รักษ์โลก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 26 Jan 2023 05:03:51 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สายเนื้อก็รักษ์โลก! สตาร์ทอัพออสซี่กำลังพัฒนา “อาหารวัว” ที่ช่วยลดการ “เรอ-ตด” ก๊าซมีเธน https://positioningmag.com/1416735 Thu, 26 Jan 2023 04:47:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416735 สายเนื้อจะห้ามใจหันไปกิน plant-based ได้อย่างไร แต่สิ่งแวดล้อมก็ต้องรักษาไว้ ทำให้สตาร์ทอัพชื่อ Rumin8 เริ่มพัฒนา “อาหารวัว” ที่จะช่วยลดการเรอและผายลมในวัว ต้นเหตุของก๊าซมีเธนตัวการโลกร้อน

Rumin8 เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีเป้าหมาย ‘ลดการปล่อยก๊าซมีเธน’ มีโปรดักส์หนึ่งที่น่าสนใจคือการพัฒนา “อาหารวัว” ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเล ซึ่งจะช่วยให้วัวที่กินเข้าไปลดการผายลมและการเรอได้

สตาร์ทอัพรายนี้เพิ่งจะระดมทุนเฟส 2 ในรอบ Seed Stage ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 มกราคม 2023) โดยได้รับเงินลงทุนไป 25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 581 ล้านบาท) ที่น่าสนใจคือ นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในรอบนี้ก็คือ Breakthrough Energy Ventures หรือ BEV ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพของ “บิล เกตส์”

Rumin8 ระบุว่าเงินทุนในรอบนี้จะถูกนำไปใช้สร้างสายการผลิตเบื้องต้น และเริ่มการทดลองขายอาหารวัวดังกล่าวในเชิงพาณิชย์

ทำไมการลดการตดและเรอของวัวจึงสำคัญ? คำตอบคือ ในการตดและเรอของวัวนั้นจะมีก๊าซมีเธนออกมาด้วย และก๊าซมีเธนนี้มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า (ข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา)

การทำปศุสัตว์นั้นคิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกนี้ถึง 15% ทำให้การทำฟาร์มสัตว์ขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการลดผลกระทบของธุรกิจตัวเองต่อโลก โดยต้องแก้โจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรถึงเลี้ยงสัตว์ได้อย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

สัปดาห์ก่อนนี้ บิล เกตส์ ก็เพิ่งจะเข้าไปตอบคำถามใน Reddit Ask Me Anything เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ที่รักษ์โลกมากขึ้น โดยเขาเล่าถึงกระแสนี้ว่า “มีบริษัทมากมายที่กำลังผลิต ‘เนื้อ’ ในวิถีทางใหม่ หลายคนกำลังหาทางเพื่อที่จะยังเลี้ยงวัวได้อยู่แต่ลดการปล่อยก๊าซมีเธนแทน ผมคิดว่าสินค้าพวกนี้จะค่อยๆ กลายเป็นสินค้าที่ดีมาก แม้ว่าวันนี้ส่วนแบ่งในตลาดของพวกเขาจะยังเล็กอยู่”

ไม่ได้มีแค่ Rumin8 หรือ BEV เวนเจอร์แคปปิตอลของเกตส์ ที่สนใจเรื่องการลดก๊าซมีเธนจากตดและเรอของวัว เมื่อสัปดาห์ก่อน Danone บริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารจากฝรั่งเศส ก็ให้คำมั่นว่า บริษัทจะลดการปล่อยก๊าซมีเธนจากฟาร์มวัวนมของตนเองให้ได้ 1 ใน 3 ส่วนภายในสิ้นทศวรรษนี้

รวมถึง “นิวซีแลนด์” ประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ ก็กำลังจะเสนอร่างกฎหมายเพื่อ “เก็บภาษีจาก ‘เรอ’ ของปศุสัตว์” ภายในปี 2025!

Source

]]>
1416735
เจาะเทรนด์ ‘ESG’ การตลาดที่ช่วยแบรนด์และโลกให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน https://positioningmag.com/1389142 Fri, 17 Jun 2022 11:24:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389142 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายแบรนด์เริ่มหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการใชวัสดุรีไซเคิล หรือการคอลเอาต์ของแบรนด์ด้านการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของเทรนด์การตลาด ESG ว่าแต่เทรนด์นี้เกี่ยวกับอะไร ช่วยแบรนด์ได้มากน้อยแค่ไหน และข้อควรระวังคืออะไร มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร จะมาอธิบายถึงแนวทางการปรับใช้เพื่อสร้างการเติบโตแบบมีเป้าหมายที่ยั่งยืน

ESG คืออะไร

ESG ย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) เป็นการบ่งบอกถึงวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในสามแกนหลัก ได้แก่

  • สิ่งแวดล้อม: มุ่งเน้นถึงวิธีการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติและไม่สร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้กระดาษ ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน หรือการใช้พลังงานทางเลือก เป็นต้น
  • สังคม: ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ทางสังคม และการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรม เช่น การยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศในสังคม เป็นต้น
  • ธรรมาภิบาล: คือคุณค่าหรือค่านิยมขององค์กรต่อการบริหารองค์กรและพนักงาน เช่น นโยบายการไม่คอร์รัปชัน การยอมรับเพศสภาพในที่ทำงาน เป็นต้น

ทำไมควรให้ความสำคัญ ESG

ต้องยอมรับว่าประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญในทุก ๆ เจนเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็น Boomers, GenX, Millennials และ GenZ โดย

  • 72% ของคนไทยกังวลเกี่ยวกับสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง
  • 95% ของ Millennials สนใจเกี่ยวกับการลงทุนที่ยั่งยืน
  • 70% ของ GenX หาทางลดการใช้พลาสติก

เนื่องจากอำนาจอยู่ในมือของแบรนด์ และในฐานะสื่อและนักการตลาด ก็ถือเป็นผู้กำหนดความคิดของสังคมในวงกว้าง และการเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็มีผลและแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อสังคม คำถามคือ แบรนด์ที่จะทำเรื่อง ESG จะเริ่มจากอะไร

เริ่มจากเข้าใจตัวเอง ไม่ต้องทำทั้ง 3 แกน

หากแบรนด์จะใช้ ESG ในการทำการตลาด ต้องเริ่มจากการ เข้าใจในตัวตนของแบรนด์ก่อน เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างมีจุดมุ่งหมาย แบรนด์จึงควรเริ่มจากภายในก่อน รู้จุดยืนของแบรนด์ คุณค่าของแบรนด์ และเป้าหมายระยะยาวของแบรนด์ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการประเมินสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ แล้วเชื่อมช่องว่างสู่การสื่อสารของแบรนด์ ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกด้าน แต่ทำในด้านที่สอดคล้องกับจุดยืนของแบรนด์

ที่สำคัญคือ การใช้ ESG ในการทำการตลาดต้องไม่ใช่แค่ ทำตามกระแส ไม่ใช่แค่ทำชั่วขณะ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ เพราะผู้บริโภคจะดูความตั้งใจ, ความสม่ำเสมอ และความโปร่งใส เพื่อจะได้รับความเชื่อใจจากผู้บริโภค แบรนด์ควรพึงระลึกเสมอว่าการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่กิจกรรมที่แบรนด์จะทำกิจกรรมเพียงแค่หนึ่งครั้ง แต่คือการหมั่นกระทำในกิจกรรมที่จะแสดงออกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ดังนั้น การทำตามสัญญาของแบรนด์ คือ ส่วนที่ยากที่สุดของการเติบโตอย่างยั่งยืน

แนวทางการใช้ ESG

สำหรับแนวทางการทำการสื่อสารการตลาดบน ESG อย่างมีเป้าหมาย มีตัวอย่างดังนี้

  • เปลี่ยนและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล
  • สายการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้าที่ไม่ระบุเพศ และไม่อิงกับฟาสต์แฟชั่น ทำให้ใส่ได้ตลอด ลดการทิ้งหรือซื้อใหม่ ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • ยอมรับในความหลากหลายทางสังคม เช่น การสนับสนุนด้าน LGBTQ+
  • จริยธรรมบนการสื่อสาร เช่น การขอคำยืนยันต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีข้อกำหนดให้กดแต่ยินยอมเท่านั้น
  • การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว เช่น การทำตามกฎ PDPA และใช้ประโยชน์ของข้อมูลส่วนตัวตามที่ระบุไว้จริง ๆ

“ในไทยจะเห็นแบรนด์อย่าง โดฟ ก็ออกมาพูดถึงเรื่องสิทธิ์ในการไว้ผมของเด็กนักเรียน หรือ มิสทิน ที่ออกมาพูดถึงเรื่องการแต่งหน้า ถือว่าเป็นการสื่อสารในกลุ่มสังคม หรืออย่าง โลตัส ที่เริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้านรีไซเคิล แต่ละแบรนด์ก็จะใช้จุดแข็งของตัวเองในการทำการทำการตลาด ESG” บงกช ชัยเมืองมา ผู้จัดการการวางแผนกลยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่ไม่ทำ ESG ไม่ได้แปลว่าจะแบรนด์นั้นจะไม่สามารถทำการตลาดหรือว่าขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ตราบใดที่สินค้ายังตอบโจทย์ดีมานด์ผู้บริโภค ดังนั้น การไม่ทำ ESG ไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด และไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะไม่ศรัทธาหรือไม่เห็นด้วยกับการทำ ESG แต่อาจมีในมิติอื่น ๆ ที่กำลังผลักดัน

]]>
1389142
‘Suntory’ เปิดตัวขวด PET ที่ผลิตจากพืช 100% พร้อมตั้งเป้าใช้งานในปี 2030 https://positioningmag.com/1365463 Sun, 05 Dec 2021 05:32:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365463 Suntory Group ได้ประกาศว่าจะใช้ขวด PET ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ทั่วโลกภายในปี 2030 และกำจัดพลาสติกบริสุทธิ์ที่ใช้ปิโตรเลียมทั้งหมดออกจากการผลิตขวด PET ทั่วโลก หลังบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างขวด PET ต้นแบบที่ทำจากพืช 100% และใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต้นแบบของแบรนด์ Orangina ในยุโรป และแบรนด์ Suntory Tennensui น้ำแร่บรรจุขวดที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น

การประกาศครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าหลังจากเป็นพันธมิตรที่ยาวนานเกือบ 10 ปีกับบริษัท Anellotech บริษัทเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนในสหรัฐฯ โดยขวดต้นแบบจากพืชของ Suntory ผลิตขึ้นจากการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ของ Anellotech ที่นำพาราไซลีนจากพืชซึ่งได้มาจากเศษไม้ และได้แปลงเป็น PTA (กรดเทเรฟทาลิก) จากพืช 70% และ MEG (โมโนเอทิลีนไกลคอล) จากพืช 30% ที่มีอยู่แล้วซึ่งทำจากกากน้ำตาลที่ Suntory ใช้ในแบรนด์ Tennensui ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2013

“เรายินดีกับความสำเร็จนี้ เนื่องจากมันทำให้เราเข้าใกล้อีกขั้นในการส่งมอบขวด PET แบบยั่งยืนให้ถึงมือผู้บริโภคของเรา” Tsunehiko Yokoi เจ้าหน้าที่บริหารของ Suntory MONOZUKURI Expert Ltd. กล่าว

นวัตกรรมนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งสู่การบรรลุความทะเยอทะยานของ Suntory Group ในการเลิกใช้ขวดพลาสติก PET บริสุทธิ์ที่ได้จากปิโตรเลียมทั้งหมดทั่วโลก โดยเปลี่ยนไปใช้ขวด PET รีไซเคิลหรือจากพืช 100% ภายในปี 2030 โดยขวดต้นแบบจากพืชที่รีไซเคิลได้ทั้งหมดคาดว่าจะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับขวดบริสุทธิ์ที่ได้จากปิโตรเลียม

เทคโนโลยีนี้เป็นหนึ่งในการลงทุนล่าสุดจาก Suntory ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทในการจัดการกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ในปี 1997 Suntory ได้กำหนด “แนวทางสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม” สำหรับขวดพลาสติกโดยเฉพาะ บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ 2R+B (ลด/รีไซเคิล + ชีวภาพ) เพื่อลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ รวมถึงฉลากและฝาปิด และแนะนำวัสดุรีไซเคิลหรือจากพืชในขวดพลาสติกที่ใช้ทั่วโลกอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ ได้สร้างฝาขวดที่เบาที่สุด ฉลากขวดที่บางที่สุด และขวด PET ที่เบาที่สุดที่ผลิตในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ในไทยประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลาสติก PET กับบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด เป็นขวด PET แบบใส ไม่มีสี และฝาขวดก็ไร้การพิมพ์สี เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% มีมูลค่าการรับซื้อสูงกว่าขวดสี เพราะง่ายต่อการรีไซเคิล ด้วยกระบวนการคัดแยกขยะ

Source

]]>
1365463
‘เลโก้’ เตรียมวางขายตัวต่อที่ผลิตจาก ‘ขวดพลาสติก’ ในอีก 2 ปี https://positioningmag.com/1339271 Mon, 28 Jun 2021 05:33:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339271 เลโก้ (Lego) บริษัทของเล่นชั้นนำของโลกที่เชื้อว่าเด็กส่วนใหญ่ต้องเคยสัมผัสสักครั้ง แต่เพราะการผลิตตัวต่อของเลโก้รวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้ต้องใช้พลาสติกกว่า 90,000 เมตริกตันต่อปี ทำให้เลโก้เองพยายามที่จะผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่เลโก้ได้พัฒนาตัวต่อจากพลาสติกรีไซเคิลมาหลายปี เนื่องจากขยะพลาสติกจากทะเลไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เนื่องจากเสื่อมสภาพเร็วเกินไป ดังนั้น เลโก้จึงทดสอบ พลาสติก PET (polyethylene terephthalate) กว่า 250 รูปแบบ จนล่าสุด เลโก้ได้เตรียมเปิดตัวตัวต่อที่ผลิตจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง โดยคาดว่าจะวางจำหน่ายภายใน 2 ปี

“เป้าหมายคือการหาผลิตภัณฑ์ที่ดีพอที่ผู้คนจะไม่สังเกตเห็นความแตกต่าง โดยทั้งตัวต่อที่ทำจากพลาสติกทั่วไปและพลาสติกรีไซเคิลต้องประกบได้อย่างพอดีกัน ต้องสามารถใช้ได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์เลโก้อื่น ๆ” Tim Brooks รองประธานฝ่ายความยั่งยืนของเลโก้ กล่าว

ที่ผ่านมา บริษัทเลโก้ได้เริ่มจากการใช้ถุงกระดาษรีไซเคิลแทนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นุ่มขึ้น เช่น ต้นไม้และพืชจากพลาสติกที่ได้จากอ้อย

Libby Peake หัวหน้าฝ่ายนโยบายทรัพยากรที่ Think Tank ของ Green Alliance กล่าวว่า แผนการใช้พลาสติกรีไซเคิลนั้น “ดีกว่าการใช้พลาสติกบริสุทธิ์อย่างแน่นอน” และหวังว่า “การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะลดลงในอนาคตเนื่องจากผู้คนหันมาใช้ซ้ำ”

บริษัทหลายแห่งผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากความยั่งยืนมีความสำคัญต่อลูกค้ามากขึ้น โดยเลโก้ กล่าวว่า ลูกค้าจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างต้องการความยั่งยืนมากขึ้นเมื่อซื้อสินค้าโดยทั่วไปและได้ติดต่อบริษัทเพื่อแจ้งเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม Camilla Zerr นักรณรงค์ด้านพลาสติกจาก Friends of the Earth กล่าวว่า “สิ่งสำคัญจริง ๆ ที่การรีไซเคิลจะไม่ถูกยกย่องว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาเริ่มต้นของวิกฤตพลาสติก แต่ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่าของเล่นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้หลายปี เพื่อให้สามารถส่งต่อและนำกลับมาใช้ใหม่จากรุ่นสู่รุ่น”

โดยปกติแล้วตัวต่อเลโก้จะมีความทนทานเพียงพอสำหรับเล่นกับมนุษย์ 2-3 รุ่น และในกรณีของตัวต่อที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลก็ต้องมีความทนทานเพียงพอในระดับเดียวกันด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในปี 2561 เลโก้ตั้งเป้าที่จะผลิตผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมดจากวัสดุรีไซเคิลภายในปี 2573

ที่ผ่านมา เลโก้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกได้ประมาณ 1.1-1.2 แสนล้านชิ้นต่อปี และปัจจุบันประมาณ 80% ทำจาก ABS หรือต้องใช้พลาสติกกว่า 90,000 เมตริกตันต่อปี โดยประมาณ 5% ทำจากพอลิเมอร์ที่มาจากอ้อย ซึ่งจากการผลิตส่งผลให้บริษัทต้องปล่อยคาร์บอนประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี แต่จากการใช้พลาสติกรีไซเคิลจะช่วยลดการปล่อยมลพิษ

cnet.com / bbc.com

]]>
1339271
บาร์บี้เก่าก็ช่วยโลกได้นะ! บริษัทของเล่นเปิดให้นำ ‘ของเล่นเก่า’ มารีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติก https://positioningmag.com/1331298 Mon, 10 May 2021 07:24:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331298 ข่าวดีสำหรับเด็กยุค 90 ที่มีใจอยากช่วยโลกและมีของเล่นพัง ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่มี ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ เพราะบริษัท ‘Mattel’ (แมทเทล) บริษัทของเล่นอายุ 76 ปีที่เป็นผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ จะรับซากของเล่นเพื่อนำไปรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกให้กับโลกนี้

การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิดความต้องการของเล่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็ก ๆ ใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทของเล่นขนาดใหญ่หลายแห่งพยายามที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากหลายทศวรรษที่ต้องพึ่งพาพลาสติกในการผลิตสินค้า ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น บริษัท Mattel จึงริเริ่มทำโครงการ ‘Mattel PlayBack’ ที่ออกแบบมาเพื่อนำวัสดุในของเล่นเก่า กลับมาใช้ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Mattel ในอนาคต โดยผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมโปรแกรมได้โดยไปที่เว็บไซต์ของ Mattel เพื่อพิมพ์ฉลากการจัดส่งฟรี และรับบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งของเล่นของพวกเขากลับไปที่บริษัท

จากนั้นของเล่นจะถูกจัดเรียงและแยกตามประเภทวัสดุและแปรรูปและรีไซเคิลตามที่บริษัทกำหนด สำหรับวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตของเล่นใหม่ จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ หรือเปลี่ยนจากขยะเป็นพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัท สู่อนาคตที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เพื่อจะใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิล 100% สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573

“เราต้องเก็บวัสดุที่มีค่าเหล่านี้ออกจากหลุมฝังกลบ” Pamela Gill-Alabaster หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Mattel กล่าว

ภาพจาก shutterstock

เบื้องต้น บริษัทจะเปิดรับของเล่นจาก 3 แบรนด์ ได้แก่ ตุ๊กตาบาร์บี้, ของเล่น Matchbox และ MEGA และมีแผนจะเพิ่มแบรนด์อื่น ๆ ในอนาคต ขณะที่โครงการดังกล่าวจะเริ่มในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมา Mattel ได้ทดลองใช้โปรแกรมที่คล้ายกันในแคนาดาโดยรับของเล่นเก่าจาดแบรนด์ MEGA ในปี 2020 โดยร่วมมือกับ TerraCycle ซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

ไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่ในฝั่งเอเชียก็มีโคงการที่คล้าย ๆ กัน อย่าง ‘Bandai’ (บันได) บริษัทของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลกได้เปิดตัวโครงการ ‘Gunpla Recycling Project’ ซึ่งให้ลูกค้านำแผง Runner ที่เหลือจากการต่อ ‘Gundam’ มาบริจาคเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ โดยตอนนี้บริษัทกำลังติดตั้ง drop boxes ในร้านค้าทั่วประเทศญี่ปุ่น

การหาทางเลือกอื่นแทนพลาสติกมีความสำคัญต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้การตลาดที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทต่าง ๆ เช่นกันในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ซื้อเริ่มใส่ใจมากขึ้นว่าการเลือกของพวกเขามีผลต่อโลกใบนี้อย่างไร เพราะทั้งการผลิตและการทิ้งพลาสติกมีผลกระทบร้ายแรงต่อโลก ตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงอุดตันทางน้ำและพลาสติกที่สะสมในมหาสมุทร

Source

]]>
1331298
ANA สายการบินใหญ่สุดในญี่ปุ่น เลิกใช้ ‘พลาสติก’ เสิร์ฟอาหาร มุ่งใช้ภาชนะย่อยสลายได้ https://positioningmag.com/1329375 Mon, 26 Apr 2021 13:16:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329375 All Nippon Airways (ANA) กำลังจะเป็นสายการบินเเรกของญี่ปุ่นที่นำวัสดุย่อยสลายได้มาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารที่เสิร์ฟให้แก่ผู้โดยสาร ขับเคลื่อนนโยบายรักษ์สิ่งเเวดล้อม

โดย ANA จะเริ่มใช้ภาชนะเสิร์ฟอาหารที่ทำจากชานอ้อยในที่นั่งชั้นประหยัดของเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 317 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของพลาสติกใช้แล้วทิ้งของบริษัทในช่วงปีงบประมาณ 2019

ส่วนเที่ยวบินในประเทศนั้น จะยังมีการใช้ภาชนะที่เป็นกล่องกระดาษอยู่ ซึ่งขณะนี้สายการบินยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเป็นภาชนะจากชานอ้อยด้วยหรือไม่

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเริ่มจำกัดการใช้พลาสติกแล้ว ดังนั้นทางสายการบินจึงต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าเจ้าหน้าที่ของ ANA กล่าวกับ Kyodo News

ภาพเปรียบเทียบระหว่างภาชนะเเบบเดิม (ขวา) เเละภาชนะเเบบใหม่ที่ทำมาจากชานอ้อยที่ย่อยสลายได้ (ซ้าย) FB : All Nippon Airways

ANA เริ่มใช้ช้อนส้อมที่ทำจากไม้ และหลอดทำจากพลาสติกย่อยสลายได้ มาตั้งเเต่ปี 2020 เเละมีนโยบายที่จะลดขยะพลาสติกต่อไปในระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตภาชนะและการเผาทำลายขยะพลาสติก พร้อมกับการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เเละเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ประกาศว่า ญี่ปุ่นจะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ให้เป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2050 โดยรัฐบาลหวังจะทยอยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 46% ภายในปี 2030

 

 

ที่มา : Kyodonews , Japantoday

]]>
1329375
รู้จัก Loop ระบบ ‘รียูส’ บรรจุภัณฑ์ ลดใช้พลาสติกแต่ไม่ลดความสะดวก https://positioningmag.com/1327850 Thu, 15 Apr 2021 11:39:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327850 Loop ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นระบบแบบเดียวกับ “คนส่งนม” ในสหรัฐฯ ยุค 1950-60s บริษัทนี้ใช้ไอเดียแบบเดียวกันแต่นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น แชมพู ไอศกรีม ผงซักฟอก ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ลดใช้พลาสติก” ผ่านการ “รียูส” บรรจุภัณฑ์ และลูกค้ายังรู้สึกสะดวกเหมือนเดิม

สารพัดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ที่เราใช้ในครัวเรือน เมื่อใช้จนเกลี้ยงเราก็มักจะโยนแพ็กเกจจิ้งทิ้ง เพราะนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้ยาก

แต่เมื่อโลกเราเริ่มตระหนักถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจากของใช้แล้วทิ้งมากขึ้น ทำให้มีธุรกิจพยายามจะสร้างโมเดลใหม่มาแก้ปัญหา เช่น ร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มากดสบู่-แชมพูเอง แต่ก็ยังติดปัญหา “ความสะดวก” และ “ความมั่นใจในแบรนด์” ของสินค้านั้นๆ ทำให้โมเดลธุรกิจแบบนี้ยังไม่นิยมเป็นวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ Loop จึงเป็นบริษัทที่คิดการใหญ่ จับมือแบรนด์เครื่องอุปโภคบริโภคชื่อดังเป็นพาร์ตเนอร์เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์แบบ ‘รียูส’ ได้ โดยอาจจะทำมาจากอะลูมิเนียม สเตนเลส หรือแก้ว และสร้างระบบจัดส่ง-เก็บคืนที่สะดวก ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกยุ่งยาก แถมยังได้เลือกใช้สินค้ายี่ห้อเดิมที่ตัวเองพอใจ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ Loop กับแบรนด์พาร์ตเนอร์ ใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ รียูสได้หลายครั้ง

วิธีใช้งาน Loop ก็เหมือนกับการใช้คนส่งนมในอดีต ยุคที่นมยังบรรจุในขวดแก้วและมีบริการเดลิเวอรี่ส่งถึงหน้าบ้านพร้อมกับเก็บขวดเก่ากลับ นั่นคือ

1) ลูกค้าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้แพ็กเกจของ Loop อาจเป็นการสั่งซื้อออนไลน์ หรือบางเมืองอาจจับมือกับไฮเปอร์มาร์เก็ตมีวางขายแบบออฟไลน์ด้วย โดยจะมี “ค่ามัดจำ” บรรจุภัณฑ์เมื่อซื้อ

2) เมื่อลูกค้าใช้สินค้าจนหมด สามารถจองนัดให้ระบบจัดส่ง-รับคืนของ Loop มารับบรรจุภัณฑ์คืนถึงบ้าน พร้อมรับค่ามัดจำคืนแบบ 100% และไม่มีค่าใช้จ่ายในการคืนขวด หรือในบางเมืองอาจมีจุดให้ส่งบรรจุภัณฑ์คืนที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือไปรษณีย์ หรือพาร์ตเนอร์อื่นๆ ของบริษัท

3) Loop จะนำบรรจุภัณฑ์ไปทำความสะอาดในโรงงาน พร้อมนำไปบรรจุสินค้าล็อตใหม่วางจำหน่ายอีกครั้ง

กล่องสำหรับนำส่งผลิตภัณฑ์จาก Loop โดยบริษัทจะลดการใช้แพ็กเกจเพิ่มเติมในการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษ แผ่นกันกระแทก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Photo: IG@shoploopstore)

เห็นได้ว่า โมเดลของ Loop มีความเป็นไปได้ที่จะชวนคนมาร่วมรักษ์โลกกับบริษัทมากขึ้น เพราะสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการลดใช้พลาสติกอย่างแรงกล้า การอำนวยความสะดวกให้ใกล้เคียงกับการใช้แพ็กเกจจิ้งพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากที่สุดจะเป็นปัจจัยสำคัญ

 

2 ปีขยายไปกว่า 30 แบรนด์

บริษัท Loop ก่อตั้งขึ้นโดย Tom Szaky ในนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 นี้เอง ปัจจุบัน Loop มีบริการแล้วใน 4 ประเทศคือ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ขณะนี้มีสินค้าที่ใช้แพ็กเกจจิ้งและระบบของ Loop ถึง 111 SKUs จากทั้งหมดกว่า 30 แบรนด์ ครอบคลุมสารพัดผลิตภัณฑ์ เช่น แชมพูแพนทีน, มีดโกนหนวดยิลเลตต์, ไอศกรีมฮาเก้นดาส เป็นต้น

บนหน้าเว็บไซต์ของ Loop ยังระบุถึงแบรนด์ใหญ่อื่นๆ ที่จะมาในอนาคต เช่น คอลเกต, โดฟ และมีแผนจะขยายไปอีก 3 ประเทศ คือ เยอรมนี, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ประเทศที่มีบริการ และที่จะเปิดบริการเร็วๆ นี้

 

คอนเนกชันและดีไซน์เพื่อแบรนด์

โมเดลของบริษัทจัดว่าน่าสนใจ แต่สาเหตุหนึ่งที่บริษัทได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก Szaky ผู้ก่อตั้ง ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ เขาคือผู้ก่อตั้งบริษัทแม่ของ Loop คือ TerraCycle ซึ่งทำธุรกิจรีไซเคิลขยะมาตั้งแต่ 17 ปีก่อน เขาจึงมีเครือข่ายพันธมิตรแบรนด์ใหญ่ๆ ให้เริ่มธุรกิจได้เร็ว

อีกส่วนหนึ่งคือ Loop เข้าใจการเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ว่า แต่ละแบรนด์ล้วนมีอัตลักษณ์งานดีไซน์ของแบรนด์ ดังนั้น แต่ละบรรจุภัณฑ์จะดีไซน์ใหม่เพื่อให้สะท้อนตัวตนแบรนด์โดยเฉพาะ ทำให้การจูงใจแบรนด์เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทำได้ดีขึ้น

ตัวอย่างการดีไซน์ที่เป็นไปตามอัตลักษณ์ของแบรนด์

 

รียูส vs ลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์

ประเด็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ที่บริษัททั่วโลกต่างกำลังตามหาโมเดลที่ดีที่สุด โดย Loop นำเสนอว่า การรียูสบรรจุภัณฑ์ที่ทนทานเหล่านี้มากกว่า 10 ครั้ง จะทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลงจากปกติ 35%

อย่างไรก็ตาม หากมองในฝั่งของผู้ผลิตสินค้า การเลือกบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแบบไหนย่อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนวณรอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุน ความสะดวก ความพอใจของผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้ Loop ต้องแข่งขันกับอีกโมเดลที่มาแรงในกลุ่มผู้ผลิตขณะนี้ คือการเลือก “ลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์” ทำขวดให้บางลง เพื่อลดทั้งต้นทุนและการใช้พลาสติก

ขึ้นอยู่กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้วว่า มองว่าหนทางไหนที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้จริง และยังสะดวกพอที่คนจะพร้อมปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่

Source: Forbes, The Rising, Loop

]]>
1327850
กรณีศึกษา: จับไต๋ Innisfree ขวดกระดาษสอดไส้พลาสติก ลูกค้าถาม “คิดไม่รอบคอบหรือตั้งใจ?” https://positioningmag.com/1327426 Fri, 09 Apr 2021 09:48:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327426 Innisfree เกาหลีงานเข้า เมื่อลูกค้ารายหนึ่งผ่าขวดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์แล้วพบว่า ภายในเป็นขวดพลาสติกหุ้มด้วยกระดาษ ทั้งที่ด้านนอกขวดเขียนไว้ว่า “Hello, I’m Paper Bottle” ส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกเหมือน “ถูกหลอก” ให้ซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ข้างฝ่ายแบรนด์น้อมรับว่าเป็นความไม่รอบคอบในการสื่อสาร แต่ไม่ได้หลอกลวง ข้อมูลมีระบุอยู่แล้วที่ข้างกล่อง

กรณีศึกษาจากเกาหลีใต้ แบรนด์เครื่องสำอาง Innisfree ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ Amorepacific ถูกผู้บริโภคตั้งคำถามถึงความถูกต้องในการทำการตลาด เมื่อลูกค้ารายหนึ่งซื้อผลิตภัณฑ์ขายดี Green Tea Seed Serum รุ่น
Limited Edition เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับพบว่าแพ็กเกจจิ้งไม่ได้รักษ์โลกมากเท่าที่ผู้ซื้อรายนี้คาดหวัง

บรรจุภัณฑ์รุ่นพิเศษดังกล่าวพิมพ์ตัวหนังสือขนาดใหญ่ภายนอกว่า “Hello, I’m Paper Bottle” หรือ “สวัสดี ฉันคือขวดกระดาษ” ซึ่งสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าขวดทั้งหมดทำมาจากกระดาษ (อาจจะยกเว้นส่วนหัวปั๊มซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นพลาสติก) และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมักจะเลือกผลิตภัณฑ์แพ็กเกจกระดาษมากกว่าพลาสติก เพราะมองว่าดีต่อโลกมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารายนี้ลองผ่าขวดกระดาษดู แต่กลับพบว่าภายในเป็นขวดพลาสติก เหมือนกับว่าทำแพ็กเกจกระดาษมาหุ้มรอบขวดพลาสติกไว้ ผู้ซื้อรายนี้จึงนำเรื่องดังกล่าวไปโพสต์ลงในกรุ๊ป Facebook ชื่อ “No Plastic Shopping”

โพสต์ต้นทางเรื่องขวดสอดไส้พลาสติก (Photo : Facebook Group ‘No Plastic Shopping’ / capture by The Korea Herald)

“ฉันรู้สึกถูกหักหลังเมื่อพบว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นขวดกระดาษจริงๆ แล้วเป็นขวดพลาสติก” ส่วนหนึ่งจากข้อความในโพสต์ดังกล่าว

ผู้ซื้อยังส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ศูนย์ร้องเรียนผู้บริโภคด้วย โดยมองว่าฉลากของสินค้านี้เป็นการทำการตลาดแบบ “Greenwashing” หรือการที่สินค้านำข้อความเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขาย ทั้งที่ไม่ได้ทำจริง หรือทำน้อยกว่าที่โฆษณาไว้ หรือเป็นการกระทำที่อาจจะไม่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อมเลย

โพสต์ของผู้ซื้อทำให้หลายคนรู้สึกทางลบต่อแบรนด์ ทั้งในโพสต์ต้นทาง และยิ่งแผ่ขยายเป็นวงกว้างเมื่อสื่อท้องถิ่นเกาหลีลงข่าว

 

ยอมรับว่า “ไม่รอบคอบ” แต่ไม่ได้หลอกลวง

ด้านแบรนด์ Innisfree ได้ออกแถลงการณ์หลังจากนั้นว่า “เราใช้คำว่า ‘ขวดกระดาษ’ เพื่ออธิบายถึงหน้าที่ของฉลากกระดาษที่หุ้มตัวขวดเอาไว้”

แต่แบรนด์ก็ยอมรับว่าฉลากที่ใช้คำว่า Hello, I’m Paper Bottle อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ “เรามองข้ามความเป็นไปได้ที่ชื่อนี้อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจไปว่าแพ็กเกจจิ้งทั้งหมดทำจากกระดาษ เราขออภัยที่ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลให้เหมาะสมได้” แบรนด์แถลง

สำหรับตัวขวดที่เป็นที่ถกเถียงกันนั้น แบรนด์ระบุว่าภายในแพ็กเกจของ Green Tea Seed Serum รุ่น Limited นั้น แบรนด์ได้ให้ข้อมูลการแยกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์ระหว่างพลาสติกกับกระดาษเพื่อนำไปรีไซเคิลไว้แล้วที่ข้างกล่อง  ดังนั้น แบรนด์ไม่ได้มีเจตนาที่จะซ่อนขวดพลาสติกไว้ภายใน

ภาพโฆษณาของ Green Tea Seed Serum รุ่น Limited Edition ของ Innisfree จะเห็นว่ามีแพ็กเกจกล่องกระดาษ ซึ่งด้านข้างกล่องนี้ระบุวิธีแยกชิ้นส่วนตัวขวดที่เป็นพลาสติกด้านในไว้ (Photo : Amorepacific)

โดยลักษณะของขวดรุ่นนี้จะเป็นขวดพลาสติกขุ่นไร้สีด้านในซึ่งนำไปรีไซเคิลได้ และกระดาษหุ้มด้านนอกก็สามารถตัดแยกไปรีไซเคิลได้เช่นกัน

สาเหตุที่แพ็กเกจจิ้งแบบนี้รักษ์โลกกว่าแบบปกติ เป็นเพราะการใช้พลาสติกจะลดลงไป 51.8% และเมื่อไม่ต้องทำขวดมีสีและพิมพ์ข้อความ ก็จะทำให้ขวดพลาสติกสามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่า

 

ผู้บริโภคยังไม่พอใจนัก

สื่อเกาหลี The Korea Herald สอบถามไปยังผู้บริโภคที่โพสต์ข้อความและแจ้งร้องเรียนว่ารู้สึกอย่างไรต่อคำแถลงของ Innisfree ปรากฏว่าเธอยังคงมองว่าคำอธิบายเป็นการปกป้องตัวเองมากกว่า และคำตอบของแบรนด์ยัง “ไม่เพียงพอ”

“หลายคนที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ก็เพื่อจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฉันรู้สึกว่าบริษัทฉวยโอกาสจากคนเหล่านี้” เธอกล่าว

สำนักข่าวนี้ยังรายงานความไม่พอใจของผู้บริโภคในอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า แบรนด์ควรจะใช้คำที่ตรงไปตรงมาและป้องกันความเข้าใจผิด เช่น “ลดพลาสติกลงครึ่งหนึ่ง” หรือ “ใช้พลาสติกน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Newsweek มีรายงานถึงกระแสฝั่งผู้บริโภคที่มองบวกกับแบรนด์ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ออกจำหน่ายมาเกือบ 1 ปี และแบรนด์ก็ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงไว้ในแพ็กเกจแล้ว จึงไม่ควรจะนับว่าเป็นการตลาดที่หลอกลวงได้

งานนี้ความจริงจากปากแบรนด์อาจไม่สู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วของผู้บริโภค เป็นกรณีศึกษาอย่างดีถึงการตลาดรักษ์โลกว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวสูง และแบรนด์ต้องอาศัยความระมัดระวัง

Source: The Korea Herald, Newsweek

]]>
1327426
ใช้แก้วส่วนตัวไม่ได้ไม่เป็นไร ‘Starbucks’ ผุดแคมเปญ ‘ให้ยืมแก้ว’ เพื่อลดใช้พลาสติก https://positioningmag.com/1326828 Wed, 07 Apr 2021 05:54:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326828 กว่าหนึ่งปีที่ ‘Starbucks’ (สตาร์บัคส์) ไม่อนุญาตให้ผู้บริโภคนำแก้วของตัวเองมาใส่เครื่องดื่ม เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ต้องมองหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะช่วยงดใช้แก้วพลาสติกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

แม้ว่าแฟนกาแฟสตาร์บัคส์จะยังไม่สามารถนำแก้วใบโปรดมาใส่กาแฟ แต่สตาร์บัคส์ก็ได้ประกาศเปิดตัวโปรแกรมทดลองให้ ‘Borrow A Cup’ หรือ ‘ให้ยืมแก้ว’ ใน 5 สาขาที่ซีแอตเทิล โดยแคมเปญนี้จะทดลองให้ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มในถ้วยที่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยลูกค้าต้องเสียเงินมัดจำ 1 ดอลลาร์ (ราว 30 บาท)

โดยลูกค้าสามารถคืนแก้วที่ตู้แบบไม่สัมผัสของร้านที่ร่วมรายการ ซึ่งทางสตาร์บัคส์จะให้เงินมัดจำคืน 1 ดอลลาร์ให้กับลูกค้า พร้อมกับได้คะแนนสะสม 10 คะแนน โดยแก้วที่ให้ยืมนั้นจะถูกทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างมืออาชีพเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง โดยแก้วที่สตาร์บัคส์ให้ยืมมาแต่ละใบ จะทดแทนแก้วแบบใช้แล้วทิ้งได้ถึง 30 ใบ

แก้วใหม่สำหรับให้ยืมของสตาร์บัคส์ ภาพจาก stories.starbucks.com

สตาร์บัคส์ระบุว่า แคมเปญดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่จะลดขยะให้ได้ 50% ภายในปี 2573 โดยบริษัทกล่าวว่า ในทางเทคนิคแล้วแก้วกาแฟของสตาร์บัคส์ทั้งแบบกระดาษและพลาสติก ‘สามารถรีไซเคิล’ ได้ก็จริงแต่มันก็สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว

“เราเชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของเราในการลดขยะแก้วที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง หากการทดลองยืมถ้วยประสบความสำเร็จก็สามารถขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ Michael Kobori ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ Starbucks กล่าวในแถลงการณ์

ย้อนไปตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมา สตาร์บัคส์ได้อนุญาตให้ผู้บริโภคนำแก้วของตัวเองมาใช้ โดยลูกค้าจะได้รับส่วนลดเพื่อลดการใช้พลาสติก แต่เมื่อเกิดการระบาด สตาร์บัคส์จึงต้องระงับให้ลูกค้าใช้แก้วส่วนตัว และไม่ใช่แค่สตาร์บัคส์ เพราะห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็ห้ามนำถุงพลาสติกนำมาใช้ซ้ำ เพื่อป้องกันการระบาดเช่นกัน

ปัจจุบัน เฉพาะในอเมริกามีการใช้แก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งกว่า 1.2 แสนล้านใบในแต่ละปี ขณะที่การเคลือบพลาสติกด้านในของแก้วนั้นทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลได้

Source

]]>
1326828
TreeCard บัตรเดบิต “รักษ์โลก” ที่ทำจากไม้ ใช้จ่ายพร้อมช่วย “ปลูกป่า” https://positioningmag.com/1311062 Fri, 18 Dec 2020 03:00:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311062 ผู้บริโภครุ่นใหม่ใส่ใจเทคโนโลยีเเละรักษ์โลกล่าสุดกับ “TreeCard” บัตรเดบิตที่ทำมาจากต้นไม้ สามารถใช้ชำระเงินเเบบไร้เงินสดเเละถอนเงินจากตู้ ATM ได้เหมือนบัตรพลาสติกทั่วไป เริ่มทำตลาดกับผู้ใช้ในสหรัฐฯ เเละยุโรป

สำหรับ TreeCard เป็นบัตรเดบิตที่ทำมาจากไม้เชอรี่ (Cherry) มีเเหล่งที่มาผ่านการปลูกแบบยั่งยืน โดย 80% ของกำไรที่ได้จากค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายของลูกค้า จะถูกนำไปใช้เพื่อการสนับสนุนการปลูกป่าเเละเเผนการขยายพื้นที่สีเขียวในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

บัตร TreeCard ได้รับการรับรองจาก Mastercard เพื่อใช้สำหรับการชำระเงินออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับ Apple Pay, Google Pay และ Samsung Pay ได้อีกด้วย

เราทำบัตรที่ทำจากไม้เพื่อลดการใช้พลาสติก โดยต้นไม้เเค่ 1 ต้นสามารถผลิตการ์ดได้มากกว่า 3 เเสนใบ ซึ่งครอบคลุมจำนวน TreeCard ทั้งหมดของเราเเล้ว เเละจะนำไปสู่การตอบเเทนด้วยการปลูกป่าต่อไปอีกนับล้านต้น

โดยผู้ถือบัตรสามารถติดตามและจัดหมวดหมู่การใช้จ่ายในบัญชี TreeCard พร้อมตรวจสอบว่าจำนวนต้นไม้ที่ปลูกจากกำไรค่าธรรมเนียมที่หักไปนั้น มีความคืบหน้าเเค่ไหนอย่างไร ผ่านเเอปพลิเคชันมือถือของผู้ใช้บริการบัตรดังกล่าว

ตอนนี้ TreeCard ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจจะใช้บริการเเล้ว เเละคาดว่าจะสามารถจะเริ่มจัดส่งบัตรได้ภายในช่วงต้นปี 2021 นี้

 

ที่มา : NFCW , Telegraph

 

 

]]>
1311062