Kering ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หรูหลายยี่ห้อได้แจ้งกับนักลงทุนก่อนที่ผลประกอบการในไตรมาส 1 จะออกมาในเดือนเมษายนว่า ยอดขายแบรนด์หรูอย่าง Gucci ในทวีปเอเชียอาจลดลงถึง 20% ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากยอดขายชะลอตัวลงจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน
ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หรูจากฝรั่งเศสรายนี้ได้ชี้ว่ายอดขายทวีปเอเชียในไตรมาส 1 ของปี 2024 ของ Gucci จะลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หรูหลายยี่ห้อจากฝรั่งเศสรายนี้ต้องแจ้งนักลงทุนล่วงหน้า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลงกว่าคาด แม้ว่าในปีที่ผ่านมา GDP ของจีนจะเติบโตมากถึง 5.2% ก็ตาม แต่เศรษฐกิจจีนเองก็ยังพบกับความท้าทายจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ข้อมูลจากปี 2022 ที่ผ่านมา Gucci เป็นแหล่งรายได้สำคัญมากถึง 51% ของรายได้รวมทั้งหมดของ Kering ซึ่งถ้าหากแบรนด์ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องยอดขายตกย่อมส่งผลทันทีต่อบริษัท
ขณะที่ตลาดแดนมังกรมีสัดส่วนต่อรายได้ของ Gucci มากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้รวมของ Gucii ซึ่งถ้าหากตลาดสินค้าหรูแดนมังกรประสบปัญหาจากสภาวะเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายรวมของ Kering ไม่น้อย ซึ่งในปี 2023 นั้น Kering มีกำไรลดลงถึง 17% เมื่อเทียบกับปี 2022 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากยอดขายฝั่งเอเชียที่ลดลง
ในช่วงที่ผ่านมา หลายแบรนด์หรูได้เน้นเจาะตลาดจีน โดยคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้และผลกำไรให้กับบริษัทไม่น้อยนอกจากตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดหลักของสินค้าหรูอยู่แล้ว ซึ่งหลายบริษัทเองได้มีการเร่งขยายธุรกิจในจีนอย่างมาก
อย่างไรก็ดี หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดตลาดสินค้าหรูในจีนกลับไม่ฟื้นตัวอย่างที่หลายบริษัทคาดไว้ จนทำให้หลายบริษัทเองต้องกระจายรายได้โดยการหาลูกค้าที่สนใจสินค้าหรูทั่วโลกแทน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้รายได้กลับมาเติบโตแทน
]]>Michael Kors และ Kate Spade กำลังจะกลายเป็นพี่น้องกัน โดยบริษัท Tapestry Inc. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าลักชัวรี่อย่าง Kate Spade และ Coach ว่าบริษัทได้ซื้อกิจการ Capri Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Michael Kors และ Versace ในมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3 แสนล้านบาท เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันกับแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์จากยุโรปได้ดีขึ้น
ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2024 โดยเมื่อธุรกิจควบรวมกันแล้วเสร็จจะประกอบด้วย 6 แบรนด์ ที่ส่งเสริมกันอย่างมากและเข้าถึงได้ทั่วโลก ซึ่งบริษัทเชื่อว่ายอดขายต่อปีหลังจากควบรวมจะมีมูลค่ามากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายสินค้าในกว่า 75 ประเทศ นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันในช่วง 3 ปีหลังจากปิดดีล จะช่วยให้ลดต้นทุนได้ 200 ล้านดอลลาร์
“การรวมตัวกันของ Coach, Kate Spade และ Stuart Weitzman ร่วมกับ Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors จะกลายเป็นกลุ่มสินค้าลักชัวรี่ที่ทรงพลังแห่งใหม่ ปลดล็อกโอกาสพิเศษในการขับเคลื่อนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภค พนักงาน ชุมชน และผู้ถือหุ้นทั่ว” Joanne Crevoiserat CEO ของ Tapestry กล่าวในแถลงการณ์
โดยเจาะไปภายใต้ข้อตกลงพบว่า ผู้ถือหุ้นบริษัท Capri จะได้รับ 57 ดอลลาร์/หุ้น และมูลค่าหุ้นพุ่งขึ้น 60% ในช่วงต้นของการซื้อขาย ขณะที่หุ้นของ Tapestry ตกไปเกือบ 6%
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทได้เปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ เนื่องจากพวกเขาต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์แฟชั่น โดย Coach เปลี่ยนชื่อแม่เป็น Tapestry ในปี 2017 และ Michael Kors เปลี่ยนเป็น Capri หลังจากซื้อ Versace ในปี 2018 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ระบุว่าชื่อ Tapestry จะยังคงอยู่หรือไม่หลังจากการปิดการซื้อกิจการ
การที่ทั้งสองแบรนด์มีการขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Neil Saunders กรรมการผู้จัดการของ GlobalData มองว่า แม้ว่าบริษัทใหม่จะไม่มีชื่อเสียงหรือใหญ่โตเหมือนบริษัทในยุโรป แต่ก็จะมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดสินค้าลักชัวรี่ และเพื่อให้สามารถสู้กับแบรนด์จากยุโรปได้ ทั้ง 2 จึงเลียนแบบกลุ่ม LVMH และ Kering ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดูแลแบรนด์ที่ดึงดูดกลุ่มต่าง ๆ ของตลาด
“การรวมกลุ่มสินค้าลักชัวรี่ช่วยให้มีการจัดการร่วมกันและความสามารถในการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง ซึ่งสามารถใช้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”
สำหรับกลุ่มบริษัท LVMH ของฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าลักชัวรี่ 75 แบรนด์ อาทิ Louis Vuitton, Dior, Tiffany & Co. แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติสหรัฐฯ ส่วนบริษัท Kering เป็นบริษัทแม่ของ Gucci และ Saint Laurent และเมื่อเดือนก่อนบริษัทได้ซื้อหุ้น 30% ในกิจการของ Valentino
ย้อนไปช่วง Q2/2023 ที่ผ่านมา ตลาดสินค้าลักชัวรี่ในสหรัฐอเมริกาได้ชะลอตัวลง โดย Jean-Jacques Guiony ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ LVMH กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ยอดขายของกลุ่ม LVMH ในสหรัฐฯ ลดลง 1% ดังนั้น การชะลอตัวดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนที่สร้างแรงกดดันให้กับ Tapestry และ Capri ซึ่งทั้งสองอย่างนี้กำลังมองหาตลาดต่างประเทศเพื่อหนุนการเติบโต
]]>ข้อมูลงานวิจัยจาก Jennifer Jordan นักจิตวิทยาสังคมและศาสตราจารย์ด้านความเป็นผู้นำและพฤติกรรมองค์กรจาก IMD สถาบันการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ เธอศึกษาเกี่ยวกับ “บอร์ดบริหารเงา” (Shadow Board) กลยุทธ์ที่หลายองค์กรนำมาใช้งานในระยะหลัง และพบว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการผ่าทางตันองค์กร
บอร์ดบริหารเงานั้นสามารถแก้ปัญหาแบบ ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว’ เพราะแก้ได้ทั้งประเด็น “การไม่ได้มีส่วนร่วมของคนยุคมิลเลนเนียล” และประเด็น “บอร์ดบริหาร (รุ่นเก่า) ไม่สามารถตามทันเงื่อนไขในตลาดที่เปลี่ยนเร็วได้”
Jordan พบว่า บอร์ดบริหารเงาสามารถนำมาใช้แก้โจทย์ได้ทั้งปัญหาการประกอบสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่, การทรานสฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร, การเปลี่ยนวิธีการทำงาน ฯลฯ และทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ “ศักยภาพสูง” ไม่ถูกจำกัดการทำงานไว้
“บอร์ดบริหารเงา” คืออะไร? สิ่งนี้คือ การตั้งทีมพนักงานรุ่นใหม่ที่ไม่มีตำแหน่งระดับบริหารให้ขึ้นมาทำงานกับผู้บริหารอาวุโส เพื่อมาช่วยคิด ช่วยออกไอเดียเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กร โดยอาศัยข้อมูลอินไซต์ของคนที่เด็กกว่ามาสร้างมุมมองที่หลากหลายให้กับผู้บริหารตัวจริง
จากการรวบรวมข้อมูล Jordan พบกรณีตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าบอร์ดบริหารเงาแก้ไขปัญหาได้หลายด้าน ดังนี้
ย้อนไปช่วง 7 ปีก่อนหน้านี้ ภายใต้การนำของ Mario Bizzarri ซีอีโอของ Gucci เล็งเห็นสถานการณ์ในตลาดสินค้าลักชัวรีที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในปี 2015 เขาจึงทรานสฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้แบรนด์ยังแข่งขันได้ในตลาดปัจจุบัน
สิ่งที่ Gucci ใช้คือ บอร์ดบริหารเงาที่ประกอบด้วยคนยุคมิลเลนเนียลจากแผนกต่างๆ โดยเลือกคนที่มีศักยภาพสูงสุดในองค์กรมาเข้าร่วม Bizzarri ยังกล่าวด้วยว่า “หลายคนในนั้นยังเด็กมากๆ”
บอร์ดบริหารเงาจะเข้าพบกับบอร์ดอาวุโสตัวจริงเป็นประจำ เพื่อพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่บอร์ดอาวุโสกำลังเผชิญอยู่ และอินไซต์จากเด็กเหล่านี้ “กลายเป็นสัญญาณปลุกให้ตื่นสำหรับผู้บริหาร”
เราจะเห็นว่า Gucci สามารถปรับแบรนด์ให้เข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ได้ ผ่านการใช้กลยุทธ์การตลาดบนโลกดิจิทัล กลยุทธ์นี้ส่งผลต่อยอดขายจริง จากปี 2014 บริษัททำรายได้ 3,497 ล้านยูโร มาถึงปี 2018 พวกเขาทำยอดขาย 8,285 ล้านยูโร ในเวลา 4 ปี ยอดขายโตขึ้นถึง 136%
เพื่อเทียบให้เห็นภาพ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Prada ทำยอดขายลดลง -11.5% ในช่วงปี 2014-2018 โดย Patrizio Bertelli ซีอีโอร่วมของบริษัทยอมรับความผิดพลาดว่า บริษัทช้าเกินไปที่จะเข้าใจความสำคัญของช่องทางดิจิทัล บล็อก และอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์ ซึ่งเข้ามาดิสรัปต์อุตสาหกรรม
ในช่วงที่ Airbnb กำลังบูมจนสะเทือนวงการธุรกิจโรงแรมดั้งเดิม AccorHotels จึงมองว่า บริษัทต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มาสู้ หลังจากผู้บริหารส่งปัญหาให้ฝ่ายการตลาดช่วยแก้ โดยให้พัฒนาแบรนด์ใหม่ที่เหมาะกับคนยุคมิลเลนเนียล แต่ผ่านไปถึง 2 ปีแล้วฝ่ายการตลาดก็ยังคิดไอเดียเด็ดๆ ออกมาไม่ได้
ในที่สุด Arantxa Balson ประธานบริหารด้านทาเลนต์และวัฒนธรรมองค์กร จึงเสนอโปรเจ็กต์ให้มีบอร์ดบริหารเงาขึ้น และจากโปรเจ็กต์นี้ แบรนด์โรงแรม Jo&Joe จึงถือกำเนิด แบรนด์นี้เกิดมาเพื่อเป็น “ที่พักในเมืองของคนมิลเลนเนียล” เน้นการสื่อสารด้านความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น และชุมชนที่แข็งแรง ใช้คอนเซ็ปต์ ‘open house’ คล้ายกับการอยู่โฮสเทลที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา
Balson บอกว่า บอร์ดบริหารเงาทำสำเร็จในเรื่องนี้เพราะพวกเขาได้โฟกัสกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง พัฒนาโปรเจ็กต์จากมุมมองของตนเป็นหลัก และไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องการบริหารภายในหรืองบประมาณที่จำกัด
Stora Enso เป็นบริษัททำกระดาษและบรรจุภัณฑ์ในฟินแลนด์ พวกเขาตั้งทีมบอร์ดบริหารเงาโดยใช้ชื่อว่า Pathfinders และ Pathbuilders เพื่อมาเป็น ‘ผู้ตรวจสอบ’ วิธีสั่งงานของกลุ่มผู้บริหาร
หลังจากตรวจสอบแล้วทีมบริหารเงาเห็นว่า วิธีทำงานของบอร์ดอาวุโสจะส่งงานหนึ่งๆ ให้ทีมงานที่บอร์ดเห็นว่ามีความเชี่ยวชาญที่สุดก่อน แต่บอร์ดบริหารเงาเห็นว่านี่เป็นการใช้อคติส่วนตัวในการเลือกคนทำงาน และขอให้เปลี่ยนวิธีมาส่งงานให้กับกลุ่มที่ยังไม่เชี่ยวชาญบ้างเพื่อให้เกิดโอกาสสร้างการพัฒนาแบบใหม่
จากนั้นมีโครงการหนึ่งที่ผู้บริหารต้องการให้ลดเวลาการผลิตตลอดซัพพลายเชน ซึ่งทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทีมใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านซัพพลายเชนถูกส่งให้มารับไม้ต่อ และพวกเขากลับทำแผนงานออกมาได้ภายในเวลา 6 เดือน
CVL Srinivas ซีอีโอบริษัท GroupM อินเดีย ต้องการทรานสฟอร์มวัฒนธรรมและดิจิทัลในองค์กร ภายในเวลา 3 ปี เขาจึงตั้งสิ่งที่เรียกว่า YCO (Youth Committee) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 ทีมนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้าง Vision 3.0 ให้กับ GroupM คิดเรื่องการขับเคลื่อนอนาคตโดยใช้ดิจิทัลเป็นศูนย์กลาง
ทีมบริหารเงานี้จะไปอยู่กับทุกแผนก เพื่อสร้างรากฐานการทำให้เป็นดิจิทัลกับทุกๆ ส่วน และไม่ใช่แค่ภายในองค์กรแต่ต้องทำให้ทั้งระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องเป็นดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะกลุ่มสื่อ ผู้ให้บริการดาต้า ที่ปรึกษา ผู้ตรวจสอบบัญชี จนถึงสตาร์ทอัพ รวมถึงทีมนี้ยังสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียภายในองค์กรชื่อ Yammer ขึ้นมา เพื่อให้ระดับผู้บริหารกับพนักงานระดับล่างๆ ลงมาสามารถสนทนากันได้
1) ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นมิลเลนเนียล
งานวิจัยพบว่า คนยุคมิลเลนเนียลกระหายการมีส่วนร่วมและได้รับการมองเห็น ทำให้บอร์ดบริหารเงาตอบโจทย์ได้ดี และเป็นหนทางไปสู่ความก้าวหน้าแก่สมาชิกทีม
ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในทีมเงาของ Stora Enso เมื่อแรกเริ่มเข้าทีมเธอเป็นพนักงานระดับหัวหน้าทีมด้านการเงิน แต่จากศักยภาพที่ปรากฏ ทำให้เธอได้รับการโปรโมตเป็นผู้อำนวยการแผนกงานขายของเซกเมนต์ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใหญ่ที่สุด ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังโปรแกรมบอร์ดบริหารเงาสิ้นสุดลง ซึ่งการโปรโมตที่ก้าวกระโดดขนาดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีโปรเจ็กต์บอร์ดบริหารเงา
2) ควรใช้ขั้นตอนการคัดเลือกที่เปิดกว้าง
แม้ว่าบางแห่งบอร์ดอาวุโสจะเป็นคนคัดเลือกบอร์ดบริหารเงาเองโดยเลือกจากทาเลนต์ที่เห็นได้ชัด แต่จากเคสของ Stora Enso มีการเปิดกระบวนการสมัครแบบ open-application ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ก็สามารถสมัครได้หมด ซึ่งทำให้ ‘เพชรในตม’ ถูกค้นพบ
น่าสนใจว่า บริษัททำการทดลองของตัวเองด้วย โดยการให้ผู้สมัครที่ถูกมองเป็นกลุ่มศักยภาพสูง 40 อันดับแรก (เรียกง่ายๆ ว่าเป็นตัวเต็งที่จะเข้าทีม) ทำการแข่งขันกับพนักงานที่สมัครเข้ามาเองผ่านระบบ open ดังกล่าว ปรากฏว่าในทักษะบางประเภท กลุ่มที่สมัครมาเองกลับทำได้ดีกว่าตัวเต็งด้วยซ้ำ เช่น ทักษะด้านงานวิเคราะห์ดาต้า, การเข้าใจความหมายเชิงลึกหรือโดยนัย และการทำงานเป็นทีม
3) ผู้บริหารระดับสูงต้องมีส่วนร่วม
บอร์ดบริหารเงาจะไม่มีผลใดๆ เลยถ้าระดับท็อปขององค์กรไม่สนับสนุน (หลายครั้งโปรเจ็กต์แบบนี้ตันอยู่แค่ในงานของฝ่าย HR) ตัวอย่างเช่น AccorHotels ซีอีโอ Sebastian Bazin จะเป็นผู้สัมภาษณ์ทีมบริหารเงาเอง และเข้าพูดคุยกับทีมเองเป็นระยะๆ หรือที่ Stora Enso สมาชิกบอร์ดบริหารเงาจะรายงานตรงกับซีอีโอ
]]>
LYST Index จัดอันดับ แบรนด์แฟชั่นที่ “ร้อนแรง” ที่สุดเป็นประจำทุกไตรมาส โดยวัดภาพรวมจากยอดขาย พฤติกรรมผู้ซื้อ จนถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น การค้นหาใน Google จำนวนการพูดถึงและปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์บนโซเชียลมีเดีย นำดาต้ามาเรียงเป็นอันดับแบรนด์พร้อมไฮไลต์ความเคลื่อนไหวที่ส่งให้แบรนด์ ‘ปัง’ ในไตรมาส
ที่ผ่านมา
สำหรับไตรมาส 1 ปี 2021 “10 แบรนด์แฟชั่นที่ร้อนแรงที่สุด” จากการจัดอันดับโดย LYST Index ได้แก่
แบรนด์ Gucci ยังคงรั้งอันดับ 1 ต่อเนื่องจากเมื่อไตรมาส 4/2020 ช่วงที่ผ่านมาแบรนด์นี้เป็นที่พูดถึงอย่างมากจากคอลเลกชัน collab กับแบรนด์ The North Face เสื้อแจ็กเก็ตบอมเบอร์ที่ออกแบบร่วมกันขายหมดอย่างรวดเร็ว และในงานประกาศผลรางวัล Grammys หลังศิลปินดัง Billie Ellish และ Harry Styles เลือกสวมใส่ชุดแบรนด์นี้เข้างาน สร้างกระแสบนอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ Gucci ยังอยู่ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ House of Gucci ฉลองครบรอบ 100 ปี โดยมี Lady Gaga กับ Adam Driver แสดงนำ
กระโดดขึ้นมาจากอันดับ 11 เมื่อไตรมาส 4/2020 เป็นที่พูดถึงจากสนีกเกอร์รุ่นใหม่ที่ ‘ไม่ต้องใช้มือจับในการสวมใส่’ เหมาะสำหรับทุกคน รวมถึงยอดขายของ Nike ผ่านช่องทางดิจิทัลที่เติบโตขึ้นถึง 59% ส่งให้แบรนด์พุ่งทะยาน
หน้าใหม่ที่เข้ามาติดในลิสต์ (ก่อนหน้านี้ LYST Index ไม่รวม Dior ไว้ในการจัดอันดับ) อันดับของ Dior พุ่งขึ้นจากการแต่งตั้ง “Kim Ji-Soo” แห่งวง Blackpink เป็นแอมบาสเดอร์ระดับโลก
นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นบนโลกดิจิทัล เช่น การเปิดตัวคอลเลกชัน F/W’21 แบบเสมือนจริงจากพระราชวังแวร์ซายส์ หรือการเปิดตัวฟีเจอร์บน Snapchat ให้ลูกค้าทดลองสวมสนีกเกอร์ด้วย AR LYST ระบุว่า Dior จะเป็นแบรนด์มาแรงที่มาเขย่าบัลลังก์ Gucci ในไม่ช้า
อันดับของแบรนด์หย่อนลงมาเล็กน้อยจากอันดับ 2 เมื่อไตรมาส 4/2020 แต่ยังคงถูกพูดถึงในเชิงบวกจากนโยบายของ Kering บริษัทแม่ ซึ่งประกาศว่าแบรนด์จะไม่ใช้ขนสัตว์เป็นส่วนประกอบโดยเด็ดขาด
ลงมาจากอันดับ 3 เมื่อไตรมาส 4/2020 แต่ทำผลงานได้ดีในส่วนอีคอมเมิร์ซที่โตแบบดับเบิลดิจิต และได้สปอตไลต์จากแจ็กเก็ตรุ่นใหม่ Born to Project ซึ่งทำจากวัสดุรีไซเคิล (Moncler เป็นแบรนด์หรูจากอิตาลีที่ก่อตั้งเมื่อปี 1952 โด่งดังจากการทำชุดสกี)
ลงมาเล็กน้อยจากอันดับ 5 เมื่อไตรมาส 4/2020 แต่โดดเด่นมากในการทำยอดขายออนไลน์ซึ่งเติบโตมากกว่า 200% ในช่วงปี 2020 ทั้งปี
อีกหนึ่งแบรนด์ที่เพิ่งเข้ามาติดลิสต์ LYST เช่นเดียวกับ Dior แบรนด์ฝรั่งเศสรายนี้เปิดตัวคอลเลกชัน F/W’21 แบบเสมือนจริง แต่จัดในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ Louis Vuitton ยังเลือก “Naomi Osaka” นักกีฬาเทนนิสหญิงให้เป็นแอมบาสเดอร์คนใหม่ด้วย
ลงมาจากอันดับ 7 ในไตรมาสที่แล้ว แต่ในด้านยอดขาย Bottega Veneta ถือว่ายังทำได้ดี เพราะตลอดปี 2020 รายได้ยังคงเติบโต
แบรนด์นี้ยังขยับลูกเล่นใหม่บนโลกออนไลน์ โดยจะผลิตนิตยสารดิจิทัลรายไตรมาส แทนที่บัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์ที่ถูกลบหายเกลี้ยงเมื่อปีก่อน ฉบับแรกเปิดตัวแล้วโดยนำ Missy Elliot แรปเปอร์หญิงผิวสีเป็นคนดังคนแรกในนิตยสาร
หล่นลงมาจากอันดับ 6 เมื่อไตรมาสก่อน ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแบรนด์มีการเปิดตัวภาพยนตร์สำหรับคอลเลกชัน S/S’21 กำกับโดย Gaspar Noe นักทำหนังชาวอาร์เจนตินาในฝรั่งเศส
หล่นแรงจากอันดับ 4 เมื่อไตรมาสก่อน แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ ‘I support Black women’ จนถึงการทำสนีกเกอร์ collab กับ Nike รวดเดียว 7 แบบก็ตาม
LYST Index ยังมีแบรนด์แฟชั่นสุดร้อนแรงลำดับที่ 11-20 ของไตรมาส 1/2021 ด้วย ได้แก่ Versace, Burberry, Fendi, Valentino, Alexander McQueen, LOEWE, Givenchy, Jacquemus, Balmain และ Stone Island
รวมถึงมีไอเทมแฟชั่นที่ร้อนแรงเป็นที่ต้องการ แม้ว่าแบรนด์นั้นจะไม่ติด Top 20 เช่น กระเป๋ารุ่น Kelly ของ Hermes, หมวกทรงบัคเก็ต Adidas x Ivy Park, รองเท้า Yeezy 450 จาก Adidas, นาฬิกา Submariner 40mm จาก Rolex เป็นต้น
LYST ปิดท้ายรายงานว่า สถานการณ์ตลาดแฟชั่นขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาลงจากเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การเดินทางท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และการระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่ยังเล่นงานทวีปยุโรป
แต่ปัจจัยบวกคือสัญญาณที่ดีจากการกระจายวัคซีน สะท้อนสู่ดีมานด์ที่ค้างอยู่สำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อการเดินทางหรือออกนอกบ้าน เช่น รองเท้าส้นสูง ชุดเดรส ซึ่งมีการค้นหาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 163% และ 222% ตามลำดับ หลังจากที่ผ่านมา กลุ่มเสื้อผ้าสวมใส่สบายจะขายดีมากกว่า
]]>Gucci เป็นแบรนด์สำคัญในพอร์ตของบริษัท Kering ประเทศฝรั่งเศส และเป็นแบรนด์ล่าสุดที่ตอบรับเข้าร่วมเปิดสโตร์ออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Tmall Luxury Pavilion แพลตฟอร์มที่เปิดจำหน่ายเฉพาะแบรนด์สินค้าหรู
และเป็นหนึ่งในเครือบริษัท Alibaba
แบรนด์ดัง Gucci จะแยกสโตร์ออกเป็น 2 ร้าน คือ กลุ่มแฟชั่น-เครื่องหนัง จะเปิดตัววันที่ 21 ธันวาคมนี้ ส่วนอีกร้านหนึ่งจะเป็น กลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง เตรียมเปิดตัวเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และบริหารโดยพาร์ตเนอร์คือบริษัท Coty ก่อนหน้านี้ Gucci มีเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของตนเองอยู่แล้วคือ gucci.cn และมีการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียคือ Weibo และ WeChat แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดขายผ่านมาร์เก็ตเพลซจีน
Tmall Luxury Pavilion นั้นเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2017 ลักษณะเป็นเหมือนฟีเจอร์ภายในแอปพลิเคชัน Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าแบบ B2C อยู่แล้ว แต่กลุ่ม Luxury Pavilion นั้นจะขายเฉพาะแบรนด์หรู และร้านที่จะได้เปิดขายต้องได้รับเชิญเข้ามาเท่านั้น ปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 200 แบรนด์ที่เปิดสโตร์แล้ว เช่น Coach, Balmain, Salvatore Ferragamo, Burberry, Hugo Boss, De Beers เป็นต้น
การขายสินค้าหรูบนโลกออนไลน์อาจจะดูเหมือนยังไปด้วยกันไม่ได้ แต่ในประเทศจีนนั้นตลาดมีความแตกต่าง โดยพื้นฐานแล้วลูกค้าจีนจะช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านมือถือเป็นสัดส่วนที่มากยิ่งกว่าสหรัฐฯ หรือยุโรป ทำให้กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจมากขึ้นในแง่การขายออนไลน์
โดยเฉพาะปีนี้ที่ COVID-19 ระบาดหนัก ประเทศจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดของกลุ่มสินค้าหรูที่ยังกลับมาเติบโตได้และช่องทางอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางสำคัญ ทำให้แบรนด์ลักชัวรีต่างถูกบีบให้มุ่งความสนใจไปที่อีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ยังได้เห็นการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เด็กลง เพราะเป็นกลุ่มที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาใช้จ่ายมากที่สุดหลัง COVID-19
ก่อนหน้าจะเกิด COVID-19 ระบาด ประเทศจีนเป็นตลาดที่ครองมาร์เก็ตแชร์ฝั่งผู้ซื้อสูงถึง 35% ในตลาดสินค้าลักชัวรีอยู่แล้ว โดยบริษัทที่ปรึกษา Bain ประเมินว่า จนถึงปี 2025 ประเทศจีนจะเพิ่มส่วนแบ่งฝั่งผู้ซื้อสินค้าลักชัวรี ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า และเครื่องเพชร มากถึงเกือบ 50% ของทั้งโลก
]]>จากรายงานของ Mordor Intelligence ระบุว่า ตลาดเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย มีแนวโน้มที่จะเติบโตถึง 5.7% ในระหว่างปี 2020 – 2025 ปัจจัยหลักๆ มาจากความนิยมของแฟชั่นสายสตรีท หรือเสื้อผ้ากลุ่ม Streetwear ที่กำลังมาเเรงในยุคนี้ รวมถึงเทรนด์ชุดกีฬาที่มีการสวมใส่ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชายมี “ทางเลือก” ในการเเต่งตัวมากขึ้นและตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่มักจะจำกัดเเค่ชุดสูทหรือเสื้อเชิ้ตแบบทั่วไป
ด้วยการเติบโตของเสื้อผ้าผู้ชาย ที่คาดว่าจะตามทันเสื้อผ้าผู้หญิงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แบรนด์เเฟชั่นไฮเอนด์รายใหญ่ อย่าง Prada, Gucci และ Dior ปรับรับเทรนด์ใหม่นี้ด้วยการเริ่มเปิดสาขาที่เน้นขายเครื่องเเต่งกายผู้ชายมากขึ้น
ล่าสุดเเบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton เตรียมเปิด Flagship Store จำหน่ายเฉพาะสินค้าสำหรับ “ผู้ชาย” เป็นครั้งเเรก นำร่องที่ญี่ปุ่น เเม้ตามสาขาทั่วไปของเเบรนด์จะมีสินค้าผู้ชายวางขายอยู่เเล้วก็ตาม เเต่ครั้งนี้จะเป็นการเปิดสาขาที่ขายสินค้าของผู้ชายโดยเฉพาะ
สาขาดังกล่าวจะตั้งอยู่ในย่านเเฟชั่นสำคัญอย่าง มิยาชิตะปาร์คในชิบูย่า ของกรุงโตเกียว มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ โดยสินค้าภายในร้านจะมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ น้ำหอม รวมถึงคอลเลกชั่นพิเศษต่างๆ
ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ผู้ที่จะเข้าไปเยี่ยมชม Flagship Store สาขานี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing โดยจะต้องลงทะเบียนจองล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ของ Louis Vuitton ก่อน เพื่อจำกัดจำนวนลูกค้า ให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ
Louis Vuitton หันมาให้ความสำคัญกับตลาดเสื้อผ้าผู้ชายอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการทุ่มลงทุนครั้งใหญ่ด้วยการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน Streetwear อย่าง Virgil Abloh มานั่งตำเเหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ นำทัพสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย ซึ่งเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น นำมาสู่การเปิด Flagship Store ในย่านชิบูย่าครั้งนี้
นอกจาก Virgil Abloh ที่กำลังเป็นดีไซเนอร์ดาวรุ่งของวงการเสื้อผ้าผู้ชายเเล้ว ยังมีดีไซเนอร์ที่น่าจับตามองอย่าง Kim Jones ของ Dior Men เเละ Hedi Slimane ของ Celine และล่าสุด Givenchy ก็เพิ่งแต่งตั้ง Matthew Williams ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งเเบรนด์สตรีทชื่อดัง Alyx เจ้าของคอลเลกชั่น 1017 ALYX 9SM ขึ้นมาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนล่าสุด
ความเคลื่อนไหวของเเบรนด์หรูเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นทิศทางของ “เเฟชั่นผู้ชาย” ที่กำลังถูกขับเคลื่อนเเละจะเปลี่ยนเเปลงครั้งสำคัญในเร็วๆ นี้
ที่มา : CNA , WWD , fashionnetwork
]]>นักวิเคราะห์จากบริษัท Jefferies รายงานการปรับราคาของ Gucci ว่ามีการปรับราคากระเป๋าดัง 2 รุ่นคือ รุ่น Dionysus และ Zumi ขึ้นประมาณ 5-9% จากการสำรวจราคา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี และอังกฤษ โดย Gucci เป็นแบรนด์กระเป๋าหรูรายที่สามแล้วที่ปรับราคาสินค้าขึ้นช่วง COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ตามหลังแบรนด์ Louis Vuitton และ Chanel ที่ปรับไปแล้วก่อนหน้านี้
การปรับราคาขึ้นของ Gucci เป็นการเสี่ยงคาดการณ์พฤติกรรมลูกค้าเศรษฐีนักช้อปว่าจะกลับมาซื้ออีกครั้ง แม้ว่าราคาจะปรับขึ้นแล้วก็ตาม
“เราไม่แปลกใจเลยที่ Gucci แบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง จะเดินตามโอกาสการขึ้นราคาสินค้าเพื่อลดผลกระทบจากรายได้ที่หดตัวลง เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ” Cereda บริษัทนักวิเคราะห์อีกรายหนึ่งกล่าว
ก่อนที่ Gucci จะปรับขึ้นราคาเพียงสองวัน Chanel แบรนด์หรูจากฝรั่งเศสเพิ่งประเมินว่าโรคระบาด COVID-19 จะส่งผลกระทบตลาดสินค้าลักชัวรีไปอีกอย่างน้อย 18 เดือนไปจนถึง 24 เดือน
“เรามองว่าสภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจลักชัวรีไปอีกอย่างน้อย 18 เดือน หรืออาจจะมากถึง 24 เดือน” ฟิลิปป์ บลองดัวซ์ ซีเอฟโอของ Chanel กล่าวกับสำนักข่าว Reuters
แม้ว่า 85% ของหน้าร้าน Chanel ทั่วโลกจะกลับมาเปิดทำการได้แล้ว และยอดขายของแบรนด์ในจีนกลับมาโตมากกว่า 100% ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงเห็นการฟื้นตัวทั้งในปารีส มิลาน และเบอร์ลิน แต่บลองดัวซ์ยังมองว่า “การดำเนินงานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ธุรกิจระหว่างประเทศได้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละประเทศที่หายไปมีผลกับธุรกิจดิวตี้ฟรีของเรา และดิวตี้ฟรีคือกลุ่มธุรกิจที่ยังต้องปิดอีกยาวนาน”
ดังนั้น เพื่อตอบสนองการคาดการณ์เชิงลบในอนาคต Chanel มีการตัดงบโฆษณาแล้ว พร้อมลดกำลังการผลิต รวมถึงกำลังพิจารณากิจกรรมการจัดแฟชั่นโชว์ใหม่
สำหรับภาพรวมธุรกิจลักชัวรี Bain & Company ประเมินว่าธุรกิจนี้รวมทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 3.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้อาจจะได้เห็นการหดตัวสูงสุดถึง 35%
]]>กระเป๋าหิ้ว Mickey Mouse top handle ถูกสร้างขึ้นในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 90 ปีของตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของดิสนีย์อย่าง Mickey Mouse เจ้าหนูอมตะที่สามารถเรียกความสนใจได้ทุกครั้งเมื่อแบรนด์ใหญ่หยิบมาสร้างสีสันให้งานดีไซน์
สำหรับ Gucci ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์แฟชั่นอิตาลีได้ร่วมมือกับ Disney สร้างคอลเลกชั่นพิเศษ แต่ Gucci เคยเปิดตัวคอลเลกชั่น Donald Duck capsule collection เมื่อปี 2017 และเสื้อสเวตเตอร์ลาย Snow White ในปี 2018 แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระแสแชร์ต่อบนโลกออนไลน์เท่ากับกระเป๋ารุ่นล่าสุด
สาวกที่รัก Disney มาก อาจจะไม่ยินดีจ่ายเงิน 4,500 เหรียญสหรัฐเพื่อพิสูจน์ความเป็นแฟนพันธุ์แท้ แต่ Mickey Mouse top handle มีความพิเศษที่การใช้คลิปแม่เหล็ก ทำให้การเปิดปิดกระเป๋าที่ทำจากพลาสติกสีดำพิมพ์ลาย 3 มิตินั้นสนุกสนานและพิเศษขึ้นมาทันที
กระเป๋างานพิมพ์ 3 มิติมีรายละเอียดอื่นๆอย่างเช่นการเคลือบเงา รวมถึงการพิมพ์โลโก้ Gucci ไว้ทั่วด้ามจับ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Gucci กล้าตั้งราคานี้ โดยหยิบไปโชว์ตัวครั้งแรกบนรันเวย์งาน SS19 ของ Gucci ในปารีสเมื่อปีที่แล้ว 2018
ขณะที่ Gucci เปิดให้คนทั่วไปสามารถสั่งซื้อล่วงหน้า ล่าสุดมีภาพนักร้องดัง Paloma Faith หิ้วกระเป๋า Mickey Mouse ของ Gucci ไปงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้หลังงานประกาศผลรางวัล BRIT ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพนี้สะท้อนความโดดเด่นของกระเป๋า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสแชร์ต่อร้อนแรงก่อนกำหนดการจัดส่งที่ Gucci ระบุไว้ระหว่างวันที่ 15 มีนาคมถึง 30 เมษายนนี้
สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์ Gucci x Disney อาจอยู่ที่การกำหนดเซ็กเมนต์เรื่องเพศของกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่ม Gucci x Disney ทั้ง Donald Duck capsule collection และเสื้อสเวตเตอร์ลาย Snow White ล้วนเป็นสินค้าสำหรับผู้ชาย แต่กระเป๋านี้ใช้ผู้หญิงเป็นแบบ ซึ่งอาจมีดีเอ็นเอที่แตะตาเซเลบฯหญิงมากกว่า ส่งให้เกิดกระแสที่ร้อนแรงกว่าตามไปด้วย
สำหรับ Gucci รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 แบรนด์หรูอย่าง Gucci ถูกบริหารโดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ชื่อ Alessandro Michele ซึ่งมีชื่อเสียงมากเรื่องความรักใน Disney ดังนั้นการร่วมมือกับเปิดตัวคอลเลกชั่นตัวการ์ตูนอมตะอย่าง Donald Duck และ Snow White ในสไตล์คลาสิกจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ความใหม่คือกระเป๋า Mickey Mouse ที่แรงแซงทุกคอลเลกชั่น.
ที่มา :
พาย-ภัทรียา ณ นคร เป็นผู้หญิงเก่งที่ขับเคลื่อนแบรนด์หรู “กุชชี่” ให้เป็นแบรนด์ฮอตในไทยไม่แพ้ตลาดในประเทศอื่น ในฐานะผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และควบตำแหน่งฝ่ายจัดซื้อหรือ Buyer ทำให้เธอต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลาให้สมกับเป็นนักบริหารธุรกิจแฟชั่น
ภาพลักษณ์ของผู้หญิงสวย มาดเฉียบ กับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดูดีมีระดับ สะท้อนความสง่างามของแบรนด์ที่เธอดูแลได้เป็นอย่างดี แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ สักแต่ว่ามีเงินก็ลุกขึ้นมาทำได้ เธอได้เตรียมความพร้อมแต่วัยเยาว์ด้วยการติดตามมารดา-เภาลีนา ณ นคร ไปสั่งซื้อกุชชี่ ที่อิตาลี และนั่นทำให้เธอได้ซึมซับความรู้และสั่งสมประสบการณ์มาโดยตลอด
เธอเคยบอกถึงแนวคิดในการทำงานของเธอกับ POSITIONING ว่า “ทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิตเรา อย่าปล่อยไป อย่าคิดว่าทำไม่ได้เลยไม่ทำ อย่าคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ เพราะวันหนึ่งอาจจะต้องมานั่งเสียดายที่ไม่ได้ลอง และหลายครั้งที่คิดว่าไม่ใช่เรา มันอาจไม่ใช่เราจริงๆ แต่ก็อยากให้ลองทำดู เพราะมันจะทำให้เราค้นเจอบางสิ่งที่ใกล้เรามากขึ้น เพราะทุกหนทางย่อมนำทางไปสู่อีกทางเสมอ”
แม้ทุกวันนี้ภารกิจของการเป็นพรีเซ็นเตอร์ SONY Vaio จะเสร็จสิ้นลง แต่แน่นอนว่าบทบาทของการดำเนินธุรกิจครอบครัวจะทำให้เธอรู้สึกว่านี่คือ “My Heart My Soul My Gucci” ตลอดไป
Profile :
Name : ภัทรียา ณ นคร
Age : 31 ปี
Education :
ปริญญาตรี (เทียบเท่า) Institut Villa Pierrefeu ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
มัธยมศึกษา โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
Career Highlights :
– ปัจจุบัน ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายจัดซื้อ บริษัท อิตัลสยาม จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย Gucci และ Bottega Veneta
– ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ (Image Consultant) โปรแกรม One Day Make-Over
– คอลัมนิสต์เกี่ยวกับเคล็ดลับความงามในนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์
– ผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลเว็บไซต์ www.B-Your-Best.com
– พิธีกรรายการ Yummy Yummy ทาง UBC 17
– นักเขียนพ็อกเกตบุ๊ก Looking Good และ Feeling Good
Family :
บิดา-มารดา – ไชยยุทธ – เภาลีนา ณ นคร
น้องชาย – เบน ณ นคร
Gucci แบรนด์แฟชั่นหรูสุดยอดฮิตจากอิตาลี เปิดตัวแว่นตาและแว่นกันแดด คอลเล็คชั่นใหม่ล่าสุดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้รับกับหน้าชาวเอเชียอย่างคนไทยเราในช่วงหน้าร้อนนี้ โดยเฉพาะแว่นตากันแดด Gucci ร่น 1839/F/S ซึ่งโดดเด่นด้วยสกรีนลายโมโนแกรมรูปตัว G ไขว้ที่ขาแว่น มีให้เลือก 4 เฉดสี ได้แก่ ขาว ครีม ดำ และ น้ำเงิน ในราคาประมาณ 8,500 บาท
ลูกค้าที่ชื่นชอบแว่นแฟชั่นแบรนด์ Gucci แวะเวียนไปลองและเลือกซื้อแว่นตาและแว่นกันแดดใน “เอเชียน โมเดล” คอลเล็คชั่นใหม่ล่าสุดได้ที่ร้านแว่นตาชั้นนำทั่วประเทศ