การแข่งขัน “โอลิมปิก” มีผู้ดูแลหลักคือ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” หรือ IOC หน่วยงานนี้มีการกำหนดแบ่งระดับ (tier) ของสปอนเซอร์ในการแข่งขันออกเป็น 4 ระดับ คือ Worldwide Partners, Premium Partners, Official Partners และ Official Supporters
เฉพาะผู้สนับสนุนในระดับสูงสุดคือ “Worldwide Partners” โอลิมปิก 2024 มีทั้งหมด 14 รายเท่านั้น ได้แก่ Airbnb, Alibaba, Allianz, Atos, Bridgestone, Coca-Cola ร่วมกับ Mengniu, Deloitte, Intel, Omega, Panasonic, P&G, Samsung, Toyota และ Visa
การเป็นพันธมิตรในระดับสูงสุดแบบนี้ ทาง IOC จะสงวนสิทธิ์ให้ ‘1 แบรนด์ต่อ 1 อุตสาหกรรม’ เช่น Omega จะเป็นแบรนด์นาฬิกา ‘ผู้จับเวลาการแข่งขันอย่างเป็นทางการ’ เพียงหนึ่งเดียว
ส่วนผู้สนับสนุนในระดับอื่นๆ รวมกันแล้วมีถึง 70 ราย เช่น ระดับ ‘Premium’ ก็จะมีแบรนด์อย่าง “Accor” หรือ “LVMH” เป็นต้น
แล้วแบรนด์แบรนด์หนึ่งต้องจ่ายเท่าไหร่ถึงจะได้เป็นสปอนเซอร์โอลิมปิก?
ขอไฮไลต์เฉพาะกลุ่ม Worldwide Partners ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนระดับโลก ข้อมูลจาก ISPO บริษัทผู้จัดงานเทรดแฟร์เครื่องกีฬาระดับโลก ระบุว่า แบรนด์ที่จะมาเป็นสปอนเซอร์ระดับนี้ได้ต้องจ่าย ‘หลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ’ เท่านั้น โดยแต่ละแบรนด์ก็จะเซ็นสัญญาสั้นยาวต่างกัน แต่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ในช่วงราคานี้ต่อการจัดโอลิมปิกในรอบ 4 ปีซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้งรวมทั้งการแข่งฤดูร้อนและฤดูหนาว
มีข้อมูลที่คาดการณ์ไว้ เช่น “Coca-Cola” ร่วมกับ “Mengniu” (บริษัทผลิตภัณฑ์นมจากจีน) ซึ่งจับมือกันมา สปอนเซอร์โอลิมปิกยาวตั้งแต่ปี 1986 ทั้งสองบริษัทร่วมเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์รอบใหม่ยาวถึง 12 ปี (2021-2032) ด้วยมูลค่าดีลที่คาดว่าแตะ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!
ขณะที่ “Toyota” ย้อนไปในอดีตมีรายงานว่าการทำสัญญาสปอนเซอร์ 10 ปี (2015-2024) จ่ายดีลไปในราคา 637-835 ล้านเหรียญสหรัฐ (*แต่ละสื่อมีการคาดการณ์ไม่ตรงกัน)
ที่สั้นลงมาหน่อย เช่น “Airbnb” เลือกทำสัญญาสนับสนุน 8 ปี (2021-2028) คาดว่ามีการใช้เม็ดเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนในกลุ่มที่ทำสัญญากันครั้งต่อครั้งในการจัดโอลิมปิก เช่น “Panasonic” และ “Bridgestone” คาดว่าทำสัญญาสนับสนุน 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเป็นสปอนเซอร์ 4 ปี
นับได้ว่านี่เป็นมหกรรมกีฬาที่ต้องจ่ายสูงมาก หากอยากส่งแบรนด์ไปสู่ระดับโลก
“Zak Stambor” นักวิเคราะห์อาวุโสธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซจากบริษัทวิจัย eMarketer ให้สัมภาษณ์กับ Digiday ว่า ในยุคนี้ผู้บริโภครับสื่อหลากหลายมาก ถ้าจับคน 2 คนมาเปรียบเทียบว่าดูคอนเทนต์อะไรบ้างในแต่ละวันก็อาจจะไม่เหมือนกันเลยก็ได้ แต่การแข่ง “โอลิมปิก” เป็นหนึ่งในห้วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งที่คนจำนวนมากจะรับชมคอนเทนต์เหมือนกันในเวลาเดียวกัน
ด้านนักโฆษณา “Peter Wilson” ผู้อำนวยการบริหารด้านกลยุทธ์จากเอเจนซี Iris ให้ตัวอย่างว่า “Samsung” ซึ่งเป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกมาเกือบ 30 ปี ได้ใช้พื้นที่นี้เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่เพื่อทำให้คนเปลี่ยนใจหันมาใช้ Samsung กันมากขึ้น
แคมเปญหลายๆ อย่างของ Samsung เองมีการคิดให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ด้วย เช่น เน้นการสนับสนุนกีฬาใหม่ในโอลิมปิกอย่าง “สเก็ตบอร์ด” เป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์วัยรุ่น และสเก็ตบอร์ดยังมีท่าเล่นที่ล้อไปกับชื่อ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของแบรนด์อย่าง Galaxy ‘Flip’
ทางด้านสปอนเซอร์ยางรถยนต์หวังผลในระยะยาวเช่นกัน “Caitlin Ranson” ผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดพันธมิตรที่ Brigdestone สหรัฐอเมริกา มองว่า การเป็นผู้สนับสนุนโอลิมปิกจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาใช้ Bridgestone เมื่อถึงคราวที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนยางรถยนต์ เป็นการมองถึงอนาคตว่าการมีชื่อในโอลิมปิกทำให้ผู้บริโภครู้จักและจำได้ว่าแบรนด์นี้คือใคร
นอกจากการตลาดแล้ว บางแบรนด์ก็ได้โอกาสการขายในอีเวนต์ขนาดใหญ่นี้ด้วย เช่น “Coca-Cola” ที่ได้สิทธิขายสินค้าในทุกๆ สนามแข่งขัน และมีรายงานว่าในโอลิมปิก 2024 แบรนด์นี้ดันราคาน้ำอัดลมขึ้นไปได้ถึงแก้วละ 4 ยูโร (ประมาณ 155 บาท) แบบว่าโกยกลับให้คุ้มค่าสปอนเซอร์!
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่รู้สึกว่าได้กลับมาคุ้มค่าจากโอลิมปิก มีรายงานตั้งแต่ปี 2023 ว่า Toyota จะไม่ต่อสัญญาสปอนเซอร์รอบใหม่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าเป็นเพราะบริษัทไม่พึงพอใจวิธีบริหารเงินสปอนเซอร์ของ IOC และเงินไม่ถูกนำไปใช้สนับสนุนนักกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงคาดกันว่าหมวดรถยนต์น่าจะมีสปอนเซอร์เจ้าใหม่เข้ามาแทนที่ ส่วนทาง Toyota บอกว่าจะหันไปสนับสนุนนักกีฬาในแบบของตัวเองต่อไป
ทั้งนี้ เงินสนับสนุนไม่ใช่แหล่งรายได้เดียวของโอลิมปิก ISPO รายงานจากแผนงบลงทุนของ IOC ระบุว่า รายได้ของการจัดโอลิมปิกมาจากหลายส่วนด้วยกัน แต่ส่วนหลักจะมาจาก 1)สปอนเซอร์ผู้สนับสนุน 2)การขายสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน 3)การขายบัตรเข้าชมในสนามแข่งขัน และ 4)การขายลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าเมอชานไดซ์
ด้านบริษัทวิจัย Ampere Analysis ประเมินว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ IOC ได้รับเม็ดเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์รวมถึง 1,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 47,200 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าการจัดโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวถึง 60% รวมถึงกลายเป็นแหล่งรายได้หลักในการจัดโอลิมปิกแทนที่การขายสิทธิถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
ที่มา: ISPO, Digiday, The Conversation
]]>ศึกชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอล NFL “ซูเปอร์โบวล์” ครั้งที่ 56 จัดขึ้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2022 นอกจากการแข่งขันศึกคนชนคนในสนาม และการแสดงช่วงพักครึ่งที่ทุกคนรอคอยแล้ว อีกหนึ่งดัชนีชี้วัดที่นักการตลาดติดตามคือ “ราคา” โฆษณา ในระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขันซึ่งปีนี้สถานีโทรทัศน์ NBC ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอด
NBC ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่าปี 2022 ทางช่องขายสล็อตโฆษณาในราคา “7 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อความยาว 30 วินาที” (ประมาณ 228 ล้านบาท) เป็นราคาประวัติศาสตร์ ตอกย้ำว่าโฆษณาทางโทรทัศน์ยังขายได้ หลังจากปีก่อนการขายโฆษณาซูเปอร์โบวล์สะดุดจนน่าเป็นห่วงว่าจะพ้นช่วงยุคทองไปแล้วหรือเปล่า
ปี 2021 นั้นการแข่งซูเปอร์โบวล์อยู่ในช่วง COVID-19 ระบาดพอดี ทำให้อารมณ์ผู้บริโภคอาจจะไม่ ‘อิน’ กับการแข่งขัน ส่งผลให้ NBC ต้องตรึงราคาโฆษณาไว้ที่ 5.5 ล้านเหรียญต่อ 30 วินาที ปรับราคาขึ้นจากปี 2020 ได้เพียงเล็กน้อย และยังเผชิญกับสถานการณ์แบรนด์ใหญ่ที่เคยซื้อกันมาทุกปีๆ เช่น โค้ก, เป๊ปซี่, บัดไวเซอร์ งดลงโฆษณากันหมด แถมการปิดการขายกว่าจะหมดสล็อตก็ 2 สัปดาห์ก่อนแข่ง ทั้งที่ปกติจะขายเกลี้ยงก่อนแข่ง 2-3 เดือน
การคัมแบ็กกลับมาในปีนี้ของโฆษณาซูเปอร์โบวล์ที่ขึ้นราคาได้แล้วและปรับขึ้นสูงด้วย จึงสะท้อนให้เห็นว่านักการตลาดกลับมามั่นใจกับเศรษฐกิจและอารมณ์ของคนในประเทศ และการฉายโฆษณาในแมตช์ที่มีคนดูหลักร้อยล้านคนพร้อมกันยังคงน่าสนใจอยู่
Wall Street Journal รายงานรายชื่อแบรนด์ที่เข้ามาลงโฆษณาซูเปอร์โบวล์ ปีนี้มีหน้าใหม่ที่ลงโฆษณาครั้งแรกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่ยังแข็งแรงท่ามกลางเศรษฐกิจซบจากโรคระบาด หรือได้อานิสงส์บวกจากโรคระบาด โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเทรด “คริปโต” ที่อู้ฟู่มากในช่วงนี้
ทั้งแพลตฟอร์ม Coinbase Global, FTX, Crypto.com และ eToro ต่างลงฉายโฆษณากัน จนนักการตลาดเรียกชื่อเล่นการแข่งขันปีนี้ว่า “คริปโตโบวล์” ส่วนอีกหนึ่งผู้เล่นหลักตลาดเทรดคริปโตคือ Binance เลือกที่จะไม่ลงโฆษณาโดยตรง แต่จัดทำโฆษณาที่เชื่อมโยงกับการแข่งขันครั้งนี้ด้วย
อีกกลุ่มสินค้า/บริการน่าสนใจที่มีเม็ดเงินลงทุนขึ้นมาคือ “สุขภาพ-ฟิตเนส” ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ออนไลน์ Hologic, บริษัทอุปกรณ์และเทคโนโลยีการแพทย์ใช้ในบ้าน Cue Health, หรือบริษัทสถานออกกำลังกาย Planet Fitness, จนถึงบริษัทอุปกรณ์ออกกำลังกาย Tonal ต่างตบเท้าเข้ามาลงโฆษณา
บริษัทด้านสุขภาพช่วงที่ผ่านมานั้น เติบโตสอดคล้องกับความรู้สึกของคนในช่วงโรคระบาดที่ต้องการมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น และต้องการวิธีพบแพทย์ที่ง่ายขึ้น
ที่ขาดไม่ได้อีกกลุ่มบริการคือ “สตรีมมิ่ง” ที่ฟาดฟันกันหนัก Netflix, Disney+ และ Amazon Prime ต่างโปรโมตคอนเทนต์เด่นของตัวเอง
อีกกลุ่มหนึ่งที่กลับมาลงโฆษณาแล้ว สะท้อนให้เห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจ “ท่องเที่ยว” เช่น Booking.com และ Expedia Group รวมถึงสายการบิน Turkish Airlines
ขณะที่แบรนด์เก่าที่เคยลงโฆษณา และปีนี้กลับมาอีกครั้ง เช่น บัดไวเซอร์, ชีโตส, ทาโค เบลล์, General Motors, Nissan, Kia, Google, Meta, ยิลเลตต์
แต่แบรนด์ที่เคยเป็นลูกค้าประจำบางรายก็ยังไม่กลับมา เช่น Coca-Cola, Hyundai, Mars หรือ Tide
สาเหตุที่โฆษณา “ซูเปอร์โบวล์” ยังคงเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะปีนี้ที่มีแบรนด์หน้าใหม่จำนวนมาก “ลี นิวแมน” ประธานกรรมการ Interpublic Group บริษัทในเครือเอเจนซีโฆษณา มองเห็นเสน่ห์เฉพาะตัวของการแข่งขันนี้
“ถ้าคุณทำ (โฆษณา) ได้เหมาะสม ทุกคนจะยิ้ม หัวเราะ หรืออย่างน้อยก็รู้สึกบันเทิงกับโฆษณาที่คุณใส่มาระหว่างเกม และจะมีคนดูจำนวนหนึ่งในหมู่ผู้ชมเหล่านั้นที่ไปค้นคว้าต่อ ค้นออนไลน์ และตามหาว่าแบรนด์คุณคืออะไร” นิวแมนกล่าว
]]>Thomas Bach ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวว่า คำถามที่อยู่ในใจใครหลายคนตอนนี้ คือ นักกีฬาทุกคนจะสามารถ “ทำตามความฝัน” ในการเข้าร่วมเเข่งโอลิมปิกในอีก 10 เดือนข้างหน้านี้ได้หรือไม่ โดยพวกเรากำลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ร่วมกับพันธมิตรทั้งหลายเเละสหายชาวญี่ปุ่น เพื่อให้เเน่ใจว่าโตเกียวโอลิมปิก จะยังคงดำเนินไปได้ด้วยความปลอดภัยเเละเหมาะสมกับสถานการณ์โลกหลังการเเพร่ระบาดของ COVID-19
“โตเกียว ยังคงเป็นเมืองที่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดแข่งกีฬาไว้อย่างดีที่สุด โดยเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด”
ประธาน IOC กล่าวอีกว่า ทีมผู้จัดกำลังโฟกัสไปที่การพัฒนาเครื่องมือ เพื่อรับมือกับไวรัสโคโรนาในทุกสถานการณ์ ซึ่งจะพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสและคิดค้นวัคซีนให้ได้ในเร็ววันนี้
“เรากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกอย่างปลอดภัย ไม่ว่าสถานการณ์โลกในช่วงฤดูร้อนปีหน้าจะเป็นเช่นไรก็ตาม”
กำหนดการล่าสุดของโตเกียว โอลิมปิก จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเเละทีมผู้จัดงานกำลังปวดหัวกับการเตรียมงานใหม่ เพราะจะต้องปรับค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ตั้งแต่สนามแข่งไปจนถึงการขนส่ง ท่ามกลางงบประมาณที่บานปลายไปมากแล้ว
โดยกำลังหาวิธีที่จะ “ลดความอลังการ” ในการเเข่งขันลง ซึ่งในพิธีเปิดอาจจะต้องมีความกระชับ มีการจำกัดจำนวนผู้ชม เน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก
ข้อจำกัดของการจัดงานครั้งนี้ คือต้องคำนึงถึง “ต้นทุนเเละความปลอดภัย” ในการจัดแข่งขันโอลิมปิกที่ถูกเลื่อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
]]>
Yuriko Koike ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทีมผู้จัดงานกำลังคิดหาเเนวทางการจัดงานเเบบใหม่ที่เน้นความสมเหตุสมผลเเละเรียบง่าย
โดยข้อจำกัดของการจัดงานครั้งนี้ คือต้องคำนึงถึง “ต้นทุนเเละความปลอดภัย” ในการจัดแข่งขันโอลิมปิกที่ถูกเลื่อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่น รายงานว่า เเผนการจัดงานใหม่ครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับการลดจำนวนผู้ชมจะที่เข้าร่วมชมการแข่งขันในอาคารและลดการมีส่วนร่วมทั้งในพิธีเปิดและพิธีปิด
ด้านสำนักข่าว Yomiuri Shimbun รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อว่า ผู้ชมทุกคนรวมถึงนักกีฬา เจ้าหน้าที่ อาจจะต้องรับการตรวจหาไวรัสด้วย
“เรื่องที่เราให้ความสำคัญที่สุดตอนนี้ คือการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายที่ต้องถึงขั้นยกเลิกการเเข่งขัน” แหล่งข่าวในรัฐบาลบอกกับ The Daily
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประกาศเมื่อช่วงเดือนมี.ค. ให้เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นปีหน้า หลังสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ลุกลามไปทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนไปหลายเเสนคน การเดินทางต้องหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ
Thomas Bach ประธาน IOC กล่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การเลื่อนจัดงานโตเกียว โอลิมปิกไปเป็นปี 2021 เป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ของญี่ปุ่นที่จะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ โดยเน้นว่าการจัดงานไม่สามารถเลื่อนไปเรื่อยๆ ได้อีก
ด้าน Yoshiro Mori ประธานคณะผู้จัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 เคยกล่าวว่าการเเข่งขันกีฬาครั้งนี้อาจจะต้องถูกยกเลิก หากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังควบคุมไม่ได้ภายในปีหน้า
โดยกำหนดการล่าสุดของโตเกียว โอลิมปิก 2020 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเเละทีมผู้จัดงานกำลังปวดหัวกับการเตรียมงานใหม่ เพราะจะต้องปรับค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ตั้งแต่สนามแข่งไปจนถึงการขนส่ง ท่ามกลางงบประมาณที่บานปลายไปมากแล้ว
]]>
การแข่งขันรถ ฟอร์มูลา วัน ที่จะต้องเริ่มกรังด์ปรีซ์เก็บแต้มนัดแรกที่ออสเตรเลียเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2020 ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และตารางแข่งขันนัดต่อๆ มาจนถึงวันที่ 14 มิถุนายนนี้รวม 9 สนามก็ถูกเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
อย่างไรก็ตาม ฟอร์มูลา วันยังหวังว่าจะสามารถเริ่มฤดูกาล 2020 ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แม้ว่าขณะนี้หลายประเทศในทวีปยุโรปยังคงสั่งห้ามการชุมนุมและจัดอีเวนต์สาธารณะไปจนถึงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ทำให้กิจกรรมกีฬาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดไม่ได้อย่างแน่นอน
โดยทีมแข่งทั้งหมด 10 ทีมได้ปรึกษากันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาว่า พวกเขาหวังว่าจะได้รับอนุญาตให้จัดแข่งกรังด์ปรีซ์แรกในสนาม Red Bull Ring ประเทศออสเตรีย ตามตารางแข่งเดิมในวันที่ 5 กรกฎาคม 2020 แต่จะไม่เปิดให้มีผู้ชมในสนาม หลังจากนั้น หวังว่าจะจัดแข่งอีก 2 รอบที่สนาม Silverstone ประเทศอังกฤษ
รอสส์ บรอว์น กรรมการผู้จัดการของฟอร์มูลา วัน กล่าวว่าพวกเขาหารือกันมาตั้งแต่ต้นเดือนแล้วว่า จะสามารถจัดแข่งแบบปิดได้อย่างไรบ้าง
“เรากำลังหาวิธีว่าจะขนส่งคนไปที่สนามอย่างไร จะป้องกันความปลอดภัยอย่างไร ใครบ้างที่เราจะอนุญาตให้อยู่ในแพดดอค” บรอว์นกล่าว
ฟากประเทศออสเตรียกล่าวว่า ไม่ติดขัดอย่างใดหากจัดแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม และถ้าขณะนั้นการจำกัดการเดินทางถูกผ่อนคลายลงแล้ว รวมถึงมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยในสนาม ขณะที่ คริสเตียน ฮอร์เนอร์ ทีมบอสของ Red Bull กล่าวว่าสนาม Red Bull Ring สามารถเตรียมความพร้อมได้ในระยะเวลาอันสั้นหากจะมีการจัดแข่งขึ้นจริง
“แนวคิดการจัดแข่งในสนามแบบปิดนั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน” ฮอร์เนอร์กล่าวกับช่อง Sky Sports “เราคิดว่าจะมีสนามที่กลับมาจัดกรังด์ปรีซ์ได้เต็มที่โดยไม่มีผู้ชม เป็นไปได้ว่จะจัดเพื่อฉายการแข่งขันทางโทรทัศน์เท่านั้น โดยมีคนเข้าร่วมในสนามอย่างจำกัด”
ตามกติกาปกติของฟอร์มูลา วัน แต่ละทีมจะมีทีมงานที่เกี่ยวข้องกับตัวรถในทางใดๆ ก็ตาม อยู่ในแพดดอคได้ไม่เกิน 60 คน นอกจากนี้จะมีทีมงานในด้านอื่นๆ เช่น ช่างเทคนิคของ FIA, เจ้าหน้าที่เปลี่ยนยางของ Pirelli, พนักงานของฟอร์มูลา วัน, ซัพพลายเออร์ต่างๆ, สตาฟพยาบาล, สตาฟเส้นทางแข่ง รวมไปถึงสื่อและเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสดซึ่งอาจจะมีได้ถึงหลักร้อยคน (เฉพาะเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสดก็อาจจะมีถึง 40-50 คน ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่จัดแข่ง)
แอนเดรียส ไซเดิล ทีมบอสของ McLaren ให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะจัดแข่งในสนามแบบปิด แต่จำนวนคนที่อยู่ในแพดดอคคงจะไม่ลดลงไปกว่านี้มาก “เพราะอย่างไรเราก็ต้องการคนทั้งหมดเพื่อจัดการกับรถ เพื่อดูแลรถในช่วงวันหยุด และต้องมีคนทำงานในพิทสต็อป”
แหล่งข่าวในฟอร์มูลา วันกล่าวว่า ขณะนี้การปรึกษากันของแต่ละทีม หลักๆ ยังอยู่ที่การดึงจำนวนคนในแพดดอคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะจำกัดสื่อที่เข้ามาทำข่าวเพื่อให้ทุกคนเว้นระยะห่างจากกันให้ได้มากที่สุด ส่วนกลุ่มสปอนเซอร์และการตลาดของทีมอาจจะไม่ให้เข้ามาด้านใน
ด้วยจำนวนคนที่ใช้ในการแข่งที่มากขนาดนี้ ทำให้การจำกัดจำนวนทีมงานเป็นประเด็นสำคัญมากว่า F1 จะได้แข่งหรือไม่ เพราะคำว่า “อีเวนต์รวมคนจำนวนมาก” ที่แต่ละประเทศใช้ในการสั่งแบนนั้นอาจไม่มีการกำหนดชัดเจนว่ารวมคนจำนวนเท่าไหร่จึงจะเรียกว่ามาก ซึ่งถ้าหากมีทีมงานร่วมร้อยคนสำหรับแต่ละทีมที่เข้าแข่ง เมื่อรวมกันทั้งหมด 10 ทีมก็จะมีคนในสนามร่วมพันคนเข้าไปแล้ว
ฟอร์มูลา วันหวังว่าจะได้เริ่มการแข่งขัน 2020 Formula One World Championship ให้เร็วที่สุด แม้ว่าจะไม่มีผู้ชมในสนาม โดยหวังอย่างยิ่งว่าสนามในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งมีตารางแข่งในช่วงครึ่งปีหลังจะได้จัดแข่งตามปกติ เพราะอาจจะควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ก่อนฝั่งทวีปยุโรปและอเมริกา
ตารางแข่งขันในเอเชียและตะวันออกกลางที่ยังไม่ถูกเลื่อนออกไปได้แก่ สนาม Marina Bay Street สิงคโปร์ เดือนกันยายนนี้, สนาม Suzuka International Racing ประเทศญี่ปุ่น เดือนตุลาคม และสนาม Yas Marina ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนสนามที่ถูกเลื่อนการแข่งไปแล้วและอาจจะกลับมาจัดแข่งได้อยู่ในบาห์เรน เวียดนาม จีน และอาเซอร์ไบจาน
สำหรับแฟนๆ ที่เซ็งจากการระงับแข่งแบบนี้ เมื่อวานนี้ฟอร์มูลา วันจึงจัดแข่ง e-Sports Virtual Grand Prix กันไปก่อน ผลการแข่งขันของ 10 นักแข่งจากการหมุนพวงมาลัยอยู่ที่บ้าน ชัยชนะตกเป็นของ ชาร์ล เลอแคลร์ จากทีม Ferrari
]]>สำนักข่าว AP รายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ผู้จัดงาน โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า IOC กำลังพิจารณา หากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนายังอยู่ในขั้นอันตราย ผู้จัดงานมีแนวโน้มที่จะยกเลิกการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 โดยสิ้นเชิงมากกว่าเลื่อนการจัดงานหรือย้ายสถานที่
โดย Dick Pound อดีตแชมป์นักว่ายน้ำชาวแคนาดาและหนึ่งในคณะกรรมการของ IOC ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปี 1978 ประเมินว่า IOC มีเวลาประมาณ 3 เดือน หรืออย่างช้าที่สุด 2 เดือนก่อนงานเริ่ม เพื่อตัดสินใจว่าจะยกเลิกงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 หรือไม่ นั่นหมายความว่า คณะกรรมการมีเวลาตัดสินใจได้จนถึงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
“ในห้วงเวลานั้น ผมกล่าวได้ว่าเพื่อนสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานน่าจะเริ่มถามเราว่า ‘งานนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมที่มีประสิทธิภาพพอหรือไม่ ก่อนที่เราจะเดินทางไปเยือนโตเกียว’ ” Pound กล่าวกับสำนักข่าว AP
เขากล่าวด้วยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโตเกียว โอลิมปิกไม่ได้มีแค่นักกีฬา แต่ก่อนที่งานจะเริ่ม บุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัย อาหาร หมู่บ้านนักกีฬา โรงแรม ไปจนถึงสื่อมวลชน จะต้องเตรียมพร้อมในการทำงาน
ดังนั้น หาก IOC มีมติว่าไม่สามารถจัดงานได้ “คุณคงจะได้เห็นการยกเลิกจัดงาน” Pound กล่าวย้ำ “คุณคงไม่เลื่อนการจัดงานที่ใหญ่ขนาดโอลิมปิกออกไป มีฟันเฟืองหลายตัวที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศเข้าร่วม และมีปัจจัยด้านฤดูกาลที่สามารถจัดแข่งกีฬาได้ รวมถึงดีลการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ดังนั้นคุณไม่สามารถจะพูดแค่ว่า ‘เราจะจัดงานในเดือนตุลาคมแทน’ ”
ส่วนการย้ายไปจัดที่เมืองอื่นก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน “เพราะมีแค่ไม่กี่เมืองในโลกนี้ที่จะสามารถสร้างสาธารณูปโภคได้ทันในเวลาอันสั้น”
การกระจายการจัดแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทออกไปในหลายประเทศก็ไม่อยู่ในตัวเลือก “เพราะนั่นจะไม่นับว่าเป็นการแข่งโอลิมปิก ทุกอย่างจะกลายเป็นการจัดแชมเปี้ยนชิพระดับโลกหลายรายการเท่านั้น” นอกจากนี้ยังยากที่จะกระจายการแข่งขันไปทั่วโลกโดยต้องแข่งจบภายใน 17 วัน และมีเวลาให้เตรียมงานแค่ไม่กี่เดือนด้วย
กรณีผลกระทบต่อการถ่ายทอดสด ผลกระทบหลักหากมีการเลื่อนจัดงานไปเดือนอื่น จะกระทบกับสถานีโทรทัศน์หลายรายที่ต้องเปลี่ยนไปถ่ายทอดกีฬาชนิดอื่นแล้วตามตารางที่วางล่วงหน้า เช่น สถานีโทรทัศน์ในทวีปอเมริกาเหนือ ปกติในฤดูใบไม้ร่วงจะเริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งอเมริกันฟุตบอลระดับชาติและลีกระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงฟุตบอลยุโรป บาสเก็ตบอล เบสบอล และฮอกกี้
อย่างไรก็ตาม Pound กล่าวว่า หากการเลื่อนจัดงานจะเป็นไปได้ อาจเป็นการเลื่อนไปเลย 1 ปี ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพด้วยว่าจะสามารถเลื่อนไปอีก 1 ปีได้ไหม และรายการแข่งขันระดับสากลของแต่ละชนิดกีฬาจะปรับตารางตามได้หรือไม่
ณ ขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาไปแล้วมากกว่า 80,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,700 ราย แม้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจีน แต่เริ่มขยายวงผู้เสียชีวิตออกไปถึงเกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรป รวมถึงญี่ปุ่นเอง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
ส่วนการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 หากเป็นไปตามตารางจะทำพิธีเปิดกันในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ และมีนักกีฬาเตรียมเข้าร่วมแข่งขัน 11,000 คน ต่อจากนั้นจะเป็นการแข่งขันโตเกียว พาราลิมปิก 2020 เริ่มขึ้นวันที่ 25 สิงหาคม มีนักกีฬาร่วมแข่งขันประมาณ 4,400 คน
“เท่าที่เราประเมินขณะนี้ คุณ (นักกีฬา) จะยังได้ไปโตเกียวอยู่” Pound กล่าว “ตัวบ่งชี้ในระดับนี้ยังตัดสินว่างานจะยังมีตามปกติ ดังนั้นจงมุ่งมั่นกับการฝึกกีฬาของคุณ และมั่นใจได้ว่า IOC จะไม่ส่งคุณไปอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด” เขาย้ำว่า IOC ฟังคำปรึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัดก่อนตัดสินใจใดๆ
โอลิมปิกยุคใหม่ที่เรารู้จักเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1896 และที่ผ่านมาเคยยกเลิกจัดงานไปเฉพาะช่วงสงคราม นั่นคือในปี 1940 ซึ่งญี่ปุ่นควรจะได้เป็นเจ้าภาพ แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นทำการรบกับประเทศจีน ในขณะที่การระบาดของไวรัสซิก้าเมื่อปี 2016 ไม่ได้หยุดการทำหน้าที่เจ้าภาพของบราซิลในงานโอลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโร
]]>ตามที่เคยประกาศเเนวทางไว้ว่าการเเข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ จะใช้วัสดุหมุนเวียนเพื่อรักษ์สิ่งเเวดล้อมให้มากที่สุด ล่าสุดทางผู้จัดงานเปิดตัว “เตียงนอนกระดาษ” สำหรับนักกีฬา โดยจะนำไปรีไซเคิลหลังจบงาน
จากข้อมูลของสำนักข่าว AP รายงานว่า เตียงนอนที่จะใช้ในหมู่บ้านนักกีฬานี้ ทำมาจากลังกระดาษเเข็ง หรือ Cardboard ชนิดพิเศษ เป็นวัสดุที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักที่มากที่สุดของนักกีฬาที่ร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร
Takashi Kitajima ผู้จัดการทั่วไปของหมู่บ้านนักกีฬา เปิดเผยว่า หลังจบการเเข่งขันจะมีการนำเตียงนอนกระดาษเหล่านี้ไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษเพื่อใช้งานด้านอื่นๆ ต่อไป ส่วนผ้าห่มจะนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก
ตามเเนวทางของการจัดงานโอลิมปิก 2020 ที่จะเน้นใช้วัสดุหมุนเวียนให้มากที่สุด
ขณะที่หมู่บ้านนักกีฬา จะสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับนักกีฬาจากทั่วโลก ประกอบด้วยอาคาร 21 หลัง เเละต้องใช้เตียงกว่า 18,000 เตียงซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยหลังจากจบงานครั้งนี้ ก็จะประกาศขายขายและให้เช่าพื้นที่ต่อไป
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะใช้ “เหรียญรางวัล” ที่ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการจัดทำเเคมเปญรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนซึ่งได้รับอุปกรณ์ทั้งหมดกว่า 78,895 ตัน รวมถึงโทรศัพท์มือถือ 6.21 ล้านเครื่องซึ่งทำให้ได้ทองคำ 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัมและทองแดง 2,200 กิโลกรัม
ที่ผ่านมา การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความยั่งยืนเเละใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เช่น สนามกีฬาในการเเข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่พยองชาง เกาหลีใต้ เมื่อปี 2018 ที่ใช้งบก่อสร้างกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่ถูกทำลายหลังจากจบงาน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อย่างเช่นในงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชี ประเทศรัสเซีย ในปี 2014 เเละโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ก็มีส่วนที่ก่อสร้างไม่เสร็จ
สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 มีกำหนดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมถึง 9 สิงหาคม ในขณะที่พาราลิมปิกฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมถึง 6 กันยายน ปี 2020
ที่มา : businessinsider
Photo : Jae C Hong / AP