พลังงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 15 Oct 2024 06:47:13 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Google เซ็นสัญญาซื้อพลังงานจากบริษัทไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อนำมาใช้ในศูนย์ข้อมูลด้าน AI https://positioningmag.com/1494366 Tue, 15 Oct 2024 05:55:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1494366 Google (กูเกิล) ประกาศลงนามข้อตกลงซื้อพลังงานกับ Kairos Power ผู้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก (SMR) เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลนั้นพุ่งสูงขึ้น

โดย Google กล่าวว่า การซื้อพลังงานจากเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กที่ผลิตโดย Kairos Power เป็นการรลงทุนระยะยาวในธุรกิจศูนย์ข้อมูล อีกทั้ง Kairos Power มีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่ต้องสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่แบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์มีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าของ AI ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

รายงานยังระบุอีกว่า Google ไม่ได้มีการเปิดเผยเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาซื้อขายนี้แต่อย่างใด แต่มีการเผยว่า เครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กเครื่องแรกของ Google นี้ จะเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยชุดปฏิกรณ์แรกในปี 2030 กำลังไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพลังงานที่ปลอดคาร์บอน และวางแผนจะเปิดให้บริการเพิ่มเติมภายในปี 2035

ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีรายงานว่า Google มีการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปี 2019 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ศูนย์ข้อมูลต้องการพลังงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ทำให้ความต้องการในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น พลังงานนิวเคลียร์ จึงกลายเป็นแหล่งพลังงานเดียวที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ

ทั้งนี้ Google กลายเป็นบริษัทล่าสุดที่แก้ปัญหาความต้องการพลังงานไฟฟ้าสำหรับศูนย์ข้อมูล โดยเฉพาะกับงานด้าน AI ด้วยการซื้อหรือทำข้อตกลงกับโรงไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้มีทั้ง Amazon ที่ซื้อศูนย์ข้อมูลติดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และ Microsoft ที่ทำข้อตกลงให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาผลิตไฟฟ้าให้ เป็นต้น

ที่มา : CNBC

]]>
1494366
IEA เผยความต้องการพลังงานฟอสซิลทำจุดสูงสุดในปี 2030 ชี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว การเข้ามาของ EV คือจุดเปลี่ยนสำคัญ https://positioningmag.com/1449038 Tue, 24 Oct 2023 07:47:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449038 องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้เปิดเผยรายงานว่าความต้องการพลังงานฟอสซิลจะมีจุดสูงสุดในปี 2030 โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้พลังงานของโลกคือการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เติบโตลดลงลงหลังจากนี้

รายงานจาก IEA มองว่าความต้องการ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 นี้ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเวลาหลังจากนี้คือเทรนด์การใช้พลังงานสะอาด นำโดยการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็รวมถึงการใช้พลังงานจากฟอสซิลลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลง

Fatih Birol กรรมการบริหารของ IEA กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและไม่มีใครหยุดยั้งได้ ไม่ใช่คำถามว่า ‘ถ้า’ แต่เป็นเรื่องของ ‘เร็วแค่ไหน’ และเขายังกล่าวเสริมว่า รัฐบาล บริษัท และนักลงทุนจำเป็นต้องอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาด แทนที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ในรายงานชี้ว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้นผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าระบบไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดในปัจจุบัน หรือแม้แต่สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดทั่วโลกกำลังจะแตะระดับ 50% การลงทุนในโครงการฟาร์มกังหันลมทั่วโลกมูลค่ามากกว่ามูลค่าการลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากถึง 3 เท่าแล้ว

โดยรายงานดังกล่าวยังชี้ว่าปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าหลังจากนี้ ซึ่งมาจากนโยบายสนับสนุนต่างๆ ตัวอย่างที่ยกมาคือ IEA คาดว่า 50% ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปี  2030 เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นมาจากกฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ทำให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนก็เพิ่มสูงมากขึ้น โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสัดส่วนมากกว่า 50% ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน

ขณะเดียวกันก็ยังรวมถึงปัจจัยที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ความต้องการพลังงานจากฟอสซิลลดลงด้วย ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันมากถึง 2 ใน 3 ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก

มุมมองดังกล่าวของ IEA ขัดแย้งกับมุมมองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเห็นว่าความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานหลังจากปี 2030 และเรียกร้องให้มีการลงทุนเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในรายงานของ IEA ยังกล่าวอีกว่าในขณะที่สิ่งต่างๆ ยังคงอยู่ ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงสูงเกินไปที่จะบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสอีกด้วย ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะกระทบต่อสภาวะภูมิอากาศของโลกหลังจากนี้

]]>
1449038
ธนาคารโลกเตือน ราคาอาหาร-พลังงาน พุ่งครั้งใหญ่สุดรอบ 50 ปี กลุ่มยากจนกระทบหนัก https://positioningmag.com/1383142 Wed, 27 Apr 2022 10:50:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383142 ธนาคารโลก เตือนผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน จะทำให้เกิดวิกฤตราคาอาหารพลังงานพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970

โดยการหยุดชะงักในภาคการผลิตจากในพื้นที่ความขัดแย้ง จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี น้ำมันพืชเเละฝ้าย

การปรับขึ้นของราคา กำลังเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาล ครัวเรือนทั่วโลกต่างกังวลถึงวิกฤติค่าครองชีพ Peter Nagle นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุ

ครัวเรือนยากจนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องแบ่งรายได้มาใช้สำหรับค่าอาหารและพลังงานมากขึ้น

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ราคาพลังงานอาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

โดยราคาพลังงานที่จะเพิ่มมากที่สุด คือราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรป ซึ่งอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เเละคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้าและปี 2024 แต่ก็ยังจะสูงกว่าระดับราคาในปี 2021 ถึง 15% ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในวงกว้าง

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม คาดว่าราคาจะสูงสุดในปี 2021 แต่ก็ยังคงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มากโดยสินค้าเกษตรและโลหะ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในปีถัดไป

รัสเซียและยูเครน นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชหลักของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายรายการ อย่างเช่น ข้าวสาลี น้ำมันพืช และข้าวโพด

 

ที่มา : BBC 

]]>
1383142
ExxonMobil บริษัทน้ำมัน-ก๊าซยักษ์ใหญ่ ขยายโปรเจกต์นำ ‘พลังงานส่วนเกิน’ มาขุดคริปโต https://positioningmag.com/1379270 Sun, 27 Mar 2022 10:40:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379270 หลังจาก ‘ExxonMobil’ บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดตัวโครงการทดลองนำพลังงานส่วนเกินไปใช้ในการขุดคริปโตเคอร์เรนซีเมื่อช่วงเดือนม..ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเตรียมขยายการดำเนินงานไปอีก 4 ประเทศ ได้เเก่ ไนจีเรีย อาร์เจนตินา กายอานาและเยอรมนี

Bloomberg รายงานว่า ExxonMobil ได้ทำสัญญากับ Crusoe Energy เพื่อนำพลังงานส่วนเกินจากบ่อน้ำมันในรัฐ North Dakota ไปใช้ในการขุดสกุลเงินดิจิทัลอย่าง ‘Bitcoin’ 

โดยโครงการดังกล่าวใช้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกว่า 18 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน คิดเป็นราว 0.4% ของ ExxonMobil ที่ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ราว 158 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำนักข่าว Cointelegraph รายงานว่า เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ConocoPhillips ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันและก๊าซ ก็ได้ทำโปรแกรมขายพลังงานส่วนเกินไปยังบุคคลที่สามที่เป็นเหล่านักขุด Bitcoin ด้วย

ทั้งนี้ ตามปกติเเล้วการขนส่งก๊าซธรรมชาติจะต้องใช้ท่อนำส่ง ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตจำนวนมหาศาลได้อย่างปลอดภัยเสมอไป ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงมักถูกบังคับให้ต้องเผาผลาญก๊าซส่วนเกินหรือระบายออกไปในอากาศ

Danielle Fugere ประธานกลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม As You Sow มองว่า การนำพลังงานส่วนเกินเหล่านี้ไปใช้ในการขุดคริปโตเคอร์เรนซี ยังดีกว่าจะปล่อยให้เป็นของเสีย

ข้อมูลของ Argus Media ระบุว่า ในเดือนก.. ปี 2021 Crusoe Energy มีเหมืองขุด Bitcoin ที่นำพลังงานส่วนเกินมาใช้กว่า 60 เเห่งในพื้นที่ 4 รัฐในสหรัฐฯ ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางไปยังการขุดคริปโตฯ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 63% (เทียบกับหากต้องปล่อยให้เป็นของเสียเหมือนสมัยก่อน)

 

ที่มา : cointelegraph , Coindesk 

]]>
1379270
โอกาสตลาดผันผวน เเนะสะสมหุ้นสหรัฐฯ-ยุโรป เน้นกลุ่ม Quality growth รับโลกฟื้นตัว https://positioningmag.com/1355586 Thu, 07 Oct 2021 13:23:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355586 SCB CIO เเนะนักลงทุนจับโอกาสตลาดผันผวน สะสมหุ้นสหรัฐฯ -ยุโรป รับตลาด DMs ฟื้นตัวได้ดีหลังวิกฤตโควิด เน้นกลุ่ม Quality growth หุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจจากเเผนกระตุ้นจากรัฐบาลใหม่ ส่วนหุ้นจีนยังมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐ โซนตลาดอาเซียน เวียดนามยังเด่นมีหวังฟื้นตัวได้ดี ส่วนหุ้นไทยยังติดลบมองเป็น slightly negative 

ในงานสัมมนา Business of the Future’ มีการวิเคราะห์เเนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จังหวะลงทุนในช่วงตลาดผันผวน เเละโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ พร้อมประเมินอนาคต 3 ธุรกิจโลกยุคใหม่ กับทิศทาง ESG การลงทุนเพื่ออนาคต โดยมีประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

ตลาด DMs ฟื้นก่อนใคร 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลกว่า จะแตกต่างกันเเละจะนำไปสู่การทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกันด้วย

โดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เริ่มมีความแตกต่างมากยิ่งขึ้น โดยประเทศในกลุ่ม Developed Markets (DMs) เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ ที่เริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงิน โดยชะลอการเข้าซื้อพันธบัตร (QE tapering) และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามความพร้อมของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Emerging Markets ผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและความผันผวนของกระแสเงินทุน (fund flows)

สำหรับนโยบายการคลังการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา “มีต้นทุนสูง” สะท้อนจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นค่อนข้างเร็วในหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงที่แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่น่าจะใช้เวลาพอสมควรในการชะลอลง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในกลุ่ม DMs ในระยะข้างหน้าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (real yields) จะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต

“ดังนั้นผลกระทบต่อ valuation หุ้นกลุ่ม Quality growth อยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังได้รับแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด”

ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักของหุ้นกลุ่ม  Quality growth คือ ผลกระทบจากการขึ้นภาษี และการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risks) แต่คาดว่าการขึ้นภาษีของภาครัฐ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ อาจทำได้ไม่มากเท่ากับที่ประกาศไว้ เนื่องจากการทำมาตรการโครงสร้างพื้นฐานอาจมีการลดขนาดให้เล็กลง

สำหรับหุ้นกลุ่มอื่นๆ SCB CIO เชื่อว่าการมีหุ้นในกลุ่ม Value ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการป้องกันความผันผวนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการขยับขึ้นเร็ว

สะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ – ยุโรป เน้นจับกลุ่ม Quality growth 

ด้านจัดสรรการลงทุน SCB CIO ประเมินว่า กลุ่ม Developed markets  มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี หรือ หดตัวน้อยในช่วงวิกฤต ทำให้มีการฟื้นตัวของกำไรและความสามารถในการทำกำไรในระยะข้างหน้าของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่าตามไปด้วย

“ในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน นับเป็นโอกาสที่ดี ในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม  Quality growth ที่ยังมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” 

นอกจากนี้ หุ้นญี่ปุ่น ก็มีความน่าสนใจ จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาด DMs อื่นๆ

ส่วนการลงทุนในจีน ยังคงมุมมองตลาดหุ้น A-Share ที่ neutral จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน เช่น นโยบาย  dual circulation และ common prosperity และคงมุมมองตลาดหุ้นจีน H- Share ที่ slightly negative เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ค่อนข้างมาก 

เวียดนามมีหวังฟื้นตัวได้ดี ส่วนหุ้นไทย slightly negative

สำหรับตลาดหุ้นอาเซียน เวียดนามยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจและผลประกอบการ จะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3/2021 แต่ตลาดหุ้นได้สะท้อนการรับรู้ไปบ้างแล้ว โดยในระยะข้างหน้า น่าจะมีการฟื้นตัวได้ของภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงต่อสายพันธุ์เดลตา ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้  

“ส่วนตลาดหุ้นไทย มองเป็น slightly negative จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่เสี่ยงถูกปรับลดลง และความตึงตัวของ valuation เมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนอื่น” 

โดยมองค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เเละให้น้ำหนักไปทาง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านราคาน้ำมัน ปรับมุมมองเป็น Neutral จากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง และแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น รวมถึงการหันมาใช้น้ำมันมากขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ ยังมีมุมมอง slightly negative สำหรับทองคำที่จะได้รับผลกระทบจาก QE tapering และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (real yields) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และสำหรับ Asian REITs ที่การปิดเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้    

หลังโควิด : 3 ธุรกิจรับโลกยุคใหม่

ด้านมุมมองต่อการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Transformation ปัจจุบันเห็นว่ามี 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ที่มาพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ให้ข้อมูลว่า 

ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Fintech)

เทรนด์การลงทุนใน Fintech กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก ทำให้กระแสการลงทุนในบริษัท Fintech ใน Centralized และ Decentralized Finance เติบโตอย่างรวดเร็ว

SCB CIO มองว่าการขยายตัวของกระแส Fintech ที่ครอบคลุมและต่อยอดออกไปในหลายอุตสาหกรรม และการมาถึงของ Decentralized Finance การขยายตัวของบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน

“พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะทำให้รูปแบบธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต และเปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Fintech และ Blockchain ได้อย่างมาก” 

ธุรกิจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

การใช้งานอินเทอร์เน็ตและระบบออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลายในทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สำคัญ เช่น แบรนด์ ความสัมพันธ์กับลูกค้า นวัตกรรม และข้อมูลความลับทางการค้า ซึ่งผลกระทบด้านลบจากการถูกละเมิดและการโจมตีทางไซเบอร์จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทโดยตรง

SCB CIO มองว่า การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทและองค์กรทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งในโอกาสการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตและเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสหรือมัลแวร์ (Anti-Virus/Anti-Malware) การยืนยันตัวตน (Authentication) และการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption)

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน – รถยนต์ไฟฟ้า- การกักเก็บพลังงาน (Renewable Energy & EV & Energy Storage)

จากกระแสการลดภาวะโลกร้อนสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทั่วโลก รวมถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน แทนการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ก่อให้เกิดการเติบโตในหลายอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการกักเก็บพลังงงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนอย่างมากในมุมของห่วงโซ่การผลิตในธุรกิจ EV & Energy Storage โดยเฉพาะในบริษัทที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน

SCB CIO มองว่า นอกจากเทรนด์การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนแล้ว เทรนด์ธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่

ธุรกิจผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ (Energy Storage System Integrator: ESS) สำหรับการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ร่วมกับพลังงานหมุนเวียน การใช้ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง เป็นต้น

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Battery Manufacturing) เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนในอนาคตที่รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมุ่งหน้าสู่การลดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับธรรมชาติ

(Photo : Shutterstock)

ESG การลงทุนเพื่ออนาคต

การลงทุนหุ้นในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกธีมการลงทุนยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแกนในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนควบคู่ไปกับ 3 เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตข้างต้นได้เป็นอย่างดี

“ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหุ้นค่อนข้างมาก แต่ตามสถิติ หุ้นในกลุ่ม ESG ค่อนข้างจะเผชิญความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปในตลาดและมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงตลาดปรับฐาน” 

SCB CIO มองว่า การลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงมาตรฐาน ESG เปรียบเสมือนการลงทุนในบริษัทที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อรักษามาตรฐานอยู่ตลอด สะท้อนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนักลงทุน และมีความเสี่ยงโดยรวมต่อประเด็นการผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างน้อย

การลงทุนที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จึงมีแนวโน้มสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวมได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เม็ดเงินการลงทุนหุ้นในธีม ESG มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต

]]>
1355586
จับตาปัญหา ‘พลังงานขาดแคลน’ ครั้งใหญ่ของ ‘จีน’ ที่ส่อแววสร้างปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก https://positioningmag.com/1340064 Thu, 01 Jul 2021 07:18:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1340064 ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานครั้งใหญ่ เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และการจำกัดการใช้ถ่านหินที่เข้มงวด ส่งผลให้โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศได้รับผลกระทบถึงสามเท่า มันเป็นปัญหาที่อาจกระทบไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการค้าโลก

ปัญหาดังกล่าวนับเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เลวร้ายที่สุดในจีนนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อภัยแล้งและราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ 17 จังหวัดหรือภูมิภาคต่าง ๆ ต้องควบคุมการใช้ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าไม่เต็มใจที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมากเมื่อถ่านหินที่เผามีราคาแพง ขณะที่ปักกิ่งควบคุมต้นทุนพลังงาน ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่าย ๆ

สาเหตุหนึ่งที่ราคาถ่านหินพุ่งขึ้นมาจาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการให้จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานสำหรับประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เหมืองถ่านหินของประเทศผลิตน้อย ลงส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เหยา เป่ย หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของบริษัทโบรกเกอร์ Soochow Securities ของจีนกล่าว

มณฑลเกือบ 12 มณฑลในจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมากกว่า 10% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของจีนกำลังเจอปัญหาด้านพลังงานทำให้ บริษัทต่าง ๆ ในมณฑลต้องปิดตัวลง 2-3 วัน/สัปดาห์ เพื่อแบ่งสันปันส่วนในการใช้พลังงาน ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจคงอยู่ยาวจนถึงสิ้นปี

จีนกระทบเท่ากับโลกกระทบ

การขาดแคลนนั้นอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของจีน และอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่กำลังเจอกับวิกฤตนับตั้งแต่การระบาดเริ่มดีขึ้น โดย Yan Qin หัวหน้านักวิเคราะห์คาร์บอนของ Refinitiv กล่าวว่า “การปันส่วนพลังงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การขาดแคลนไฟฟ้าสามารถลดการผลิตในแทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิตที่สำคัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปีที่แล้วธุรกิจดังกล่าวใช้ไฟฟ้าเกือบ 70% และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัว ในปี 2564

Chengde New Material ซึ่งมีฐานอยู่ในกวางตุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บอกกับลูกค้าเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะ ปิดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 วันต่อสัปดาห์ จนกว่าจะไม่มีการปันส่วนพลังงานอีกต่อไป บริษัทคาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลง -20% หรือมากถึง 10,000 ตัน ต่อเดือน

“บริษัทสมาชิกของหอการค้ามากถึง 80 แห่งในจีนอาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลให้ระงับการดำเนินงานเป็นเวลาสองสามวันต่อสัปดาห์ บริษัทบางแห่งถึงกับเริ่มเช่าเครื่องปั่นไฟดีเซลราคาแพงเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้” Klaus Zenkel ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีนตอนใต้กล่าว

การลดกำลังการผลิตทั่วประเทศจีนยังเสี่ยงต่อการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว เพราะแค่กวางตุ้งเพียงแห่งเดียวคือศูนย์กลางการผลิตซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้าทั้งหมดของจีน ตั้งแต่ เสื้อผ้า ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

“ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า อาจยิ่งทำให้การขนส่งทั่วโลกเกิดความล่าช้า” Henning Gloystein ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรของ Eurasia Group กล่าว

ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านพลังงาน เพราะมณฑลกวางตุ้ง กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาด้านการขนส่งอยู่ในปัจจุบัน การจัดส่งที่ค้างอยู่อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเคลียร์ และนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าเทศกาลช้อปปิ้งช่วงวันหยุดสิ้นปี

ลดใช้ถ่านหินแต่พลังงานหมุนเวียนไม่พอ

Lauri Myllyvirta หัวหน้านักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ กล่าวว่า ถ่านหินยังคงมีส่วนร่วมถึง 60% ของการใช้พลังงานของประเทศ แต่รัฐบาลระวังว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้น และได้พยายามลดการใช้ถ่านหิน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการใช้ถ่านหินนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการใช้พลังงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสภาพอากาศ นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

อากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีความตึงเครียดอย่างมากในการผลิตพลังงานแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ ที่จีนกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง

Gloystein ของ Eurasia Group กล่าวว่า การนำเข้าถ่านหินมีราคาแพงมาก ซึ่งราคาได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่แล้ว นอกจากความตึงเครียดทางการค้ากับออสเตรเลียที่ปี 2019 มีส่วนสำคัญในการนำเข้าถ่านหินของจีนเกือบ 60% แต่เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ COVID-19 ในจีน ทำให้จีนหันไปนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุล แต่นั่นก็ไม่ได้เติมเต็มช่องว่าง

“สิ่งนี้ทำให้สาธารณูปโภคบางอย่างของจีนขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า และคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับอุปทานเพิ่มเติมในเวลาอันสั้นจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย”

ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการยังคงสูงในช่วงฤดูร้อน Qin จาก Refinitiv กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญที่ภาคใต้และภาคกลางของจีนที่จะต้องแบ่งปันส่วนพลังงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีทางเลือกอื่น เช่น กลับลำมานำเข้าถ่านหินของออสเตรเลีย แม้ว่านั่นจะทำให้ ปักกิ่งดูค่อนข้างอ่อนแอ

ท้ายที่สุด ทางการอาจต้องคิดที่จะปรับเป้าหมายด้านสภาพอากาศลงบางส่วน เพราะปัญหาที่จีนต้องเผชิญคือ จะตอบสนองความต้องการด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร เพราะในขณะที่จีนกำลังพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่แหล่งเหล่านั้นก็ยังไม่เสถียรเท่ากับแหล่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

Source

]]>
1340064
พิษไวรัสฉุดดีมานด์-ราคาน้ำมันดิ่ง ยักษ์พลังงาน Exxon Mobil ปลดพนักงาน 14,000 ตำแหน่ง https://positioningmag.com/1303872 Fri, 30 Oct 2020 09:50:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303872 COVID-19 สะเทือนธุรกิจพลังงาน การเดินทางที่ลดลงทั่วโลก ฉุดดีมานด์น้ำมันเเละราคาดิ่งต่อเนื่อง ล่าสุดยักษ์ใหญ่เเห่งวงการอย่าง Exxon Mobil ประกาศเเผนลดพนักงานกว่า 1.4 หมื่นคน หรือราว 15 % ของพนักงานทั่วโลก ภายใน 2 ปีนี้ 

จากสถานการณ์ที่ไม่เเน่นอน ทำให้เหล่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ที่เคยมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก ต้องหันมาลดต้นทุนขนานใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการน้ำมันที่หดหายไป

Exxon เป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐฯ ที่มีเเผนลดงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญไปเเล้วก่อนหน้านี้ เเละตอนนี้ตามมาด้วยการ “เลิกจ้าง” หลังต้องเผชิญผลกระทบทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าบริษัทอาจขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้บริษัทต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตราบใดที่ตลาดยังคงถูกกดดันจากโรคระบาด

โดยบริษัทมีเเผนจะปลดพนักงาน ราว 1.4 หมื่นคน หรือราว 15% ของพนักงานปัจจุบัน รวมถึงพนักงานสัญญาจ้างเเละผู้รับเหมาที่อาจจะต้องสูญเสียงานไปด้วย ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน การให้เกษียณอายุก่อนกำหนด เเละประเมินผลการทำงานของพนักงานรายบุคคล

ทั้งนี้ Exxon มีพนักงานประจำอยู่ทั่วโลกราว 88,300 คน ในจำนวนนี้ราว 13,300 คนเป็นพนักงานสัญญาจ้าง

การปลดพนักงานครั้งนี้ มีการประเมินว่า Exxon จะปลดพนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ 1,900 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฝ่ายธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ที่สำนักงานใหญ่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส

บริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก กำลังเผชิญผลกระทบจาก COVID-19 ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสงค์ที่ยังซบเซา ก่อนหน้านี้ RoyalDutch Shell (Shell) และ BP ได้เลิกจ้างพนักงานมากกว่า 15% ในปีนี้ เช่นเดียวกับ Chevron Corp ก็มีแผนปลดพนักงาน 4,500 – 6,750 คน คิดเป็น 10-15% ภายในปีนี้เช่นกัน

 

ที่มา : Bloomberg , Reuters 

 

]]>
1303872
เมื่อเเบตเตอรี่ “ถูกลง” รถยนต์ไฟฟ้าอาจมี “ราคาเท่า” รถใช้น้ำมัน ภายในปี 2024 https://positioningmag.com/1303491 Wed, 28 Oct 2020 11:53:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303491 ผลวิจัยของ UBS ชี้รถยนต์ไฟฟ้า อาจมีราคาเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ภายในปี 2024 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้ เเละอาจมียอดขายครองสัดส่วนตลาดรถยนต์โลกมากขึ้นถึง 40% ได้ในปี 2030 

งานวิจัยล่าสุดของ UBS ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 7 แห่งทั่วโลก

พบว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีเเนวโน้มจะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ได้ภายในปี 2024 เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่มีราคาถูกลง รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลดลงไปอีก 

โดยคาดว่าในปี 2022 ส่วนต่างที่เเพงกว่าในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ใช้น้ำมัน จะลดลงเหลือเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ (ราว 60,000 บาทต่อคัน) และต้นทุนในการผลิตรถยนต์ทั้งสองเครื่องยนต์จะใกล้เคียงกันได้ ภายในปี 2024

ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคเเห่งการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ใช้น้ำมัน) มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้งในจีนเเละเกาหลีใต้เลี่ยงที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะแบตเตอรี่มีราคาแพง โดยราคาแบตเตอรี่ คิดเป็น 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 5 ของราคารถทั้งคันเลยทีเดียว

UBS มองว่า ราคาแบตเตอรี่จะลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,000 บาท) ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)

หลังปี 2025 จะไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะเลือกซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอีกต่อไปTim Bush นักวิจัยของ UBS analyst กล่าว

เเม้ตอนนี้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีส่วนต่างที่เเพงกว่า เช่น การซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Volkswagen Golf รุ่นใหม่ ที่มีราคาประมาณ 20,280 ปอนด์ (ราว 8.2 เเสนบาท ตามราคาในอังกฤษ) ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเเรกของ Volkswagen อย่าง ID-3 จะมีราคาเริ่มต้นที่ 29,990 ปอนด์ (ราว 1.2 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ)

Jaguar Land Rover ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ออกรถยนต์ไฟฟ้า Jaguar I-Pace ในราคาที่ 64,495 ปอนด์ (ราว 2.6 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ) เเม้จะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษเเเล้ว เเต่ก็ยังสูงว่ารุ่น Jaguar F-Pace ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งราคาอนู่ที่ 44,845 ปอนด์ (ราว 1.8 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ)

เเต่ต่อไป เมื่อราคาแบตเตอรี่ลดอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดว่าผู้คนจะสามารถเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปและจีนก็กำลังเฟื่องฟู

Matthias Schmidt นักวิเคราะห์ด้านตลาดรถยนต์ มองว่า สหภาพยุโรปจะสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดได้ถึง 1 ล้านคันในปีนี้ จากตลาดรถยนต์ทั้งหมด 11 ล้านคัน

UBS ประเมินส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2025 ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะครองส่วนแบ่งการตลาดได้ 17% และในปี 2030 อาจมีส่วนแบ่งถึง 40% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก

ความต้องการเเบตเตอรี่ของเหล่าบริษัทชั้นนำเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ โดยดาวรุ่งเเห่งรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla เริ่มเจรจาลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิต “แร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลก เเละมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 46% เป็น 550,000 ตันต่อปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้บรรลุข้อตกลงกับ LG Chem ของกาหลีใต้ และ CATL ของจีนเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ของอินโดนีเซียเริ่ม “เนื้อหอม” ขึ้นมาทันที ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศของการผลิตแบตเตอรี่ ที่จะดึงดูดบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อีกหลายเจ้าเข้ามาลงทุนต่อไป

 

ที่มา : The Guardian , CleanTechnica

]]>
1303491
อุตสาหกรรม ‘พลังงาน’ อาจสูญรายได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เหตุการเดินทางที่ลดลงเพราะ COVID-19 https://positioningmag.com/1276358 Thu, 30 Apr 2020 11:26:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276358 แม้ว่า สหรัฐอเมริกา ได้กดดัน องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรนำโดย “รัสเซีย” จนสามารถทำให้บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันราว 1 ใน 5 ของกำลังการผลิตเดิม เนื่องจากความต้องการน้ำมันที่ลดลงทั่วโลกเพราะ COVID-19 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เพราะความต้องการที่ลดลง อาจทำให้บริษัทด้านพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน อาจสูญเสียรายได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

(photo: Shutterstock)

บริษัทวิจัย Rystad Energy ระบุว่า ก่อนที่ไวรัสจะเริ่มโจมตีเศรษฐกิจ บริษัทได้คาดการณ์ว่ารายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรม E&P หรืออุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ในปี 2020 จะสูงถึง 2.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่ผ่านมาทำรายได้ 2.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่หลังจากเกิดวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้การใช้งานน้ำมันลดลง จึงมีการปรับคาดการณ์ว่าปี 2020 นี้ อุตสาหกรรม E&P จะสามารถทำรายได้เพียง 1.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงไป 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ภาคพลังงานมีการหดตัวอย่างรุนแรงจนกลายเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสองในดัชนี S&P ทั้งหมด อุตสาหกรรมในขณะนี้คิดเป็นเพียง 3% ของดัชนีเมื่อเทียบกับ 15% ในทศวรรษที่แล้วและ 30% ในปี 1980”

(Photo by Laurel Chor/Getty Images)

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ในปี 2020 สหรัฐฯ ได้สูญเสียความต้องการใช้งานน้ำมันถึง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) เนื่องจากธุรกิจสำคัญในหลาย ๆ ประเทศถูกบังคับให้ต้องปิดตัวลงและประชาชนหลายล้านคนถูกกักตัวอยู่แต่บ้าน ส่งผลให้การบินในสหรัฐอเมริกาลดลง 95% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่า 60% ต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี แม้ว่าสหรัฐอเมริกาได้กดดันโอเปกให้ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงแล้วก็ตาม

Source

]]>
1276358
เเผนเเก้เกมของ “บ้านปู” หลังกำไรลด 41% จากปีก่อน รุก EV – ทุ่มซื้อเเหล่งก๊าซในสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1267320 Sat, 07 Mar 2020 06:41:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267320 ในปี 2562 ที่ผ่านมา แนวโน้ม “ธุรกิจพลังงาน” สะท้อนถึงความท้าทายจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่างๆ ทั้งการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวจากปัจจัยสภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในข่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ และการแข็งค่าของเงินบาท

บริษัทธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิกอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ เเม้จะยังมีกำไรถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็ลดลงกว่า 41% จากปีก่อน

โดยภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 ของบริษัท มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็น 21% โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลง 41% จากปีก่อนหน้า

เเละมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,329 ล้านบาท) ลดลง 66% จากปี 2561 จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินจำนวน 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,950 ล้านบาท) งบการเงินรวมจึงบันทึกขาดทุนสุทธิ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท)

“ผลขาดทุน 20 ล้านเหรียญนี่ถือว่าเราทำได้ดีเเล้ว เพราะบริษัทต้องใช้บริการเงินตราต่างประเทศถึง 10 สกุล เเละเราเป็นเงินดอลลาร์ โดยปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยเเข็งค่ามาก เเละอัตราเเลกเปลี่ยนก็ผันผวน เเต่มองว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเราเเล้ว” สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริหารบ้านปู มองแนวโน้มการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทว่า เริ่มอ่อนค่าลง จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงกว่า 1 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น

ปีนี้จึงเป็นปีที่ “บ้านปู” หวังจะพลิกกลยุทธ์ “ฟื้นกำไร” ขึ้นมา เเม้ยังต้องเจอกับจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเเละผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยบริษัทวางเเผนดำเนินธุรกิจปี 2563 ไว้ หลักๆ 3 ด้านดังนี้

ลุยซื้อเเหล่งก๊าซฯ ในสหรัฐฯ หวัง “บาร์เนตต์” คืนทุนได้ใน 6 ปี

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 62 บ้านปูได้ลงทุนเป็นจำนวน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,907 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ ทำให้บ้านปูขึ้นติดท็อป 20 กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติในอเมริกา

“การเข้าซื้อบาร์เนตต์ ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว โดยคาดการณ์ว่าสามารถคืนทุนให้บ้านปูได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี”

ซีอีโอบ้านปูบอกอีกว่า การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์นั้น อยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจ มีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ ทำให้พอร์ตของบ้านปูหลากหลายขึ้น จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ยอดขายก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แหล่งที่บ้านปูมีอยู่ทั้งบาร์เนตต์ เเละ Marcellus จะอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ราคาขายคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4 เหรียญต่อล้านบีทียู จากปี 2562 อยู่ที่ 1.38 เหรียญต่อล้านบีทียู

โดยบริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ อยู่ที่ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น สัดส่วน 90% (840 ล้านเหรียญ) จะใช้สำหรับขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามแผน ส่วนอีก 10% หรือ 90 ล้านเหรียญ จะใช้สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมืองถ่านหินต่างๆ เช่น ในออสเตรเลีย

พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตถ่านหินรวม อยู่ที่ 46.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีกำลังผลิตรวม อยู่ที่ 45.3 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายจะใกล้เคียงช่วงไตรมาส 3-4 ของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญต่อตัน

ยอดขายถ่านหินของบ้านปู เเบ่งตามรายประเทศ ในปีพ.ศ. 2562

ตั้ง “บ้านปู เน็กซ์” เน้นพลังงานสะอาด รุก EV เเละแบตเตอรี่ไฟฟ้า

สำหรับบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 7,919 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาจะดำเนินงานเป็นบริษัทหลัก (Flagship) ของกลุ่มบริษัทบ้านปู เพื่อมุ่งลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด

การดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน พัฒนาสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงาน

“ความคืบหน้าในปี 2562 เราขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับลูกค้าพรีเมียมทั่วประเทศ รวมถึงร่วมมือด้านโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และการขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมอิออน 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง”

เป้าหมายของ “บ้านปู เน็กซ์” ในปีพ.ศ. 2568

เล็งตลาดใหม่ อินเดีย-บังกลาเทศ

ปัจจุบันบ้านปูทำธุรกิจใน 10 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก โดยธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทคือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน โดยบริษัทกำลังพิจารณาถึงตลาดที่มีศักยภาพใหม่อย่าง อินเดียและบังกลาเทศ

“ธุรกิจผลิตพลังงาน เราจะตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 5.3 กิกะวัตต์เทียบเท่า ภายในอีก 5 ปี เน้นเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter”

เมื่อถามถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจพลังงานในปีนี้ สมฤดีตอบว่า อันดับเเรก คือ Covid-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ยังควบคุมได้ลำบาก เเต่เชื่อว่าเเต่ละประเทศน่าจะมีมาตรการรองรับที่ดี โดยตอนนี้ความเสี่ยงที่เชื้อเเพร่กระจายไปสู่ยุโรป ก็ส่งผลต่อความตื่นตระหนก ความคิดของนักลงทุน ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย

“โรงงานเเละเหมืองถานหินของบ้านปูในจีน ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะมีเเค่เรื่องเเรงงาน ซึ่งตอนนี้กลับมากลับมาทำงานตามปกติเเล้ว”

ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ การลดลงของราคาเเก๊สธรรมชาติเเละถ่านหิน ที่มีโดยตรงต่อรายได้ของบ้านปู เเละอันดับ 3 คือเรื่อง กำลังการผลิต “ปีที่เเล้วเราตกเป้าที่ออสเตรเลียเพราะไฟป่า เเละที่ลาวมีเเผ่นดินไหว ปีนี้เริ่มฟื้นกลับขึ้นมาเเล้ว ซึ่งเราก็ต้องมีมาตรการรองรับในจุดนี้”

“ในกรณีสถานการณ์เลวร้ายมาก เราก็มีเป้าหมายจะลดต้นทุนในเเง่ของการดำเนินงานจะสามารถรับมือได้โดยเฉพาะของบ้านปูเน็กซ์ เเละหากการระบาดดีขึ้น รัฐคงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งการใช้พลังงานก็จะเพิ่มขึ้น
ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ดีมานด์ในไตรมาส 4 ในตลาดก็น่าจะขึ้นพอสมควร”

 

*คำนวณโดยอ้างอิงอัตราเเลกเปลี่ยนที่ USD 1 : THB 31.0476 

]]>
1267320