ต้นทุนวัตถุดิบ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 17 Oct 2024 14:23:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ยักษ์ใหญ่พลาดเป้า! “Nestle” คาดปีนี้โตเพียง 2% กดราคาสู้คู่แข่งไม่ไหว-ดีมานด์ผู้บริโภคอ่อนแอ https://positioningmag.com/1494883 Thu, 17 Oct 2024 12:10:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1494883 “Nestle” ปรับเป้าคาดการณ์การเติบโตของยอดขายปี 2024 ลงอีกครั้งเหลือเพียง 2% หลังผลประกอบการ 9 เดือนแรกไม่โตเท่าที่คิด คาดเป็นเพราะถูกคู่แข่งตีตลาดหลังบริษัทไม่สามารถกดราคาลงมาสู้ได้ ขณะที่ดีมานด์ผู้บริโภคอ่อนแอลง

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Nestle ประกาศเมื่อวันพฤหัสดีที่ผ่านมาว่าบริษัทกำลังปรับโครงสร้างทีมผู้บริหารระดับสูงและโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัท พร้อมทั้ง “ลดการคาดการณ์ยอดขายทั้งปี” หลังจากยอดขายในช่วงเก้าเดือนแรกของปีต่ำกว่าคาด

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปต่างประสบปัญหาเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนราคาน้ำมันดอกทานตะวัน ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ ราคาธัญพืช และราคาพลังงานที่แพงขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหลังจากการบุกโจมตีของรัสเซียในยูเครน

ในปีนี้เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลง คู่แข่งหลายรายของ Nestle เลือกที่จะชะลอการปรับราคาเพราะหวังที่จะดึงดูดลูกค้าให้หันไปหาผลิตภัณฑ์ราคาถูกกว่าของตน แต่บริษัท Nestle กลับเลือกที่จะไม่ปรับลดราคาอย่างรวดเร็ว และนักวิเคราะห์ยังมองว่า Nestle ตัดงบประมาณด้านการตลาดและนวัตกรรมมากเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

KitKat ขนมเวเฟอร์ที่ถือเป็นสินค้าชูโรงของ Nestle

สภาวะยอดขายอ่อนแอต่อเนื่องหลายไตรมาสของ Nestle ยังทำให้เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 “มาร์ค ชไนเดอร์” ซีอีโอคนก่อนถูกปลดออกจากตำแหน่ง

Nestle กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทคาดการณ์อัตราการเติบโตของยอดขายในปี 2024 จะอยู่ที่ประมาณ 2% และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (UTOP) จะอยู่ที่ประมาณ 17%

การคาดการณ์นี้ถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่อง เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 บริษัทก็เพิ่งจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของยอดขายลงเหลืออย่างน้อย 3% แต่ครั้งนั้นบริษัทคาดว่าจะเห็นอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (UTOP) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่เคยทำได้ 17.3% ในปี 2023

“นี่เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่และเจ็บปวดสำหรับ Nestle ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของบริษัท” เจฟฟ์-ฟิลิปป์ เบิร์ตชี่ นักวิเคราะห์จาก Vontobel กล่าว “มันยากที่จะเข้าใจว่าทำไมบริษัทถึงคาดการณ์การเติบโตของยอดขายที่ประมาณ 4% จนถึงเดือนกรกฎาคมจึงค่อยยอมปรับลงมา สำหรับยักษ์ใหญ่ระดับ Nestle ความผิดพลาดแค่ไม่กี่เดือนนั้นถือว่าใหญ่มาก”

Maggi หนึ่งในผู้เล่นหมวดเครื่องปรุงอาหารรายใหญ่ (Photo: Facebook@Nestle)

ซีอีโอคนใหม่ “ลอเรนต์ เฟร็กซ์” กล่าวว่า เขามีแผนที่จะลดขนาดของคณะกรรมการบริหารของ Nestle รวมถึงการรวมหน่วยธุรกิจของบริษัทในละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือเข้าด้วยกัน การรวมธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่และเอเชีย รวมหน่วยธุรกิจในโอเชียเนียและแอฟริกา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะตามมา

ความท้าทายของเฟร็กซ์ไม่ใช่แค่จัดองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูนวัตกรรมและการตลาด และการเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในแบรนด์หลักๆ ของบริษัท เช่น กาแฟ Nescafe และขนมเวเฟอร์ KitKat

 

ผู้บริโภคอ่อนแอลง

ยอดขายของ Nestle ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2024 (ไม่รวมผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนและการเข้าซื้อกิจการ) เพิ่มขึ้นเพียง 2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 2.5%

“ความต้องการของผู้บริโภคอ่อนแอลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเราคาดว่าภาวะความต้องการจะยังคงอ่อนแอต่อไป” เฟร็กซ์กล่าว

การปรับราคาในช่วงเก้าเดือนของ Nestle เพิ่มขึ้น 1.6% ต่ำกว่าการประมาณการเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ที่ 1.7%

หากเทียบกับคู่แข่งอย่าง Unilever นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทนี้จะรายงานการปรับราคาพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1% ในไตรมาสที่สาม และยอดขายน่าจะเติบโตที่ 3.2% โดยคาดว่าบริษัทจะรายงานผลประกอบการในสัปดาห์หน้า

“ต้นทุนของคู่แข่งของเรานั้นแตกต่างอย่างมาก” แอนนา แมนซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Nestle กล่าวกับนักข่าวในการพูดคุยทางโทรศัพท์ “สภาพแวดล้อมการตั้งราคาสำหรับคู่แข่งนั้นง่ายกว่ามาก”

แมนซ์ชี้ให้เห็นถึงราคากาแฟและโกโก้ที่ที่ทำสถิติขึ้นไปแตะระดับสูงสุดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา

Nestle กล่าวว่า ยอดขายของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ค้าปลีกและตัวแทนจำหน่ายลดการสต็อกสินค้าลง เพราะผู้บริโภคปลายทางไม่ค่อยซื้อสินค้ามากเท่าเดิม โดยเฉพาะในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอเช่นในละตินอเมริกา

Source

]]>
1494883
คนไทยค่าครองชีพ-ต้นทุนสินค้าพุ่ง ttb ประเมิน ‘เงินเฟ้อ’ ไตรมาสแรกปีนี้ แตะสูงสุด 4% https://positioningmag.com/1372884 Fri, 04 Feb 2022 10:11:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372884 ปัจจัยหลายอย่างยังคงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ อยู่ในระดับสูง ก่อนจะเริ่มแผ่วลงช่วงปลายปี  ttb analytics ประเมินว่า เงินเฟ้อจะเร่งแตะสูงสุด 4% ไตรมาสแรก เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2% ประชาชนต้องเเบกรับภาระค่าครองชีพที่แพงขึ้น แรงกดดันราคาน้ำมัน-อาหารสดเเละต้นทุนการขนส่ง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า แรงกดดันจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาน้ำมันโดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้ แม้ไทยจะได้รับผลดีจากการที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเร็ว

“ประเมินว่าหลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 แรงกดดันด้านราคาพลังงานจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไป จนกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3 นี้” 

ต้นทุนอาหารสด-ขนส่งพุ่ง 

สำหรับต้นทุนหมวดอาหารสด มีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่แพงขึ้น ประกอบกับการเกิดโรคระบาดของสุกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้มาตรการจำกัดจำนวนการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง

ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงและราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นสูง และมีผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งเคยเกิดปัญหาโรคระบาดเดียวกันในสุกร จึงประเมินได้ว่า ไทยอาจยังต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสุกรและทยอยเพิ่มผลผลิตเข้าสู่ท้องตลาด เป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวดอาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) จะแผ่วลงไปในช่วงต้นปี ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเร่งตัวทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่แพร่กระจายเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง จึงประเมินว่าผลกระทบนี้จะอยู่เพียงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เท่านั้น ก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต (Supply bottleneck) ในบางหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะ ยุโรป สหรัฐฯ

หรือปัญหาในการปรับเพิ่มอัตราการจ้างงาน อาทิ สินค้ากลุ่มที่ต้องพี่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเห็นผลกระทบได้สูงในปัจจุบัน ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่แพงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างตามท่าเรือ เนื่องจากระดับกิจกรรมท่าเรือและการจ้างงานในหลายประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เพียงพอรองรับการเร่งตัวของกิจกรรมส่งออก

จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของผู้ผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกรณีของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้านำเข้าและราคาผู้ผลิตมีระดับสูงมาก (ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.9)

ในเบื้องต้น ประเมินว่าปัญหาตึงตัวด้านกระบวนการผลิตในหลายสินค้าจะยังมีผลชัดเจนถึงช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ปัญหาค่าขนส่งทางเรือที่แพงและได้ทยอยปรับลงมาแล้วนับตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับราคาปกติได้ราวปลายปี 2567

ดังนั้น ปัญหาการตึงตัวในกระบวนการผลิตและต้นทุนขนส่งทางเรือจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าของหมวดที่อยู่ทั้งในและนอกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างชัดเจนไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะเบาลงในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าระดับการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตที่แพงขึ้นไปยังผู้บริโภคในประเทศจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยกำลังซื้อและการจ้างงานในไทยโดยรวมยังคงเปราะบาง

Photo : Shutterstock

‘ปัจจัยเสี่ยง’ ต่อเงินเฟ้ออี่นๆ ที่ต้องจับตา

ปัจจัยกดดันด้านสูงจากฝั่งอุปทาน (cost-push) ทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปี 2564 ทำให้ ttb analytics ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ในปี 2565 นี้

โดยเร่งตัวสูงสุดในไตรมาสแรก และจะทยอยลดลงตลอดไปจนถึงปลายปี หลังปัจจัยต่างๆ ทยอยคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อด้านสูงยังมีอยู่จากสาเหตุ ดังนี้

  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งรัศเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ราคาพลังงานเร่งขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน
  • ปัจจัยด้านภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตการเกษตร
  • ความยืดเยื้อของปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงจนทำให้กิจกรรมการผลิตต้องสะดุดลงและกระทบกับภาวะการจ้างงาน

ท่ามกลางภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็วโดยเฉพาะในช่วงแรกของปี 2565 นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องปรับวิธีการใช้จ่ายให้เหมาะสม ในส่วนภาครัฐที่กำกับดูแลเศรษฐกิจ นอกจากการเร่งออกนโยบายลดต้นทุนค่าครองชีพทั้งการตรึงราคาเชื้อเพลิง และการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนแล้ว อาจเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในส่วนที่สามารถทำได้ภายในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

 

]]>
1372884
ทิศทางธุรกิจร้านอาหาร มีหวัง ‘ฟื้นตัว’ ปี 65 เเต่ต้องระวังโอมิครอน-ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง https://positioningmag.com/1369606 Thu, 06 Jan 2022 06:22:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369606 ธุรกิจอาหารเมืองไทย มีหวังพลิกกลับมาฟื้นตัว 5.0% – 9.9% ในปีนี้ เเต่ยังโตกระจุกเฉพาะประเภท ร้านมีชื่อเสียง ขายในห้างฯ จะเริ่มฟื้นตัวก่อน สตรีทฟู้ดเเข่งดุ เจ้าใหญ่กระโจนลงตลาดเพียบ การระบาดของโอมิครอน-ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เเพงขึ้น ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 ยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากตลาดยังมีปัจจัยเสี่ยงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดี

เเต่ก็ยังคงมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างมาตรการคนละครึ่งเฟส 4” ที่คาดว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคมเมษายนนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5.0% – 9.9% (ส่วนหนึ่งเป็นผลของราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินเฟ้อ) คิดเป็นมูลค่า 3.78-3.96 แสนล้านบาท จากที่ปี 2564 หดตัวถึง 11% อย่างไรก็ตาม จะยังคงเป็นการขยายตัวเฉพาะกลุ่มหรือประเภทร้านอาหาร

ร้านดัง – ร้านในห้าง เริ่มฟื้นตัวก่อน 

ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) น่าจะเห็นการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยกลุ่มร้านอาหารที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวก่อน จะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่มีชื่อเสียงรวมถึงในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยในฤดูท่องเที่ยว เช่น อยุธยา บางแสน พัทยา หัวหิน นครปฐม ฯลฯ

ส่วนร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารสำนักงานน่าจะฟื้นตัวจำกัด เนื่องสถานที่ทำงานหลายแห่งยังคงการทำงานแบบ Hybrid Working และ Work from home ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้จึงยังคงต้องพึ่งช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเพื่อสร้างรายได้

ประเมินว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.31 – 1.42 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัว 10.0% – 19.5% โดยเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่หดตัวรุนแรงในปีก่อน

ร้านจานด่วน กระตุ้นด้วยเดลิเวอรี่ 

ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาในกลุ่มอาหารจานด่วน และร้านอาหารขนาดเล็กที่คาดว่าจะเปิดตัวมากขึ้นกว่าปี 2564 อาทิ กลุ่มร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านรวมถึงร้านอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูง โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยและปั๊มน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯ รอบนอก ปริมณฑลและหัวเมืองหลัก

“ในปี 2565 คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจะเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญของร้านอาหารประเภทนี้” 

คาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ประมาณ 6.4 -6.8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.6% – 11.8%

อย่างไรก็ดี ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังมีความท้าทายในด้านการบริหารจัดการ ‘ช่วงเวลาเร่งด่วน’ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากในหลายช่องทาง เนื่องจากทรัพยากรแรงงานและพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้อาจเกิดภาวะคอขวดในกระบวนการต่างๆ ภายในร้านขึ้นได้

สตรีทฟู้ดเเข่งดุ 

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและกลุ่มร้านอาหารข้างทางยังได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการคนละครึ่งของภาครัฐ มีเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่สูง

“ร้านอาหารในกลุ่มนี้ มีความหนาแน่นของผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง และมีการหมุนเวียนเข้าออกของผู้เล่นสูง ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาขยายฐานการตลาดในเซ็กเมนต์นี้อย่างต่อเนื่อง” 

โดยคาดว่าตลาด Street Food จะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.84 -1.86 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 2.0% – 3.0%

ระวังการปรับเพิ่มราคา เเบกต้นทุนพุ่ง 

ในปี 2565 ทิศทางธุรกิจร้านอาหาร ต้องคำนึงเรื่อง ‘ต้นทุนธุรกิจที่คาดว่าจะทรงตัวสูงต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่การปรับเพิ่มราคาขายยังทำได้จำกัด’ สร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนวัตถุดิบอาหารและต้นทุนพลังงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้น การปรับตัวของผู้ประกอบการมาใช้โมเดลร้านอาหารขนาดเล็กเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยง รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร

“ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมขยายการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารมากยิ่งขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและปริมณฑล รวมถึงในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ทื่มีการกระจุกตัวของที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงของโควิดที่ยังมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องรักษาสมดุลของช่องทางการขายและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ไปยังสินค้าอื่นๆ มากยิ่งขึ้น”

โดยแม้ภาพรวมทิศทางธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปีก่อนหน้า แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารยังคงต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบจากทั้งปัจจัยท้าทายในธุรกิจ

]]>
1369606