การทำงานแบบไฮบริด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 02 Jan 2024 05:08:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 6 เทรนด์ที่ผู้นำควรจับตาเพื่อบริหาร “ที่ทำงาน” ในปี 2024 (ข้อมูลจาก Gallup) https://positioningmag.com/1457497 Fri, 29 Dec 2023 15:49:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457497 Gallup สำรวจความคิดเห็นพนักงานและผู้นำองค์กรในปี 2023 และพบเทรนด์ที่น่าสนใจ 6 หัวข้อที่จะส่งผลต่อการบริหาร “ที่ทำงาน” ในปี 2024 ที่ผู้นำควรให้ความสนใจและเปลี่ยนทิศทางการบริหารบุคลากรให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

การสำรวจของ Gallup พบว่า ปี 2024 จะเป็นปีแห่งการ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์ของพนักงานในที่ทำงาน

ความเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานเริ่มขึ้นเพราะโรคระบาด หากย้อนไปในปี 2019 มีถึง 60% ของพนักงานที่มาทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลาทุกวัน (ออนไซต์) แต่มาถึงปี 2023 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 20%

อย่างไรก็ตาม สถิตินี้วัดผลเฉพาะตำแหน่งงานที่สามารถยืดหยุ่นให้ทำงานออนไลน์จากบ้านได้ โดยในตลาดงานสหรัฐฯ นั้น Gallup พบว่ามีถึง 5 ใน 10 ของกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถปรับไปทำงานออนไลน์จากบ้านหรือว่าทำงานแบบไฮบริดได้เลย

การบริหารพนักงานที่ทำงานจากต่างสถานที่กันให้สร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กับหัวหน้างาน ผู้นำองค์กร กับตัวองค์กรเอง เหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพราะความต้องการของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรกำลังเปลี่ยนอีกครั้งหลังโรคระบาดสงบลง

โดย Gallup สรุปเทรนด์หลักออกมา 6 หัวข้อที่มองว่าเป็นเสียงสะท้อนจากพนักงานที่ผู้นำควรใส่ใจ เพื่อนำไปปรับกลยุทธ์การบริหารที่ทำงานและบุคลากรในปี 2024 ต่อไป

 

1.สถิติ “ความเครียด” ของพนักงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

รายงาน State of the Global Workplace ของ Gallup พบว่า พนักงานทั่วโลกโดยเฉลี่ยยังคงมี “ความเครียด” ในระดับสูงอยู่เหมือนเดิมนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดขึ้น

โดยเมื่อปี 2022 ผู้ถูกสำรวจ 44% ตอบว่ารู้สึกเครียดมาก เทียบกับปี 2019 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 38%

ความเครียดเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญว่าคนเรารู้สึกอยู่ดีมีสุขทั้งในที่ทำงานและในบ้านหรือไม่ และจะส่งผลกระทบทั้งต่อประสิทธิภาพการทำงานและอายุที่ยืนยาวของพนักงานด้วย เรื่องความเครียดจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะต้องใส่ใจต่อไปในปีหน้า

 

2.ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ที่ทำงาน

เมื่อถามว่า “ภารกิจหรือจุดประสงค์ขององค์กรทำให้คุณรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่ของตนเองมีความสำคัญหรือไม่” สัดส่วนของผู้ที่ตอบว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แยกตามลักษณะการทำงานมีดังนี้

ทำงานออนไลน์ทั้งหมด – 28%
ทำงานออนไซต์ทั้งหมด – 33%
ทำงานแบบไฮบริด – 35%

ภาพรวมของความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญกับองค์กรนั้นตกต่ำลงมาตั้งแต่ปี 2022 และค่อยๆ ดีขึ้นบ้างตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2023

ความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมกับองค์กรของพนักงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้พนักงานมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ‘เกินตำแหน่ง’ ไม่ได้ทำแค่เรื่องพื้นฐานประจำวันแต่จะพยายามทำให้ยอดเยี่ยมที่สุด รวมถึงสร้างความภักดีต่อองค์กร นำมาสู่การดึงคนให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น

 

3.ความมั่นใจในผู้นำองค์กรกำลังไต่ระดับขึ้น

ความมั่นใจในตัวผู้นำองค์กรต่ำลงทันทีที่เกิดโรคระบาด และค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ขึ้นปี 2023

แน่นอนว่าความยากลำบากและดิสรัปชันที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ได้สร้างอุปสรรคต่อผู้นำองค์กร และทำให้พนักงานไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้นำองค์กรสื่อสารให้ชัดเจน สนับสนุนและนำทาง สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมั่นใจในอนาคต ก็จะทำให้พนักงานเต็มใจเชื่อมั่นในตัวผู้นำได้

 

4.ระดับหัวหน้างานตกอยู่ในสภาวะบีบคั้น

Gallup พบว่าในปี 2023 พนักงานใน “ระดับหัวหน้างาน” มีแนวโน้มมากกว่าพนักงานทั่วไปที่จะรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร รู้สึกหมดไฟ และอยู่ระหว่างหางานใหม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่า “องค์กรไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของฉัน” และ “ฉันพยายามสร้างสมดุลชีวิตกับการงานอย่างยากลำบาก”

โดยผลสำรวจพบว่ามีเพียง 22% ของระดับหัวหน้างานที่คิดว่าองค์กรมีความใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน และมีถึง 55% ที่กำลังหางานใหม่

ความรู้สึกบีบคั้นของระดับหัวหน้างานคือข่าวร้ายขององค์กร เพราะความรู้สึกนี้จะถูกส่งต่อไปให้ลูกน้องในทีม หัวหน้างานคือคนสำคัญในการสร้างความร่วมมือร่วมใจในการทำงานและประสิทธิภาพที่ออกมา หัวหน้างานมีส่วนถึง 70% ในการสร้างความร่วมมือในหมู่ลูกน้อง

สภาวะบีบคั้นของหัวหน้างานที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาระงานที่สูงขึ้นและการต้องปรับตัวตามโครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนใหม่หลายครั้ง Gallup พบว่าหัวหน้างานปัจจุบันนี้ต้องทำงานมากขึ้นแต่ได้งบและคนในทีมน้อยลงกว่าเดิม หัวหน้างานกลายเป็นคนที่ต้องติดอยู่ตรงกลางระหว่างทิศทางใหม่ที่ถูกส่งมาจากระดับบริหารขององค์กรกับการต้องมาบริหารลูกน้องให้เป็นไปตามคาดหวัง

หัวหน้างานจะเป็นคนที่ต้องการแรงสนับสนุนอย่างมากที่สุดในสภาวะแวดล้อมของที่ทำงานแบบใหม่ในปีหน้า

 

5.องค์กร “ต้อง” มีกลยุทธ์บริหารการทำงานแบบ “ไฮบริด” ให้ได้ในระยะยาว

ตั้งแต่กลางปี 2022 เทรนด์ “สถานที่ปฏิบัติงาน” ของพนักงานในสหรัฐฯ เริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น นั่นหมายความว่าพนักงานเริ่มจะเห็นว่าการทำงานแบบ “ไฮบริด” เป็นวัตรปฏิบัติปกติของการทำงานไปแล้ว โดยพนักงานในสหรัฐฯ​ มีสัดส่วนที่ “ชื่นชอบ” สถานที่ปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

52% ชอบการทำงานแบบไฮบริด
29% ชอบการทำงานแบบออนไลน์ทั้งหมด
20% ชอบการทำงานแบบออนไซต์ทั้งหมด

เมื่อแนวโน้มของพนักงานในอนาคตก็จะยังต้องการทำงานแบบไฮบริดเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องทำให้การทำงานไฮบริดมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้คนในทีมร่วมมือกันทำงานได้ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงระบบการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน และเทรนนิ่งระดับหัวหน้างานให้ฝึกลูกน้องให้ทำงานแบบไฮบริดได้

 

6.ฝ่าอุปสรรคการทำงานแบบไฮบริด

การทำงานแบบไฮบริดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือพนักงานจะรู้สึกอยู่ดีมีสุขมากกว่า ลดความเสี่ยงในการลาออกมากกว่าพนักงานทั้งแบบที่ให้มาทำงานออนไซต์ทั้งหมดและแบบทำงานออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงองค์กรจะมีโอกาสจ้างทาเลนต์เข้ามาทำงานได้มากกว่า

แน่นอนว่าข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะการทำงานจากต่างสถานที่กันบ่อยๆ และอาจจะมีตารางเข้างานต่างกัน ทำให้เกิดอุปสรรคการทำงานขึ้น

ฝั่งพนักงานทั่วไปมีความคิดเห็นว่าความท้าทายหลักในการทำงานไฮบริด เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์และทรัพยากรในที่ทำงานยุ่งยากและมีให้น้อยลงกว่าไปทำงานออนไซต์, รู้สึกซึมซับวัฒนธรรมองค์กรได้น้อยลง, ความร่วมมือทำงานระหว่างกันในทีมมีน้อยลง เป็นต้น

ส่วนฝั่งผู้นำและระดับหัวหน้างานก็รู้สึกว่าการทำงานไฮบริดมีข้อเสีย เช่น การสื่อสารในที่ทำงานลดลง, ความร่วมมือกันในการทำงานลดลง, สร้างผลเสียต่อวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น

Gallup จึงแนะนำว่า บริษัทต้องมีแผนที่จะทำงานแบบไฮบริดให้ได้ดีในระยะยาว ต้องวางกลยุทธ์และทุ่มเต็มที่ให้การทำงานแบบไฮบริดเกิดขึ้น ต้องเอาชนะอุปสรรคด้านการสื่อสาร การร่วมมือกันในทีม และสร้างความสัมพันธ์ในทีมที่จะทำให้วัฒนธรรมองค์กรยังคงแข็งแกร่งให้ได้

Source

 

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ 

]]>
1457497
ไม่กลับ! พนักงาน Apple ยื่นเรื่องงัดข้อนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ของบอร์ดบริหาร https://positioningmag.com/1397361 Wed, 24 Aug 2022 04:30:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397361 นโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ของ Apple ยังคงเป็นประเด็นงัดข้อกันอยู่ เพราะบอร์ดบริหารต้องการให้พนักงานกลับมาออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน แต่พนักงานต้องการทำงานแบบ Work from Anywhere เป็นหลัก

Apple ถือเป็นหนึ่งในองค์กรดังของสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” เมื่อสัปดาห์ก่อน “ทิม คุก” ซีอีโอของบริษัท ตั้งกำหนดเส้นตายไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พนักงานออฟฟิศทุกคนจะต้องกลับมาสำนักงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ถือเป็นความพยายามรอบล่าสุดของบริษัทที่จะดึงพนักงานให้กลับมาทำงานแบบเจอหน้ากัน

จากนโยบายเส้นตายล่าสุดนี้ พนักงานในบริษัทจึงมีการยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทจัดนโยบาย “ยืดหยุ่นโลเคชันที่ทำงาน” (location flexible work) ข้อเรียกร้องดังกล่าวมาจากกลุ่มพนักงานที่เรียกว่า “Apple Together” โดยให้เหตุผลว่า พวกเขายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างทำงานจากที่ไหนก็ได้ในช่วงเกิดโรคระบาด เหมือนๆ กับตอนทำงานอยู่ในออฟฟิศ

Apple ตุรกี
Apple Store ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี (Photo: Shutterstock)

ด้านความเห็นพนักงานโดยรวมก็เป็นไปในทางเดียวกัน จากการสำรวจความเห็นพนักงาน Apple เมื่อเดือนเมษายน พบว่าพนักงาน 76% มีความเห็นเชิงลบต่อการกลับเข้าออฟฟิศ

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการทำงานจากการทำงานทางไกลนั้นยังคงเป็นคำถามอยู่ เพราะดาต้าล่าสุดพบว่าการทำงานจากบ้านจะมีผลสูงต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งทำให้นโยบายของ Apple ที่ต้องการให้พนักงานกลับมาออฟฟิศอาจจะนับได้ว่า ‘มีเหตุผล’

 

ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ดีหรือไม่ดีกันแน่?

จากการศึกษาโดย Qatalog และ GitLab เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการทำงานจากบ้านคือ พนักงานจะต้องเสียเวลาเฉลี่ย 67 นาทีต่อวันในการทำงานจุกจิกและไม่สำคัญ เพียงเพื่อเป็นข้อพิสูจน์กับหัวหน้างานว่าพวกเขามาทำงานแล้ว หรือที่ผู้เขียนงานวิจัยเรียกว่าเป็นงานเพื่อ “ตอกบัตรเข้างานแบบดิจิทัล”

Photo : Shutterstock

ขณะที่ผลศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของ MIT Sloan ก็พบว่า การทำงานทางไกลอาจจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรด้อยลง และในระยะยาวอาจมีผลในการลดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานบางคนลงด้วย รวมถึงอาจจะทำให้เกิดการนัดประชุมที่ไม่สำคัญได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อความสุขของพนักงาน

นอกจาก Apple แล้ว กลุ่มซีอีโอบริษัทที่ไม่เชื่อในการทำงานแบบ Work from Anywhere มาโดยตลอดก็เช่น “เดวิด โซโลมอน” ซีอีโอ Goldman Sachs เคยเรียกการทำงานทางไกลว่าเป็น “การออกนอกลู่นอกทาง” ที่บริษัทหวังว่าจะจัดการได้โดยเร็ว

รวมถึง “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ Tesla ก็เคยแสดงความเห็นเชิงเสียดสีเหมือนกันว่า เขาหวังว่าจะได้เจอหน้าพนักงานในออฟฟิศเร็วๆ นี้ หรือไม่อย่างนั้นพนักงานก็ควรจะ “ไปแสร้งทำเป็นทำงานในบริษัทอื่นละกัน”

Apple อาจจะถือว่าเป็นบริษัทที่ฟังเสียงพนักงานมากที่สุดแล้วในกลุ่มนี้ เพราะยอมใช้กลยุทธ์ “ไฮบริด” ให้พนักงานเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วันแทนการเข้าทุกวัน ซึ่งอาจเกิดจากกลัวพนักงานจะพากันลาออกเสียหมดก็ได้

Source

]]>
1397361
กรณีศึกษา “จีเอเบิล” กับนโยบาย “Work from Anywhere” อะไรที่ “เวิร์กจริง” และอะไรที่ต้องปรับต่อไป https://positioningmag.com/1396315 Tue, 16 Aug 2022 06:10:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396315 วิธีการทำงานหลังผ่านพ้นโรคระบาดคือสิ่งที่หลายบริษัทต้องตัดสินใจ เพราะการทำงานแบบ “Work from Anywhere” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ใครจะให้น้ำหนักกับฝั่งไหนมากกว่า ในกรณีของ “จีเอเบิล” เลือกที่จะไปต่อจนสุดทางหลังลงทุนระบบทำงานจากที่ไหนก็ได้จน full-function เราจะไปคุยกับแม่ทัพของบริษัทกันดูว่า นโยบายการทำงานแบบนี้มีอะไรที่ “เวิร์กจริง” และที่ยังต้องอุดจุดอ่อนต่อไป

Positioning สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ถึงนโยบายการทำงานแบบ “Work from Anywhere” ให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทตั้งใจจะคงไว้หลังเริ่มใช้ในช่วงเกิดโรคระบาด COVID-19 แม้ว่าขณะนี้ความจำเป็นบังคับจะน้อยลง แต่บริษัทเห็นข้อดีที่เกิดขึ้นจึงเลือกที่จะ ‘ไปต่อ’ อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อดีแต่ก็ต้องมีการปรับตัวกันพอสมควรทีเดียว

 

Q: ในช่วง COVID-19 บริษัทมีการลงทุนอะไรไปบ้างเพื่อให้พร้อมกับการ Work from Anywhere?

A: ต้องบอกก่อนว่า Work from Anywhere ไม่ใช่เรื่องใหม่ของเรา เพราะเราเป็นบริษัทสายเทคที่ต้องมีการทำงานจากไซต์ของลูกค้า ต้องอยู่นอกออฟฟิศกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมี COVID-19 เราจะต้องทำงานจากข้างนอกได้แบบ full-function เพราะจะไม่มีใครได้เข้าออฟฟิศเลย

เราจึงต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มคือ เพิ่มขนาดคลาวด์ จัดระบบระเบียบ และเน้นหนักเรื่อง Cybersecurity ส่วนนี้เราลงทุนไปมากกว่า 10 ล้านบาท เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในฐานะที่เราเป็นบริษัทเทค และประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ต้องป้องกันแน่นหนา เมื่อมีพื้นฐานอยู่แล้วแค่มาลงทุนเพิ่มบ้างจึงทำให้เราปรับตัวได้เร็ว

จีเอเบิล Work from Anywhere

Q: ขณะนี้จีเอเบิลอนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ทุกคนหรือเปล่า?

A: เรามีนโยบายสนับสนุน Hybrid Workplace แล้ว แต่จะแยกย่อยไปตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน เช่น สายดีเวลอปเปอร์ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ 100% แต่ถ้าเป็นหน่วยงานสนับสนุน เช่น การเงิน, ฝ่ายบุคคล ยังจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ แต่จะสลับเป็นทีม A ทีม B

Q: บริษัทเล็งเห็นข้อดีอะไรบ้างจากการทำ Hybrid Workplace?

A: หนึ่ง คือ พนักงานได้เวลาเดินทางคืนมาวันละ 2-3 ชั่วโมง เราพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้นเพราะมีเวลามากขึ้น และพนักงานมีเวลาส่วนตัวเพิ่ม เป็นสถานการณ์ที่ win-win ทั้งสองฝ่าย

สอง คือ พนักงานรู้สึกว่ามีสมดุลชีวิตกับการงานดีขึ้น จากเวลาที่ได้คืนมา เขาได้นำไปใช้ทำสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเอง

สาม คือ ขณะนี้ COVID-19 ยังไม่จบ การมีคนในออฟฟิศน้อยลงทำให้เสี่ยงติดเชื้อในที่ทำงานน้อยลง สอดคล้องกับการทำ BCP (Business Continuity Plan) ของเรา

สี่ คือ เราสามารถลดพื้นที่ออฟฟิศได้ 50% เพราะพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้พื้นที่พร้อมกันหมด

จีเอเบิล Work from Anywhere

Q: แน่นอนว่าการทำงานแบบ Work from Anywhere ย่อมมีข้อเสียด้วย จีเอเบิลมองเห็นอะไรบ้าง?

A: หลักๆ คือ การควบคุมตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานจะยากขึ้นสำหรับหัวหน้างาน รวมถึงมีประเด็นเรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะกับพนักงานใหม่ เพราะปกติถ้าเข้าออฟฟิศก็ยังได้คุยเล่นกัน พักทานข้าวเที่ยงด้วยกัน

Q: ขอถกไปทีละประเด็น จีเอเบิลแก้ปัญหากับการควบคุมการทำงานออนไลน์ได้อย่างไร?

A: กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือต้องมี ‘Trust & Ownership’ คือ บริษัทหรือหัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องว่าจะส่งงานได้ตามเวลาไม่ว่าทำงานจากที่ไหน การเช็กงานรายวันหรือเช็กเวลาเข้าออกงานต้องมีความเหมาะสม เราจะไม่มีการให้รายงานตัววันละ 5 ครั้ง หรือให้เปิดกล้องทิ้งไว้ เพราะการจะทำงานแบบไฮบริดได้ต้องอาศัยความเชื่อใจ

[ในส่วนนี้ “ธนัชชา อรุณประเสริฐกุล” Scrum Master/ Cloud Native Application Development ของจีเอเบิล ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทีมของเธอมีการใช้แพลตฟอร์ม ‘Gather Town’ ในการสร้างที่ทำงานเสมือนจริงในทีม ลักษณะเหมือนสร้างอวาตาร์ของเราไว้ในเกมและ online ไว้ในเวลางาน ทำให้รู้สึกเหมือน login เข้ามาทำงานอยู่ด้วยกัน และสามารถเดินไปทักทายกันได้จริง มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่า]

แพลตฟอร์ม Gather Town ที่ทำให้คนทำงานมีโลกเสมือนจริง ทำงานได้ราบรื่นและใกล้ชิดกันมากขึ้น
Q: แล้วกรณีของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรหรือการรับน้องใหม่ แก้ปัญหาอย่างไร?

A: เป็นประเด็นที่เรายังต้องพัฒนา เพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเรื่องความสนิทสนม ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานค่อนข้างสูง ฝ่ายบุคคลของเรากำลังหาวิธีกระตุ้นให้เกิดการสร้างสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติอยู่ หลังจากพ้นช่วง COVID-19 ระบาดหนักแล้ว เราคิดว่าบริษัทจะเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ ได้แล้ว

อีกวิธีแก้หนึ่งของเราเป็นปัญหาเฉพาะตัวของบริษัท จีเอเบิลเรามีสำนักงานใหญ่บนถนนพระราม 3 ซึ่งหากไม่มีรถส่วนตัวจะเดินทางมาค่อนข้างยาก เราจึงลงทุน Satellite Office แล้วที่อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งออกแบบให้รับกับ Hybrid Workplace เน้นสิ่งแวดล้อมที่ให้คนมามีตติ้ง มาทำงานร่วมกัน

เราคิดว่าการมีออฟฟิศย่อยในทำเลที่ไปมาง่าย มีแหล่งร้านอาหาร กิจกรรมโดยรอบ น่าจะกระตุ้นให้พนักงานอยากออกมาเจอกันบ้าง คาดว่า Satellite Office นี้น่าจะเปิดใช้ได้ช่วงพฤศจิกายนปีนี้

จีเอเบิล Work from Anywhere

Q: แสดงว่าการประชุมผ่านทางออนไลน์ก็ยังไม่เพียงพอ?

A: ปกติถ้าเป็นการประชุมประจำวันอัปเดตเนื้องาน เราสามารถประชุมออนไลน์ได้ราบรื่นแล้ว แถมยังประหยัดเวลากว่าด้วยเพราะไม่ต้องเสียเวลาแม้กระทั่งย้ายห้องประชุม แต่กับการประชุมที่เป็นการ workshop หรือแชร์ไอเดีย เป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ประชุมประเภทนี้เราพบว่ายังต้องเจอหน้ากันจะคุยกันได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือต้องมี ‘Trust & Ownership’ คือ บริษัทหรือหัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องว่าจะส่งงานได้ตามเวลาไม่ว่าทำงานจากที่ไหน

Q: ผลตอบรับของพนักงานเป็นอย่างไรบ้าง?

A: จากการเซอร์เวย์พบว่า 80% ของพนักงานชอบ Work from Anywhere มีอยู่ 20% ที่ไม่ชอบ ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมที่บ้านเขาไม่เหมาะกับการทำงาน แต่เราก็จะเน้นย้ำว่าคำว่า ‘จากที่ไหนก็ได้’ แปลว่าคนที่ชอบเข้าออฟฟิศก็ยังมาออฟฟิศได้เสมอ หรือจะทำงานจากร้านกาแฟก็ได้ ตามที่เขาสะดวก

Q: หลายๆ แห่งมีปัญหาเรื่องความต่างระหว่างเจนเนอเรชันในการปรับมาทำงานออนไลน์ ที่นี่เป็นแบบนั้นไหม?

A: ก็มีบ้างเพราะ Gen X กับ Baby Boomer มีความเชื่อในวิธีทำงานที่ต่างกัน เขาจะชอบการมาออฟฟิศ และต้องการให้ทุกคนมาออฟฟิศ เพราะควบคุมงานได้ง่ายกว่า

แต่เขาก็ต้องปรับตัว เพราะเราต้องฟัง Gen Y , Gen Z ที่รับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบงานได้ เขาต้องการจะทำงานแบบไหน เพราะยุคนี้คนทำงานสายเทคหายากมากโดยเฉพาะในไทย และ ‘คน’ คือต้นทุนที่สำคัญที่สุดในธุรกิจเทคคัมปะนีแบบเราครับ

 

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ Hybrid Workplace เพิ่มเติม

]]>
1396315
กลับมาออฟฟิศ! 38% ของบริษัทในเอเชียต้องการให้พนักงานเข้าสำนักงาน “ทุกวัน” https://positioningmag.com/1387111 Mon, 30 May 2022 13:42:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387111 CBRE สำรวจบริษัทในเอเชียแปซิฟิกกว่า 150 แห่ง พบว่า 38% ของบริษัทในเอเชียต้องการให้พนักงาน “กลับเข้าออฟฟิศ” ทุกวัน สถิตินี้เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน และต่างจากฝั่งสหรัฐฯ-ยุโรปที่มีบริษัทเพียง 5% ที่ต้องการให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน เป็นสัญญาณที่ดีของตลาดอาคารสำนักงานเอเชียที่จะยังมีความต้องการต่อเนื่องหลัง COVID-19

“มณีรัตน์ วิจิตรรัตนะ” ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการสำรวจความคิดเห็นบริษัทในเอเชียแปซิฟิกกว่า 150 บริษัท ในปี 2565 เกี่ยวกับนโยบายการทำงานภายในสำนักงานหลังสถานการณ์คลี่คลาย พบข้อมูลดังนี้

  • 38% ทำงานในสำนักงานเท่านั้น
  • 24% ทำงานในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่
  • 28% ทำงานในและนอกสำนักงานเท่ากัน
  • 5% ทำงานนอกสำนักงานเท่านั้นหรือเป็นส่วนใหญ่

เข้าออฟฟิศ ทุกวัน

ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2564 จะพบว่า มีบริษัทเอเชียที่ต้องการให้พนักงาน “เข้าออฟฟิศ” ทุกวันมากขึ้นกว่าเดิม (ปี 2564 มีบริษัทที่ต้องการให้เข้าออฟฟิศทุกวันเพียง 26%) ขณะที่ตัวเลขของบริษัทที่ให้มีการทำงานแบบไฮบริดอยู่ที่ 52% ซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อปีก่อน ส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือบริษัทที่ให้พนักงานทำงานนอกสำนักงานเท่านั้น ซึ่งลดลงจากสัดส่วน 21% มาเหลือเพียง 5%

มณีรัตน์ระบุว่า บริษัทเอเชียจำนวนมากทบทวนนโยบายที่เคยจะให้พนักงานทำงานนอกสำนักงานเท่านั้นหรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะพบว่าการเข้าออฟฟิศยังช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า ความร่วมมือระหว่างคนในทีมดีกว่า สร้างวัฒนธรรมองค์กรได้

แนวคิดของบริษัทเอเชียที่จำนวนมากยังต้องการให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน ค่อนข้างแตกต่างกับบริษัทในสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่มีบริษัทเพียง 5% ที่ต้องการให้พนักงานมาออฟฟิศทุกวัน

เทรนด์ของฝั่งเอเชียแปซิฟิกเป็นผลดีต่อตลาดอาคารสำนักงาน เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทเกือบทั้งหมดจะยังต้องการใช้พื้นที่สำนักงานต่อไป โดยเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามมีแผนจะเพิ่มพื้นที่ออฟฟิศภายในสามปี

 

สำนักงานแบบ Hot Desk จะเป็นที่ต้องการ

จากนโยบายดังกล่าว เมื่อบริษัทมีการทำงานแบบไฮบริดเป็นส่วนใหญ่ พนักงานสับเปลี่ยนกันเข้ามาออฟฟิศ ทำให้โต๊ะทำงานไม่ต้องมีที่นั่งประจำ เทรนด์การมีที่นั่งแบบยืดหยุ่นหมุนเวียนกันไป (Hot Desk) ที่เคยเป็นกระแสมาตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 ก็จะยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่องและมากขึ้น โดยสำนักงานที่เป็น open-plan เปิดโล่งและยืดหยุ่นในการจัดโต๊ะถือเป็นคุณสมบัติสำคัญอันดับแรก มีผู้เช่า 64% ต้องการสำนักงานรูปแบบนี้

ส่วนบริษัทที่ใช้ที่นั่งตายตัวก็ลดลง จากการสำรวจพบว่าเคยมี 58% ที่มีที่นั่งประจำก่อนเกิดโรคระบาด ปัจจุบันเหลือเพียง 28% เพราะหลายอุตสาหกรรมสามารถจัดการให้เป็นที่นั่งหมุนเวียนได้แล้ว เช่น ภาคการเงิน สำนักงานกฎหมาย

ประเด็นอื่นๆ ที่ผู้เช่าต้องการจากสำนักงาน เช่น 52% ต้องการคุณภาพอากาศในอาคารที่ดี, 51% ต้องการพื้นที่ส่วนตัวสำหรับประชุมออนไลน์และโทรศัพท์, 35% ต้องการเทคโนโลยีไร้สัมผัส

ข้อดีของการทำงานแบบไฮบริดคือช่วยลดความหนาแน่นในออฟฟิศได้ และทำให้ประสิทธิภาพงานดีขึ้น อ่านข้อมูลนี้จาก PwC ที่นี่

]]>
1387111
57% ของบริษัททั่วโลกพบว่าออฟฟิศแบบ “ไฮบริด” ช่วยให้ประสิทธิภาพ “การทำงาน” ดีขึ้น https://positioningmag.com/1378901 Wed, 23 Mar 2022 12:53:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378901 PwC สำรวจพบบริษัททั่วโลกเกินครึ่งเห็นว่า “การทำงาน” แบบ “ไฮบริด” ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ช่วยลดความหนาแน่นในออฟฟิศ และยังดำเนินธุรกิจต่อได้ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ขณะที่บริษัทไทยส่วนใหญ่เริ่มปรับออฟฟิศเป็นแบบไฮบริดแล้วเช่นกัน

“ดร.ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์” หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดผลสำรวจ PwC’s Future of Work and Skills Survey ซึ่งสำรวจธุรกิจและหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลเกือบ 4,000 แห่ง ใน 26 ประเทศ พบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทดีกว่าเป้าหมาย เมื่อเปลี่ยนมาทำงานแบบ “ไฮบริด” ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทต่ำลง

สำหรับบริษัทในไทยนั้น ดร.ภิรตาระบุว่า มีหลายบริษัทที่เริ่มใช้โมเดลการทำงานแบบ “ไฮบริด” ที่พนักงานไม่ต้องมาออฟฟิศทุกวันแล้ว

ข้อดีที่บริษัทพบจากการทำงานแบบนี้คือ สามารถลดความหนาแน่นในออฟฟิศได้ 25-50% และทำให้ธุรกิจเดินต่อได้ แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแผนกที่สามารถทำงานแบบไฮบริดได้ ตามธรรมชาติของงานที่ต่างกัน เช่น ธุรกิจธนาคาร แผนกบริหารความเสี่ยงอาจจะทำงานจากบ้านได้แบบ 100% แต่สำหรับคอลเซ็นเตอร์ ก็ยังต้องมาทำงานออนไซต์ตามปกติ

 

ความท้าทายคือวิธี “ประเมินผลงาน”

ดร.ภิรตากล่าวต่อว่า เมื่อมีการทำงานแบบไฮบริด แต่ละองค์กรมีวิธีบริหารที่ต่างกัน เช่น บางองค์กรเน้นการประชุมบ่อยขึ้น เพื่อเช็กชื่อพนักงานและตามงาน แต่ความท้าทายสำคัญของการทำงานรูปแบบนี้คือ ต้องมีระบบการประเมินผลงานที่โปร่งใส และต้องมีความเชื่อใจระหว่างหัวหน้าและลูกน้องในทีมสูงมาก

“การสื่อสารและการวัดผลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา คือสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้การนำโมเดลการทำงานแบบไฮบริดมาใช้ประสบความสำเร็จ” ดร.ภิรตากล่าว

“การประเมินผลงานแบบดั้งเดิม อย่างการเช็กขาด ลา มาสาย ไม่ใช่โซลูชันที่ถูกต้องอีกแล้ว การเช็กที่เป้าหมายการทำงานแยกย่อยของแต่ละบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายรวมขององค์กร คือวิธีบริหารที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า”

นอกจากนี้ ดร.ภิรตายังมองว่าระดับหัวหน้างานต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการ ‘หาคนผิด’ มาเป็นการสนับสนุนและให้คำแนะนำกับพนักงาน เมื่อใดก็ตามที่เกิดการสะดุดในขั้นตอนการทำงาน

 

พนักงานต้อง “อัพสกิล” ให้ทัน

นอกจากการเป็นออฟฟิศไฮบริดแล้ว ดร.ภิรตากล่าวถึงอีกเทรนด์หนึ่งในที่ทำงานยุคใหม่ เริ่มวางแผนเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ‘build, buy, borrow, bots’

บริษัทเริ่มมองหาว่าการทำงานส่วนไหนที่ใช้เทคโนโลยีแทนคนได้บ้าง และหาว่าส่วนไหนสามารถใช้เอาท์ซอร์สได้ เพื่อให้การจ้างพนักงานเกิดความยืดหยุ่นขึ้น รวมถึงเมื่อบริษัทใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น องค์กรจึงต้อง “อัพสกิล” พนักงานปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ใช้เทคโนโลยีเป็นและทำได้เต็มประสิทธิภาพ และตัวพนักงานเองก็ต้องเปิดใจเพื่อจะใช้เทคโนโลยีด้วย

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้อาจจะยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีแทนคนอย่างเต็มที่ เพราะค่าแรงของไทยยังไม่ได้สูงมากเหมือนประเทศอื่น

“แต่ใน 3-5 ปีข้างหน้า เราแน่ใจได้ว่าความต้องการแรงงานจะเปลี่ยนไป แรงงานที่ใช้ทักษะการวิเคราะห์หรือทักษะดิจิทัลเฉพาะทาง เช่น วิเคราะห์ดาต้า, ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, บิ๊กดาต้า, AI และแมชชีน เลิร์นนิ่ง เหล่านี้จะเป็นแรงงานที่มีความต้องการสูงกว่า” ดร.ภิรตากล่าว

สรุปได้ว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อเริ่มใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริด และอัพสกิลให้กับพนักงานเพื่อใช้เทคโนโลยี จำเป็นมากที่จะต้องเริ่มต้นเดี๋ยวนี้เพื่อให้องค์กรยังได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

]]>
1378901