เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 Nov 2023 11:53:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Cheers x Yuzu House คอลแลป “เบียร์” รสผลไม้-แอลกอฮอล์ต่ำ สร้างตัวเลือกใหม่ให้คนไม่ดื่มหนัก https://positioningmag.com/1451955 Wed, 15 Nov 2023 12:33:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451955
  • Cheers Selection (เชียร์ ซีเล็คชั่น) เบียร์สัญชาติไทยในมือ “ทีเอพี” คอลแลปกับ “Yuzu House” เปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ “เบียร์มิกซ์” Cheers Selection Japanese Yuzu
  • สร้างตัวเลือกใหม่ในตลาดเบียร์ลาเกอร์ นำเสนอเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ 3% ตอบสนองเทรนด์คนรุ่นใหม่ไม่ชอบดื่มหนัก
  • เปิดขายเพียง 4 เดือนและขายในวงจำกัด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล (seasonal product) เน้นกระตุ้นความต้องการซื้อระยะสั้น วางเป้าผลิต 6-7 แสนกระป๋อง
  • “ภัททภาณี เอกะหิตานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเอพี เทรดดิ้ง จำกัด เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท “Cheers Selection Japanese Yuzu” เป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่ 4 ในพอร์ตโฟลิโอ และเป็นสินค้าที่คอลแลปกับแบรนด์ไทย “Yuzu House by Honey Moni”  ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากส้มยูซุของญี่ปุ่นเป็นรายแรกในไทย

    สินค้าจะออกในแพ็กเกจจิ้งสลิมแคนขนาด 320 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 44 บาทต่อกระป๋อง

    Cheers เบียร์

    ก่อนหน้านี้ Cheers Selection มีผลิตภัณฑ์ 3 รายการหลักในพอร์ต คือ วีตเบียร์ Cheers Selection Siam Weizen, เบียร์ดำ Cheers Selection Riceberry และ เบียร์มิกซ์เสาวรส Cheers Selection Siam Weizen Passion Fruit

    ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ Cheers Selection Japanese Yuzu เป็นการสานต่อตลาดกลุ่ม “เบียร์มิกซ์” ที่ทีเอพีเป็น “เจ้าแรก” ที่เปิดตลาด โดยเลือกรสส้มยูซุเพื่อสร้างความแปลกใหม่ และเป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยจากเครื่องดื่มประเภทอื่นอยู่แล้ว

    คนรุ่นใหม่ไม่ชอบ “ดื่มหนัก”

    ภัททภาณีเปิดอินไซต์ผู้บริโภคยุคนี้ที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัย 20-35 ปี มักจะต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ ไม่ขม ปริมาณดื่มไม่มาก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยม “ดื่มหนัก” เหมือนคนรุ่นก่อน ชอบที่จะมีเครื่องดื่มเบา ๆ ไว้เข้าสังคม หรือเป็นเครื่องดื่มสร้างความสดชื่นในบางวันเท่านั้น

    หากมองเฉพาะกลุ่ม “เบียร์” ในตลาดที่ส่วนใหญ่เป็นเบียร์ประเภท “ลาเกอร์” ที่มีความขมและแอลกอฮอล์สูง 5% ขึ้นไป ผู้บริโภคจึงเริ่มต้องการตัวเลือกใหม่ที่ตรงใจมากกว่า

    สะท้อนได้จากผลิตภัณฑ์ของ Cheers Selection เอง สินค้าวีตเบียร์และเบียร์ดำที่เป็นสินค้าหลัก ทำยอดขายได้รายการละ 5 แสนกระป๋องต่อปี (*ไม่รวมเบียร์สดที่ขายผ่านช่องทาง On Premise) ขณะที่เบียร์มิกซ์เสาวรส ที่เป็นสินค้าน้องใหม่ ทำยอดขายได้ 1.4 ล้านกระป๋องภายในเวลา 1 ปีกว่า

    จึงไม่แปลกที่ทีเอพีจะต่อยอดสินค้าในตระกูลเบียร์มิกซ์ต่อ แข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น เช่น วิสกี้มิกซ์ โซจูมิกซ์ ที่มีการออกสินค้ารสชาติผลไม้-แอลกอฮอล์ต่ำมาจับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้เช่นกัน

    ออกสินค้า “ตามฤดูกาล” เน้นปั้นยอดระยะสั้น

    เบียร์ Cheers Selection Japanese Yuzu จะออกจำหน่ายในระยะเวลาจำกัดเพียง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567

    ช่องทางจำหน่ายยังขายในพื้นที่จำกัดด้วย โดยจะขายผ่าน “Yuzu House” 3 สาขา คือ ไอคอนสยาม, สุทธิสาร และ ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ และวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต “ดอง ดอง ดองกิ” ทุกสาขาทั้ง 8 สาขา (*รวมสาขาที่กำลังจะเปิดใหม่ที่ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ)

    Cheers เบียร์ภัททภาณีระบุว่าที่ขายในระยะเวลาจำกัด เพราะเป็นสินค้าตามฤดูกาล (seasonal product) ที่ต้องการสร้างความตื่นเต้น ให้ผู้บริโภครีบซื้อเพื่อลองชิม อาศัยความรู้สึกแปลกใหม่ในการขาย โดยใน 4 เดือนนี้ทีเอพีตั้งเป้าผลิตจำหน่ายไว้ 6-7 แสนกระป๋อง

    “กลยุทธ์ seasonal product ของเรา เรามองว่าจะวางขายในกรอบ 3-6 เดือน ระยะเวลาต้องไม่ยาวไปเพราะต้องให้ความรู้สึกว่ามีจำกัด แต่ก็ต้องมีเวลาวางจำหน่ายพอสมควรเพื่อทำการตลาดให้ไปถึงลูกค้าก่อน” ภัททภาณีกล่าว “ส่วนใน 1 ปีเราจะออกกี่ตัวต้องรอติดตาม แต่ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 เราจะมีตัวใหม่อีกแน่นอน”

    อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นสินค้าตามฤดูกาล แต่ถ้ายอดขายดีมาก ก็อาจจะมีการผลิตจำหน่ายต่อได้เช่นกัน เหมือนกับเบียร์มิกซ์เสาวรสที่ขยายเวลาจำหน่ายมาเกิน 1 ปีแล้ว

    สำหรับตลาดเบียร์ปี 2566 ภัททภาณีให้ข้อมูลว่า ช่วง 9 เดือนแรกมีการเติบโต 6.6% แต่คาดว่าไตรมาส 4 นี้การเติบโตจะไม่สูงมากเพราะไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นปีที่กลุ่มเบียร์โตพุ่งไปแล้วจากการเปิดเมือง ทำให้ตลอดปี 2566 เชื่อว่าตลาดเบียร์จะโตประมาณ 5% จากปีก่อน

    ]]>
    1451955
    ภาวะ “โลกเดือด” สร้างโอกาสในวิกฤตให้กับผู้ผลิต “ไวน์” ในสวีเดน รัสเซีย และอังกฤษ https://positioningmag.com/1442236 Fri, 25 Aug 2023 02:21:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442236 2023 คือปีแห่งความท้าทายทางธรรมชาติ ภาวะ “โลกเดือด” ทำให้อากาศป่วน แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสของกลุ่มผู้ผลิต “ไวน์” ในเขตหนาวอย่างสวีเดน รัสเซีย และอังกฤษ ซึ่งพบว่าฤดูเพาะปลูกในประเทศยาวขึ้นจากอากาศที่อุ่นผิดปกติ

    ในปีแห่งภาวะโลกเดือด นักทำ “ไวน์” ในสวีเดนซึ่งปกติไม่ใช่แหล่งไวน์ที่มีชื่อเสียงแถวหน้าของโลก แต่ปีนี้จะเป็นปีที่พวกเขาคว้าโอกาส

    “ผมเห็นการเติบโตของสิ่งต่างๆ ที่ไม่อาจฝันถึงได้เมื่อ 30-40 ปีก่อน” Göran Amnegård นักทำไวน์ที่เริ่มต้นธุรกิจในสวีเดนเมื่อ 20 ปีก่อน กล่าวกับสำนักข่าว AP

    ขณะที่แหล่งผลิตไวน์แถวหน้าของโลก เช่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ขาดแคลนน้ำและอุณหภูมิในฤดูหนาวร้อนผิดปกติ แต่กลับกัน ในสวีเดนที่ปกติอากาศหนาวจัด ปีนี้อากาศจึงอุ่นขึ้นเหมาะแก่การผลิตไวน์คุณภาพดี

    AP รายงานว่า อากาศที่อุ่นขึ้นในสวีเดนทำให้ฤดูเพาะปลูกยาวขึ้นอีกประมาณ 20 วัน ทำให้ปกติที่เพาะปลูกได้ 4 เดือนครึ่งถึง 5 เดือนต่อปี กลายเป็น 6 เดือนถึง 6 เดือนครึ่งต่อปี

    จากปี 1961 มาจนถึงปี 2016 อากาศในสวีเดนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และคาดการณ์กันว่าภายในศตวรรษนี้ อากาศจะอุ่นขึ้นอีก 2-7 องศาเซลเซียส

    ไม่ใช่แค่สวีเดนที่รับอานิสงส์จากภาวะโลกร้อน ตั้งแต่ปี 2016 ก็เคยมีรายงานแล้วว่า ทั้งรัสเซียและอังกฤษต่างมีแหล่งผลิตไวน์ที่คุณภาพดีขึ้นเพราะอากาศอุ่น

    อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไวน์สวีเดนก็ยังโตช้า โดยในปี 2021 ไวน์สวีเดนมีการส่งออกมูลค่ารวม 26.3 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ในปีเดียวกันประเทศผู้ผลิตไวน์ดั้งเดิมอย่างฝรั่งเศสและอิตาลีสามารถส่งออกไวน์ด้วยมูลค่าสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

    ส่วนหนึ่งที่ยังมีการส่งออกน้อย เพราะอุตสาหกรรมไวน์สวีเดนเติบโตช้า ซัพพลายการผลิตมีการเติบโตเพียง 10% ต่อปี

    อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อนอาจจะดีกับผู้ผลิต “ไวน์” แต่ไม่ได้ดีกับภาพรวมของประเทศแถบสแกนดิเนเวียเท่าไหร่นัก เมื่อต้นเดือนนี้เอง นอร์เวย์และสวีเดนประกาศแจ้งเตือนภัยพิบัติเพราะมีฝนตกหนักจนทำให้รถไฟตกราง มีผลกระทบต่อผู้โดยสารมากกว่า 100 คน และอุทกภัยยังมีผลต่อเส้นทางสัญจรบนถนนทั่วประเทศทั้งสอง

    โลกร้อนไม่ได้ทำให้แหล่งผลิตไวน์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป ความร้อนยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย และขั้วโลกเหนือนั้นอุดมไปด้วยน้ำมัน แร่ และปลา ทำให้หลายประเทศจับจ้องที่จะเข้าครองพื้นที่ โดยเฉพาะรัสเซียที่เริ่มเข้าไปยึดครองแล้วตั้งแต่ปี 2022

    Source

    ]]>
    1442236
    “ไฮเนเก้น ซิลเวอร์” ออกสูตรใหม่ในรอบ 27 ปี จับกลุ่มคนวัย 20-30 ปี https://positioningmag.com/1394748 Tue, 02 Aug 2022 10:18:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394748
  • “ทีเอพี” ผู้จัดจำหน่ายไฮเนเก้นในไทย เปิดตัวเบียร์สูตรใหม่ “ไฮเนเก้น ซิลเวอร์” ปริมาณแอลกอฮอล์ 4% ต่ำกว่าเบียร์สูตรดั้งเดิม
  • การออกเบียร์สูตรใหม่นี้ มาจากการวิจัยพบว่า คนรุ่นใหม่ ‘Zennials’ วัย 20-30 ปีในหลายประเทศทั่วโลก ชื่นชอบเบียร์ที่รสชาติ ‘ขมน้อยลง’ ทำให้ไฮเนเก้นพัฒนาสูตรเบียร์ซิลเวอร์ เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2562 ที่เวียดนาม
  • ปีนี้ไฮเนเก้นจะเร่งโปรโมตไฮเนเก้น ซิลเวอร์ ทุ่มงบการตลาด 2 เท่า โดยใช้เครื่องมือ Music Marketing ร่วมกับ “ฟังใจ” จัดเทศกาลดนตรี “มหรสพ” อัดแน่น 4 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้
  • “อีลิน โลห์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และ “ธีรภัทร พงศ์เมธี” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ไฮเนเก้น กลุ่มบริษัท ทีเอพี ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเทศไทย “ไฮเนเก้น ซิลเวอร์” ถือเป็นการออกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สูตรใหม่ครั้งแรกในรอบ 27 ปีของไฮเนเก้น

    ความแตกต่างของไฮเนเก้น ซิลเวอร์กับเบียร์ไฮเนเก้น ออริจินอล คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำลงจากเดิม 5% ลดลงเหลือ 4% และมีการปรับแพ็กเกจจิ้งเปลี่ยนพื้นหลังเป็นสีเงินแทน

    ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 22 ของโลกที่ได้วางจำหน่ายไฮเนเก้น ซิลเวอร์ หลังจากวางขายครั้งแรกเมื่อปี 2562 ที่เวียดนาม เฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ขณะนี้ไฮเนเก้น ซิลเวอร์มีขายแล้วในเวียดนาม จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย

    ไฮเนเก้น ซิลเวอร์
    ทีมผู้บริหารกลุ่มบริษัท ทีเอพี

     

    วิจัยพบคนรุ่นใหม่หลายประเทศชอบเบียร์ที่ ‘ขมน้อยลง’

    ธีรภัทรกล่าวย้อนถึงที่มาที่ไปในการพัฒนาเบียร์สูตรใหม่ของบริษัทแม่ คือ การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกและพบว่าคนวัย 20-30 ปีในหลายประเทศชอบรสชาติเบียร์ที่ ‘ขมน้อยลง’ กว่าที่คนรุ่นก่อนๆ ชื่นชอบ

    กลุ่มประเทศที่อยู่ในเทรนด์นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ ส่วนประเทศกลุ่มยุโรป (ยกเว้นสหราชอาณาจักร) ยังชื่นชอบเบียร์รสขมแบบดั้งเดิม

    ในไทยเอง ทีเอพีก็มีการทำงานวิจัย และพบว่าเบียร์ในท้องตลาดไทยก็ค่อยๆ ปรับสูตรให้ขมน้อยลงมาเรื่อยๆ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ไฮเนเก้นไม่ต้องการเปลี่ยนสูตรของเบียร์แบบดั้งเดิม จึงมีการออกเป็นผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ดังกล่าว และจะเน้นการทำตลาดกับกลุ่มคนวัย ‘Zennials’ คือเจนซีและเจนวายบางส่วน ในวัย 20-30 ปี รวมถึงเน้นสัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงเท่าๆ กัน ซึ่งแตกต่างจากโปรไฟล์ผู้บริโภคเบียร์ไฮเนเก้น ออริจินอลซึ่งมักจะเป็นคนวัย 35-55 ปี และเป็นผู้ชาย 70% ผู้หญิง 30%

    ไฮเนเก้น ซิลเวอร์ เริ่มวางตลาดแล้วโดยมีทั้งช่องทางขาย on premise และ off premise มีผลิตภัณฑ์ 3 SKUs ได้แก่ แบบกระป๋อง 490ml, แบบขวด 320ml และแบบขวด 620ml ด้านราคาจะปรับสูงกว่าไฮเนเก้น ออริจินอลเล็กน้อย

     

    ร่วมงาน “ฟังใจ” เปลี่ยนตามรสนิยมดนตรีกลุ่ม Zennials

    ด้านการทำตลาดไฮเนเก้น ซิลเวอร์ปีนี้ ทีเอพีจะทุ่มงบการตลาดเพิ่มเป็น 2 เท่า และยังใช้จุดขายด้าน Music Marketing เช่นเดิม แต่จะมีการเปลี่ยนแนวทางเทศกาลดนตรีให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

    แต่เดิมนั้นไฮเนเก้นจะเน้นเทศกาลดนตรีในกลุ่ม ‘high energy’ เช่น EDM แต่เมื่อกลุ่ม Zennials ชื่นชอบดนตรีที่แตกต่าง ทำให้แบรนด์จับมือกับ “ฟังใจ” (Fungjai) จัดเทศกาลดนตรี “มหรสพ มิวสิค เฟสติวัล” ที่ไลน์อัปศิลปินจะเน้นแนวที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ เช่น Pop, Indy-Pop, HipHop, Alternative ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ

    โดยจะมีการจัดอีเวนต์รวม 4 งานภายใต้เทศกาลมหรสพนี้ เริ่มงานแรก 20 สิงหาคม 2565 และไปจบที่งานใหญ่สุดท้ายวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2565 (ปัจจุบันงานทั้งหมดยังไม่เปิดเผยสถานที่และไลน์อัปศิลปิน)

    สำหรับสถานการณ์ตลาดเบียร์ไฮเนเก้นครึ่งปีแรกปี 2565 ธีรภัทรระบุว่าโตดับเบิลดิจิตเทียบกับครึ่งปีแรก 2564 เนื่องจากการผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหาร ผับ บาร์ ทำให้ช่องทาง on premise ของบริษัทกลับมาทำยอดขายได้ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาแต่ตลาดของไฮเนเก้นซึ่งอยู่ในกลุ่มเบียร์พรีเมียมนั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนเป้าหมายของไฮเนเก้นในกลุ่มตลาดเอเชียแปซิฟิกตลอดปี 2565 ต้องการเติบโตมากกว่า 10% เทียบกับปีก่อน

    ]]>
    1394748
    ตลาด “ไวน์” ในไทยปี 2563 https://positioningmag.com/1341720 Sun, 11 Jul 2021 11:41:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341720 1341720 “ไวน์ออสเตรเลีย” ครองตลาดไทย “Penfolds” โตพุ่ง 82% จับกลุ่มผู้บริโภค “ดื่มในบ้าน” https://positioningmag.com/1338813 Thu, 24 Jun 2021 10:01:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338813
  • “Penfolds” เปิดข้อมูลตลาดไวน์ในไทยมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,570 ล้านบาท) “ไวน์ออสเตรเลีย” เป็นเจ้าตลาดด้วยสัดส่วน 23%
  • เศรษฐกิจที่ซบเซาและมาตรการห้ามดื่มสุราในร้านอาหารสร้างความผันผวน ผู้บริโภคหันไปดื่มไวน์ในบ้านมากขึ้น ปี 2564 ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 21%
    • อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2563 แม้จะเผชิญ COVID-19 แต่แบรนด์ Penfolds ยังเติบโตถึง 82% YoY ช่วงเทศกาล จากการสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์พรีเมียมที่มีคุณภาพแต่เข้าถึงง่าย เหมาะกับคนกลุ่มมิลเลนเนียล

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนึ่งในเซคเตอร์ที่ถูกกระทบมากจากการระบาดของ COVID-19 ในไทย เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดการนั่งรับประทานในร้านอาหารมาแล้ว 2 ครั้ง และสั่งห้ามจำหน่ายสุราภายในร้านอาหารหากพื้นที่มีการระบาดสูง รวมถึงผลทางเศรษฐกิจยังทำให้คนไทยมีกำลังซื้อน้อยลงด้วย นั่นทำให้ปี 2563-64 เป็นความท้าทายของธุรกิจนี้อย่างยิ่ง

    กลยุทธ์เพื่อเอาชนะสภาวะตลาดของ “Penfolds” ไวน์ชื่อดังจากออสเตรเลีย จึงเป็นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง โดยวางตำแหน่งทางการตลาดตัวเองในฐานะ “ไวน์พรีเมียม” ที่มีคุณภาพแต่ราคาเข้าถึงได้ง่าย ร่วมกับการทำการตลาดส่งข้อมูลให้คนไทย “เข้าใจ” ไวน์มากขึ้น และเลือกที่จะใช้จ่ายกับไวน์พรีเมียมสูงขึ้น

     

    “ไวน์ออสเตรเลีย” ครองตลาด

    “โยดีเซน มูตูซามี่” ผู้จัดการทั่วไปด้านฝ่ายขายระหว่างประเทศ Penfolds แบรนด์ไวน์ในเครือ Treasury Wine Estate (TWE) กล่าวถึงตลาดไวน์ไทยก่อนว่า ข้อมูลจาก IWSR พบว่า ตลาดไวน์ไทยปี 2563 มีมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,570 ล้านบาท) แบ่งเซ็กเมนต์เป็นกลุ่มไวน์พรีเมียม 22% ไวน์มาตรฐาน 65% และไวน์ราคาประหยัด 13%

    ปัจจุบันไวน์ออสเตรเลียเป็นเจ้าตลาดไทย มีส่วนแบ่งตลาด 23%

    หากแบ่งตามประเทศต้นทาง ไวน์ที่เป็นที่นิยมที่สุดได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) อิตาลี 3) ชิลี 4) ฝรั่งเศส และ 5) สหรัฐอเมริกา โดยไวน์จากออสเตรเลียครองส่วนแบ่งได้ถึง 23% ของตลาด และมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% ช่วงปี 2558-62 เทียบกับตลาดไวน์รวมของไทยโตปีละ 6% ในช่วงเดียวกัน เห็นได้ว่าไวน์ออสเตรเลียเป็นตัวเลือกของคนไทยมากขึ้น

    โยดีเซนกล่าวว่า แม้จะเผชิญการระบาดแต่ตลาดไทยยังถือเป็นตลาดไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อปี 2563 มีการบริโภคถึง 103.3 ล้านลิตร

    “โยดีเซน มูตูซามี่” ผู้จัดการทั่วไปด้านฝ่ายขายระหว่างประเทศ Penfolds

    จุดแข็งของผลิตภัณฑ์ไวน์ในไทย คือการเป็นเครื่องดื่ม “แสดงฐานะ” ทำให้การทำราคาเพื่อแข่งขันในไทยยังไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่แบรนด์ต้องทำตลาดเพื่อสร้างฐานนักดื่มไวน์ให้มากขึ้น คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวน์ เพราะคนไทยยังมีมุมมองเชิงลบกับไวน์อยู่บ้างว่า เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มยากและเข้าใจยาก ซึ่งจะกลายเป็นกำแพงกั้นไม่ให้นักดื่มใหม่ๆ ทดลองชิม

     

    COVID-19 สร้างความผันผวน

    ด้านสภาวะตลาดตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเริ่มเกิดโรคระบาด COVID-19 มีผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจไวน์ เพราะรัฐบาลไทยมีคำสั่งปิดนั่งทานในร้านอาหารเป็นบางช่วง และห้ามจำหน่ายสุราในร้านเป็นบางพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาด

    นอกจากนี้ ยังมีผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลง TWE พบว่าคนไทยถึง 71% มีรายได้ลดลง ทำให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

    คนไทยมีแนวโน้มใช้จ่ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง (Source: Penfolds/TWE)

    โยดีเซนกล่าวว่าสภาวะตลาดเช่นนี้ทำให้เกิดความผันผวนมาก ข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคเปลี่ยนไปจิบไวน์ “ในบ้าน” มากขึ้น โดยอาจจะเลือกซื้อไวน์เพื่อฉลองให้กับตนเอง หรือจัดปาร์ตี้ดื่มกับคนในครอบครัว/เพื่อนๆ แทนการไปร้านอาหาร

    ผลวิจัยของ TWE ยังพบด้วยว่าคนไทยมีแนวโน้มใช้จ่ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 21% โดยเฉลี่ย (ผู้บริโภคตอบว่าจะใช้จ่ายกับแอลกอฮอล์เท่าเดิม 49% ใช้น้อยลง 36% และใช้มากขึ้น 15%) ยิ่งทำให้ปีนี้จะยังคงเป็นปีที่ท้าทาย

     

    Penfolds ทะยาน 82% ไวน์พรีเมียมเจาะมิลเลนเนียล

    จากข้อมูลทั้งหมด โยดีเซนกล่าวว่าปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทีมงาน Penfolds ทำงานอย่างหนักทางการตลาดเพื่อตามให้ทันสถานการณ์ โดยมีกลยุทธ์การตลาดคือการตอกย้ำแบรนด์ Penfolds ว่าเป็น “ไวน์พรีเมียม” มีคุณภาพแต่ราคาเข้าถึงได้ง่าย (พอร์ตโฟลิโอของ Penfolds ในไทยมีไวน์สนนราคาตั้งแต่ขวดละ 799 บาทจนถึงกลุ่ม “Penfolds Grange” ราคาเฉียด 70,000 บาท)

    รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวน์ สร้างความรู้เรื่องไวน์ในหลายแง่มุม เช่น แหล่งผลิต รสชาติ ธรรมเนียมการดื่ม ฯลฯ เพื่อทำให้คนไทยสนใจไวน์มากขึ้น และความรู้เรื่องราวเบื้องหลังยังจะทำให้ผู้บริโภคเลือกไวน์ที่พรีเมียมมากขึ้นด้วย

    Penfolds แบรนด์ก่อตั้งในออสเตรเลีย ปี 1884

    ผลจากการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์ Penfolds มีการรับรู้แบรนด์ในไทยอยู่ที่ 32% (เก็บข้อมูลเดือนพ.ค. 2562-ก.ค. 2563)

    ข้อมูลจาก TWE ระบุด้วยว่าแบรนด์ Penfolds เป็นผู้นำตลาดไวน์ในไทยอยู่ ณ ปี 2562 แบรนด์มีส่วนแบ่งตลาด 14.4% เป็นอันดับ 1 ทิ้งไกลจากอันดับ 2 ที่มีส่วนแบ่ง 4.7% นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 แบรนด์ยังเติบโตสูงถึง 82% ในช่วงเทศกาล เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งที่อยู่ท่ามกลางความผันผวนของตลาด

    โยดีเซนกล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของไวน์จะเป็น “กลุ่มมิลเลนเนียล” ซึ่งมีทัศนคติพร้อมจะจ่ายมากขึ้นให้กับแบรนด์หรือสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่า ทำให้กลุ่มนี้เป็นเป้าหมายหลักของ Penfolds และเมื่อประเทศไทยเปิดประเทศได้ มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ก็จะช่วยดันให้ตลาดกลับมาสดใสอีกครั้ง

    ]]>
    1338813
    จีนอนุมัติแผนพัฒนา “ดินแดนไวน์” ในประเทศภายใน 15 ปี แข่งขันกับฝรั่งเศส https://positioningmag.com/1337914 Mon, 21 Jun 2021 05:59:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337914 รัฐบาลกลางของจีนอนุมัติแผนการพัฒนา “เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย” เป็นแหล่งผลิตไวน์หลักของโลกภายใน 15 ปี มุ่งเป้าแข่งขันกับ “บอร์โด” ของฝรั่งเศส โดยปัจจุบัน จีนยังอยู่ในลำดับ 10 ผู้ส่งออกไวน์มากที่สุดในโลก แต่เป็นกำลังซื้อสำคัญ ชาวจีนบริโภคไวน์เป็นอันดับ 6 ของโลก

    เป้าหมายปี 2035 ของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ต้องการที่จะผลิตไวน์ให้ได้ปีละ 600 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 9.76 หมื่นล้านบาท) ตามแผนของรัฐบาลกลางที่อนุมัติไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2021

    หนิงเซี่ยหุยนั้นเป็นพื้นที่เขตเทือกเขาเหอหลานและมีแม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง โดยใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินจากปักกิ่งประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น สภาพภูมิประเทศและอากาศของที่นี่ใกล้เคียงกับบอร์โด แหล่งไวน์ชั้นเลิศของฝรั่งเศส

    โรงกลั่นไวน์ Ningxia Changyu Moser XV

    “หากเป้าหมายนี้สำเร็จ พื้นที่ตีนเขาทางตะวันออกของเขาเหอหลานจะได้เป็นแหล่งผลิตสำคัญระดับสากล ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่เทียบเท่ากับบอร์โด” สุ่ยเผิงเฟย ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงเกษตรแห่งประเทศจีนกล่าว รายงานโดยสำนักข่าว CNBC

    หนิงเซี่ยเป็นเพียงหนึ่งในแหล่งผลิตไวน์ที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศจีน แต่พื้นที่ตีนเขาทางตะวันออกของเขาเหอหลานนั้นเป็นจุดสำคัญ เพราะมีพันธุ์องุ่นที่ปลูกได้หลากหลายเทียบเท่ากับบอร์โด ฝรั่งเศส หรือนาปา วัลเลย์ ในสหรัฐฯ จนได้เป็นแหล่งผลิตหลักของไวน์จากแดนมังกร

    เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกของปักกิ่ง ทางใต้ของมองโกเลีย

    อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่จะเทียบชั้นฝรั่งเศสก็ยังห่างไกลนัก เพราะเมื่อปี 2020 บอร์โดสามารถผลิตไวน์ได้ปีละ 522 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่า 3,500 ล้านยูโร (ประมาณ 1.31 แสนล้านบาท) นั่นทำให้หนิงเซี่ยจะไล่ตามทันได้ ต้องผลิตไวน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัวภายในเวลาเพียง 15 ปี

     

    จีนยังส่งออกไวน์ต่ำมาก

    แผนการพัฒนาไวน์ของจีนนั้นยังไม่ลงรายละเอียดภาคปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ได้วางโครงร่างไว้คร่าวๆ ว่าจะมีการพัฒนาองค์ความรู้การทำไวน์ท้องถิ่น และจะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของจีนเพื่อคงพื้นที่ให้เหมาะกับการทำไวน์ไปสู่ระดับโลก

    เมื่อปีก่อน เขตหนิงเซี่ยมีการส่งออกไวน์คิดเป็นมูลค่า 2.65 ล้านหยวนเท่านั้น (ประมาณ 13 ล้านบาท) แต่ถือเป็นการเติบโตที่สูง โดยปรับเพิ่มขึ้น 46.4% เทียบกับปีก่อนหน้า มีฐานรับซื้อหลักคือสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปีก่อนบริษัท Xige Estate ซึ่งเป็นบริษัทในหนิงเซี่ยระบุว่าเริ่มมีการส่งออกไปแคนาดาแล้ว

    ขณะนี้การส่งออกไวน์ของหนิงเซี่ยยังไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ยังผลิตบริโภคภายในประเทศ แม้กระทั่งบริษัท Xige ยังตั้งเป้าว่าจะเจาะตลาดจีนเป็นหลักก่อน คาดว่าในอนาคตจะมีการส่งออกเพียง 10-20% ของที่ผลิตได้

    ไวน์จีนจาก Chateau Mihope ในหนิงเซี่ย

    ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดผู้บริโภคไวน์อันดับ 6 ของโลก แต่ยังไม่ติดในลิสต์ Top 10 ผู้ส่งออกไวน์ แม้ว่าจะมีการผลิตมากเป็นอันดับ 10 ของโลก อ้างอิงข้อมูลจาก องค์กรองุ่นและไวน์นานาชาติ ที่ออกรายงานมาเมื่อเดือนเมษายน 2021

    รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ทั้งการบริโภคและการผลิตไวน์ของจีนกำลังลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้การผลิตลดลง จนอุตสาหกรรมไวน์จีนแข่งขันได้ต่ำลงเมื่อเทียบกับไวน์นำเข้า และในแง่การบริโภคเกิดจากการล็อกดาวน์ในช่วง COVID-19 ระบาด ยิ่งทำให้การบริโภคต่ำ

     

    ต้องสู้กับ “เหล้าไป่จิ๋ว” ที่นิยมสูง

    ไวน์ที่จีนนำเข้ามากที่สุดเมื่อปี 2020 นั้นมาจาก ออสเตรเลีย โดยมากกว่าการนำเข้าไวน์ฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากจีนตั้งกำแพงภาษีกับออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคม 2021 คาดว่าจะทำให้ไวน์ออสเตรเลียเข้ามาในตลาดลดลง

    ผลกระทบนี้จะตกกับผู้ส่งออกไวน์นับพันรายของออสเตรเลียที่มีตลาดหลักคือประเทศจีน พวกเขาต่างเบนเข็มไปหาผู้ซื้อรายใหม่ในอังกฤษ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่คาดว่าไม่ใช่ทุกรายที่จะพยุงตัวเองได้ไหวระหว่างปรับตัว ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นผู้ส่งออกไวน์ฝรั่งเศสและชิลีที่จะได้ตีตลาดจีนมากขึ้น

    นอกจากไวน์นำเข้าแล้ว ผู้ผลิตไวน์จีนสำหรับตลาดในประเทศยังมีคู่แข่งสำคัญอีกรายคือ “เหล้าไป่จิ๋ว” เหล้าท้องถิ่นที่นิยมสูงมากในแดนมังกร ถึงขนาดถูกเรียกขานว่าเป็นเสมือนไวน์แห่งประเทศจีน เพราะเหล้าไป่จิ๋วจะถูกตั้งไว้ตามโต๊ะจัดเลี้ยงมื้อสำคัญ โดยผู้ผลิตไป่จิ๋วที่ดังที่สุดคือ “เหมาไถ”

    สุ่ยเผิงเฟยแห่งกระทรวงเกษตรจีนมองว่า ไวน์จีนจะเป็นที่นิยมในประเทศมากกว่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อสามารถทำราคาได้ถูกใกล้เคียงกับเหล้าไป่จิ๋วทั่วๆ ไปที่สามารถหาซื้อได้ในราคาขวดละ 40 หยวน (ประมาณ 195 บาท) จะทำให้ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น

    Source

    ]]>
    1337914
    เหล้าจีน “เหมาไถ” ขึ้นอันดับ 1 บริษัท “สุรา” ที่ใหญ่ที่สุดของโลก! https://positioningmag.com/1323413 Mon, 15 Mar 2021 09:45:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323413 หากไม่เคยร่วมงานฉลองของชาวจีน เป็นไปได้สูงว่าคุณจะไม่รู้จักสุรา “เหมาไถ” แต่บริษัทผู้ผลิตสุราแบรนด์นี้คือ “กุ้ยโจวเหมาไถ” กลับมีมูลค่าบริษัทพุ่งทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว ทั้งที่ยอดขายเกือบทั้งหมดคือ 97% มาจากประเทศจีน มีการขายนอกประเทศต้นกำเนิดน้อยมาก

    เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นบริษัท “กุ้ยโจวเหมาไถ” ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้นถึง 70% จนมูลค่าบริษัทวิ่งแซง 4 ธนาคารยักษ์ของจีนทั้งหมด และเคยขึ้นไปพีคสุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 ก่อนเทศกาลตรุษจีน ทำให้มูลค่าบริษัทวิ่งขึ้นไปถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ!

    แม้ขณะนี้ราคาหุ้นจะปรับลดลงมาแล้ว แต่มูลค่าบริษัทที่ยังสูง 3.81 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ณ วันที่ 15 มีนาคม 2021) ก็ทำให้เหมาไถกลายเป็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกตีมูลค่าไว้สูงที่สุดในโลก แซงหน้า “เอบีอินเบฟ” ผู้ผลิตเบียร์ “บัดไวเซอร์” ที่มีมูลค่าตลาด 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปแบบไม่เห็นฝุ่น

    เหล้าเหมาไถ

    สุราที่ถูกยกเป็น “เหล้าประจำชาติ”

    เหมาไถคืออะไร? แบรนด์นี้คือสุราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เหล้าไป่จิ๋ว” เป็นเหล้าสีขาวใสที่มีระดับแอลกอฮอล์ 43-53% รสชาติจึงแรงบาดคอดังที่มีคนให้นิยามไว้ว่าเป็นเหล้าที่ “แรงเหมือนมีดโกน” หรือ “สุราไฟ”

    แม้เหล้าจะแรงแต่กลับเป็นที่นิยมมากในจีน โดยถูกยกให้เป็นเหล้าประจำชาติ และเป็นเหล้าแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต มักจะถูกวางไว้ตามโต๊ะจีนในงานเลี้ยงสำคัญ และเสิร์ฟในร้านอาหารหรูกับโรงแรมห้าดาว มีประวัติเป็นเหล้าที่ใช้เสิร์ฟเพื่อต้อนรับ ปธน. ริชาร์ด นิกสัน ในปี 1972 รวมถึง ปธน. บารัค โอบามา ในปี 2013 เมื่อคราวที่ทั้งคู่มาเยือนประเทศจีน

    เหมาไถมีสีขาวใส

    นอกจากจะเสิร์ฟบนโต๊ะงานเลี้ยงแล้ว เหมาไถยังเป็นทั้งของขวัญและของสะสม แม้ว่าราคาขายของรุ่นพรีเมียมจะสูงถึง 8,500 บาทต่อขวดขนาด 500 ml ก็ตาม ทำให้ซัพพลายการผลิตไม่เพียงพอ โดยการเร่งผลิตนั้นทำได้ยาก เพราะเหมาไถก็เป็นเหมือนแอลกฮอล์อื่น เช่น แชมเปญ ที่ต้องผลิตในพื้นถิ่นนั้นๆ เท่านั้น ในกรณีของเหมาไถคือจะต้องผลิตที่ “กุ้ยโจว” ซึ่งมีดิน น้ำ และอุณหภูมิเหมาะสม และการเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างมาใช้ผลิตก็ทำได้แค่ปีละครั้ง ทั้งยังต้องหมักบ่มนาน 3-5 ปี จึงทำให้เหมาไถคือของหายาก

    แม้กระทั่งในช่วงโรคระบาดเมื่อปีก่อน เหมาไถก็ยังขายได้เกลี้ยงชั้นวาง เพราะคนจีนถือว่าสุราแบรนด์นี้เทียบได้กับกระเป๋าแบรนด์เนมต่างๆ ทำให้เศรษฐีที่อัดอั้นไม่ได้ใช้เงินเที่ยวต่างประเทศ หันมาซื้อสินค้าลักชัวรีเหล่านี้เพื่อเก็บไว้แทน โดยนักวิเคราะห์บริษัท Bernstein คาดว่า รายได้ของกุ้ยโจวเหมาไถปี 2020 น่าจะไปแตะ 9.77 หมื่นล้านหยวน เติบโต 10% จากปีก่อนหน้า ทั้งที่เกิดโรคระบาดและมีงานฉลองลดน้อยลง

     

    อนาคตของ “เหมาไถ” ต้องเร่งขยายตลาด

    ดังที่กล่าวไปว่า ถ้าคุณไม่เคยไปเมืองจีนหรือร่วมฉลองกับคนจีน เป็นไปได้สูงที่คุณจะไม่รู้จัก “เหมาไถ” เพราะรายได้ของบริษัท 97% ยังมาจากประเทศจีนเป็นหลัก (ข้อมูลจากผลประกอบการบริษัทปี 2019)

    ในแง่อนาคตของเหมาไถ บริษัทนี้จึงกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้บริษัทขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น แม้จะมีตัวแทนจำหน่ายไปหลายประเทศทั่วโลกแล้วก็ตาม

    ตัวอย่างโฆษณาบนโซเชียลมีเดียของเหมาไถ เริ่มรุกตลาดสหรัฐฯ

    CNN รายงานว่า ก่อนหน้านี้เหมาไถมีความพยายามที่จะทำตลาดหลักนอกประเทศในแอฟริกาและอเมริกามาแล้ว และเคยเซ็นสัญญาพาร์ตเนอร์กับทีมฟุตบอล “อินเตอร์ มิลาน” ในการช่วยโปรโมตสินค้าด้วย แต่เป็นสัญญาทำตลาดเฉพาะประเทศจีน ทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ไม่รวมทวีปยุโรป รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียของเหมาไถก็เริ่มสร้างสรรค์เมนูให้เข้ากับสากลมากขึ้น เช่น แนะนำเมนู Sunset Cocktail สูตรค็อกเทลที่ใช้เหมาไถเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น

    หากเหมาไถสามารถสร้างแบรนด์ในตลาดโลกสำเร็จ ก็จะเป็นเหมือนกับสุราที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะที่กลายเป็นเหล้าระดับโลก เช่น เตกีล่าของเม็กซิโก หรือ วอดก้าของรัสเซีย

    สูตรค็อกเทลเป็นหนึ่งในกุญแจเบิกทางสู่สากลและคนรุ่นใหม่

    อีกประเด็นหนึ่งที่เหมาไถต้องวางแผนการตลาดคือ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจแบรนด์นี้มากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้าหลักคือผู้ชายจีนวัย 40-60 ปี โดย “Spiros Malandrakis” ผู้จัดการฝ่ายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ Euromonitor International มองว่าปัญหานี้คือความเสี่ยงที่สำคัญกับเหมาไถยิ่งเสียกว่าตลาดต่างประเทศ

    “เจนเนอเรชันถัดไปไม่มีใครอยากจะทำเหมือนคนรุ่นพ่อแบบเป๊ะๆ แล้ว” เขาอธิบาย “และมันไม่ดีต่ออนาคตเลย ถ้าคุณไม่เริ่มทำให้มีผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ เข้ามา”

    Malandrakis เปรียบเทียบกับ “เชอร์รี่” ผลไม้ที่เคยเป็นที่นิยมมากมานับร้อยปี แต่วันหนึ่งกลับเสื่อมความนิยมไป เพราะเริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “อาหารที่คนสูงวัยชอบรับประทาน”

    อนาคตของเหมาไถจะรุ่งหรือจะร่วงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บางคนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่งของเหมาไถจะทำให้เหล้ายี่ห้อนี้ได้รับความนิยมสืบไป แต่บางรายก็มองว่าเหมาไถต้องเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุด ก่อนที่คนรุ่นใหม่จะลืมเลือน

    ที่มา: CNN, CNBC, Yahoo Finance
    หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน = 0.15 ดอลลาร์สหรัฐ

    ]]>
    1323413
    ปิดดีล! LVMH เข้าซื้อหุ้น 50% ในแชมเปญ “Ace of Spades” ของ Jay-Z เจ้าพ่อแรปเปอร์ https://positioningmag.com/1320875 Wed, 24 Feb 2021 13:50:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320875 ยักษ์สินค้าลักชัวรีจากฝรั่งเศส LVMH เข้าซื้อกิจการอีกแล้ว! ประกาศซื้อหุ้น 50% ในแชมเปญแบรนด์ Ace of Spades ของแรปเปอร์ดัง Jay-Z แม้ปีก่อนแชมเปญจะยอดขายตกเพราะการล็อกดาวน์ แต่คาดว่าหลังควบคุมการระบาดได้ คนจะกลับมาเฉลิมฉลองอีกครั้ง

    LVMH ประกาศเข้าถือหุ้น 50% ในบริษัท Armand de Brignac ของ Jay-Z แรปเปอร์ดังผู้ผันตัวสู่วงการธุรกิจ บริษัทนี้เป็นเจ้าของแบรนด์แชมเปญ Ace of Spades แชมเปญขวดเมทัลลิกสีสดที่นิยมใช้ในงานปาร์ตี้เฉลิมฉลอง โดยเมื่อปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด แชมเปญแบรนด์นี้จำหน่ายได้มากกว่า 500,000 ขวด สนนราคาตั้งแต่ขวดละ 300-1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,000-30,000 บาท)

    ดีลครั้งนี้ทำให้ Moët Hennessy ในเครือ LVMH ได้เป็นพันธมิตรจัดจำหน่ายทั่วโลกด้วย โดยในพอร์ตของ LVMH มีแอลกอฮอล์ประเภทไวน์และเหล้าอยู่แล้วหลายแบรนด์ มีแบรนด์ที่เป็นกลุ่มแชมเปญ เช่น Dom Perignon (ดงเปรีญง), Veuve Clicquot (เวอฟ คลีโคต์), Krug (ครูก) รวมถึงไวน์ฝรั่งเศส Château d’Yquem (ชาโต ดีเคม)

    แชมเปญ Ace of Spades ภายใต้บริษัท Armand de Brignac

    ที่มาของดีลการขายแชมเปญหรู The New York Times รายงานว่า การเจรจาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2019 เนื่องจาก Jay-Z สนิทสนมกับ Alexandre Arnault ลูกชายของ Bernard Arnault ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ LVMH

    “ผมมักจะส่งรูปว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และเขาก็จะส่งรูปของเขากลับมาให้” Jay-Z ให้สัมภาษณ์ The New York Times “เป็นเรื่องธรรมชาติมาก สบายๆ มาก ผมเห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สูง รักษาคำพูดเสมอ และตรงเวลามาก คุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่ผมเองก็มีเหมือนกัน”

     

    จากแรปเปอร์สู่นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์แชมเปญ

    ประวัติของแชมเปญ Ace of Spades มาอยู่ในมือ Jay-Z ได้อย่างไร ต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี 2006 เมื่อสำนักข่าว The Economist เกิดไปถามความเห็น Frederic Rouzaud ผู้จัดการบริษัทแชมเปญ Cristal ว่า เขาคิดอย่างไรที่แชมเปญของบริษัทฮิตมากในหมู่แรปเปอร์อเมริกัน คำตอบของเขาคือ “เราจะทำอะไรได้? เราบังคับห้ามคนซื้อไม่ได้นี่”

    คำตอบที่แฝงนัยของการเหยียดผิวนี้ทำให้ Jay-Z ของขึ้นและรณรงค์บอยคอตแชมเปญ Cristal ทันที ในปีเดียวกันนั้นเอง แชมเปญแบรนด์ Ace of Spades ของบริษัท Armand de Brignac จากฝรั่งเศสก็มาปรากฏตัวใน MV เพลง Show Me What You Got เพลงใหม่ของ Jay-Z โดยเป็นแชมเปญขวดสีทองแก่ ประทับโลโก้ใบโพธิ์สุดหรู

    ในช่วงนั้น Jay-Z กำลังกรุยทางการเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้บริหาร จนในที่สุดเขาก็เข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Armand de Brignac ในปี 2014 หลังปลุกปั้นจนแบรนด์นี้โด่งดังในหมู่ศิลปินดังและเป็นที่รู้จักทั่วไป โดยผู้ผลิตยังคงเป็นคนเดิมคือครอบครัว Cattier ซึ่งสืบทอดกิจการทำไวน์มาเป็นรุ่นที่ 13 แล้ว

    ปัจจุบัน Jay-Z ไม่เพียงเป็นถือหุ้นในธุรกิจแชมเปญ แต่ยังเป็นเจ้าของค่ายเพลง Roc Nation และบริษัทเอเย่นต์นักกีฬา Roc Nation Sports เข้าไปเทกโอเวอร์บริษัท Aspiro เจ้าของบริการแอปฯ สตรีมมิ่งเพลง Tidal ลงทุนถือหุ้นในสตาร์ทอัพ JetSmarter แอปฯ จองเที่ยวบินไพรเวตเจ็ต ร่วมงานกับ Cohiba เพื่อออกขายซิการ์ของตนเอง และล่าสุดเมื่อปี 2020 เขายังตกลงเข้าร่วมบริหารบริษัทชื่อ TPCO Holding Corp. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชา

     

    สัญญาณบวกของโลกแห่งการฉลอง?

    การเข้าซื้อธุรกิจแชมเปญของ LVMH ดูเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับโลกปัจจุบันที่ยังอยู่ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 เพราะแม้ว่าแชมเปญจะขายดิบขายดีเมื่อปี 2019 โดยมีการส่งออกถึง 297 ล้านขวด เติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยมีลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเข้าไปถึง 25 ล้านขวด

    แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น แชมเปญมียอดขายตกฮวบถึง 70% เมื่อปีก่อน เพราะการล็อกดาวน์ ปิดร้านอาหาร และเว้นระยะห่างทางสังคม

    แชมเปญจะกลับมาขายดีเมื่อโลกเราพ้นจากวิกฤตโรคระบาด?

    อย่างไรก็ตาม LVMH อาจมองเห็นอะไรบางอย่างในเทรนด์การบริโภคแชมเปญ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2020 เมื่อ Joe Biden ประกาศชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้คนในสหรัฐฯ ต่างเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ร้านขายเหล้าร้านหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ดีซีถึงกับกล่าวกับสำนักข่าว Newsweek ว่า ยอดขายแชมเปญของวันนั้นวันเดียว สูงกว่าวันส่งท้ายปีเก่าสองปีรวมกันเสียอีก

    เป็นไปได้ว่าเมื่อทั่วโลกเริ่มผ่านพ้นการระบาดของ COVID-19 มาได้ จะมีการเฉลิมฉลองกันทั่วไป และคนจะหันมาเขย่าขวดแชมเปญกันอีกครั้ง

    Source

    ]]>
    1320875
    สมาคมน้ำเมาจี้รัฐเร่งแก้ไขประกาศห้ามขายสุราออนไลน์-มาตรา 32 ก่อนรายย่อยตายหมู่ https://positioningmag.com/1298363 Wed, 23 Sep 2020 10:44:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298363 TABBA เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่เปิดหน้าต้าน “ประกาศห้ามขายสุราออนไลน์” และ “มาตรา 32” ในกฎหมายคุมโฆษณาเหล้าซึ่งถูกนำไปตีความครอบจักรวาล มีรายย่อยถูกดำเนินคดีนับพันราย โดยเรียกร้องให้รัฐยกเลิกหรือแก้ไขประกาศห้ามขายสุราออนไลน์โดยด่วน เพราะเป็นการ “ตัดสายออกซิเจน” เฮือกสุดท้ายของรายย่อยในวิกฤต COVID-19 พร้อมเป็นแนวร่วมผลักดันการแก้ไขมาตรา 32 กฎหมายคุมการขายและโฆษณาเหล้า มองแนวโน้มเชิงบวก น่าจะแก้ไขได้จริง

    สถานการณ์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรายย่อย พ.ศ.นี้กำลังถูกตีขนาบด้วยกฎหมายสองข้อจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

    ข้อแรกคือประกาศล่าสุด โดยอาศัยความตามมาตรา 30 (6) ของกฎหมายดังกล่าว ออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” หรือเรียกสั้นๆ ว่าประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้จริงวันที่ 7 ธันวาคมนี้

    ส่วนอีกข้อคือปัญหาเรื้อรังที่มีมานานของ “มาตรา 32” ในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีข้อความที่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปบังคับปฏิบัติแบบ “ครอบจักรวาล” จนไม่รู้ว่าเกณฑ์การตัดสินอยู่ที่ตรงไหน

    ว่ากันด้วยเรื่องประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ก่อน “ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) วิเคราะห์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ว่าทางสมาคม “ไม่เห็นด้วย” เนื่องจากหลักการและเหตุผลการออกกฎหมายอ้างว่า ห้ามมิให้ขายสุราออนไลน์ “เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย” แต่ที่จริงแล้วกระบวนการขายออนไลน์สามารถทำระบบป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้อยู่แล้ว

    “กฎหมายข้อนี้เปรียบเหมือนจะห้ามไม่ให้รถบางประเภทมาวิ่งบนถนน แต่กลับออกกฎไม่ให้ใช้ถนนทั้งเส้นไปเลย” ธนากรกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

    “ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA)

    การป้องกันดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ คือ ใช้ระบบ payment gateway เป็นตัวคัดกรอง เช่น ทางร้านสามารถทำระบบรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น ก็จะคัดกรองเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีออกจากกลุ่มผู้ซื้อได้ และเป็นกระบวนการที่ร้านขายออนไลน์ทำอยู่แล้ว หรือจะให้ทำระบบลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนก่อนซื้อ ร้านค้าแอลกอฮอล์ออนไลน์ก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบ นอกจากนี้ กรณีการส่งสินค้าให้อยู่ในช่วงเวลาอนุญาตจำหน่ายก็สามารถไปวางระบบกับบริษัทขนส่งได้เช่นกัน

    ดังนั้น จึงมองว่าประกาศกฎหมายฉบับนี้ออกมาแบบหว่านแหจำกัดช่องทางการขายออนไลน์ทั้งหมดโดยไม่จำเป็น และขอให้รัฐยกเลิกหรือแก้ไขให้เหมาะสม

     

    กฎหมายตัดออกซิเจนผู้ค้ารายย่อย

    ธนากรยังกล่าวด้วยว่า การออกประกาศฉบับนี้ในช่วงนี้จะกระทบผู้ค้ารายย่อยอย่างรุนแรง ปัจจุบันช่องทางขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของทั้งตลาดก็จริง แต่คนส่วนใหญ่ที่พึ่งพิงช่องทางนี้คือรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ หรือร้านอาหารที่หันมาขายผ่านออนไลน์ชดเชยการขายหน้าร้านที่ซบเซาจาก COVID-19 เทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ แม้ไม่มีช่องทางออนไลน์ก็ยัง ‘อยู่ได้’ เพราะมีช่องทางขายผ่านร้านค้าต่างๆ ทั่วไป

    “ช่วงปิดล็อกดาวน์ ร้านคราฟต์เบียร์หรือร้านอาหารที่มีเบียร์ในสต็อกก็ต้องหาทางระบายของออก เขาก็ใช้วิธีขายออนไลน์ต่อชีวิตตนเองไปก่อน” ธนากรกล่าว

    “ถ้าหากไม่มีการยกเลิกหรือแก้ประกาศนี้ ยอดขายของรายย่อยจะแทบลดเหลือศูนย์ เพราะถึงจะอนุญาตเปิดสถานประกอบการได้แล้วแต่ลูกค้าก็ไม่มากเท่าเดิม ยิ่งเป็นร้านในย่านนักท่องเที่ยวต่างชาติยิ่งกระทบหนัก บางร้านยังไม่กลับมาเปิดด้วยซ้ำเพราะไม่คุ้ม ถ้าหากไม่ให้ขายออนไลน์ก็เหมือนตัดท่อออกซิเจนเขาไปเลย”

     

    มาตรา 32 กฎหมายที่เอาผิดแม้แต่ “เมนูร้านลาบ”

    ส่วนกฎหมายอีกข้อหนึ่งที่เป็นปัญหามานานคือ มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีข้อความตามกฎหมายดังต่อไปนี้

    “มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

    การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุกัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น

    ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิด
    นอกราชอาณาจักร”

    ข้อความที่เป็นปัญหาคือประโยคที่ว่า “ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ตีความตามดุลยพินิจ รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยเป็นคดีอาญามีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท และยังให้สินบนนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสและเจ้าหน้าที่รวมกันสูงถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับที่ชำระ ทำให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่แจ้งเบาะแสจนเกิดการดำเนินคดีนับพันรายทั่วประเทศ ยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้น 3 คดี ดังนี้

    “ร้าน Kacha Kacha” – นายวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของร้าน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 32 ลงโทษปรับรวมทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท เนื่องจากมีภาพแก้วเบียร์ประกอบอยู่ในเมนูร้าน ทั้งที่แก้วเบียร์นั้นไม่มีตราสินค้าปราฏร่วมอยู่ด้วย

    “กลุ่มผู้ผลิตไวน์ OTOP” – นางโยษิตา บุญเรือง ถูกตัดสินโทษว่ากระทำผิดตามมาตรา 32 ปรับทั้งสิ้น 50,000 บาท (หลังจากได้รับลดหย่อน) รอลงอาญา 2 ปี โดยเหตุการณ์ชี้เบาะแสเกิดจากมีเจ้าหน้าที่ล่อซื้อไวน์ของร้าน และถามหาใบปลิวผลิตภัณฑ์ เมื่อพนักงานร้านนำส่งให้ เจ้าหน้าที่จึงนำไปเป็นหลักฐานดำเนินคดี เนื่องจากในใบปลิวมีรูปผลิตภัณฑ์และบรรยายส่วนประกอบของสินค้า

    “ร้านลาบลุงยาว” – นายคำนาย มาดำ เจ้าของร้าน ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 32 มีบทลงโทษปรับ 50,000 บาท เนื่องจากมีการติดโปสเตอร์สัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และมีราคาติดประกอบ

    จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ไม่มีความชัดเจน และตีความกว้างจนเป็นอุปสรรคกับธุรกิจการค้า เพราะการขายสินค้าหากไม่มีการแสดงราคา ไม่มีการแจกแจงส่วนประกอบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ในการขาย เพราะผู้บริโภคไม่ได้รับข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ

     

    กดดันรัฐแก้ไขให้เร็ว

    กฎหมายทั้งสองข้อ มีการผลักดันแก้กฎหมายต่างกันตามระดับชั้นของกฎหมาย โดยธนากรกล่าวว่า สำหรับประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ กฎหมายฉบับนี้จะยกเลิกหรือแก้ไขได้เร็วกว่า เพราะอำนาจขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณายกเลิกหรือแก้ไขได้ทันที ไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา

    กรณีที่มีกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์อาจจะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวจากกฎหมายฉบับนี้ หากมีการยื่นฟ้องร้องจริง TABBA พร้อมเป็นผู้สนับสนุนเข้าช่วยชี้แจงต่อศาล (ไม่สามารถร่วมฟ้องร้องได้เพราะฐานะสมาคมไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง)

    ส่วนการแก้ไขมาตรา 32 จะยุ่งยากและใช้เวลามากกว่า เนื่องจากเป็นการแก้ข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติซึ่งต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา ขณะนี้มีองค์กรเคลื่อนไหวแยกเป็น 2 ส่วน

    ส่วนแรกคือ TABBA เองร่วมกับแนวร่วม 16 องค์กรยื่นเรื่องต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 อาศัย พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 รวมถึง มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นข้อสนับสนุนในการขอแก้ไขมาตรา 32 ของกฎหมายโฆษณาเหล้า

    มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีการับเรื่องและตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณา อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของหลายๆ ฝ่ายมาประกอบ

    บรรยากาศการล่ารายชื่อเสนอแก้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ณ หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 63

    ส่วนที่สองที่เคลื่อนไหวอยู่คือ สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เพจสุราไทย เสนอขอแก้ไขหลายมาตราใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หนึ่งในนั้นคือมาตรา 32 ซึ่งจะขอแก้ไขเป็นข้อความดังนี้แทน

    “มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง

    การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น

    ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”

    เห็นได้ว่ามีส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือการเพิ่มข้อความว่า “อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง และตัดข้อความเรื่องการชักจูงใจโดยตรงและโดยอ้อมออก ส่วนอื่นๆ ที่เหลือยังคงเดิม ทำให้กฎหมายจะปลดล็อกในส่วนที่กำกวมและครอบจักรวาลเกินไปออก

    หลังเริ่มประชาสัมพันธ์เกือบ 2 เดือน ขณะนี้การล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นเรื่องขอแก้ไขกฎหมายดำเนินไปถึง 6,830 รายชื่อแล้ว จากเป้าหมายทั้งหมด 10,000 รายชื่อ

    กฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับรายย่อยวงการแอลกอฮอล์ไทยนั้น ธนากรมองว่ามีแนวโน้มในเชิงบวกเพราะมีข้อกฎหมายที่ใหญ่กว่าอย่างรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือช่วยในทางนิติศาสตร์ และเห็นว่าภาครัฐมีท่าทีรับฟังนำไปพิจารณา น่าจะมีโอกาสประมาณ 80% ที่จะเกิดการแก้กฎหมายสมประสงค์ …เพียงแต่กรอบระยะเวลาควรจะเร่งให้เร็วที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจติดลบเช่นนี้

     

    หมายเหตุ : เกี่ยวกับ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย(Thai Alcoholic Beverage Business Association: TABBA) ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.. 2552โดยผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์7บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่(ประเทศไทย)จำกัด,ริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด,บริษัท บาคาร์ดี(ประเทศไทย)จำกัด,บริษัท บราวน์ ฟอร์แมน(ประเทศไทย)จำกัด,บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ดประเทศไทย (จำกัด),บริษัทสยามไวเนอรี่ทรดดิ้ง พลัสจำกัดและ บริษัทอินดิเพนเดนท์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด

    ]]>
    1298363
    แอลกอฮอล์หายากนัก! ญี่ปุ่นใช้ “เหล้า” ดีกรีสูงฆ่าเชื้อ COVID-19 แทนซะเลย https://positioningmag.com/1278111 Tue, 12 May 2020 08:53:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278111 กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดไฟเขียวให้ประชาชนใช้เหล้าดีกรีสูงเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ หลังจากแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อขาดแคลนอย่างหนัก

    นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก็หาซื้อแทบไม่ได้ในญี่ปุ่นมานานหลายเดือนแล้ว ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะใช้สุราดีกรีสูงฆ่าเชื้อโรคแทนได้ โดยเรียกร้องให้บริษัทสุราผลิตเหล้าที่มีดีกรีสูงราว 70% ออกจำหน่าย

    หากแต่ปัญหาก็คือ บริษัทสุราไม่มีใบอนุญาตในการผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย บริษัทสุราหลายแห่งจึงเลี่ยงบาลี โดยชี้ช่องให้ผู้ที่นำเหล้าไปใช้ฆ่าเชื้ออ้างว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์

    แรงกดดันมุ่งไปที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ที่ได้รับคำร้องจากสถาบันทางการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ ที่เผชิญความยากลำบากในการหาสารฆ่าเชื้อที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ

    ในที่สุด ทางกระทรวงฯ จึงตัดสินใจอนุญาตเป็นการเฉพาะ ให้ใช้สุราดีกรีสูงทดแทนสารฆ่าเชื้อ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

    กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นแนะนำว่า สุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% ถึง 83% สามารถใช้เป็นสารฆ่าเชื้อได้ แต่สุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่านี้ จะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อน้อยลง จึงควรจะเจือจางเมื่อใช้

    ด้านบริษัทสุราในญี่ปุ่นก็สบโอกาส ผลิตเหล่าดีกรีสูงออกจำหน่าย ซี่งปกติแล้วเหล้าสาเกของญี่ปุ่นจะมีดีกรีราว 15% โซจูมีดีกรีราว 25% และเหล้าอาวาโมริของเกาะโอกินาวามีดีกรี 30% ขึ้นไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับโรงเหล้าทั้งหลายที่จะอัพดีกรีของเหล้าที่ผลิตให้สูงแบบเดียวกับวอดก้า ซึ่งดื่มได้และใช้ฆ่าเชื้อได้ด้วย

    Source

    ]]>
    1278111