วยคนตัวเล็ก

ในช่วงปี 2020 บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันโรบินฮู้ด (Robinhood) โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นทางกลุ่ม SCB มองว่าเป็นโครงการ CSR เพื่อคืนกำไรให้สังคม ให้ทั้งส่วนของ คนซื้อ คนขาย และคนส่งสินค้าได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

Robinhood เกิดขึ้นจากไอเดียของ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ตอนที่ต้องกักตัวในช่วงการระบาดโควิด และต้องทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์บ่อยครั้ง และมองเห็นโอกาสว่าธนาคารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ จึงต่อยอดด้วยการระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปฯ นี้ขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนเปิดตัว

จุดเด่นสำคัญคือ Robinhood จึงไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เช่น ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารจะได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ รวมถึงยังช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย

และในช่วงเวลาดังกล่าวทางแอปฯ มองว่ามีช่องทางในการเจาะตลาดลูกค้า โดยมองว่าถ้าหากมีการสั่งอาหารที่ยอด 300 บาทขึ้นไป แอปฯ ดังกล่าวถือว่าตอบโจทย์มากกว่า

ขยายบริการ

นอกจากบริการส่งอาหารแล้ว ในปี 2022 ทาง Robinhood ได้เปิดบริการเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นบริการ จองโรงแรม บริการการท่องเที่ยว บริการจัดส่งเอกสารและพัสดุ หรือแม้แต่บริการเรียกรถ ซึ่งบริษัทได้ขยายธุรกิจเพื่อที่จะหารายได้เพิ่มเติมให้กับแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงเท่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีแผนที่จะมีการระดมทุน Series A จากนักลงทุนภายนอกด้วย รวมถึงวางเป้าในการเป็น Super App ในอาเซียน

ขณะเดียวกันทาง Robinhood เองมองว่าในเมื่อทางแอปฯ เองไม่ได้ต้องการที่จะเก็บค่า GP จากทั้งร้านค้า หรือแม้แต่คนขับ ทำให้เกิดไอเดียในการหากำไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้แอปฯ อยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาภายในแอปฯ หรือแม้แต่การปล่อยสินเชื่อ หรือการทำลีซซิ่ง มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าหากแผนการดังกล่าวเป็นไปตามคาดจะทำให้ผลประกอบการของ Robinhood นั้นกลับมามีกำไรได้ภายในปี 2025 

Robinhood Ride

การแข่งขันสูง ภายใต้อุตสาหกรรมที่เติบโตช้าลง

อย่างไรก็ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างบริการส่งอาหารภายในประเทศไทยนั้นมีความดุเดือดไม่น้อย แม้ว่าในช่วงของการแพร่ระบาดโควิดธุรกิจส่งอาหารจะได้รับความนิยมก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลจาก Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น

ถ้าหากเทียบส่วนแบ่งการตลาดในปี 2022 นั้น Robinhood มีส่วนแบ่งตลาด 6% แต่ปี 2023 กลับมีส่วนแบ่งตลาดเหลือแค่ 3% ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจส่งอาหารในไทยยังมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาคือ Shopee Food ทำให้การแข่งขันนั้นเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเทียบตัวเลขของ Momentum Works จะเห็นว่าขนาดตลาด เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยนั้นการเติบโตเริ่มช้าลง แต่ผู้เล่นรายใหญ่นั้นยังมีการแข่งขันที่ดุเดือด ไม่เพียงเท่านี้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า โดยบทวิเคราะห์ของ Bernstein ชี้ว่าอุตสาหกรรมส่งอาหารในอาเซียน อย่างเช่นในประเทศไทย (รวมถึงสิงคโปร์) นั้นเติบโตช้าลง

ปัจจัยข้างต้นยิ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมแพลตฟอร์มส่งอาหาร ส่งผลทำให้ผู้เล่นระดับรองๆ นั้นอาจไปต่อไม่ได้ภายใต้สภาวะเช่นนี้

ผู้เล่นในตลาดส่งอาหารในไทยมีหลายราย ภายใต้การเติบโต GMV ที่เริ่มโตช้าลง – ภาพจาก Shutterstock

ประกาศปิดตัว

ถ้าหากไปย้อนดูผลประกอบการของบริษัทแม่เจ้าของแอปฯ Robinhood นี้ โดยปี 2022 บริษัทมีผลขาดทุนราวๆ 1,900 ล้านบาท และปี 2023 มีผลขาดทุนราวๆ 2,100 ล้านบาท  ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้  เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ต้องปิดตัวแอปฯ ดังกล่าวลง

ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ชี้ว่า ถ้าหาก SCBX ได้เลิกกิจการของแอปพลิเคชัน Robinhood จะช่วยทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 800 ล้านบาทในปี 2024 นี้ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก UBS ยังชี้ว่าการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood คาดว่าจะมีการตั้งด้อยค่าเพียง 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2024 นี้และมองว่าการปิดตัวของแอปฯ ยังช่วยยุติการเผาเงินของบริษัท ช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ SCBX ในปี 2025 ลงได้

UBS ยังมองว่าในปี 2023 นั้น เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึง 2,900 ล้านบาท และเมื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ SCBX สามารถนำเงินไปลงทุนในส่วนอื่น หรือแม้แต่ทำให้สามารถมีเงินจ่ายปันผลได้อย่างยั่งยืนขึ้น

และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งการปิดฉากแอปฯ ส่งอาหารชื่อดังของไทย ภายใต้สภาวะอันท้าทายเช่นนี้

ที่มา – Tech In Asia, ข้อมูลจาก Momentum Works, บทวิเคราะห์จาก Bernstein, Tisco, UBS

]]>
1479825
ก้าวต่อไปของ Foodpanda ขอเป็น “ฟู้ดเดลิเวอรี่ ภูธร” มุ่งเข้าหา “ร้านอาหารเล็ก” ในชุมชน https://positioningmag.com/1305563 Thu, 12 Nov 2020 10:49:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1305563 หลังเข้ามาตีตลาดในไทยได้ 8 ปี วันนี้ฟู้ดเเพนด้า” (Foodpanda) เดลิเวอรี่ชื่อดังจากเยอรมนี ขยายให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้เป็นเจ้าเเรกเเล้ว

อย่างที่ทราบกันว่า ฟู้ดเเพนด้า มีกลยุทธ์หลักคือ Hyperlocalization ขยายไปยังต่างจังหวัดให้ได้มากที่สุด เเตกต่างจากฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่รายอื่นที่เข้ามาทำตลาดไทย โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ เเละปริมณฑลเป็นหลัก

ฟู้ดเเพนด้า เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย มาตั้งแต่ปี 2012 ตอนนั้นกระเเสเดลิเวอรี่ไม่ได้บูมเช่นปัจจุบัน บริษัทเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดไปที่เชียงใหม่ในปี 2014 เเละตอนนี้ก็ยังครองตลาดเมืองเหนือได้อย่าง
เหนียวเเน่น

การลงเล่นในสนามฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัดนั้นมีโอกาสและความท้าทายอยู่ไม่น้อย

อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่าประชากรไทยมีอยู่ราว 70 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน ดังนั้นที่เหลืออีกกว่า 60 ล้านคนคือโอกาสที่จะมาเป็นลูกค้าเรา” 

เเม้ฟู้ดแพนด้าจะให้บริการ 77 จังหวัดเเล้ว เเต่ในต่างจังหวัดก็ยังจะครอบคลุมเเค่พื้นที่ในเมืองเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งก้าวต่อไปที่บริษัทจะต้องทำให้ได้ ก็คือการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่เล็กกว่านั้นเจาะทั้งอำเภอเเละตำบลต่างๆ

อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย

ปัจจุบัน ฟู้ดเเพนด้ามีจำนวนร้านอาหารอยู่ในระบบราว 120,000 ร้าน เพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ร้าน ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา จากอานิสงส์ช่วงล็อกดาวน์จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีไรเดอร์หรือคนขับ เพิ่มขึ้นเป็นหลักเเสนคน” (จากช่วงกลางปีอยู่ที่ 90,000 คน)

บริษัทเคลมว่า ตอนนี้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหารถึงมือผู้สั่งเร็วที่สุดในบรรดาฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยที่ 19.9 นาที จากเดิมในปี 2016 ท่ีมีระยะเวลาส่งเฉลี่ย 45 นาที

ฟู้ดเดลิเวอรี่ “ต่างจังหวัด” …ไม่ง่าย 

หลังการดำเนินกลยุทธ์ Hyperlocalization มาหลายปี มองอะไรเป็นความท้าทายเเละอุปสรรคของการทำตลาดเจาะฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัดในไทย

ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า เเม้วงการนี้จะมีการเเข่งขันที่ดุเดือด เเต่ในต่างจังหวัดยังไม่มีคู่เเข่งมากนัก เป็นโอกาสที่จะไปเปิดฐานลูกค้าใหม่ โดยปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดสูงถึง 50% ของออเดอร์ทั้งหมด

เเต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องฝ่าฟันต่อไป เช่น ระยะทางของร้านอาหารกับผู้ซื้อที่ห่างกันเเละจำนวนไรเดอร์ก็มีน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เเละกรุงเทพฯ จึงทำให้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหารนานขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งผู้บริโภคต่างจังหวัดในเมืองรอง ยังไม่คุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มากนัก ส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารเเล้วทานที่ร้านเลย

ซึ่งต่อไปฟู้ดเเพนด้าจะพยายามอุดช่องว่างปัญหาเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ผ่านการโปรโมตต่างๆ จัดโรดโชว์เพิ่มการรับรู้เรื่องการใช้เเอปพลิเคชัน เเละอัดโปรโมชันส่วนลด เพื่อดึงดูดให้คนต่างจังหวัดหันมาใช้มากขึ้น

ทั้งนี้ คู่เเข่งรายใหญ่อย่าง Grab ให้บริการใน 32 จังหวัด ส่วน LINE Man WongNai เปิดให้บริการใน 14 จังหวัด , Gojek ให้บริการใน 6 จังหวัด ขณะที่น้องใหม่ Robinhood จากค่ายไทยพาณิชย์ ยังให้บริการเเค่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือจะเป็นเเอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เล็กๆ ท้องถิ่นของคนไทย

เจาะ “ร้านเล็ก” ขยาย Grocery 

จำนวนร้านอาหารในระบบของฟู้ดเเพนด้า ล่าสุดที่มีอยู่ราว 120,000 ร้านนั้น หากเเบ่งเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า กว่า 90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่

เฟลเดอร์ บอกว่า ถือเป็นจำนวนร้านเล็กที่สูงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นๆ เเต่ตลาดเมืองไทยยังมีโอกาสที่บริษัทจะขยายไปได้มากกว่านั้น เพราะยังมีร้านอาหารมากกว่าอีก 3-4 แสนแห่งที่อยู่นอกระบบรอเราอยู่

อย่างที่ทราบกันว่า ความท้าทายของร้านอาหารเล็กๆคือเมื่อเจอการหักค่าธรรมเนียมสูง เเต่ออเดอร์ต่อรายการยังน้อยกว่าเชนใหญ่ ทำให้บางร้านไม่สามารถขายผ่านเเพลตฟอร์มด้วยราคาปกติได้

สำหรับประเด็นการหักค่า GP และการจ่ายเงินร้านอาหารล่าช้านั้น ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า การหัก GP ในเรตดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้วในแง่ของการดำเนินธุรกิจ

บริษัทต้องพัฒนาเเพลตฟอร์ม ลงทุนด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ทั้งร้านอาหารที่ต้องขายได้ คนขับที่ต้องมีรายได้ เเละลูกค้าที่จะจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล เเละยังต้องช่วยผลักดันยอดขายร้านอาหารนั้นๆ ให้สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างการทำตลาดออนไลน์ให้ โดยที่ร้านอาหารไม่ต้องไปลงทุนทำเดลิเวอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

เป้าหมายต่อไปของฟู้ดเเพนด้า คือการการขยับมาส่งทุกอย่างไม่จำกัดเเค่อาหาร เเต่ครอบคลุมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างหลากหลาย เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ , ยา , เครื่องสำอาง หรือเเม้กระทั่งดอกไม้

ในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้าปล่อยฟีเจอร์ “แพนด้ามาร์ท” รับส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ตามโมเดล Quick Commerce การันตีการส่งภายใน 20 นาที นำร่องเปิด 7 โลเคชั่นในกรุงเทพฯ ต่อยอดความสำเร็จจากสิงคโปร์ที่ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 1 ปี มีการเติบโต 20-25 เท่า ได้มาปรับใช้ในไทย เป็นอีกโมเดลเพื่อ “เสริมรายได้ทางใหม่”

โดยตั้งเป้าขยาย “แพนด้ามาร์ท” ให้ในครอบคลุม 30 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดผลตอบรับค่อนข้างดี จึงได้เริ่มเปิดที่ “เชียงใหม่” ก่อนจะกระจายไปยังภาคใต้ เริ่มจาก “ภูเก็ต” เเม้ตอนนี้จะยังไม่ได้ทำรายได้ในสัดส่วนที่มากนัก เเต่เป็นอีกช่องทางธุรกิจที่จะเติบโตไปข้างหน้าอย่างเเน่นอน

pandamart

ยิ่งเเข่งดุ…ยิ่งโต 

การเเข่งขันฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยนั้น ยิ่งจะดุเดือดเเละชิงเค้กกันมากขึ้นตามกระเเสความนิยมเเละทางเลือกที่หลากหลายของผู้บริโภค

ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่มีสายป่านยาว ยังเผาเงินขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันในธุรกิจนี้ เนื่องจากต้องวางรากฐานให้ลูกค้าติดก่อนเเละค่อยหวังผลระยะยาวในอนาคต โดยในปี 2019 ฟู้ดเเพนด้าขาดทุนที่ 1,264.50 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้บริการหน้าใหม่เข้ามาไม่ขาดสาย อย่าง Robinhood ของ SCB ที่กระโดดเข้ามาร่วมสงครามนี้ ดูการชูไม่เก็บค่า GP ส่วน LINE MAN ก็ประกาศควบรวมกิจการกับสตาร์ทอัพไทยอย่าง Wongnai ด้าน Gojek ก็รีแบรนด์จาก Get ประเทศไทย

โดยภาพรวมการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยปี 2020  มีปริมาณคำสั่งอาหารต่อวันที่ 1.5 ล้านออเดอร์ นับว่าเติบโตจากปีที่เเล้วราว  6-7 เท่า ชะลอลงจากการเติบโตระหว่างปี 2018-2019 ซึ่งทำได้ที่ 8-9 เท่า

ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า เชื่อว่า ยิ่งตลาดมีการแข่งขันดุเดือดมากเท่าไหร่ตลาดยิ่งโตเเละผู้บริโภคก็ยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น ซึ่งตลาดไทยยังมีโอกาสขยายไปได้อีกมาก เเละทิศทางของธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหารก็จะเติบโตแบบต่อเนื่อง

 

 

]]>
1305563
เปิดเบื้องหลัง SCB ฉีกเเนวธนาคาร เปิดตัว Robinhood ลงศึกฟู้ดเดลิเวอรี่เเบบ “ไม่เก็บค่า GP” https://positioningmag.com/1282599 Mon, 08 Jun 2020 11:15:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282599 เปิดเบื้องหลังการฉีกกรอบธุรกิจเเบงก์ของ SCB ข้ามฟากกระโจนลงสนาม “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ทุ่ม 100 ล้านเปิดตัว “Robinhood” เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย ไม่หวั่นตลาดเเข่งดุมากช่วง COVID-19 เน้นเป็น CSR ไม่หวังกำไร ลดภาระผู้บริโภค เเก้ Pain Point ช่วยร้านค้าขายของไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

“ไอเดียนี้เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่ผมต้องสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มากินที่บ้าน แล้วเห็นว่าการสั่งอาหารออนไลน์ในเเต่ละวัน ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทยสูงขึ้นมาก ราคาเเพงขึ้น อีกทั้งร้านค้าที่กำลังเดือดร้อนอยู่เเล้วก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่า GP ถึง 30-35%…ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาว่า เราเป็นธนาคารดิจิทัลที่มีทรัพยากรเพียงพอ มีฐานลูกค้า ไม่ต้องลงทุนพันล้านเหมือนสตาร์ทอัพเจ้าอื่น เราสามารถพัฒนาส่วนนี้เพื่อช่วยสังคมได้”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ Robinhood”เอปพลิเคชั่นสั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย จากอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

ประเด็นการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม GP จากเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ในอัตราที่สูง เป็น Pain Point ที่ถูกถกเถียงในสังคมไทยอย่างมากในช่วงที่ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาการขายออนไลน์ ผู้ซื้อต้องสั่งอาหารออนไลน์เพราะออกจากบ้านลำบาก จากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดที่ทำให้เกิด New Normal การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายรูปแบบ

“เราไม่ได้คิดจะเเข่งกับใคร ไม่ได้อยากจะปั้นสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์น เเละก็ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องทำยอดเท่าไหร่ด้วย เราอยากทำให้ Robinhood เป็นเเอปฯ ที่ช่วยให้ผู้ขายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซื้อได้อาหารที่ราคาไม่บวกเพิ่ม คนขับได้รายได้จากการขนส่ง ทุกอย่างจะไม่หักอะไรเลย”

ซีอีโอ SCB ยืนยันว่า Robinhood เป็นหนึ่งใน CSR ของบริษัทที่ “จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ทั้งในช่วงนี้และต่อไป” เเละถ้าหากในอนาคตมีคนใช้จำนวนมาก แนวทางการหารายได้จะเป็นไปในทาง “เสนอสินเชื่อ” ให้ผู้ประกอบการมากกว่าที่จะหันมาหักค่า GP

สำหรับเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ในอนาคตอาจจะแยกบริษัทออกไป โดยเริ่มต้นจะมีพนักงานดูเเลราว 40-50 คน (ไม่รวมคอลเซ็นเตอร์) ถือเป็นการลงทุนที่จริงจังเเละหวังผลระยะยาว

“ตอนเอาไปเสนอบอร์ดบริหาร ก็ได้รับการสนับสนุนให้ทำเลย อีกทั้งยังถามว่าขยายไปมากกว่าฟู้ดได้ไหม ทีมงานก็ทุ่มเทช่วยกันทั้งเเรงกายเเรงใจ อยากให้เป็นอีกทางเลือกของคนไทย ทีมงานก็มีถามนะว่าเราจะใช้ชื่ออื่นอีกไหม ผมก็ขอว่าให้ใช้ชื่อ Robinhood (โรบินฮู้ด) เถอะ”

โดยชื่อ Robinhood นี้ อาทิตย์ได้เเรงบันดาลใจมากจากสตาร์ทอัพฟินเทคในต่างประเทศที่มีชื่อว่า “Robinhood” เช่นกัน ซึ่งเป็นเเพลตฟอร์มที่กำลังดิสรัปต์ธุรกิจโบรกเกอร์ ด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิชชันในการซื้อขายหุ้น

สอดคล้องกับเเนวคิดที่ได้นำมาใช้กับเเอปฯ สั่งอาหาร Robinhood ที่ชูจุดเด่นการไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านอาหาร สมัครเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ฟรี ร้านอาหารได้รับเงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดการทำธุรกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้ SCB รวมถึงในอนาคตร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วด้วย

โดย SCB ใช้เวลาในการพัฒนา Robinhood ประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งทางธนาคารได้จับมือพันธมิตรอย่าง Skootar ในการให้บริการส่งอาหาร และพร้อมจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อให้บริการเพิ่มในอนาคต คาดว่าช่วงเปิดบริการจะมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 20,000 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้อาจจะเพิ่มเป็น 40,000–50,000 แห่ง โดยเน้นให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน จากนั้นจะขยับไปหัวเมืองใหญ่เเละขยายไปทั่วประเทศ

ส่วนจำนวนเป้าหมายผู้ใช้งาน Robinhood ตอนนี้ SCB ยังไม่มีการตั้งเป้าใดๆ เเต่จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีของลูกค้า โดยหวังว่าในช่วง 3 เดือนแรกน่าจะได้รับความนิยมอย่างแน่นอน

เกิดคำถามว่า ก่อนหน้านี้ SCB ได้ร่วมมือกับ GET ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ เป็นพันธมิตรด้าน Financial Business จะเป็นการเเย่งตลาดกับพาร์ตเนอร์หรือไม่นั้น ผู้บริหาร SCB ตอบว่ามีการพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย โดยทางธนาคารไม่ได้จะทำธุรกิจเดลิเวอรี่เเข่งกับ GET แต่อย่างใด เพราะ GET ก็มีฐานลูกค้าที่เเข็งเเกร่ง มีประสบการณ์มากกว่า และในอนาคตก็สามารถร่วมมือกันได้

ด้านข้อสงสัยจากมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับ “ค่าจัดส่ง” ว่าจะคิดตามระยะทางเหมือนเจ้าอื่นหรือไม่ และถ้า Robinhood ซึ่งไม่มีนโยบายที่จะลงทุนทำ “โปรโมชั่น” จะทำให้อัตราค่าส่งเเพงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นหรือไม่นั้น

ซีอีโอ SCB ตอบว่า “ทีมงานเคยมีการดีเบตกันหนักมากในประเด็นค่าส่ง ซึ่งผู้บริโภคคนไทยมักดูที่ค่าส่งเป็นหลัก เเต่ผมเชื่อว่าเเม้เราจะไม่มีโปรโมชั่นมาอัดให้ถูกกว่าเจ้าอื่น เเต่ค่าอาหารเราคิดตามราคาจริง ไม่ได้ไปเพิ่มค่าอาหารเพื่อให้ได้ค่าส่งถูกตามโปรโมชั่นที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังนั้น Robinhood ก็จะมีการคิดตามระยะทางเหมือนกับเเอปฯ อื่น ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเเละเทียบ “ราคารวม” ทั้งหมดก่อนกดสั่งได้

“เรายืนยันว่าแนวทางการให้บริการของ Robinhood จะเป็นไปในลักษณะการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและร้านอาหาร มากกว่าการแข่งขันกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น การที่เราไม่ต้องทุ่มเงินทำโปรโมชั่น ก็ทำให้เราไม่ต้องไปเก็บค่า GP กับร้านค้า เป็นไปตามจุดประสงค์ว่าต้องการให้ประโยชน์คืนกับสังคม”

ต้องรอดูว่า Robinhood เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่ จะได้รับเสียงตอบรับอย่างไร เเละพัฒนาต่อไปในทิศทางใด เพราะครั้งนี้ SCB ย้ำชัดว่าจริงจังเเละไม่ได้มาเล่นๆ

]]>
1282599
สีส้ม ใช้กันเยอะ “foodpanda” แปลงโฉมเป็น “สีชมพู” เพิ่มความสดใสและให้แตกต่าง https://positioningmag.com/1144454 Thu, 26 Oct 2017 22:55:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1144454 ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ชื่อดัง ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) ได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ ด้วยการบอกลา “สีส้ม” ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแบรนด์มานาน มาเป็นสี ชมพู ซึ่งประจำแบรนด์ใหม่ เพื่อไปสู่ทิศทางใหม่

การรีแบรนด์ของ foodpanda ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากบริษัท Delivery Hero คู่แข่งในตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์สัญชาติเดียวกัน ได้ซื้อกิจการ foodpanda ในเดือน ธ.ค. 2016 และต่อมาได้ทำการเปลี่ยนสีส้ม มาเป็นสีชมพูแทน ส่วนสัญลักษณ์ “แพนด้า” ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะมีการปรับปรุงให้สัญลักษณ์มีความโค้งมนดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งตัวหนังสือก็ปรับใหม่ให้เข้ากัน ซึ่งทางบริษัทเชื่อว่าสัญลักษณ์ใหม่น่าจะทำให้ผู้ใช้บริการจดจำ foodpanda ได้มากขึ้น และยังเป็นการบ่งบอกว่าหลังจากนี้ foodpanda กำลังจะเดินไปสู้ทิศทางใหม่ๆ

ลอรา แคนเตอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ foodpanda บอกว่า “สีชมพู” จะทำให้แบรนด์ได้รับการจดจำในตลาดมากขึ้น เพราะสีส้มเป็นสีที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้กันค่อนข้างจะมากอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สีชมพู ยังเป็นสีประจำของ foodora บริการสั่งอาหารออนไลน์ที่อยู่ในเครือเดียวกันด้วย ซึ่งบริษัทจะรีแบรนด์ foodpanda ใน 190 เมืองจาก 12 ประเทศที่บริษัทเปิดบริการสั่งอาหารออนไลน์อยู่ รวมถึง สิงคโปร์, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนั้น foodpanda จะนำเสนอแอปรูปแบบใหม่ รวมถึงหน้าเว็บไซต์ใหม่ที่เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะเน้นปรับปรุงให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น จะมีทั้งการติดตามออเดอร์ และกำหนดเวลาที่จะส่งสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่า foodpanda จะไม่ได้เปิดเผยถึงค่าใช้จ่ายในการรีแบรนด์ครั้งนี้ แต่ แคนเตอร์ ก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนโฉม foodpanda ใหม่แบบทั้งหมดเป็น “งานช้าง” เลยก็ว่าได้ ตั้งแต่การเปลี่ยนหน้าตาของ แอป, เว็บไซต์ และ ดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งหมด จนไปถึงการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของแบรนด์ในร้านอาหารที่สิงคโปร์มากกว่า 1,500 แห่ง ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ foodpanda

foodpanda ยังต้องเปลี่ยนทั้งชุดพนักงาน, บรรจุภัณฑ์อาหาร, รถมอเตอร์ไซค์สำหรับการส่งอาหาร มากกว่า 3,000 คัน รวมไปถึงการเปลี่ยนสีกำแพงของสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ด้วย แต่การเปลี่ยนโฉมทั้งหมดจะเป็นเรื่องของรูปโฉมภายนอกของแบรนด์เท่านั้น เพราะบุคลากรของ foodpanda ยังเป็นทีมงานเดิม

และนอกเหนือจากการรีแบรนด์แล้ว foodpanda ยังจะเน้นการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะในสิงคโปร์เป็นหลัก จะมีการออกแผนการตลาด และหาพาร์ตเนอร์ในสิงคโปร์ต่อไป โดย ณ ขณะนี้ foodpanda ได้จับมือกับร้านอาหารชื่อดังในสิงคโปร์หลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น Pizza Express และ Kinara โดยจะมีการคิดเมนูใหม่ๆ เพื่อฉลองในวาระที่มีการรีแบรนด์ foodpanda ครั้งนี้ด้วย โดยอาหารจานพิเศษดังกล่าวจะมีจำหน่ายเฉพาะทาง foodpanda เป็นเวลา 2 สัปดาห์

foodpanda ยังจะร่วมจัดอีเวนต์ที่จะเป็นหนึ่งของแผนการตลาดในการปรับโฉมของบริษัทด้วย โดยในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้จะมีการจัดอีเวนต์พิเศษในลักษณะห้องปฏิบัติการนวัตกรรม ที่จะมีเชฟจากร้านอาหารชื่อดังในสิงคโปร์ 5 คน มาสร้างสรรรค์รสชาดใหม่ๆ ที่เป็นสไตล์ของแต่ละคน และ foodpanda ก็ได้จับมือกับโซเชียลมีเดีย SGAG ของทางสิงคโปร์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วย

ในสิงคโปร์ foodpanda ยังร่วมมือกับ W Communications และ Havas Media ในการซื้อ “สื่อนอกบ้าน” ด้วย ส่วนในฮ่องกงบริษัทก็เพิ่งจะมอบหมายให้ Text100 มาวางกลยุทธ์การสื่อสารให้กับบริษัท

สำหรับในไทย foodpanda เข้ามาเปิดให้บริการ ตั้งแต่ปี 2555 รวมเป็นเวลา 5 ปีเต็ม ที่ foodpanda เปิดกิจการมา และถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาบุกธุรกิจรับส่งอาหารออนไลน์ ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหาร โดยรับจัดส่งออนไลน์ให้ ค่าจัดส่งเริ่มต้น 40 บาท

ที่มา : marketing-interactive.com/foodpanda-undergoes-global-rebrand-from-orange-to-pink/

]]>
1144454