สิ่งแวดล้อม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 21 Oct 2024 07:08:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับตา “โซลาร์เซลล์” เจาะลึกแบรนด์ EnergyLIB พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันครบวงจร https://positioningmag.com/1494957 Mon, 21 Oct 2024 09:59:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1494957

เรียกได้ว่า เป็นยุคแห่งพลังงานสะอาดเลยจริงๆ เพราะเทรนด์การตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน เป็นส่วนหนึ่งให้คนทั่วโลกหันมาให้คนสนใจกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ “โซลาร์เซลล์” จึงเป็นหนึ่งในโซลูชันที่หลายคนกำลังมองหา


จับตา “โซลาร์เซลล์” ผู้เปลี่ยนตลาดพลังงานทางเลือก

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีปัจจัยทั้งด้านอากาศร้อนจัดขึ้นทุกปี และวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป มีการ Work from Home มากขึ้น ทำให้คนไทยต้องหันมาเปิดแอร์ตลอดทั้งวัน อีกทั้งการมาของรถ EV ก็มีส่วนทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมไปถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฮม และแกดเจ็ตต่างๆ ก็ล้วนแต่มีการใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น

นอกจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญก็คือ “ค่าไฟ” ที่มีการปรับขึ้นทุกปีๆ จนใครๆ ที่เห็นบิลค่าไฟ จะต้องหนาวทั้งที่อากาศร้อนไปเลยทันที เมื่อเปรียบเทียบเรทค่าไฟจากกฟผ. เพียง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) พบว่า เรทค่าไฟสูงขึ้นถึง 30% เป็นภาระค่าครองชีพที่คนไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักรู้ถึงพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะ “พลังงานแสงอาทิตย์” หลายคนเริ่มมองหาโซลูชันใหม่ที่จะช่วยลดค่าไฟได้มากขึ้น และใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องบิลค่าไฟ แถมยังได้ช่วยโลกด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาด

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ตลาดโซลาร์เซลล์สำหรับที่อยู่อาศัย มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในเรื่องของราคาที่จับต้องได้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลาดโซลาร์สำหรับครัวเรือนจึงเป็นตลาดที่น่าจะตามองเป็นพิเศษ จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ตลาดโซลาร์เซลล์ไทย เติบโตเฉลี่ยถึง 22% ต่อปี ในปี 2565-2568 และคาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึงกว่า 67,000 ล้านบาท ในปี 2568


มีโซลูชันครบวงจรไว้ อุ่นใจกว่า

ถึงแม้ว่าตลาดนี้จะมีการเติบโตมากขึ้น และมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นเช่นกัน แต่ต้องทำความเข้าใจในระบบโซลาร์เซลล์ก่อนว่า กว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์แบบนั้น ต้องเกิดจากหลายอุปกรณ์ ทั้งแผงโซลาร์, อินเวอร์เตอร์, แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละส่วนจะเป็นคนละแบรนด์กัน ทำให้เวลาเกิดปัญหา การรับประกัน และบริการหลังการขาย ผู้ใช้จะต้องติดต่อแยกแบรนด์และหาช่างเอง

บางครั้งก็เกิดการเกี่ยงกันว่าปัญหาไม่ได้เกิดที่สินค้าแบรนด์เรา หรือเกิดที่อุปกรณ์ตัวอื่นในระบบ ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นไปอีกว่าสรุปเจ้าไหนจะต้องเข้ามารับผิดชอบกันแน่ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการทำงานอาจทำงานร่วมกันได้ไม่เต็มที่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีแบรนด์ใดที่มีโซลูชันครบวงจรสำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

นอกจากเรื่องอุปกรณ์แล้ว ยังมีปัญหาที่การติดตั้งด้วย ซึ่งมีราคาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับช่างที่ให้บริการติดตั้งเข้ามาประเมินราคา ทำให้คุณภาพ และมาตรฐานในการติดตั้งก็หลากหลายไปด้วยเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ล้วนมี Pain Point มากมาย หากในตลาดมีแบรนด์ที่มีโซลูชันแบบครบวงจรที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบ น่าจะช่วยคลายความกังวล มอบความอุ่นใจและสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานได้มาก ตั้งแต่ การขายแบบครบทั้งระบบทั้งแผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ พร้อมรวมบริการติดตั้ง บริการหลังการขาย อย่าง บริการล้างแผงให้ฟรีหลังติดตั้ง และการรับประกัน ก็คงจะดีไม่น้อย


EnergyLIB ผู้เข้ามาพลิกวงการโซลาร์เซลล์สำหรับครัวเรือน ครบ จบ ง่าย ในที่เดียว

แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้อย่างลงตัว EnergyLIB (เอเนอร์จี้ลิบ) แบรนด์ระบบโซลาร์โซลูชันครบวงจร ชูจุดเด่น “One-Stop Solution โซลูชันครบวงจร ครบ จบ ง่าย ในที่เดียว” ด้วยบริการครบวงจรสำหรับที่อยู่อาศัยครั้งแรกในไทย บริการตั้งแต่การออกแบบจนถึงการติดตั้งและบำรุงรักษา จากทีมวิศวกรมืออาชีพ มาพร้อมสโลแกน “ลดค่าไฟสูงสุด 70%[1] ใช้ไฟได้ทั้งกลางวัน-กลางคืน”

โดยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “EnergyLIB P1 All-In-One” ที่มาพร้อม Black Magic แผงโซลาร์เซลล์และเครื่อง All-In-One ที่ได้รวมอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ไว้ในเครื่องเดียว ช่วยลดค่าไฟสูงสุด 70%[1] ให้ใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืนหรือแม้กระทั่งไฟดับ

อีกทั้ง ยังมาพร้อมโซลูชันครบวงจร มอบความสะดวกสบายและอุ่นใจให้กับผู้บริโภค ตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี หมดปัญหาเรื่องการติดตั้งและการดูแลระบบในระยะยาว ที่มีความยุ่งยากและอาจไม่ได้มาตรฐาน โดย EnergyLIB พร้อมมอบบริการในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น ก่อน ระหว่าง และหลังการติดตั้ง

  • ก่อนการติดตั้ง
    • ราคาเดียวจบ: จ่ายราคาเดียว รวมติดตั้งพื้นฐาน[2] ไม่ต้องเทียบราคาให้วุ่นวาย
    • ประสิทธิภาพสูงสุด: เลือกแผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ที่เข้ากัน เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ต้องคิดให้ปวดหัว
    • มั่นใจในคุณภาพ: ทดสอบสินค้าอย่างละเอียด มั่นใจได้ว่าส่งถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระหว่างการติดตั้ง
    • ออกแบบการติดตั้งเฉพาะหลังโดยผู้เชี่ยวชาญ: คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความสวยงาม และความปลอดภัย เพื่อบ้านหลังพิเศษของคุณ
    • ทีมติดตั้งมืออาชีพ ใช้อุปกรณ์คุณภาพสูง: ทนทานใช้งานได้ในระยะยาว ปลอดภัยไร้กังวล
    • ทีม QC การันตีจาก EnergyLIB: ตรวจสอบและรับรองโดยวิศวกรก่อนส่งมอบงาน เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ
  • หลังการติดตั้ง
    • รับประกันงานติดตั้งทั้งระบบ: อุ่นใจไปกับการรับประกันทั้งระบบ 3 ปี[3] พร้อมล้างแผงและเช็คระบบฟรี 1 ครั้ง/ปี
    • รับประกันประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์: แผงโซลาร์เซลล์ 30 ปี[3] อินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ 10 ปี[3]
    • ฝ่ายบริการใส่ใจลูกค้าทุกท่าน: พร้อมบริการและตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง

กระแสตอบรับจากคนไทยดีเกินคาด

หลังจาก EnergyLIB เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยราคาเริ่มต้น 359,000 บาท ซึ่งเป็นราคาผลิตภัณฑ์ที่รวมค่าติดตั้งพื้นฐาน[2]แล้วเรียกว่าเป็นราคาที่จับต้องได้สุดๆ สำหรับโซลาร์โซลูชัน EnergyLIB การันตีความมั่นใจจากลูกค้าด้วยยอดพรีออเดอร์ที่สูงเกินเป้า 10 เท่า ในเดือนที่ผ่านมา จากกระแสตอบรับดี ยอดพรีออเดอร์สูงเกินเป้า ทำให้เห็นได้ชัดว่าคนไทยกำลังมองหาโซลูชันแบบครบวงจร EnergyLIB จึงพร้อมที่จะเป็น One-Stop Solution ด้านระบบโซลาร์โซลูชันสำหรับที่พักอาศัยแบบครบวงจร “ครบ จบ ง่าย ในที่เดียว” ทั้งการให้คำปรึกษา การติดตั้ง รับประกัน ตลอดจนบริการหลังการขาย รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ทั้งในแง่ดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพการทำงาน และการใช้งานในชีวิตประจำวัน

เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อยที่วงการโซลาร์เซลล์มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคแบบครบวงจร สามารถพูดได้เลยว่า EnergyLIB เข้ามาเป็นผู้ปฏิวัติวงการโซลาร์เซลล์ที่อยู่อาศัยตัวจริง เพราะมีโซลูชันแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Official Page หรือ Call Center ของ EnergyLIB สัมผัสผลิตภัณฑ์จริงได้ที่ร้าน BaNANA สาขาที่ร่วมรายการ และเป็นเจ้าของ EnergyLIB P1 All-In-One ได้แล้วที่ BaNANA ทุกสาขาและผู้จัดจำหน่ายที่ร่วมรายการทั่วประเทศ

[1] ปริมาณพลังงานไฟฟ้าคำนวณจากการใช้งาน EnergyLIB P1 All-In-One ระบบไฟ 3 เฟส ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ 20 kWh และแผงโซลาร์เซลล์ 26 แผง โดยประสิทธิภาพและผลลัพธ์อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการใช้งานจริงและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อาทิ ปริมาณแสงแดดและความร้อน ความสะอาดของแผงโซลาร์เซลล์ อายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ

[2] อาจมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลง ภายหลังจากการสำรวจพื้นที่หน้างานจริง โดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของบ้าน

[3] โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ใบรับประกัน

]]>
1494957
“Virgin Atlantic” สายการบินแรกที่จะบินข้ามแอตแลนติกด้วย “น้ำมัน SAF” 100% https://positioningmag.com/1453619 Tue, 28 Nov 2023 04:36:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1453619 “Virgin Atlantic” เตรียมตัวเป็นสายการบินแรกของโลกที่จะบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยใช้ “น้ำมัน SAF” เป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องยนต์ 100%

เที่ยวบินนี้จะออกจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปยังสนามบิน JFK นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เวลา 11:30 GMT ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2023 (ตรงกับเวลา 18:30 น. ในไทย)

น้ำมัน “SAF” หรือ Sustainable Aviation Fuels เป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อหาสิ่งทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอนสูง น้ำมัน SAF จะผลิตจากสิ่งเหลือใช้ เช่น น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว เศษอาหาร เศษพืช ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 80% จากน้ำมันฟอสซิลปกติในขั้นตอนการผลิตน้ำมัน

สำหรับไฟลท์ทดลองนี้จะบินโดยเครื่องบิน Boeing 787 บรรทุกน้ำมัน SAF 50 ตัน โดยส่วนผสมที่ใช้ 88% มาจากขยะไขมัน อีก 12% มาจากเศษข้าวโพดที่เหลือทิ้งในภาคการผลิตของสหรัฐฯ

โครงการทดลองนี้มีอีกหลายฝ่ายเข้ามาร่วมสนับสนุน ได้แก่ “Rolls-Royce” ผู้ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน และ “BP” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งจากการทดสอบและวิเคราะห์หลายครั้ง ในที่สุด Virgin Atlantic ก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักรให้ขึ้นบินได้เมื่อต้นเดือนนี้เอง

ที่ผ่านมาน้ำมัน SAF เริ่มมีการใช้งานในเครื่องบินต่างๆ บ้างแล้ว แต่มักจะเป็นการผสมปริมาณน้อยเข้ากับน้ำมันฟอสซิลปกติมากกว่า ทำให้เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว วงการการบินยังใช้น้ำมัน SAF แค่เพียง 1% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด

เหตุที่ยังมีการใช้น้อยเพราะ “ราคา” ยังสูงกว่าน้ำมันฟอสซิลมากเนื่องจากผลิตได้น้อย และองค์กรกำกับการบินทั่วโลกมักจะอนุญาตให้ผสมเข้ากับน้ำมันฟอสซิลในสัดส่วนไม่เกิน 50% ด้วยเหตุนี้เราคงยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนมาใช้ SAF แทนน้ำมันปกติได้เร็วนัก

ในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวด้านน้ำมัน SAF โดยบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพิ่งจะลงนามเอ็มโอยูกับ “การบินไทย” เพื่อนำน้ำมัน SAF ไปใช้ในเที่ยวบินนำร่องของการบินไทยด้วย

Source

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1453619
“สยามพิวรรธน์” เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 https://positioningmag.com/1446422 Tue, 03 Oct 2023 01:45:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446422

เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแสอีกต่อไป ในโลกธุรกิจนั้นได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับตั้งเป้าเป็นเป้าหมายใหญ่ขององค์กรอีกด้วย เราจึงได้เห็นหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG หรือตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero กันถ้วนหน้า


สร้าง Net Positive Impact พร้อมจับมือพันธมิตรทุกภาคส่วน

“สยามพิวรรธน์” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำเมื่อเป็นกระแส แต่ทำมากว่า 10 ปีแล้ว ได้เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 และเป้าหมายใหญ่คือ Net Zero ในปี 2050

พร้อมกับเตรียมนำนำร่องยกระดับย่าน “ปทุมวัน” สู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ ซึ่งสยามพิวรรธน์ไม่ได้สร้างแค่ศูนย์การค้าอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สร้างเมืองขนาดย่อมๆ สร้างพื้นที่ให้คนใช้ชีวิต

นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า

“สยามพิวรรธน์ใช้แนวคิดและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับจากแบรนด์ชั้นนำของโลกมาอย่างยาวนาน  ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก และเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สยามพิวรรธน์จึงใช้ธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสและพัฒนาศักยภาพของคน ส่งเสริมให้ผู้คนที่มีส่วนร่วมกับสยามพิวรรธน์ได้เติบโตและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กับเรา  คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกๆ พื้นที่ที่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า  การนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ในปีนี้  สยามพิวรรธน์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพ และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมขับเคลื่อนเมืองต้นแบบมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางที่ใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใจกลางเมือง ผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน บริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา และเตรียมพร้อมประกาศลงนามความร่วมมือเรื่องความยั่งยืนกับแบรนด์ระดับโลกในต้นปี 2024 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050”

สยามพิวรรธน์จะเป็นค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแบรนด์ดังและองค์กรชั้นนำระดับโลก ผนึกกำลังด้านความยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติร่วมกันอันเป็นการดำเนินธุรกิจตาม Global Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล


พลังงานสะอาด-จัดการขยะ เป้าหมาย Net Zero

นราทิพย์เสริมว่า สยามพิวรรธน์ประกาศเป็นศูนย์การค้ารายแรกที่จะทำ Net Zero ภายในปี 2050 แต่แนวทางที่จะทำไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำ มีการทำมามากกว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับมีพันธมิตรมากมายทำให้เกิดพลังงานทางเลือก

ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้บรรจุการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด พลังงานทางเลอืก การจัดการบริหารขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยเริ่มต้นจากการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน และการใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร เป็นต้น ตลอดจนขยายผลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยการนำนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปมาติดตั้งที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ต่อปี

ร่วมมือกลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนพื้นที่สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร ให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายองค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้กับโลกของเราโดยร่วมมือกับพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการที่ศูนย์การค้า

ในขณะนี้ สยามพิวรรธน์กำลังศึกษาร่วมกับองค์กรชั้นนำทางด้านพลังสะอาดของประเทศไทยอีกหลายแห่ง อาทิ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท  บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งเพื่อให้ทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy (RE) โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี 2026 และ 100% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะต่างๆ ผ่านโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste ส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำมาเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยส่วนหนึ่งยังกลับมาวางจำหน่ายบนพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก “อีโค่โทเปีย” (ECOTOPIA) โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบของขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030

รวมไปถึงปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จึงร่วมสนับสนุน Synnex ในโครงการ ทิ้งให้ถูกที่่กับ Trusted By Synnex E-Waste โดยจะเปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Waste (E-waste) ณ. บริเวณ NextTech สยามพารากอน


เปิดยุทธศาสตร์พัฒนาย่านปทุมวัน

สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO -DISTRICT ผ่านความร่วมมือกับ “รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ขับเคลื่อนย่านปทุมวันสูย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

“ปทุมวันเป็นศูนย์กลาง Shopping Destination สำหรับชาวไทย ชาวต่างประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย โดยมี ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ทั้งแนวดิ่งและแนวราบหลากหลายให้เลือกเดินตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และพื้นที่แห่งนี้ยังมีสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา สำนักงาน อาคารมิกซ์ยูส และอื่นๆ อีกมากมาย การที่สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป” 

มีการวางโรดแมปของยุทธศาสตร์นี้ ตั้งแต่ปัจจุบัน ไปจนถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 เริ่มจัดทำวิสัยทัศน์ และผังยุทธศาสตร์ย่านปทุมวันก่อน

สยามพิวรรธน์มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” และ เพื่อโลกที่ดีขึ้นของทุกคน

 

]]>
1446422
“เซ็นทรัลพัฒนา” ย่อยเรื่องยั่งยืนให้เข้าถึงง่าย กับงาน “The Urgent Project – Better Future is Now” https://positioningmag.com/1405344 Wed, 26 Oct 2022 04:00:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1405344

ในช่วงหลายปีมานี้ได้เห็นหลายภาคส่วนต่างให้ความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะโลกรวน การรณรงค์รักษาต่างแวดล้อมต่างๆ ภาคธุรกิจต่างมีเป้าหมาย Net Zero กันเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

เราจึงได้เห็นงานอีเวนต์ต่างๆ หรือ Expo ใหญ่ๆ ที่ออกมาพูดถึงเรื่อง Sustainable กันแบบล้นหลาม มีทั้งในแง่ของวิชาการ และภาคปฏิบัติ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างการรับรู้ บอกให้ทราบถึงปัญหาโลกร้อน

แต่ต้องบอกว่า ตอนนี้ทาง “เซ็นทรัลพัฒนา” ได้จัดงาน “The Urgent Project – Better Future is Now” เป็นครั้งแรกของงาน Sustainability Experiential Space ใจกลางเมืองที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน Beacon เริ่มตั้งแต่วันนี้ -30 ต.ค 65

งานนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นการย่อยเรื่องความยั่งยืนที่ใครๆ ต่างพูดถึงกัน ให้เข้าใจง่ายมากที่สุด เป็นการเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์ ทั้งการใช้ชีวิต การกิน การแต่งกาย ทุกอย่างรอบตัวล้วนมีส่วนช่วยโลกได้ ผ่านการจำลองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งอสังหาริมทรัพย์ไทยเพื่อความยั่งยืน มุ่งมั่นสร้างโลกที่ดีขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ Imagining better futures for all พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero 2050 ด้วยกลยุทธ์ Power of Synergy ได้จับมือร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้แก่ กลุ่ม ปตท.(PTT Group) นำโดย EVme, on-ion และ Swap & Go, บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท ธนบุรีพานิชย์ จำกัด, บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด และ บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมด้วยพันธมิตรอีกมากมายขับเคลื่อนแนวทางด้านความยั่งยืน ภายในงาน “The Urgent Project – Better Future is Now” งานด่วน งานร้อน ของคนรักโลก

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า

“เซ็นทรัลพัฒนา เราเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้าง Sustainable Ecosystem ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ในฐานะของ‘นักพัฒนาพื้นที่’ แห่งอนาคตที่เชื่อมโยงและสร้างสมดุลระหว่าง People และ Planet เข้าด้วยกัน ด้วยการเป็น Center of Life เพื่อดูแลทั้งผู้คน ชุมชนในทุกที่ที่เราไปตั้งอยู่ พร้อมส่งต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับผู้คนในรุ่นต่อๆ ไป”

สำหรับงาน “The Urgent Project – Better Future is Now” ครั้งแรกกับ Sustainability Experiential Space ใจกลางเมือง พบกับโซนไฮไลท์ภายในงาน ได้แก่

 

  • Urgent Island พื้นที่ทดลอง ‘เร่งด่วน-เรียนรู้-กู้โลก’ เปลี่ยนการรักษ์โลกให้เป็นเรื่องสนุกจากเซ็นทรัลพัฒนา ทั้ง Central Pattana Sustainability Story, Live Better, Eat Better, Style Better
  • Pavilion for Betterment Zone 1:

– พบกับ Interactive game ‘Mission 1.5’ จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกันจุดประกายไอเดียช่วยโลก

– VOLT City EV รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนแบบ 100% ดีไซน์สวยแบบ Minimal ในราคาที่จับต้องได้ สามารถชาร์จไฟบ้านได้ใช้ปลั๊กปกติได้เลย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

– SCG Green Choice ฉลากที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดี มาเป็นตัวช่วยผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ให้ง่ายยิ่งขึ้น

– เนสท์เล่ชวนคุณมาดูแลฟื้นฟูโลกของเราไปพร้อมกัน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน มาร่วมเล่นเกมแยกขยะ มาดูกันว่าเพียงแยกขยะแค่ 1 ชิ้นลงถังรีไซเคิล เราสามารถช่วยโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร

– Loopers แพลตฟอร์มรวบรวม และส่งต่อเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดี ให้เสื้อผ้าทุกตัวถูกใช้ และถูกดูแลอย่างรู้คุณค่าตลอดอายุการใช้งาน

  • Pavilion for Betterment Zone 2:

– พบกับ บูธกิจกรรมจาก กรุงเทพมหานคร ที่นำแนวทางการจัดการขยะ และ เวิร์คช็อปต่างๆ ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม

– Evolt X SC GRAND ร่วมกันออกแบบกระเป๋าผ้าจากวัสดุรีไซเคิล 100% รับปรึกษาเรื่องการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

– Tempered คาเฟ่แนวใหม่ ที่ทำด้วยใจเพื่อโลก โซน Chocolate Lab เป็น Zero Waste เปลือกจากโกโก้เรายังนำไปทำชาและปุ๋ย โซน Café ใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Biodegradable Grade

– SCG Bi-ionครั้งแรกกับประสบการณ์อาบป่ากลางเซ็นทรัลเวิลด์พร้อมสัมผัสอากาศสะอาดปลอดภัยที่สร้างได้จากระบบ SCG Bi-ion

– CIRCULAR T-Shirt Club ผลิตจากวัตถุดิบสิ่งทอรีไซเคิล 100% ไม่ผ่านการฟอกย้อม ช่วยลดการใช้น้ำ และลดการใช้ยาฆ่าแมลง ในการปลูกฝ้ายใหม่ ช่วยประหยัดพลังงาน และ ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 อีกทั้งยังช่วยลดขยะที่เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิต

– Yindii (ยินดี) แอปพลิเคชั่นส่งอาหารส่วนเกินจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านขายของชำ โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต ในราคาถูก โดยเป้าหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากสภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนายังมุ่งสู่การเป็นองค์กร Retail-Led Mixed-Use Developer รายแรกสู่ Net Zero ในปี 2050ผ่านการดำเนินกลยุทธ์สำคัญ 2 ส่วนคือ

1. INSIDE-OUT: สร้างสรรค์ Culture ของภายในองค์กร โดยได้นำร่อง Green Initiatives ไปแล้วหลายโครงการด้วยกัน อาทิ สร้างมาตรฐานอาคารเขียวระดับสากล ด้วยการติดตั้งเซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในทุกโครงการ พัฒนาอาคารอัจฉริยะหรือ Building Automation การติดตั้ง Recycle Station นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชน ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น

2. OUTSIDE-IN: ส่วนที่เป็นการ creating shared value สร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย นําเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติเป็นแนวทางใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น ส่งเสริมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น, สังคม : เป็น Public space ที่ยกระดับคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีพื้นที่ workshop และสิ่งแวดล้อม สร้าง collaboration เพื่อไปสู่ circular economy ทุกๆ โครงการใหม่ของเราจะเน้นเรื่อง Green และ Energy

พลาดไม่ได้กับไฮไลต์อีกมากมาย! อีเวนต์สำหรับสายรักษ์โลกจากเซ็นทรัลพัฒนาผนึกพลังทุกภาคส่วนโชว์เคสทั้ง How-to และ Inspiration ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ พร้อมกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย…The Urgent Project – Better Future is Now รักโลก รอไม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 21-30 ต.ค. 65 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ชั้น 1 โซน Beacon

 

]]>
1405344
KitKat ออสเตรเลีย จะเปลี่ยนมาใช้ซองทำจาก “พลาสติกรีไซเคิล” นำร่องขนมอื่น ๆ ของ Nestle https://positioningmag.com/1387903 Mon, 06 Jun 2022 11:46:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387903 Nestle ผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ KitKat ในออสเตรเลียให้ผลิตจาก “พลาสติกรีไซเคิล” 30% ของตัวแพ็กเกจจิ้ง โดยจะเป็นการนำร่องสำหรับขนมแบรนด์อื่นๆ ในเครือ

บริษัท Nestle ประกาศนโยบายนี้เพื่อต้อนรับ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” วันที่ 5 มิถุนายน 2022 โดยขนมช็อกโกแลต KitKat ขนาด 45 กรัมมีการจำหน่ายในออสเตรเลียถึงปีละ 40 ล้านชิ้น และบริษัทเตรียมเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ผสมพลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป พร้อมกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ

การปรับมาใช้พลาสติกรีไซเคิลของขนม KitKat จะทำให้บริษัทลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 250,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 200 สระรวมกัน

มาร์กาเร็ต สจ๊วต ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและความยั่งยืน Nestle Oceania กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการจะลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025 รวมถึงมีเป้าให้พลาสติกทำแพ็กเกจจิ้งเหล่านี้สามารถรีไซเคิลหรือนำไปใช้ใหม่ได้ทั้งหมด

“เราหวังว่าห่อบรรจุภัณฑ์นี้จะไม่เพียงแต่ลดการใช้พลาสติกใหม่ แต่ยังหวังว่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าการวนกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติกประเภทอ่อนนั้นทำได้ รวมถึงความสำคัญของการรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งของคุณด้วย” สจ๊วตกล่าว

“เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่เราอยากจะเห็นอนาคตที่ออสเตรเลียสามารถนำขยะพลาสติกอ่อนมาเปลี่ยนกลับเป็นแพ็กเกจจิ้งอาหารที่เป็นพลาสติกอ่อนได้อีก”

KitKat พลาสติกรีไซเคิล
ด้านหลังซองขนม KitKat ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 30%

เธอยังกล่าวด้วยว่า การที่บริษัทใหญ่อย่าง Nestle จัดซื้อและใช้พลาสติกรีไซเคิล จะทำให้มีบริษัทจำนวนมากขึ้นลงทุนผลิตวัตถุดิบแพ็กเกจจิ้งประเภทนี้ และนำไปสู่การรีไซเคิลมากขึ้น

ในกรณีพลาสติกอ่อนตัวนั้น การนำมารีไซเคิลยังไม่แพร่หลาย และเทคโนโลยีเพื่อจะนำมันมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก

“เราต้องตามหาไปทั่วเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ได้ส่งข้อความออกไปด้วยว่ามันเป็นเรื่องสำคัญในการจัดเก็บและรีไซเคิลพลาสติกอ่อน เพราะเรารู้ว่าผู้บริโภคจะต้องการสินค้าที่ยั่งยืน” สจ๊วตกล่าว

“การจะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% นั้นเป็นไปได้แต่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ แต่เราเองจะเดินต่อในการใช้พลาสติกรีไซเคิลในซองบรรจุภัณฑ์สินค้าของเราทั้งหมด” โดยบริษัท Nestle จะศึกษาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่มีว่าสามารถพัฒนากับสินค้าไหนได้บ้างอย่างเหมาะสม

คริส โอดอนเนล ผู้จัดการทั่วไปแผนกขนมและของหวาน กล่าวว่า การเปลี่ยนวัสดุซองห่อขนมจะไม่มีผลต่อสินค้า KitKat จะยังคงสดใหม่และกรอบเหมือนปกติ

“ขณะที่ทุกคนเคยชินกับขวดพลาสติกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแล้ว พลาสติกอ่อนที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการ” โอดอนเนลกล่าว

“คำมั่นของเราต่อการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเราต่อความยั่งยืน ประเด็นอื่นของเรา เช่น การสนับสนุนฟาร์มและชุมชนผลิตโกโก้ รวมถึงการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2025”

ในออสเตรเลียนั้นมีเครือข่ายองค์กรที่เรียกว่า REDcycle ซึ่งผนึกกำลังกับร้านค้ารีเทลในการตั้งถังรับพลาสติกอ่อน เช่น ซองห่อไอศกรีมแท่ง ซองขนม ถุงขนมปังแถว บับเบิ้ลกันกระแทก ถุงใส่ของสด ฯลฯ เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยองค์กรนี้จะรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันนำพลาสติกอ่อนมาคืน และติดต่อให้บริษัท/ราชการนำพลาสติกอ่อนไปรีไซเคิลใช้งาน

Source

]]>
1387903
ผู้บริโภค “รักษ์โลก” จะเพิ่มเป็น 40% ใน 5 ปี กลุ่ม “น้ำอัดลม” เสี่ยงเสียยอดขายสูงสุด https://positioningmag.com/1354552 Mon, 04 Oct 2021 10:00:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1354552 Kantar จัดทำรายงานวิจัย “Who Cares, Who Does 2021” สำรวจผู้บริโภคเกือบ 90,000 คนใน 26 ประเทศ รวมประเทศไทย เพื่อเช็กมุมมองและพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้า FMCG ที่ยั่งยืน (sustainable) มีอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามได้ที่นี่

1) สัดส่วนกลุ่มผู้บริโภค Eco-active เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

งานวิจัยนี้แบ่งผู้บริโภคออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่ม Eco-active คือผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมากและกำลังดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ
  • กลุ่ม Eco-consider คือผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่ได้ดำเนินการหลายๆ อย่างเพื่อลดผลกระทบ
  • กลุ่ม Eco-dismisser คือผู้บริโภคที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสนใจเพียงเล็กน้อย และยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

ปี 2021 นี้งานวิจัยพบว่า กลุ่ม Eco-active เพิ่มขึ้นเป็น 22% ของผู้บริโภคทั้งหมด จากปี 2020 มีคนกลุ่มนี้อยู่ 21% ส่วนกลุ่ม Eco-consider ยังมีสัดส่วนที่ 40% เท่าเดิม และกลุ่ม Eco-dismisser ลดลงเล็กน้อยเหลือ 38%

2) Eco-active จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ภายใน 5 ปี

งานวิจัยยังคาดการณ์ด้วยว่า กลุ่ม Eco-active จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ภายในปี 2026 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2029

3) ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมสอดคล้องกับ GDP ประเทศ

เมื่อเจาะลึกแต่ละกลุ่มประเทศ พบว่า กลุ่มประเทศที่มี GDP สูงจะมีสัดส่วนกลุ่ม Eco-active มากกว่า ดังนี้

  • กลุ่มประเทศ GDP สูง มีสัดส่วน 30.6%
  • กลุ่มประเทศ GDP ปานกลาง มีสัดส่วน 21.4%
  • กลุ่มประเทศ GDP ต่ำ มีสัดส่วน 16.1%

Top 3 ประเทศที่มีกลุ่ม Eco-active สูงสุดได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม และฮังการี โดยเยอรมนีมีสัดส่วนกลุ่มนี้ถึง 46% ส่วนประเทศที่มีน้อยที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย มีเพียง 7%

ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจที่ประเทศ GDP สูงบางประเทศก็มีกลุ่ม Eco-active ไม่สูงมากได้เหมือนกัน เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา

4) “น้ำอัดลม” เสี่ยงสูงสุดจากเทรนด์นี้

เนื่องจากกลุ่ม Eco-active จะชื่นชอบอาหารและของใช้ที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ น้อยกว่า เป็นของจากธรรมชาติ ปฏิเสธอาหารกระป๋องหรือแช่แข็ง สิ่งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเสี่ยงมากที่จะเสียยอดขายสูงภายในปี 2031 หากไม่มีการปรับตัว

  • น้ำอัดลม เสี่ยงยอดขายลด 703 ล้านยูโร
  • อาหารแช่แข็ง เสี่ยงยอดขายลด 595 ล้านยูโร
  • เนื้อสัตว์ เสี่ยงยอดขายลด 571 ล้านยูโร
  • อาหารสำเร็จรูปแช่เย็น เสี่ยงยอดขายลด 307 ล้านยูโร
  • น้ำแร่ เสี่ยงยอดขายลด 199 ล้านยูโร

5) แบรนด์ยั่งยืนในใจผู้บริโภค

สำหรับ Top 10 แบรนด์ในใจผู้บริโภคทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีดังนี้ (ภาพด้านล่าง)

สัดส่วนของแบรนด์ยั่งยืนจะเห็นได้ว่า 1 ใน 3 ของแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้ซื้อเป็นแบรนด์ที่เปิดตัวมาวางตำแหน่งทางการตลาดด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ

6) แบรนด์ยั่งยืนเติบโตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยตลาด FMCG

ทำไมแบรนด์หรือบริษัทต้องใส่ใจกับความยั่งยืน? ดังที่เห็นว่ากลุ่ม Eco-active มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สินค้า FMCG ที่เป็นแบรนด์ยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตต่อปี 15.7% ซึ่งโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ FMCG ทั้งตลาดถึง 5 เท่า

แม้แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน จากการประเมินการเติบโตของตลาด FMCG ช่วง Q2/2021 โตเฉลี่ยเพียง 4% แต่แบรนด์ยั่งยืนสามารถเติบโตได้ 13%

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1354552
25 เมืองใหญ่ในโลกเป็นตัวการหลักปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน https://positioningmag.com/1341974 Tue, 13 Jul 2021 06:31:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341974 25 เมืองใหญ่ในโลกจากทั้งหมด 167 เมืองเป็นตัวการหลักของการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” โดยเกือบทั้งหมดนั้นอยู่ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะจีนคือแหล่งอุตสาหกรรมการผลิต การหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงไม่ง่าย

นักวิจัยศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตีพิมพ์ลงในวารสาร Frontiers in Sustainable Cities โดยมีการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 167 เมืองของ 53 ประเทศ พบว่า เมืองใหญ่ทั้งหมด 25 เมืองเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 52% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมด

ในจำนวน 25 เมืองนั้น มีถึง 23 เมืองที่อยู่ในประเทศจีน เช่น เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, หานดาน ส่วนอีก 2 เมืองคือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมอสโก ประเทศรัสเซีย

Shaoqing Chen หนึ่งในทีมวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น เมืองกวางโจว กล่าวว่า งานวิจัยนี้ต้องการจะตอกย้ำความสำคัญของ ‘เมือง’ ว่ามีบทบาทในการช่วยลดภาวะเรือนกระจกได้

“เป็นเรื่องง่ายและมีตรรกะ” เขากล่าว “ถ้าคุณไม่ปฏิบัติในวันนี้ อีกหน่อยวันข้างหน้าคุณก็จะต้องรับผลจากภาวะโลกร้อน”

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วง Pre-industrial baseline (ยุคปีค.ศ. 1850-1900) และคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นขีดจำกัดสูงสุดที่ข้อตกลงปารีสเคยตกลงกันไว้ (*ข้อตกลงปารีส เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยมีสมาชิก UN 196 ประเทศ ร่วมให้คำมั่นว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส)

ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ของ Chen และนักวิทยาศาสตร์แจ้งเตือนไว้ด้วยว่า ผลศึกษาอาจจะไม่แม่นยำ เพราะบางเมืองให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เก่ามาก บางแห่งเก่าถึงปี 2005

 

จีนเป็นฮับการผลิตที่หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก

Chen กล่าวต่อว่า การวิเคราะห์ขั้นต่อไปของทีม จะลงลึกเรื่องการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหานครต่างๆ รวมถึงความคืบหน้าในการลดโลกร้อนด้วย

โดยปัจจุบันพบว่า 68 เมืองจาก 167 เมืองที่ศึกษา มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นเมืองในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีเพียง 30 เมืองที่มีความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา

TAIZHOU, CHINA – NOVEMBER 24, 2020 – Workers inspect inside and outside the Great Wall Motor factory. Taizhou city, Jiangsu Province, November 24, 2020.- PHOTOGRAPH BY Costfoto / Barcroft Studios / Future Publishing (Photo credit should read Costfoto/Barcroft Media via Getty Images)

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า การวิเคราะห์ครั้งนี้ยืนยันสิ่งที่นักวิจัยคาดคิดไว้แล้ว นั่นคือ เมืองในประเทศจีนที่พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรในอัตราสูง มักจะเป็น “ฮับอุตสาหกรรมการผลิต” แต่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เมืองที่พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรในอัตราสูง มักจะเป็นเมืองที่มีการบริโภคสูง

กล่าวโดยสรุปคือ เมืองในยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง แต่เมืองอื่นๆ ของโลกอยู่ในระยะที่เร่งความเร็วการลดการปล่อยคาร์บอนได้ยากกว่า

“พวกเขา (เมืองในประเทศพัฒนาแล้ว) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วหลายตันกว่าจะไปถึงจุดที่เมืองเป็นอยู่ขณะนี้ ขณะที่จีนอยู่ในขั้นที่กำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เราทราบว่าอินเดียกำลังจะมาถึงขั้นเดียวกับจีน และทวีปสุดท้ายที่จะกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงคือทวีปแอฟริกา” Dan Hoornweg ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยออนทาริโอเทค และอดีตที่ปรึกษาให้กับธนาคารโลกด้านภาวะโลกร้อนและความยั่งยืนของเมือง ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้

Source

]]>
1341974
Google Earth โชว์ภาพถ่ายดาวเทียม “Timelapse” โลกเปลี่ยนไปอย่างไรในรอบ 36 ปี https://positioningmag.com/1328358 Tue, 20 Apr 2021 05:34:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328358 ฟีเจอร์ใหม่จาก Google Earth ให้ทุกคนเข้าไปรับชมภาพ Timelapse ดูความเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลก 36 ปี นับจากปี 1984 ถึง 2020 เห็นชัดเจนถึงการพัฒนาของเมือง การตัดไม้ทำลายป่า จนถึงเรื่องโลกร้อน โดยประเทศไทยมีภาพให้ชม 1 จุด คือ สนามบินสุวรรณภูมิ

Google Earth ออกภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Timelapse ให้ผู้ใช้เข้าไปคลิกสำรวจด้วยตนเองได้ โดยโครงการนี้ต้องรวมภาพถ่ายดาวเทียมถึง 24 ล้านภาพ ตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2020 และใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งของ Google Cloud ทำการปะติดปะต่อภาพเหล่านี้เป็นเวลา 2 ล้านชั่วโมง จนได้ออกมาเป็นฟีเจอร์ดังกล่าว

งานครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือสารพัดราย โดย Google ร่วมมือกับองค์การ NASA, โครงการ Landsat สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา, โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียม Sentinel รวมถึง CREATE แล็บของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งให้ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีการทำภาพ Timelapse

ผลสำเร็จของฟีเจอร์คือภาพ Timelapse จำนวน 189 ภาพจากทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 10 หมวดย่อย คือ แหล่งเกษตรกรรม, การตัดไม้ทำลายป่า, ธารน้ำแข็ง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, มหานคร, ความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตา, เหมือง, ภัยธรรมชาติ, การเจริญเติบโตของเมือง และ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ

มีภาพที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น มหานครดูไบ UAE ซึ่งเนรมิตแผ่นดินรูปต้นปาล์มยื่นลงไปในทะเล

Cr: Google Earth

การตัดป่าเพื่อหาพื้นที่ทำไร่ถั่วเหลืองในซาน ฆูเลียน ประเทศโบลิเวีย ในรอบ 3 ทศวรรษ ป่าแทบจะหายไปหมดเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

Cr: Google Earth

หรือการทำเหมืองถ่านหินในมองโกเลีย ประเทศจีน จากพื้นที่ธรรมชาติกลายเป็นเหมืองขนาดมหึมาเพื่อตอบรับความต้องการ โดยปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ส่งออกพถ่านหินมากที่สุดในโลก

Cr: Google Earth

รวมถึงภาพจากประเทศไทย 1 แห่งคือ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ทำให้เห็นทั้งการเกิดขึ้นของสนามบินบนพื้นที่เดิมที่ยังเป็นท้องทุ่ง และความเจริญที่เกิดขึ้นโดยรอบตามมา

Cr: Google Earth

Google กล่าวว่า บริษัทหวังว่าภาพเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ เช่น รัฐบาล นักวิจัย นักข่าว คุณครู และใครก็ตามที่ต้องการวิเคราะห์ภาพเหล่านี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นเทรนด์ หรือข้อสังเกตจากภาพ

“เราขอเชิญชวนใครก็ตามที่ต้องการนำ Timelapse ไปใช้และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกประหลาดใจกับแนวชายฝั่งที่เปลี่ยนไป หรือกำลังติดตามการเติบโตของมหานคร หรือติดตามการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ก็ตาม” รีเบคคา มัวร์ ผู้อำนวยการของ Google Earth กล่าว

“Timelapse คือการถอยมามองภาพกว้าง เพื่อประเมินสุขภาพและความน่าอยู่อาศัยของบ้านหลังเดียวที่เรามี และจะเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจเพื่อปฏิบัติจริงต่อไป”

คลิกเข้าไปสำรวจ Google Earth Timelapse กันได้ที่นี่

Source: CNN

]]>
1328358
“ลอรีอัล” ตั้งเป้าสินค้าต้องเคารพสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบมาจากพืช 95% ภายในปี 2573 https://positioningmag.com/1324283 Tue, 23 Mar 2021 07:59:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324283 ลอรีอัล พลิกโฉมฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (R&I) ครั้งสำคัญ ด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Sciences) ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นไปตามความตั้งใจของบริษัทที่จะนำเสนอสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเคารพต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

โดยภายในปี 2573 ส่วนผสม 95% ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลจะมาจากพืชที่สามารถปลูกทดแทนได้ แหล่งแร่ธาตุที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น หรือกระบวนการผลิตแบบหมุนเวียน ขณะที่การพัฒนาสูตรต่างๆ ทั้ง 100% จะพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำเป็นสำคัญ

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีทั้งต่อสุขภาพ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น และการปกป้องโลกเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งในขณะนี้ การปรับเปลี่ยนการทำงานของฝ่าย R&I ของลอรีอัลนั้นมีเป้าหมายที่ท้าทายมาก

โดยลอรีอัลจะใช้ธรรมชาติเป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อสร้างสรรค์ส่วนประกอบทางเลือก ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนหรือหมุนเวียนได้ เพื่อทดแทนส่วนผสมที่ผลิตหรือมีส่วนประกอบจากปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

ลอรีอัลจะใช้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมล่าสุด เพื่อให้การผลิตส่วนผสมต่างๆ เป็นไปอย่างยั่งยืน และสกัดสิ่งที่ดีที่สุดจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในปี 2563 ที่ผ่านมา

  • วัตถุดิบ 80% ของลอรีอัล กรุ๊ป สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
  • วัตถุดิบ 59% เป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนหรือหมุนเวียนได้
  • 34% เป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หรือมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ
  • ส่วนผสม 29% ที่ใช้ในสูตรต่างๆ ของลอรีอัลนั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นตามหลักการของเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemistry)

นิโคลา ฮิโรนิมุส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล กล่าวว่า

ลอรีอัลกำลังก้าวเข้าสู่การพลิกโฉมฝ่ายวิจัย และนวัตกรรมของบริษัทด้วยวิทยาการวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของบริษัทนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เราตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2573 เราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ความงามที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคทั้งหญิงและชายทั่วโลก พร้อมทั้งปกป้องสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป”

ณ ปัจจุบัน ลอรีอัล มีระบบบริหารจัดการคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกมากกว่า 100 ขั้นตอน ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด มีกระบวนการพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติของตัวผลิตภัณฑ์ ให้คงคุณภาพตลอดอายุการใช้งาน

โดยผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ใน ลอรีอัล กรุ๊ป ส่วนใหญ่มีอายุอย่างน้อย 3 ปี นับจากเดือนปีที่ผลิต โดยผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลทั่วโลกได้รับการทดสอบและรับรองคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยตลอดระยะเวลาของอายุผลิตภัณฑ์

Source

]]>
1324283
Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ “ความยั่งยืน” และอะไรที่ยังเป็นประเด็นอนาคต https://positioningmag.com/1317807 Wed, 03 Feb 2021 11:23:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317807 Uniqlo ออกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2021 สรุปไทม์ไลน์การพัฒนาด้าน “ความยั่งยืน” ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำมาตลอด 20 ปี พร้อมเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอีกมากที่ผู้บริโภคจับตามองให้แบรนด์แฟชั่นรายนี้มีส่วนร่วม

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นคือหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับการพัฒนา “ความยั่งยืน” โดยมี Uniqlo แบรนด์ภายใต้บริษัท Fast Retailing จากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในยักษ์แฟชั่นที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำ ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,000 สาขาทั่วโลก การขยับของ Uniqlo จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

ปีนี้บริษัท Fast Retailing มีการจัดทำ “รายงานความยั่งยืนประจำปี 2021” โดยไฮไลต์สำคัญคือการครบรอบ 20 ปีของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเริ่มนับตั้งแต่ตั้ง “สำนักงานอุทิศเพื่อสังคม” (Social Contribution Office) ขึ้นในปี 2001 ทำให้รายงานฉบับนี้จะมีการย้อนไทม์ไลน์ว่า Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้าง

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing ยังกล่าวถึงการทำเพื่อความยั่งยืนด้วยว่าในมุมมองของเขา ความยั่งยืนคือการสร้างสถานการณ์ “วิน-วิน” ให้กับทุกฝ่าย และโลกใบนี้มีข้อจำกัด ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้นอีก ยิ่งทำให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน จึงจะเกิดผลกระทบเชิงบวกได้จริง

สำหรับหัวข้อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ Uniqlo ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

“ผู้ลี้ภัย”

Uniqlo เลือกทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัย โครงการที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2001 เป็นครั้งแรกคือการบริจาคเสื้อผ้าให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัย จนถึงปัจจุบันมีการบริจาคสะสม 41.1 ล้านชิ้น กระจายใน 75 ประเทศ/ดินแดน มีผู้รับการสนับสนุนมากกว่า 9.4 แสนคน

Uniqlo ได้เป็นพาร์ตเนอร์ระดับโลกกับ UNHCR เมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้การทำงานขยายจากเรื่องเสื้อผ้า สู่การว่าจ้างงาน และความช่วยเหลือฉุกเฉิน ขณะนี้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยในร้านของแบรนด์ 121 คน และแบรนด์มีการทำแคมเปญคอลเลกชันเพื่อระดมทุนช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น เดือนมิถุนายน 2020 นำรายได้ 10 ล้านเยนจากการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับทารก บริจาคให้กับครอบครัวและเด็กๆ ผู้ลี้ภัยเพื่อต่อสู้กับ COVID-19

Uniqlo บริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ลี้ภัยสะสม 41.1 ล้านชิ้นในรอบ 20 ปี
“ผู้ประสบภัยธรรมชาติ”

หัวข้อนี้ค่อนข้างผูกโยงกับต้นกำเนิดของแบรนด์คือ “ญี่ปุ่น” ดินแดนที่มีภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ญี่ปุ่นเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2011 บริเวณภูมิภาคโทโฮขุ ดังนั้น Uniqlo จึงตั้งหน่วยสนับสนุนการฟื้นตัว Great East Japan Earthquake ขึ้นในปีเดียวกัน และได้ทำงานบริจาคให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม ดินถล่ม โดยไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่ยังไปสู่ประเทศอื่นด้วย เช่น ฟิลิปปินส์

หน่วยสนับสนุนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติยังขยายวงมาทำงานในช่วงโรคระบาด COVID-19 ด้วย โดยถือเป็นภัยจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมแล้ว Uniqlo มีการบริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ประสบภัยไปแล้ว 3 ล้านชิ้น และปีที่ผ่านมาบริจาคมาสก์ AIRism ไป 16 ล้านชิ้น รวมถึงชุด PPE อีก 1.4 ล้านชิ้น

Uniqlo บริจาคมาส์กผ้า AIRism ไป 16 ล้านชิ้น ต่อสู้ COVID-19
“ผู้พิการและผู้ที่เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต”

Uniqlo ต้องการสนับสนุนหัวข้อนี้ โดยมีการว่าจ้างงานผู้พิการกว่า 1,000 คนทั่วโลก ในแง่ของการผลิตสินค้า มีชุดแบบ Front-Open เปิดด้านหน้าได้เพื่อตอบโจทย์คนที่มีร่างกายไม่เหมาะกับการสวมเสื้อผ้าทางศีรษะ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วย คนชรา

หัวข้อนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึง “ผู้หญิง” ในบางแง่มุมด้วย โดยมีการบริจาคเสื้อผ้า 14,000 ชิ้นให้กับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวของญี่ปุ่น บริจาคเงิน 10 ล้านเยนให้กลุ่มสตรีในแซมเบียเพื่อให้พวกเธอเป็นอิสระทางการเงิน

และมีโครงการ Grameen Uniqlo Business ที่บังกลาเทศ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลิตเสื้อผ้าและจำหน่ายกันเองในท้องถิ่น เมื่อได้กำไรนำมาลงทุนกลับคืนในร้าน มีหน้าร้านขาย 16 แห่งในกรุงดากา และเน้นการว่าจ้างผู้หญิงทำงาน เพื่อให้พวกเธอมีทางออกในการพึ่งพิงตนเองทางการเงินและเป็นอิสระในชีวิต

Grameen Uniqlo สาขาแรกในบังคลาเทศ
“แรงงาน”

มาถึงหัวข้อภายในองค์กรเองบ้าง เรื่องแรงงานผลิตเสื้อผ้าคือหัวข้อที่ทุกคนจับตามอง ด้วยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยเฉพาะกลุ่มฟาสต์แฟชั่นมักจะแข่งขันกันด้านราคา จนมีการขูดรีดแรงงาน

ต่อประเด็นนี้ Uniqlo จัดตั้ง Code of Conduct ขึ้นเมื่อปี 2004 ซึ่งนำไปใช้กับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่ซัพพลายสินค้าให้แบรนด์ โดยจะต้องรับการมอนิเตอร์โดยตรงที่โรงงาน จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานพาร์ตเนอร์ที่ต้องใช้กฎการทำงานเหล่านี้ 489 แห่งใน 22 ประเทศ และมี Hotline ให้พนักงานของบริษัทและของพาร์ตเนอร์แจ้งเรื่องต่อ Fast Retailing ได้โดยตรงหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

จากนั้นแบรนด์เข้าร่วม Fair Labour Association (FLA) ในปี 2015 ตามด้วยการแสดงความโปร่งใส เปิดรายชื่อโรงงานเย็บผ้าที่ส่งสินค้าให้ Uniqlo ทั้งหมดเมื่อปี 2017 และเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ International
Labour Organization (ILO) ในปี 2019

ประเด็นแรงงานยังเกี่ยวพันกับ “โอกาสของผู้หญิง” ด้วย โดยเปิดให้พนักงานหญิงจัดสมดุลชีวิตระหว่างงานบริษัทกับการดูแลลูกหรือดูแลผู้สูงอายุได้ และยังมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ลดอคติที่มีต่อผู้หญิงออกไป ปัจจุบันมีผู้หญิงสัดส่วน 39.2% ในตำแหน่งบริหารทั้งหมดของกลุ่ม Fast Retailing

“สิ่งแวดล้อม”

ส่วนนี้เป็นหัวข้อที่กว้างมาก เพราะครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ร้านขายสินค้า และยังรวมถึงการรีไซเคิลเสื้อผ้ากลับมาผลิตใหม่ด้วย โดย Uniqlo มีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • เข้าร่วม Better Contton Initiative (BCI) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องการให้ความรู้เกษตรกรไร่ฝ้ายเรื่องการใช้น้ำและเคมีในไร่
  • มีนโยบายปล่อยสารเคมีอันตรายจากโรงงานเป็น ‘ศูนย์’
  • พัฒนาเทคโนโลยีลดการใช้น้ำล้างผ้ายีนส์ 99% เท่ากับใช้น้ำเพียง 1 ถ้วยกาแฟต่อกางเกงยีนส์ 1 ตัว
  • นำเส้นใยจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์บางอย่าง
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากในร้านค้า โดยทยอยเปลี่ยนมาใช้หลอด LED และติดแผงโซลาร์รูฟ
  • งดใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ และสนับสนุนให้ผู้ซื้อนำถุงมาเอง
  • โครงการ RE.UNIQLO รับคืนเสื้อผ้า แบ่งกลุ่มไปบริจาคและกลุ่มที่นำมารีไซเคิล กลุ่มรีไซเคิลจะถูกนำไปแยกเส้นใยมาผลิตใหม่เป็น Recycled Down Jacket สินค้าทั้งตัวถูกผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยมีการรีไซเคิลเสื้อไปแล้วกว่า 6.2 แสนตัวจากโครงการนี้
ดาวน์แจ็กเก็ตจากการรีไซเคิลเสื้อผ้า

แล้วเป้าหมายต่อจากนี้ของ Uniqlo คืออะไร? “ยูกิฮิโระ นิตตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน Fast Retailing ระบุว่า อีก 20 ปีต่อจากนี้ บริษัทจะพัฒนาต่อเนื่องในหัวข้อต่อไปนี้

1) รับมือโลกร้อน โดย Uniqlo ยึดถือ “ความตกลงปารีส” ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาภายในปี 2050 โดยบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวตลอดทั้งซัพพลายเชนภายในสิ้นปี 2021 นี้ ปัจจุบันเริ่มไปแล้วที่ส่วนของร้านค้า Uniqlo 60 สาขาในยุโรปติดตั้งระบบพลังงานสะอาดแล้ว 3 สาขาในไต้หวันติดตั้งโซลาร์รูฟแล้ว และกำลังจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในบางสาขาของญี่ปุ่นปีนี้

2) สำนักงานอุทิศเพื่อสังคมจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะการเตรียมช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ

3) โครงการ RE.UNIQLO จะยกระดับ หาทางนำวัสดุอื่นมารีไซเคิลผลิตใหม่ได้ (ปัจจุบันทำได้เฉพาะดาวน์แจ็กเก็ต)

 

ประเด็นที่ยังถูกจับตามอง

จากนโยบายต่างๆ ที่ Uniqlo ริเริ่มและดำเนินการ Good On You องค์กรจัดเรตติ้งระดับความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะ มองว่า แบรนด์ Uniqlo ยังอยู่ในระดับ “เพิ่งเริ่มต้น” โดยเป็นระดับ 3 จาก 5 ระดับที่มีให้ ทำให้ถูกจัดเป็นแบรนด์ระดับกลางๆ ในแง่นี้

เจาะลึกลงไปในแง่สิ่งแวดล้อม Uniqlo ถูกมองว่ามีนโยบายที่ดีแต่ไม่อัปเดตผลการดำเนินงานมากพอ (ซึ่งอาจจะดีขึ้นบ้างในปีนี้ เมื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง)

ในด้านแรงงานยิ่งทำได้ไม่ดีพอโดย Fashion Transparency Index (FTI) 2020 จัดให้ Uniqlo มีความโปร่งใสด้านแรงงานเพียง 31-40% เนื่องจากแบรนด์ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์ตลอดสายการผลิตจนถึงต้นน้ำ และไม่ได้ระบุค่าแรงที่คนงานได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการปกป้องสุขอนามัยคนงานในซัพพลายเชนท่ามกลาง COVID-19

แต่ถ้ามองในแง่ดี ค่าเฉลี่ยของแบรนด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่ที่ 21-30% เท่านั้น เพราะฉะนั้นนับว่า Uniqlo ก็ยังดีกว่าแบรนด์ส่วนใหญ่

ประเด็นร้อนอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบทั้ง Uniqlo และอีกหลายแบรนด์ทั่ววงการคือ “ฝ้าย” ต้นทางการผลิตเสื้อผ้าที่มาจากซินเจียง ประเทศจีน ถูกมองว่ามีความน่าเคลือบแคลงเรื่องการใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายและโรงงานฝ้าย

ปัจจุบัน Uniqlo ยังไม่ได้ระบุที่มาของฝ้ายในซัพพลายเชน (มีระบุลึกถึงแค่ซัพพลายเออร์โรงงานเย็บผ้า) แต่สำนักข่าว NBC News เคยทำข่าวเจาะจนเจอผู้ผลิตผ้าฝ้ายรายใหญ่ Lu Thai Textile ซึ่งใช้ฝ้ายจากไร่ในซินเจียง และบริษัทนี้ส่งผ้าฝ้ายให้กับหลายแบรนด์ เช่น Hugo Boss, L.L. Bean, Brooks Brothers, Esprit และ Uniqlo

หลายแบรนด์กำลังพยายามตรวจสอบย้อนกลับสินค้าของตนไปให้ถึงต้นทาง เพื่อควบคุมให้ตรงกับนโยบายไม่ขูดรีดแรงงาน ส่วนการพิจารณาเลือกใช้ฝ้ายจากแหล่งอื่นอาจจะยากสักหน่อย เพราะ 22% ของฝ้ายทั่วโลกส่งออกจากประเทศจีน และฝ้ายถึง 85% ของจีนก็มาจากซินเจียงนี่เอง

Source: Uniqlo, Good On You, NBC News

]]>
1317807