OTA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 26 Sep 2024 08:03:26 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Gother” สตาร์ทอัพไทยสู้ศึกแอปฯ OTA ประเดิมดึงเม็ดเงินลงทุน 200 ล้านจาก “กสิกรไทย – กรุงไทย” https://positioningmag.com/1491760 Wed, 25 Sep 2024 13:23:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1491760 “Gother” สตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม OTA สัญชาติไทย ลงสนามสู้ศึกทุนต่างชาติ “กสิกรไทยกรุงไทย” เห็นแววตอบรับร่วมลงทุนรวม 200 ล้านบาท พร้อมเปิดให้ผูกหน้าการจองตรงผ่านแอปฯ “K PLUS” และ “Krungthai NEXT – เป๋าตังค์ ถุงเงิน” โดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่มในเครื่อง เปิดประตูการเข้าถึงลูกค้าได้ถึง 50 ล้านราย

“อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม “Gother” (โกเธอร์) อย่างเป็นทางการ พร้อมบุกตลาด OTA (Online Travel Agency) ในประเทศไทยเต็มตัว โดยแพลตฟอร์มนี้ปัจจุบันมีฟีเจอร์ให้จองทั้งสายการบิน, ที่พัก, กิจกรรม และเดือนตุลาคมนี้จะเปิดฟีเจอร์การจองรถเช่าอีกด้วย

ทีมงาน Gother ที่จริงแล้วไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ เพราะผู้ก่อตั้งเป็นทีมเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์ม “TraveliGo” (ทราเวลไอโก) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม อนุพงษ์กล่าวว่า ในระยะหลังพบว่ามีแอปฯ OTA อื่นๆ ที่มาใช้ชื่อคล้ายกันและสีคล้ายกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ในช่วงโควิด-19 ซึ่งการท่องเที่ยวหยุดชะงัก จึงกลับมาทบทวนและตัดสินใจก่อตั้งแพลตฟอร์มใหม่เป็น Gother ใช้ชื่อที่แตกต่าง และใช้โลโก้สีแดงให้ไม่เหมือนใคร

Gother OTA
“อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด

หลังจากรีแบรนด์ก่อตั้งแพลตฟอร์มใหม่เมื่อปี 2565 บริษัทได้รับเงินลงทุนครั้งแรกในปี 2566 จากบีคอน วีซี เครือธนาคารกสิกรไทย มูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท ตามด้วยปี 2567 รับเงินลงทุนจาก กรุงไทย เวนเจอร์ส มูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท พร้อมแย้มด้วยว่าในปี 2568 อาจจะได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนที่สนใจอีกรายหนึ่ง

 

เปิดประตูสู่ลูกค้า 50 ล้านคน

อนุพงษ์กล่าวด้วยว่า การได้รับเงินลงทุนจากธนาคารทั้งสองรายถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัท ไม่ใช่แค่เรื่องเงินลงทุน แต่เข้ามาช่วยให้แพลตฟอร์มดูน่าเชื่อถือสูงขึ้นมาก

“เวลาที่เราเพิ่งเริ่มต้นตั้ง OTA คนจะกลัวมากว่าเราน่าเชื่อถือหรือเปล่า จองไปแล้วจะมีที่พักจริงๆ ไหม การที่มีธนาคารรายใหญ่มาร่วมทุนจึงช่วยให้เราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น” อนุพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน Gother มีฐานลูกค้าแล้ว 2 แสนราย และหวังว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าได้อีก 1.5 แสนรายภายในสิ้นปี 2567

Gother OTA

หนทางหนึ่งที่แพลตฟอร์มจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างที่ตั้งเป้า คือ การผูกหน้าการจองของ Gother เข้ากับแอปพลิเคชันของธนาคาร ได้แก่ “K PLUS” ของธนาคารกสิกรไทย และ “Krungthai NEXT – เป๋าตังค์ ถุงเงิน” สามแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย ซึ่งอนุพงษ์ประเมินว่า ฐานลูกค้าของทั้งคู่รวมกันน่าจะทะลุ 50 ล้านคน

ลูกค้าที่สนใจจองผ่าน Gother จึงไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปฯ แค่เข้าไปในแอปฯ ของธนาคารก็สามารถลงทะเบียน จองทุกอย่าง และชำระเงินจบในแอปฯ ธนาคารได้เลย ความสะดวกสบายนี้จึงน่าจะชวนให้คนไทยเข้ามาลองใช้ Gother ได้ง่ายขึ้น

 

ชูเรื่อง “กิจกรรม” ตรงใจคนไทย

มีช่องทางเข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้นแล้ว อีกจุดขายที่ Gother เชื่อว่าจะเจาะคนไทยได้ คือการชูโรงการจอง “กิจกรรม” ที่ออกแบบคัดเลือกมาให้โดนใจคนไทย ซึ่งในแอปฯ จะเรียกว่า “KLUB” เพราะแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่ม เช่น คอกาแฟ, มูเตลู, ครอบครัว, ดำน้ำ

ตัวอย่าง KLUB การจองกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่ม

ยกตัวอย่าง กลุ่มคอกาแฟก็จะมีกิจกรรม เช่น ทัวร์ไร่กาแฟและโรงคั่ว กลุ่มมูเตลูก็จะมีกิจกรรม เช่น ไหว้พระกับอาจารย์ดัง หรือกลุ่มครอบครัวก็มีกิจกรรม เช่น พาลูกเที่ยวผจญภัย

กิจกรรมเหล่านี้อนุพงษ์มองว่าจะเป็นจุดขายทั้งในกลุ่มผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้คนไทยในระบบนิเวศการท่องเที่ยวมาสร้างกิจกรรมดีๆ ในท้องถิ่นของตัวเองกันมากขึ้น

 

ค่าคอมฯ ต่ำกว่าเพื่อน 2-3%

ฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทางแอปฯ Gother ก็มีหมัดเด็ดที่จะชักจูงใจให้มาขายบนแพลตฟอร์มคือ “ค่าคอมมิชชันต่ำกว่า 2-3%” เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และไม่มีระบบจ่ายค่าสปอนเซอร์เพื่อดันตนเองขึ้นไปอยู่ลำดับแรกๆ ในหน้าค้นหา แต่จะเปลี่ยนเป็นการแข่งกัน “ให้โปรโมชันลูกค้า” มากกว่า

“ตัวอย่างเช่นถ้าโรงแรมคุณจัดโปรฯ จองห้องพักแถมนวดสปาให้ลูกค้า เราก็จะดันขึ้นไปลำดับแรกๆ ให้ เราไม่ได้อยากให้ส่วนนี้มาจ่ายตรงให้เรา อยากให้คืนกำไรให้กับลูกค้าดีกว่า” อนุพงษ์กล่าว

 

สนับสนุนแอปฯ คนไทย เงินไม่ไหลออกนอก

ด้านผู้ร่วมลงทุนในแอปฯ นี้อย่าง “ธนพงษ์ ณ ระนอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ตัดสินใจลงทุนกับ Gother เพราะที่จริงแล้วทางธนาคารเล็งเห็นมานานว่ากลุ่ม TravelTech เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ด้วยระบบนิเวศการท่องเที่ยวเมืองไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนถึงปีละ 5 แสนล้านบาท

“OTA เจ้าใหญ่ทั้งสองเจ้าตอนนี้ได้กำไรมหาศาลแล้วนะ พ้นระยะการเป็นธุรกิจ burn cash (เผาเงินทุน) กันไปหมดแล้ว ทำให้ตลาดนี้น่าสนใจมาก ถ้าเข้ามาชิงเค้กได้ก็จะได้กำไรทันที” ธนพงษ์กล่าว “และเรามองว่าถ้าผลักดันให้คนไทยจอง OTA ไทยได้ก็จะลดการรั่วไหลของเงินออกไปต่างประเทศด้วย”

(แถวหน้าจากซ้าย) “สุริพงษ์ ตันติยานนท์” , “อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” และ “ธนพงษ์ ณ ระนอง”

ส่วน “สุริพงษ์ ตันติยานนท์” ประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทย เวนเจอร์ส จำกัด ก็มองในทิศทางใกล้เคียงกันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ในไทย เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายส่วน

การลงทุนกับ Gother ของกรุงไทย เวนเจอร์สเกิดขึ้นเพราะเล็งเห็นว่า Gother จะเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจไทยและชีวิตคนไทยได้ รวมถึงมีศักยภาพพอที่ในอนาคตจะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

เป้าหมายของ Gother ในปีนี้ อนุพงษ์ระบุว่าจะมีการลงทุนงบการตลาดถึง 80 ล้านบาท ระดม KOLs เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้คนไทยรู้จักแอปฯ และตั้งเป้ายอดขายผ่านแอปฯ รวม 400 ล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ตั้งเป้ายอดขายว่าจะไปให้ถึง 1,000 ล้านบาทให้ได้

]]>
1491760
มาแล้ว! Robinhood Travel เริ่มรับโรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม ชูจุดแข็งเดิม ‘ไม่เก็บค่าคอมฯ’ https://positioningmag.com/1363200 Mon, 22 Nov 2021 11:37:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363200
  • กุมภา’65 เจอกัน! “Robinhood Travel” บุกภาคท่องเที่ยว จองโรงแรม เครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ชูจุดแข็งเดิม “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” และโอนเงินให้พาร์ตเนอร์ไวเป็นรายชั่วโมง ช่วยหมุนกระแสเงินสด
  • อนาคตต่อยอดนักท่องเที่ยวไทยฝั่ง outbound จองโรงแรม 5 ประเทศยอดฮิตผ่านแอปฯ ได้
  • ปีหน้าเตรียมเพิ่มฟังก์ชัน Mart Express, ภาษาอังกฤษ, เชื่อมต่อ mobile payment ธนาคารอื่น เพื่อขึ้นเป็น “ซูเปอร์แอปฯ”
  • กลางปีคาดได้เห็นการระดมทุน Series A ของ Robinhood เล็งเป้าพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่ต้องการลงทุนกับกิจการเพื่อสังคม (SE)
  • หลังจากปล่อยทีเซอร์แย้มๆ มาสักพักว่ากำลังปั้นธุรกิจ Online Travel Agency (OTA) วันนี้ Robinhood ประกาศเปิด “Robinhood Travel” อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเริ่มรับสมัคร “โรงแรม” มาเป็นพาร์ตเนอร์บนแพลตฟอร์ม พร้อมให้บริการลูกค้าจองจริงเดือนกุมภาพันธ์ 2565

    รวมถึงจะมีการขยายต่อไปยังการขายตั๋วเครื่องบิน ทัวร์และกิจกรรม และรถเช่าผ่านแอปฯ ได้ด้วย โดยสามส่วนหลังนี้จะเริ่มเปิดให้จองได้เดือนเมษายน 2565

    “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ Robinhood Travel จะเหมือนกับจุดเริ่มต้นจากฟู้ดเดลิเวอรี่ คือการ “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” ธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีปัญหาเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่ถูกเก็บค่าคอมมิชชั่นจาก OTA ต่างประเทศสูงมาก

    และเช่นเดียวกันคือโรงแรมขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะยิ่งถูกเก็บในอัตราสูงกว่าโรงแรมเชนใหญ่ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ทำให้ Robinhood ต้องการเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ ตลาดนี้เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่

    (ซ้าย) “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และ (ขวา) “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

    “ทางรอดของเราคือเราพบโมเดลของเราเองที่เป็นความไทยมาก นั่นคือ ‘Kindness’ เราเข้าไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ไม่เก็บ GP ร้านอาหาร ซึ่งตอนแรกคนก็ไม่เชื่อว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร แต่เราก็รอดมาได้เพราะร้านค้าพอไม่ถูกเก็บค่า GP เขาก็ไม่ขึ้นราคาจากหน้าร้านหรือไม่ลดปริมาณอาหาร วงจรก็จะเกื้อหนุนกัน เพราะกำไรของร้านค้าไม่ได้ลดลง เขาก็เชียร์ลูกค้าให้ซื้อผ่านเรามากขึ้น” ธนากล่าว

     

    ไม่เก็บค่าคอมฯ – โอนไวเป็นรายชั่วโมง

    “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมก่อนเกิด COVID-19 โรงแรมในไทยมี 50,000 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 788,000 ห้อง และ 50% ของลูกค้าจะจองผ่าน OTA

    การจองผ่าน OTA ที่เป็นลูกค้าคนไทย มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่โรงแรมไม่ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะ OTA มีการหักค่าคอมมิชชั่น กรณีเชนโรงแรมใหญ่จะอยู่ที่ 10-15% แต่โรงแรมเล็กจะอยู่ที่ 10-25% แถมถ้าหากโรงแรมต้องการให้ตนเองขึ้นเป็น Top Search บนแอปฯ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 3-5% ทำให้โรงแรมเล็กอยู่ได้ยากมาก

    ที่มา: Robinhood

    ดังนั้น Robinhood Travel จะมาแก้ปัญหาสำหรับโรงแรม 5 ข้อหลัก คือ

    1. “ไม่คิดค่าคอมมิชชั่น” ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
    2. “โอนเงินคืนทุกชั่วโมง” จากปกติ OTA มักจะโอนคืนใช้เวลา 3-7 วัน ซึ่งเป็นปัญหามากในกรณีโรงแรมเล็กที่ต้องหมุนกระแสเงินสด
    3. “ระบบ add-on ปรับแต่งเองได้” เช่น ต้องการทำโปรโมชัน flash deal สามารถปรับแต่งเองเลยก็ได้ หรือจะทำแพ็กเกจห้องพัก+ดินเนอร์ก็ได้
    4. “สนับสนุนสื่อโฆษณา” ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อขึ้น Top Search แต่แพลตฟอร์มจะสนับสนุนด้วย Robinhood Stories ฟังก์ชันรีวิวการท่องเที่ยว ช่วยให้ลูกค้าสนใจจอง และทำการตลาดดิจิทัลให้ด้วย
    5. “เก็บดาต้า” เพื่อนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจ

    ส่วนฟังก์ชันท่องเที่ยวที่จะตามเข้ามาคือตั๋วเครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ส่วนนี้ธนาระบุว่าจะมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น 5-10% แล้วแต่การเจรจา

    Robinhood Travel
    หน้าอินเตอร์เฟซของ Robinhood Travel

    ขณะนี้ธุรกิจสายการบินจบดีลแล้ว 2 ราย คือ ไทยสมายล์ และ นกแอร์ ส่วนอีก 1 รายอยู่ระหว่างพูดคุยคือ แอร์เอเชีย

    ทัวร์ กิจกรรม และรถเช่า ส่วนนี้ไม่ได้เน้นเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ แต่ต้องการให้ธุรกิจรายเล็กเข้ามาสมัครด้วยเพื่อช่วยท้องถิ่น เช่น ไกด์ ชุมชนที่เปิดทำกิจกรรม กลุ่มรถเช่าในจังหวัดต่างๆ

     

    ตั้งเป้าปีแรกจอง 3 แสนครั้ง

    ปัจจุบันแอปฯ Robinhood มีฐานลูกค้าเกือบ 2.4 ล้านราย ซึ่งจะต่อยอดมาใช้ OTA ได้ และมีฐานลูกค้าของไทยพาณิชย์อีก 16 ล้านรายที่เป็นเป้าหมาย รวมถึงชื่อเสียงของ Robinhood ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ทำให้ฟังก์ชันนี้น่าจะโตได้เร็ว

    ผู้ใช้แอปฯ Robinhood ขณะนี้ส่วนใหญ่ต่อยอดมาจากฐานลูกค้าแบงก์ เป็นคนเมืองวัย 20-39 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
    เป้าหมายปีแรกของ Robinhood Travel
    • โรงแรมเข้าระบบ 30,000 แห่ง
    • นักท่องเที่ยวจองผ่านแอปฯ 200,000 คน
    • จำนวนการจองต่อปี 300,000 ครั้ง
    • ประหยัดค่าใช้จ่ายให้โรงแรม 200 ล้านบาท
    • ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท
    • รายได้จากค่าคอมมิชชั่นสูงสุด 50 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ธนากล่าวว่า รายได้รวมของ Robinhood ปี 2565 น่าจะอยู่ที่ราว 700-800 ล้านบาท ทำให้รายได้ส่วนท่องเที่ยวจะยังเป็นสัดส่วนน้อยในธุรกิจ แต่การขาดทุนจะน้อยกว่ามากเพราะบริษัทไม่ต้องออกเงินชดเชยค่าส่งให้กับไรเดอร์เหมือนกับฟู้ดเดลิเวอรี่

     

    เจาะตลาดคนไทย outbound ไปต่างประเทศ

    สเต็ปต่อไปของ Robinhood Travel ธนาเปิดเผยว่ากำลังศึกษาการจับตลาด outbound คนไทยออกเที่ยวต่างประเทศ โดยกำลังเจรจาพาร์ตเนอร์ 5-10 รายเพื่อลิสต์โรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม สำหรับคนไทยจองผ่านแอปฯ Robinhood (กรณีโรงแรมต่างประเทศ บริษัทจะคิดค่าคอมมิชชันตามราคาตลาด)

    สำหรับประเทศที่กำลังเจรจาคือ กลุ่มประเทศยอดฮิตของคนไทย 5-6 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ คาดว่ากลางปี 2565 น่าจะเริ่มเห็นการทดลองตลาด

    ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย (Photo by Tomohiro Ohsumi/Getty Images)

    ในอีกมุมหนึ่ง บริษัทสนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ inbound ด้วย แต่กรณีนี้จะดำเนินการยากกว่า เนื่องจาก Robinhood ไม่ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ดังนั้น อาจต้องเลือกจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปเปิดหน้าร้านในซูเปอร์แอปฯ ของประเทศอื่น โดยต้องหามุมที่น่าสนใจให้ชาวต่างชาติจองผ่าน Robinhood

    ขณะนี้ประเทศที่กำลังพูดคุยคือ “จีน” เพราะเป็นตลาดใหญ่ของท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีนจะไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกมาจนถึงปี 2566 ดังนั้น ยังมีเวลาในการเจรจา

     

    ปีหน้าเดินหน้า “ซูเปอร์แอปฯ” เปิดระดมทุน Series A

    แผนการปีหน้าของ Robinhood ไม่ได้มีเฉพาะการเปิด Travel แต่จะมี Mart Express มาในช่วงไตรมาส 2 โดยจะเน้นการขายและเดลิเวอรีสินค้ากลุ่มพรีเมียมที่เหมาะกับลักษณะฐานลูกค้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้แตกต่างจากเจ้าอื่นที่ทำอยู่

    นอกจากนี้ ไตรมาส 3 จะเริ่มมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษเพื่อเจาะ expat ในไทย และมีการเชื่อมให้ชำระเงินผ่าน mobile payment ธนาคารอื่นได้แล้ว

    ภาพรวมปีหน้า Robinhood จะกลายเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ คาดหวังฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย และจะทำให้แอปฯ มีหลายธุรกิจสำหรับจัดแพ็กเกจร่วมกันได้ เช่น จองโรงแรมผ่าน Travel พ่วงแพ็กเกจอาหารระหว่างท่องเที่ยว เป็นต้น

    เมื่อเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่มีฐานลูกค้าและมี Gross Merchandise Value (GMV) มากพอ จะทำให้แอปฯ เปิดระดมทุนรอบ Series A ได้เป็นก้าวถัดไป ซึ่งอาจจะได้เห็นช่วงกลางปี 2565 และทำให้บริษัทยืนด้วยตนเองหลังจากที่ผ่านมารับเงินลงทุนตั้งต้นจาก ‘ยานแม่’

    ส่วนตั้งเป้าระดมทุนเท่าไหร่และจากใคร ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ Robinhood ต้องการพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่จะมาช่วยต่อยอดด้านอื่นนอกจากเรื่องเงินทุน และเป็นคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการทำกิจการเพื่อสังคม (SE) อย่างที่เคยเป็นมา!

    ]]>
    1363200
    อัปเดต “Robinhood Travel” เตรียมเปิดตัวเป็น OTA คนไทย กลางเดือน ธ.ค. นี้! https://positioningmag.com/1354561 Sat, 02 Oct 2021 09:42:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1354561 “Robinhood Travel” กำลังจะมาช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เข้าตลาดเป็น OTA คนไทย “ไม่เก็บค่า GP” เป้าดึงโรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม 10,000 แห่ง และสายการบินของไทย 2 แห่ง เน้นช่วยคนตัวเล็ก-ชุมชนในพื้นที่

    “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Robinhood (โรบินฮู้ด) กล่าวในงานสัมมนา “Neo Tourism – ท่องเที่ยวมิติใหม่” จัดโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) อัปเดตการพัฒนาแพลตฟอร์ม Robinhood ให้มีฟังก์ชันใหม่ “Robinhood Travel” ใกล้ได้ฤกษ์เปิดตัวแล้ว

    โดย Robinhood Travel จะเป็น OTA (Online Travel Agency) ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกับที่ใช้ในธุรกิจร้านอาหาร คือต้องการ “ช่วยคนตัวเล็ก” เน้นกระจายรายได้ให้ชุมชน “ไม่เก็บค่า GP” เช่นเดิม จะเริ่มต้นจากโรงแรมก่อนขยายไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจด้านเวลเนส กิจกรรมในชุมชน ทัวร์ท้องถิ่น

    ขณะนี้แพลตฟอร์มเริ่มนำโรงแรมขึ้นสู่ระบบแล้ว 3,000 แห่ง มีเป้าหมายจะให้ถึง 10,000 แห่งภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่แพลตฟอร์มจะเปิดบริการจริง นอกจากนี้ จะมีพันธมิตรเป็นสายการบิน 2 แห่งบนแพลตฟอร์มด้วย โดยเป็นสายการบินของไทย

    “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Robinhood (โรบินฮู้ด)

    สีหนาทกล่าวเพิ่มเติมว่า Robinhood เข้าใจการทำธุรกิจแบบ SMEs ที่มีสายป่านไม่ยาวนัก ดังนั้น จะพยายามทำระบบให้หมุนเงินกลับไปให้เจ้าของธุรกิจภายในวันเดียว เพื่อให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ

    รวมถึงบริษัทจะมีการลงทุนด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งช่วยทำการตลาดให้พันธมิตรในแพลตฟอร์มด้วย เพราะทราบดีว่าธุรกิจขนาดเล็กมีต้นทุนไม่สูง

    ปัจจุบัน OTA ที่ฟาดฟันอยู่ในไทยมีหลายแห่ง เช่น Booking.com, Agoda, Airbnb, Traveloka ฯลฯ ปกติตัวกลางเหล่านี้มักจะเก็บค่าคอมมิชชันสูง ทำให้ Robinhood ต้องการเข้ามาดิสรัปต์ตลาด ทำให้ต้นทุนส่วนนี้ของ SMEs ต่ำลง

    ]]>
    1354561
    ‘โรบินฮู้ด’ ขยับสู่ธุรกิจท่องเที่ยว เตรียมเปิดตัว ‘Zero GP OTA’ ต้นปีหน้า ไม่เก็บค่า GP โรงแรม https://positioningmag.com/1333561 Mon, 24 May 2021 06:58:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333561 โรบินฮู้ดฉลองลูกค้าครบล้านคน ขยายต่อสู่ธุรกิจท่องเที่ยว เตรียมเปิดตัว ‘Zero GP OTA’  ต้นปีหน้า ไม่เก็บค่า GP โรงแรม เป็นโปรเจกต์ CSR เหมือนเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่

    โรบินฮู้ด เเอปพลิเคชันสั่งอาหารในเครือธนาคารใหญ่อย่าง SCB ประกาศโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านโมเดล ‘Zero GP OTA’ ลุยธุรกิจท่องเที่ยว ขยายขอบเขตบริการสู่การเป็น OTA (Online Travel Agent) สัญชาติไทย

    โดยมีจุดยืนเหมือนกับเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ คือการไม่คิดค่า GP’ เพื่อเพิ่มทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ตัวแทนขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ 

    ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บอกว่า ที่ผ่านมาโรบินฮู้ดได้เริ่มทำในส่วนของธุรกิจอาหารไปแล้ว แต่ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจสำคัญที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศหลัง
    โควิด-19 นั่นก็คือ ภาคการท่องเที่ยว

    โมเดลที่เรียกว่า “Zero GP OTA” ไม่เก็บ GP โรงแรม จะมุ่งช่วยผู้ประกอบการโรงแรมร่วมกับลูกค้าโรบินฮู้ดกว่าล้านคน คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในต้นปีหน้า

    ธนามองว่า เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเหมาะสมการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งจะมีดำเนินการตามขั้นตอนของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป เเละจะมีการอัปเดตให้ทราบเป็นระยะ

    ด้านความคืบหน้าของเเอปพลิเคชันโรบินฮู้ด’ (Robinhood) ที่เปิดตัวมาได้ 7 เดือนเเล้ว ด้วยคอนเซ็ปต์ไม่เก็บค่า GP ร้านอาหารแม้แต่บาทเดียว และมีนโยบายที่จะไม่เก็บตลอดไป 

    ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1 ล้านคน มีเฉพาะร้านเล็ก ๆ ในระบบ 90,000 ร้าน มีผู้ส่ง (ไรเดอร์) 15,000 คน ยอดการสั่งอาหารรวมกว่า 2.3 ล้านออเดอร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

    ในปีนี้มีแผนที่จะขยายฟู้ดเดลิเวอรี่สู่ต่างจังหวัดโดยเตรียมปักหมุดนำร่องที่เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพและมีความต้องการบริการด้านฟู้ดเดลิเวอรี่สูง พร้อมโครงการเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพเสริมรายได้ของคนส่งอาหารที่ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง

    โรบินฮู้ดจะร่วมกับพันธมิตรเตรียมเปิดทดลองให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) เป็นรายวันในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2564”

    ราคาเช่าเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ราวร้อยกว่าบาท’ เพื่อให้คนขับมีรายได้เหลือในการทำงาน หรือชาร์จไฟเองที่บ้านได้

    นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายไปสู่ ธุรกิจรับส่งของ (Express Service) และบริการด้านสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Mart Service) เช่น ร้านค้าสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบแบบขายส่ง (wholesale) ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้าได้ เเละสนับสนุน ecosystem ที่เป็นประโยชน์กับร้านค้าและลูกค้า ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับไรเดอร์ในช่วง off-peak ที่ลูกค้าไม่ได้สั่งอาหาร

    ]]>
    1333561