ราคาบ้าน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 17 Apr 2024 12:25:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ได้อีก! “ราคาบ้าน” สูงขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน “บางพลี-บางบ่อ” แชมป์ทำเลถีบตัวสูงสุดทั้งบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ https://positioningmag.com/1470250 Wed, 17 Apr 2024 10:16:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470250
  • REIC เปิดดัชนี “ราคาบ้าน” ไตรมาส 1/2567 พบว่าราคาปรับขึ้น 2.5% เป็นการปรับขึ้น 5 ไตรมาสต่อเนื่อง ปัจจัยจากต้นทุนทุกด้านสูงขึ้นทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง
  • แบ่งตามทำเลพบว่า “บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง” เป็นทำเลที่มีการปรับราคาบ้านขึ้นสูงสุดทั้งในกลุ่มบ้านเดี่ยวและกลุ่มทาวน์เฮาส์
  • ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ (บ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮาส์) ที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/ 2567 พบว่า ดัชนีมีค่าเท่ากับ 131.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีการเพิ่มติดต่อกัน 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ถึง ไตรมาส 1 ปี 2567

    ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าสาเหตุสำคัญที่มีผลให้ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายประการ เช่น ราคาที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ออกมาสู่ตลาดที่เปิดตัวโครงการในปี 2565 – 2566 มีราคาเสนอขายเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

    ราคาบ้าน
    ดัชนีราคาบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างขาย ตั้งแต่ไตรมาส 1/2560 ถึง ไตรมาส 1/2567 (ข้อมูล: REIC)
    ราคาบ้าน
    อัตราการขยายตัวของดัชนีราคาบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างขาย (YoY) ตั้งแต่ไตรมาส 1/2560 ถึง ไตรมาส 1/2567 (ข้อมูล: REIC)

    ปริมณฑลราคาขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ

    ทั้งนี้ หากแบ่งตามพื้นที่ ราคาบ้านจัดสรรไตรมาส 1/2567 ในเขตกรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่สามจังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ) มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

    และถ้าเจาะลึกประเภทสินค้าและพื้นที่ร่วมกัน รายงานชิ้นนี้พบว่า “บ้านเดี่ยว” ในเขตกรุงเทพฯ มีดัชนีราคาลดลง -0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องจากบ้านเดี่ยวราคาแพงกลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีการ “ลดราคา” เพื่อระบายสต๊อกมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง รองลงมาในโซนลาดพร้าว-บางกะปิ-วังทองหลาง-บึงกุ่ม-สะพานสูง-คันนายาว และโซนบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่

    เช่นเดียวกับ “ทาวน์เฮาส์” ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีดัชนีราคาที่ลดลง -0.1% โดยพบว่ามีการลดราคามากที่สุดในโซนมีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท รองลงมาในโซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท และโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท เพราะมีการลดราคาเพื่อระบายสต๊อกเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่โครงการยังใช้ต้นทุนเดิมเพราะเป็นโครงการเก่าตั้งแต่ปี 2564 จึงสามารถทำราคาได้

     

    บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ทำเลที่ราคาบ้านจัดสรรขึ้นสูง

    หากแบ่งตามพื้นที่ที่ “ราคาบ้านจัดสรรขึ้นสูงที่สุด” ในไตรมาส 1/2567 ทาง REIC สรุปได้ดังนี้

    “บ้านเดี่ยว”

    อันดับ 1 โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ในระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท
    อันดับ 2 โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท
    อันดับ 3 โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก ในระดับราคา 10.00 ล้านบาทขึ้นไป

    “ทาวน์เฮาส์”

    อันดับ 1 โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท
    อันดับ 2 โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท
    อันดับ 3 โซนเมืองสมุทรปราการ-พระสมุทรเจดีย์-พระประแดง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท

    ดร.วิชัยมองว่า ล่าสุดหลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท น่าจะทำให้มีการระบายซัพพลายเดิมในตลาดออกไปได้พอสมควร และหลังจากนั้นซัพพลายใหม่ที่เข้ามาเติมในตลาดน่าจะตั้งราคาที่สะท้อนต้นทุนใหม่ที่ปรับขึ้นแล้ว ทำให้ดัชนีราคาบ้านในครึ่งปีหลัง 2567 ก็น่าจะยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

    ]]>
    1470250
    อสังหาฯ กรุงเทพฯ ไตรมาส 1/66 “ราคา” ลดลง 10% ดีมานด์ตลาดซบเซาจาก “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น https://positioningmag.com/1430069 Wed, 10 May 2023 10:24:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430069 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานการสำรวจตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ ไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า ดัชนี “ราคา” อสังหาฯ ลดลง 10% QoQ ส่วนดีมานด์ความต้องการซื้อลดลง 2% QoQ สะท้อนภาพผลกระทบจาก “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น และความเข้มงวดการให้สินเชื่อของธนาคาร ในทางตรงข้าม ตลาดการเช่าที่อยู่อาศัยจึงเติบโตขึ้นเมื่อผู้บริโภคไม่พร้อมซื้อ

    เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสอสังหาริมทรัพย์ “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” จัดทำรายงานสำรวจตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ ข้อมูลจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2566

    ข้อมูลพบว่า ดัชนี “ราคา” อสังหาฯ กรุงเทพฯ ลดลงไปถึง 10% QoQ หรือลด 18% YoY ขณะที่ “ดีมานด์” ของผู้ซื้อก็มีความต้องการลดลง 2% QoQ หรือลดลง 15% YoY สะท้อนให้เห็นว่าตลาดซื้ออสังหาฯ ในกรุงเทพฯ ยังชะลอตัว

    “วิทยา อภิรักษ์วิริยะ” ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า ภาวะราคานี้คาดว่าเกิดจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการยังมีสินค้าค้างสต็อกอยู่ในมือ ทำให้ต้องจัดโปรโมชันเพื่อระบายสต็อก ทำให้ดัชนีราคาในตลาดลดลง

    สำหรับกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค มีปัจจัยสำคัญมาจากประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันหลายครั้งจนปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปีและน่าจะขึ้นอีกในอนาคต ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยเช่นกัน มีผลกระทบต่อผู้ที่กำลังผ่อนสินเชื่อบ้านหรือกำลังพิจารณาวางแผนซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อบ้าน ทำให้โอกาสซื้อของผู้บริโภคจะยิ่งน้อยลงในกลุ่มที่มีรายได้อ่อนแอ

    ด้านความต้องการซื้อหากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย ไตรมาสก่อนมีสินค้าประเภทเดียวที่ดีมานด์ยังเติบโตเล็กน้อยคือ “ทาวน์เฮาส์” ดีมานด์โต 1% QoQ ส่วนประเภทอื่นคือ “บ้านเดี่ยว” ดีมานด์ลด 3% QoQ และ “คอนโดมิเนียม” ดีมานด์ลด 2% QoQ เห็นได้ว่าความร้อนแรงของตลาดบ้านเดี่ยวที่เคยมีก่อนหน้านี้อาจจะเริ่มชะลอลงแล้ว

     

    ซื้อไม่ไหว หันมาหา “เช่า” แทน

    วิทยากล่าวต่อว่า เมื่อการซื้อที่อยู่อาศัยมีความท้าทายด้านการเงิน จึงทำให้ผู้บริโภคหาเช่าทดแทน ร่วมกับอีกเหตุผลหนึ่งคือคนยุคปัจจุบันเริ่มจะ “เช่าแทนซื้อ” เพราะต้องการความยืดหยุ่นในการย้ายที่อยู่อาศัย ดังนั้น ตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อ “เช่า” มีแนวโน้มโต เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มนักลงทุน

    สำหรับการสำรวจรอบไตรมาส 1/2566 พบว่า ดีมานด์การเช่าปรับลดลง 3% QoQ แต่เทียบกับปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้น 17% YoY โดยประเภทสินค้าที่ต้องการเช่าเพิ่มขึ้นมีประเภทเดียวคือ “ทาวน์เฮาส์” ต้องการเพิ่ม 7% QoQ ส่วน “บ้านเดี่ยว” ลดลง 8% QoQ และ “คอนโดฯ” ลดลง 3% QoQ

    ด้านดัชนีราคาเช่าก็ปรับขึ้นเล็กน้อย 3% QoQ และราคาเช่าที่เพิ่มขึ้นก็สอดคล้องกับดีมานด์ คือราคาเช่า “ทาวน์เฮาส์” ปรับขึ้น 2% QoQ ส่วน “บ้านเดี่ยว” ลดลง 6% QoQ ขณะที่ “คอนโดฯ” ราคายังทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า

     

    พื้นที่ซื้อ-เช่าที่ราคาเพิ่มสูง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกลางเมือง

    ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ แม้ดัชนีราคาซื้อที่อยู่อาศัยในภาพรวมจะลดลง แต่มีบางพื้นที่ที่ราคาเติบโตขึ้น ได้แก่

    • เขตปทุมวัน ราคาเพิ่มขึ้น 6% QoQ
    • เขตสัมพันธวงศ์ และ เขตบางคอแหลม ราคาเพิ่มขึ้น 4% QoQ
    • เขตคลองสาน เขตคลองสามวา เขตวัฒนา และ เขตหลักสี่ ราคาเพิ่มขึ้น 3% QoQ

    เช่นเดียวกัน ในกลุ่มตลาดเช่า มีบางพื้นที่ที่ราคาเช่าปรับได้มากกว่าตลาด ได้แก่

    • เขตธนบุรี และ เขตสัมพันธวงศ์ ราคาเช่าเพิ่มขึ้น 8% QoQ
    • เขตดินแดง ราคาเช่าเพิ่มขึ้น 7% QoQ
    • เขตสายไหม และ เขตประเวศ ราคาเช่าเพิ่มขึ้น 5% QoQ

    ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ มองว่าพื้นที่ที่ราคาซื้อและราคาเช่าเพิ่มขึ้นเริ่มกลับมาเป็นเขตกลางเมืองและโดยรอบกลางเมืองมากขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจากการกลับมาทำงานในเมือง ทำให้ผู้บริโภคต้องการทำเลใกล้แหล่งงานหรือเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้สะดวก

    ]]>
    1430069
    ลดลงอีก! ราคาอสังหาฯ ร่วงหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี คนดูบ้านตัดสินใจซื้อนานเกิน 1 ปี https://positioningmag.com/1333813 Tue, 25 May 2021 12:05:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333813
  • “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” เปิดข้อมูลอสังหาฯ รอบไตรมาส 1/64 พบดัชนีราคาอสังหาฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาสหรือเกือบ 4 ปี
  • ดัชนีซัพพลายปรับเพิ่มขึ้นอีกแต่ยอดขายชะลอตัว น่ากังวลในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาทซึ่งอุปทานปรับขึ้นสูง
  • ความสนใจซื้อและเช่าฟื้นตัว แต่การตัดสินใจซื้อยากขึ้น จากเดิมใช้เวลา 8 เดือน เป็น 1-2 ปี
  • อสังหาริมทรัพย์ไทยยังซบเซา ต้องรอความหวังหลังฉีดวัคซีน “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซซื้อขายอสังหาฯ ในไทยและมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เปิดเผยข้อมูลอัปเดตตลาดอสังหาฯ ไทยใน 3 ด้าน คือ ราคา ซัพพลาย และดีมานด์

    ทั้งนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เก็บข้อมูลจากในแพลตฟอร์มของตนเอง ซึ่งมีทั้งอสังหาฯ มือหนึ่งและมือสอง มีรายการประกาศหมุนเวียนประมาณ 4-6 หมื่นรายการต่อเดือน และมีผู้เยี่ยมชมมาร์เก็ตเพลซเดือนละ 3.5 ล้านราย

    ด้านราคา ไตรมาส 1/64 ดัชนีราคาปรับตัวลงอีกอยู่ที่ 190 จุด ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส หรือเกือบ 4 ปี เทรนด์ราคาเป็นขาลงมาตั้งแต่ไตรมาส 4/62 (ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19) แต่ดัชนีราคาเคยปรับขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อไตรมาส 3/63 ช่วงที่การระบาดรอบแรกคลี่คลายแล้ว ก่อนจะกลับตกลงอีกครั้ง

    หากแยกเป็นประเภทอสังหาฯ กลุ่มที่ราคาตกมากที่สุดคือ “คอนโดมิเนียม” ราคาลดลง -8% YoY และ -3% QoQ ขณะที่กลุ่มแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ราคาค่อนข้างทรงตัว

     

    ซัพพลายเพิ่มอีก กลุ่ม 1-3 ล้านบาทน่ากังวล

    ดัชนีซัพพลายไตรมาส 1/64 เพิ่มเป็น 399 จุด เพิ่มขึ้น 19% YoY หรือ 10% QoQ โดยกมลภัทรให้ความเห็นว่าในภาพรวมยังไม่ถึงจุดที่น่ากังวล และซัพพลายที่เพิ่มอาจเป็นเพราะช่วงก่อนหน้าเกิดการระบาดรอบสาม ดีเวลอปเปอร์หลายรายเริ่มกลับมาเปิดตัวโครงการตามปกติ จากที่เลื่อนมาจากปี 2563 แต่เชื่อว่าจากนี้บริษัทอสังหาฯ อาจเริ่มชะลอการเปิดโครงการใหม่เพราะเห็นเทรนด์ยอดขายที่ช้าลง และสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น

    แบ่งตามประเภทอสังหาฯ กลุ่มแนวราบมีซัพพลายที่เติบโตสูงมาก บ้านเดี่ยวเติบโต 34% YoY หรือ 12% QoQ ทาวน์เฮาส์เติบโต 37% YoY หรือ 12% QoQ ขณะที่กลุ่มคอนโดฯ เติบโตไม่สูงเท่าแต่ยังคงเพิ่มขึ้น 17% YoY หรือ 10% QoQ

    ส่วนถ้าแบ่งตามระดับราคา กลุ่มที่ซัพพลายเหลือเป็นสัดส่วนเยอะที่สุดคือกลุ่ม 5-10 ล้านบาท แต่ซัพพลายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกลุ่มต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% YoY อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มนี้มีซัพพลายค่อนข้างน้อยอยู่แล้วและความต้องการสูง กลุ่มที่น่ากังวลจึงเป็นราคา 1-3 ล้านบาทซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 23% ของตลาด มีการปรับเพิ่มขึ้นมา 47% YoY โดยที่ความต้องการอาจจะน้อยกว่ากลุ่มราคาอื่น (*วัดจากในดีดีพร็อพเพอร์ตี้ อ่านข้อมูลดีมานด์ต่อด้านล่าง)

     

    ดีมานด์ดีขึ้นแล้ว แต่การตัดสินใจซื้อช้าลง

    ในแง่ของความต้องการโดยวัดจากการคลิกเข้าชมรายการนั้นๆ (ไม่ได้สื่อถึงการตัดสินใจซื้อจริง) พบว่า เดือนพฤษภาคม 2564 มีความสนใจสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อเริ่มกลับมาสนใจอสังหาฯ แม้ว่าจะยังอยู่ท่ามกลางการระบาด

    โดย “กลุ่มราคาที่สนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด” เทียบกับเดือนก่อน ได้แก่

    • น้อยกว่า 1 ล้านบาท (+20%)
    • มากกว่า 10 ล้านบาท (+18%)
    • 5-10 ล้านบาท (+16%)
    • 1-3 ล้านบาท (+12%)
    • 3-5 ล้านบาท (+10%)

    ส่วน “กลุ่มราคาที่สนใจเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด” เทียบกับเดือนก่อน ได้แก่

    • ค่าเช่า 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน (+33%)
    • ค่าเช่ามากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน (+19%)
    • ค่าเช่า 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน (+7%)
    • ค่าเช่าน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (+5%)

    กมลภัทรชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง สามารถจ่ายค่าเช่าได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน มีความต้องการเช่าเพิ่มขึ้นสูง สวนทางกับอสังหาฯ ราคา 3-5 ล้านบาทที่กลุ่มนี้สามารถซื้อได้ กลับมีความต้องการซื้อต่ำลง สะท้อนภาพว่ากลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางยังมีกำลังซื้อที่จะใช้จ่าย แต่อาจกังวลถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เลือกจะเช่ามากกว่าลงทุนซื้อ

    ด้านการตัดสินใจซื้อโดยรวม กมลภัทรระบุด้วยว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มตัดสินใจซื้อช้าลง จากเดิมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีความต้องการซื้อบ้าน ศึกษาโครงการต่างๆ จนถึงตัดสินใจซื้อ มักจะใช้เวลาราว 8 เดือน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ปี เพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจและฐานะการเงินของตนว่าจะมั่นคงพอหรือไม่

    “ภาพรวมทั้งปีของอสังหาฯ น่าจะทรงตัวเท่ากับปีก่อนหรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อย” กมลภัทรกล่าว “ไตรมาสสองน่าจะไม่ดีไปกว่านี้ ไตรมาสสามน่าจะยังเหมือนเป็นไข้อยู่ ไตรมาสสี่จะเป็นช่วงที่เราฉีดวัคซีนไปได้มากแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจหลายประเภทฟื้นตัวได้ สำหรับอสังหาฯ อาจจะยังไม่ได้ดีดตัวในไตรมาสสี่ทันที แต่ราคาน่าจะกลับมาได้อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้”

    ]]>
    1333813
    ปาดเหงื่อ! “อสังหาฯ” ราคาติดลบ -9% กลุ่มระดับกลางถึงล่างอ่วมสุด ราคาลงต่ำกว่าปี 2559 https://positioningmag.com/1281755 Tue, 02 Jun 2020 12:08:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281755 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ประเมินตลาดอสังหาฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้ พบดัชนีราคาและซัพพลายลดลงทั้งตลาด ดีมานด์การซื้อเริ่มฟื้นแต่ตลาดเช่ายังซบเซา พร้อมคาดการณ์อนาคตท่ามกลาง COVID-19 ติดตามรายละเอียดได้ด้านล่าง

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานข้อมูลการวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 มีผลกระทบในประเทศไทย สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตลาดดังต่อไปนี้

     

    ดัชนีราคาลดต่อเนื่อง ตลาดแมสอ่วมสุด

    ดัชนีราคาลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ โดยราคาอสังหาฯ ไตรมาสนี้ลดลง -1% QoQ และ -9% YoY สะท้อนภาพวิกฤต COVID-19 ซ้ำเติมภาคธุรกิจที่เริ่มแย่ลงมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62

    หากแบ่งตามกลุ่มราคาพบว่า ตลาดระดับกลางถึงล่างราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาทซึ่งเป็นตลาดแมส คือกลุ่มที่ดัชนีราคาลดลงหนักที่สุดโดยราคาลดลง -8% YoY เป็นราคาที่ลดลงไปต่ำกว่าช่วงไตรมาส 4/59 หรือกว่า 3 ปีก่อนแล้ว

    สาเหตุเกิดจากสินค้าในกลุ่มราคานี้มักจะเป็นคอนโดมิเนียม และจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกคอนโดฯ ด้วยการลดราคาหรือทำโปรโมชันหนักๆ เช่น ผ่อนให้/อยู่ฟรี 2-3 ปี ทำให้ภาพรวมราคาลดลงแรง

    สำหรับกลุ่มสินค้าราคาสูงกว่า 3.5 ล้านบาท พบว่าดัชนีราคาลดลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาส 4/62 ไม่ลดลงรุนแรงเท่ากับกลุ่มตลาดแมส โดยเฉพาะอสังหาฯ ลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท ยังทรงตัวใกล้เคียงกับราคาของปี 2562

    หากแบ่งดัชนีราคาตามทำเล Top 5 ทำเลที่ราคาขึ้นสูงที่สุด คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดินแดง จตุจักร บางคอแหลม และ พระโขนง ส่วน Top 5 ทำเลที่ราคาลดลงหนักที่สุด คือ คันนายาว บางกะปิ บางบอน บางกอกใหญ่ และ บางนา

    เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายนั้นเป็นที่ตั้งของสถานีวัดมังกรฯ บนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ราคาอสังหาฯ เขตนี้ปรับขึ้นถึง 23% QoQ สวนทางกับตลาด ส่งให้ราคาเฉลี่ยไปแตะ 219,048 บาทต่อตร.ม.แล้ว

     

    ซัพพลายหดทั้งตลาด

    ซัพพลายโครงการเปิดตัวใหม่ทุกกลุ่มสินค้าลดลงเทียบไตรมาสต่อไตรมาส กลุ่มคอนโดฯ ซัพพลายลดลง -10% ทาวน์เฮาส์ลดลง -4% บ้านเดี่ยวลดลง -3%

    กมลภัทรชี้ให้เห็นว่า ซัพพลายโครงการแนวราบที่ลดลงเพิ่งเกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ซึ่งค่อนข้างน่าแปลกใจเพราะปกติแล้วโครงการแนวราบจะมีการก่อสร้างสม่ำเสมอ ซัพพลายลดลงไม่มาก สะท้อนว่าผู้ประกอบการระมัดระวังตัวสูง

     

    ดีมานด์การซื้อเริ่มฟื้น แต่ตลาดเช่ายังไม่ฟื้น

    ด้านดีมานด์ในตลาด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้วัดจากยอดวิวของผู้ซื้อที่เข้ามาชมในเว็บไซต์ ddproperty.com เห็นได้ว่าช่วงเดือนมีนาคม’63 ยอดวิวการค้นหาเพื่อซื้อบ้านลดลง แต่เมื่อถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ยอดวิวกลับเพิ่มขึ้น 22% เทียบช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 โดย Top 3 เขตที่มีคนคลิกหาซื้อบ้านมากที่สุด คือ ทวีวัฒนา สาทร และ บางกะปิ

    ในทางกลับกัน การค้นหาที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และยิ่งลดลงอย่างมากในเดือนเมษายน เทียบกับเดือนมกราคม’63 ยอดวิวการค้นหาห้องเช่าลดไปกว่า -20% ซึ่งกมลภัทรมองว่า สอดคล้องกับการใช้ชีวิตช่วง COVID-19 ที่ขณะนี้บริษัทส่วนใหญ่ยังให้สลับกันเข้าที่ทำงาน และหลายคนยังไม่กลับจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเช่าที่อยู่อาศัยในเมือง

     

    ไตรมาส 2 ราคายังลงต่อ หวังครึ่งปีหลังดีขึ้น

    ดัชนีราคาที่ลดลงในไตรมาส 1/63 กมลภัทรมองว่าไตรมาส 2/63 จะยังลดลงต่อเนื่อง เพราะการลดราคาและโปรโมชันยังคงมีอยู่ตลอดจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

    หากมองระยะสั้น กมลภัทรคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ การทำโปรโมชันน่าจะเริ่มลดลงเพราะตลาดเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง จากสถานการณ์โรคระบาดที่ดีขึ้น มียอดผู้ติดเชื้อลดลง ประเทศไทยเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียน แต่ตลาดอสังหาฯ จะกลับมาเติบโตยั่งยืนได้เหมือนเก่าเมื่อไหร่คงตอบยาก เพราะต้องรอการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม นั่นหมายความว่า ต้องมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสำเร็จและการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติ

    โดยสรุปแล้ว “บ้าน” ก็ยังเป็นปัจจัยสี่ที่เหมาะกับการลงทุน เพียงแต่ต้องจับตาว่าโรคระบาด COVID-19 จะทำให้สมการการเลือกซื้อบ้านของคนเปลี่ยนไปแค่ไหน โดยเฉพาะในแง่ “ทำเล” เพราะบางบริษัทเริ่มพิจารณาการปรับมา Work from Home ระยะยาวแล้ว ทำให้ทำเลใจกลางเมืองอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงก็ได้ในอนาคต

    ]]>
    1281755
    อาจเป็นโอกาส “ช้อนซื้อ” เมื่อราคาบ้าน-คอนโดฯ “ปรับลง” แรง 6% ช่วงไตรมาส 4/62 https://positioningmag.com/1267341 Sat, 07 Mar 2020 12:41:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267341 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้รายงานดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ย้อนหลังไปช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 พบว่าเป็นไตรมาสที่ราคาอสังหาฯ ลดลงแรงที่สุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยราคาปรับลง 6% QoQ ขณะที่เข้าปี 2563 ผู้ประกอบการยังจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม และราคายังค่อนข้างทรงตัว แนะนำผู้ซื้อ-นักลงทุนที่มีความพร้อม เป็นจังหวะที่ดีในการซื้ออสังหาฯ ในราคาต่ำ

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ เปิดข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทพบว่า ราคาอสังหาฯ ช่วงไตรมาส 4/62 มีการปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถึง 6% ซึ่งเป็นการปรับลดที่มากที่สุดในรอบ 8 ไตรมาส และถ้าหากวัดการปรับลดของราคาเทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ราคาอสังหาฯ เฉลี่ยลดลง 3%

    แต่ถ้าหากเจาะกลุ่มสินค้าที่ราคาลดลง จริงๆ แล้วคือกลุ่ม “คอนโดมิเนียม” ซึ่งราคาปรับลดลงไป 5% (QoQ) ขณะที่กลุ่มบ้านเดียวและทาวน์โฮมยังปรับราคาขึ้นได้อยู่ โดยเพิ่มขึ้นมา 2% (QoQ) และเทรนด์ราคามีการปรับขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมากกว่าลงทุน ทำให้ราคาโครงการแนวราบค่อนข้างสม่ำเสมอ

    ดัชนีราคาอสังหาฯ โดยดีดีพร็อพเพอร์ตี้

    การปรับตัวของราคาอสังหาฯ จะเห็นได้ว่าเทรนด์อยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เข้มงวดการให้อัตรา LTV (Loan to Value) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ที่ดึงดูดนักลงทุน มีดีมานด์ลดลงทันที และราคาก็ตกลงไปด้วย

     

    ตลาดลักชัวรี 15 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบ

    ส่วนถ้าหากเจาะเป็นระดับเซ็กเมนต์สินค้า ดีดีพร็อพเพอร์ตี้พบว่ากลุ่มอสังหาฯ ลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท ยังมีการเติบโตของราคาอยู่ โดยปรับราคาขึ้นอีก 2% (QoQ) เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากทั้งเศรษฐกิจและการควบคุม LTV ส่วนกลุ่มราคาที่มีผลกระทบมากที่สุดคือราคา 3.5-8.5 ล้านบาท ซึ่งปรับราคาลง 5% (QoQ)

    รวมถึงกลุ่มราคาต่ำกว่า 3.5 ล้านบาทก็มีการปรับราคาลงเช่นกัน โดยกมลภัทรมองว่าเกิดจากผู้ประกอบการต้องการเร่งระบายสต็อกออก จึงต้องลดราคาให้จับต้องได้มากขึ้น มีการทำโปรโมชั่นดึงดูดใจมากขึ้น

     

    แนะลงทุนคอนโดฯ ใกล้สถานศึกษา

    กมลภัทรสรุปว่า ไตรมาส 1/63 นี้ดีเวลลอปเปอร์ยังคงลดราคาและจัดโปรโมชันสินค้าเพื่อระบายสต็อกอยู่ ทำให้โอกาสอยู่ในมือของผู้ซื้อหรือนักลงทุนที่พร้อม เนื่องจากจะได้สินค้าในราคาไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนหากจะเลือกช้อนซื้ออสังหาฯ ก็ต้องเลือกในทำเลที่เหมาะสม

    โดยเธอชี้ว่า การลงทุนคอนโดฯ ที่เหมาะสมควรอยู่ในจุดที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า หรือใกล้แหล่งงาน หรือใกล้แหล่งสถานศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นน่าสนใจมาก เพราะเป็นทำเลที่มีผู้เช่าอยู่เสมอและผู้เช่าหมุนเวียนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกสถานศึกษาใดก็ได้ ควรเลือกทำเลสถานศึกษาที่มีคุณภาพดี และอยู่ในเมือง เดินทางง่าย ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อจะตั้งราคาค่าเช่าไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนได้

    ส่วนถ้าหากนิยมลงทุนในบ้านหรือทาวน์เฮาส์ก็เป็นโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนบ้านมือสอง นำมารีโนเวต แล้วปล่อยเช่าหรือขายต่อ เพราะสามารถทำราคาได้ดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงคือลูกค้าบางกลุ่มอาจไม่มีความมั่นใจในการซื้อต่อบ้านมือสองเนื่องจากกังวลเรื่องประวัติของบ้าน ทำให้สภาพคล่องอาจจะไม่สูงมาก

    ]]>
    1267341
    ศุภาลัย “มองบวก” อสังหาฯ ปี’63 ฟื้นตัว เปิดใหม่ 3 หมื่นล้าน เทน้ำหนักให้โครงการแนวราบ https://positioningmag.com/1262239 Tue, 28 Jan 2020 12:23:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262239
  • ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในมุมมองศุภาลัย ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2562 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้า
  • ปี 2563 คาดว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐผ่อนคลายมาตรการ LTV อัตราดูดซับคอนโดฯ เติบโต 5-10% อย่างไรก็ตาม คอนโดฯ ไฮเอนด์ที่พึ่งพิงกำลังซื้อต่างชาติจะยังซบเซาและอาจเห็นการลดราคา
  • แผนกลยุทธ์ศุภาลัย 2563 เปิดตัวโครงการมูลค่าลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาท เน้นหนักโครงการแนวราบ-คอนโดฯ ระดับกลาง เพิ่มเป้าพรีเซลเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท เป้าหมายรายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท
  • “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2563 มองว่ามีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ทั้งโครงการบ้านดีมีดาวน์และมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือรายการละ 0.01% สำหรับอสังหาฯ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงหนี้ครัวเรือนของไทยมองว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างที่รัฐกังวล

    ด้าน “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มองว่า ตลาดอสังหาฯ ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2562 ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับบริษัทเอง ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2562 ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้า และอาจจะต่ำกว่าปี 2561 หลังจากอัตราปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) ของบริษัทเพิ่มจากปกติ 10% เป็น 15% เมื่อปีก่อน ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้

    “ปีก่อนคอนโดฯ กระทบสูงเพราะแต่เดิมลูกค้าบางส่วนเป็นนักเก็งกำไร หลังมีมาตรการเข้มงวด LTV และภาษีที่ดินทำให้ตลาดชะงัก รวมถึงกำลังซื้อต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจีน กลุ่มนี้เคยเข้ามามากเมื่อปี 2561 แต่ปี 2562 ลดลงไปกว่าครึ่งจากภาวะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ตลาดคอนโดฯ มีดีมานด์ลดลง” ไตรเตชะกล่าว

    ศุภาลัยชี้ว่า กำลังซื้อคอนโดฯ ส่วนใหญ่ที่หายไปในปี 2562 คือกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐฯ โดยหายไปกว่าครึ่งเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า

    อย่างไรก็ตาม ปี 2563 เห็นปัจจัยบวกหลายด้าน เรื่องแรกคือแบงก์ชาติคลายความเข้มงวดอัตรา LTV สินเชื่อบ้านแล้วซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เรื่องต่อมาคือซัพพลายในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ดีเวลอปเปอร์มีการปรับตัวลดจำนวนการเปิดโครงการใหม่ลง และหันมาระบายสต๊อกเก่าก่อน

    ดังนั้นปีนี้ไตรเตชะเชื่อว่าตลาดโครงการแนวราบจะฟื้นตัว ขายได้ดีขึ้น “แนวราบดีขึ้นแน่นอน ส่วนคอนโดฯ ถ้าดูรายโครงการอัตราดูดซับน่าจะเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ถ้ามองตัวเลขทั้งตลาดอาจจะดูลดลงไปเพราะมูลค่าเปิดตัวใหม่น้อยลง มูลค่ายอดขายใหม่ก็จะลดลงตาม”

     

    คอนโดฯ ทองหล่อ-เอกมัยล้นหนัก

    แม้คอนโดฯ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะทำยอดขายได้ดีขึ้นปีนี้ แต่บางทำเลก็โอเวอร์ซัพพลายจนกลายเป็นทำเลเสี่ยง ไตรเตชะชี้ว่า จากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา คอนโดฯ ในทำเลที่พึ่งพิงดีมานด์ต่างชาติจะกระทบสูง ทำเลดังกล่าวคือย่านสุขุมวิทโดยเฉพาะทองหล่อ-เอกมัยในกลุ่มไฮเอนด์ ตร.ม.ละ 2-2.5 แสนบาท อาจได้เห็นการลดราคาเพื่อเร่งระบายสต๊อกกันปีนี้

    โครงการศุภาลัย โอเรียนทัล สุขุมวิท 39 หนึ่งในโครงการของ บมจ.ศุภาลัย ที่อยู่ในทำเลและระดับราคา “ขายยาก” ของปีนี้ หลังกำลังซื้อต่างชาติลดลง

    นอกจากย่านดังกล่าว คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง และคอนโดฯ ในต่างจังหวัด ยังคงล้นตลาด โดยการขายยังเป็นไปอย่างช้าๆ “ประทีป” เสริมว่า คอนโดฯ สายสีม่วงระบายได้ช้าเนื่องจากเปิดราคาสูงเกินไป คาดว่าปีนี้จะยังไม่มีเจ้าไหนเติมซัพพลายเพิ่ม

     

    ศุภาลัยเปิดขายใหม่ 30 โครงการ 3 หมื่นล้าน

    ด้าน กลยุทธ์ศุภาลัยปี 2563 มีการเปิดโครงการจำนวนมากขึ้นแต่มูลค่ารวมลดลง โดยวางแผนเปิด 30 โครงการ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 25 โครงการ และคอนโดฯ 5 โครงการ เทียบกับปีก่อนมีการเปิดตัวรวม 24 โครงการ มูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้ายอดขายวางไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป้าหมายรับรู้รายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน

    “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร และ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กับโลโก้ใหม่ของบริษัท เปลี่ยนจากโลโก้ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้อ่านง่ายและสื่อสารง่ายขึ้น

    ปีนี้จำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นเป็นโครงการแนวราบ กลุ่มราคาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 2-5 ล้านบาท และสูงสุดเป็นกลุ่ม 10-20 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในกรุงเทพฯ 13 โครงการ และต่างจังหวัด 12 โครงการ มีจังหวัดใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในพอร์ตคือ พิษณุโลก อยุธยา และฉะเชิงเทรา

    “จังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ ยังไปได้ดี และภาคตะวันออกเขตอีอีซีไปได้ดีมาก 5 จังหวัดที่ขายดีที่สุดของเราคือ ภูเก็ต ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และระยอง” ไตรเตชะกล่าว “ประเด็นไวรัสโคโรนายังไม่เห็นผลกระทบ และเชื่อว่าถ้าควบคุมได้ภายในระยะสั้น 3-4 เดือนน่าจะไม่เกิดผลอะไรกับเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว ตอนนี้เรายังจะเปิดโครงการตามปกติ”

    โครงการศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญ 91 ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาท บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 30% ภายในปีนี้

    ด้านคอนโดฯ ใหม่ 5 แห่งจะอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมดเป็นคอนโดฯ ระดับกลางถึงกลางล่าง ราคาเฉลี่ย 6-8 หมื่นบาทต่อตร.ม. สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตร.ม. โครงการแรกที่จะเปิดตัวคือ ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญ 91 ทำเลห่างจากสถานีบางอ้อ 190 เมตร มูลค่าโครงการ 2.1 พันล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาทต่อยูนิต เฉลี่ยทั้งโครงการ 59,900 บาทต่อตร.ม.

    “เรามองว่าคอนโดฯ เป็นโอกาสของเรา ด้วยความได้เปรียบด้านการเงิน บริษัทเรามี D/E Ratio เพียง 0.4 และ Cost of Fund 2.31% น้อยกว่าครึ่งหนึ่งถ้าเทียบกับดีเวลอปเปอร์หลายรายในตลาด ทำให้เราพร้อมเปิดคอนโดฯ ใหม่และเชื่อว่าจะทำราคาได้ดีกว่า” ไตรเตชะกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1262239