Boeing – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Apr 2024 08:59:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 วิศวกร “Boeing” แฉต่อหน้าสภาคองเกรส บริษัท “ข่มขู่” ให้ปิดเงียบเรื่องเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย” https://positioningmag.com/1470283 Thu, 18 Apr 2024 07:43:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470283 วิศวกรบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน “Boeing” ขึ้นให้การต่อหน้าสภาครองเกรส ยืนยันตนเองถูกเจ้านาย “ข่มขู่” หลังจากที่เขาแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินของบริษัท

“Sam Selehpour” วิศวกรและเป็นผู้แจ้งเบาะแสคนสำคัญเกี่ยวกับการทำงานที่หละหลวมและไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของ Boeing ขึ้นให้การต่อหน้าสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 ว่า เขาถูกเจ้านายโทรศัพท์มาต่อว่ายาว 40 นาที และรถยนต์ของเขาถูกเจาะยางด้วยตะปู หลังจากเขาแสดงความกังวลในบริษัทว่าขั้นตอนการดำเนินการผลิตเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย”

หลังจากการไต่สวนโดยสภาคองเกรสครั้งนี้ Boeing มีการออกแถลงการณ์ว่า “พวกเราทราบดีว่าเรายังมีงานต้องทำอีกมาก และเรากำลังลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขทั้งบริษัท”

Boeing เริ่มเผชิญวิกฤตหลังจากเครื่องบินรุ่นใหม่ของบริษัท “737 Max 8” เกิดเหตุ “เครื่องบินตก” ถึง 2 ครั้งในปี 2018 และปี 2019 รวมมีผู้เสียชีวิตถึง 346 คน

หลังจากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2024 เครื่องบินรุ่น “737 Max 9” ของสายการบิน Alaska Airlines มาเกิดเหตุไม่คาดฝันอีก เมื่อชิ้นส่วนของเครื่องบินหลุดออกระหว่างทำการบิน เป็นโชคดีที่ไม่มีผู้โดยสารคนใดได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต แต่เมื่อเหตุมาเกิดซ้ำทำให้บริษัทถูกจับจ้องและตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

การตรวจสอบครั้งนี้มีการนำตัวพยานผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 3 คนมาให้การต่อสภาคองเกรส หนึ่งในนั้นคือ Sam Salehpour ซึ่งเป็นวิศวกรที่ทำงานกับ Boeing มานาน 17 ปี เขากล่าวว่าเขาได้แจ้งความกังวลต่อหัวหน้าเรื่องการใช้ “ทางลัด” ในการผลิตเครื่องบิน และเขาได้แจ้งเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2020 แต่เขาถูกโต้กลับจากหัวหน้าว่าให้ “หุบปาก”

“ผมถูกละเลย ผมได้รับคำตอบแค่ว่าอย่าทำให้การส่งมอบล่าช้า” Salehpour กล่าว พร้อมเสริมว่าเวลาต่อมาเขาถูกย้ายงานไปทำตำแหน่งอื่น “นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมการทำงานที่ปลอดภัยเลย เพราะคุณจะถูกข่มขู่เมื่อพูดเรื่องที่ขัดแย้งขึ้นมา”

 

จับตา Boeing 787 อีกหนึ่งรุ่นที่อาจไม่ปลอดภัย

ความกังวลของ Salehpour ในเวลานี้คือ เครื่องบินรุ่น Boeing 787 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุวิกฤต Alaska Airlines หรือวิกฤตปี 2018-19 แต่มีปัญหาเรื่องการผลิตเช่นเดียวกัน

เขากล่าวว่า ชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้ในอนาคต

เขาได้แจ้งเรื่องนี้กับทางองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเผยตัวพร้อมๆ กับ FAA เมื่อหน่วยงานแจ้งเรื่องนี้ต่อสาธารณะเมื่อต้นเดือนเมษายน

FAA ระบุว่าพวกเขากำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่ ส่วนบริษัท Boeing ปฏิเสธข้อกล่าวหา

Salehpour ยังเล่ารายละเอียดระหว่างการไต่สวนว่า เขารู้สึกมีแรงบังคับภายในให้ต้องออกมาพูด เพราะเขาเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานโครงการกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เพื่อนคนนั้นไม่ได้รับการตอบสนองเมื่อแจ้งข้อกังวลในการทำงานเช่นกัน และสุดท้ายกระสวยชาเลนเจอร์ก็ระเบิดออกระหว่างขึ้นบินเมื่อปี 1986

เขากล่าวว่า หลังเขาแจ้งเรื่องข้อกังวลต่างๆ ไปแล้ว บริษัทตอบกลับเขาด้วยแรงกดดันต่างๆ เช่น ทำให้เขาลางานไปพบแพทย์ยากขึ้น ระหว่างการให้การ Salehpour ถึงกับหลั่งน้ำตา และยอมรับว่าเขา “ไม่มีหลักฐาน” ว่าตะปูในยางล้อรถของเขานั้นเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเขาถูกเจาะยางระหว่างอยู่ที่ทำงาน พร้อมบอกว่าเขารู้สึก “เหมือนอยู่ในนรก”

“Richard Blumenthal” วุฒิสมาชิกผู้นำการไต่สวนในครั้งนี้ กล่าวว่าเขาและคณะกรรมการจะสืบสวนประเด็นนี้ต่อไป และแค่เพียงการประกาศว่าจะมีการไต่สวนก็ได้กระตุ้นให้ผู้แจ้งเบาะแสอีกหลายคนกล้าที่จะออกมาให้ข้อมูล

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง ถึงระดับที่น่าตกใจ” Blumenthal กล่าว “มีรายงานข้อกล่าวหาหนักเข้ามาเป็นกองพะเนินว่า Boeing มีการละเมิดวัฒนธรรมความปลอดภัย และมีระเบียบการทำงานที่ยอมรับไม่ได้” พร้อมกับบอกว่าการไต่สวนครั้งต่อไปจะเรียกตัวผู้บริหารจากบริษัทมาให้การด้วย

ทาง Boeing เองแจ้งว่า การกลั่นแกล้งจากการแจ้งเบาะแสเป็นเรื่องที่ “ต้องห้ามโดยเด็ดขาด” และบอกว่าบริษัทได้รับรายงานจากพนักงาน “เพิ่มขึ้นมากกว่า 500%” นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา “ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเกิดความคืบหน้าในการสร้างวัฒนธรรมการรายงานเรื่องราวในบริษัทโดยไม่ต้องหวั่นเกรงหรือเกิดการกลั่นแกล้งเอาคืน”

 

พยานแฉอีก บริษัทช่วยกัน “กลบเกลื่อน”

ส่วนการสืบสวนเบื้องต้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า เที่ยวบินของ Alaska Airlines ที่มีชิ้นส่วนหลุดออก เกิดจากสลักบางส่วนหายไป ขณะนี้บริษัท Boeing กำลังถูกสืบสวนสอบสวนและมีคดีความตามมาอีกมาก

นอกจากวิศวกร Salehpour แล้ว พยานอีกคนที่เข้ามาแจ้งเบาะแสคือ “Ed Pierson” ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการในบริษัท Boeing แต่ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการบริหารให้กับมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยการเดินอากาศ Pierson กล่าวหาบริษัทว่ามีการ “กลบเกลื่อนการสร้างอาชญากรรม” และบอกด้วยว่าตัวเขาเองให้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสลักที่หายไปของ 737 Max 9 กับหน่วยงานสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) เรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 วันเดียวกันกับการไต่สวนที่คองเกรส สายการบิน United Airlines ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อ Boeing ขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยแก่สายการบิน หลังจากเหตุ Alaska Airlines มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ United Airlines

United Airlines ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Boeing พวกเขามีฝูงบินที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737 Max 9 เช่นกัน ทำให้เมื่อเกิดเหตุกับ Alaska Airlines ฝูงบินนี้ของ United Airlines ถูกระงับสั่งห้ามขึ้นบินไปด้วยและกระทบยาว 3 สัปดาห์ ทางสายการบิน United Airlines ออกมาตำหนิผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผลกระทบต่อเนื่องนี้ทำให้บริษัทสูญรายได้ไปกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) เมื่อไตรมาสแรกของปี 2024

Source

]]>
1470283
ตั๋วแพงยังคงอยู่! ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า “ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย” https://positioningmag.com/1463852 Fri, 23 Feb 2024 11:42:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463852 ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย เนื่องจากหลากหลายปัจจัย ปัญหาดังกล่าวยังทำให้สายการบินได้เครื่องบินล่าช้าลง ส่งผลทำให้ตั๋วยังมีราคาแพงอยู่

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องบินหลายราย กล่าวในงาน Singapore Airshow ซึ่งเป็นงานแสดงด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ว่าปัญหา Supply Chain ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินในช่วงเวลานี้ อาจต้องใช้เวลา 2 ปี สถานการณ์ดังกล่าวถึงจะคลี่คลายลงไปได้

Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินจากทวีปยุโรป ได้กล่าวว่าบริษัทต้องส่งวิศวกรระดับหลายสิบคนเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหา Supply Chain เกิดปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น ขณะที่ Boeing เองก็ต้องเร่งการผลิตเนื่องจากการส่งมอบล่าช้าไปถึง 9 เดือนนับจากเวลาในสัญญาส่งมอบ

บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินหลายแห่ง ได้บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า ระยะเวลาในการจัดหาชิ้นส่วนต่างๆ เช่น โลหะบางชนิดและกระจกบังลมอาจนานขึ้น 2 ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากการผลิตวัสดุการบินและอวกาศลดลง การสูญเสียกำลังคนที่มีทักษะในช่วงโควิด รวมถึงแหล่งผลิตชิ้นส่วนที่ลดลงจากการบุกยูเครนโดยรัสเซีย

ปัญหา Supply Chain ยังกระทบกับบริษัทซ่อมเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่าง Lufthansa Technik ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสายการบิน Lufthansa จากเยอรมัน ที่ต้องกักตุนอะไหล่ซ่อมเครื่องบินมากขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาการรออะไหล่ยาวนาน

Roberto Tonna ผู้บริหารจาก ALA บริษัทบริหารห่วงโซ่อุปทานด้านการบินกล่าวว่า โลหะไทเทเนียมเกรดการบินนั้นประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนักหลังการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งปกติชิ้นส่วนไว้ผลิตเครื่องบินนั้นบริษัทจะได้รับชิ้นส่วนไม่เกิน 40 สัปดาห์ แต่ตัวเลขล่าสุดนั้นยาวนานถึง 72 สัปดาห์

ผู้บริหารจาก ALA ยังมองว่ากว่าที่ Supply Chain จะกลับไปเป็นปกตินั้นอาจใช้เวลา 18-24 เดือนเป็นอย่างน้อย

ความต้องการการเดินทางหลังการแพร่ระบาดโควิดนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ต้องสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยายเครือข่ายและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งปกติแล้วเครื่องบินรุ่นใหม่จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นเก่า

ความล่าช้ายังทำให้หลายสายการบินต้องจำใจหันกลับไปเช่าเครื่องบินรุ่นเก่ากว่า เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบินคาดว่าสถานการณ์เครื่องบินไม่เพียงพอจะคลี่คลายไปได้ต้องรออย่างน้อยถึงปี 2027

ผลที่เกิดขึ้นคือปริมาณเครื่องบินที่ผลิตไม่ทัน ขณะที่สายการบินแม้จะมีความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ ก็ไม่สามารถได้เครื่องบินที่เร็วตามความต้องการ ตรงข้ามกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการเดินทาง แน่นอนว่าราคาตั๋วของสายการบินนั้นราคาอาจยังคงสูงต่อไป

]]>
1463852
การบินไทยประกาศซื้อเครื่องบินจาก Boeing จำนวน 45 ลำ ให้เหตุผลทดแทนเครื่องรุ่นเก่า ดึงส่วนแบ่งการตลาดกลับมา https://positioningmag.com/1462744 Thu, 15 Feb 2024 01:33:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462744 ‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติได้ประกาศซื้อเครื่องบินจาก Boeing จำนวน 45 ลำ โดยเป็นรุ่นลำตัวกว้าง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเครื่องบินมาใช้ผู้ผลิตอย่าง GE Aerospace แทน Rolls-Royce โดยให้เหตุผลเพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ดึงส่วนแบ่งการตลาดกลับมา แต่ไม่กระทบต่อการชำระหนี้ของสายการบิน

การบินไทยประกาศการซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่จาก Boeing เป็นจำนวน 45 ลำ โดยเป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง โดยสายการบินแห่งชาติได้ให้เหตุผลถึงการการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันว่าในการจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่นั้นไม่กระทบกับการชำระหนี้

สำหรับการจัดหาเครื่องบิน 45 ลำดังกล่าว บริษัทได้เซ็นสัญญากับทาง Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา รวมถึง GE Aerospace ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าหากมีการซื้อขายเครื่องบินแล้วเสร็จนั้นจะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินประจำฝูงบิน 96 ลำ ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขในปี 2013 ที่การบินไทยมีฝูงบิน 100 ลำ

ก่อนหน้านี้การบินไทยใช้เครื่องยนต์จาก Rolls-Royce ผู้ผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นจากอังกฤษเป็นหลัก แต่ในรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ได้ชี้ว่า ราคาเครื่องยนต์ไอพ่นจากผู้ผลิตรายดังกล่าวมีราคารวมถึงค่าบำรุงซ่อมแซมที่สูง จึงทำให้การบินไทยได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เจ็ตจาก GE Aerospace แทน

การบินไทยได้ให้เหตุผลถึงการซื้อเครื่องบินชุดใหม่เพื่อที่จะลดข้อจำกัดด้านฝูงบินของบริษัททั้งในเชิงปริมาณและประสิทธิภาพของเครื่องบินในฝูงบิน ซึ่งส่งผลทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่อในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่สนามบินสุวรรณภูมิมีสัดส่วนลดลงจาก 51.3% ในปี 2013 เหลือแค่ 27% ในปี 2023

สายการบินแห่งชาติยังได้ชี้ว่าถ้าหากไม่มีการจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่แล้ว ภายในปี 2033 การบินไทยจะเหลือเครื่องบินที่ประจำฝูงบินแค่ 51 ลำเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อการหารายได้ของสายการบินทำให้เม็ดเงินที่ได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้สินได้

แผนการเงินที่จะนำมาชำระค่าเครื่องบินและเครื่องยนต์นั้น การบินไทยได้เตรียมความพร้อมทางการเงินและคาดการณ์สภาพคล่องในอนาคตว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการชำระค่าเครื่องบินและเครื่องยนต์ ยังรวมถึงการพิจารณาแหล่งเงินทุนและเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเงิน สภาพคล่องของการบินไทย รวมถึงความคุ้มค่าทางการเงิน ซึ่งการบินไทยเปิดกว้างพิจารณารูปแบบการเช่าดำเนินการและเช่าซื้อเครื่องบินในสัดส่วนที่เหมาะสม และการจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

เครื่องบินรุ่นใหม่ของการบินไทยที่ได้สั่งซื้อจาก Boeing จะได้รับมอบในปี 2027 และในปี 2033 และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจะมีการเปิดเผยในงาน Singapore Airshow ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

]]>
1462744
“โบอิ้ง” งานเข้าไม่หยุด! เจอสหภาพแรงงานขอ “ขึ้นค่าจ้าง” 40% ขู่รวมตัว “สไตรค์” หากไม่ตกลง https://positioningmag.com/1461890 Wed, 07 Feb 2024 09:50:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461890 สำนักข่าว Bloomberg รายงานจากแหล่งข่าวจากกลุ่มสหภาพแรงงานการบินว่า พวกเขาต้องการขอ “ขึ้นค่าจ้าง” อีก 40% ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า และหากไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็อาจจะก่อสไตรค์หยุดงานเพื่อกดดันนายจ้าง

“จอห์น โฮลเด้น” ประธาน สมาพันธ์ช่างยนต์และพนักงานด้านการบินสากล หรือ IAM ซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 6 แสนคนในสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวว่า เป้าหมายของสหภาพฯ คือเจรจาสัญญาที่น่าพอใจให้กับเพื่อนสมาชิก

ในบรรดาบริษัทใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบคือ “โบอิ้ง” (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งมีพนักงานในบริษัทกว่า 1.5 แสนคน ทางสหภาพแรงงานหมายมั่นจะให้การเปิดโต๊ะเจรจาครั้งนี้ขึ้นค่าจ้างได้ตามเป้า เพราะการเจรจาครั้งล่าสุดย้อนไปเมื่อปี 2014 นั้นถือว่าทางสหภาพฯ เสียเปรียบจากการที่พนักงานโบอิ้งได้ขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยไม่ถึง 1%

กระแสการสไตรค์ประท้วงขอขึ้นค่าจ้างเกิดขึ้นมาแล้วในสองอุตสาหกรรมใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน ได้แก่ กลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดีทรอยต์ และ กลุ่มนักแสดงและนักเขียนในฮอลลีวูด ซึ่งอาจจะทำให้การประท้วงเกิดขึ้นเป็นโดมิโนในอุตสาหกรรมอื่นๆ บ้าง

ข่าวนี้ถือเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมตัวบริษัทโบอิ้ง เพราะเมื่อเดือนก่อนโบอิ้งเพิ่งจะประสบเหตุเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 Max 9 ของสายการบิน Alaska Airlines เกิดประตูหลุดกลางอากาศ จนทำให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) สั่งระงับไม่ให้เครื่องบินรุ่นนี้ขึ้นบินไปถึง 1 เดือน กว่าจะกลับมาอนุญาตให้บินได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุครั้งนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเครื่องบินของโบอิ้งอย่างมาก แม้แต่ United Airlines สายการบินที่เป็นลูกค้าโบอิ้งรายใหญ่ ยังหันไปพิจารณาแผนในอนาคตว่าอาจจะไม่จัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งตระกูล Max รุ่นต่อๆ ไปอีกแล้ว

Source

]]>
1461890
หน่วยงานกำกับการบินสหรัฐฯ สั่ง Boeing งดเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX ออกไปก่อน https://positioningmag.com/1460226 Thu, 25 Jan 2024 07:02:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460226 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา สั่งให้ Boeing งดเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX ออกไปก่อน หลังจากมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากกรณีเครื่องบิน Boeing รุ่น 737 MAX 9 ของ Alaska Airlines มีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้สั่งให้โบอิ้ง (Boeing) งดเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX ออกไปก่อน ซึ่งเครื่องบินรุ่นดังกล่าว บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากสหรัฐอเมริการายนี้ต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกรณีเครื่องบิน Boeing รุ่น 737 MAX 9 ของ Alaska Airlines มีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง บนความสูง 16,000 ฟุต จนทำให้สายการบินต้องนำเครื่องบินกลับสนามบินต้นทาง และเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้โดยสาร

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ FAA ต้องประกาศมาตรการตรวจสอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทันที ซึ่งแถลงการณ์ของ FAA เมื่อวันที่ 7 มกราคม กล่าวว่า “เราได้สั่งระงับเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบ และเครื่องบินเหล่านี้จะยังคงถูกระงับจนกว่า FAA จะพอใจได้ว่าเครื่องบินเหล่านี้มีความปลอดภัย”

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ FAA ตรวจสอบเครื่องบิน 737 MAX 9 ทั้งหมดทุกสายการบินในสหรัฐอเมริกา และยังทำให้หลายสายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกาต่างตรวจสอบชิ้นส่วนว่ามีปัญหาหรือไม่

Mike Whitake ผู้บริหารสูงสุดของ FAA ได้กล่าวว่า ทางหน่วยงานจะไม่ตกลงกับคำขอใดๆ ของ Boeing ในการขยายการผลิตหรืออนุมัติสายการผลิตเพิ่มเติมสำหรับ 737 MAX จนกว่า FAA จะพอใจว่าปัญหาการควบคุมคุณภาพได้รับการแก้ไขแล้ว

หลังจากนี้ FAA จะเข้าตรวจสอบการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX ของ Boeing ว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐานของหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ และจะมีการสืบสวนต่อผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้ถึงคุณภาพในการผลิตรวมถึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เครื่องบินรุ่น 737 MAX ได้สร้างปัญหาให้กับ Boeing อย่างหนักนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา จากเหตุการณ์สายการบิน Ethiopian และ Lion Air ที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737 MAX 8 ตกในระยะเวลาไล่เลี่ยกันในช่วง 5 เดือน จนทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวต้องจอดทิ้งไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อที่จะตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะสามารถกลับมาบินได้อีกครั้ง

ปัจจุบัน Boeing ผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX ได้ประมาณเดือนละ 38 ลำ บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต โดยคาดว่า David Calhoun ซึ่งเป็น CEO ของ Boeing จะมีการประกาศเป้าหมายการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวภายในช่วงสิ้นเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะโดนเบรกโดย FAA

]]>
1460226
สายการบินหลายแห่งระงับบิน Boeing 737 MAX 9 เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หลังชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ https://positioningmag.com/1457879 Mon, 08 Jan 2024 04:31:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457879 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ประกาศให้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ระงับบินเป็นการชั่วคราว หลังจากที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของ Alaska Airlines มีชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ ปัญหาดังกล่าวนั้นทำให้ CEO ของ Boeing ต้องเตรียมเรียกความมั่นใจกลับมา

สายการบินทั้งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในต่างประเทศ ต่างระงับบินเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 เป็นการชั่วคราว หลังจากเครื่องบินของ Alaska Airlines นั้นมีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับ Boeing อย่างหนัก นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ถูกระงับบินคือ เครื่องบินของ Alaska Airlines เที่ยวบินที่ 1282 ที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นหลัก มีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง บนความสูง 16,000 ฟุต ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญคือประตูฉุกเฉินบริเวณท้ายเครื่องบิน จนทำให้เครื่องบินต้องขอบินกลับสนามบินต้นทาง

เหตุดังกล่าวทำให้ FAA ต้องประกาศมาตรการตรวจสอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทันที ซึ่งแถลงการณ์ของ FAA เมื่อวันอาทิตย์ (7 มกราคม) กล่าวว่า “เราได้สั่งระงับเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบ และเครื่องบินเหล่านี้จะยังคงถูกระงับจนกว่า FAA จะพอใจได้ว่าเครื่องบินเหล่านี้มีความปลอดภัย”

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังค้นหาประตูฉุกเฉินบริเวณท้ายเครื่องบินที่หลุดออกมา เพื่อที่จะนำมาตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าวด้วย

ในสหรัฐอเมริกา สายการบินที่ใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 เป็นหลักได้แก่ Alaska Airlines รวมถึง United Airlines ได้นำเครื่องจอดไว้ตามสนามบินต่างๆ เพื่อตรวจสอบ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวต่อเที่ยวบินของ 2 สายการบินมีมากถึง 600 เที่ยวบิน และยังทำให้ผู้โดยสารมากถึง 25,000 รายได้รับผลกระทบตามไปด้วย

สายการบินอื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกาที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว เช่น Turkish Airlines จากตุรกี สายการบินจากปานามา Copa Airlines หรือแม้แต่สายการบินในเม็กซิโกอย่าง Aeromexico ได้งดใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเพื่อทำการตรวจสอบเครื่องบินเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุดจาก Flightradar24 ไม่มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวใช้งานในประเทศไทยแต่อย่างใด

ทางด้านฝั่งของ David Calhoun ซึ่งเป็น CEO ของ Boeing จากเดิมที่ต้องไปเข้าร่วมงานสัมมนาด้านผู้นำ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารสูงสุดของผู้ผลิตเครื่องบินรายดังกล่าว ต้องเตรียมที่จะแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่เป็นสายการบิน หรือแม้แต่ผู้ใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว

โดย CEO รายดังกล่าวต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่า Boeing สัญญาที่จะผลิตเครื่องบินที่มีความปลอดภัย คุณภาพ หรือแม้แต่ความโปร่งใส ตรงไปตรงมา

เครื่องบินรุ่น 737 MAX ได้มีการนำกลับมาใช้งานอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 2020 หลังจากการตรวจสอบด้านความปลอดภัย และเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้มีการอัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุตก 2 ครั้งในรอบ 5 เดือน

Boeing ได้คาดหวังกับเครื่องบิน Boeing 737 MAX ว่าจะเป็นเครื่องบินรุ่นที่สร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ดีกลับกลายเป็นว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับ Boeing เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นจากลูกค้าสายการบิน หรือแม้แต่ผู้โดยสาร 

ที่มา – BBC, NPR, Fox Business [1], [2]

 

]]>
1457879
CEO ของ Boeing เผย “ปัญหาใหญ่เวลานี้คือเรื่อง Supply Chain ทำให้การผลิตเครื่องบินไม่ทันความต้องการ” https://positioningmag.com/1446194 Fri, 29 Sep 2023 07:21:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446194 ผู้บริหารสูงสุดของ Boeing ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทว่าความต้องการเครื่องบินยังมีสูงมากจากความต้องการที่อัดอั้นมานาน ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การเดินทาง ที่ยังเติบโต แต่บริษัทเองก็พบปัญหาเรื่อง Supply Chain ที่ทำให้การผลิตเครื่องบินไม่ทันด้วย

Dave Calhoun CEO ของ Boeing ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ CNBC ว่า โดยมองถึงความต้องการของเครื่องบินนั้นกลับมา จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังกลับมาเติบโตได้ อย่างไรก็ดีเขาพบว่าปัญหาที่ทุกคนต้องเจอคือเรื่อง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลต่อการผลิตกับบริษัท

เขาชี้ว่ายอดการสั่งซื้อรวมถึงความต้องการเครื่องบินของบริษัทนั้นแข็งแกร่งเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิตการทำงานของเขาขณะเดียวกันเขาก็ยังกล่าวว่าความต้องการที่อัดอั้นมานาน (Pent Up Demand) นั้นกำลังกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การท่องเที่ยว

หัวเรือใหญ่ของ Boeing ได้กล่าวว่า “ปัญหาที่เราทุกคนกำลังต่อสู้อยู่คือ Supply Chain จะฟื้นคืนความยืดหยุ่นที่เคยมีมาก่อนการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างไร เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้”

ตัวเลขในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Boeing สามารถส่งมอบเครื่องบินได้เพียง 35 ลำ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 43 ลำ โดยบริษัทได้ให้เหตุผลถึงเรื่อง Supply Chain ทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากไปกว่านี้

สอดคล้องกับมุมมองของ CEO บริษัทให้เช่าเครื่องบินรายใหญ่อย่าง Aercap ที่กล่าวในเดือนสิงหาคมโดยมองว่าความต้องการเครื่องบินยังสูง แต่ปัญหาคือผู้ผลิตเครื่องบินซึ่งรวมถึง Boeing ไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินได้ทันกับความต้องการ และสายการบินอาจต้องใช้เครื่องบินรุ่นเก่าไปอีกสักระยะ

ความกังวลเรื่องของเครื่องบินที่ประกอบในประเทศจีนอย่าง Comac C919 ที่อาจกลายเป็นคู่แข่ง CEO ของ Boeing มองว่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัท และถ้ามองว่าเครื่องบินจากจีนขึ้นมาเป็นคู่แข่งจริงๆ เขาก็มองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายด้วยซ้ำ เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวยังสูงไปจนถึงปี 2050

เมื่อ CEO ของ Boeing ได้ถูกถามเกี่ยวกับความกลัวที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เขากล่าวว่าความกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่เรื่องความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์รอบๆ ประเทศจีน เขาหวังว่าเรื่องดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลงเล็กน้อย และมองว่าอุตสาหกรรมการบินในจีนจะกลับมาได้

]]>
1446194
‘โบอิ้ง’ เล็งจ้างพนักงานเพิ่ม 1 หมื่นตำแหน่ง หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว https://positioningmag.com/1417099 Sun, 29 Jan 2023 01:55:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417099 ย้อนไป 3 ปีก่อนที่ COVID-19 ระบาดหนัก อุตสาหกรรมการบินถือว่าได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะคนไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ต้องลดคนจำนวนมาก สวนทางกับบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตได้ดีจนจ้างคนเพิ่มจำนวนมาก แต่ดูเหมือนปัจจุบันสถานการณ์จะกลับกัน กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีโละคน แต่อุตสาหกรรมการบินเริ่มกลับมารับคนเพิ่ม

โบอิ้ง (Boeing) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐฯ รายใหญ่ คาดว่าในปี 2023 นี้จะจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 ตำแหน่ง เนื่องจากฟื้นตัวจากโรคระบาดทำให้บริษัทต้องเพิ่มการผลิตเครื่องบินโดยสาร โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้จ้างพนักงานใหม่ถึง 14,000 ตำแหน่ง ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวม 156,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากประมาณ 142,000 คนในปี 2021

สำหรับการจ้างงานใหม่ในปีนี้ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังจะมีพนักงานใกล้กับจำนวนในช่วงก่อนเกิดการระบาดที่มีพนักงานประมาณ 161,000 คน ณ สิ้นปี 2019 จนมาปี 2020 บริษัทได้ลดพนักงานเหลือประมาณ 141,000 คน

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้เเค่เพิ่มจำนวน แต่จำต้องลดจำนวนพนักงานลงในส่วนงานสนับสนุนบางส่วน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ช่วยให้สามารถจัดทรัพยากรเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ส่วนตำแหน่งงานที่จะเพิ่มคนจะเป็นในส่วนของวิศวกรรมและการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสายการบิน

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มการส่งมอบเครื่องบิน 737 MAX จาก 374 ลำในปี 2022 เป็น 400-450 ลำ ในปีนี้ โดยคาดว่าจะส่งมอบเครื่องบิน 787 ได้ระหว่าง 70-80 ลำ

นอกจากนี้ แอร์บัส บริษัทคู่แข่งก็มีแผนจะเพิ่มพนักงาน 13,000 ตำแหน่ง ในปีนี้ โดยตำแหน่งงานประมาณ 7,000 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีพนักงานใหม่ประมาณ 9,000 ตำแหน่งในยุโรป

]]>
1417099
“โบอิ้ง” เตือนทั่วโลกระงับใช้ 777 บางรุ่น หลัง “ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส” เครื่องยนต์ลุกไหม้ https://positioningmag.com/1320336 Mon, 22 Feb 2021 07:53:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320336 โบอิ้งแจ้งเตือนสายการบินทั่วโลกหยุดใช้งานเครื่องบิน 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ 4000 เป็นการชั่วคราว ระหว่างที่สหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนกรณียูไนเต็ดแอร์ไลน์ส เกิดอุบัติเหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้กลางอากาศที่เมืองเดนเวอร์ของสหรัฐฯ

ความเคลื่อนไหวของผู้คุมกฎการบินสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ PW4000 มีขึ้นหลังจากที่เที่ยวบิน 328 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ซึ่งจะพาผู้โดยสาร 231 คนและลูกเรืออีก 10 คนเดินทางจากเดนเวอร์ไปยังโฮโนลูลู เครื่องยนต์ฝั่งขวาเกิดลุกไหม้ และกัปตันได้นำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัยที่ท่าอากาศยานเดนเวอร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.

ยูไนเต็ดได้ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 21 ก.พ. ว่าสมัครใจจะพักงานเครื่องบิน 777 ที่มีอยู่ 24 ลำเป็นการชั่วคราว ก่อนที่ทางโบอิ้งจะออกคำแนะนำระงับใช้งานในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

โบอิ้ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเครื่องบิน 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ PW4000 ให้บริการอยู่รวมทั้งสิ้น 69 ลำ และอีก 59 ลำถูกจอดเก็บ เนื่องจากการเดินทางที่ลดลงในช่วง COVID-19 ระบาด

เครื่องบินที่ได้รับผลกระทบมีทั้งรุ่น 777-200s และ 777-300s ซึ่งสายการบินทั่วโลกเริ่มทยอยปลดระวาง เนื่องจากเป็นรุ่นเก่าและประหยัดเชื้อเพลิงน้อยกว่าอากาศยานรุ่นใหม่ๆ

ภาพถ่ายที่โพสต์โดยตำรวจในเมืองบรูมฟิลด์ รัฐโคโลราโด พบเห็นชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่จำนวนมากตกกระจัดกระจายรอบๆ ชุมชน หนึ่งในนั้นเป็นโลหะรูปวงแหวนขนาดยักษ์ที่ตกลงมานอกบ้านหลังหนึ่ง และยังมีเศษซากอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่บริเวณทุ่งหญ้า

ล่าสุด ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งบนเครื่องบินและบนภาคพื้น

คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) แถลงผลการตรวจสอบเบื้องต้นว่าความเสียหายส่วนใหญ่เกิดเฉพาะที่เครื่องยนต์ด้านขวา ส่วนลำตัวเครื่องบินได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นออกคำสั่งให้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส (JAL) และ เอเอ็นเอ โฮลดิ้ง ระงับใช้ฝูงบินโบอิ้ง 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ PW4000 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่

ANA มีเครื่องบินรุ่นนี้ใช้งานอยู่ 19 ลำ ส่วน JAL มีอยู่ 13 ลำ โดยทาง JAL มีกำหนดปลดระวางเครื่องบิน 777 รุ่นนี้ในเดือน มี.ค. ปี 2022

ทางกระทรวงฯ ยังอ้างถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ปี 2020 ซึ่งเที่ยวบิน JAL ที่กำลังเดินทางจากท่าอากาศยานนาฮะ (Naha) มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติโตเกียว ต้องบินวนกลับมาลงจอดที่ท่าอากาศยานต้นทาง เนื่องจากเครื่องยนต์ด้านซ้ายเกิดขัดข้องหลังเดินทางออกจากสนามบินนาฮะไปทางเหนือได้ประมาณ 100 กิโลเมตร โดยเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับเครื่องบินอายุ 26 ปี ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์สที่ประสบเหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้เมื่อ 2 วันก่อน

Photo : Shutterstock

สำนักงานบริการการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ระบุว่า ยูไนเต็ดเป็นสายการบินอเมริกันเจ้าเดียวที่ยังคงใช้เครื่องบินรุ่นนี้ ทว่ายังมีฝูงบิน 777 ที่ถูกใช้งานอยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ล่าสุด เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ระบุว่ากำลังรอมาตรการที่ชัดเจนจาก FAA ก่อนจะมีคำสั่งไปยังสายการบินของตน โดยคาดว่า FAA จะมีการออกคำสั่งความสมควรเดินอากาศฉุกเฉิน (Emergency Airworthiness Directive) ในอีกไม่ช้านี้

สายการบินโคเรียนแอร์ระบุว่ามีฝูงบินโบอิ้ง 777 รุ่นเดียวกันนี้อยู่ทั้งหมด 16 ลำ โดย 10 ลำอยู่ระหว่างจอดเก็บ โดยบริษัทเตรียมที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

Source

]]>
1320336
Boeing 737 Max กลับมาแล้ว! “สหรัฐฯ” ชาติแรกที่เปิดไฟเขียวให้ทำการบิน https://positioningmag.com/1306870 Thu, 19 Nov 2020 11:53:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306870 Boeing 737 Max เครื่องบินรุ่นเจ้าปัญหาที่ประสบเหตุเครื่องบินตก 2 ครั้งภายใน 5 เดือน และถูกคำสั่งห้ามทำการบินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 ขณะนี้ FAA แห่งสหรัฐฯ อนุญาตให้กลับมาทำการบินแล้ว หลังบริษัทปรับเปลี่ยนดีไซน์และซอฟต์แวร์จนทางการ “มั่นใจ 100%” ว่าปลอดภัย รอดูท่าที “ยุโรป-จีน” จะปลดล็อกหรือไม่

สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) อนุญาตให้เครื่องบิน Boeing 737 Max กลับมาทำการบินได้อีกครั้งหลังถูกสั่งห้ามบินมานาน 20 เดือน โดยต้องมีการเปลี่ยนดีไซน์เครื่องบินและซอฟต์แวร์ให้ถูกต้อง ตามที่ FAA ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นจุดที่ต้องแก้ไขเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงต้องฝึกนักบินใหม่สำหรับเครื่องรุ่นนี้

สตีฟ ดิกสัน หัวหน้า FAA ระบุว่า สำนักงานฯ มีความมั่นใจ 100% ว่าเครื่องบินรุ่นนี้ปลอดภัยแล้วหลังปรับแก้ “เราได้ทำทุกสิ่งที่มนุษย์จะสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าอุบัติเหตุเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” เขากล่าว

“เดวิด คาลฮูน” ประธานและซีอีโอบริษัท Boeing

ด้าน “เดวิด คาลฮูน” ประธานและซีอีโอบริษัท Boeing ย้ำว่า ตั้งแต่เกิดหายนะขึ้นกับเครื่องรุ่นนี้ บริษัทได้ขันน็อตระเบียบปฏิบัติและวัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น “เราจะไม่ลืมทุกชีวิตที่สูญเสียไปในโศกนาฏกรรมทั้งสองครั้ง ซึ่งทำให้เราตัดสินใจหยุดการผลิต” คาลฮูนนั้นเป็นประธานคนใหม่ที่เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งปีก่อน หลังจาก “เดนนิส มุยเลนเบิร์ก” ซีอีโอคนก่อนถูกไล่ออกเซ่นหายนะจากเครื่องบินรุ่นนี้

“เหตุการณ์เหล่านี้และบทเรียนที่ได้รับได้เปลี่ยนแปลงบริษัทของเรา และทำให้เรามุ่งจุดสนใจไปที่คุณค่าหลักของบริษัทคือความปลอดภัย คุณภาพ และความซื่อสัตย์” คาลฮูนกล่าว

 

ครอบครัวเหยื่อผิดหวังกับการตัดสินใจ

เครื่องบินรุ่น 737 Max ของ Boeing เป็นโมเดลที่สายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines นำมาใช้งานช่วงปลายปี 2018 และกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อมี 2 เที่ยวบินที่ใช้เครื่องนี้ตกติดๆ กันภายในรอบ 5 เดือน มีผู้เสียชีวิตรวม 346 ราย ในที่สุดเครื่อง 737 Max จึงถูกสั่งหยุดบินไปเมื่อเดือนมีนาคม 2019

สำนักข่าว BBC รายงานจากมุมมองของครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตว่า “รู้สึกค่อนข้างผิดหวัง” กับการตัดสินใจของ FAA และพวกเขาไม่มีความมั่นใจในหน่วยงานผู้คุมกฎการบินหรือบริษัท Boeing ซึ่งพยายามจะชี้ว่าอุบัติเหตุนี้เกิดจากความผิดพลาดของนักบินและยังคงสู้คดีกับครอบครัวของเหยื่อในชั้นศาล

ตั้งแต่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น Boeing ถูกตั้งคำถามเรื่องวัฒนธรรมองค์กรในการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นหลัก และ FAA ก็เช่นกัน กลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะยืนหยัดต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ได้หรือไม่ เมื่อพวกเขาเคยปล่อยให้เครื่องบินที่มีปัญหาอย่างหนักขึ้นบินมาแล้ว

 

สายการบินไหนจะกลับมาใช้ 737 Max

สำหรับสายการบินที่สั่งซื้อเครื่องและจะนำ 737 Max กลับมาบินใหม่ ขณะนี้มี American Airlines ที่ประกาศแล้วว่าจะเริ่มนำขึ้นบินอีกครั้งวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ส่วน United Airlines และ Southwest Airlines ประกาศว่าจะนำขึ้นบินปีหน้า

อย่างไรก็ตาม มีเสียงตอบรับทางลบจากนักเดินทางเช่นกันว่า หากสายการบินนำเครื่องรุ่นนี้กลับมาบิน ควรจะต้องแจ้งให้ผู้โดยสารที่ทำการจองเที่ยวบินไปแล้ว แต่มาทราบทีหลังว่าจะเปลี่ยนรุ่นเครื่องบินในการเดินทาง สามารถขอเปลี่ยนไฟลท์บินได้ฟรี เพราะแม้ว่าจะได้รับการรับรองมาแล้วแต่เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นต้องใช้เวลาในการเรียกความมั่นใจกลับมา

 

รอดูยุโรป-จีนจะปลดล็อกหรือไม่

สำนักงานด้านการบินแห่งต่อไปที่น่าจับตาคือ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ว่าจะปลดล็อกให้ Boeing 737 Max ขึ้นบินด้วยหรือไม่

โดย สำนักข่าว Reuters รายงานว่าสำนักงานด้านการบินอื่นๆ ทั่วโลกกำลังรอดูท่าทีของ EASA เพราะถือเป็น
สำนักงานที่ถ่วงดุลกับ FAA ได้อย่างเท่าเทียม ในฐานะผู้ใกล้ชิดกับบริษัท Airbus แห่งฝรั่งเศส คู่แข่งของ Boeing ดังนั้น EASA จึงเข้าตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของ 737 Max อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

อีกประเทศหนึ่งที่สำคัญมากในการให้การรับรอง 737 Max คือ “จีน” เพราะเป็นเจ้าตลาดใหญ่ของสายการบินไปแล้ว รวมถึงจะเป็นอิทธิพลสำคัญต่อสายการบินเอเชียนอื่นๆ ด้วย และเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า เนื่องจาก Boeing เป็นบริษัทอเมริกัน เครื่อง 737 Max อาจจะเป็นตัวประกันใหม่ของจีนในการต่อรองทางการเมืองกับสหรัฐฯ

“เรากังวลว่าเรื่องนี้อาจจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือกดดันชิ้นใหม่ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับจีน” เบอร์เก็ต ฮูอี้ นักวิเคราะห์จาก Morningstar กล่าว “อย่างไรก็ตาม เรามองกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงและลดระดับการแข่งขันในเชิงนโยบายการค้า ดังนั้น ก็อาจจะเพิ่มโอกาสให้ทางการจีนยอมรับรองการใช้เครื่องบินรุ่นนี้อีกครั้ง”

Source: BBC, Reuters

]]>
1306870