KERRY – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 27 Dec 2024 14:37:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับตา ‘สงครามราคา’ ตลาดโลจิสติกส์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หลัง ‘ไปรษณีย์ไทย’ เตรียมปรับค่าส่งพื้นฐานระยะ 2 เริ่ม 1 ม.ค. 2568 https://positioningmag.com/1505217 Fri, 27 Dec 2024 09:42:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1505217 ย้อนไปช่วงที่ COVID-19 ระบาด ช่วงปี 2020-2022 ถือเป็นช่วงที่ อีคอมเมิร์ซ เติบโตอย่างก้าวกระโดด และอีกธุรกิจที่เติบโตตามก็คือ โลจิสติกส์ ที่แข่งขันกันดุเดือด ไม่สนใจ ต้นทุน ที่พุ่งขึ้นจากราคาน้ำมัน และที่น่าสนใจคือ สงครามราคาจะกลับมาอีกไหม หลังจากที่พี่ใหญ่เบอร์ 1 อย่าง ไปรษณีย์ไทย ถึงเวลาปรับอัตราค่าบริการระยะที่ 2 ในปีหน้านี้

ย้อนรอยไปรษณีย์ ขึ้นราคาในรอบ 18 ปี

หากใครยังจำกันได้ ช่วงปี 2022 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาในปี 2020 ที่ COVID-19 ระบาดใหม่ ๆ ส่งผลให้ผู้เล่นรายแรกที่ขยับปรับขึ้นราคาก็คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่ได้ขอปรับอัตราค่าบริการเป็น ครั้งแรกในรอบ 18 ปี

แน่นอนว่าที่สาเหตุของไปรษณีย์ไทยต้องปรับราคาเป็นเพราะ ต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับการมาของคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ตบเท้าเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่ปี 2021 ไปรษณีย์ไทยก็ประสบปัญหา ขาดทุน โดย 

  • ปี 2021 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท
  • ปี 2022 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท

ฉวยโอกาสดัมพ์ราคา

หลังจากที่พี่ใหญ่ของตลาดต้องปรับราคา แม้จะไม่ใช่ราคาที่ปรับสูงมาก โดยมีการปรับราคาเพิ่มเติมตามแต่ละน้ำหนัก เช่น จาก 10-20 กรัม 3 บาทก็ปรับเป็น 5 บาท, น้ำหนัก 20-100 กรัม จาก 5 บาทเป็น 10 บาท เป็นต้น แต่คู่แข่งก็ไม่ปล่อยโอกาสนี้ไป โดยถือโอกาส ดัมพ์ราคา ออกโปรโมชั่น เพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์จากเบอร์ 1 ทันที

อย่างเช่น Kerry หรือ KEX ปัจจุบัน ที่นับตั้งแต่ไปรษณีย์ประกาศขึ้นราคา ก็ทำการออกโปรโมชั่นเปิดราคาใหม่เริ่มต้นเพียง 15 บาท ต่ำกว่า J&T ที่เริ่มต้น 19 บาท ส่วน Flash Express ก็ลดราคาลง 10% สำหรับการส่งพัสดุที่มีขนาด 1 กิโลกรัม หรือความยาว x กว้าง x สูง ไม่เกิน 40 เซนติเมตร

จับตาจะเกิดสงครามราคาอีกหรือไม่?

จะเห็นว่าในช่วงที่ไปรษณีย์ไทยปรับราคา ทำให้บรรดาคู่แข่งต่างชิงโอกาสลดราคาเพื่อแย่งลูกค้า ดังนั้น คงต้องรอดูว่าการ ปรับอัตราค่าบริการช่วงที่ 2 ที่จะเริ่ม 1 ม.ค. 2025 นี้ บรรดาคู่แข่งในตลาดจะทำโปรโมชั่นเพื่อมาแข่งขันหรือไม่ โดยปัจจุบันอัตราค่าบริการเริ่มต้นของผู้ให้บริการแต่ละราย ดังนี้

  • KEX : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 30 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 50 บาท
  • Flash Express : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 25 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 35 บาท
  • DHL : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 23 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 28 บาท
  • J&T : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 24 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 26 บาท
  • Ninja Van : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 23 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 30 บาท
  • Best Express : เริ่มต้น 40 บาททุกพื้นที่

สำหรับไปรษณีย์ไทยที่จะปรับอัตราค่าบริการระยะที่ 2 ได้แก่ จดหมายประเภทซอง จดหมายประเภทหีบห่อ จดหมายประเภทซองลงทะเบียน จดหมายประเภทหีบห่อลงทะเบียน ของตีพิมพ์ ไปรษณียบัตร และพัสดุไปรษณีย์จดหมายลงทะเบียนแบบซอง ดังนี้

หรือคุณภาพสำคัญกว่าราคา?

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมาของตลาดโลจิกสติกส์ จะไม่ค่อยเห็น สงครามราคา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เล่นรายยังคง ขาดทุน ต่อเนื่องทุกปี อาทิ

  • Kerry ปี 2023 มีรายได้ 11,470.3 ล้านบาท ขาดทุน 3,880.6 ล้านบาท 
  • Flash Express ปี 2023 มีรายได้ 20,093 ล้านบาท ขาดทุน 559 ล้านบาท
  • J&T ปี 2023 มีรายได้ 18,511 ล้านบาท ขาดทุน 7,093 ล้านบาท

ดังนั้น หากจะ หั่นราคา ก็อาจจะต้องไปหาทาง ลดต้นทุน ในภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อ คุณภาพการทำงาน โดย แหล่งข่าวในแวดวงโลจิสติกส์ มองว่า แผนกที่มักจะได้รับผลกระทบจากการลดต้นทุนก็คือ พนักงานขนส่ง ที่อาจจะมีการ จ้างน้อยลง หรือ ลดผลตอบแทน จนนำไปสู่เหตุการณ์ คลังแตก

ซึ่งปัญหาคลังแตก ถือเป็นอีกประเด็นที่ผู้ให้บริการหลายรายเริ่มกังวล เพราะต่อให้ทำราคาได้ดี แต่หากลูกค้ารู้สึก ไม่ไว้วางใจ เพราะกังวลว่าพัสดุจะตกหล่น ก็อาจจะยอม จ่ายแพงกว่า เพื่อซื้อความสบายใจ ส่งผลให้ผู้เล่นหลายรายหันมาเน้นที่เรื่องของความเชื่อมั่นโดยเฉพาะ ไปรษณีย์

iPost บริการจุดส่งไปรษณีย์ (ภาพจากไปรษณีย์ไทย)

นับตั้งแต่ไปรษณีย์ไทยปรับราคา ทำให้กลยุทธ์ของบริษัทก็หันไปเน้นที่ คุณภาพ เพื่อสร้างแบรนด์ ทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังจากขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี โดยในปี 2566 รายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโต +7.40% มีกำไร 78.54 ล้านบาท โดยรายได้จาก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดเติบโต +19.35% 

ขณะที่รายได้ 9 เดือนแรกของปี 2024 มีรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท มีกำไร 31 ล้านบาท โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เติบโต +3.34% และ ระดับความเชื่อมั่นแบรนด์ สูงถึง 91.87% และยังคงครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของตลาด โดย

  • ไปรษณีย์ไทย : มีส่วนแบ่งการตลาด 23.5%
  • KEX : มีส่วนแบ่งการตลาด 20.1%
  • Flash Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 17.4%
  • DHL Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 16.5%
  • J&T Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 13.9%

ทั้งนี้ SHIPPOP ผู้ให้บริการออนไลน์เชื่อมโยงระบบขนส่ง ประเมินว่า ตลาดโลจิสติกส์ปีนี้จะมีมูลค่า 1.07 แสนล้านบาท เติบโต +12% ซึ่งก็คงต้องรอดูว่าจะมีผู้เล่นคนไหนจะยอมลดราคาเพื่อจะแย่งชิงลูกค้าเหมือนที่ไปรษณีย์ขึ้นราคาระยะแรกเมื่อปี 2022 หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ แค่ราคาอาจไม่พอ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย

]]>
1505217
ผลประกอบการ KERRY ปี 65 ขาดทุนกว่า 2.8 พันล้าน พิษต้นทุนพุ่ง ตลาดแรงงานตึงตัว https://positioningmag.com/1419699 Thu, 16 Feb 2023 14:49:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1419699 KERRY Express เปิดผลประกอบการปี 65 ขาดทุนกว่า 2.8 พันล้านบาท เจอพิษต้นทุนพุ่ง ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่มีสภาวะตึงตัวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เผยปีนี้มุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดพึ่งพาแรงงาน

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับรายงานผลดำเนินงานประจำปี 2565 โดยพบว่า บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 2,829.8 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน และมีรายได้รวม 17,003 ล้านบาท ลดลง 9.6% จากปีก่อนหน้า โดยสาเหตุมาจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่มีสภาวะตึงตัวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายการขายและการบริหารปรับตัวเพิ่มขึ้น +44.7% อยู่ที่ 1,996.4 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4 ปี 2565 KEX ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งการลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรส่วนเกินเชิงรุก การปรับโครงสร้างของพนักงานในองค์กร การปิดสาขาจุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุที่มีต้นทุนสูง และประสิทธิภาพต่ำ การปรับปรุงการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 384.2 ล้านบาท ใน 2565 รวมถึงค่าชดเชยพนักงาน และใช้จ่ายในการปิดสาขา และศูนย์บริการต่างๆ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงินสด และเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องรวม 2,963.1 ล้านบาท ลดลง 59.4% จากปีก่อน เนื่องจากใช้การดำเนินงาน และจ่ายชำระหนี้สินตามสัญญาเช่า นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถเพิ่มการจัดส่งพัสดุได้เพิ่มขึ้น 18% แต่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อตลาดกลับเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ ตามด้วยการเปิดประเทศ และธุรกิจ E-Commerce เติบโตชะลอตัวลง ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถลดต้นทุนการจัดส่งต่อหน่วยได้รวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทฯ วางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การลงทุนปรับปรุงกระบวนการและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน และมุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการที่ดี เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย

]]>
1419699
‘Kerry-Flash’ สบโอกาส ‘ไปรษณีย์’ ขึ้นราคา จัดโปร ‘ดัมพ์ค่าส่ง’ หวังโกยลูกค้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ https://positioningmag.com/1392782 Fri, 15 Jul 2022 09:24:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392782 หากพูดถึง ‘ราคาน้ำมัน’ แม้จะเริ่มปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่ถ้าเทียบกับปี 2020 ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ราคาน้ำมันในปัจจุบันก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึง เท่าตัว แน่นอนว่าหลายคนต้องคิดว่าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ธุรกิจที่ต้องใช้น้ำมันเยอะ ๆ อย่าง ‘โลจิสติกส์’ ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน โดยผู้เล่นรายแรกที่ออกมาปรับขึ้นราคาก็คือ ไปรษณีย์ไทย แต่ที่น่าสนใจคือ คู่แข่งได้ใช้โอกาสนี้ดัมพ์ราคาลงอีก โดยไม่แคร์ถึงต้นทุนที่สูงเลยทีเดียว

ไปรษณีย์ไทยขึ้นราคาในรอบ 18 ปี

ย้อนไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่จะปรับอัตราค่าบริการ โดยได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากในช่วง 18 ปีที่ผ่านา บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ไม่ได้ขอปรับอัตราราคาค่าบริการ

โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม คือวันแรกของการบังคับใช้ โดย จดหมายประเภทซอง แม้จะเริ่มต้น 3 บาทเช่นเดิม แต่มีการปรับราคาเพิ่มเติมตามแต่ละน้ำหนัก เช่น จาก 10-20 กรัม 3 บาทก็ปรับเป็น 5 บาท, น้ำหนัก 20-100 กรัม จาก 5 บาทเป็น 10 บาท เป็นต้น ส่วน จดหมายประเภทหีบห่อ น้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม ราคาอยู่ที่ 30 บาท และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม

แน่นอนว่าที่สาเหตุของไปรษณีย์ไทยต้องปรับราคาเป็นเพราะ ต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่กิจการไปรษณีย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มประสบปัญหาขาดทุน โดยปีที่ผ่านมาแม้จะมีรายได้ถึง 22,000 ล้านบาท แต่ก็ ขาดทุนถึง 1,600 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทจำต้องปรับราคาค่าส่ง

KerryFlash สบโอกาสดัมพ์ราคา

คงไม่ต้องบอกว่า ตลาดขนส่งพัสดุไทย (Parcel Delivery) นั้นแข่งขันรุนแรงแค่ไหน เพราะมีคู่แข่งจากต่างชาติตบเท้าเข้ามาจำนวนมาก ที่เห็นจะมี Kerry, Flash, J&T, Best Express, Ninja Van เป็นต้น โดยในช่วงปี 2019-2021 ตลาดสามารถเติบโตได้ถึง 38% โดยในปี 2021 ตลาดมีมูลค่ากว่า 91,000 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ตลาดปีนี้อาจเติบโตได้ถึง 17% คิดเป็นมูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาท และมีปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 7 ล้านชิ้นต่อวัน

ที่น่าสนใจคือ แม้ต้นทุนจะสูงแต่กลับยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวของผู้เล่นเจ้าไหนที่จะปรับราคาขึ้น แต่หลังจากไปรษณีย์ไทยปรับราคาขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Kerry และ Flash ทำโปรโมชันลดราคาทันที โดย Kerry เปิดราคาใหม่เริ่มต้นเพียง 15 บาท ต่ำกว่า J&T ที่เริ่มต้น 19 บาทเสียอีก ส่วน Flash ก็ลดราคาลง 10% สำหรับการส่งพัสดุที่มีขนาด 1 กิโลกรัม หรือความยาว x กว้าง x สูง ไม่เกิน 40 เซนติเมตร เรียกได้ว่าลดราคา สวนทางต้นทุนที่พุ่งสูง

คำตอบคือ ที่ผ่านมา ผู้เล่นแต่ละรายจำต้อง บริหารต้นทุนเพื่อตรึงราคาไว้ก่อน เพื่อให้สามารถ แข่งขันกับคู่แข่ง ได้ และเมื่อมีใครปรับราคาขึ้นหรือลง แต่ละแบรนด์ถึงจะเริ่มขยับตาม และในกรณีที่ไปรษณีย์ไทยที่เป็นผู้เล่นที่กินมาร์เก็ตแชร์ถึง 57% จึงถือเป็นโอกาสทองให้ผู้เล่นรายใหญ่รีบ ดัมพ์ราคา เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด เพราะต้องยอมรับว่าตลาดไม่ได้มีลอยัลตี้ขนาดนั้น รายไหนให้ราคาดีก็ใช้เจ้านั้นเพื่อประหยัดต้นทุน

หารายได้จากเซ็กเมนต์อื่น

เมื่อทุกคนหันมาแข่งราคากันหมด คำถามคือ เอากำไรจากไหน? คำตอบคือ ความ เฉพาะทาง ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น พัสดุขนาดใหญ่ อย่างเช่น ต้นไม้, อะไหล่รถ หรืออย่าง สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น และจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น (และไม่รู้จะลดลงเมื่อไหร่) การวางแผนควบคุมต้นทุนระยะยาวจึงจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้น จึงเริ่มเห็นเทรนด์การนำ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มาใช้งานเพื่อเป็นการลดต้นทุนระยะยาว

จับตายักษ์ใหญ่ ‘โลจิสติกส์’ แตกเซกเมนต์ใหม่ ‘Bulky’ ส่งของชิ้นใหญ่ฉีกหนี ‘สงครามราคา’

ด้วยตลาดที่ยังเติบโต ผู้เล่นที่มีมากตลาดขนส่งพัสดุจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ไม่ใช่แค่คำแผนทำโปรโมชันหรือแข่งราคา ผู้เล่นแต่ละรายยังต้องพยายามที่จะบริหารต้นทุนให้ได้ดีที่สุด และมองหาลู่ทางสร้างกำไร เพื่อที่จะยังเป็นผู้อยู่รอดในตลาดต่อไป

]]>
1392782
KERRY ฟันรายได้ปี 64 รวม 18,818 ล้านบาท แต่กำไรหดเหลือ 47 ล้านบาท https://positioningmag.com/1373961 Tue, 15 Feb 2022 02:56:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373961 KERRY Express ปิดปี 2564 ทำลายสถิติยอดจัดส่งพัสดุโตสูงสุด 30% รายได้รวม 18,818 ล้านบาท แต่กำไรหดเหลือ 47 ล้านบาท เตรียมออกบริการใหม่ และจับมือพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจจัดส่งพัสดุถึงแม้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันก็ดุเดือดตามมาเช่นกัน โดยในตอนนี้แต่ละรายต่างกระโจนลงมาหั่นราคากันเลือดสาด เรียกว่ายอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อดึงฐานลูกค้า

KERRY หรือ KEX เป็นอีกหนึ่งรายที่เข้ามาทำตลาดในไทยเป็นอันดับต้นๆ วางจุดยืนเป็นผู้จัดส่งด่วนในระดับค่อนข้างพรีเมียม เรียกว่ามีราคาสูงกว่าเจ้าอื่นๆ แต่เมื่อการแข่งขันหนักมากขึ้น ทำให้ KERRY ก็ต้องยอมหั่นราคาลงตามบ้าง

จากตอนแรกที่เราเห็นในตลาดที่มีค่าส่งเริ่มต้นที่ 35 บาท ก็เริ่มลงมาที่ 30 บาทบ้าง 25 บาทบ้าง 19 บาทบ้าง จนตอนนี้มีบางรายดัมพ์ราคาไปจนถึง 15 บาทแล้ว

Photo : Shutterstock

ถึงแม้ผู้ประกอบการจะมีรายได้สูงจากการส่งสินค้าจำนวนมากๆ ก็จริง แต่กำไรก็หายไปด้วยเช่นกัน

ในปี 2564 KERRY ปิดรายได้ที่ 18,818 ล้านบาท แต่กำไรเหลือเพียง 47 ล้านบาทเท่านั้น มีปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนเติบโต 30% จากปีก่อน และมีผู้ใช้บริการรายเดือนเพิ่มขึ้น 32%

อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX เปิดเผยว่า

“จากกลยุทธ์ต่างๆ ทำให้ยอดจัดส่งพัสดุเติบโตเป็นที่น่าประทับใจ เติบโตกว่า 30% จากปีก่อนหน้า ดึงส่วนแบ่งตลาด และมีผู้ใช้บริการรายเดือนเพิ่มขึ้น 32% ส่งผลให้รายได้ประจำปี 2564 เท่ากับ 18,818 ล้านบาท ขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ทุกกลุ่มตลาดทั้งตลาด e-commerce, social และ live-stream commerce โดยเราลงทุนในกำไรในระยะสั้นเพื่อการเป็นผู้นำในระยะยาว แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาจะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากมาย”

ในปี 2564 ที่ผ่านมา KERRY มีการจับมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจชุมชนผ่านโมเดลตัวแทน หรือ reseller model เปิดตัว Orange Express เพื่อขยายเครือข่ายและจุดให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ประกาศความร่วมมือกับ Grab Thailand เปิดบริการ “รับพัสดุถึงหน้าบ้านแบบทันที” และ “รับพัสดุถึงหน้าบ้านแบบรายชั่วโมง” ปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา KEX ร่วมทุนกับเครือเบทาโกร ภายใต้แบรนด์ KERRY COOL ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ล่าสุดได้ประกาศจับมือกับ Central Retail จัดตั้งบริษัทลงทุนในธุรกิจ less-than-truckload (LTL) delivery หรือการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์ KERRY XL พร้อมให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

]]>
1373961
จับตายักษ์ใหญ่ ‘โลจิสติกส์’ แตกเซกเมนต์ใหม่ ‘Bulky’ ส่งของชิ้นใหญ่ฉีกหนี ‘สงครามราคา’ https://positioningmag.com/1373383 Wed, 09 Feb 2022 09:04:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373383 หากพูดถึงตลาด โลจิสติกส์ แล้ว เชื่อว่าแม้ไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการยังมองออกว่าแข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน เนื่องจากมีผู้เล่นมากมายโดยเฉพาะจากต่างประเทศตบเท้าเข้ามาฟาดฟันกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นว่าปีที่ผ่านมา ‘อัลฟ่า’ ที่ต้องยอมถอยปิดกิจการก่อนที่จะเจ็บไปมากกว่านี้ ขณะที่รายใหญ่เองก็เริ่มหาทางขยับหนีออกจากสงครามราคาแล้ว เพราะตอนนี้ตลาดเองก็ไม่ได้เติบโตเหมือนก่อนหน้านี้

ตลาดโตน้อย ต้นทุนสูงขึ้น

อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ในปี 2564 แม้มีแนวโน้มขยายตัว 19% หรือมีมูลค่าราว 71,800 ล้านบาท แต่ก็น้อยกว่าปี 63 ที่เติบโตถึง 31.3% ในขณะที่ปี 65 นี้ คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ก็มองว่าการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปีนี้ก็จะยิ่งชะลอตัวลง และไม่ใช่แค่การเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่ปัญหาต้นทุนพลังงานอย่าง ‘น้ำมัน’ ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจาก 20 บาท ขึ้นเป็น 30 บาท สวนทางกับราคาค่าบริการที่ถูกลงเพราะสงครามราคา

“ภาพของตลาดโลจิสติกส์ปีนี้อาจจะไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนกับปีที่ผ่านมา ๆ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย โดยจะเห็นว่ากำลังซื้อลดลงทำให้การซื้อสินค้าแฟชั่นลดลง เน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภคแทน ต้องยอมรับว่าต้นทุนของเราสูงขึ้น และการแข่งขันในตลาดยังคงสูงโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาที่ยังคงดุเดือด เนื่องจากผู้เล่นแต่ละรายต่างระดมทุนมาได้มากขึ้นก็มาใส่กับโปรโมชัน”

คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด

Bulky เซกเมนต์ใหม่ที่ใคร ๆ ก็ไป

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่การซื้อของออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผู้คนคุ้นเคยกับการสั่งของ สั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น จึงได้เห็นผู้เล่นตลาดโลจิสติกส์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศก็เข้ามาจับจองตลาดกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าตลาดได้กลายเป็น Red Ocean แข่งขันกันอย่างดุเดือด

หากพูดถึงแง่ของคุณภาพการให้บริการจะเห็นว่าผู้เล่นแต่ละรายแทบจะกลืนกันไปหมด ในช่วงแรกมีการพูดถึงจุดเด่นด้านความเร็วในการจัดส่ง ต่อมาก็เริ่มเข้าสู่ยุคการใช้พรีเซ็นเตอร์เพื่อเพิ่มการสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้ จะเห็นว่าช่วงหนึ่งมีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ตามกันรัวๆ แบบไม่มีใครยอมใคร

มาจนถึงจุดที่การแข่งขันสูงมากๆ การส่งพัสดุเข้าสู่ยุค ‘สงครามราคา’ มีการตัดราคากันเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องการผู้ส่งที่ค่าส่งถูกๆ เพื่อลดต้นทุนในการจัดส่งสินค้าได้มากขึ้น จากค่าส่งที่เริ่มต้น 25 บาท เริ่มลดลงเป็น 20 บาทบ้าง 19 บาทบ้าง ล่าสุดที่ J&T ทุบราคาไปที่เริ่มต้น 15 บาท

นอกจากเรื่องปัจจัยราคาแล้ว ผู้เล่นในตลาดยังต้องขยายบริการเพื่อหาน่านน้ำใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริการส่งพัสดุแบบ Same Day ได้รับสินค้าภายในวันเดียวกัน หรือมีบริการเก็บเงินปลายทาง รองรับพฤติกรรมของคนไทยที่ยังต้องจ่ายเงินหลังรับของ รวมไปถึงการส่งแบบเย็น หรือเก็บอุณหภูมิ ที่ตอนนี้แทบทุกเจ้าจะต้องมีบริการนี้ เพื่อรองรับแม่ค้าสายอาหาร เบเกอรี่

หรือล่าสุดที่หลายรายเริ่มมาจับตลาดก็คือ Bulky หรือ สินค้าที่มีน้ำหนักมาก เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้ซื้อสินค้าออนไลน์เพียงแค่ของชิ้นเล็กอย่างเดียวเท่านั้น แต่ซื้อทุกอย่างที่อยากได้ ชิ้นใหญ่ หรือน้ำหนักเยอะก็ไม่หวั่น

แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นว่าปีที่ผ่านมามีเทรนด์ของ ไม้ด่าง ทำให้มีการสั่งซื้อต้นไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก หรืออย่าง อะไหล่รถยนต์ ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์รายใหญ่

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่เห็นการเติบโตบนอีคอมเมิร์ซ คือ สินค้าประเภทของใช้สัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ฟิตเนส เติบโตขึ้น 71% เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จำพวก ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เติบโต 63% และ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เติบโต 55% ซึ่งล้อไปกับเทรนด์การใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น

จากเทรนด์ดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้บริการจะเริ่มให้ความสนใจที่จะเพิ่มบริการส่งของชิ้นใหญ่ อย่าง

  • BEST Express ที่มีบริการ BEST Big Parcel สำหรับส่งพัสดุขนาดใหญ่สูงสุด 300 กก.
  • Flash Express ก็มี Bulky Service รับพัสดุตั้งแต่ 5-100 กก. เริ่มต้น 50 บาท
  • ไปรษณีย์ไทย ก็มีบริการ Logispost ส่งสินค้าชิ้นใหญ่ตั้งแต่ 20-200 กก.
  • SCG Express ก็มีบริการ ยกใหญ่ ไซซ์บิ๊ก จัดส่งพัสดุที่มีน้ำหนัก 25-50 กก.
  • Kerry ก็มีบริการ Kerry Less than Truck Load ส่งพัสดุน้ำหนัก 30 กก. ขึ้นไป

เหลือแต่ J&T ที่ยังรับน้ำหนักพัสดุสูงสุดที่ 30 กก. ดังนั้น ต้องรอดูว่าจะลงมาเล่นในตลาดนี้เมื่อไหร่

รายได้เยอะ แต่แทบไม่เห็นกำไร

เนื่องจากธุรกิจโลจิสติกส์ไม่ได้มีพื้นฐานที่สามารถทำกำไรได้สูง จะอยู่ได้ต้องเน้นจำนวน ดังนั้น จะเห็นว่าอดีตเบอร์ 1 อย่าง ไปรษณีย์ไทย ในปี 2563 นั้นมีรายได้ลดลงเหลือ 23,877 ล้านบาท โดยกำไรลดลงเหลือเพียง 160 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนรายได้ของ Kerry Express 6 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 8,788 ล้านบาท ลดลง 14% มีกำไร 638 ล้านบาท ลดลง 13% ส่วนด้านของ Flash Express มีการเปิดเผยว่ารายได้ปี 64 อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท แต่ไม่เปิดเผยว่า กำไรหรือขาดทุน เท่าไหร่

แน่นอนว่าการแข่งขันด้านราคาของตลาดโลจิสติกส์จะยังอยู่ไปอีกนาน ดังนั้น จากนี้คงจะได้เห็นเซกเมนต์เฉพาะทางใหม่ ๆ เพื่อทำกำไรมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้เล่นรายเล็ก ที่จะเริ่มใช้จุดแข็งอย่างความเฉพาะทางมาใช้ยาก เพราะรายใหญ่เริ่มลงมาเล่นกันหมด

]]>
1373383
เปิดใจ “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” จาก COO ไมเนอร์ ฟู้ด สู่ความท้าทายบทใหม่กับ KERRY Express https://positioningmag.com/1371793 Sun, 30 Jan 2022 13:52:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371793 เปิดใจ “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” คีย์แมนคนสำคัญของไมเนอร์ ฟู้ด กับการโยกย้ายสู่ตำแหน่งใหม่ที่ KERRY Express พร้อมมุมมองการทำงานเกี่ยวกับการบริหาร “คน” ขอท้าทายตัวเองสู่อุตสาหกรรมใหม่ ในช่วงที่ Performance ตัวเองสูงๆ

ต้องไปในช่วงที่ตัวเองขาขึ้นสุดๆ

เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และน่าตกใจในคราวเดียวกัน เมื่อผู้บริหารระดับสูง หรือคีย์แมนคนสำคัญของ “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ประพัฒน์ เสียงจันทร์ หรือแพทริก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ หรือ COO ได้ไปรับตำแหน่งใหม่ เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

แพทริกเปรียบเหมือนลูกหม้อที่อยู่ไมเนอร์ ฟู้ดร่วมทั้งสิ้น 15 ปี การตัดสินใจย้ายงานครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียทีเดียว…

เมื่อถามถึงคำถามสุดเบสิก อะไรที่เป็นเหตุผลที่ตัดสินใจย้ายไป KERRY นั้น แพทริกได้เปิดใจตรงๆ เลยว่า อยากท้าทายตัวเองกับชีวิตก่อนเกษียณ และอยากย้ายในช่วงที่ Performance ของตัวเองอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ได้ย้ายเพราะเหนื่อย หรือเหตุผลด้านลบ เมื่อเห็นโอกาสเข้ามาก็ต้องคว้าไว้ พร้อมกับความฝันที่อยากเป็น CEO หรืออยากเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ

“เรามีปณิธานที่อยู่ในใจตลอดว่า ในขณะที่เรากำลังมี Performance ดีๆ ถ้าจะย้ายงานก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดพลาดของชีวิต บางคนจะย้ายก็ตอนเหนื่อยมากๆ ถูกกดดันมากๆ แต่เราไปในช่วงขาขึ้นจะดีกว่า ก็ท้าทายตัวเอง และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสไปได้ต่ออีกนาน”

แพทริกเสริมอีกว่า “เหตุผลในการย้ายอยู่ที่เวลามากกว่า ทำงานอยู่กับไมเนอร์มา 15 ปี อาจจะอิ่มตัว คิดว่าถ้าอยู่ต่อก็คงอยู่ถึงเกษียณเลย เท่ากับว่าจะอยู่ในธุรกิจอาหารมา 25 ปี แต่คิดว่าต้องท้าทายกับอีก 10 ปีที่เหลืออยู่ ว่าจะจบที่นี่  หรือที่อื่น เรามองว่าอีก 10 ปี อยากเป็น CEO อยากเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ การไปที่ใหม่ถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่ว่าจะอยู่ หรือไป โอกาสนี้ไม่อยากปล่อยให้พลาดไป  ไม่อยากมาหงุดหงิดทีหลังว่าทำไมถึงพลาดโอกาสนั้น”

ประพัฒน์

การอยู่ที่ไมเนอร์มา 15 ปี แพทริกมองว่าเป็นโรงเรียนที่ให้ทุกอย่าง

  1. เป็นโรงเรียนสอนเรื่องธุรกิจให้เข้าใจการวางกลยุทธ์ การทำธุรกิจที่ดี
  2. ให้การสร้างคน ความสำคัญของการรักษาบุคลากรที่เก่ง
  3. มีรีวอร์ด และคอมมิชชั่นชัดเจน มีรายได้เหมาะสม ได้งานทุกวันนี้ก็เพราะเป็นคนไมเนอร์

สำหรับ KERRY เปรียบเหมือนสตาร์ทอัพที่เพิ่งมีอายุ 16 ปีในไทย ยังอายุน้อย แต่เป็นธุรกิจแห่งอนาคต เพราะพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าให้เปรียบระหว่าง 2 ธุรกิจ แพทริกมองว่า เป็นการ “ส่งความสุข” ให้ลูกค้าเหมือนกัน ธุรกิจอาหารก็ต้องส่งอาหารให้ลูกค้า ส่วน KERRY ส่งพัสดุ สินค้าสร้างความสุข

น้ำมัน-การเงิน-รีเทล-อาหาร สู่โลจิสติกส์

ประพัฒน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบปริญญาโทจาก City University สหรัฐอเมริกา สาขาการตลาด ประสบการณ์การทำงานก่อนมาร่วมงานกับไมเนอร์ ได้แก่ ExxonMobil หรือปั๊มเอสโซ่ ธุรกิจน้ำมัน ตำแหน่ง Area Manager

จากนั้นไปอยู่ Standard Chartered Bank ธุรกิจบัตรเครดิต ดูแลเรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต แล้วมาดูแบรนด์เบอร์เกอร์คิง เป็น Operation Director อยู่ 5 ปีก็ย้ายไป Boots Retail (Thailand) หรือร้านบูทส์ อยู่ได้ 3 ปี แล้วกลับมาเป็น General Manager ที่ไมเนอร์ ฟู้ด ตำแหน่งล่าสุดก็คือ Cheif Operation Officer (COO) หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เท่ากับว่าอยู่ไมเนอร์ ฟู้ดเบ็ดเสร็จรวมก็ประมาณ 15 ปี

ประสบการณ์การทำงานของแพทริกจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมเดียวกันตลอด ตั้งแต่น้ำมัน, การเงิน, รีเทล, อาหาร มาจนถึงโลจิสติกส์

ทุกครั้งที่ย้ายงาน แพทริกมีหลักการเลือกองค์กรในใจ

  1. ทุกธุรกิจที่ไป ต้องเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ มีความมั่นคงในระดับที่เราไปต่อได้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
  2. เป็นธุรกิจที่มีการเติบโต จะต้องไปต่อยอดได้ ตอนไปอยู่บูทส์ก็ขยายสาขาได้เยอะ มาไมเนอร์ก็ขยายสาขาต่อยอดไปในปั๊มน้ำมัน เป็นรุ่นแรกที่จองพื้นที่นอกห้างฯ ของกลุ่มไมเนอร์ทั้งหมด เริ่มจากเบอร์เกอร์คิง ล่าสุดก็มีเดอะ พิซซ่า คอมปะนี และสเวนเซ่นส์
  3. ต้องเชื่อมต่อกันได้ แพทริกชอบใช้กลยุทธ์ Connect The Dot คือ เอาแต่ละธุรกิจมาเชื่อมโยงกัน เช่น การพาเบอร์เกอร์คิงเข้าไปในปั๊มเอสโซ่ ก็เพราะเคยอยู่เอสโซ่มาก่อน และพอเข้าใจข้อมูลในแต่ละพื้นที่ การเปิดแต่ละที่จึงประสบความสำเร็จมากกว่าที่อื่น ใช้ข้อมูลที่มีมาต่อยอดได้ ล่าสุดที่พา Coffee Journey เข้าปั๊มเอสโซ่ ก็มาจากกลยุทธ์นี้เช่นกัน

ปัจจุบันที่ย้ายบ้านใหม่ไป KERRY ก็คาดหวังในการที่จะกลับมาเชื่อมต่อกับไมเนอร์ ฟู้ดได้อีกเช่นกัน

หลักการทำงาน

สายงานที่แพทริกได้ร่วมงานนั้น ล้วนแต่มีการทำงานกับคนจำนวนมาก หลักการทำงานของแพทริกจึงเน้นเรื่องคนเป็นพิเศษ

“เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ ไม่ใช่วัตถุ ต้องให้เกียรติทุกคน ต้องปล่อยพลังบวกทุกครั้งที่เราเจอให้มากที่สุด ไม่ได้ชมอย่างเดียว แต่ต้องดุให้ได้พลัง ต้องสอนด้วย รวมไปถึงการทำทุกอย่างต้องมีผลลัพธ์ชัดเจน ไม่ใช่สนุกไปวันๆ ตรงนี้เป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อของผู้บริหารไมเนอร์ทุกคน ทำทุกอย่างต้องได้ผลงาน”

ที่สำคัญคือ ส่งมอบความสุขให้ลูกค้า เห็นลูกค้าเป็นพระเจ้า

“เบอร์เกอร์คิง” แบรนด์ลูกรัก

เส้นทางที่อยู่กับไมเนอร์มา 15 ปี แพทริกค่อนข้างที่จะผูกพันกับแบรนด์ “เบอร์เกอร์คิง” มากที่สุด เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่สมัยสาขาน้อยๆ สมัยที่เพิ่งซื้อกิจการจากกลุ่มเซ็นทรัลมาไม่นาน ตอนแรกมีอยู่แค่ 7 สาขาเท่านั้น จนกระทั่งสร้างแบรนด์ และปรับกลยุทธ์ใหม่ จนขยายสาขาได้มากขึ้น แบรนด์แข็งแรงขึ้น

ถ้าถามว่าช่วงเวลาไหนที่รู้สึกว่ายากที่สุด แพทริกบอกว่ามี 2 ช่วง

ช่วงแรก เป็นช่วงที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ของเบอร์เกอร์คิง เปลี่ยนจาก Tourist Destination ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าพรีเมียม เพราะขยายสาขาต่อยากลำบากมาก เลยเป็นช่วงที่ตัดสินใจยากพอสมควรว่าควรย้ายเบอร์เกอร์คิงมาข้างนอก มาศูนย์การค้า และโลเคชันอื่นๆ

ประพัฒน์

ส่วนช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง COO เจอต้อนรับด้วยวิกฤต COVID-19 ไม่ได้ดูแลแบรนด์เดียวแล้ว ต้องเป็นโค้ชดูแลทั้งหมด 8 แบรนด์ในเครือ แผนการขายก็ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องดูทั้งการเงิน การปิดร้าน เปิดร้าน บริหารพนักงานด้วย เป็นช่วงที่ยากพอสมควร

สำหรับช่วงที่ภูมิใจที่สุด เป็นการพาแบรนด์เบอร์เกอร์คิงจากที่มี 20-30 สาขา ขึ้นมาเป็น 100 สาขาในปัจจุบัน ได้รับรางวัล The Best Operator of The Year ในระดับโกลบอล เป็นฝ่ายปฏิบัติการของแบรนด์เบอร์เกอร์คิงที่ดีที่สุดในโลก จากทั่วโลกมีกว่า 20,000 สาขา ประเทศไทยมีแค่ 100 สาขา แต่เป็นอันดับ 1 ของโลก 3 ปีซ้อน

ต่อยอดการบริหารคนที่ KERRY Express

แพทริกร่วมงานกับ KERRY ในตำแหน่ง Deputy CEO หรือรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ถือว่าเป็นตำแหน่งที่เปิดใหม่โดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ไม่มีตำแหน่งนี้

เหตุผลที่ทาง KERRY สนใจแพทริกนั้น มองว่าประพัฒน์ทำงานกับคนมาโดยตลอด จะสามารถนำประสบการณ์มาบริหารคนของ KERRY ได้ เพราะต้องบอกว่าธุรกิจโลจิสติกส์ต้องใช้คนมหาศาลไม่แพ้กับธุรกิจอาหารเลยทีเดียว และเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับความเร็วเช่นกัน

ประพัฒน์

“ทาง KERRY มองเห็นว่าที่ผ่านมาทำงานกับคนมาหมดเลย พอไปอยู่ที่ KERRY ก็ช่วยบริหารคน เขาใช้คนเยอะกว่า ตรงนี้ก็จะ Connect the Dots กับประสบการณ์ได้อีก ต้องการสกิลการจัดการเรื่อง คนของธุรกิจอาหาร และโลจิสติกส์ไม่ต่างกันเลย เรื่องความเร็วเป็นเรื่องแรก ความถูกต้องในการส่ง สุดท้ายอยู่ที่บริการ เราจะไปช่วยทีมขนส่งของ KERRY แข็งแรงยิ่งกว่าเดิม ถูกต้อง แม่นยำ และอยากไปต่อยอดธุรกิจของ KERRY อยากไปดันธุรกิจกลุ่ม B2C ตอนนี้สัดส่วนประมาณ 4% เช่น พิมรี่พาย กลุ่มนี้จะโตขึ้นอีกเยอะ”

สำหรับเรื่องการแข่งขันนั้น ถ้าดูในแง่ของจำนวนคู่แข่งอาจจะน้อยกว่าธุรกิอาหาร แต่การแข่งขันดุเดือดไม่แพ้กัน สู้กันเลือดสาด ประพัฒน์ทิ้งท้ายว่า “โลจิสติกส์คู่แข่งเยอะไม่น้อยกว่าธุรกิจอาหารเลย เหมือนอยู่สนามรบมาตลอดชีวิต” 

]]>
1371793
KERRY ทุบสถิติยอดส่งครึ่งปีแรก 167 ล้านชิ้น เตรียมเปิดขนส่งควบคุมอุณหภูมิไตรมาส 4 https://positioningmag.com/1346370 Wed, 11 Aug 2021 14:40:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346370 KERRY Express ทุบสถิติยอดส่งนิวไฮ 167 ล้านชิ้นในครึ่งปีแรก เติบโต 10% กำไรสุทธิไตรมาส 2 โต 7.3% ภายในไตรมาส 4 เตรียมเปิดบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ และ KERRY Wallet ระบบอีเพย์เมนต์

กำไรพุ่ง รับล็อกดาวน์

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (KERRY Express) ปิดงบไตรมาส 2/2564 กำไรพุ่ง 336 ล้านบาท ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเติบโตกว่า 7.3% อานิสงส์จากล็อกดาวน์ และ WFH ดันยอดขนส่งพัสดุ “นิวไฮ” ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 167 ล้านชิ้นในครึ่งปีแรก เติบโตกว่า 10.8%

อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีรายได้ 4,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 412 ล้านบาท หรือ 9.8% จากไตรมาสก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33 ล้านบาท หรือ 10.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ที่อัตรากำไรสุทธิ 7.3%

โดยในครึ่งปีแรกของปี 2564 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยมียอดการจัดส่งพัสดุทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New High Record) กว่า 167 ล้านชิ้นในครึ่งปีแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์หลายพื้นที่ ซึ่งทำให้มีการทำงานที่บ้านหรือ WFH มากขึ้น กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น

KERRY ได้บริหารจัดการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งต่อพนักงานและลูกค้า ประกาศแคมเปญ KerryPrompt เพื่อกระตุ้น และตอบแทนพนักงานทุกคนให้เข้ารับวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ศูนย์คัดแยก และกระจายสินค้าเกิดการหยุดชะงัก และไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งพัสดุกับลูกค้าปลายทาง

เตรียมเปิดบริการใหม่ครึ่งปีหลัง

เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับพัสดุในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมเปิดให้บริการใหม่ร่วมกับพันธมิตรหลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับ Cold Chain หรือระบบคลังสินค้า และขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากกว่า 30 กิโลกรัมขึ้นไป

ล่าสุดได้ต่อยอดสู่ “เคอรี่ วอลเล็ท” พัฒนาระบบวอลเล็ทเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ ที่เติบโตต่อเนื่อง และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อขายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งจะเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าขาประจำใช้จ่ายเงิน และร่วมกิจกรรมผ่านวอลเล็ทอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ

คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 0.743 บาทต่อหุ้น แจ้งวันกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 กันยายน 2564 ตามลำดับ

]]>
1346370
สยายปีก! Kerry Express เคาะราคา IPO 25–28 บาท คาดเข้าเทรดในตลาดปลายธ.ค. https://positioningmag.com/1308606 Wed, 02 Dec 2020 05:55:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308606 Kerry Express (เคอรี่ เอ็กซ์เพรส) หรือ KEX เปิดช่วงราคาเสนอขาย IPO ราคา 25.00-28.00 บาทต่อหุ้น หลัง ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบ Filing มีผลใช้บังคับ คาดเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายเดือนธันวาคมนี้

บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ได้รับอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบ Filing มีผลใช้บังคับเมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมเปิดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 25.00 -28.00 บาทต่อหุ้น

เตรียมเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 8, 9 และ 14 ธันวาคมนี้ ที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น ก่อนจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย 15 ธันวาคมนี้ ส่วนนักลงทุนสถาบันจองซื้อ 16-18 ธันวาคมนี้ คาดเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปลายเดือนธันวาคมนี้

โดยจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายทั้งหมดคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7,500-8,400 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ขยายธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

โดยจากการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบันที่ผ่านมา KEX ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมียอดจองซื้อจากนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) มากกว่า 10 เท่าของจำนวนที่จัดสรรไว้ ซึ่งทำให้ KEX เป็นบริษัทจัดส่งพัสดุด่วนรายแรกในไทย ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจที่เป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยอีกด้วย

อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX กล่าวว่า

“การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะโซเชียลคอมเมิร์ซ และอีคอมเมิร์ซสร้างปรากฏการณ์การเติบโตอย่างมหาศาลให้กับภาคโลจิสติกส์ เพราะถือเป็นแพลตฟอร์มสุดท้ายที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ขายกับผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากปริมาณรวมของพัสดุที่จัดส่งประจำปีของบริษัทฯ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 เท่ากับ 134.9% ซึ่งทำให้เห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง”

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีเครือข่ายจุดให้บริการที่ครอบคลุม กว่า 15,000 จุด ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง และพนักงานมากกว่า 18,000 คน

วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) มีผลใช้บังคับแล้ว โดยได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 25.00-28.00 บาทต่อหุ้น จากนั้นจะสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ซึ่งคาดว่าจะประกาศให้ทราบประมาณวันที่ 15 ธันวาคม 2563 โดยจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 8, 9 และ 14 ธันวาคมนี้ ที่ราคา 28.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะมีการคืนเงินค่าส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย ส่วนนักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย และคาดว่าจะนำ KEX เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในปลายเดือนธันวาคมนี้

]]>
1308606
เปลี่ยนแท็กซี่เป็น Kerry ชั่วคราว ส่งพัสดุหารายได้พิเศษ แถมแก้เกมกองพัสดุเยอะ https://positioningmag.com/1272848 Sun, 12 Apr 2020 08:09:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272848 กลายเป็นการจับคู่ที่ Win-Win ในการปรับตัวในช่วงถานการณ์ตอนนี้ได้อย่างดี เมื่อ สมาร์ทแท็กซี่เห็นกองพัสดุเคอรี่ เอ็กซ์เพรสเท่าภูเขา ตัดสินใจพูดคุยขอนำแท็กซี่ส่งพัสดุด้วย สบช่องช่วงที่ตีรถเปล่า รายได้ลด มาส่งพัสดุตามบ้านหารายได้พิเศษ

เฟซบุ๊ก Smart Taxi.,Ltd ของ บริษัท สมาร์ทแท็กซี่ จำกัด ระบุว่า ได้ร่วมกับ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) นำรถแท็กซี่ของบริษัทฯ มาให้บริการส่งพัสดุของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ให้กับลูกค้าตามสถานที่ที่ระบุบนหน้ากล่อง

ก่อนหน้านี้ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ได้ประสบปัญหาพัสดุเต็มคลังสินค้า เนื่องมาจากการประกาศ พ...ฉุกเฉิน ทำให้ปริมาณความต้องการของลูกค้าในการส่งพัสดุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการจัดส่งในช่วงเวลาปกติ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดลำดับเส้นทางการจัดส่งพัสดุ อีกทั้งมาตรการควบคุมการคมนาคมในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้รถส่งสินค้าต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทาง

โดยแอดมินเพจชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า การเปลี่ยนรถแท็กซี่จากส่งคนมาเป็นส่งของนั้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ประชาชนไม่ออกจากบ้าน ส่งผลทำให้รายได้ของโชเฟอร์รถแท็กซี่ลดลงเหลือเพียง 500-600 บาทต่อวัน

 

ขณะที่ เคอรี่ เอ็กซ์เพรสประสบปัญหาพัสดุเต็มคลังสินค้า เนื่องจากรถขนส่งพัสดุตอนนี้วิ่งไม่ทัน จากก่อนหน้านี้มีปริมาณพัสดุ 1 ล้านชิ้นต่อวัน แต่เมื่อประชาชนนิยมสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้มีพัสดุมากถึง 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน

ขณะที่แท็กซี่ทุกวันนี้ตีรถเปล่า ตนเห็นปัญหาดังกล่าวแล้วจึงมีแนวคิดที่จะนำแท็กซี่มาส่งพัสดุ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ จึงติดต่อทางคอลเซ็นเตอร์ และได้เข้าไปพูดคุยกับทางสำนักงานใหญ่ ซึ่งความร่วมมือเป็นไปได้ด้วยดี โดยได้พูดคุยถึงความร่วมมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน

เบื้องต้นจะนำรถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบของสมาร์ทแท็กซี่ ประกอบด้วย ระบบจีพีเอส (GPS) กล้องภายในรถ และระบบยืนยันตัวตนกับคนขับ จำนวน 60 คัน และเปิดรับแท็กซี่ระบบอื่นที่ยังไม่หมดอายุเข้าร่วมช่วยงานไปก่อน แต่ระยะยาวจะให้ใช้ระบบของสมาร์ทแท็กซี่เพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการ

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า คลังสินค้าคลองส่งน้ำสมุทรปราการมีความต้องการมากที่สุด รองลงมาคือ มีนบุรี และนนทบุรี ของที่จะส่งมีทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ โดยมีการคัดแยกพื้นที่จัดส่งในรัศมีใกล้กับคลังสินค้ามาแล้วระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ขับแท็กซี่จะใช้ช่วงเวลา 11.00-15.00 . ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้รถน้อยเข้ามาให้บริการส่งของ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง และจะได้รับเงิน (หลังหักภาษี ณ ที่จ่าย) หลังเคลียร์งานเสร็จภายในเวลา 20.00 . ของทุกวัน โดยรับเป็นเงินสด

การประกาศรับสมัครแท็กซี่ที่จะเข้าไปวิ่งรับส่งพัสดุกับเคอรี่ เอ็กซ์เพรส จะประกาศในเฟซบุ๊กเพจ “Smart Taxi.,Ltd” ผู้สนใจจะต้องเป็นผู้ขับรถแท็กซี่ที่ยังไม่หมดอายุ โดยนำหลักฐาน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาใบขับขี่สาธารณะ สำเนาทะเบียนรถยนต์ แต่งกายสุภาพ กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น สวมหน้ากาก มาลงทะเบียนที่หน้างาน บริเวณคลังสินค้าเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่จะประกาศแบบวันต่อวัน ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า เป็นต้นไป

]]>
1272848
KBank ผนึก KERRY ออกบัตรเดบิต MADCARD อัดโปรลดค่าขนส่ง โฆษณาออนไลน์ให้แม่ค้า https://positioningmag.com/1266741 Tue, 03 Mar 2020 08:55:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1266741
ธนาคารกสิกรไทย ผนึกกำลังกับ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เปิดตัวบัตรเดบิตธุรกิจออนไลน์ MADCARD FOR KERRY EXPRESS ช่วยลดต้นทุนในการขายออนไลน์ ด้วยสิทธิพิเศษจากเคอรี่ คลับ และส่วนลดค่าโฆษณาบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์โอเอ และกูเกิล

เรียกว่าเป้นการออกบัตรเพื่อมาอุด Pain Point ของแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องแบกต้นทุนในเรื่องค่าโฆษณา หรือค่าขนส่ง โดยเป็นบัตรที่ตอบโจทย์แม่ค้าเป็นครั้งแรก

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า

ธุรกิจออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เมื่อตลาดออนไลน์เติบโต คนขายออนไลน์ก็ต้องแข่งขันกัน ซื้อสื่อโฆษณาบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น มีต้นทุนค่าขนส่งเติบโตขึ้น เนื่องจากคนขายต้องการให้สินค้าของตนเองได้รับการรับรู้ จึงพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ ทำร้านค้าของตนให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการส่งสินค้าที่ต้องเลือกผู้ให้บริการที่มีความรวดเร็ว ซึ่งทั้งค่าโฆษณาและค่าขนส่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจนกลายเป็นต้นทุนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ธนาคารจึงได้จับมือกับพันธมิตร คือ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ร่วมกันเปิดตัวบัตรเดบิต MADCARD FOR KERRY EXPRESS เป็นตัวช่วยลดต้นทุนให้กับคนขายออนไลน์ และจัดโปรโมชั่น นำเสนอสิทธิพิเศษทั้งจากธนาคารกสิกรไทยและ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส โดยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ถือบัตรจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

สิทธิประโยชน์

รายละเอียด

1)      รับเงินคืนค่าโฆษณาสูงสุด 1,200 บาท / ปี ค่าโฆษณารับเงินคืน 5%

  • LINE Official Account

ค่าโฆษณารับเงินคืน 0.5%

  • Facebook
  • Instagram
  • Google Ads

ช้อปปิ้งออนไลน์รับเงินคืน 0.5%

2)      รับส่วนลด 50%
  • ซื้อสมุดเช็ค
3)      สิทธิพิเศษจาก KERRY CLUB
  • ส่วนลดค่าขนส่ง
  • สะสมพอยท์ 50 บาทรับ 1 พอยท์
  • บริการเคาน์เตอร์พิเศษไม่ต้องต่อคิว
  • บริการผู้ช่วยส่วนตัว
  • เพิ่มวงเงินประกันความเสียหายพัสดุ

 

สมัครบัตรตั้งแต่วันนี้ 31 พ.ค. 63 ที่แอป K PLUS , เคอรี่ เอ็กซ์เพรส พาร์เซลช็อป และธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา จ่ายค่าสมัคร 300 บาท รับทันที eCoupon KERRY 300 บาท และส่วนลดค่าธรรมเนียมรายปีในปีแรก ตั้งเป้าปีแรกยอดสมัคร 1 แสนใบ

]]>
1266741