Data – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 03 Jan 2023 07:01:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ฮาวทูไม่ทิ้ง! ข้อมูลลูกค้าหลังทำ Marketing Online ควรเอาไปทำอะไรเพื่อไม่ให้สูญเปล่า? https://positioningmag.com/1414396 Tue, 03 Jan 2023 06:10:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414396 บทความโดย ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (Buzzebees)

เมื่อตอน Ep.2 พิ้งค์ได้พูดถึงกลยุทธ์การทำแพลตฟอร์มอย่างไรให้ตอบโจทย์เป้าหมายของแบรนด์ และช่วยให้แบรนด์สามารถหาทางวัดผลได้แบบไม่นั่งเทียนกันไปแล้ว ดังนั้นในตอนที่ 3 เราจะมาคุยกันต่อว่าข้อมูลที่เราได้หลังจากวัดผลหรือข้อมูลที่ได้หลังจบแคมเปญ เราควรเอาไปทำอะไรต่อ ?

ก่อนอื่นขอแบ่งคำว่าข้อมูลออกเป็น 2 แบบ

  1. Basic Information (Structured Data): เบอร์โทร ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด อยู่จังหวัดอะไร ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลที่นิยมเอามาใช้กันในอดีต เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์มือถือเข้าถึงตัวเหมือนสมัยนี้ก็เลยต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้โดยการส่งไปรษณีย์ไปที่บ้าน หรือส่งเอสเอ็มเอสไปยังโทรศัพท์มือถือ
  2. Behavioral Information (Unstructured Data): ข้อมูลยุคใหม่ที่อยู่ในยุคที่คนใช้งานในโทรศัพท์มือถือแล้วทำให้ล่วงรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคแบบละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ได้แก่ ข้อมูลประเภทซื้อซ้ำเท่าไรชอบสินค้าประเภทไหนมากที่สุดคะแนนที่ลูกค้านำไปแลก เขาใช้กับอะไร
Photo : Shutterstock

เรามาลงดีเทลกันว่าข้อมูลแต่ละแบบมีประโยชน์ต่างกันยังไง ?

ข้อมูลแบบที่ 1 Basic Information (Structured Data) เราจะสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ตามลักษณะข้อมูลที่จัดเก็บโดยลูกค้าเป็นคนบอกผ่านการกรอกใบสมัครหรือแบบฟอร์มประเภทต่าง ๆ ทั้งแบบ Online หรือ Offline ตัวอย่างข้อมูลประเภทนี้ เช่น เพศอายุ เป็นต้น

แล้วรู้เพศแล้วใช้งานข้อมูลอย่างไร ?

ถ้าอย่างเบสิก เช่น ถ้าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องแสดงสินค้านั้นไปให้ผู้หญิงดู โดยแพลตฟอร์มต้องมีความฉลาดมากพอที่จะสามารถแสดงผลของสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงได้ โดยปกติบนแพลตฟอร์มก็จะมีพื้นที่จำกัดมาก ๆ อยู่แล้ว โดย Golden Rule ก็คือ ต้องไม่เกิน 2 หน้าแรก จะให้ผล 90% ต่อผู้ใช้งานระบบมากที่สุด

ส่วนเรื่องของอายุก็สามารถนำไปทำการตลาดที่เจาะกลุ่มเป้าหมายได้เช่นกัน เพราะบางผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มลูกค้าที่มีกลุ่มอายุแบบเฉพาะเจาะจงมาก ๆ เช่น นมผงเด็กจะใช้ได้เฉพาะบางช่วงอายุเท่านั้น นั่นก็คือขายได้กับกลุ่มคุณแม่ เพราะฉะนั้นยิ่งแสดงผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภคมากเท่าไร โอกาสในการขายก็จะมากขึ้นเท่านั้น หรือเมื่อรู้อายุลูกค้าแล้วเราก็สามารถส่งแคมเปญ Happy Birthday เพื่อเป็น Surprise ลูกค้าในทุกวันเกิด เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดี ๆ กับเราได้

Photo : Shutterstock

ข้อมูลแบบที่ 2 Behavioral Information (Unstructured Data) เราจะได้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งข้อมูลกลุ่มนี้คือขุมทรัพย์ของธุรกิจ เช่น เราจะกำหนด Direction แบรนด์หรือแคมเปญได้ถูกต้อง อย่างลูกค้าคนหนึ่งมีพฤติกรรมในการซื้อของทีละมาก ๆ เมื่อได้ส่วนลด เราก็ทำในสิ่งที่เรียกว่า Bundle สินค้า หรือก็คือเอาสินค้าชนิดที่หนึ่ง บวกชนิดที่สอง บวกชนิดที่สามมารวมกัน ทำให้ขนาดของตะกร้าการซื้อนั้นใหญ่มากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้แบบง่าย ๆ ไม่ต้องหาลูกค้าเพิ่ม หรือการสร้าง Content ที่คุยกับลูกค้า เลือก Keywords ได้ถูกต้อง ปรับโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าคนนี้ชอบแคมเปญประเภทลด 50% หรือลูกค้าคนนี้ชอบทำเป็นประเภทซื้อ 1 แถม 1 หรือลูกค้าคนนี้ชอบแคมเปญประเภทซื้อชิ้นที่สองในราคา 1 บาท เราก็เลือกใช้ให้ถูกต้อง จากประสบการณ์ของพิ้งค์การทำแบบนี้สามารถเพิ่ม Engagement rate และ Conversion rate ได้เป็น 100% เลยทีเดียว

ข้อมูลจะทำให้เราสามารถทำสินค้าที่มีความ Personalized ได้ ซึ่งอันนี้สำคัญกับธุรกิจเลย ถ้าเราสามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าชนิดนี้เกิดมาเพื่อเขาได้ เช่น ในการส่งข้อความเราจะไม่ส่งเป็นการสวัสดีแบบทั่ว ๆ ไป แต่เป็นการสวัสดีที่มีชื่อของลูกค้า บวกกับโปรโมชันสินค้าที่เขาใช้หรือซื้อเป็นประจำ เราก็จะสามารถทำแคมเปญต่าง ๆ ได้อย่างตรงใจ ยิ่งใส่ชื่อลงไปในผลิตภัณฑ์ได้ก็ยิ่งเด็ด เรื่องเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างความหมายได้ แน่นอนว่าลูกค้าก็จะประทับใจ และสุดท้ายนำไปสู่การซื้อซ้ำ และอยู่กับเราไปนานขึ้นด้วย

Photo : Shutterstock

อีกตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยธุรกิจเราได้อีกก็คือ การใช้ข้อมูลเพื่อการลด Waste ซึ่งลดได้แบบมหาศาล ตั้งแต่คำนวณวัตถุดิบ การส่งมอบ ปรับลดจำนวนคนเรื่องสาขา เรียกว่าข้อมูลสามารถช่วยซัปพลายเชนได้ทั้งระบบ เช่น แทนที่เราจะใส่ของแถมให้ทุกคน เราก็แถมสิ่งที่เขาอยากได้ มอบให้ถูกคน ถูกจริตของคนคนนั้น บางทีของบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องราคาสูง แต่ถ้าทำได้ถูกใจก็จะทำให้สินค้าเรามีคุณค่ากับลูกค้ามากขึ้น โดยไม่ต้องอัดโปรแรงตลอด แล้วบริษัทก็จะประหยัดมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะใช้ข้อมูลในรูปแบบเหล่านี้ได้ ตัวแพลตฟอร์มก็จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญที่เอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ด้วย ในบทความครั้งหน้าเราจะมาคุยกันว่า การเลือกใช้แพลตฟอร์มจะต้องดูที่อะไรบ้างที่จะทำให้ข้อมูลนั้นสามารถนำไปต่อยอดได้

]]>
1414396
ทิศทาง ‘LINE for Business’ ธุรกิจลักชัวรี่-ภาครัฐมาเเรง ลุยโซลูชันจัดการข้อมูลเเละ NFT https://positioningmag.com/1379204 Fri, 25 Mar 2022 09:10:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379204 เปิดกลยุทธ์ LINE for Business เเพลตฟอร์มดิจิทัลยอดนิยม พบกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูเติบโตก้าวกระโดด ภาครัฐไทยทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API โตถึง 482 % ปีนี้พร้อมบุกโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เริ่มทำตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คว้าโอกาส NFT 

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย เล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่าเป็น ‘ปีเเห่งความท้าทาย’ ที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งวิถีการใช้ชีวิตเเละกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ

ในช่วงเเรกของวิกฤตโควิด-19 ผู้คนปรับตัวเเบบเฉพาะหน้า เเต่เมื่อเวลาผ่านไปมีหลายพฤติกรรมที่ได้กลายมาเป็นเทรนด์กระเเสหลักอย่างการทำงานจากที่บ้าน การใช้บริการส่งของหรือส่งอาหารเเบบเดลิเวอรี่ รวมไปถึงการหารายได้ในรูปเเบบสกุลเงินดิจิทัล

นอกจากนี้ เเรงกดดันจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ

ลักชัวรี่มาเเรง ภาครัฐใช้ LINE API โต 482%

ประเทศไทย มีการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก ในปี 2564 โดยมียอดผู้ใช้ LINE ทั้งสิ้น 50 ล้านราย เพิ่มจากสิ้นปี 2563 ที่มียอดผู้ใช้ 47 ล้านราย

ดัชนีชี้วัดของการใช้งานบริการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตขึ้นถึง 47% จาก 4.6 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2563 สู่ 6.9 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2564

โดยธุรกิจกลุ่มสถาบันการเงินยังคงเป็นผู้นำในการใช้งาน ‘LINE API’ มากที่สุด

ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู ‘Luxury’ ถือเป็นธุรกิจกลุ่มใหม่ที่มีการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากมูลค่าเงินลงทุนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดบน LINE for Business ถึง 200% ในช่วงปี 2562-2564

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มภาครัฐและบริการสาธารณะ กลายเป็นกลุ่มที่เติบโตทางด้านดิจิทัลมากที่สุดในปี 2564 ด้วยยอดการทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตถึง 482% เมื่อเทียบกับปี 2563

ตามมาด้วย กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่มียอดการเติบโตของการใช้งานผ่าน LINE API มากกว่า 100%

พัฒนาโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจกลาง-เล็ก

สำหรับกลยุทธ์ของ LINE ในปี 2565 จะมุ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับธุรกิจในการปรับตัวสู่ดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มธุรกิจไทยให้เเข่งขันในได้ในระดับสากล

นอกจากนี้ จะมีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล หรือ DATA ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต

ที่ผ่านมา LINE มีโซลูชันจัดการข้อมูลให้แบรนด์ธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ ‘MyCustome’ โซลูชันในการบริหารจัดการข้อมูลที่ทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลโดยได้รับการอนุญาตจากลูกค้าโดยตรง (1st party data consent)

ทั้งจากภายในแพลตฟอร์ม LINE หรือนำข้อมูลภายในของแบรนด์ หรือที่ได้จากช่องทางอื่นมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานได้ทั้งในและนอกแพลตฟอร์ม LINE

เเละในปีนี้ LINE พัฒนาโซลูชันใหม่ล่าสุด ‘Business Manager’ ช่วยบริหารจัดการข้อมูลอย่างง่าย ตอบโจทย์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้ต้องการบริหารงานข้อมูลที่ซับซ้อน โดยจะเน้นไปที่การบริหารจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยตรงบนแพลตฟอร์ม LINE ระหว่าง LINE Official Account และ LINE Ads Platform เพื่อให้แบรนด์สามารถนำมาวิเคราะห์ นำเสนอสินค้าบริการที่โดนใจลูกค้า

ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเเบรนด์ นอกจาก บัญชีรับรอง (Verified Account) เเล้ว ในปีนี้จะมีโปรแกรม BLUE BADGE ให้ความรู้ จัดอันดับ และให้รางวัลแก่แบรนด์ที่ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งในแง่ของสินค้า บริการ เเละการออกแบบผลิตภัณฑ์ร้านค้า

เดินหน้าลุย NFT for Business

ในปี 2022-2023 นี้ LINE เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจโลกใหม่ ผ่านการพัฒนาโซลูชันสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ NFT (Non-fungible Token)

โดย LINE ตั้งเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับองค์กรธุรกิจไทย ที่จะเดินหน้าสู่การทำการตลาดด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในด้าน การจัดหา creator ให้กับแบรนด์ และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการใช้งาน NFT เพื่อธุรกิจ (NFT for Business) ด้วยการร่วมมือกับ LINE Consumer Business ที่เพิ่งประกาศทิศทางในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม NFT อย่างเต็มรูปแบบ

โดย LINE เตรียมจะผลักดันให้เหล่าครีเอเตอร์ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านราย สร้างรายได้เพิ่ม ผ่านการสร้างสรรค์ commercial arts ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Licensing IP Business หรือการขายสินค้า (Merchandising) โดยที่ผ่านมา มีครีเอเตอร์ชาวไทยมากกว่า 28 รายที่กลายเป็นผู้เล่นธุรกิจ IP ผ่านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Uniqlo และ AIS สำหรับปีนี้ LINE ก็มีแผนจะจะเปิดตัว Line Valley สำหรับการขายสินค้าให้กับเหล่าครีเอเตอร์ด้วย

พร้อมออกโปรแกรมพัฒนาครีเอเตอร์ใหม่ จัดตั้ง LINE Creators Academy สร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ NFT ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสำหรับครีเอเตอร์ที่สนใจ ซึ่งปัจจุบัน LINE ประเทศไทย ได้เป็นพันธมิตรกับตลาด NFT (NFT Marketplace) ชั้นนำ อาทิ EAST NFT, Bitkub NFT, Coral by KASIKORN X และ Zixel by Zipmex  NFT

เมื่อวันพุธที่ 23 มี..ที่ผ่านมา  LINE ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเเผนเตรียมเปิดตัว “LINE NFT” ในวันที่ 13 เม.ย.ที่จะถึงนี้ โดยจะเปิดให้ซื้อขาย NFT ได้ครบจบในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงาน NFTs มากกว่า 100 รูปแบบ พร้อมเปิดให้ชมผลงาน NFT limited edition ของบริษัทบันเทิงญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Yoshimoto Kogyo ซึ่ง ณ ตอนนี้จะเปิดให้บริการ “LINE NFT” แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก NFT Nonfungible.com ระบุว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดขาย NFT ทั่วโลกถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 21,000% จากปี 2020 ที่มียอดรวมเเค่ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

]]> 1379204 เจาะลึก 6 แนวโน้ม ‘พฤติกรรมผู้บริโภค’ และ 4 วิวัฒนาการโลก ‘Data’ ที่จะมีผลต่อการตลาดในปี 2022 https://positioningmag.com/1377022 Thu, 10 Mar 2022 09:18:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377022 ด้วยความที่คนไทยอยู่กับ pandemic มาสองปีเศษแล้ว และแม้ว่าจะเข้าสู่ wave ที่ 5 แต่เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น รวมถึงผู้บริโภคมีการปรับตัวและมีความรู้ความเข้าใจในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมและมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดย มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร ในเครือกรุ๊ปเอ็ม ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ๆ รวมถึงวิวัฒนาการของโลก Data เพื่อเป็นแนวทางให้กับแบรนด์และนักการตลาดใช้สำหรับการวางแผนการตลาดในปีนี้

ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภค ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร Head of Strategy มายด์แชร์ ได้สรุป 6 เทรนด์ ที่จะได้เห็นในปี 2022 ดังนี้

1. การกลับใช้ชีวิตในสังคมแบบเกือบปกติโดยมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น (Mindful Togetherness) อันจะส่งผลต่อรูปแบบของการใช้ชีวิตร่วมกันในลักษณะ ดังนี้

– Phygital Community: การผนึกรวมระหว่างช่องทางจำหน่ายหน้าร้านและการขายออนไลน์ (physical + digital) ที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และสร้าง engage กับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

– Contactless Connection: ประสบการณ์ไร้สัมผัสจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสำหรับช่องทางการจำหน่ายหน้าร้าน รวมถึงการออกแบบสินค้าที่นำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในเรื่องของความสะอาดและสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น

– Omnichannel Retail: แบรนด์จะต้องปรับตัวในยุค post-pandemic โดยการรวบข้อมูลจากช่องทางต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สร้าง touchpoint ต่าง ๆ ให้เกิดการซื้อและรับสินค้าสะดวกทั้ง online และ offline

2. ผู้บริโภคยังคงหาประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดจากการอยู่บ้านต่อไป? (Homebody Economy?) ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค ดังนี้

– Hometainment: หรือ home + entertainment ที่แบรนด์หรือแพลตฟอร์มควรสนองประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคให้เหนือความคาดหมายกว่าเดิม

– Statement of Place and Space: การออกแบบหรือการสร้างคุณค่าและประสบการณ์ของสถานที่ให้มีคุณค่าและความหมายที่ลึกซึ้งและหลากหลายกว่าเดิม

– Survive or Alive?: แบรนด์ควรทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่เพื่อทำตามสิ่งที่ต้องการ

3. เทรนด์ที่ผู้บริโภคย้อนนึกถึงช่วงเวลาในอดีตที่น่าจดจำ (Nostalgia Reminiscing)

– Down the Memory Lane: เทรนด์วินเทจจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในกลุ่ม Gen Y Gen Z แต่ด้วยความที่เราอยู่ในยุค digital เทรนด์ข้อนี้ก็อาจจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเติมเต็มวิถีของผู้บริโภคด้วย

4. ยุคของโลกเสมือนจริง (Live More Than One Life)

– Mega Metaverse: กระแสที่มาแรงในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีที่แบรนด์สามารถนำพาผู้บริโภคไปอยู่ในโลกเสมือนจริงอีกโลกนึงนี้ได้ผ่านเทคโนโลยีอย่าง AR/ VR นอกจากจะทำให้แบรนด์สามารถ engage กับผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริงอีกด้วย

– No More Middle Man: การเกิดขึ้นของ blockchain ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการกระจายอำนาจ (decentralize) เกิดขึ้น ผลพวงของการกระจายอำนาจทางด้านการเงินที่ทำให้เกิด cryptocurrency ที่ว่ายังกระจายไปสู่วงการเกมและศิลปะอีกด้วย

5. ยุคที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญและความใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ทั้งกับตัวเอง คนใกล้ตัว และสังคม สิ่งแวดล้อม (Brighter, Bolder, Better, Build Back) ซึ่งผู้บริโภคแสดงออกมาในรูปแบบของ

 – Play a Part: การมีส่วนร่วมในกระแสสังคม

– Well – Balance Wellness: การใส่ใจเรื่องสุขภาพ

6. เทคโนโลยีจะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์และ journey ของผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม (Interactive Future)

– Voice, Visual, Video, and Virtual Assistant: ที่จะกระตุ้นและเพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบโต้ตอบของผู้บริโภคและเติมเต็มช่องว่างที่ผู้บริโภคอาจมีในใจระหว่างการช้อปปิ้งทางกายภาพและประสบการณ์ออนไลน์

– Shoppable Media: สื่อที่เป็นได้มากกว่าการสร้าง awareness และ engagement หรือการทำหน้าที่ในการปิดการขายได้เลย ทำให้ journey ของผู้บริโภคกระชับกว่าเดิม

– In Control and On Demand: เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ บนโลกออนไลน์จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในการควบคุม จัดการกับเวลาหรือคอนเทนต์ที่จะเข้าถึงได้ตามความสะดวกและเหมาะสม

ด้าน มทินา แรงกล้า Head of Data Intelligence กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของแนวโน้มข้อมูลว่า สามารถแบ่งแนวโน้มโลกของข้อมูลออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

1. แบรนด์ต้องมี Right data ไม่ใช่ Big Data

เก็บข้อมมูลมากไปใช่ว่าจะดี เพราะบางทีอาจเป็นข้อมูลขยะที่ใชประโยชน์อะไรไม่ได้ ดังนั้น นอกจากการเก็บข้อมูลแล้วยังต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง หรือ Right Data ซึ่งจุดสำคัญคือ การตั้งคำถามเพื่อโฟกัสหา Right Data โดยไม่ควรถามคำถามที่กว้างเกินไป แต่ต้องเป็นคำถามที่หาเพื่อแก้ไขปัญหาให้แบรนด์หรือสิ่งที่แบรนด์อยากได้ ดังนั้น แบรนด์ต้องเริ่มจาก คำถามที่ใช่ เพื่อหา Right Data

2. ยุคของการทำงานร่วมกันระหว่าง มนุษย์ และ AI (Precisely Human)

แม้ว่าปัจจุบัน แบรนด์จะใช้ AI, Chat Bot, Machine Learning, Predictive Marketing มากขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรมาแทนได้ 100% ดังนั้น มนุษย์และ AI ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น คนเป็นผู้ติดตามเทรนด์ต่าง ๆ รวมถึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วน AI ก็ใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หากลุ่มเป้าหมาย เพราะ AI ทำได้เร็วกว่ามนุษย์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้ Right Data กับ AI ด้วย

3. นักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับ 1st Party Data ให้มากขึ้น

คนทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ อย่าง Apple เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แน่นอนว่านักการตลาดจะยิ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากขึ้น ดังนั้น ควรตเริ่มมาโฟกัสการเก็บ 1st Party Data ที่เกิดจากแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น แต่อาจต้องทำให้ผู้บริโภค “ไม่รู้สึกเหมือนว่าแบรนด์ทำการตลาด” เช่น หากแบรนด์ต้องการชวนลูกค้ามาลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูล อาจเสนอส่วนลดให้ เป็นต้น

4. ยุคของ Metaverse และการเตรียมรับมือกับ data ที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่

ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา เริ่มเห็นแบรนด์ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AR และ VR เช่น การใช้เพื่อให้ลูกค้าดูห้องพัก, การทำ Virtual Tour เพื่อให้ลูกค้าเห็นบริการต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะเก็บข้อมูลจากการใช้ AR, VR อย่างไร คำตอบคือ การที่ผู้บริโภคหยุดมองจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ ก็สามารถเก็บเป็นข้อมูลได้ และในอนาคตจะช่วยให้แบรนด์ที่สนใจการทำตลาดผ่าน Metaverse รู้ว่าควรทำต้องทำอย่างไร

]]>
1377022
วิเคราะห์เเนวโน้มภาคธุรกิจไทย กับการฟื้นตัวแบบ ‘K-Shape’ เมื่อวิกฤตโควิดลากยาว https://positioningmag.com/1350156 Fri, 03 Sep 2021 06:47:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350156 การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาด

บทวิเคราะห์ล่าสุดของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มีประเด็นที่น่าสนใจที่สะท้อนให้เห็น การปรับตัวธุรกิจไทยในหลากหลายเซกเตอร์ และการฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape

จากการศึกษาการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ มาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2563 จนถึงไตรมาส 2 ของปี 2564 ผ่านการคำนวณเป็นดัชนีรายได้ของแต่ละธุรกิจ ข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกว่า 500 บริษัท เทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 เป็นปีฐานเริ่มต้นเท่ากับ 100 พบว่า แต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

ธุรกิจฟื้นแล้ว (ดัชนีรายได้ > 100) เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัว จากการได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและตลาดในประเทศดีขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงาน เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม

ธุรกิจกำลังฟื้น (ดัชนีรายได้อยู่ระหว่าง 60 ถึง 100) เป็นธุรกิจกำลังฟื้นตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา เช่น ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์

• ธุรกิจยังไม่ฟื้น (ดัชนีรายได้ < 60) เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นและได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ) ท่องเที่ยว (โรงแรมและร้านอาหาร) และการบริการส่วนบุคคล

“ผลของการล็อกดาวน์บางส่วนตามมาตรการของรัฐ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจลดลง” 

อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนเเละเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้แต่ละธุรกิจทยอยฟื้นตัวนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เป็นต้นไป “รูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะการทยอยฟื้นตัว และไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก” 

ธุรกิจอ่วม รายได้หด 2 ปีติดต่อกัน 

“กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น” มีความเปราะบางมากที่สุด เพราะรายได้เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) มีการหดตัวมากกว่า 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน

โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และร้านอาหาร รายได้ลดลง 66% และ 49% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศและทางน้ำ รายได้ลดลง 84% และ 51% และกลุ่มบริการส่วนบุคคล ได้แก่ บันเทิงและการกีฬา รายได้ลดลงมากถึง 84%

สำหรับ “กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น” ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง

ttb analytics เเนะว่า สิ่งที่สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจยังไม่ฟื้นและกำลังฟื้นให้อยู่รอดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้เเก่ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงความสะดวกของการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และสินค้าต้องมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และหากเป็นโรงงานและธุรกิจบริการควรพิจารณาทำ Bubble & Seal

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

Photo : Shutterstock

โควิดอยู่ยาว ธุรกิจปรับตัวเพิ่มทางออนไลน์ 

หากมองออกไปใน 1-2 ปีข้างหน้า (2565-2566) แม้ว่าการระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มบรรเทาลง จากการเร่งฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรของโลกและในประเทศไทยมากขึ้น

แต่ทว่าโรคโควิด ก็ยังไม่หมดไปและอาจกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้การแพร่ระบาดดังกล่าวจะยังคงอยู่กับโลกต่อไปหลังจากนี้อย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถจัดการไวรัสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ต้องพึ่งการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในทุกปี 

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้าน ต่อไปนี้

ด้านแรก ธุรกิจยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิดต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ด้วยกันด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ด้านที่สอง ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ความเจริญกระจายไปหัวเมืองในเศรษฐกิจภูมิภาค การผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และสินค้าเพื่อการส่งออกจะมีมูลค่ามากขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมลงทุนภาครัฐ

ด้านสุดท้าย ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ การเข้าถึงผู้บริโภคจากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล หรือที่เรียกว่า Omni-Channel และจะต้องปรับใช้เทคโนโลยี Digital Ecosystem ที่อยู่รอบตัว เช่น E-Commerce, E-Payment, E-Transportation, Inventory Management ฯลฯ มาใช้ในธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค

“ความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากสื่อออนไลน์ได้” 

ฟื้นตัวแบบ K-Shape

จากปัจจัยท้าทายทั้ง 3 ด้าน ttb analytics ประเมินว่าการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจในระยะปานกลางจะแตกต่างกัน กล่าวคือ มีธุรกิจที่ฟื้นและเติบโตดี และธุรกิจที่ไม่ฟื้นและตกต่ำต่อเนื่องจนกว่าโรคโควิดจะหมดไป หรืออยู่ในรูปแบบการฟื้นตัวแบบ K-Shape ดังนี้

  • K-Shape (ขาขึ้น) ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป
  • K-Shape (ขาลง) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

โดยธุรกิจ K-Shape ขาขึ้นจะมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศและพฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้ฟื้นและเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

“K-Shape ขาลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจบริการ จำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่รอดใน 1-2 ปีข้างหน้า เเละจำเป็นที่รัฐต้องช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจลุกขึ้นมาให้ได้ เพื่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป” 

 

 

 

 

]]>
1350156
เเบงก์ใหญ่ญี่ปุ่น Mizuho ลุยโมเดลหารายได้เสริม ประกาศขายข้อมูล “พฤติกรรมลูกค้า” https://positioningmag.com/1305568 Wed, 11 Nov 2020 11:16:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1305568 ธนาคารในญี่ปุ่น เริ่มหา รายได้เสริมด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ล่าสุด Mizuho Financial Group เป็น
เเบงก์เเรกของประเทศที่ประกาศขายข้อมูลลูกค้าเช่นพฤติกรรมการใช้จ่าย การกู้เเละรายได้

Koji Fujiwara ซีอีโอฝ่ายธนาคารของ Mizuho ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังจะมีการเสนอขายข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคให้กับลูกค้าองค์กรเเละผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งธนาคารมีข้อมูลเหล่านี้อยู่จำนวนมาก ทั้งการทำธุรกรรมและการกู้ยืมต่างๆ โดยเน้นย้ำว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกรวบรวมทำให้เป็นนิรนามไม่ระบุตัวตน เเละจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค

Mizuho ตามรอยธนาคารใหญ่ในโลกหลายเเห่ง ที่หันมาหารายได้จากการขายข้อมูลพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าอย่าง Bank of America เเละ Lloyds Banking Group เช่นเดียวกับ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Facebook เเละ Alphabet (บริษัทเเม่ของ Google) ที่ทำเงินมหาศาลจากข้อมูลของผู้ใช้

โดยมีการประเมินว่า บรรดาธนาคารทั้งหลาย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ถึง 2% หากสามารถใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันข้อมูลที่มีได้

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แต่หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยและดีมานด์การกู้ลดต่ำลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจปล่อยสินเชื่อของธนาคารอย่างมาก รัฐบาลจึงมีการผ่อนปรนนโยบายและปลดล็อกข้อกฏหมายต่าง ๆ ให้ธนาคารหารายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น

ในเบื้องต้น Mizuho ไม่ได้เผยถึงรายได้หรือค่าบริการที่ตั้งเป้าไว้ เเต่ระบุว่า ธนาคารมีเป้าหมายในการให้เสนอบริการข้อมูลนี้กับลูกค้าให้ได้ 100 รายภายใน 3 ปี เเละหวังว่าจะมีการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือร้านอาหารอาจจะเลือกที่ตั้งของสาขาใหม่ โดยอ้างอิงจากข้อมูลรายได้การใช้จ่ายและข้อมูลอื่นๆ ของทางธนาคาร

(Photo by Tomohiro Ohsumi/Getty Images)

เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ธนาคาร Mizuho เเละเเบงก์ต่างๆ ในญี่ปุ่น กำลังให้ความสำคัญเเละสนใจเข้าไปร่วมกิจการใหม่ๆ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Mitsubishi UFJ Financial Group ทุ่มเงินลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสตาร์ตอัพยูนิคอร์นอย่าง Grab ขณะที่ Sumitomo Mitsui Financial Group เข้าซื้อหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการแอปฯ ข้อมูลทางการแพทย์ของญี่ปุ่น

ซีอีโอฝ่ายธนาคารของ Mizuho เชื่อว่า แม้ธุรกิจหลักของธนาคารจะยังสำคัญอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพออีกต่อไป โดยธนาคารต้องหันไปให้บริการแบบ Non-financial Service เพิ่มขึ้นต่อไป

นักวิเคราะห์ Bloomberg มองว่า ธนาคารในญี่ปุ่นมีเเนวโน้มจะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น หลังจากที่โยชิฮิเดะ ซูงะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สัญญาว่าจะยกเครื่องการทำงานที่ล้าสมัย เเละปรับให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

 

ที่มา : Bloomberg , Japantimes

]]>
1305568
พลิกวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสในเเบบ ‘ไวซ์ไซท์’ กับการพาแบรนด์ไทยลุยตลาดโลกด้วย ‘Data’ https://positioningmag.com/1291541 Fri, 07 Aug 2020 10:22:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291541 หลายคนคงจำได้ว่าผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านการวิเคราะห์โซเซียล มีเดีย (Social Data Analytic Service) อย่าง ‘โธธ โซเชียล โอบีว็อค’ (Thoth Zocial OBVOC) ได้รีแบรนด์มาเป็น ‘ไวซ์ไซท์’ (WISESIGNT) ก็เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปี 2020 ก็ถึงเวลาที่บริษัทจะสยายปีกลุยต่างประเทศได้เต็มที่สักที หลังจากที่ใช้เวลาถึง 3 ปีเพื่อขยายเครือข่ายพันธมิตรที่จะมา collaborate ข้อมูล จนปัจจุบันมีถึง 21 ประเทศ รวม 20 แพลตฟอร์ม และครอบคลุมกว่า 30 ภาษา รวมถึงภาษาท้องถิ่น

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวท์ไซท์ จำกัด กล่าวว่า COVID-19 ทำให้แบรนด์แข่งกันหนักในโลกออนไลน์ แถมชุดดาต้าแบบเก่าใช้ไม่ได้เลย ตอนนี้เหมือนรีเซตใหม่หมด ส่งผลให้ความต้องการด้านดาต้ามีมากขึ้น อย่างธุรกิจที่เติบโตก็ต้องจัดการดาต้ามากขึ้น ดังนั้น บริษัทที่ทำดาต้ามีแต่ขาขึ้นกับขึ้น เพราะคนใช้ดาต้ามากขึ้น ซึ่งตอนนี้แค่ดาต้าในประเทศไม่พอแล้ว”

ขณะที่ต่างประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวจากพิษ COVID-19 ได้เหมือนไทย นี่จึงถือเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยในการเจาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากได้เห็นเทรนด์และความต้องการต่าง ๆ ก่อน โดยเฉพาะสินค้าในสินค้ากลุ่มเฮลท์แคร์ อย่างไรก็ตาม เพราะการเดินทางที่ยังไม่สะดวก ไวซ์ไซท์จึงเปิดตัว ‘Cross-Border Consumer Insights Research’ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดียของแต่ละประเทศ สำหรับประกอบการตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจะครอบคลุมเรื่องของการวิเคราะห์คู่แข่งในตลาด, วิเคราะห์ pain points ของลูกค้าในบริการต่าง ๆ , วิเคราะห์ช่องทางสื่อสาร และการใช้งานโซเชียลมีเดียของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ, วิเคราะห์ Influencer ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ, การพูดถึงของแบรนด์ สินค้า หรือบริการต่าง ๆ ในกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยค่าบริการเริ่มต้นที่ 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเทศและแพลตฟอร์ม โดยมั่นใจว่าสามารถใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ ลดเวลาจากเดิมที่อาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน

“การบุกตลาดต่างประเทศต้องใช้ข้อมูลเยอะ และผู้ประกอบการต้องมีไมนด์เซตที่ดี ดังนั้นการรีเสิร์ชคือการนำข้อมูลกลับมาก่อน เพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่างบางประเทศที่ไม่มีการรับรู้ถึงสินค้าไทยเลย นี่อาจเป็นโอกาสก็ได้”

เบื้องต้น บริษัทจะเน้นโฟกัสที่ลูกค้าไทยที่ต้องการเจาะตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนลูกค้าต่างประเทศมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมองไทยเป็นทางผ่านในการเข้าทำตลาดที่ใหญ่กว่า อาทิ เวียดนาม โดยปัจจุบันไวซ์ไซท์มีลูกค้าในมือทั้งหมดประมาณ 280 ราย โดยหวังว่าสิ้นปีจะแตะ 300 ราย ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ประมาณ 4-5 แบรนด์ที่สนใจการไปตลาดต่างประเทศ

“จากสถานการณ์ COVID-19 ทุกคนได้รับผลกระทบ ไวซ์ไซท์เองจากที่เคยบอกว่าแบรนด์ 1 ใน 3 ที่อยู่ในห้างฯ เป็นลูกค้าเราหมด แต่พอห้างฯ ปิด ลูกค้าเราก็ลดลง แต่ดีที่ไทย Recover เร็ว ดังนั้นอาจจะต้องวิเคราะห์รายวัน ถึงจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มเห็นในตลาดไทยหลัง COVID-19 คือ ‘Facebook’ ไม่ใช่หมุดหมายหลักของแบรนด์ใหญ่และ SME อีกต่อไป เนื่องจากเงินที่ลงกับผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มกัน ดังนั้น หลายแบรนด์เริ่มมองหาแพลตฟอร์มอื่น อย่างเช่น ‘TikTok’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ยังติดปัญหาคือ ไม่รู้จะใช้งานอย่างไร

พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไวท์ไซท์ จำกัด

ด้าน พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ไวซ์ไซท์มีพนักงานในไทยประมาณ 150 คน โดย 100 คนเป็น Data Analytic ส่วนออฟฟิศต่างประเทศอยู่มาเลเซียมีทีมงานประมาณ 20 คน โดยไวซ์ไซท์ยังคงเพิ่มคนและพยายามขยายไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงหาพันธมิตรเป็นแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะ TikTok ที่ไวซ์ไซท์ยังไม่ได้เป็นพันธมิตร

“ความยากและความท้าทายของเราในตอนนี้ ภาษาและวัฒนธรรม เพราะแต่ละประเทศแทบไม่เหมือนกันเลย อย่างไทยมี Pantip แต่ต่างประเทศก็มีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ส่วนการเติบโตก็ไม่เท่ากัน อย่างจำนวนผู้ใช้งานในอินเดียโตถึง 48% มีปัจจุบันมีผู้ใช้งานโซเชียลฯ 400 ล้านคน แต่ไทยและไต้หวันจะอิ่มตัวเติบโตแค่ 5% หรืออย่างเมียนมาก็ไม่ใช้ Google แต่ใช้ Facebook เป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการใช้งานดาต้า รวมถึงการสร้างสรรค์แคมเปญทางการตลาด ไทยถือเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Story, การหา Inside ผู้บริโภค, การเลือก KOL และ Creativity ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของธุรกิจไทยมาก ๆ ที่จะลุยต่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทได้กำลังเจรจากับนักลงทุนในไทยและต่างประเทศเพื่อระดมทุนมาใช้ขยายตลาด โดยคาดว่าจะจบดีลภายในปีนี้ ซึ่งอาจอยู่ในระดับซีรีส์ A-B

]]>
1291541
ส่องอินไซต์ลูกค้า “บัตรกรุงศรี” กลยุทธ์นำ Data มา “ทำมาหากิน” ใช้ AI ทำการตลาดเเบบใหม่ https://positioningmag.com/1264867 Wed, 19 Feb 2020 07:36:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264867 ส่องอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้ “บัตรเครดิตกรุงศรี” กลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ที่ประกาศจะนำ Data มา “ทำมาหากิน” พัฒนา AI ทำการตลาดเเบบใหม่ ต่อยอด Face Payment สู้คู่เเข่งทั้งวงการธนาคารเเละ Non-Bank  พร้อมเเผนขยายธุรกิจตีอาเซียน ในช่วงตลาดไทย “อิ่มตัว” รวมถึงโครงการปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในไทย 

จากผลการดำเนินงานของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ของปี 2562 มีการขยับขึ้นเล็กน้อย เเละมีเเนวโน้มขยับขึ้นอีกในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้ดีนัก

สำหรับปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้เพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่เเล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เเละตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

“ตั้งเเต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เรายังไม่มีข่าวดีต่อเศรษฐกิจไทยเลย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์” ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าว

จากแนวโน้มนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์จึงวางเป้าอนุมัติบัญชีใหม่ลดลง 10% มาอยู่ที่ 8.9 แสนบัญชี ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้ที่มีภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 70% จะเป็นกลุ่มเเรกที่ถูกปฏิเสธคำขออนุมัติบัญชีใหม่ออกไปก่อน

“ขณะที่รูปแบบธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต ส่วนรายได้ก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของภาครัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังสูง”

อย่างไรก็ตาม เเม้ปีนี้ต้องเผชิญเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มภาระหนี้สูงกำลังซื้อลดลงเเละไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เเต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็ตั้งเป้าที่จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วย 5 กลยุทธ์ Game Changer ทั้งเดินหน้าลงทุนในอาเซียน ใช้ข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตมาต่อยอดพัฒนา AI เเละ Face Payment รวมถึงปั้นสตาร์ทอัพของไทยให้ไปสู่ระดับยูนิคอร์น

เรามาเจาะพฤติกรรมผู้ใช้ “บัตรกรุงศรี” เเละเเอปพลิเคชั่น UCHOOSE พร้อมเเผนกลยุทธ์ในปี 2563 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ต้องสู้กับทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมไปถึงต้องเเข่งขันกับคู่เเข่งใหม่จากกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ที่กำลังลงทุนเรื่องสินเชื่อออนไลน์อย่างหนัก

ปรับโฉมใหม่ UCHOOSE

ตั้งเเต่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ลูกค้าจะได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น UCHOOSE เวอร์ชั่นใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์ U manage ที่ผู้ใช้สามารถล็อกไม่ให้ใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศหรือซื้อของออนไลน์ได้ ฟีเจอร์ U insure สามารถเปรียบเทียบประกันได้บนแอป เเละฟีเจอร์ U card เปิดบัญชีธนาคารกรุงศรี ผ่านแอปได้เลย เป็นต้น

บัตรเครดิตกรุงศรีมีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานแอปพลิเคชั่น UCHOOSE 4.8 ล้านราย เเบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 50 % เเละต่างจังหวัด 50 % เป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android ราว 61% เเละระบบ iOS ราว 39% โดยปีนี้ตั้งเป้าจะดึงผู้ใช้ UCHOOSE ใหม่ให้ได้ 6 ล้านราย

ในสัดส่วนผู้ใช้ตามวัยต่าง ๆ เเบ่งเป็นอายุ 31-40 ปีราว 36% อายุ 41-50 ปี 24 % อายุต่ำกว่า 30 ปี 24 % เเละอายุเกิน 50 ปี 16 %

ด้านโครงสร้างฐานลูกค้าเเยกตามช่วงรายได้ เเบ่งเป็น ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท 32% รายได้ 2-3 หมื่นบาท 23% รายได้ 3-5 หมื่นบาท 21% รายได้ 5 หมื่น – 1 เเสนบาท 15% เเละมากกว่า 1 เเสนบาท 10%

ขณะที่ 5 จังหวัดที่มีการอนุมัติบัตรเครดิตมากที่สุด ได้เเก่ 1) กรุงเทพฯ 2) ชลบุรี 3) นนทบุรี 4) สมุทรปราการ เเละ 5) ปทุมธานี

โดย 12 อันดับภาคธุรกิจที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรีมากที่สุด ได้เเก่ 
อันดับ 1 : ประกันภัย 134,000 ล้านบาท
อันดับ 2 : ซูเปอร์มาร์เก็ต 82,000 ล้านบาท
อันดับ 3 : น้ำมัน 71,000 ล้านบาท
อันดับ 4 : บ้าน 60,000 ล้านบาท
อันดับ 5 : หมวดเดินทางท่องเที่ยว 58,000 ล้านบาท
อันดับ 6 : ห้างสรรพสินค้า 44,000 ล้านบาท
อันดับ 7 : แฟชั่น 39,000 ล้านบาท
อันดับ 8 : ร้านอาหาร 36,000 ล้านบาท
อันดับ 9 : แกดเจ็ตไอที 32,000 ล้านบาท
อันดับ 10 : โรงพยาบาล 31,000 ล้านบาท
อันดับ 11 : ออนไลน์ช้อปปิ้ง 24,000 ล้านบาท
อันดับ 12 : รถยนต์ 23,000 ล้านบาท

“เรายังเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเเละคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ต่างมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน” ฐากรระบุ

ส่วนพฤติกรรมการใช้งาน UCHOOSE จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเเละปลายเดือน ซึ่งเป็น “วันเงินเดือนออก” ส่วนเวลาที่ใช้บ่อยที่สุดคือช่วง 11.00 น. เเละ 16.00 น.

สำหรับฟีเจอร์ที่ผู้ใช้เเอปชอบมากที่สุดคือ E- Coupon Redeemed ที่มีคนแลกคูปองไปแล้ว 9 แสนคูปอง รวมถึงฟีเจอร์แลกแต้มที่มีการแลกแต้มไปแล้วกว่า 300 ล้านแต้ม

นอกจากนี้ยังมีการขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว (Temp Line request) ถึง 1.3 ล้านครั้ง ส่วนอัตราหนี้เสียจากแคมเปญผ่อน 0% หมวดรถยนต์เเละเครื่องประดับยนต์ ยังมีมากที่สุด

ด้านตั๋วชมภาพยนตร์ก็มีการเเลกเเต้มไปแล้วกว่า 2 เเสนเเต้ม โดย Avengers: Endgame ได้รับการเเลกเเต้มมากที่สุดที่ 10,778 ที่นั่ง ตามมาด้วย Spider-Man: Far From Home 5,913 ที่นั่งเเละตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค ที่ 5,495 ที่นั่ง

“สินค้าที่ซื้อ หนังที่ดู อาหารที่กิน ทำให้เรารู้จักลูกค้ามากขึ้น นำไปสู่การออกโปรโมชั่น การนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะมีการสุ่มโทรไปหาลูกค้า โดยที่พวกเขาไม่อยากได้บริการเหล่านั้นเเละก็จะรู้สึกรำคาญ จึงเป็นที่มาของหลักมาร์เก็ตติ้งใหม่ที่เราใช้อย่าง Right Offer to the Right Customer at the Right Time though the Right Channel

การตลาดเเบบใหม่ นำ Data มา “ทำมาหากิน” 

กลยุทธ์ต่อไปคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตกรุงศรี ที่มีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี มีวงเงินพร้อมใช้ราว 500,000 ล้านบาท ในปี 2562

“เราจะทำ Data Monetization เรียกง่ายๆ ว่าเราจะทำมาหากินกับข้อมูลที่เรามีอยู่ นี่คือข้อได้เปรียบของเราเพราะข้อมูลบัตรเครดิตจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลูกค้า เราจะรู้จากการใช้จ่ายได้ว่าพวกเขาเข้าโรงพยาบาลหรือเปล่า ชอบสินค้าเเนวไหน ออกกำลังกายที่ไหน สั่งอาหารออนไลน์อะไรบ้าง ”

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือใน “เเคมเปญการตลาด” ซึ่งกรุงศรี คอนซูมเมอร์ได้แคมเปญไปมากกว่า 6,000 แคมเปญในปีที่ผ่านมา จากนี้ไปรูปแบบการทำการตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยแคมเปญการตลาดจะถูกสร้างขึ้นมา แล้วนำ AI มาวิเคราะห์ว่าข้อเสนอถัดไปที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าคืออะไร ซึ่งผู้บริหารกรุงศรีบอกว่า ระบบใช้เวลาคิดแคมเปญที่เร็วที่สุดเพียง 3 วินาทีเท่านั้น เมื่อลูกค้าอะไรสักอย่างในเเอปแล้ว AI จะมีข้อเสนอให้ว่าอะไรเป็น Next Best Offer” 

ยกตัวอย่าง ในกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าจองที่พัก AI ก็จะประมวลผลและส่งข้อเสนอประกันการเดินทางมาให้กับลูกค้าภายใน 3 วินาที นอกจากนี้ยังมีการโปรโมตผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ด้วย

ต่อยอด Face Payment

กลยุทธ์ที่สำคัญอีกอย่างของกรุงศรี คอนซูมเมอร์  คือการนำ ใช้ A.I. Manow (มะนาว) มายกระดับการให้บริการเป็น ผู้ช่วยส่วนตัว (personal assistance) ให้กับผู้ใช้ สามารถโทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อเสนอวงเงินเพิ่ม ช่วยจองตั๋วหนัง หรือเตือนการชำระเงินให้ลูกค้า รวมถึงจะพัฒนาให้จำเสียงลูกค้าได้

โดยปีที่ผ่านมา A.I. Manow ให้บริการลูกค้าผ่านระบบ Call Center ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ไปเเล้ว 1.3 ล้านครั้ง ช่วยลดระยะเวลาคุยลงได้ 60% เเละสามารถตอบคำถามลูกค้าได้เองโดยไม่ต้องโอนสายไปให้เจ้าหน้าที่ถึง 22% ซึ่งทางบริษัทกำลังวางเเผนจะนำ  A.I. Manow ไปใช้กับระบบ Call Center หลักของธนาคารกรุงศรีด้วย

ขณะเดียวกันยังต่อยอดเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า หรือ Face Payment ซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนาระบบ และจะเริ่มทดสอบได้ในไตรมาส 3 เเต่จะใช้จ่ายเงินได้เฉพาะกับพาร์ตเนอร์บางราย เช่น โฮมโปร ก่อน

ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ในอาเซียน

ในขณะที่ตลาดในเมืองไทยอิ่มตัวเเล้ว เเต่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นเหมือน “ขุมทรัพย์” กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงกำลังการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่

ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) เเละและธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท) โดยในไตรมาส 2/63 บริษัทจะเข้าไปขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ประกันชีวิต และบัตรเครดิตในประเทศฟิลิปปินส์ ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) นอกจากนี้กำลังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย

“เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จากตลาดต่างประเทศเป็นสัดส่วนราว 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่ถึง 5% เท่านั้น” 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์

ปั้นสตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” ในไทย 

กรุงศรี เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ลงทุนกับโปรเจกต์ “ปั้นสตาร์ทอัพ” สัญชาติไทยให้เป็นระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป)

ฐากร เปิดเผยว่า เบื้องต้นวางงบไว้ที่ 20 ล้านบาท เพื่อคัดเลือก 8 ทีม (ทีมละ 3 คน) เฉลี่ยให้ทุนทีมละ 3 ล้านบาทในการพัฒนาโปรเจกต์ มีที่ปรึกษาเเละโค้ชคอยให้คำเเนะนำ ซึ่งจะให้โอกาสกับ “พนักงานของกรุงศรีฯ” สมัครมาก่อน ตอนนี้มียอดสมัครมาเเล้วถึง 600-700 คน ส่วนใหญ่เป็นไอเดียการทำแอปพลิเคชั่น

สำหรับโครงการนี้ จะเเบ่งเป็น 3 ช่วง คือ Pony ในระยะ 4 เดือนเเรก เป็นการนำเสนอไอเดีย ถ้าผ่านการตัดเลือกมา 8 ทีม จะเข้าช่วง Centaur ในระยะ 8-12 เดือนถัดมา เพื่อเริ่มพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจ มีการนำไปขายงานจริง

“หากสตาร์ทอัพรายไหนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นบริษัทได้ก็จะแยกออกมา มีเจ้าของไอเดียเป็นซีอีโอ ส่วนกรุงศรีเป็นผู้ถือหุ้น หรือถ้าโปรดักต์นั้นเกี่ยวข้องกับกรุงศรีก็สามารถตั้งเป็นเเผนกใหม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ “

นี่คือก้าวสำคัญของธุรกิจ “เเบงก์” ที่จะไม่ได้เป็นเพียงธนาคารอีกต่อไป ด้วยต้องก้าวทันเทคโนโลยี ต่อสู้คู่เเข่ง ตอบสนองผู้บริโภค รวมถึงสู้กับพิษเศรษฐกิจด้วย

อ่านเพิ่มเติม : กางเเผน 2563 “กรุงศรี” เจาะลูกค้าด้วยดิจิทัล จ่อหั่นเป้าสินเชื่อ พิษไวรัสฉุด GDP ไม่ถึง 2.5%

]]>
1264867