ค่าเงินบาท – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 08 Aug 2023 06:41:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แบงก์ชาติเร่งผลักดันใช้เงินหยวน ริงกิต รูเปียห์ ในการทำธุรกิจ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท https://positioningmag.com/1440149 Tue, 08 Aug 2023 06:02:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440149 ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้สกุลเงิน หยวน ริงกิต รูเปียห์ หรือสกุลเงินอื่นในทวีปเอเชียในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะลดความผันผวนของค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าว Bloomberg ได้สัมภาษณ์พิเศษ อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแผนการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยคือต้องการที่จะลดความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งมาตรการที่จะผลักดันคือการใช้สกุลเงินต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย

สกุลเงินที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันก็คือ เงินหยวนของจีน และริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งทางฝ่ายไทยกำลังดำเนินการพูดคุยกับธนาคารกลางจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะทำให้สามารถรับชำระเงินสกุลดังกล่าวได้

ข้อมูลในปี 2022 ที่ผ่านมา สกุลเงินต่างประเทศที่ใช้ในการค้ามากสุดคือดอลลาร์สหรัฐ 79.6% ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ นั้นแทบไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ จึงเป็นอีกเหตุผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการผลักดัน

มาตรการที่จะผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็น

  • หารือกับธนาคารกลางจีนเพื่อผ่อนปรนกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวน
  • เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวน
  • จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจรู้จักการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้ารวมถึงการลงทุน
  • ขยายวงเงินการทำธุรกรรมท่ีไม่ต้องแสดงเอกสาร สำหรับสกุลเงินริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องผลักดันมาตรการดังกล่าวออกมาคือความผันผวนของค่าเงินบาทไทยถือว่าติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยนั้นทำให้ค่าเงินผันผวน ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในไทย รวมถึงปัจจัยทางการเมืองของไทยด้วยในช่วงที่ผ่านมา

มาตรการดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องของสกุลเงินท้องถิ่น ค่าทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่สูง และยังรวมถึงหลายฝ่ายไม่ทราบว่าสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศใช้จ่ายได้

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และตามปัจจัยพื้นฐาน และธนาคารแห่งประเทศไทยจะแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป หรือความเคลื่อนไหวที่ขัดกับปัจจัยพื้นฐาน แต่วิธีที่ดีที่สุดของภาคธุรกิจคือเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวน

]]>
1440149
คาดการณ์ค่าเงินบาทช่วงสิ้นปีนี้แข็งค่า จากปัจจัยเศรษฐกิจจีนฟื้น แรงบวกจากภาคการท่องเที่ยว https://positioningmag.com/1436830 Thu, 06 Jul 2023 10:31:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1436830 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีจะแข็งค่าขึ้นที่ราวๆ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์จากเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ได้แรงบวกจากการท่องเที่ยว และรวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่เหลืออีก 1 ครั้ง

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงปัจจัยของค่าเงินหลายสกุลในเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาทไทย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยอ่อนค่า 1% ขณะที่สกุลเงินของอินโดเงินแข็งค่า 3.84% รูปีอินเดียแข็งค่า 0.92% แล้วก็เปโซของฟิลิปปินส์ 0.89%

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เธอได้มองถึงเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ เฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 5.39% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาโดยตลอด เธอได้กล่าวว่าผลกระทบยังส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมาด้วย

โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า Fed จะยังไม่ลดดอกเบี้ยในตอนนี้ และมองว่าค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า แต่ความเปราะบางนอกสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีน เธอได้อธิบายว่าเศรษฐกิจแดนมังกรนั้นมีความกังวลจากนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินอ่อนค่า โดยการอ่อนค่าล่าสุดนั้นมากกว่า 7.1 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว และเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ในเอเชียอย่าง ค่าเงินรูเปียห์ ค่าเงินเปโซ ค่าเงินบาท ค่าเงินหยวนนั้นอ่อนค่าอย่างมาก มองว่าเศรษฐกิจจีนยังอ่อนแอนั้นอาจทำให้จีนอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้หลังจากนี้

ทางด้านค่าเงินเยน ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางของประเทศอื่นที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า เธอมองว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มคงตัว เธอมองว่าค่าเงินเยนจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง

ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังมองหลังจากนี้ว่าธนาคารกลางประเทศพัฒนา เช่น ยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ยังกดเงินเฟ้อให้ได้โดยการขึ้นดอกเบี้ย และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงสูงต่อไป โดยคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารอังกฤษ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง และ Fed เหลือการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง

รุ่ง สงวนเรือง – ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

มองค่าเงินบาทกับอัตราดอกเบี้ยของไทย

รุ่ง ยังมองว่านี้สินทรัพย์สกุลเงินบาท (เช่น หุ้น ตราสารหนี้) นั้นขาดความน่าสนใจ โดยเธอมองว่านักลงทุนไม่ตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินของไทย แต่บรรยากาศนั้นดูซึมลง ท่ามกลางต้นทุนการเงินที่เพิ่มมากขึ้น สินทรัพย์อื่นมีทางเลือกมากกว่า เช่น หุ้นเทคสหรัฐ หุ้นญี่ปุ่น หรือแม้แต่สินทรัพย์อย่างน้ำตาล ฯลฯ ส่งผลทำให้นักลงทุนย้ายเม็ดเงินไปลงทุนสินทรัพย์อื่น

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตที่ 3.3% ส่งออกมองโตแค่ 0.5% เท่านั้น ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยนั้นมีทั้งเรื่องค่าครองชีพที่สูง ผลกระทบจากเอลนีโญ่ ดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังสูง และยังมีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในส่วนของแง่ดีคือภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้

ทางด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เธอมองว่าแบงก์ชาติอาจขึ้นดอกเบี้ย เพื่อที่จะได้มีขีดความสามารถในการทำนโยบายด้านการเงิน (Policy Space) ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้ผลดีจากภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีต่างชาติยังไม่ Flow เข้าไทย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า โดยคาดหวังระดับการซื้อขายสิ้นปี 2023 ที่ราว 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บนสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้แรงส่งเชิงบวกจากภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังคาดว่าภาพการเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยดึงดูดกระแสเงินทุนให้ไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์สกุลเงินบาทได้

]]>
1436830
ค่าเงินบาทไทยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง หลังนักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed https://positioningmag.com/1389623 Wed, 22 Jun 2022 08:19:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389623 ค่าเงินบาทของไทยล่าสุดทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง ปัจจัยสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐอเมริกานั้นมีความแตกต่างกัน ส่งผลทำให้เม็ดเงินไหลออก ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าไทยอาจต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้

ค่าเงินบาท ล่าสุด (14:50 น.) ซื้อขายอยู่ที่ราคา 35.50 บาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่า 0.5% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 เป็นต้นมา 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่ามาจากเม็ดเงินไหลออก ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ Maybank สถาบันการเงินจากมาเลเซียมองว่าแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลง ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทของไทยนั้นมาจาก “ความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และความหวาดกลัวต่อสภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น”

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ 0.5% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในช่วง 1.50-1.75% ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าไทยเองอาจมีการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าจะยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบพิเศษ

นอกจากนี้นักลงทุนได้รอดูตัวเลขดุลการค้าของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจขาดดุลราวๆ 1,500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลทำให้ยอดการนำเข้าโตกว่า 18% เมื่อเทียบกับปี 2021 แต่ยอดการส่งออกอาจเติบโตเพียงแค่ 8% เมื่อเทียบกับปีที่ 2021 ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่าเกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทไทยในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

]]>
1389623
ส่องกลยุทธ์ลงทุนปี 2022 กับธีมธุรกิจแห่งอนาคต จากมุมมอง SCB CIO https://positioningmag.com/1367990 Tue, 21 Dec 2021 08:47:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367990 ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปีหน้า ผลกระทบโควิด “ลดลงแต่ยังไม่หายไป” SCB CIO แนะลงทุนกลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูง เช่น หุ้นสหรัฐฯ ยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth มุ่งเน้น 2 ธีมหลัก Super Investment เเละ Futuristic Investment ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pick ในอาเซียน มองหุ้นไทยเป็น neutral

โดยมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2022 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB CIO ได้ประเมินผ่าน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ผลกระทบแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่หายไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เริ่มมีความแตกต่างน้อยลง โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังจากฟื้นตัวในปี 2021 จะเริ่มชะลอลงในปี 2022 ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับมาฟื้นตัว

“เเต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ” 

นโยบายการเงินการคลัง เริ่มตึงตัวขึ้นแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2022 โดยทยอยขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่จะมีการสื่อสารให้ตลาดรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกแม้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น แต่น่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้

“ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 0.5% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” 

ส่วนนโยบายการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว จะเริ่มเห็นการออกนโยบายเพิ่มรายได้ภาครัฐมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษี แต่อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดดุลขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง

Photo : Shutterstock

ต้นทุนทางการเงินเริ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่มาพร้อมความผันผวน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด

“SCB CIO คาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในช่วง 32-33 ในปลายปี 2022 แต่จากการปรับนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ COVID-19 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูงของ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging strategy) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ”

เเนะเน้นทุนในหุ้น มากกว่าพันธบัตร

โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูงและเติบโตได้ดีในสภาวะที่ผลกระทบของโควิด-19 ยังไม่หายไป และการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น หุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth ตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pickในตลาดหุ้น ASEAN แม้ valuation เริ่มมีการขยับขึ้นก็ตาม แต่ในระยะข้างหน้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดจะเบียนจะมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคส่งออก

SCB CIO คงมุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น neutral จาก valuation ที่ตึงตัวกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อกว่าคาด

“ในพอร์ตการลงทุนควรพิจารณา น้ำมัน หุ้นกลุ่ม financial และ consumer ส่วนทองคำน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ” 

ลงทุนตาม ‘เมกะเทรนด์’ ในอนาคต 

จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันน้อยลง จะทำให้มีการลงทุนใน Thematic investment funds ในอุตสาหกรรมและบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและธุรกิจเฉพาะทางมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจที่สามารถเกาะกระแสการเติบโตของเมกะเทรนด์ในอนาคตได้ จะมีบทบาทและความน่าสนใจมากขึ้นในการจัด Global asset allocation portfolio โดยในปี 2022 SCB CIO แนะลงทุนใน 2 ธีมการลงทุนหลัก ได้เเก่

Super Investment Theme

สำหรับ Super Investment Theme เป็นธีมการลงทุนอุตสาหกรรมระยะยาวที่เติบโตต่อเนื่อง มี 3 ธีมย่อยสำหรับการลงทุนที่มีความน่าสนใจ คือ

  • กลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอน
  • กลุ่ม Healthcare and Healthtech โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Technology เช่น อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก
  • กลุ่ม Fintech เทคโนโลยีทางการเงินที่เกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีความหลากหลายในการให้บริการทางการเงิน

Futuristic Investment Theme

ธีมการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพเติบโตสูง มี 3 ธีมย่อยที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่

  • Aerospace & Space Exploration จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านอวกาศและการบิน การท่องเที่ยวอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีจรวด โดรน ดาวเทียม การวัดและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และระบบโทรคมนาคมขั้นสูง
  • Metaverse การลงทุนในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ตในเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเติบโตที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโซเชียลมีเดีย แต่รวมถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมและสันทนาการ อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมการผลิต

ถ้าเป็นความเสี่ยงปานกลาง ควรจะมีสัดส่วนในหุ้นประมาณ 60-65% โดยให้น้ำหนักหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ ส่วนการถือเงินสด ควรจะถือประมาณ 5-7% ก็พอ เอาไว้เก็บหุ้นเพิ่มตอนที่ปรับฐาน เเละให้น้ำหนักหุ้นต่างประเทศมากกว่าหุ้นไทย โดย 4 ใน 5 ของพอร์ตให้เน้นหุ้นเป็นหุ้นตลาดต่างประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว เน้นสหรัฐฯ ยุโรป จีน และเวียดนาม ที่เป็นตลาดเกิดใหม่ โดยหุ้นขนาดกลางเเละขนาดเล็ก มีเเนวโน้มจะสร้างผลตอบเเทนได้ดี

 

]]>
1367990
เศรษฐกิจไทย รอฟ้าหลังฝน ‘ครึ่งปีหลัง’ CIMBT คาด Q2/64 จีดีพีโต 7.8% ‘รถยนต์มือสอง’ รุ่ง https://positioningmag.com/1325007 Thu, 25 Mar 2021 10:55:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325007 ‘ซีไอเอ็มบี ไทย’ มองภาพเศรษฐกิจไทยต้นปี ‘ไม่สดใส’ คาดไตรมาสเเรกยังหดตัว -4.1% ไตรมาส 2 กลับมาบวก 7.8% จากอานิสงส์การส่งออก เเต่ต้องระวังหลายปัจจัยทั้งวัคซีน การท่องเที่ยว ปัญหาสต๊อกสินค้า การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว ชูธุรกิจ ‘รถยนต์มือสอง-มอเตอร์ไซค์-ค้าปลีก-โรงพยาบาล’ ทยอยฟื้นตัวหลังวิกฤต 

อมรเทพ จาวะล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่าการฟื้นตัวของศรษฐกิจไทย ในช่วงไตรมาส 1 ยังไม่คต่อยสดใสนัก ด้วยผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโรโรนาระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ผู้คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย กระเเสทำงานที่บ้านหรือ WorK from Home กลับมาอีกครั้งทำให้การเดินทางลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาส 1 เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

CIMBT คาดว่า ตัวเลข GDP ของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสเเรก จะหดตัวที่ -4.1% ก่อนที่ในไตรมาส 2 จะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 7.8% โดยมีปัจจัยหนุนต่างๆ ดังนี้

  • การส่งออกจะเร่งตัวมากขึ้น 

จากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ กำลังอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยงบประมาณถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะทำให้ GDP สหรัฐฯ กลับมาโตเกิน 6% เมื่อเศราบกิจดีขึ้น ก็จะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าจากไทย อาเซียน จีน และตลาดอื่นๆ

  • คนใช้จ่ายมากขึ้น

จะเริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ไตรมาส 2 โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวเร็วกว่าเพื่อนคือกลุ่มอาหารเครื่องดื่มเเละสินค้าเล็กๆ น้อยๆ

  • การส่งเสริมจากรัฐ

คาดว่ารัฐจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งการจับจ่าย เร่งการลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2  

Photo : Shutterstock

วัคซีนช้ากระทบท่องเที่ยว ระวังปัญหาสต๊อกสินค้า

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่มองข้ามปัจจัยเชิงลบที่รั้งเศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ยังไม่สดใสถึงขั้นสุดอาทิเช่น ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น จากการกระจายวัคซีนในประเทศที่เพิ่งเริ่มฉีด ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามามากนัก สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ มาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่น่าจะเข้าช่วยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 

“ภาพรวมวัคซีนจะเริ่มฉีดมากขึ้นไตรมาส 2 สร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น คาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่ 2.6% ในปี 2564 ยังไม่เด่นมากนัก เพราะยังขาดการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเราฉีดวัคซีนได้เต็มที่ ต่างชาติกลับมามากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยสดใสมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3” 

Photo : Shutterstock

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่ แม้การส่งออกสินค้าดีขึ้น การใช้จ่ายของคนในประเทศดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ‘สต๊อกสินค้า’ ที่ค่อนข้างสูงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยให้เอกชนชะลอการลงทุน ชะลอซื้อเครื่องจักรใหม่ ชะลอนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการขาดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เราหวังเรื่องการย้ายฐานเข้ามาลงทุนมากขึ้น หากการฉีดวัคซีนเริ่มแพร่หลายและเปิดรับต่างชาติเข้ามาแล้ว จะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการลงทุนมากขึ้น    

ด้านการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าที่คนต้องคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อ คนยังระมัดระวังอยู่ ดังนั้น การบริโภคที่กำลังฟื้นตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นกระจายตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่วนสินค้าคงทน สินค้าขนาดใหญ่ สินค้าเกี่ยวกับการลงทุน เช่น บ้าน รถใหม่ จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่มากในไตรมาส 2  

ธุรกิจ ‘รถมือสอง’ ฟื้นตัวเร็ว 

อุตสาหกรรมเด่น ที่น่าจะฟื้นตัวไตรมาส 2 ได้แก่ ‘รถมือสอง’ ที่ฟื้นเร็วกว่ารถป้ายแดง เนื่องจากคนต้องประหยัด จึงมองหารถมือสองคุณภาพดีเเทน

ส่วน ‘มอเตอร์ไซค์’ จะเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตร ปีนี้แม้ยังเผชิญปัญหาภัยแล้งอยู่ แต่ปัญหาภัยแรงไม่รุนเรงเท่าปีที่แล้ว กำลังซื้อภาคเกษตรที่ดีขึ้น คนจะหันไปซื้อมอเตอร์ไซค์มากขึ้นนั่นเอง

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับค้าปลีกค้าส่ง น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามกำลังซื้อที่ดีขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ บรรจุภัณฑ์-พลาสติก รวมไปถึงธุรกิจโรงพยาบาล ที่มีฐานลูกค้าเป็นคนไข้ในประเทศ ส่วนคนไข้ต่างประเทศคาดว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ในไตรมาส 3

Photo : Shutterstock

ค่าเงินบาท ‘ดีกว่าที่คาด’ 

ส่วนทิศทาง ‘ค่าเงินบาท’ นั้นประเมินว่าจะอ่อนค่าลง หลังจากสหรัฐฯ กังวลเรื่องเงินเฟ้อหลังทุ่มอัดฉีดงบประมาณ จึงจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ที่สูงขึ้น มีผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะตามมา คนเลยกังวลเงินจึงไหลกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า เเละเงินบาทอ่อนค่า

“ในไตรมาสที่ 2 การอ่อนค่าน่าจะชะลอลง และน่าจะเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก” 

ด้านนโยบายการเงิน ประเมินว่าธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี โดยเลือกใช้นโยบายการเงินอื่น นอกเหนือจากดอกเบี้ย การอัดฉีดเเละเงินช่วยเหลือ SMEs การเร่งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ของครัวเรือน

“เราอาจเห็นมาตรการจ้างงานหรือสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น”

 

]]>
1325007
SCB ลดจีดีพีปีนี้ ติดลบ 7.3% จะฟื้นตัวเเบบ “ช้าๆ” ครัวเรือนไทยมีเงินไม่พอรายจ่าย 3 เดือน https://positioningmag.com/1282219 Fri, 05 Jun 2020 09:33:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282219 SCB EIC ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปี 63 ติดลบมากขึ้น เป็น -7.3% จีดีพีโลกปีนี้คาดติดลบ 4% หนักสุดในรอบ 90 ปี มองไตรมาส 2 คือจุดต่ำสุดของเศรษฐไทยในปีนี้ จะเริ่มกลับมาดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง “เเบบช้าๆ” นักท่องเที่ยวหาย 75% โรงเเรมราคาประหยัดจะฟื้นก่อน ห่วงหลังหมดมาตรการพักหนี้จะดัน NPL เพิ่ม ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีเงินไม่พอรายจ่าย 3 เดือน คาดกนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% จนถึงสิ้นปี

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้ เป็นติดลบ 7.3% จากเดิมคาดติดลบ 5.6% จากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน

“แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เเต่เป็นเเบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งโดยรวมทั้งปีจะยังติดลบ คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาขยายตัวในระดับปกติเท่าปี 2019 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ในปี 2022 หรืออีกราว 2 ปี”

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ปีนี้ คาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 9.8 ล้านคน จากปีก่อนที่ 40 ล้านคน (ติดลบ 75%) ด้านการส่งออกติดลบ 10.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 1.1% เงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.1% โดยไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะติดลบถึง 12% ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในรายไตรมาส คาดว่า ไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยจะติดลบ 12.1% ขณะที่ในไตรมาส 3 คาดว่าจะติดลบ 9.2% และติดลบ 6.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

“เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงมาก่อนหน้า COVID-19 แล้ว จึงมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวแบบ U-Shape จากการฟื้นตัวช้าของอุปสงค์ต่างประเทศ และในประเทศ ที่มีความเปราะบางจากครัวเรือน และภาคธุรกิจ”

สำหรับปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีเเนวโน้มเติบโตได้ 5-6% และในปี 2022 คาดว่าจะเติบโตได้ 4-5% เเต่จะเป็นการ “ฟื้นตัว” แบบค่อยเป็นค่อยไป จากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์ต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อุปสงค์ในประเทศที่มีความเปราะบางจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจเเละปัญหาการว่างงาน

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และในแต่ละภาคธุรกิจจะมีลักษณะการฟื้นตัวที่ต่างกัน (uneven) เเบ่งการคาดการณ์ได้ดังนี้

  • การท่องเที่ยว มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด เช่น social distancing รวมถึงความกลัวของผู้โดยสารยังคงมีอยู่จนกว่าจะมีวัคซีน
  • การส่งออก มีแนวโน้มหดตัวสูง จากภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว ปัญหา supply chain disruption และราคาน้ำมันที่หดตัวแรง
  • ภาคครัวเรือน มีความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวแย่ลงของการจ้างงานและรายได้ กันชนทางการเงิน ความเชื่อมั่น และความมั่งคั่ง ขณะที่การช่วยเหลือจากภาครัฐจะสามารถบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วน ภาคธุรกิจถูกกระทบจากรายได้ที่ลดลงมากและความไม่แน่นอนในระดับสูง กระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนในปี 2020 ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวสูง
  • ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นตัวช้า คือ ภาคธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ธุรกิจอสังหาฯ และยานยนต์

“การปิดเมืองส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมลดลงมาก โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนและสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่มีบางสินค้าที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สินค้าเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหาร คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการบริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงล็อกดาวน์ทำให้สินค้าประเภทดูแลสุขภาพ และเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและทำงานอยู่บ้าน ได้รับประโยชน์มากขึ้น”

คนรุ่นใหม่เริ่มเที่ยว โรงเเรมราคาประหยัดจะฟื้นก่อน 

EIC คาดการณ์จำนวนทริปค้างคืนภายในประเทศในปี 2020 ที่ 76 ล้านทริป หดตัวลง 42% แต่คาดว่าจะฟื้นตัวหลังภาครัฐอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัด โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี และโรงแรมระดับกลางจะฟื้นตัวก่อน ผู้คนจะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาเที่ยวระยะใกล้ ขับรถไปถึงได้ใน 3 ชั่วโมงเเละโรงเเรมราคาประหยัดจะได้รับความนิยม

“แม้มาตรการล็อกดาวน์จะเริ่มผ่อนคลายลง แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายลงโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นและสินค้าคงทน รวมทั้งจะออมมากขึ้น
(precautionary saving) ในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง”

งานหายาก ค่าจ้างไม่ขึ้น 

ตลาดแรงงานของไทยมีความอ่อนแอตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 โดยจำนวนผู้มีงานทำลดลงต่อเนื่อง จำนวนชั่วโมงทำงานงานเฉลี่ยก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เเละอัตราการเพิ่มของค่าจ้างลดต่ำลงในระยะหลัง โดยอัตราการว่างงานในกลุ่มประกันสังคมเดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.81% สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2009

“ค่าจ้างเฉลี่ยยังอยู่ราว 14,000 บาทต่อเดือนมาหลายปี โดยในช่วง 3 ปีย้อนหลังค่าจ้างเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.3% ต่อปี (เทียบกับช่วงปี 2012-14 ที่โตเฉลี่ยปีละ 10%) สะท้อน productivity ที่เติบโตช้าลง รวมถึงตลาดแรงงานที่มีความตึงตัวน้อยลง”

แรงงานจำนวนมากมีความเสี่ยงตกงานและสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวคนทำงานอิสระในภาคการท่องเที่ยวกว่า 6.5 ล้านคน โดยธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร บันเทิง ค้าส่งค้าปลีกมีความเสี่ยงสูงที่สุด ประกอบกับภาคธุรกิจก็มีความอ่อนแอตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤต สะท้อนจากการเปิดกิจการที่น้อยลงและการปิดกิจการที่มากขึ้น

ข้อมูลการประกาศหางานจาก Jobsdb.com บ่งชี้ว่าการประกาศรับสมัครงานปรับลดลงอย่างมากนับตั้งแต่มีมาตรการปิดเมือง แม้เริ่มมีการฟื้นตัวบ้างในหลายสาขาธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์ อย่างธุรกิจ consumer retail ที่เริ่มกลับมาจ้างงานบางส่วน โดยประกาศรับสมัครงานรวมลดลงราว 25.4%

อีกหนึ่งความกังวลของเศรษฐกิจไทยคือ ครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 59.8% มีความเปราะบางทางการเงินสูง ส่วนมากมีสินทรัพย์ไม่พอรายจ่าย 3 เดือน และโดยเฉพาะครัวเรือนลูกจ้างรายได้น้อยจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

คาดกนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ถึงสิ้นปี

ด้านภาวะการเงินไทยในปีนี้ EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% จนถึงสิ้นปีนี้ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 จากแรงสนับสนุนของมาตรการขนาดใหญ่ที่ออกมาก่อนหน้า และการทยอยเปิดเมือง รวมถึงระยะหลังภาวะการเงินเริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้วในบางมิติ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น EIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เช่น ลด FIDF Fee ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปรับเกณฑ์มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย เป็นต้น

ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเงินดอลลาร์ที่คาดว่าจะยังแข็งค่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวช้า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับลดลงมาก โดย EIC คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกมาในช่วงก่อนหน้าจะชะลอลง ทำให้ค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่ามากนักในช่วงปลายปี

“เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดการเงินไทยค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การไหลออกของเงินทุนในปริมาณมากในระยะต่อไปมีโอกาสน้อยลง”

Photo : Shutterstock

มองจีดีพีโลก -4% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี หนี้เสียเพิ่ม 

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจโลก EIC ปรับลดประมาณการณ์จากเดิมติดลบ 3% เป็นติดลบ 4% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี และจะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว U เนื่องจากการบริโภคมีแนวโน้มซบเซา อัตราว่างงานอยู่ในระดับสูงทั่วโลก และความเชื่อมั่นลดลงอย่างรวดเร็วจากความไม่แน่นอนของรายได้ ทำให้การบริโภคและการลงทุนไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยความเสี่ยงที่ยังต้องติดตามต่อไป ได้เเก่

  • โอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง
  • สงครามการค้าโลกที่อาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และยุโรป
  • ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้
  • ความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป

“ต้องจับตามองสินเชื่อที่ได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งหากผลของมาตรการหมดไปอาจทำให้หนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL เพิ่มขึ้นได้ ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดอันดับความเน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้”

]]>
1282219
เเผนเเก้เกมของ “บ้านปู” หลังกำไรลด 41% จากปีก่อน รุก EV – ทุ่มซื้อเเหล่งก๊าซในสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1267320 Sat, 07 Mar 2020 06:41:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267320 ในปี 2562 ที่ผ่านมา แนวโน้ม “ธุรกิจพลังงาน” สะท้อนถึงความท้าทายจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่างๆ ทั้งการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวจากปัจจัยสภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในข่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ และการแข็งค่าของเงินบาท

บริษัทธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิกอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ เเม้จะยังมีกำไรถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็ลดลงกว่า 41% จากปีก่อน

โดยภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 ของบริษัท มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็น 21% โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลง 41% จากปีก่อนหน้า

เเละมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,329 ล้านบาท) ลดลง 66% จากปี 2561 จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินจำนวน 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,950 ล้านบาท) งบการเงินรวมจึงบันทึกขาดทุนสุทธิ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท)

“ผลขาดทุน 20 ล้านเหรียญนี่ถือว่าเราทำได้ดีเเล้ว เพราะบริษัทต้องใช้บริการเงินตราต่างประเทศถึง 10 สกุล เเละเราเป็นเงินดอลลาร์ โดยปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยเเข็งค่ามาก เเละอัตราเเลกเปลี่ยนก็ผันผวน เเต่มองว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเราเเล้ว” สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริหารบ้านปู มองแนวโน้มการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทว่า เริ่มอ่อนค่าลง จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงกว่า 1 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น

ปีนี้จึงเป็นปีที่ “บ้านปู” หวังจะพลิกกลยุทธ์ “ฟื้นกำไร” ขึ้นมา เเม้ยังต้องเจอกับจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเเละผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยบริษัทวางเเผนดำเนินธุรกิจปี 2563 ไว้ หลักๆ 3 ด้านดังนี้

ลุยซื้อเเหล่งก๊าซฯ ในสหรัฐฯ หวัง “บาร์เนตต์” คืนทุนได้ใน 6 ปี

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 62 บ้านปูได้ลงทุนเป็นจำนวน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,907 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ ทำให้บ้านปูขึ้นติดท็อป 20 กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติในอเมริกา

“การเข้าซื้อบาร์เนตต์ ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว โดยคาดการณ์ว่าสามารถคืนทุนให้บ้านปูได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี”

ซีอีโอบ้านปูบอกอีกว่า การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์นั้น อยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจ มีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ ทำให้พอร์ตของบ้านปูหลากหลายขึ้น จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ยอดขายก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แหล่งที่บ้านปูมีอยู่ทั้งบาร์เนตต์ เเละ Marcellus จะอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ราคาขายคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4 เหรียญต่อล้านบีทียู จากปี 2562 อยู่ที่ 1.38 เหรียญต่อล้านบีทียู

โดยบริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ อยู่ที่ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น สัดส่วน 90% (840 ล้านเหรียญ) จะใช้สำหรับขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามแผน ส่วนอีก 10% หรือ 90 ล้านเหรียญ จะใช้สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมืองถ่านหินต่างๆ เช่น ในออสเตรเลีย

พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตถ่านหินรวม อยู่ที่ 46.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีกำลังผลิตรวม อยู่ที่ 45.3 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายจะใกล้เคียงช่วงไตรมาส 3-4 ของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญต่อตัน

ยอดขายถ่านหินของบ้านปู เเบ่งตามรายประเทศ ในปีพ.ศ. 2562

ตั้ง “บ้านปู เน็กซ์” เน้นพลังงานสะอาด รุก EV เเละแบตเตอรี่ไฟฟ้า

สำหรับบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 7,919 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาจะดำเนินงานเป็นบริษัทหลัก (Flagship) ของกลุ่มบริษัทบ้านปู เพื่อมุ่งลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด

การดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน พัฒนาสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงาน

“ความคืบหน้าในปี 2562 เราขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับลูกค้าพรีเมียมทั่วประเทศ รวมถึงร่วมมือด้านโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และการขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมอิออน 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง”

เป้าหมายของ “บ้านปู เน็กซ์” ในปีพ.ศ. 2568

เล็งตลาดใหม่ อินเดีย-บังกลาเทศ

ปัจจุบันบ้านปูทำธุรกิจใน 10 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก โดยธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทคือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน โดยบริษัทกำลังพิจารณาถึงตลาดที่มีศักยภาพใหม่อย่าง อินเดียและบังกลาเทศ

“ธุรกิจผลิตพลังงาน เราจะตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 5.3 กิกะวัตต์เทียบเท่า ภายในอีก 5 ปี เน้นเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter”

เมื่อถามถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจพลังงานในปีนี้ สมฤดีตอบว่า อันดับเเรก คือ Covid-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ยังควบคุมได้ลำบาก เเต่เชื่อว่าเเต่ละประเทศน่าจะมีมาตรการรองรับที่ดี โดยตอนนี้ความเสี่ยงที่เชื้อเเพร่กระจายไปสู่ยุโรป ก็ส่งผลต่อความตื่นตระหนก ความคิดของนักลงทุน ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย

“โรงงานเเละเหมืองถานหินของบ้านปูในจีน ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะมีเเค่เรื่องเเรงงาน ซึ่งตอนนี้กลับมากลับมาทำงานตามปกติเเล้ว”

ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ การลดลงของราคาเเก๊สธรรมชาติเเละถ่านหิน ที่มีโดยตรงต่อรายได้ของบ้านปู เเละอันดับ 3 คือเรื่อง กำลังการผลิต “ปีที่เเล้วเราตกเป้าที่ออสเตรเลียเพราะไฟป่า เเละที่ลาวมีเเผ่นดินไหว ปีนี้เริ่มฟื้นกลับขึ้นมาเเล้ว ซึ่งเราก็ต้องมีมาตรการรองรับในจุดนี้”

“ในกรณีสถานการณ์เลวร้ายมาก เราก็มีเป้าหมายจะลดต้นทุนในเเง่ของการดำเนินงานจะสามารถรับมือได้โดยเฉพาะของบ้านปูเน็กซ์ เเละหากการระบาดดีขึ้น รัฐคงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งการใช้พลังงานก็จะเพิ่มขึ้น
ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ดีมานด์ในไตรมาส 4 ในตลาดก็น่าจะขึ้นพอสมควร”

 

*คำนวณโดยอ้างอิงอัตราเเลกเปลี่ยนที่ USD 1 : THB 31.0476 

]]>
1267320
พิษไวรัส EIC หั่นเป้าจีดีพีไทยเหลือ 1.8% หลายภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” https://positioningmag.com/1264831 Tue, 18 Feb 2020 07:53:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264831 ไวรัสโคโรนาทำพิษเศรษฐกิจ EIC ปรับลดจีดีพีไทยเหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% นักท่องเที่ยวหาย ฟื้นตัวช้า หลายภาคธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค คาดปีนี้ กนง.ยังคงดอกเบี้ย 1% เเต่มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอีก มองต้นปี 2020 เงินบาทยังผันผวน-อ่อนค่า 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด

จากปัจจัยต่างๆ ทั้งการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่ลดลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยด้วย

โดยวานนี้ (17 ก.พ.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัวที่ 1.6% ชะลอลงจาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 62 ของไทยขยายตัวที่ 2.4% นับว่าเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี เเละมองว่า GDP ปี 2563 จะเหลือเพียง 1.5-2.5% เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : สภาพัฒน์ หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.5-2.5% จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

หลายภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” เเล้ว

“ตัวเลข GDP ล่าสุดบ่งชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ techinical recession แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว” EIC ระบุ

แม้ว่าในภาพรวม GDP จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แต่ก็ถือว่ามีอัตราเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว (QOQ sa) ที่ต่ำมาก โดยขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2562

และหากพิจารณาในรายภาคเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีหลายสาขาการผลิตที่เข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ ในส่วนของเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย

ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ technical recession แล้ว คือการก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามีการพ้นภาวะ technical recession แล้วหลังจากมี %QOQ sa ติดลบติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวยังคงเปราะบาง โดยมีการขยายตัวเพียง 0.1% QOQ sa

นักท่องเที่ยวลดฮวบ ฟื้นตัวช้า 

สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากการประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์นี้จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน

นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63) ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในระยะถัดไป

จากตัวเลขเร็ว (High frequecy data) ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศรายวันล่าสุดที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1%

จากการติดตามจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยผ่าน 5 สนามบินหลัก พบว่าในช่วงวันที่ 1-13 ก.พ. 63 นักท่องเที่ยวหดตัวไปแล้วกว่า -45%YOY ซึ่งลดลงมากกว่าคาดการณ์เดิมของทาง EIC ที่ -30.8%YOY จึงมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือน ก.พ. (lowest draw-down)

นอกจากนี้ ยังคาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากลักษณะของ COVID-19 ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย สะท้อนจากผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการกลับมาเดินทางอีกครั้ง

 EIC จึงปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -7.1%YOY จากประมาณการเดิมที่ประมาณ 38 ล้านคน (-4.6%YOY) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1%

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 63 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป

คาดกนง.ยังคงดอกเบี้ย 1 % เเต่มีโอกาสสูงที่จะปรับลด 

EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2563 “การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก”

อย่างไรก็ดี มีโอกาสสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง

“หากการระบาดของ COVID-19 ยาวนานกว่าที่คาดและส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้”

ต้นปี 2020 เงินบาทยังผันผวน-อ่อนค่า 

ด้านค่าเงินบาท EIC คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้เดิมและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลก ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเกินดุลน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม

สำหรับในระยะสั้น (2 ไตรมาสแรกของปี 2020) EIC มองว่า เงินบาทจะยังเคลื่อนไหวผันผวนและยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีการปรับประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 63 เป็นเกินดุลราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.7% ต่อ GDP (ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 6.1% ต่อ GDP) ความต้องการเงินบาทจึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โดยการศึกษาพบว่าในช่วงที่มูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย การแข็งค่าของเงินบาทมักชะลอลงหรือปรับอ่อนค่าได้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ดุลบัญชีสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ค่อนข้างสูง แม้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากนั้น เนื่องจากการเกินดุลการค้ายังอยู่ในระดับสูง (มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก เนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าสินค้าพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนลดลงความต้องการภาคเอกชนภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมถึงการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ลดลงตามการชะลอตัวของการส่งออก)

 

]]>
1264831
กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเหลือแค่ 1% หลังประเมินเศรษฐกิจ​ไทยแย่กว่า​ที่คาด https://positioningmag.com/1263345 Wed, 05 Feb 2020 10:37:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263345 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยให้มีผลทันที

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้เเก่

  • การระบาดของไวรัสโคโรนา
  • ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • ภัยแล้ง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง”

กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

การท่องเที่ยวเเละส่งออก

มีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

อุปสงค์ในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

โดยต้องติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงิน

ที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวม

มีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่าง ๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย

]]>
1263345
ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” เพิ่มขึ้น ส่องวิเคราะห์ Kbank เเนะชะลอลงทุนหุ้น 5 กลุ่ม https://positioningmag.com/1261672 Thu, 23 Jan 2020 09:50:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261672 กสิกรไทย ห่วงภัยแล้งเเละปัญหาฝุ่น PM 2.5 ฉุดเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนพุ่งที่ระดับ 79% ต่อจีดีพี ลุ้นงบประมาณปี 2563 ดันลงทุนรัฐโต มองสงครามการค้าเฟส 2 เจราจรยาก ด้านตลาดหุ้นไทยยังไม่เเน่นอน เเนะชะลอลงทุนหุ้น 5 กลุ่มใหญ่ในไตรมาสเเรก 

Positioning สรุปประเด็นสำคัญจากสัมมนา “จับตาเศรษฐกิจเเละหุ้นปังปีชวด” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย กับมุมมองสภาพเศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าของสงครามการค้าเเละความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ปัญหาฝุ่น-ภัยเเล้ง ฉุดจีดีพี

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) มองว่าหากการเจรจาของสหรัฐเเละจีน บรรเทาความตึงเครียดของสงครามการค้าได้มาก เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็จะขยายตัวที่ 2.7% พร้อมด้วยปัจจัยสำคัญจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาส 2/2563

“ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ คิดเป็นเม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท เเละหากภัยแล้งเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็คงมีผลต่อการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ใหม่อีกครั้ง”

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยสูงถึง 6 พันล้านบาท

ห่วงหนี้ครัวเรือนระดับ 79% ความเสี่ยงภาวะ “ถดถอย” เพิ่มขึ้น

ด้านการปรับเกณฑ์มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเพิ่มความยืนหยุ่นให้กับการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ที่มีอยู่ถึง 79% ต่อจีดีพี และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้สูงถึง 220% สะท้อนว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคได้อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการดูดซับอุปทานอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอุปทานในคอนโดมิเนียม

“ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดว่ายังเกินดุลอยู่ที่ 33,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงปีก่อน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่สมดุล เนื่องจากภาครัฐเก็บภาษีในระดับสูงมีการหาช่องทางการเก็บภาษีเพื่อสร้างรายได้ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง จึงอยากให้ภาครัฐปรับภาษีใหม่ทั้งหมด เพื่อกระตุ้นการนำเข้าสินค้า” กอบสิทธิ์ระบุ

“ไทยมีโอกาสเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 23% “

ด้านค่าเงินบาทคาดจะยังแข็งค่าจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดลง 2 ครั้ง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดอยู่ที่ 31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ ช่วงครึ่งปีแรกค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อ่านเพิ่มเติม : สรุปวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ 2020 ส่งออก-ค่าเงิน-ตลาดหุ้นไทย

สงครามการค้า เฟส 2 ไม่ง่าย

ด้าน ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ซึ่งตอบโจทย์ชนชั้นกลางชาวอเมริกันที่ชื่นชอบลงทุนในหุ้น ทรัมป์จึงจะพยายามไม่ให้ตกลงไปจากนี้ เพราะต้องการฐานเสียงเลือกตั้ง

โดยมองการเจรจาเกี่ยวกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ว่า เเม้ว่าจะผ่านไปได้ในเฟสเเรกเเต่เฟสสองจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะจะเเยกย่อยเป็น 2-3 ยกต่อเฟส เพื่อกระตุ้นให้เกิด “ข่าวดี” ที่ส่งผลต่อหุ้น ซึ่งคาดว่าหากมีข้อตกลงเฟส 2 อีก ก็น่าจะเป็นช่วง “เดือนมิถุนายน”

“ความขัดเเย้งที่น่าจับตามองในปีนี้ จะไม่ใช่ความขัดเเย้งด้านเศรษฐกิจอีกต่อไปเเต่จะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจีนเเละสหรัฐฯ เช่นในกรณีประท้วงฮ่องกงเเละเลือกตั้งไต้หวัน อีกทั้งการโจมตีจีน ยังเป็นการหาเสียงของ
ทั้งพรรคเดโมเเครตเเละรีพับลีกัน ซึ่งจะเป็นการขัดขาการเจราจาสงครามการค้าในช่วงต่อไป”

กอบสิทธิ์ เสริมว่า สหรัฐฯ ยังตั้งเงื่อนไขกับจีน โดยให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปีข้างหน้า และยังไม่ปลดล็อกภาษีที่ขึ้นมาก่อนหน้านี้ประมาณ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบการค้า ส่งอกของประเทศคู่ค้า เช่น ไทยที่คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 1% นอกจากนี้ปัญหาความขัดเเย้งในทะเลจีนใต้ก็ต้องเผ้าระวังที่จะกระทบไทย

ทั้งนี้ มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงกลางปีนี้ เเละเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : มองเศรษฐกิจรอบด้าน เปิดวิเคราะห์ SCB EIC ครัวเรือนไทยรายได้-ใช้จ่ายลดในรอบ 10 ปี หนี้สูง

หุ้นไทย Q1/63 ยังเผชิญความไม่แน่นอน

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยที่ต้องให้ความสำคัญคือ 1) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 2) ภัยเเล้งที่คาดว่าจะอยู่ในระดับวิกฤต เเละ 3 ) โรคระบาด

“ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากที่สุด”

สรพล ประเมินว่า มุมมองการเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในไตรมาส 1/63จะอยู่ในกรอบ 1,555-1,630 จุด เเละคาดว่า SET Index สิ้นปีจะอยู่ที่ 1,725 จุด

สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีผลกระทบจากความไม่แน่นอน เเละ ควรชะลอการลงทุนหุ้นไปก่อนในไตรมาส 1/63 โดยเฉพาะใน 5 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มไอซีที จากปัจจัยความไม่ชัดเจนในการประมูล 5G ว่า CAT และ TOT จะเข้าร่วมหรือไม่ เเละหากเข้าร่วมก็จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น

2.กลุ่มค้าปลีก มีความไม่เเน่นอนจากประเด็นการประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีคู่เเข่ง 3 รายใหญ่อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล , กลุ่มซีพีเเละกลุ่มบีซีเจ ที่ไม่ว่าเจ้าไหนจะชนะการประมูลก็ต้องพิจารณาถึงแผนการระดมเงินทุนในการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากช่องมางใดบ้าง และจำเป็นต้องเพิ่มทุนหรือไม่

3.กลุ่มปิโตรเคมี ที่เกี่ยวข้องการผลิตพลาสติก เพราะต้องคิดในระยะยาวว่าการรณรงค์ลดใช้พลาสติกจะมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร

4.กลุ่มท่องเที่ยว มีปัจจัยความไม่เเน่นอนจากโรคระบาดที่สร้างความกังวลให้ผู้คน เช่นไวรัสจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้การท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัว

5. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากปริมาณสต็อกที่อยู่อาศัยในตลาดยังเหลืออยู่มาก และกำลังซื้อที่ชะลอตัว คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

ส่วนกลุ่มหุ้นที่มีความโดดเด่นในไตรมาส 1/63 ได้แก่

1. กลุ่ม Non-Bank ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้เสีย ที่จะได้ประโยชน์ไนภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี เช่น JMT

2. กลุ่มพลังงานต้นน้ำ เช่น PTTEP

3. กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยได้รับเเรงหนุนจากภาครัฐที่จะทยอยเบิกจ่ายใช้งบประมาณในการลงทุนโครงการต่างๆ หุ้นแนะนำ คือ STEC

4. กลุ่มโรงไฟฟ้า

ส้วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองว่าในปีนี้ยังมีแรงกดดันจากนโยบายการควบคุมจากภาครัฐและธปท. และปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มองว่าในระยะยาวกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะกลับมาฟื้นตัวได้

สรุปทิศทางเศรษฐกิจ ปี 2020 

• เศรษฐกิจโลก

มีสัญญาณดีขึ้นหลังจากการลงจามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งนาโดยการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การผลิตและลงทุนยังอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทาให้ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงกลางปี 2020 ด้านเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

• เศรษฐกิจไทย

มีแนวโน้มขยายตัวตามแนวโน้มการลงทุนจากแรงสนับสนุนของการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มหดตัวจากผลของมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีนเดิมที่ยังคงอยู่ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของจีนทาให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมอ่อนแอลง ส่งผลถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลงและการบริโภคในประเทศชะลอตัว

• เงินบาท

มีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้างในช่วงเดือนนี้ หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคในปี 2019
ประเมินว่าแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินในเอเชีย คาดว่าค่าเงินบาทจะเป็นที่น่าสนใจน้อยกว่าค่าเงินในเอเชียสกุลอื่นๆ นอกจากนี้ ธปท. จะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันบาทแข็ง ทาให้คาดว่าเงินบาทจะมีช่องให้อ่อนค่าลงบ้างในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไทย และข้อจากัดจาก Policy space ของ ธปท. ที่น้อยจะกดดันให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะยาว

 

]]>
1261672