พัฒนาตนเอง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 04 Oct 2022 06:13:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Digital Literacy’ ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง https://positioningmag.com/1402897 Mon, 03 Oct 2022 10:18:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402897 ทักษะความเข้าใจและใช้งานดิจิทัลได้ หรือ Digital Literacy กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง ทุกอุตสาหกรรมไปแล้ว ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” ในการสมัครงานอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะทำงานอะไรก็หนีไม่พ้นความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ดิจิทัลไม่มากก็น้อย

Digital Literacy ในสมัยก่อนหมายถึงต้องการพนักงานที่ส่งอีเมลเป็น พิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ได้ และมักจะเป็นแค่บางตำแหน่งที่ต้องใช้ให้เป็นและใช้คล่อง

แต่โลกทพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบัน Digital Literacy คือการมีทักษะที่จะตามโลกดิจิทัลให้ทันในวันที่การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนเซ็ปต์ของทักษะนี้จึงเป็นความสามารถที่จะเข้าใจเครื่องมือดิจิทัลทั้งหมดที่มีในออฟฟิศ ไฮบริดออฟฟิศ หรือการทำงานทางไกลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ทำงานออนไลน์ร่วมกันแบบเรียลไทม์ ระบบแอปฯ แชทในที่ทำงาน หรือเครื่องมือทำงานดิจิทัลใดๆ ที่ออฟฟิศใช้งานอยู่

การมี Digital Literacy วันนี้จึงไม่ใช่ความสามารถว่าใช้งานโปรแกรมอะไรเป็นบ้าง แต่กลายเป็น ‘mindset’ หรือทัศนคติที่จะเรียนรู้เครื่องมือใหม่ได้ตลอด ไม่ว่าจะเจอกับเทคโนโลยีอะไรที่มาพร้อมกับตำแหน่งงานนั้นๆ ก็ต้องสามารถปรับตัวให้ใช้งานมันเป็น และปรับตัวได้ต่อเนื่องถ้าบริษัทมีการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือวิธีการทำงาน

Photo : Shutterstock

“ทักษะนี้กลายเป็นทักษะสากลที่ต้องมีกันเกือบทุกคน” Ying Zhou ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านอนาคตการทำงานที่ University of Surrey ประเทศอังกฤษ กล่าว

รายงานจากรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี 2019 พบด้วยว่า 82% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์ ต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลเป็นคุณสมบัติที่ต้องมี

Zhou กล่าวว่า พนักงานที่หยุดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง “ทุกครั้งที่เทคโนโลยีถูกพัฒนา ก็จะยิ่งผลักดันให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะตาม กลายเป็นเหมือนการแข่งขันกันระหว่างการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วเท่าใด เราก็ยิ่งต้องพัฒนาทักษะตัวเองให้เร็วเท่านั้น การแข่งขันนี้จึงดันขีดจำกัดให้สูงขึ้นตลอดเวลา”

 

ทำไมทุกคนต้องมี Digital Literacy

“Digital Literacy เป็นคอนเซ็ปต์แบบกว้างๆ สิ่งนี้หมายถึงคุณสามารถทำงานกับอุปกรณ์ดิจิทัลได้ตั้งแต่งานง่ายๆ ไปถึงงานที่ซับซ้อนก็ทำได้” Zhou กล่าว “มันอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ปรินท์เอกสารใบวางบิล ใช้งาน Word และ Excel เป็น หรืองานที่ซับซ้อนกว่านั้นอย่างการดีไซน์เว็บไซต์ วิเคราะห์ดาต้า และโค้ดดิ้งโปรแกรม”

งานวิจัยในศูนย์ฯ ของ Zhou พบว่า ตำแหน่งงานที่บอกว่าต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลนั้นเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้แต่งานที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง ก็ยังต้องใช้งานดิจิทัลให้เป็นแล้ว เช่น พนักงานในโกดังสินค้า ต้องเข้าใจระบบการจัดการบนคลาวด์, แพทย์ต้องใช้ระบบพบหมอทางไกลกับคนไข้ผ่านวิดีโอคอล, ผู้รับเหมาต้องก่อสร้างโครงการและประสานงานกับคนอื่นผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะทางด้านก่อสร้าง เทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น

อาชีพแพทย์ก็ต้องปรับตัวมาใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ

“สิ่งที่เคยเป็นเหมือน ‘โบนัส’ ในการสมัครงาน ขณะนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของทุกตำแหน่งงานแล้ว” Danny Stacy หัวหน้าฝ่ายทาเลนต์อัจฉริยะของ Indeed แพลตฟอร์มจ้างงานในลอนดอน กล่าว

ยิ่งนายจ้างเริ่มหันมาทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกลได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลก็ยิ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ Digital Literacy ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะต้องใช้ซอฟต์แวร์เป็นทุกอย่างมาก่อนจะได้ทำงาน แต่ต้องมีความมั่นใจในทักษะดิจิทัลของตนเอง พร้อมที่จะ “อัปเกรด” กระตือรือร้น ยืดหยุ่น ปรับตัวที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ (และต้องทำให้ได้เร็วๆ ด้วย) รวมถึงมีทัศนคติที่ยอมรับว่าการมีอุปกรณ์ที่ถูกต้องจะทำให้การทำงานราบรื่นและพนักงานทำงานร่วมกันได้คล่องตัวกว่า

Zhou กล่าวด้วยว่า วิธีการที่พนักงานจะเรียนรู้ Digital Literacy ได้เร็วที่สุด ก็คือการเรียนรู้จากการทดลองทำและผิดพลาด การเรียนรู้จากเพื่อนพนักงานด้วยกันคือวิธีที่ดีที่สุด

Source

]]>
1402897
วิจัยพบ “คนจัดโต๊ะเป็นระเบียบ” จะทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า https://positioningmag.com/1399646 Sat, 10 Sep 2022 08:50:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399646 สภาพแวดล้อมในการทำงานมีผลสำคัญต่อวิธีการทำงานของเรา เมื่อพื้นที่รอบตัวยุ่งเหยิง เราก็จะเป็นแบบนั้นด้วย งานวิจัยพบว่าสภาวะกายภาพรอบตัวนั้นมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมของคน ส่งผลต่อเนื่องถึงการตัดสินใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่น และโต๊ะที่ไร้ระเบียบนั้นมีผลลบทำให้ความเครียดและความกังวลสูงขึ้น

เราต้องเสียเวลาทำงานอันมีค่าไปหลายนาทีแค่เพื่อหาเอกสารให้เจอบนโต๊ะที่ยุ่งเหยิง แม้แต่กับการเก็บเอกสารดิจิทัลไม่เป็นระเบียบก็ตาม ผลการสำรวจพบว่าพนักงานต้องเสียเวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อค้นหาเอกสารดิจิทัลที่ไม่รู้ว่าบันทึกไว้ตรงไหน

นั่นคือผลเสียทางตรงของความไร้ระเบียบ แต่ยังมีผลทางอ้อมตามมาด้วย ลิบบี้ แซนเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Bond University ออสเตรเลีย พบว่า สภาวะทางกายภาพรอบตัวมีผลสำคัญต่อการรับรู้ อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม กระทบต่อการตัดสินใจและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

โดยพื้นที่ที่ยุ่งเหยิงมีผลลบต่อระดับความเครียดและความกังวล และมีผลกับความสามารถในการตั้งสมาธิทำงาน การเลือกทานอาหาร หรือกระทั่งการนอนหลับ

งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะมองความเป็นระเบียบในบ้านเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วความไร้ระเบียบที่สร้างความเครียดภายในออฟฟิศนั้นสร้างความเสียหายได้เช่นกัน

 

ความยุ่งเหยิงกระทบกับสมองและการทำงาน

คุณอาจจะคิดว่าคุณไม่เป็นไรที่จะมีแฟ้มล้นตู้เก็บเอกสาร หรือมีกระดาษกองเป็นตั้งอยู่บนโต๊ะ แต่นักวิทยาศาสตร์จาก Princeton University มีงานวิจัยออกมาว่า “สมองเราชอบความเป็นระเบียบ” และเมื่อมีภาพเตือนใจให้เห็นความไร้ระเบียบอยู่บ่อยครั้ง จะลดศักยภาพในการตั้งสมาธิทำงานของเรา

พวกเขายังพบด้วยว่า เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยจัดโต๊ะให้เป็นระเบียบ พวกเขาจะมีสมาธิมากกว่าและประมวลข้อมูลการทำงานได้ดีกว่า ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพทำงานเพิ่มขึ้น

กลับไปที่ที่อยู่อาศัย งานวิจัยพบด้วยว่า บุคคลที่รู้สึกว่ามีของในบ้านเยอะเกินไป มีแนวโน้มที่จะเป็นคนชอบ “ผัดวันประกันพรุ่ง” งานวิจัยอื่นๆ ยังพบผลที่สอดคล้องกัน คือ “บ้านรก” ส่งผลให้คนใช้กลยุทธ์หลบเลี่ยงปัญหามากขึ้น ซึ่งในงานวิจัยเหล่านี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นกับที่ทำงานรกๆ ด้วย ทำให้พนักงานทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพระหว่างพักเบรก และเริ่มตั้งใจทำงานน้อยลง

ความยุ่งเหยิงยังมีผลกับสุขภาพจิต ทำให้คนเราเครียด กังวล และซึมเศร้า งานวิจัยในสหรัฐฯ ย้อนไปเมื่อปี 2009 พบว่าคุณแม่ที่อยู่ในบ้านรกๆ จะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงกว่าแม่ที่อยู่ในบ้านเป็นระเบียบ ฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับสูงจะทำให้เกิดความกังวลและซึมเศร้า

 

เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

คำตอบง่ายๆ คือ หมั่นจัดที่ทำงานให้เป็นระเบียบ อย่าปล่อยให้มีของกองทับถมขึ้นไปเรื่อยๆ หากคุณทำงานที่บ้าน ควรจะมีที่นั่งทำงานประจำเพื่อให้สิ่งของสำหรับใช้ทำงานอยู่แยกกับของใช้ในบ้าน

สำหรับการดูแลปัญหานี้เป็น “ทีม” หรือในระดับองค์กร อาจจะมีการจัด “วันทำความสะอาด” เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำพร้อมๆ กัน ช่วยสร้างความสามัคคีในทีม และดึงคนที่ไม่ชอบการทำความสะอาดให้เข้าร่วมด้วย

ส่วนองค์กรที่มีนโยบายลดใช้กระดาษ ทำเอกสารออนไลน์ อาจมีความร่วมมือกับฝ่าย IT ในการสอนจัดระเบียบเอกสารดิจิทัล และทำความเข้าใจว่าเอกสารใดที่เก็บไว้และอะไรที่ลบทิ้งได้

ทั้งนี้ งานวิจัยทุกชิ้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับ “โต๊ะทำงานรก” ไปเสียหมด เพราะเคยมีการศึกษาพบว่าโต๊ะรกทำให้ “ความคิดสร้างสรรค์” ดีกว่าคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ เพราะความเป็นระเบียบทำให้คนไม่กล้าออกจากกรอบ ดังนั้น การจัดที่ทำงานอาจจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการค้นหาความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างสมาธิ ตั้งใจทำงาน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

Source

]]>
1399646
3 วิธีคิด “หยุดเปรียบเทียบ” ตนเองกับผู้อื่น ลดความเครียด-กังวล https://positioningmag.com/1375542 Sat, 26 Feb 2022 10:06:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375542 การเปรียบเทียบหรือแข่งขันเล็กๆ กับเพื่อนร่วมงานอาจเป็นยาดีที่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้เร็ว แต่การเปรียบเทียบที่มากเกินไปกลับจะกลายเป็นผลเสีย ทำให้เกิดความเครียดและย้อนมาทำร้ายตนเองแทน ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำวิธีคิด 3 ข้อจากนักจิตวิทยาเพื่อ “หยุดเปรียบเทียบ” ตนเองกับคนอื่น บรรเทาความกังวล

เคยมีความรู้สึกเครียดจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างไหม? เพราะรู้สึกว่าเมื่อเทียบแล้วตนเองประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนอื่นที่อายุใกล้เคียงกัน ทั้งที่ถ้าคิดดูดีๆ แล้ว หน้าที่การงานที่ตนเองมีก็ดี ได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงาน และมีอนาคตเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน

“อาร์ต มาร์กแมน” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการตลาดจาก University of Texas at Austin อธิบายว่า การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นนั้นเป็น “การเปรียบเทียบทางสังคม” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของเราที่มักจะต้องการประเมินว่าเราทำได้ดีแค่ไหน

การเทียบตัวเองกับคนที่ดีกว่าเรา มักจะทำให้เรารู้สึกไม่พึงพอใจ และหากเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อให้สถานการณ์ของเราเองดีขึ้นกว่านี้ ความรู้สึกไม่พอใจนั้นจะกลายเป็นความหงุดหงิดขมขื่น

กลับกัน หากเราเทียบกับคนที่ด้อยกว่า มักจะทำให้เราพึงพอใจ (หรืออาจถึงกับสบายใจ) แต่ข้อเสียคือมันอาจจะชะลอแรงกระตุ้นที่จะทำงานให้หนักขึ้นได้

ไม่ว่าจะเป็นทางไหน การเปรียบเทียบทางสังคมอาจเป็นผลร้ายกับเราได้ (มีข้อยกเว้นบ้างคือถ้าหากคุณมีการแข่งขันอย่างเป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงานที่ความสามารถระดับเดียวกัน เมื่อเทียบกันแล้วแต่ละฝ่ายจะได้แรงกระตุ้นให้พัฒนา และทำให้ทั้งกลุ่มทำงานได้สำเร็จตามเป้า)

ถ้าหากคุณเริ่มรู้ตัวว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเริ่มเป็นผลร้าย ทำให้ชีวิตตกต่ำ นี่คือ 3 ข้อแนะนำวิธีคิดจากศาสตราจารย์มาร์กแมน เพื่อช่วยลดแรงกดดัน

 

1.มุ่งมั่นกับเส้นทางของตัวเอง
(Photo: Freepik)

ปัญหาพื้นฐานของการเปรียบเทียบทางสังคมคือ มันเป็นการยอมรับให้ชีวิตคนอื่นเข้ามากะเกณฑ์เป้าหมายของเรา ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้การเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่าเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจ ก็เพราะว่าคนคนนั้นได้บางอย่างมาในขณะที่คุณไม่มี

การไปเฝ้ามองแต่ความสำเร็จของคนอื่นนั้นก่อให้เกิดปัญหา อย่างแรกคือมันจะทำให้เราเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันและเคยมีความสุขกับมัน การได้รู้ว่าคนอื่นก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นจะทำให้เราหมดสนุกกับสิ่งที่เคยทำ ปัญหาอีกอย่างคือ ความสำเร็จของคนอื่น แม้ว่าจะดูสวยงามแค่ไหน แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข

จะเป็นประโยชน์กว่าถ้าคิดถึงสิ่งที่ทำให้ ‘ตัวเราเอง’ มีความสุขและพึงพอใจ อาจจะเขียนรายการสิ่งสำคัญๆ ที่เราอยากจะทำหรืออยากจะประสบความสำเร็จ การใช้ชีวิตที่ตรงกับความเป็นตัวเอง ตรงกับเป้าหมายของตนเองนั้นจะมีคุณค่ามากกว่า

การมุ่งมั่นกับเป้าหมายของตนเอง จะทำให้เราสร้างเส้นทางของตัวเองในชีวิตได้ เหมือนกับการ “เลือกเส้นทางผจญภัยของตัวเอง”

 

2.ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น
(Photo: Freepik)

เมื่อรู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังอิจฉาความสำเร็จของคนอื่นอยู่ จงพยายามจัดกรอบปฏิกิริยาของตัวเราเองเสียใหม่

ความอิจฉาเป็นอารมณ์ที่เรามีเมื่อใครสักคนมีหรือได้ทำในสิ่งที่คุณคาดหวังว่าตัวเราเองจะได้มาหรือได้ทำบ้าง หากเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้รางวัลที่เราอยากจะได้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่ความอิจฉาจะผลุบเข้ามา แต่แทนที่จะปล่อยอารมณ์ไว้อย่างนั้น ลองเปลี่ยนมายินดีกับเพื่อนอย่างจริงใจแทน

มีเหตุผลสองสามข้อที่ควรฝึกตัวเองให้ยินดีกับคนอื่น ข้อแรกคือ จริงๆ แล้วสถานการณ์ที่ความสำเร็จของคนอื่นจะมาขัดขวางเป้าหมายของเราเองนั้นมีน้อยมาก เหตุการณ์ที่เป็นไปได้คือเมื่อเราไปแข่งขันกีฬาแล้วจะมีแค่คนคนเดียวที่ได้เหรียญทอง แต่ในสายอาชีพการงานทั่วไป มีทางอื่นที่เดินไปเพื่อความสำเร็จได้เหมือนกัน และถ้าหากเราแสดงออกถึงความเจ็บใจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ถ้าหากเราแสดงออกถึงความยินดี คนอื่นจะคิดถึงเราในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมการงาน และเมื่อเราประสบความสำเร็จบ้าง คนอื่นก็จะยินดีกับเรากลับคืน

อีกข้อดีหนึ่งคือ นิสัยหลายๆ อย่างเป็นการฝึกจากภายนอกสู่ภายใน ในช่วงแรกๆ ที่เราฝึกยินดีกับคนอื่นอาจจะรู้สึกเหมือนไม่จริงใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นในการยินดีกับคนอื่น เพราะเราได้ฝึกการแยกแยะความสำเร็จของเขากับของเราออกจากกันแล้ว

 

3.ซาบซึ้งกับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

การจะเพิกเฉยไม่สนใจคนอื่นโดยสิ้นเชิงนั้นยากมาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้คือเปลี่ยนธรรมชาติของความรู้สึกที่มีต่อคนอื่น

วิธีที่ดีในการฝึกความคิดใหม่คือ การเขียนลิสต์รายการความรู้สึกขอบคุณหรือซาบซึ้งกับความช่วยเหลือของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่คอยดูแลเรา เคยสั่งสอนเรา หรือสนับสนุนเราในที่ทำงาน

ความรู้สึกซาบซึ้งใจจะเป็นเหมือนยาต้านการเปรียบเทียบเชิงลบทั้งหลาย เพราะความรู้สึกนี้จะคอยย้ำเตือนว่าคนรอบตัวเรานี่แหละที่มีส่วนช่วยให้เราไปสู่ความสำเร็จ

Source

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1375542
“ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้ “เข้าใจตัวเอง” ดีขึ้น วิจัยพบประสบการณ์ต่างแดนดีต่อการพัฒนาตน https://positioningmag.com/1369905 Mon, 10 Jan 2022 13:04:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369905 งานวิจัยพบการ “ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้ “รู้จักตัวเอง” ชัดเจนขึ้น บุคลิกภาพที่เข้าใจตนเองและมีความมั่นใจนี้ทำให้การตัดสินใจด้านเส้นทางอาชีพทำได้ดีกว่า คนในสังคมมองภาพลักษณ์ของตนได้ตรงตามที่เป็น

ทีมนักวิจัย 5 รายร่วมกันวิจัย พบว่าประสบการณ์การ “ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้คนคนนั้น “รู้จักตัวเอง” ดีขึ้น และนำไปสู่บุคลิกภาพที่มั่นใจ เข้าใจตนเอง ทำให้ตัดสินใจการพัฒนาเส้นทางอาชีพการงานได้อย่างมั่นคงกว่า

งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Harvard Business Review มีเป้าหมายเพื่อสำรวจว่า ประสบการณ์ต่างแดนทำให้คนเรา “เข้าใจและนิยามตนเองได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ มีความมั่นคงภายในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ” หรือไม่

ความเข้าใจตัวเองนี้ จากการวิจัยที่ผ่านๆ มามักจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี จัดการความเครียดได้ดี และทำให้ศักยภาพการทำงานดีตามไปด้วย

 

เป็นนิสัยของเราจริงๆ หรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม?

การวิจัยครั้งนี้มีการจัดทำ 6 รอบ รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมวิจัย 1,874 คน โดยหลักแล้วจะแบ่งเป็น กลุ่มที่เคยใช้ชีวิตต่างแดน 3 เดือนขึ้นไป กับ ผู้ที่ไม่เคยไปใช้ชีวิตต่างแดนหรือไปในระยะสั้นกว่า 3 เดือน และมีการกระจายกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยให้แตกต่างทั้งด้านอายุ เพศ สถานะการสมรส สถานะทางเศรษฐกิจ จนถึงประเภทบุคลิกภาพ

จากการสอบถามจะพบว่า ผู้ที่เคยไปอยู่ต่างประเทศมีความเข้าใจตนเองมากกว่าคนที่ไม่เคยไป

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นักวิจัยพบว่า การไปอยู่ต่างประเทศทำให้คนคนนั้นได้ “ใคร่ครวญตัวตนที่สะท้อนออกมาของตนเอง” ว่าส่วนไหนที่เป็นลักษณะของตัวเองจริงๆ และส่วนไหนที่สะท้อนการบ่มเพาะจากวัฒนธรรมสังคมที่ตนเติบโตมา

การไปอยู่ต่างแดนจะมีโอกาสได้ใคร่ครวญในลักษณะนี้มากกว่าคนที่ไม่เคยไป เพราะว่าเมื่ออยู่ในสังคมที่คุ้นเคยที่บ้านเกิด คนที่อยู่รอบตัวก็มักจะแสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกัน ทำให้ไม่เคยมีการตั้งคำถามว่าเราแสดงออกแต่ละอย่างออกไปเป็นเพราะตัวเราเองหรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เมื่อคนเราไปอยู่ต่างประเทศ ในวัฒนธรรมใหม่ที่มีการให้คุณค่าและมีวิถีทางสังคมต่างออกไป ก็จะยิ่งทำให้คนคนนั้นเริ่มทบทวนคุณค่าและความเชื่อที่ตัวเองยึดถือเสียใหม่ และมักจะต้องเลือกว่าจะทิ้งความเชื่อนั้นไปหรือยิ่งยึดถือความเชื่อนั้นไว้มากขึ้น

 

ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศ

ในการวิจัยนี้ มีรอบวิจัยย่อยรอบหนึ่งที่ทีมทำการสุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับ MBA (ปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ) 559 คนซึ่งมีค่าเฉลี่ยการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศของทั้งกลุ่มที่ระยะเวลา 3 ปี

การวิจัยพบว่า คนที่มีระยะเวลาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศยาวนานกว่า มีความสำคัญต่อการเข้าใจตนเองมากกว่าคนที่ไปอยู่มาแล้วหลายประเทศแต่ใช้เวลาสั้นๆ การเข้าใจตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการไปอยู่ในหลายวัฒนธรรม แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการอยู่อาศัย ซึ่งทำให้มีโอกาสเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ต้องทบทวนทำความเข้าใจตนเองมากขึ้น

 

เข้าใจตนเอง แสดงออกได้ตรงกับความเป็นตัวเอง

แล้วการเข้าใจตนเอง จะมีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร? กลุ่มนักวิจัยมีการทดสอบกับนักศึกษา MBA จำนวน 544 คน ให้มีการประเมินตนเองและประเมินเพื่อนร่วมเรียนในแง่ของบุคลิกภาพและการเข้าสังคม

Group of Business People Working on an office Desk

ผลการศึกษานี้พบว่า คนที่เคยอยู่ต่างประเทศมักจะเข้าใจตนเองได้ตรงกับที่คนอื่นมองตนเองเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการที่คนเราเมื่อเข้าใจตนเองแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงออกภาพลักษณ์นั้นให้คนอื่นเข้าใจได้เช่นกัน

การเข้าใจตนเองได้ดีนี้ยังมีประโยชน์กับการตัดสินใจด้านหน้าที่การงานด้วย ซึ่งปัจจุบันการตัดสินใจว่าจะไปต่อทางไหนดีในหน้าที่การงานของตน เป็นจุดเปลี่ยนที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ลำบาก แต่การเข้าใจตนเองได้ดีจะทำให้คนเรา “เลือกเส้นทางอาชีพ” ได้ตรงกับจุดแข็งของตนเอง และเติมเต็มคุณค่าชีวิตที่ตนต้องการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยมองว่าการศึกษานี้ควรจะต่อยอดไปในมุมอื่นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะมีสมมติฐานเช่นกันว่า การไปอยู่ต่างประเทศมักจะทำให้เกิดประสบการณ์ ‘Culture Shock’ หรือความเครียดกังวลเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่สูญเสียสัญญะและการตอบโต้ทางสังคมในแบบที่คุ้นเคย

เป็นไปได้ว่าความกังวลจาก Culture Shock หากคนคนนั้นไม่สามารถเอาชนะความกังวลนี้ได้ จะทำให้การอยู่ต่างประเทศยิ่งทำให้คนคนนั้นรู้สึกแปลกแยก และเป็นประสบการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนใจต่อคนบางคนจนไม่สามารถจะเข้าใจตนเองได้ และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเลย

(รายชื่อนักวิจัยทั้งหมด: Hajo Adam ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก Rice University, Otilia Obodaru ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก Rice University, Jackson G. Lu ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการจัดการ Sloan MIT, William Maddux ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร University of North Carolina at Chapel Hill และ Adam D. Galinsky หัวหน้าภาควิชาการจัดการ Columbia Business School)

Source

]]>
1369905
Self-Help : 3 คำแนะนำการ “บริหารสมอง” เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น https://positioningmag.com/1280900 Wed, 27 May 2020 14:18:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280900 3 คำแนะนำโดย “จิม ควิก” โค้ชพัฒนาสมองให้กับนักวิจัยบริษัท SpaceX ของ “อีลอน มัสก์” เพื่อพัฒนาให้สมองเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น บอกเลยว่าเป็นคำแนะนำง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้

“จิม ควิก” เป็นโค้ชสมองให้กับนักวิจัยในบริษัท SpaceX ของ “อีลอน มัสก์” โดยเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคนิคการอ่านให้เร็วขึ้นเพื่อพัฒนาความจำและติดสปีดการเรียนรู้ ควิกกล่าวว่า คนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา

ยิ่งในยุคที่ทุกอุตสาหกรรมและทุกตลาดงานถูกดิสรัปต์ ควิกมองว่าทุกคนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่และทักษะใหม่ไปใช้ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ปัญหาก็คือ คนจำนวนมากไม่ได้ถูกสอนทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาจากโรงเรียน และทักษะที่ขาดไปนี้คือสิ่งที่รั้งพวกเขาไว้จนไม่สามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ

โดย 3 คำแนะนำพื้นฐานสำคัญเพื่อให้สมองเรียนรู้ได้ดีขึ้นที่ควิกกล่าวถึงมีดังนี้

ปรับวิธีคิด – กำจัด ค.ล.อ. ของคุณ

สำคัญมากที่คุณจะต้องต่อสู้กับ ค.ล.อ. หรือการ “คิดลบอัตโนมัติ” ให้ได้ก่อน เพราะการคิดลบจะทำให้คุณบอกตัวเองตลอดเวลาว่าคุณเรียนรู้สิ่งใหม่ไม่ได้

“ถ้าคุณบอกตัวเองเป็นประจำว่าคุณทำไม่ได้ หรือคุณแก่เกินกว่าจะทำสิ่งนั้น หรือแม้แต่คิดว่า คุณไม่ฉลาดพอที่จะทำมัน สุดท้ายคุณก็จะไม่ลงมือทำ” ควิกกล่าวในหนังสือ Limitless ที่ช่วยสอนเทคนิคการเรียนรู้ของเขา

การกำจัด ค.ล.อ. ออกไป ควิกแนะนำว่า ทันทีที่คุณรู้สึกว่าเสียงในหัวบอกว่าคุณคงทำมันไม่ได้ ให้พูดกับตัวเองว่าคุณทำได้  “อย่าจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบที่คุณรู้อยู่แล้วว่าตัวเองทำได้ แต่ให้ขยายความคิดของตัวเองไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้” ควิกกล่าว

ในที่สุด การคิดลบอัตโนมัติจะเริ่มหมดไป และจะรื้อเอากำแพงกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ออกไปด้วย

บอกตัวเองว่า “คุณทำได้” (Photo: Paola Diaz)

กระตุ้นสมอง – กินอาหารที่มีประโยชน์

สิ่งที่คุณรับประทานมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะกับสมอง จุดศูนย์กลางการสั่งงานกล้ามเนื้อและระบบการรับรู้ทั่วร่างกาย เช่น การมองเห็น การได้ยิน ความทรงจำ การพูด และการตัดสินใจ

ดังนั้นเขาจึงแนะนำให้รับประทาน “อาหารสำหรับสมอง” อย่างน้อย 1 มื้อต่อวัน โดยอาหาร 10 อย่างเหล่านี้คือสิ่งที่เขาแนะนำ

1.อะโวคาโด – อาหารที่มีไขมันเชิงเดี่ยว ช่วยคงระดับการหมุนเวียนเลือดที่ดีต่อสุขภาพ
2.บลูเบอร์รี่ – ช่วยปกป้องสมองจากความเครียด และช่วยชะลอวัยสมอง
3.บร็อคโคลี่ – ผักที่อุดมด้วยวิตามินเค สารอาหารที่ช่วยพัฒนาความจำ
4.ไข่ – อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่จำเป็นต่อสมอง
5.ผักใบเขียว – อุดมด้วยวิตามินอี ช่วยชะลอความแก่ของสมอง
6.แซลมอน ซาร์ดีน คาเวียร์ – มีโอเมก้า-3 และกรดไขมันปริมาณมาก ช่วยชะลอวัยสมองเช่นกัน
7.ขมิ้นชัน – ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้สมองรับออกซิเจนได้ดีขึ้น
8.วอลนัต – เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอี
9.ดาร์กช็อกโกแลต – ในดาร์กช็อกโกแลตมีฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยเรื่องการจดจำ
10.น้ำ – 80% ของสมองมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการขาดน้ำจะทำให้สมองพร่าเลือน การตอบสนองจะช้าลง โดยมีการศึกษาพบว่า คนที่มีน้ำในร่างกายเพียงพอจะทำแบบทดสอบพลังสมองได้ดีกว่าคนที่ขาดน้ำ

ดื่มน้ำให้เพียงพอคือพื้นฐานสำคัญของสุขภาพสมอง (Photo: Daria Shevtsova)

วิธีฝึกการเรียนรู้ – ใช้พลังแห่งการอ่าน

เพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น คุณต้องอ่าน ควิกแนะนำว่าให้ตั้งเป้าหมายการอ่านในแต่ละวัน แม้จะเริ่มต้นตั้งแค่เพียง 10 นาทีต่อวันก็มีประโยชน์ กุญแจสำคัญคือต้องอ่านอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจจะตั้งตารางการอ่านไว้บนปฏิทินเพื่อไม่ให้ลืมการอ่านในแต่ละวันไป

เขาบอกว่า ให้ลองเลือกหนังสือที่คุณอยากจะอ่านมาตั้งนานแล้วแต่ก็ผัดวันประกันพรุ่งมาตลอด จากนั้นนำสิ่งกวนใจใดๆ ออกไปให้ห่างตัว ตั้งเวลาที่คุณกำหนด และอาจจะใช้นิ้วหรือที่คั่นหนังสือไล่ไปตามคำที่อ่านเพื่อช่วยให้สายตาจับตัวหนังสือได้ดีขึ้น

“การอ่านคือการออกกำลังกายที่ยอดเยี่ยมสำหรับความคิดของคุณ จำไว้ว่า คุณสามารถดาวน์โหลดประสบการณ์หลายทศวรรษเข้ามาในคราวเดียว เพียงแค่คุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น” ควิกกล่าว

(หมายเหตุ: CNBC รายงานในภายหลังว่า อีลอน มัสก์ กล่าวว่า แม้ว่าคำแนะนำของจิม ควิกจะมีเหตุผล แต่เขาไม่ได้เป็นโค้ชสมองประจำบริษัท SpaceX หรือ Tesla เพียงแต่เคยเข้ามาบรรยายครั้งเดียวเท่านั้น)

Source

]]>
1280900
หลับดีรับปีใหม่! ฟังเคล็ดลับ “การนอน” โดย Fitbit จากการติดตามผู้ใช้ 6 พันล้านคืน https://positioningmag.com/1258785 Mon, 30 Dec 2019 11:37:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258785 ปีใหม่นี้มานอนหลับให้ดีขึ้น ด้วยเคล็ดลับการนอนที่วิเคราะห์จากการติดตามผู้ใช้ที่สวมใส่ Fitbit 6 พันล้านคืน ผลจากการวิเคราะห์คือไม่เพียงแต่คุณควรจะนอนให้มากขึ้น แต่ต้องทำสิ่งนี้ด้วย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการายงานว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันนอนหลับไม่เพียงพอ และจากการสำรวจของ Glassdoor พบว่า พนักงาน 2 ใน 3 ในสหรัฐฯ คิดว่าตนเองสามารถทำงานได้ดีกว่านี้ หากได้นอนมากขึ้น

แม้แต่ผู้นำธุรกิจเช่น Jeff Bezos, Sheryl Sandberg, Bill Gates และ Ariana Huffington ก็กล่าวตรงกันว่า การพัฒนาคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและความสร้างสรรค์ดีขึ้นตามไปด้วย

หลายคนอาจมองว่า การที่ต้องรับผิดชอบชีวิตทั้งการทำงานและที่บ้าน ทำให้ความคิดเรื่องคุณภาพการนอนดูจะไกลเกินเอื้อม แต่ที่จริงแล้ว การเปลี่ยนสิ่งเล็กๆ เพียงอย่างเดียวจะทำให้คุณภาพการนอนของคุณเริ่มดีขึ้นทันที

สิ่งนั้นคือ การเข้านอนให้ตรงเวลาทุกคืน

คำตอบนี้มาจากผลการวิเคราะห์พฤติกรรมการนอนของผู้ใช้ Fitbit บริษัทเริ่มติดตามพฤติกรรมการนอนของลูกค้าที่สวมใส่ Fitbit ระหว่างนอนและนำข้อมูลการนอน 6 พันล้านคืนนั้นมาประมวลผล (ข้อมูลพฤติกรรมการนอนเป็นแบบนิรนาม และถูกเก็บในลักษณะชุดข้อมูลที่รวมผลแล้ว)

Bill Gates เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่กล่าวถึงการนอนช่วยสร้างคุณภาพการทำงาน โดยเขามีเคล็ดลับคือการอ่านหนังสือก่อนนอน 1 ชั่วโมง (Photo by Mike Cohen/Getty Images for The New York Times)

Fitbit พบว่า ความสม่ำเสมอของการเข้านอนคือกุญแจสำคัญ “หากช่วงเวลาเข้านอนของคุณแตกต่างกันสัก 2 ชั่วโมงภายใน 1 สัปดาห์ จะเสมือนว่าคุณได้นอนน้อยกว่าคนที่เข้านอนตรงเวลาทุกวันประมาณ 30 นาที” Yahoo Finance รายงานจากผลวิจัยนี้

ดังนั้น การอยู่ดึกในคืนวันศุกร์-เสาร์ แล้วค่อยมาเข้านอนเร็วในวันอาทิตย์ จะทำให้การนอนไม่ได้คุณภาพ พฤติกรรมแบบนี้ Karla Gleichauf นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้เรียกมันว่า “social jetlag” เพราะสภาพร่างกายจะเหมือนกับการเจ็ตแล็กหลังนั่งเครื่องบินข้ามไทม์โซน

เพราะเหตุนี้ เราจึงควรจะตั้งเวลาเข้านอนให้ตรงกันทุกคืนเพื่อให้คุณภาพการนอนดีขึ้น และควรสร้างช่วงเวลา “ไร้กังวล” ผ่อนคลายตนเองก่อนนอนประมาณ 10 นาทีเพื่อให้ทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมเข้าสู่เวลานอน มิฉะนั้นความเครียดจากเรื่องงานอาจจะผุดขึ้นมาในความคิดกลางดึกได้ โดยการผ่อนคลายนั้นอาจจะเป็นการอ่านหนังสือหรือนั่งสมาธิ นอกจากนี้ การตื่นมาออกกำลังกายยามเช้ายังช่วยให้การนอนดีขึ้นในยามค่ำคืนได้ด้วย

ได้เคล็ดลับดีๆ และทำได้ง่ายแบบนี้ไปแล้ว หลังปาร์ตี้หนักช่วงปีใหม่ เรามาก้าวเข้าสู่ปี 2020 แบบคนหลับสบายใต้ตาไม่ดำกันดีกว่า!!

Source

]]>
1258785