สินเชื่อดิจิทัล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Jul 2024 09:25:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “แอร์เอเชีย” บุกธุรกิจการเงิน! เปิดตัว “BigPay” ในไทย เริ่มจากอี-วอลเล็ต อนาคตมุ่งสินเชื่อดิจิทัล https://positioningmag.com/1483253 Thu, 18 Jul 2024 08:12:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1483253 “แคปปิตอล เอ” เจ้าของสายการบิน “แอร์เอเชีย” เปิดตัวบริการทางการเงิน “BigPay” ในประเทศไทย ประเดิมด้วยอีวอลเล็ต และบัตรเสมือนจาก Visa ใช้ชำระเงินได้ทั่วโลก พร้อมฟีเจอร์ช่วยผู้ใช้เก็บออมเงิน อนาคตเตรียมเปิดระบบให้กู้สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ตั้งเป้าหมายปี 2567 ดึงผู้ใช้ 1 แสนราย และมุ่งสู่ 1 ล้านรายภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

“BigPay” ฟินเทคในเครือ “แคปปิตอล เอ” เจ้าของสายการบิน “แอร์เอเชีย” เริ่มต้นเปิดตัวในประเทศไทยแล้ว หลังจากก่อตั้งครั้งแรกที่มาเลเซียในปี 2560 และขยายสู่สิงคโปร์ในปี 2563

การเปิดตัว BigPay ในประเทศไทย เริ่มจากฟังก์ชันกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ “อี-วอลเล็ต” ที่มีฟีเจอร์พิเศษคือ “Stash” ช่วยในการเก็บออมเงิน เพราะฟีเจอร์นี้ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างกระเป๋าย่อยเพื่อวางเป้าหมายการเก็บออมต่างๆ ได้ภายในแอปฯ เช่น ทริปท่องเที่ยว ซื้อของขวัญ

BigPay
ตัวอย่างการใช้งาน BigPay

รวมถึงมีระบบชำระเงินผ่าน “Visa Virtual Card” หรือบัตรเสมือนแบบ Prepaid ที่ร่วมกับ Visa จึงใช้ชำระเงินได้ที่ 130 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รับชำระเงินผ่านระบบของ Visa อยู่ขณะนี้ สามารถใช้จ่ายแบบออนไลน์ก็ได้ หรือสั่งบัตรพลาสติก Visa Platinum Prepaid Card มาใช้ชำระเงินที่หน้าร้านค้าแบบออฟไลน์ก็ได้เช่นกัน

จุดขายของ BigPay แน่นอนว่าต้องเป็นอีโคซิสเต็มของแคปปิตอล เอเองที่มีทั้งสายการบิน “แอร์เอเชีย” และแอปพลิเคชันจองเที่ยวบินและที่พัก “AirAsia MOVE” ดังนั้น ผู้ใช้ BigPay จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อใช้ระบบนี้ชำระเงินในการจองเที่ยวบินกับแอร์เอเชีย หรือใช้จ่ายบนแอปฯ AirAsia MOVE

BigPay
บัตรพลาสติก Platinum Visa Prepaid Card

 

อนาคตมุ่งสู่ “สินเชื่อดิจิทัล”

“อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ” ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ขั้นต่อไปของแพลตฟอร์มคือจะมีการปล่อย “สินเชื่อดิจิทัล” (Digital Lending) ให้กับผู้ใช้ โดยจะเน้นการออกสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหมาะกับอีโคซิสเต็มของเครือเอง เช่น การท่องเที่ยว

ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาโมเดลธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลว่าจะเป็นการพัฒนาระบบด้วยตนเองและขอใบอนุญาตเอง หรือการร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วในประเทศไทยซึ่งยังอยู่ระหว่างเจรจา ทั้งนี้ บริการสินเชื่อดิจิทัลขณะนี้ BigPay ในมาเลเซียเริ่มให้บริการไปแล้วและบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบเครดิตสกอริ่งด้วยตนเอง ในเชิงศักยภาพในการทำระบบจึงสามารถพัฒนาเองได้

BigPay
“อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ” ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย

อภิฤดีคาดว่าการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลของ BigPay ในไทยอาจจะเริ่มต้นได้ภายในปี 2568 และจะทำให้แอปฯ เป็น “นีโอแบงก์” เต็มตัว

 

กลุ่มเป้าหมาย Gen Z เริ่มต้นที่ 1 แสนราย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ BigPay อภิฤดีกล่าวว่าจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ “Gen Z” ซึ่งในไทยมีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3 ล้านคนที่เข้าสู่ช่วงวัยทำงานแล้ว มีความต้องการบริการทางการเงินที่ช่วยจัดการและเก็บออมเงิน

เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2567 จะมีผู้ใช้งาน BigPay ประมาณ 1 แสนราย และตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึง 1 ล้านคนให้ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

“โทนี เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ และ MOVE Digital

ด้าน “โทนี เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ และ MOVE Digital เปิดเผยว่า ในแง่ธุรกิจสายการบิน ประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของ “แอร์เอเชีย” ทำให้บริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้าเป็นทุนเดิมที่จะช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจการเงินได้ง่ายขึ้น รวมถึงที่ผ่านมาบริษัทมีการออกบัตรเครดิตร่วมกับ “ธนาคารกรุงเทพ” และได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย จึงมีความเชื่อมั่นในตลาดไทยว่าจะให้การตอบรับ BigPay

โทนียังเปิดเผยแผนทางธุรกิจของ BigPay ว่าจะขยายบริการไปยังประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ BigPay มีบริการใน 5 ประเทศอาเซียน สร้างอีโคซิสเต็มทำให้เป็นแพลตฟอร์มโอนเงินระหว่างประเทศได้

“บางคนบอกว่าเรามาช้าไปแล้วในธุรกิจนี้ แต่ผมมองย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน เราเริ่มต้นสายการบินแอร์เอเชียด้วยเครื่องบินแค่ 2 ลำ จนมาถึงวันนี้เรามี 250 ลำ ผมจึงเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังมีที่ให้เราเติบโต และหวังว่าเราจะทำได้แบบที่แอร์เอเชียเคยทำ” โทนีกล่าว “BigPay จะใช้ปรัชญาธุรกิจแบบเดียวกับแอร์เอเชียคือให้คุณค่าสมราคาและพาทุกคนไปทุกที่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิด”

]]>
1483253
กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เปิดตัว Snap Cash สินเชื่อออนไลน์ จับกลุ่มลูกค้าฟรีแลนซ์ ผู้เป็นหนี้นอกระบบ https://positioningmag.com/1404446 Mon, 17 Oct 2022 12:09:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1404446 กรุงศรี First Choice ได้เปิดตัวสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เน้นจับกลุ่มลูกค้าฟรีแลนซ์ ผู้ที่มีอาชีพอิสระ หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ อนุมัติไวภายใน 5 นาที วงเงิน 10,000 บาท สามารถผ่อนชำระได้นานถึง 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 25% ต่อปี

พัทธ์หทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ได้กล่าวว่าสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวจริง บริษัทไม่ได้ปล่อยสินเชื่อแบบเร่งการเติบโต หนี้เสียของบริษัทไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด อยู่ที่ราวๆ 2% เท่านั้น เธอยังชี้ว่าทิศทางของสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้ดี

ล่าสุดทางบริษัทได้เปิดตัว First Choice Snap Cash โดยพัทธ์หทัย กล่าวว่าถ้านึกถึงบริการสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์อยากให้นึกถึงแบรนด์นี้ด้วย ซึ่ง First Choice Snap Cash นั้นได้ลดความยุ่งยากในการขอสินเชื่อ และยังทราบผลรวดเร็วภายใน 5 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่ต้องใช้เอกสารยืนยันรายได้อีกด้วย

เธอชี้ว่า First Choice Snap Cash เหมาะกับ ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ แม้แต่คนที่มีอาชีพหลากหลาย โดยให้วงเงินสูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นธรรมตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และสามารถผ่อนชำระหนี้ได้นานสุดถึง 12 เดือน

แม้ว่าจะมีความกังวลในเรื่องของสัดส่วนหนี้ในครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น พัทธ์หทัย ยังชี้ว่า First Choice Snap Cash ถือเป็นการเข้ามาตอบโจทย์ให้ลูกค้าที่เป็นหนี้นอกระบบมากกว่าเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้ ซึ่งการนำกลุ่มลูกค้าที่เป็นหนี้นอกระบบที่ยังเข้าไม่ระบบเข้ามาสู่ระบบจะเป็นการลดภาระให้ลูกหนี้มากกว่า และเมื่อเขามีข้อมูลให้ระบบเครดิตแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อ สามารถขอสินเชื่อได้จาก Application U Choose ซึ่งการพิจารณานั้นใช้ข้อมูลทางเลือกต่างๆ ที่บริษัทใช้ โดยข้อมูลที่ลูกค้ากรอกลงไป รวมถึงการให้ความยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า

พัทธ์หทัย ได้ชี้ว่า First Choice Snap Cash เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่กำลังดุเดือดนั้น แพลตฟอร์มของบริษัทสามารถโอนเงินเข้าได้ทุกธนาคาร รวมถึงเปิดกว้างเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะไม่ต้องเป็นลูกค้าสถาบันการเงินก็ขอสินเชื่อได้

เป้าหมายของ First Choice Snap Cash นั้น พัทธ์หทัย ได้คาดการณ์ว่าภายใน1 ปีคือมีลูกค้า 55,000 ราย ปล่อยสินเชื่อได้ 500 ล้านบาท

]]>
1404446
กลยุทธ์ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เเข่งตลาดบัตรเครดิตดิจิทัล ลุยบริการ ‘ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง’ https://positioningmag.com/1377445 Tue, 15 Mar 2022 05:31:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377445 เปิดกลยุทธ์ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรทะลุ 3.12 แสนล้าน โตกว่า 10% ในปีนี้ ปั๊มลูกค้าบัตรใหม่เเตะ 5 เเสนราย ออกบริการใหม่ “ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง” เอาใจสายช้อป เดินหน้าลุยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลหลังได้ใบอนุญาตใหม่ เปิดรับพันธมิตรที่หลากหลาย เข้ารุกเวียดนาม ขยายตลาดอาเซียน 

2564 ปีเเห่งรถไฟเหาะของธุรกิจ

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัลเดอะวันและบัตรเครดิตโลตัสเล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่า เปรียบเสมือนการทำธุรกิจบนรถไฟเหาะ ที่สถานการณ์ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เเบรนด์ต้องเปลี่ยนเเปลงในทุกๆ ด้าน ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนยุคใหม่

ผลประกอบการในปี 2564 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ถือว่าเติบโตเป็นที่น่าพอใจท่ามกลางความเสี่ยงของวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2.85 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 7.65 หมื่นล้านบาท เเละยอดสินเชื่อคงค้าง 1.39 แสนล้านบาท

บริษัทได้มีบริหารเเละลดค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุมและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

เหล่านี้ ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 1.1% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.8% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

เศรษฐกิจเริมฟื้น เเข่งขัน ‘บัตรเครดิตดิจิทัล’ มากขึ้น 

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเเละมีการกระจายวัคซีนเป็นวงกว้าง ข้อจำกัดการเดินทางลดลง ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีการเติบโตอยู่ที่ 12.3% เเละสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตมากว่า 8.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นเเนวโน้มเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น 

“เเม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงบ้างจากการระบาดของโอมิครอนที่มีต่อเนื่อง รวมทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น”

ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อในปีนี้ คาดว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น เเละจะเห็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับธุรกิจต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ มากขึ้น และผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะนำเอาระบบดิจิทัลและข้อมูล มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตในรูปแบบดิจิทัล หรือการขอสินเชื่อแบบดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เเม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้างเเล้ว แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะยังคงเกณฑ์การอนุมัติไว้ในระดับเดิม เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เข้าไปสู่ระดับก่อนโควิด และยังมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่องอย่างความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน เป็นต้น จึงยังคงต้องระมัดระวังอยู่

ใช้จ่ายช้อปออนไลน์ หมวดท่องเที่ยวคัมเเบ็ก 

หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด 10 อันดับ เรียงตามยอดใช้จ่าย ได้เเก่

  • ประกันภัย
  • ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
  • ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ต
  • ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน
  • ปั๊มน้ำมัน
  • โรงพยาบาล
  • ห้างสรรพสินค้า
  • ไอทีเเละสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • เครื่องเเต่งกายเเละเครื่องประดับ
  • อาหารเเละเครื่องดื่ม

ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+55%)
  • ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+12%)
  • ปั๊มน้ำมัน (+11%)
  • ประกันภัย (+9%)
  • ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ยอดการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 55% เทียบกับปี 2563

“ยอดใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้ายังคงทรงตัว แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของหมวดห้างสรรพสินค้าเติบโตถึง 62% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการปรับรูปแบบเป็นการขายของแบบออมนิแชนเนล คือ ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน”

ทั้งนี้ การใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะการจ่ายเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อท่องเที่ยวตามเมืองใหญ่ในช่วงเทศกาลต่างๆ

ชู 3 กลยุทธ์ปั้นธุรกิจให้โต double digit

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร ในปี 2565 อยู่ที่ 3.12 แสนล้านบาท จะเติบโตกว่า 10% เเละมียอดสินเชื่อใหม่ 8.46 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.49 แสนล้านบาท เติบโต 7% พร้อมปั้นยอดสมัครบัตรใหม่ที่ 5 แสนบัญชี จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ราว 3 แสนบัญชี

เพื่อให้ไปธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้วางกลยุทธ์ไว้อยู่ 3 เเนวทาง ได้เเก่

  • ใช้ระบบดิจิทัลและข้อมูลทำธุรกิจแห่งอนาคต

โดยจะมีการขยายแพลตฟอร์ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น บริการผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL-Buy Now Pay Later) ผ่านแอปฯ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล การเปิดตัวบัตรเครดิตใหม่ๆ อย่าง บัตร XU digital Card หลังเปิดตัว ‘บัตร NOW’ บัตรเครดิตดิจิทัล เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปเมื่อไม่นานมานี้ เเละได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ซึ่งจะทยอยเปิดตัวภายในปีนี้

รวมถึงบริการใหม่ ๆ เช่น การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะเริ่มให้บริการในครึ่งปีหลังของปี 2565

พร้อมขยายจุดรับบริการยืนยันตัวตนในการสมัครบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เเละพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ใน  UCHOOSE  เช่น บริการสมัครบัตรใหม่ผ่านแอปฯ บริการ UCASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปฯ โดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร ที่ปัจจุบันมียอดการใช้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มียอดธุรกรรมกว่า 1.8 ล้านครั้งเเล้ว

นอกจากนี้ จะมุ่งเปิดบริการ ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง หรือ BNPL – Buy Now Pay Later ผ่านแอปฯ ซึ่งสามารถขอทำรายการผ่อนชำระสินค้าด้วยตนเอง รวมถึง การนำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ในการทำการตลาดเฉพาะบุคคล
นำเสนอผลิตภัณฑ์และโปรโมชันที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

  • Krungsri One Retail ลุยจับมือพันธมิตร 

ผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจต่าง รวมทั้งการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Krungsri One Retail ซึ่งจะผสานความร่วมมือระหว่างหลายกลุ่มธุรกิจในเครือกรุงศรี

“จะมีปรับโมเดลธุรกิจเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น นำเสนอบริการ Call Center as a Service, Collection as a Service เพื่อให้บริการกับพันธมิตร รวมทั้งขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยประสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี ในภูมิภาค” 

  • พัฒนาศักยภาพองค์กร

ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกการเงินแห่งอนาคต

วันนี้ธุรกิจเราต้องปรับตัวอยู่ตลอด การมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนา ไม่หยุดนิ่ง ต้องยกระดับการให้บริการมากขึ้น พร้อมเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ มาทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด

]]>
1377445
LINE BK เเข่งตลาดสินเชื่อ ขยับหาลูกค้าทั่วประเทศ สร้างวลีติดหูผ่าน Music Marketing https://positioningmag.com/1374025 Tue, 15 Feb 2022 10:55:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374025 LINE BK เดินเกมสู้ตลาดสินเชื่อเต็มรูปแบบ ขยับหาลูกค้าคนไทยทั่วประเทศ สร้างการรับรู้ พร้อมวลีติดหูผ่านกลยุทธ์ Music Marketing ดึงกลุ่มอาชีพอิสระเข้ามากู้ในระบบมากขึ้น 

ความยุ่งยากในการเข้าถึงสินเชื่อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ประจำและคนทำงานอาชีพอิสระไม่ได้รับโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อมากนัก ผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้น จำใจต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงเเละไม่ปลอดภัย

นี่เป็นหนึ่งในภารกิจของ ‘LINE BK’ ผู้ให้บริการ Social Banking รายแรกของไทย ที่พยายามจะเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ด้วยบริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นเเอปฯ ยอดนิยมที่คนไทยกว่า 2 ในใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีสาขา ไม่ต้องไปธนาคาร

ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยเเละเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ผู้คนต้องการเงินทุนไปทำธุรกิจ

นั่นก็ทำให้การเเข่งขันในตลาดสินเชื่อดุเดือดตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งผู้เล่นรายเล็กรายใหญ่ รวมไปถึงเเพลตฟอร์มอื่นๆ จากต่างประเทศ

บุกตลาดทั่วประเทศ เน้นกลุ่มอาชีพอิสระ 

สำหรับบริการสินเชื่อของ LINE BK ขณะนี้ มีอยู่ 2 ประเภทได้เเก่

  • วงเงินให้ยืม (Credit Line) – สินเชื่อส่วนบุคคล
  • วงเงินให้ยืมนาโน (Nano Credit Line) – สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ

หลังเปิดตัวมาได้ เพียง 15 เดือน LINE BK มีจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ล้านราย บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 4.8 ล้านบัญชี เเละมีจำนวนบัตรเดบิต 2.2 บัตร

โดยมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 5.4 แสนบัญชี ยอดปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอนุมัติเฉลี่ย 3.5 หมื่นบาทต่อราย เเละยอดสินเชื่อนาโนเฉลี่ย 1.1 หมื่นบาทต่อราย

ขณะที่ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ราว 4% ซึ่งเขามองว่า อยู่ระดับที่บริหารจัดการได้ ไม่สามารถเทียบได้ว่าสูงหรือน้อยกว่าในอุตสาหกรรม เพราะ LINE BK ยังคงเป็นผู้บริการสินเชื่อน้องใหม่ในตลาด

ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของลูกค้า LINE BK เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเกือบ 80% มีรายได้ขั้นต่ำ 5,000 บาทขึ้นไป

ดังนั้น เป้าหมายหลักของ LINE BK ในปี 2565 จึงเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด เน้นเจาะกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ประจำเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการเข้าแหล่งเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างโตกว่า 20,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากยอดคงค้างในปีก่อนที่ 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่ LINE BK มีอัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 10% นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่จะต้องเฟ้น หากลุ่มลูกค้าเครดิตดีในกลุ่มเป้าหมายตลาดเเมสให้เจอ ผ่านการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้น เป็นธุรกิจการเงินที่กระจายไปทั่วประเทศ เพราะตอนนี้คนไทยยังรู้จักเเอปพลิเคชัน LINE มากกว่า Social Banking อย่าง LINE BK เเละเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็หวังว่าอัตราอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ที่ราว 20%

โดยในช่วงต้นปีนี้ อาจยังต้องใช้ความระมัดระวังและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้าง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่แน่นอน

-ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK

Music Marketing : สร้างวลีติดหู ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า’ 

ล่าสุด LINE BK นำกลยุทธ์ ‘Music Marketing’ มาใช้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงคนไทยในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เน้นไปที่ความสนุกสนาน จดจำง่ายเเละการมีส่วนร่วมในโลกโซเชียล

แคมเปญการตลาดผ่านเพลงที่พึ่งทางไลน์ เป็นความร่วมมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ RSIAM ในเครือ RS GROUP โดยได้ดึงนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอย่าง ใบเตย อาร์สยาม และ URBOYTJ แร็ปเปอร์ขวัญใจวัยรุ่น มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงในรูปแบบลูกทุ่งผสมแร็ป

ธนา บอกว่า เพลงนี้ตั้งใจจะสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ฟังง่าย ติดหู สนุกสนาน และเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย โดยได้หยิบเอา ‘Pain Point’ จากปัญหาเรื่องเงินของคนไทยมาผสมกับกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งและแร็ป เน้นด้วยคำติดหูอย่างไม่ไหวไลน์มา หรือ ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า

โดยที่ผ่านมา ปัญหาที่ผู้คนอาจเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท มีความซับซ้อน เข้าถึงยาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจว่าแต่ละผลิตภัณฑ์เหมาะกับใครและตัวเขาเองนั้นเหมาะกับผลิตภัณฑ์ไหน

ดังนั้นการทำการตลาดให้ติดหูมีท่อนฮิตหรือวลีเด็ดติดปาก พยายามหาคำกลางๆ ที่ไม่ได้ใส่ชื่อแบรนด์หรือทำให้ดูขายมากจนไป รวมถึงมีท่าเต้นติดตาเป็นที่จดจำ ก็เป็นเหมือนการเชื้อเชิญให้ลูกค้าอยากทำความรู้จักกับเเบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์เเละบริการอื่นๆ ได้

ด้านกระเเสตอบรับ Brand Awareness หลังปล่อยเพลงที่พึ่งทางไลน์ออกมาได้ 2 สัปดาห์ ผู้บริหาร LINE BK มองว่าน่าพึงพอใจเเละถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

โดยมียอดการรับชมเอ็มวีบนยูทูปอยู่ที่ราว 5 ล้านวิว เเละมีแคมเปญบน TikTok เพื่อให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นผ่าน #ที่พึ่งทางไลน์Dance ซึ่งมียอดเข้าชมวิดีโอที่ร่วมแคมเปญรวมกว่า 375 ล้านวิว

นอกจากการทำเพลงเเละเอ็มวีที่พึ่งทางไลน์” เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดรูปแบบใหม่ แล้ว LINE BK ยังมีแผนการทำตลาดที่จะมาช่วยตอกย้ำภาพ ‘ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืม LINE ง่ายกว่า’ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่าง LINE MELODY เเละสติกเกอร์ LINE ที่เป็นคาแร็กเตอร์เฉพาะของ LINE BK 

ขณะเดียวกัน LINE BK จะเดินหน้าจับมือกับพาร์ทเนอร์รอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากอีโคซีสเต็มภายในก่อน ค่อยขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ โดยจะเน้นหาพันธมิตรในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากต้องการจะจับตลาดคนไทยให้ได้มากที่สุด

โดยปีที่ผ่านมา ได้จับมือกับ DTAC เปิดให้บริการ “ใจดี มีวงเงินให้ยืม” เเละมีลูกค้าประมาณ 10,000 ราย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่อไป

เราจะเจาะตลาดไปทางสื่อต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแบบครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

 

]]>
1374025
บัตรเครดิตฟื้นตัวปลายปี ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เร่งดันยอดใช้จ่าย ปล่อยสินเชื่อกลุ่มฟรีเเลนซ์ https://positioningmag.com/1361690 Thu, 11 Nov 2021 16:13:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361690 สัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุน ‘ตลาดบัตรเครดิต’ ฟื้นตัวรับโค้งสุดท้ายของปี คนเริ่มใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว จองโรงเเรมมากขึ้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเตะ 2.85 แสนล้าน ลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย รุกปล่อยสินเชื่อออนไลน์จับกลุ่มฟรีเเลนซ์ เน้นใช้ดาต้าทำการตลาด พัฒนานวัตกรรม-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ดึงลูกค้า 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่ตามปกติเเล้วจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อกดาวน์เเละการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม

ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ผ่านดาต้า

สำหรับ ‘ตลาดสินเชื่อ’ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจคือ สถาบันการเงินทั้งหลายหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ ‘ข้อมูลทางเลือก’ ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ 

ช้อปออนไลน์เเรงต่อเนื่อง คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยว 

โดยธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้ง บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า มีผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท

หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%)
2.ประกันภัย (+15%)
3.
ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)
4.
ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%)
5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%) 

หากพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่า ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ จะเติบโตสูง ขณะที่หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง

“ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ เเต่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว” 

ฟีเจอร์ใหม่ดึงดูดลูกค้า 

เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการปรับกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมการนำเอานนวัตกรรมใหม่ ๆ มายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ

ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาบริการใหม่ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE อย่าง

  • U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์
  • UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป
  • UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท
  • การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook
  • การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์
  • บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง พัฒนา AI มะนาว ที่ให้บริการลูกค้าไปเเล้วกว่า 3.2 ล้านสาย เเละบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger
  • บริการ ‘เเตะเพื่อจ่าย’ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตร 

อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’

ขยายต่ออาเซียน 

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เวียดนาม “โดยจะมีการปรับเเผนผ่อนชำระเพิ่มเติม รุกธุรกิจคาร์ฟอร์เเคช สินเชื่อรถยนต์” 

การดำเนินงานจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 7,000 ล้านบาท กว่า 1 แสนราย

“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท เติบโต 3%  ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท” 

 

]]>
1361690
KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi ปั้น ‘Coral’ มาร์เก็ตเพลส NFT ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป เปิดโอกาสศิลปินไทยโกอินเตอร์ https://positioningmag.com/1357677 Thu, 21 Oct 2021 10:00:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357677

อีกหนึ่งบทใหม่ที่จับตามองของ KBTG กับการปั้น KASIKORN X หรือเรียกสั้นๆ จำได้ง่ายๆ ว่า ‘KX’ ให้เป็นเหมือน New S-curve Factory โรงงานผลิตธุรกิจใหม่บนโลก ‘DeFi’ ที่ไม่ใช่เเค่ต้องก้าวทัน เเต่ต้อง ‘ก้าวนำ’ ไปข้างหน้า

ล่าสุดจับทิศทางตลาด NFT ที่กำลังเติบโตมหาศาล เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินไทยและทั่วโลก ได้ ‘ลองของ’ ขายผลงานศิลปะผ่าน ‘Coral’ แพลตฟอร์ม NFT มาร์เก็ตเพลสด้วยสกุลเงินทั่วไป ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 KBTG เกิดขึ้นมาตามเป้าหมายการทรานฟอร์มองค์กรของธนาคารกสิกรไทย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยียุคใหม่

กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าว่า ในช่วง 3 ปีเเรกนั้น ถือเป็นเวลาเเห่งการ ‘สร้างเนื้อสร้างตัว’ เเละในช่วง 3 ปีต่อมา (2019 -2021) ถือเป็นยุคเเห่งการ Transformation & Rise in Crisis ที่มีทั้งความท้าทายเเละโอกาสการเติบโตที่สำคัญ ท่ามกลางวิกฤตใหญ่ที่เปลี่ยนเเปลงชีวิตคนทั้งโลก

“หลังจากเราสร้างรากฐานได้อย่างเเข็งเเกร่งเเล้ว ก็ถึงเวลาที่ขยับขยายไปสู่ระดับภูมิภาค ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง เพิ่มขีดความสามารถขึ้นเป็นเท่าตัว เเละการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ”

การเดินหน้าลุย Decentralized Finance หรือ DeFi เปิดทางสู่โลกการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง โลกที่แปลงสินทรัพย์ในความเป็นจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เเม้หน่วยการทำงานต่างๆ ของกลุ่ม KBTG จะมีหน้าที่เเตกต่างกัน เเต่ก็ประสานเเละส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันพนักงานของ KBTG มีมากกว่า 2,000 คนเเล้ว


Speed – Scale – Synergy

ที่ผ่านมา KBTG ได้ประสานการทำงานร่วมกันในเเพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนได้จำนวนมาก สร้างความฮือฮาให้วงการฟินเทคไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างสิ่งใกล้ตัวเราอย่าง การพัฒนาเเอปพลิเคชัน ‘K PLUS’ ที่มีผู้ใช้งานสูงสุดในหมวดโมบายเเบงก์กิ้งของประเทศไทยเเละเอเชียเเปซิฟิก รวมไปถึง ‘LINE BK’ ที่ตอนนี้มีลูกค้ากว่า 3.2 ล้านราย เเละ ‘ขุนทอง’ โซเชียลเเชทบอท ผู้ช่วยจัดเก็บเงินยุคใหม่ที่ตอนนี้มีสมาชิกในคอมมูนิตี้มากกว่า 1 ล้านคนเเล้ว

หนึ่งในเเนวทางสำคัญที่ KBTG ยึดมั่นก็คือ การเข้าไปร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอีโคซีสเต็ม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นของธนาคารยุคใหม่ KBTG ได้ขยายเครือข่ายออกไปอย่างรวดเร็วเเละมีสเกลที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การร่วมมือกับ GrabPay Wallet ที่ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 2 ล้านราย เเละ PTT Blue CONNECT ที่มีผู้ใช้งานเเล้วกว่า 3 เเสนราย

นอกจากนี้ ยังขยายไปยังกลุ่มธุรกิจ ‘สินเชื่อดิจิทัล’ ทั้งภายในเเอปฯ K PLUS เอง เเละเข้าไปจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee , Lazada เเละกระเป๋าเงินออนไลน์ Dolfin เหล่านี้ทำให้มีการเติบโตของยอดผู้ใช้สินเชื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เเละมี Loan Booking เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

“เเผนขยายไปยังภูมิภาคของเรา เรียกได้เลยว่าเป็นเเบบ Evil Fast รวดเร็วราวกับปิศาจ อย่างการเปิด KTech ที่ตอนนี้มีลูกค้าเเล้วกว่า 1 ล้านคนในจีน เเละมี Loan Booking มากถึง 1 พันล้าน RMB โดยมีการออกโปรดักต์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอทุกหนึ่งเดือน ท่ามกลางข้อจำกัดการเดินทางในวิกฤตโรคระบาด พร้อมๆ กับการขยายไปในเวียดนามด้วย”

โดยก้าวต่อไปของ KBTG นับจากนี้ หลักๆ จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของ Deep Tech เทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ,ควอนตัมคอมพิวติ้ง ,บล็อกเชน , สินทรัพย์ดิจิทัลเเละ Metaverse

“KBTG เป็นเสมือนลมใต้ปีกของ KBANK ที่คอยสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ช่วยสนับสนุนการเติบโตทุกๆ ด้านของกสิกรไทย”


KX โรงงานผลิตธุรกิจใหม่

KX กำลังก้าวสู่การเป็นพระเอกคนใหม่ของ KBTG หลังที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาเเละก็ถึงเวลาสมควรที่จะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการ โดย KX จะทำหน้าที่เป็น Venture Builder เสมือนโรงงานที่ผลิตสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่ ที่ปฏิบัติการเป็นอิสระ (Autonomous Venture Builder) มีเป้าหมายหลักๆ ในการผลิตธุรกิจด้าน Decentralized Finance and Beyond สืบเนื่องจากที่ DeFi เป็นระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ สามารถทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน

เป็นโอกาสทองของ KX ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ในด้านบริการทางการเงิน (Financial Service) และบริการอื่นๆ (Non-Financial Service) ที่มีโอกาสได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้

ภารกิจหลักของ KX จึงเป็นการ ‘Building Trust in the Trustless World’ สร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือนั่นเอง

“เราจะไม่หยุดเพียงเเค่นี้ เพราะโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมันกว้างใหญ่มากๆ”

ความน่าสนใจของระบบการทำงานของ KX คือการใช้วิธีการ Incubate > Scale > Spin เริ่มต้นบ่มเพาะไอเดียใหม่ ๆ ตั้งไข่ธุรกิจ ขยายผลเเละขยายขนาด จากนั้นแยกตัวธุรกิจออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Spin-off) ให้ทำงานอย่างอิสระ เมื่อเห็นทิศทางและโอกาสทางธุรกิจในยุคต่อไปที่ชัดเจนแล้ว

งานนี้จึงได้มืออาชีพอย่าง ‘พอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์’ มารับหน้าที่เป็น Head of Venture Builder, KASIKORN X Co.,Ltd. นำทัพ KX เข้าสู่ตลาดธุรกิจใหม่ที่น่าท้าทาย

ธนะเมศฐ์ บอกว่า จุดเด่นคือ KX มีความคล่องตัวในการบริหารงานและตัดสินใจสูงดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG

ในส่วนของการทำ Venture Building ของ KX นั้น ถูกออกแบบให้คล้ายกับการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งในทีมจะมีฝั่งเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) และฝั่ง Builder หรือ Engineer มาทำงานร่วมกัน เหมือนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) ในด้านธุรกิจและเทคโนโลยีในโลกของสตาร์ทอัพ กับจุดมุ่งหมายคือศึกษา ทดลอง และออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจริงด้วยความเร็วแบบสตาร์ทอัพ

KX ประเดิมการ Spin-off เเรก ผ่านจัดตั้งบริษัทใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล คือ Kubix ถือเป็นกลุ่มธนาคารเเรกในไทย ที่ได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.ให้ประกอบธุรกิจ ICO Portal

และล่าสุดกับการเปิดตัวธุรกิจที่สอง คือ Coral แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส NFT สร้างโอกาสไร้พรมเเดนให้กับศิลปินและนักสะสม สนับสนุนศิลปินไทยและเอเชียให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

“เราจะมุ่งไปที่การสร้างเเพลตฟอร์ม สินค้าเเละบริการที่ปลอดภัย ทั้ง Financial Service และ Non-Financial Service ให้เข้าถึงคนจำนวนมากที่สุด โฟกัสไปที่ตลาด Decentralized Finance ซึ่งมีอีโคซีสเต็มที่ใหญ่มาก”


Coral : ซื้อขาย  NFT ง่ายเหมือนช้อปออนไลน์

ผู้บริหาร KX ให้คำอธิบายง่ายๆ ถึงคอนเซปต์ของแพลตฟอร์ม Coral ว่าคือการที่จะทำให้การสร้างและการซื้อขาย NFT เป็นเรื่องง่าย เหมือนกับการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป

 แต่มีจุดที่แตกต่างคือลูกค้า Coral สามารถซื้องานศิลปะ NFT ด้วยสกุลเงินทั่วไป (Fiat money) อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ลูกค้าแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังต้องแลก
เหรียญสกุลคริปโตฯ ก่อน เพื่อนำมาซื้องานศิลปะอีกที ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยาก

สำหรับตลาด NFT ในเมืองไทย ตอนนี้มูลค่าเเตะหลักล้านดอลลาร์สหรัฐเเล้ว เเละมีเเนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เเบบ ‘triple-digit’ ไม่ได้จำกัดเพียงเเค่งานศิลปะ เเต่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินทรัพย์ทางเลือกให้คนในประเทศ เป็น ‘ตลาดงานศิลปะ’ ที่เข้าถึงง่าย มีรูปแบบสร้างรายได้เเบบมาร์เก็ตเพลสทั่วไป และที่สำคัญคือต้องปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการหารือกับทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในเฟสเเรกจะเปิดซื้อขายในตลาดแรกก่อน เเละอีกไม่นานจะเปิดซื้อขายในตลาดรองต่อไป สามารถกลับมาเทรดอีกครั้งบนเเพลตฟอร์ม Coral ที่อยู่บนเชน Ethereum ส่วนระบบการชำระเงินในขณะนี้ยังใช้สกุลเงินทั่วไป แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เพิ่มเข้ามา

เมื่อถามถึงความจุดเสี่ยงของ NFT ผู้บริหาร KX ตอบว่า ความเสี่ยงคือการไม่รู้ว่าของที่ซื้อมานั้นเป็นของแท้หรือไม่ ดังนั้นเเพลตฟอร์มจึงต้องมีการตรวจสอบความเป็น ‘ออริจินัล’ ของผลงานให้รัดกุม

“ตอนนี้ศิลปินในไทยที่มีชื่อเสียงมีอยู่จำนวนหนึ่ง เเต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ ‘ศิลปินที่กำลังเกิดใหม่’ คนที่มีความเป็นศิลปินซ่อนอยู่ในตัวนั้นมีมากมายมหาศาล Coral จึงอยากเป็นผู้จุดประกาย เปิดกว้างความคิดสร้างสรรค์ เเละเป็นเเรงบันดาลใจให้คนไทย ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”

เบื้องต้นมีศิลปินของไทยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Coral เเล้ว 9 ราย ได้แก่ ไป Lactobacillus, Tikkywow, ทรงศีล ทิวสมบุญ, เอกชัย มิลินทะภาส, ปัณฑิตา มีบุญสบาย, Benzilla, Pomme Chan, IllustraTU, และ Jiggy Bug

โดยเหล่าศิลปิน ให้สัมภาษณ์ด้วยความเห็นที่ตรงกันว่า NFT ไม่ใช่เเค่การซื้อขายหรือเทรดงานศิลปะเท่านั้น เเต่เป็นการค้นพบ ‘คอมมูนิตี้’ ที่จะเข้ามาช่วยให้ศิลปินเติบโตขึ้นในโลกยุคใหม่ เป็นศูนย์รวมเเพชชั่น ความฝัน พื้นที่ความสร้างสรรค์ มีช่องทางการนำเสนอผลงานเเละตัวตนของเราสู่ผู้คนทั่วโลกได้ เเม้จะเป็นศิลปินตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักก็ตาม

นอกจากนี้ KX ยังได้เปิดตัวพันธมิตร Coral รายแรกคือ ‘สยามพิวรรธน์’ มาร่วมกันสร้างศูนย์รวมและต่อยอดนวัตกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์ไตล์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้แก่ลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Co-creation” และ “Creating Shared Value”

โดยได้เปิดพื้นที่ของสยามพารากอน และไอคอนสยาม จัด NFT Innovation Digital Wall เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนศูนย์การค้าได้เข้าชม NFT Art อย่างใกล้ชิด

นับเป็นก้าวแรกในการสร้างธุรกิจ และนวัตกรรมที่เชื่อมโลกคู่ขนาน ออนไลน์-ออฟไลน์ โดยใช้ DeFi เป็นประตูโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่จำกัด รวมทั้งเข้าถึงสินค้า บริการ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต

Coral เริ่มเปิดรับศิลปินและพาร์ทเนอร์เพื่อเข้าร่วมแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://coralworld.co และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่นักสะสมภายในช่วงปลายปีนี้

ต้องติดตามว่า ‘KX’ ที่เปรียบเสมือน New S-curve Factory โรงงานผลิตธุรกิจใหม่ของ KBANK จะมีอะไรมาให้ได้เซอร์ไพรส์กันอีก…อดใจรอชมในเร็วๆ นี้

]]>
1357677
เจาะกลยุทธ์ Digital-led Bank ของ CIMB THAI Bank พร้อมวิเคราะห์บริการเด่น จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในปี 2564 https://positioningmag.com/1311263 Mon, 21 Dec 2020 11:00:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311263

ธนาคาร CIMB THAI Bank เริ่มกระบวนการปฏิรูปธนาคารเป็น Digital-led Bank มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน จากนั้นทยอยออกผลิตภัณฑ์เพื่อดึงลูกค้าเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่บัญชีเงินฝากดิจิทัล ซื้อขายกองทุนและพันธบัตรบนแอปฯ และล่าสุดกำลังจะมีย่างก้าวสำคัญคือการให้ “สินเชื่อดิจิทัล” ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นโซลูชันที่ช่วยปลดล็อกให้คนไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และช่วยส่งให้ CIMB THAI Bank เป็น Digital-led Bank เต็มตัวภายในปี 2564

ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMB THAI Bank เป็นธนาคารขนาดกลางที่กำลังวางเป้าพลิกโฉมสู่การเป็น Digital-led Bank หรือธนาคารที่ใช้กระบวนการดิจิทัลเป็นตัวนำในการบริการลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป้าหมายนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ฟังดูอาจจะช้ากว่าธนาคารอื่นแต่ด้วยความคล่องตัวและยืดหยุ่นทำให้ CIMB THAI Bank สามารถเบียดสู้กับยักษ์ใหญ่ในตลาดได้

ความก้าวหน้าของ CIMB THAI Bank การันตีด้วยตัวเลขการเติบโตในหลายด้าน เช่น หลังจากเปิดใช้โมบายแบงค์กิ้ง มียอดการทำธุรกรรมกับธนาคารเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 2 ปี จำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เปิดใหม่เพิ่มขึ้นต่อเดือนสูงสุด 10 เท่า การขายพันธบัตร/หุ้นกู้ออนไลน์ โควตาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของหุ้นกู้รายการหนึ่งทำสถิติขายหมดภายใน 14 นาที และมีผู้ซื้อรายย่อยที่ลงทุนเกิน 1 ล้านบาทต่อการซื้อหนึ่งครั้ง สะท้อนให้เห็นความไว้วางใจต่อแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร

สามแม่ทัพผู้อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์เหล่านี้ที่จะช่วยนำพา CIMB THAI Bank ไปสู่เป้าหมาย ได้แก่ “มาร์ติน บักโฮส” ผู้บริหารธนาคารดิจิตอลธุรกิจรายย่อย, “เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร” ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย และ “ธีรธิดา คุวันทรารัย” ผู้บริหารการตลาดธุรกิจรายย่อย เป็นสามประสานที่ดูแลตั้งแต่การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจ และทำการตลาดให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

มาร์ตินอธิบายภาพรวมนโยบายไปสู่ดิจิทัลของ CIMB THAI Bank ก่อนว่า ธนาคารต้องการจะเป็น “Digital-led Bank” มากกว่าเป็น “Purely Digital Bank” เนื่องจากศึกษาพฤติกรรมลูกค้าแล้วพบว่า บางครั้งลูกค้าจะยังต้องการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อยู่ ดังนั้น ธนาคารจึงเลือกที่จะปฏิรูปการทำงานและการติดต่อโดยพื้นฐานกับลูกค้าให้เป็นดิจิทัลเพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่ยังคงสาขาธนาคาร 55 สาขาไว้บริการเสริมในส่วนที่ลูกค้าต้องการ

“ธนาคารอื่นอาจจะมองว่าการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลคือการ ‘ลดต้นทุน’ ให้กับธนาคาร แต่เรามองว่า ‘ความต้องการของลูกค้าต้องมาก่อน’ การเป็นดิจิทัลของ CIMB THAI Bank คือการอยู่กับลูกค้าในทุกๆ ที่ เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดกับลูกค้าของเรามากขึ้น” มาร์ตินกล่าว

3 ส่วนที่เป็นธงนำสู่ Digital-led Bank

หลังจากพัฒนาโมบาย แอปพลิเคชันเพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมการเงินได้สะดวก CIMB THAI Bank ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าจนเล็งเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าความต้องการของผู้บริโภคคืออะไร นำไปสู่การออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นธงนำ 3 กลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเป็น Digital-led Bank ที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง ได้แก่

1) บัญชีเงินฝาก (Savings)

2) การลงทุนและบริหารสินทรัพย์ (Wealth)

3) สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending)

ผลิตภัณฑ์แรกที่มีการเปิดตัวไปแล้วคือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ดอกเบี้ยสูงสุดถึง 2% ต่อปี โดยเอกสิทธิ์กล่าวถึงผลตอบรับของผลิตภัณฑ์นี้ว่า ช่วยให้มีบัญชีเงินฝากเปิดใหม่กับธนาคารถึง 10,000 บัญชีต่อเดือน จากปกติจะมี 1,000-3,000 บัญชีต่อเดือน และในจำนวนบัญชีเงินฝากดิจิทัลเหล่านี้ เป็นลูกค้าจากต่างจังหวัดถึง 50% และเป็นลูกค้าเจนวาย 60% สะท้อนให้เห็นว่าบัญชีดิจิทัลดอกเบี้ยสูงสามารถดึงดูดลูกค้าได้จริง และเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ธนาคารต้องการ

ผลิตภัณฑ์ต่อมาคือกลุ่ม “Wealth” ปัจจุบันลูกค้าสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ได้เอง รวมถึงจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปฯ ได้ ไม่ต้องมาที่สาขาธนาคาร

ผลิตภัณฑ์และบริการการลงทุน-บริหารสินทรัพย์นับเป็นหนึ่งในจุดแข็งของ CIMB THAI Bank มาตลอด และจะส่งต่อมายังผลิตภัณฑ์บนโลกดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยมาร์ตินเกริ่นให้ฟังถึงอนาคตว่า ธนาคารต้องการจะสร้าง “Digital Wealth Solutions” ขึ้นมา กล่าวคือ ต้องการพัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยบริหารจัดการสินทรัพย์ทั้งพอร์ตโฟลิโอของลูกค้าได้ ไม่ใช่แค่สินทรัพย์ที่มีอยู่กับ CIMB THAI Bank แต่รวมถึงสินทรัพย์ที่อยู่ในสถาบันการเงินอื่นด้วย พร้อมกับมีบริการที่ปรึกษาการลงทุนด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ AI ช่วยบริหารพอร์ต

ปิดท้ายที่ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ของปี 2564 คือ “สินเชื่อดิจิทัล” บริการนี้จะเป็นการยกระดับไปอีกขั้น เพราะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับผู้บริโภค เพราะ CIMB THAI Digital Banking Application มุ่งมั่นที่จะทำให้การลงทุนและการจัดการทางด้านการเงินเป็นเรื่องง่าย และเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

“สินเชื่อดิจิทัล” เปิดน่านน้ำใหม่ แก้ปัญหาให้ลูกค้า

Digital Lending หรือ สินเชื่อดิจิทัล จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนไทยจำนวนมาก โดยมาร์ตินอธิบายให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยมีประชากรเพียง 10 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลได้

ทำให้การให้สินเชื่อดิจิทัลจะมาตอบโจทย์ เพราะใช้วิธีประเมินเครดิตสกอร์แบบใหม่เรียกว่า Alternative Credit Underwriting (ACU) เช่น วัดจากการเจาะลึกโซเชียลมีเดียของผู้ยื่นขอสินเชื่อว่ามีวิถีชีวิตแบบไหน ใช้จ่ายอย่างไร เดินทางไปไหนบ้าง ทำให้เห็นแนวโน้มกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้

เอกสิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ปี 2564 จะได้เห็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัลแรกของ CIMB THAI Bank โดยเป็นการผนึกกำลังกับพันธมิตรอี-คอมเมิร์ซค่ายหนึ่ง CIMB THAI Bank จะเข้าไปเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อชำระค่าสินค้าในอี-คอมเมิร์ซค่ายนั้นได้ โดยธนาคารมีระบบประเมินความสามารถของลูกค้าแบบ ACU เช่น ตรวจสอบย้อนหลังพฤติกรรมการซื้อสินค้าของบุคคลนั้นมีการใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และสม่ำเสมอแค่ไหน โดยขั้นต้นจะให้สินเชื่อดิจิทัลได้ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน ตามข้อกำหนดในใบอนุญาตที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“กลุ่มสินเชื่อดิจิทัลนี้เราจะไปกับพันธมิตร เริ่มต้นที่อี-คอมเมิร์ซรายดังกล่าว จากนั้นจะมีพันธมิตรกับรายอื่นๆ ตามมา โดยวัดจากไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลักว่าเราควรจะไปจับมือกับใครเพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้” เอกสิทธิ์กล่าว

เปลี่ยนวิธีทำตลาด พุ่งเป้าแบบเฉพาะกลุ่ม

อีกมุมหนึ่งของการเป็น Digital-led Bank วิธีการทำตลาดก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยธีรธิดา แม่ทัพด้านการตลาด อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่จะเปิดตัวจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันอยู่แล้ว ทำให้วิธีทำตลาดจะไม่ใช่การสร้างการตระหนักรู้ในแบรนด์ (Brand Awareness) ในลักษณะภาพใหญ่ของธนาคารเหมือนอย่างเคย แต่เป็นการทำตลาดแบบเจาะไปทีละผลิตภัณฑ์

หากมองกลุ่มลูกค้าแยกตามช่วงวัย จะเห็นได้ชัดว่าผลิตภัณฑ์แต่ละตัวน่าจะเจาะกลุ่มวัยไหนเป็นหลัก เช่น เจนวาย จนถึง เจนซี จะสนใจเรื่องบัญชีเงินฝาก ทำธุรกรรมโอนเงิน สินเชื่อส่วนบุคคล เจนเอ็กซ์ จะสนใจเรื่องกองทุนรวม ประกัน สินเชื่อบ้าน เจนเบบี้บูมเมอร์ จะสนใจเรื่องการบริหารสินทรัพย์ เงินออมหลังเกษียณ เป็นต้น

ธีรธิดายกตัวอย่างผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย ผลิตภัณฑ์นี้เปิดตัวในช่วง COVID-19 ระบาด และมีคู่แข่งในตลาด มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนเจนวาย ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การตลาดโดดเด่น จดจำได้ และมีโทนการสื่อสารที่เหมาะกับวัยกลุ่มเป้าหมาย

“เราได้ปรับโฉมกลยุทธ์แคมเปญการตลาด ผ่านการสื่อสารด้วยภาพซึ่งใช้สี 3 สีแบบ Tri-color และใช้จุดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นตัวนำสายตา เช่น คำว่า ‘ดอกเบี้ย 2%’ จะเห็นเด่นชัด ถ้าสังเกตเปรียบเทียบกับโฆษณาอื่นๆ ของ CIMB THAI Bank จะรู้เลยว่าฉีกแนวไปจากเดิมมาก พร้อมกับโปรโมทจุดแข็งของบัญชีนี้ผ่านวิดีโอ 6 เรื่องที่ชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ทั้ง 6 ด้าน โดยเน้นเลือกใช้โซเชียลมีเดีย ใช้ Influencer และ viral marketing ที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้วิดีโอมียอดรับชมมากกว่า 1 ล้านครั้ง และทำให้ยอดการเปิดบัญชีออมทรัพย์ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย สูงขึ้น 34% ภายใน 2 อาทิตย์ของการเปิดตัว” ธีรธิดากล่าว

นอกจากนี้ แคมเปญการตลาดดังกล่าวเพิ่งคว้ารางวัล Best New Product Launch และ Outstanding Digital Marketing Initiative จากเวที Global Retail Banking Innovation Awards 2020 จัดโดย THE DIGITAL BANKER ซึ่งทั้ง 2 รางวัลนี้เป็นรางวัลระดับภูมิภาคที่มีสถาบันการเงินมากกว่า 400 แห่งส่งเข้าประกวด ช่วยตอกย้ำความสำเร็จของแคมเปญการตลาดยุคใหม่จาก CIMB THAI Bank

กลุ่มเจนวายเป็นกลุ่มที่ทีมการตลาดมุ่งหวังให้เปลี่ยนมุมมองต่อ CIMB THAI Bank เพราะภาพลักษณ์เดิมของธนาคารจะมีความเป็นทางการสูง แต่เมื่อปรับเป็นดิจิทัลแล้ว ต้องการมีภาพลักษณ์ในสายตาคนเจนวายว่าเป็นธนาคารที่ “เข้าถึงได้” และเป็นผู้เล่นที่ “ฉีกกฎ” มากยิ่งขึ้น แต่สำหรับเจนเนอเรชันที่โตกว่านี้ ธนาคารยังต้องการคงภาพความน่าเชื่อถือไว้ต่อไป

มาร์ตินกล่าวสรุปว่า จุดมุ่งหมายของ CIMB THAI Bank ในการเป็น Digital-led Bank ไม่ใช่แค่การปรับธุรกรรมพื้นฐานให้มาอยู่บนโลกดิจิทัล แต่เป็นการสร้าง “โซลูชันที่สร้างคุณค่าใหม่ได้อย่างแท้จริง” ด้วยเทคโนโลยี

“การพัฒนาธนาคารที่เป็น Digital-led Bank นั้นไม่ง่ายอย่างแน่นอน เพราะต้องผสมผสานกับธนาคารแบบเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองคนทุกคนและทุกแห่งได้ด้วย” มาร์ตินกล่าว “ดังนั้น เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน แต่เป็นการปฏิรูปที่ใช้เวลา เพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน”

“กลยุทธ์ Digital-led Bank และการตอบสนองความต้องการของลูกค้า คือเป้าหมายร่วมกันสองประการที่เรายึดถือเมื่อจะตัดสินใจสิ่งใดในการทำงาน และเป็นหลักยึดที่ช่วยเปลี่ยน Mindset ในองค์กรของเรา” เอกสิทธิ์กล่าวปิดท้าย

สนใจ CIMB THAI Digital Banking Application สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://onelink.to/cimbntb

#ChillDSavings #CIMBTHAIAPP #เรื่องฟรีเราจริงจัง #ForwardYourDigitalLife #ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย #CIMBTHAIBank

 

]]>
1311263