Go! – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Feb 2023 13:41:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุป 10 ปี “เซ็นทรัล รีเทล” ในตลาด “เวียดนาม” ปฏิบัติการส่งแบรนด์ค้าปลีกยึดทุกมุมเมือง https://positioningmag.com/1420626 Thu, 23 Feb 2023 12:57:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420626 “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าตลาด “เวียดนาม” ครบ 10 ปี จนปัจจุบันเป็น “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งเป้าขยายจำนวนสาขาอีกเท่าตัวภายในปี 2570 ปักหมุดเป็นผู้นำในตลาดหัวเมืองเทียร์ 3-4 เติบโตไปพร้อมกับความเจริญของเวียดนามที่คาดว่าประชากร ‘ครึ่งหนึ่ง’ จะเข้ามาอาศัยในเขตเมืองภายในอีก 6 ปีข้างหน้า

หนึ่งในพอร์ตสำคัญที่กำลังโตวันโตคืนของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC คือตลาด “เวียดนาม” หลังเข้าตลาดครบ 10 ปี ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทลกลายเป็นผู้นำตลาดในหลายแง่มุม โดยเป็นอันดับ 1 “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” รายใหญ่ที่สุด มีส่วนแบ่งตลาดถึง 62% พ่วงตำแหน่งบริษัทรีเทลต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC เล่าย้อนถึงก้าวแรกของเซ็นทรัล รีเทลเมื่อปี 2555 เริ่มทดลองตลาดนี้ด้วยการดันสินค้าแฟชันเข้าไปจำหน่ายก่อน ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักด้วยกำลังซื้อของคนเวียดนามสมัยนั้น แต่ก็ทำให้เซ็นทรัล รีเทลได้เรียนรู้ตลาดและเห็นช่องทาง

(ซ้าย) “โอลิวิเยร์ แลงเล็ต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม และ (ขวา) “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น

กระทั่งปี 2558 เซ็นทรัล รีเทลใช้วิธีเข้าซื้อหุ้นส่วนกิจการท้องถิ่น คือ “เหงียนคิม” (NK: Nguyen Kim) ซึ่งเป็นเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า (ต่อมาจะเทกโอเวอร์ทั้งหมดในปี 2562) กับ “ลานชี มาร์ท” (Lanchi Mart) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขยายตัวในเขตเวียดนามเหนือ

จุดเปลี่ยนสำคัญต่อเนื่องคือปี 2559 บริษัทเข้าเทกโอเวอร์ “บิ๊กซี เวียดนาม” (Big C) ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตาม ชื่อห้างฯ “บิ๊กซี” นั้นลิขสิทธิ์ยังอยู่กับกลุ่มบีเจซี เซ็นทรัล รีเทลจึงต้อง ‘รีแบรนด์’ ใหม่ทั้งหมดโดยใช้ชื่อ “GO!” (โก!) ซึ่งปีนี้คาดว่าจะรีแบรนด์บิ๊กซีเปลี่ยนเป็น GO! ได้ครบทุกสาขา

ลำดับการพัฒนาของ CRC ในเวียดนาม

 

แตกกิ่งก้านสู่โมเดลค้าปลีกหลายรูปแบบ

หลังเซ็นทรัล รีเทลลงรากฐานในเวียดนามได้แล้ว สิ่งที่บริษัทพัฒนาต่อคือการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เหมาะกับตลาด

ในปี 2561 บริษัทเริ่มเปิดโมเดลค้าปลีก “GO! Mall” ลักษณะเป็นศูนย์การค้า 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,500 ตร.ม. แบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่เช่าร้านค้า-ร้านอาหาร ตอบสนองด้านไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง ทานข้าวนอกบ้าน ส่วนชั้นบนเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! โมเดลนี้จะมาตอบโจทย์พื้นที่ชุมชนเมืองที่มีกำลังซื้อสูง

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
บรรยากาศด้านใน GO! Mall สาขา Di An ชั้นล่างเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ขายสินค้าแฟชั่น และร้านอาหาร

ตามด้วยปี 2563-64 นำโมเดลประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาเสริมทัพ โดยแบ่งเป็น “Mini go!” ที่ใช้บุกตลาดหัวเมืองเทียร์ 3-4 วางตนเองเป็นผู้นำโมเดิร์นเทรดของเมืองนั้นๆ และนำแบรนด์ “Tops Market” จากไทยเข้ามาลงทำเลหัวเมืองเทียร์ 1-2 ในจุดที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ตสาขา Tan Uyen

ณ สิ้นปี 2564 เซ็นทรัล รีเทลมีค้าปลีกสะสมกว่า 300 ร้านค้า คิดเป็นพื้นที่ขายรวม 1.2 ล้านตร.ม. ครอบคลุม 40 จังหวัด ทำยอดขายไปมากกว่า 38,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีตัวเลขฐานลูกค้าสะสม 66 ล้านคน

สรุปแบรนด์ค้าปลีกหลักๆ ของเซ็นทรัล รีเทลที่เปิดตัวแล้วในเวียดนาม

  • GO! Mall จำนวน 39 สาขา
  • GO! ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 38 สาขา
  • Tops Market ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 10 สาขา
  • Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 3 สาขา
  • Lanchi Mart ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 24 สาขา
  • Nguyen Kim ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 59 สาขา

(*สำหรับ Mini go! จะเน้นตลาดเวียดนามกลางและเวียดนามใต้ ส่วน Lanchi Mart จะเน้นตลาดเวียดนามเหนือที่แบรนด์มีชื่อเสียงอยู่แล้ว)

พอร์ตโฟลิโอแบรนด์ค้าปลีกของ CRC เวียดนาม

 

ทำไม “เวียดนาม” จึงเนื้อหอมมากสำหรับค้าปลีก

นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้เซ็นทรัล รีเทลจะทุ่มเม็ดเงินการลงทุนอีกเพราะตลาดนี้มีแนวโน้มเป็น ‘ดาวรุ่ง’ ในการสร้างรายได้ “โอลิวิเยร์ แลงเล็ต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ชี้ให้เห็นปัจจัยหลัก 4 ข้อที่ทำให้เวียดนามน่าสนใจ ดังนี้

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัวมากกว่าประเทศไทย โดยการคาดการณ์ปี 2568 จีดีพีเวียดนามจะโต 2% ขณะที่ไทยจะโตเพียง 3.5%
  2. ประชากรเวียดนามขนาด 100 ล้านคนครึ่งหนึ่งจะกลายมาเป็น “คนเมือง” โดยคาดการณ์ปี 2572 ประชาชนเวียดนาม 50% จะมาอาศัยในเขตเมือง ส่งให้มีความต้องการจับจ่ายในโมเดิร์นเทรด
  3. มีพื้นที่ให้โมเดิร์นเทรดเติบโตได้อีกมาก โดยปัจจุบันค้าปลีกประเภทโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วนเพียง 11% ของค้าปลีกทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 13% ภายในปี 2570 ซึ่งก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก
  4. ประเทศท่องเที่ยวแห่งใหม่ จะทำให้มีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเสริมด้วย
เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
บรรยากาศด้านใน Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นเจาะเมืองเทียร์ 3-4 เป็นผู้นำตลาดโมเดิร์นเทรดในพื้นที่นั้นๆ

 

ไปต่อ! ปี 2570 หมุดหมายจำนวนสาขาโตเป็นเท่าตัว

ด้วยความเป็นดาวรุ่งของเวียดนาม ทำให้เซ็นทรัล รีเทลจะโหมตลาดมากยิ่งขึ้น โดยญนน์ประกาศงบการลงทุนในเวียดนามจากนี้จนถึงปี 2570 จะลงทุนเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายการขยายตัว ดังนี้

  • มีศูนย์การค้าและร้านค้ามากกว่า 600 สาขา
  • ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 57 จังหวัด (จากทั้งหมด 63 จังหวัด)
  • มีพื้นที่ขายมากกว่า 2 ล้านตร.ม.
  • สร้างยอดขายขึ้นไปแตะ 150,000 ล้านบาท
  • ขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้าน Omnichannel ในกลุ่มธุรกิจฟู้ด
  • ขึ้นเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ (เช่น ศูนย์การค้า)

เห็นได้ว่าอีกเพียง 4 ปีจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนามจะขยายสาขาเป็นเท่าตัว และต้องการทำยอดขายมากขึ้นเกือบ 4 เท่า!

ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีสาขาครอบคลุม 40 จังหวัด เป้าหมายปี 2570 ต้องการไปให้ถึง 57 จังหวัด

 

เริ่มปี 2566 ลุยก่อสร้าง-ซื้อที่ดินพรึบ

จากวิสัยทัศน์ภาพใหญ่ดังกล่าว ปี 2566 นี้จะได้เห็น CRC เวียดนามใช้งบลงทุน 6,000 ล้านบาท เร่งการก่อสร้าง รีโนเวตสาขาเดิม และซื้อที่ดินเตรียมพร้อมสู่อนาคต โดยมีแผนงานหลักด้านการขยายสาขา ดังนี้

  • GO! Mall
    – ก่อสร้าง 5-7 สาขา
    – จัดซื้อที่ดินเพิ่ม 5-8 แปลง
  • GO! Hypermarket
    – รีแบรนด์จากบิ๊กซีและรีโนเวตเสร็จสิ้น 10 สาขา
  • Tops Market และ Mini go!
    – ก่อสร้าง 8-10 สาขา
    – จัดซื้อที่ดินเพิ่ม 15-20 แปลง
  • Nguyen Kim (NK)
    – ก่อสร้าง 3-5 สาขา
    – รีโนเวต 10-12 สาขา

นอกจากนี้ จะมี “ธุรกิจใหม่” ที่เปิดตัวทั้งในไทยและเวียดนาม ตามที่เซ็นทรัล รีเทลมีการให้ข่าวไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โอลิวิแยร์ยังกล่าวถึงแผนการสร้าง ‘synergy’ ภายในเวียดนามเอง และระหว่าง CRC ไทย-เวียดนาม ที่จะได้เห็นมากขึ้นในปีนี้ เช่น โมเดลใหม่ของการผนวก Tops กับ NK, การสร้าง Omnichannel ผ่านช่องทางเดียวกันในกลุ่มธุรกิจฟู้ด, การส่งสินค้า private label จาก Tops ประเทศไทยไปมากกว่า 300 SKUs, สั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาจำหน่ายทั้งไทยและเวียดนามเพื่อให้ได้ Economy of scale, ส่งออกของสดจากเวียดนามไปประเทศไทย

ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า Nguyen Kim ภายในศูนย์การค้า GO! Mall

ที่สำคัญคือ CRC เวียดนามจะเรียนรู้ระบบ ‘The 1’ จากประเทศไทย นำมาวางระบบ CRM รวมทั้งเครือในเวียดนามด้วย โดยที่ผ่านมาระบบ CRM ของฝั่งเวียดนามจะแยกกันตามแบรนด์ เช่น Big Xu ของลูกค้าบิ๊กซี, GO! App, Tops Online App ต่อไปจะได้เห็นการปรับเพื่อรวมเป็นหนึ่งในแบบเดียวกับ The 1

การแข่งขันด้านค้าปลีกในเวียดนามนั้นมีผู้เล่นหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจากสำนักข่าวท้องถิ่น Vietnam Report JSC กล่าวถึงชื่อผู้เล่นรายใหญ่ของเวียดนามเอง เช่น Wincommerce ในเครือ Masan Group บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ และผู้เล่นจากต่างประเทศ นอกจาก CRC ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ยังมีแบรนด์ MM Mega Market จากประเทศไทย, Aeon จากญี่ปุ่น และ Lotte จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความท้าทายในตลาดเวียดนาม กลับไม่ใช่เรื่องของคู่แข่ง แต่ญนน์มองว่าเป็นเรื่องของ “การหาที่ดินและขออนุญาตก่อสร้าง” มากกว่า กลายเป็นว่าอุปสรรคหลักที่เวียดนามคือความซับซ้อนในการขออนุญาตก่อสร้างที่ทำให้สปีดมากกว่านี้ได้ยาก โดยที่ไทยการสร้างแต่ละสาขาใช้เวลาเพียง 1 ปีสร้างเสร็จ แต่ในเวียดนามอาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 ปีเลยทีเดียว

]]>
1420626
เปิดแผนขยายสาขา “เซ็นทรัล รีเทล” ปี 2566 ปูพรม “ท็อปส์” ในไทย “Go!” บุกต่อเวียดนาม https://positioningmag.com/1418030 Mon, 06 Feb 2023 09:05:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418030
  • “เซ็นทรัล รีเทล” (CRC) ประกาศผลประกอบการปี 2565 รายได้เติบโตมากกว่า 20% ผลักดันรายได้จาก Omnichanel สัดส่วนแตะ 18%
  • ปี 2566 เตรียมอัดงบลงทุน 28,000 ล้านบาท ขยายสาขาทุกหมวดธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม เล็งตลาดเวียดนามสดใส โมเดิร์นเทรดยังโตได้อีก 4 เท่า
  • ครึ่งปีหลังมีเซอร์ไพรส์ เปิดตัวธุรกิจใหม่ในประเทศไทย และจะส่งเข้าสู่ตลาดเวียดนามด้วย โดยเป็นธุรกิจที่ ‘ขยายตัวได้สูง’
  • “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC สรุปผลการดำเนินงานปี 2565 ทำรายได้เติบโต 20% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ และใช้งบลงทุนไป 18,000-20,000 ล้านบาท

    เซ็นทรัล รีเทล 2566
    “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

    สัดส่วนรายได้ 18% ยังมาจากการขายผ่าน Omnichannel ที่เซ็นทรัล รีเทลผลักดันมาตลอดและมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสูง มีการปรับปรุงหลังบ้านใหม่ทั้งหมด

    ญนน์มองว่าตัวเลข 18% เป็นสัดส่วนการขายที่น่าพึงพอใจ สามารถกล่าวได้ว่า CRC ปรับตัวมาเป็นรีเทลแบบ Omnichannel ได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมก้าวสู่อนาคตค้าปลีกที่ผู้บริโภคน่าจะใช้ช่องทางผสมผสานเช่นนี้มากยิ่งขึ้น คาดว่าสัดส่วนจาก Omnichannel จะขึ้นไปถึง 25% ภายใน 5 ปี

    “สิ่งที่เราจะขายไม่ใช่แค่สินค้า แต่ต้องเป็น ‘Total Solutions’ ต้องมีบริการที่ดี และประสบการณ์ที่ดีด้วย ไม่ใช่การฟาดฟันเรื่องราคาเท่านั้น” ญนน์ฉายภาพวิสัยทัศน์การขายแบบ Omnichannel ที่เซ็นทรัล รีเทลกำลังเดินไป

     

    ปี 2566 เตรียมงบลงทุน 28,000 ล้าน รับตลาดฟื้น

    ด้านแผนการลงทุนค้าปลีกแบบ “กายภาพ” ของปี 2566 เซ็นทรัล รีเทล เตรียมงบลงทุนไว้ 28,000 ล้านบาท ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุน 150,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2566-2570)

    งบดังกล่าวจะมีการลงทุนสาขาใหม่ แบ่งตามประเทศและแบรนด์รีเทล ดังนี้

    ประเทศไทย

    • เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ 2 สาขา
    • ไทวัสดุ และ ไทวัสดุ ไฮบริด ฟอร์แมท 10 สาขา
    • ท็อปส์ 15 สาขา

    ประเทศเวียดนาม

    • ศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! รวม 5-7 สาขา
    • ซูเปอร์มาร์เก็ต Tops Market และ Mini go! รวม 8-10 สาขา
    • เหงียนคิม 5 สาขา และรีโนเวตใหม่ 10-12 สาขา

    เม็ดเงินลงทุนแบ่งเป็นในประเทศไทยราว 70-75% และในต่างประเทศ 25-30%

    ปีนี้ “ท็อปส์” จะมีการขยาย 15 สาขาในไทย

    ญนน์ยังแย้มด้วยว่า ครึ่งปีหลังปีนี้ CRC จะมีการเปิดธุรกิจใหม่ที่ ‘ขยายตัวได้สูง’ โดยจะเริ่มเปิดที่ประเทศไทยก่อน และจะส่งเข้าประเทศเวียดนามต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของธุรกิจใหม่

     

    โอกาสในเวียดนามสดใส โมเดิร์นเทรดโตได้อีก 4 เท่า

    สำหรับตลาดเวียดนามถือเป็นตลาดสำคัญของเซ็นทรัล รีเทลหลังเข้าไปบุกตลาดมานาน 10 ปี ญนน์กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเซ็นทรัลถือเป็นผู้เล่นจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจค้าปลีกเวียดนาม โดยมีการเปิดธุรกิจไปแล้ว 41 จังหวัด ครอบคลุม 70% ของตลาด และต้องการจะไปให้ครบ 100%

    กลยุทธ์การบุกเวียดนามของ CRC ใช้กลุ่มฟู้ดเป็นตัวนำทางด้วยแบรนด์ GO! ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้า และปีนี้จะยิ่งแทรกซึมเข้าไปในตลาดท้องถิ่น ด้วยการเปิดแบรนด์ Mini go! เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมทั้งโมเดลลงทุนที่ดินเองหรือจับมือกับแลนด์ลอร์ดเพื่อเปิดสาขา

    แบรนด์ Go!
    Go! Mall ประเทศเวียดนาม

    ญนน์ระบุว่า ตลาดค้าปลีกเวียดนามยังเป็นตลาดของค้าปลีกดั้งเดิม (TT) เป็นส่วนใหญ่ สัดส่วนของโมเดิร์นเทรดยังมีแค่ 5% เท่านั้น ทำให้โอกาสในเวียดนามยังมีอีกสูงมาก เชื่อว่าตลาดจะโตกว่านี้ได้อีกอย่างน้อย 4 เท่า หรือมีโมเดิร์นเทรดเป็นสัดส่วน 20-30% ของตลาดค้าปลีกภายใน 10 ปีข้างหน้า

     

    รายได้รวม “เซ็นทรัล รีเทล” โตต่อ 12-15%

    รายได้ปีก่อนโตพุ่ง 20% แต่ปี 2566 ญนน์มองว่ารายได้เซ็นทรัล รีเทลยังโตได้อีก 12-15% และวางเป้า EBITDA เติบโต 18-20%

    การเติบโตเหล่านี้มาจากเศรษฐกิจไทยที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์จีดีพีไทยจะเติบโตไม่น้อยกว่า 3% ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกโตได้ 6-8% และปีนี้ไทยยังจะมีการเลือกตั้งด้วยซึ่งปกติมักจะส่งให้เศรษฐกิจเดินสะพัด

    ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเซ็นทรัล รีเทลเป็นลูกค้าระดับกลางถึงบนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาน้อยกว่า และยังมีทำเลที่รับนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ, พัทยา, ภูเก็ต, เกาะสมุย ถือเป็นรายได้เพิ่มเติมเข้ามา

    โรบินสันไลฟ์สไตล์ บ้านฉาง หลังปรับปรุงใหม่

    นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทลมีการกระจายตลาดไปในต่างประเทศ คือ เวียดนาม และ อิตาลี (ห้างฯ รีนาเชนเต้) ซึ่งในเวียดนามนั้นเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ส่วนในอิตาลีนั้นค้าปลีกกลุ่มลักชัวรีฟื้นตัวได้ดีมาก

    ภาพรวมปี 2566 จึงน่าจะสดใสสำหรับเซ็นทรัล รีเทล วัดจากเดือนมกราคมปีนี้ ญนน์กล่าวว่าบริษัททำรายได้ได้ตามเป้าที่วางกรอบการเติบโต 12-15% ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา และมีแรงกระตุ้นจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ช่วยดันยอดได้ 2-3%

    “ยุทธศาสตร์ของเราสั้นๆ คือ สิ่งไหนที่เราเป็นเบอร์ 1 เราจะยึดตำแหน่งนั้นต่อไป สิ่งไหนที่เรายังไม่เป็นเบอร์ 1 เราจะต้องทำให้ได้” ญนน์กล่าว

    ]]>
    1418030
    รู้จักแบรนด์ “Go!” ในเครือ “เซ็นทรัล” ใช้บุกเซ็กเมนต์ “ราคาประหยัด” ตั้งแต่ค้าปลีกถึงโรงแรม https://positioningmag.com/1388952 Thu, 16 Jun 2022 06:22:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388952 แบรนด์ Go! ปรากฏขึ้นในแผนธุรกิจเครือ “เซ็นทรัล” อีกครั้งเมื่อเซ็นทรัลพัฒนาประกาศใช้แบรนด์นี้ทำตลาดโรงแรมระดับพรีเมียมแมสในนาม “Go! Hotel” หลังจากก่อนหน้านี้เมืองไทยได้เห็นทั้งแบรนด์ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด “Go! Wow” และแบรนด์ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน “Go! Power” แล้วแบรนด์ “ราคาประหยัด” นี้ที่จริงแล้วเริ่มต้นมาจากไหน?

    แบรนด์ Go! นั้นถือกำเนิดขึ้นในประเทศเวียดนามเมื่อปี 2561 จากสถานการณ์การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ทำให้ “เซ็นทรัล” ต้องคิดค้นปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาแทนที่แบรนด์เก่าซึ่งจะไม่อยู่ในครอบครองของบริษัท

    ปูพื้นก่อนว่าเครือเซ็นทรัลนั้นเริ่มเข้าไปทำตลาดเวียดนามตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มจากส่งแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเข้าไปจำหน่าย ก่อนที่ปี 2558 จะเริ่มการบุกค้าปลีก เข้าซื้อหุ้น “เหงียนคิม” ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ “ลานซี มาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางถึงใหญ่

    โอกาสครั้งใหญ่ในเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 กลุ่มคาสิโน จากฝรั่งเศสต้องการขายกิจการ “บิ๊กซี” ในเวียดนามและประเทศไทย หลังจากเจรจาดีลกันแล้วปรากฏว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อบิ๊กซีเวียดนาม ส่วนกลุ่มบีเจซีได้สิทธิเข้าซื้อบิ๊กซีฝั่งไทย และยังได้ถือลิขสิทธิ์แบรนด์บิ๊กซีอีกด้วย

    นั่นหมายความว่าในอนาคต เมื่อสิ้นสุดสัญญาใช้แบรนด์ (คาดหมดสัญญาราวปี 2565) กลุ่มเซ็นทรัลจะต้องเปลี่ยนแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนามไปเป็นอย่างอื่น ทำให้เซ็นทรัลมีการปั้นแบรนด์ใหม่ของตนเองในชื่อ “Go!” ใช้แบรนด์เป็นสีแดง-ขาว ฟอนต์ตัวอักษรดูสนุกสนาน สดใส เป็นกันเอง ฉีกแนวไปจากบิ๊กซีเดิม แต่ว่ายังสื่อสารแบรนด์ในกลุ่มเซ็กเมนต์เดิม คือเป็นแบรนด์ “ราคาประหยัด” และยังใช้สโลแกนเดิมคือ “ราคาถูกเสมอ”

    แบรนด์ Go!
    Go! Mall ประเทศเวียดนาม

    Go! ถูกนำมาใช้งานตั้งแต่ช่วงปี 2561 และทยอยรีแบรนด์บิ๊กซีเป็นชื่อใหม่นี้ ปัจจุบัน “เซ็นทรัลรีเทล” ได้ขยายแบรนด์ Go! ในเวียดนามไปหลายฟอร์แมท ได้แก่

    • Go! Hypermarket โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ เน้นทำเลหัวเมือง
    • Go! Mall ค้าปลีกสไตล์ใหม่ ผสมผสานซูเปอร์มาร์เก็ตเข้ากับส่วน กิน ช้อป เล่น และเรียนรู้ มีร้านอาหาร ร้านค้าแฟชั่น จนถึงโรงภาพยนตร์ (คล้ายกับโรบินสันไลฟ์สไตล์)
    • Mini Go! ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมลงมา เน้นทำเลเมืองรองและชนบท
    Go! Hypermarket ในเวียดนาม

    จากนั้นเมื่อเซ็นทรัลรีเทลมีแผนจะเปิดธุรกิจใหม่ในไทยโดยเป็นตลาดระดับราคาประหยัด ทำให้แบรนด์ Go! ถูกดึงมาใช้ที่ไทยได้พอดี และตามด้วยแผนของเซ็นทรัลพัฒนาที่จะเปิดโรงแรมระดับ 3 ดาวที่สอดคล้องกับลักษณะแบรนด์ โดยมีการเปิดตัวธุรกิจต่างๆ ภายใต้แบรนด์นี้แล้ว ดังนี้

    • Go! Wow ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดตัวครั้งแรกปี 2564 ปัจจุบันขยายไป 23 สาขา และมีแผนเปิดครบ 70 สาขาภายในปีนี้ โดยคอนเซ็ปต์ร้านขายสินค้าจิปาถะราคาเริ่มต้นเพียง 5 บาท ร้านมีขนาดใหญ่ ลงทำเลทั้งในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และสแตนด์อโลนที่เจาะเข้าไปในชุมชน
    Go! Wow ในรูปแบบสแตนด์อโลน
    • Go! Power ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาประหยัด เปิดตัวครั้งแรกปี 2564 ปัจจุบันขยายไปแล้ว 7 สาขา คอนเซ็ปต์ร้านเน้นทางเลือกเงินผ่อนสำหรับลูกค้า โดยจับมือกับธุรกิจลิสซิ่งเพื่อให้ลูกค้าผ่อนได้ง่ายโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ทำเลเลือกตั้งในชุมชนต่างจังหวัด
    บรรยากาศร้าน Go! Power
    • Go! Hotel โรงแรมระดับพรีเมียมแมสที่พัฒนาโดยเซ็นทรัลพัฒนา และบริหารโดยเซ็นทารา เกิดจากนโยบายของเซ็นทรัลพัฒนาที่ต้องการโรงแรมประกบคู่กับศูนย์การค้าในหัวเมืองรอง เจาะกลุ่มลูกค้าไทยที่มีทั้งการเดินทางเพื่อพักผ่อนและเพื่อธุรกิจ ต้องการโรงแรมราคาไม่สูงมากแต่ได้มาตรฐาน
    โรงแรม 3 ดาว
    ภาพจำลอง Go! Hotel

    หลังโลดแล่นในตลาดมา 4 ปี นับว่าแบรนด์ Go! มีการขยายไปใช้ในธุรกิจต่างๆ หลากหลายทั้งในเวียดนามและในไทย ทำให้เป็นฐานแบรนด์สำคัญสำหรับเซ็กเมนต์ ‘ราคาประหยัด’ ของเซ็นทรัล น่าสนใจว่าธุรกิจที่แตกต่างกันแต่ใช้แบรนด์ร่วมกันของฝั่งเวียดนามและฝั่งไทย จะสามารถข้ามฟากไปปักหมุดในอีกประเทศหนึ่งได้หรือไม่ในอนาคต

    ]]>
    1388952