The Future 100 – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 21 Jan 2022 10:34:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 The Future 100 เทรนด์อนาคตปี 2022 ที่แบรนด์ต้องศึกษาและไล่ให้ทัน! https://positioningmag.com/1371065 Fri, 21 Jan 2022 07:37:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371065 “วันเดอร์แมน ธอมสัน” เปิดรายงานประจำปี The Future 100 คาดการณ์เทรนด์ที่น่าสนใจ 100 เรื่องใน 10 หมวดประจำปี 2022 โดย Positioning ขอคัด 10 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคชาวไทยหรือเราอาจนำมาปรับใช้ได้ ดังนี้

(สำหรับรายงานฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่นี่)

วัฒนธรรม Virtual genuinfluencer

Virtual genuiunfluencer คำนี้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยบริษัทวิจัยและคาดการณ์ตลาด WGSN ยกระดับจาก “อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง” เป็น “อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงที่จริงใจและจับต้องได้สำหรับผู้ติดตาม”

Angie อินฟลูฯ เสมือนจริงที่โด่งดังในประเทศจีน

เทรนด์ของอินฟลูฯ เสมือนจริงนั้นโด่งดังมาจาก “จีน” และท่ามกลางอินฟลูฯ แนวใหม่นี้ “Angie” อินฟลูฯ โลกเสมือนที่ดังในแอปฯ Douyin มีความโดดเด่นกว่าเพื่อนเพราะเลือกที่จะนำเสนอ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” เช่น งานผิวที่บางวันก็ผิวแห้งบ้าง มีรอยสิวบ้าง หรือรูปหน้าที่ไม่สมมาตรเท่ากัน ฟันไม่สวย การแต่งตัวเลือกที่จะใส่เสื้อยืดขาวธรรมดามากกว่าเสื้อผ้าแบรนด์เนม

เมื่อเดือนธันวาคม 2021 Angie มีฟอลโลเวอร์มากกว่า 3 แสนคนแล้ว และคนที่ติดตามชื่นชอบ Angie เพราะเห็นว่าเธอ “เรียล” ยิ่งกว่าคนจริงๆ เสียอีก

The Guardian รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ว่า การเป็นอินฟลูฯ ในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนไป “เพราะการเป็นแรงบันดาลใจนั้นเริ่มถูกตีตัวออกห่างเสียแล้ว” คนต้องการความจริงมากขึ้น และแม้แต่อินฟลูฯ เสมือนจริงก็ต้องล้อตามแนวคิดแบบใหม่นี้เช่นกัน

 

เทคโนโลยี – “ซูเปอร์แอปฯ” เรืองอำนาจ

จีนกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนา “ซูเปอร์แอปฯ” ไปแล้ว ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างฝันที่จะดันแอปฯ ของตัวเองให้เป็นซูเปอร์แอปฯ ให้สำเร็จ โดยรวมสารพัดฟังก์ชันไว้ในแอปฯ เดียว ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซ บริการเรียกรถ แชท ชำระเงิน จนถึงบริการทางการเงิน

Robinhood Travel

ยกตัวอย่างปี 2021 แอปฯ เรียกรถและเดลิเวอรี Gojek ควบรวมกิจการกับ Tokopedia มาร์เก็ตเพลสที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย และมีบริการด้านการเงินและโลจิสติกส์เสริมไว้อยู่แล้ว การรวมกันครั้งนี้ทำให้เกิดแอปฯ ใหม่ชื่อ GoTo และมีผู้ใช้บริการกว่า 100 ล้านราย รายได้จากแอปฯ นี้คิดเป็น 2% ของขนาดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของอินโดฯ

Grab ที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ก็กำลังพยายามเป็นซูเปอร์แอปฯ เช่นกัน โดยขยายจากการเป็นแอปฯ เรียกรถและเดลิเวอรี มามีบริการทางการเงินร่วมด้วย โดยได้ใบอนุญาตเป็นดิจิทัลแบงก์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ SingTel

ในประเทศไทยเราได้เห็นวิสัยทัศน์ของหลายแอปฯ ที่กำลังกรุยทางไปสู่ซูเปอร์แอปฯ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Line, AirAsia, Robinhood ที่ต่างประกาศศึกเรื่องนี้กันหมด

 

ท่องเที่ยว – ผจญภัยเชิงวิชาการ

การท่องเที่ยวที่ผสมผสานการผจญภัยเข้ากับความรู้วิชาการโดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นไกด์ให้ เทรนด์นี้กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในภาคธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ และเชื่อมโยงกับแบรนด์ที่ต้องการวางภาพลักษณ์มีสาระความรู้

กิจกรรมดูดาวที่ Hyatt Regency Maui Resort and Spa เกาะฮาวาย ร่วมกับ NASA

ยกตัวอย่างเมื่อปี 2021 โรงแรม Hyatt Regency Maui Resort and Spa บนเกาะฮาวาย ร่วมมือกับ NASA จัดโปรแกรมดูกลุ่มดาว 80 กลุ่ม โดยมี Edward Mahoney แอมบาสเดอร์ของ NASA เป็นไกด์แนะนำการดูดาว ซึ่งทำให้แขกได้ประสบการณ์แบบใหม่ไม่เหมือนใคร

ประสบการณ์เหล่านี้สามารถเลือกหัวข้อได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ดนตรี ไปจนถึงเรื่องสุดเฉพาะเจาะจงอย่างสถานีวิทยุสาธารณะ

 

แบรนด์และการตลาด – สร้างแบรนด์ใน “เกม”

สำหรับคนรุ่นใหม่ “เกม” คือสิ่งที่จะมาทดแทนพื้นที่อย่างสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ เพราะเกมคือที่ที่พวกเขาใช้ชีวิต ทำให้การโฆษณาผ่านเกมจะเติบโตสูงมาก โดย Technavio รายงานว่าโฆษณาในเกมจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3,540 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 และแบรนด์ที่เข้าโลกแห่งเกมก่อนจะเป็นผู้ชนะ

Vans World ในเกม Roblox

เกมที่เป็นผู้นำในการผสานแบรนด์เข้าสู่เกมได้อย่างแนบเนียนคือ Roblox ซึ่งมีผู้เล่นเฉลี่ยถึงวันละ 46 ล้านคน ดึงดูดให้สารพัดแบรนด์เข้ามาทำแคมเปญ เช่น

  • Ralph Lauren เปิดเทศกาลฤดูหนาวในเกมและมีคอลเล็กชันดิจิทัลให้ซื้อจริงๆ ด้วย
  • Nike เปิด Nikeland ให้ผู้เล่นมาลองสวมใส่สินค้า Nike และมีมินิเกมให้เล่นในเทศกาล
  • Vans เปิดสเก็ตพาร์คในเกมให้ผู้เล่นมาลองเล่นสเก็ตบอร์ด ออกแบบลายสเก็ตบอร์ดและรองเท้า Vans เองได้
  • Hyundai เปิดพาร์คในเกมให้ผู้เล่นมาแข่งรถ เล่นมินิเกม และจะได้รู้จักกับเทคโนโลยีของ Hyundai ไปในตัว

แบรนด์อื่นๆ ก็เคยสร้างเกมผสมผสานกับโลกเสมือนจริง เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์และสนุกไปกับองค์ประกอบต่างๆ มาแล้ว เช่น โลกเสมือนของ P&G, Joytopia ของ BMW, เมืองเสมือนจริงของ SK-II เป็นต้น

 

อาหารและเครื่องดื่ม – ทานอาหารแบบคน Blue Zones

Blue Zones กำลังเป็นกระแส นิยามของ Blue Zones คือ พื้นที่บนโลกที่ประชากรมีอายุยืนเป็นพิเศษ ทำให้นักวิจัยพยายามถอดรหัสว่าทำไมคนแถบนั้นจึงอายุยืน เช่น โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, อิคาเรีย ประเทศกรีซ, โอกลิอัสตรา แคว้นซาร์ดิเนีย, โลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย, นิโคยา เพนนินซูลา ประเทศคอสตาริกา

แบรนด์ใช้แรงบันดาลใจจาก Blue Zones มาพัฒนาเมนูสินค้า

หนึ่งในปัจจัยสุขภาพดีของ Blue Zones ถูกมองว่าเกิดจาก “อาหาร” ทำให้แบรนด์เริ่มนำเอาเคล็ดลับอาหารจาก Blue Zones มาใช้พัฒนาสูตรสินค้าและโปรโมต เช่น Bush’s Beans โปรโมตถั่วและพืชปรุงสำเร็จรสชาติแบบคน Blue Zones ใช้สำหรับทานกับข้าวหรือใส่ในซุป

เพราะคนเราย่อมอยากจะมีอายุยืนและมีสุขภาพดีแบบองค์รวม ทำให้กระแส Blue Zones กำลังมา ทั้งในด้านอาหาร และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่มีความสุข ใส่ใจชุมชน สิ่งแวดล้อมด้วย

 

บิวตี้ – จุดสิ้นสุดของคำว่า “ปกติ”

คอนเซ็ปต์ One-size-fit-all สำหรับตลาดบิวตี้นั้นถูกโยนลงถังขยะไปแล้ว เป็นอีกปีที่ตอกย้ำกระแสนี้เมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Unilever ออกแถลงเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ว่า บริษัทจะเลิกใช้คำว่า “Normal” หรือ ปกติ ในการอธิบายคุณสมบัติของสินค้า เพราะแบรนด์ต้องการจะต่อสู้กับการสเตอริโอไทป์ การสร้างบรรทัดฐานความงาม และตอบรับความงามในทุกๆ รูปแบบมากขึ้น

แบรนด์เครื่องสำอางและสกินแคร์ Pleasing โฆษณาถึงจุดยืนของแบรนด์ ไม่มีการแบ่งแยกเพศ

ตัวอย่างแบรนด์ใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาด้วยคอนเซ็ปต์การทลายสเตอริโอไทป์ เช่น Pleasing แบรนด์ใหม่จากนักร้องดัง Harry Styles ออกสินค้ามาด้วยคอนเซ็ปต์ที่ใช้ได้ทุกเพศ มีการใช้ทั้งนายแบบนางแบบโฆษณาสินค้า ซึ่งมีทั้งยาทาเล็บ ลิป เซรั่มรอบดวงตา เซรั่มสำหรับใบหน้า

ตลาดบิวตี้ปีนี้น่าจะได้เห็นการสร้างความเป็นตัวของตัวเอง การโอบรับความงามในทุกๆ รูปแบบมากยิ่งขึ้น

 

รีเทล – Chat Commerce

ไทยและเวียดนามถือเป็นตลาดผู้นำของการใช้ Chat Commerce หรือการขาย/ติดต่อกับลูกค้าผ่านแอปฯ แชทต่างๆ และเทรนด์นี้กำลังขยายตัวในทุกประเทศ พร้อมกับการหาเทกนิกใหม่ๆ มาดึงดูดลอยัลตี้ของลูกค้า

เมื่อเป็นเพื่อนกันบน WeChat อินฟลูฯ เสมือนจริงจะส่งข้อความโปรโมชันมาให้ และโพสต์เทกนิกแต่งหน้าให้ชมเรื่อยๆ (Photo: Jing Daily)

ยกตัวอย่างเช่น Perfect Diary แบรนด์เครื่องสำอางที่กำลังมาแรงในจีน มีกลุ่มเป้าหมายเป็น Gen Z ทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย และในแง่ของแอปฯ แชท แบรนด์ก็เปิดบัญชี WeChat ให้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงของแบรนด์  “Xiao Wanzi” โดยตั้งเป็นกรุ๊ปแชท มีฟอลโลเวอร์ที่ชื่นชอบในแบรนด์เข้ามาคุยพร้อมกัน คนที่เข้ากรุ๊ปนี้จะได้เห็นสินค้าใหม่และโปรโมชันใหม่ก่อนใคร และจะได้แรงบันดาลใจการแต่งหน้าจากคนที่อยู่ในกรุ๊ปด้วยกัน

หลายแบรนด์เริ่มโฟกัสกับการทำ Chat Commerce มากขึ้น แม้แต่ลักชัวรีแบรนด์ก็เริ่มแล้วเช่นกัน ในประเทศไทย ทั้งแบรนด์ Chanel, Burberry, Louis Vuitton มีการเชื่อมต่อกับลูกค้าผ่าน Line พัฒนาสติ๊กเกอร์แบบพิเศษ จัดไลฟ์แฟชั่นโชว์ให้ชม รวมถึงลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่าน Line Shopping ได้ด้วย

 

ลักชัวรี – ผู้ถือ “คริปโต” คืออีลีทกลุ่มใหม่ของโลก

ยุคก่อนหน้านี้ การแสดงฐานะของเศรษฐีอาจมาพร้อมกับกระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือรถสปอร์ต แต่ยุคนี้ “อีลีท” กลุ่มใหม่แสดงออกถึงความร่ำรวยด้วยการถือครอง “NFT” เซเลปดารา นักกีฬา นักธุรกิจ เศรษฐีต่างพุ่งตัวเข้าซื้องานศิลปะ NFT ชิ้นดังๆ พร้อมกับความ ‘บูม’ ของตลาดเมื่อปี 2021

NFT
ผลงาน HUMAN ONE จาก Beeple

การนำชิ้นงาน NFT ราคาแพงมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย เหมือนกับการประกาศความเป็นเศรษฐีคริปโต แสดงสถานะในแบบใหม่ และการได้เป็นเจ้าของ NFT บางชิ้นจะทำให้เจ้าของมีสิทธิเข้าสู่เครือข่ายเศรษฐีคริปโต ได้เข้าคลับเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับนักสะสม

คริปโตและ NFT จึงทำงานในโลกเสมือนจริงเหมือนๆ กับในโลกที่จับต้องได้ นั่นคือการเป็นเจ้าของบางอย่างคือการแสดงฐานะ ในอนาคต เมื่อโลกเมตาเวิร์สบูมมากกว่านี้ “อวาตาร์” ของคนในเมตาเวิร์สจะเป็นจุดสนใจของทุกๆ คน เพราะนั่นคือสิ่งบ่งบอกสถานะความร่ำรวย เป็นความลักชัวรีแบบใหม่ที่เริ่มมีการลงทุนกันแล้ว

 

สุขภาพ – ดูแลสุขภาพจิตของ “เด็กๆ”

ภาวะฉุกเฉินของ “สุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชน” ทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องปฏิรูปข้อจำกัดการเข้าถึงการใช้งานแอปฯ และเกมต่างๆ

(Photo Illustration by Ajay Kumar/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

ในช่วงเกิดโรคระบาด ปัญหานี้ยิ่งหนักข้อขึ้น ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร พบว่า เคสการเข้าพบจิตแพทย์ของเด็กเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นกว่า 2 แสนเคส หรือในสหรัฐฯ พบว่า มีเด็กเข้าห้องฉุกเฉินเนื่องจากสภาวะทางจิตเพิ่มขึ้น 24% ในกลุ่มเด็กวัย 5-11 ปี และเพิ่มขึ้น 31% ในกลุ่มเด็กวัย 12-17 ปี (เทียบปี 2019 กับ 2020)

จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ Instagram Kids ภายใต้บริษัท Meta ต้องหยุดการพัฒนาชั่วคราวเมื่อเดือนกันยายน 2021 เพื่อรับฟังพ่อแม่ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายรัฐให้มากขึ้น ก่อนจะเปิดตัว แพลตฟอร์มนี้ที่มุ่งหมายจะให้เป็นโซเชียลมีเดียของเด็กวัย 10-12 ขวบโดยเฉพาะ เพื่อให้การกลั่นกรองเนื้อหาทำได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองควบคุมสิ่งที่เด็กๆ รับรู้ได้ดีขึ้น

ในประเทศจีนจะยิ่งเห็นได้ชัด เพราะจีนเริ่มจำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนมากขึ้นไปอีก และทำให้ ByteDance บริษัทแม่ของ Douyin ต้องทำระบบให้เด็กๆ วัยต่ำกว่า 14 ปี ใช้แอปฯ ได้ไม่เกินวันละ 40 นาทีเท่านั้น

 

การงาน – รับสมัครงานเพื่อลุย “เมตาเวิร์ส”

จากเทรนด์ทั้งหมดที่พูดถึง สิ่งหนึ่งที่คุณคงเห็นได้ชัดคือ โลกเสมือนจริง หรือ เมตาเวิร์ส กำลังมาถึง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ AR, เกม, ร้านค้าดิจิทัล, สินค้าดิจิทัล ทุกสิ่งที่เข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สต้องการคนทำงานเบื้องหลังเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

ภาพจาก virtualspatialsystems.com

นั่นทำให้การรับสมัครตำแหน่งงานมาพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะเริ่มขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Nike เริ่มรับสมัครดีไซเนอร์สินค้าเสมือนจริง เพื่อมาอยู่ในทีมครีเอทีฟสินค้าดิจิทัล ตำแหน่งนี้ถูกบรรยายหน้าที่ว่าจะต้องมา “ริเริ่มการปฏิวัติดิจิทัลและโลกเสมือนจริงที่ Nike”

เป็นไปได้สูงว่าสถานการณ์การรับสมัครคนทำงานเกี่ยวกับเมตาเวิร์สจะกลับไปเหมือนช่วงที่โซเชียลมีเดียบูม เพราะคนทำงานด้านนี้ยังมีจำกัด และบริษัทต่างๆ ต้องเปิดศึกแย่งตัวพนักงานกัน

]]>
1371065
The Future 100 เปิดเทรนด์อนาคตปี 2021 อะไรที่ ‘กำลังมา’ จนแบรนด์ต้องจับให้ทัน https://positioningmag.com/1319409 Wed, 17 Feb 2021 12:46:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319409 อีกหนึ่งปีหมุนเวียนผ่านไป “วันเดอร์แมน ธอมสัน” จัดทำประมวล The Future 100 เทรนด์อนาคตและความเปลี่ยนแปลงที่แบรนด์ต้องจับตามองประจำปี 2021 เพื่อก้าวให้ทันพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังจากช่วงปีที่โลกต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สุดเนื่องจากโรคระบาด

วันเดอร์แมน ธอมสัน เอเจนซี่ในเครือ WPP จัดทำรายงาน The Future 100 เช่นทุกปี เปิดเทรนด์หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่น่าจับตามองใน 10 หมวดหมู่ รวมทั้งหมด 100 เทรนด์ นำเสนอให้กับนักการตลาดหรือผู้ที่สนใจนำไปปรับใช้กับการพัฒนาแบรนด์และองค์กร

จากทั้งหมด 100 เทรนด์ Positioning เราขอคัดเลือก 10 เทรนด์ที่น่าสนใจมานำเสนอ โดยเลือกจากหัวข้อที่เกี่ยวพันหรือสามารถมาปรับใช้กับคนในเอเชียและประเทศไทยเป็นหลัก ดังนี้

 

วัฒนธรรม – ขับเคลื่อน “แฟนด้อม”

วงเคป็อป BTS บนเวที “Today” Show เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 (Photo : Dia Dipasupil/Getty Images)

ทั่วโลกมีกลุ่มแฟนคลับของศิลปินดังมาช้านาน แต่กลุ่ม “แฟนด้อม” ที่ยกระดับการเป็นแฟนคลับอย่างแท้จริงคือแฟนด้อมศิลปิน K-Pop เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่บริโภคคอนเทนต์จากศิลปิน แต่เป็นผู้กระจายข่าวและสร้างคอนเทนต์ให้ไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบโด่งดังยิ่งขึ้น

แม้ว่าโลกจะเผชิญโรคระบาด และวิธีการปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับของศิลปินเกาหลีต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่สตรีมมิ่งผ่านออนไลน์ ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการมีตติ้งกับแฟนๆ ใช้ระบบ VR และ AR แทนการพบกันแบบตัวต่อตัว แต่เหล่าแฟนด้อมของ K-Pop ไม่เคยจากไปไหน พวกเขายังคงสร้างชุมชนแฟนคลับ ผนึกกำลังกันซื้อและสตรีมงานเพลงของศิลปินเพื่อดันให้ศิลปินขึ้นอันดับ 1 ไปจนถึงการสร้างแฟนอาร์ต แฟนฟิคชัน ตัดต่อคลิป ฯลฯ ทวีคูณคอนเทนต์ออกไป

พลังของแฟนด้อมยิ่งเห็นผลชัดเจนในปี 2020 เพราะพลังนี้ได้ขยายวงไปเกินกว่าโลกแห่งความบันเทิง แฟนด้อมเกาหลีคือผู้สนับสนุน Black Lives Matter คือผู้จัดแคมเปญแกล้งจองตั๋วงานหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์แต่ไม่ไปปรากฏตัวจนมีแต่ที่นั่งว่าง ไปจนถึงระดมเงินกันในหมู่แฟนคลับเพื่อซื้อหมวกและแว่นในการชุมนุมประท้วงของไทย (อ่านเคสประกอบ : ด้อมเกาหลี ขยายสู่เเฟน “อินเตอร์” มิติใหม่ “ป้าย HBD” เทนายทุน มุ่งกระจายรายได้ชุมชน)

เมื่อแฟนด้อมยกระดับพลังไปนอกเหนือจากตัวศิลปิน ทำให้เห็นโอกาสที่แบรนด์จะสามารถมีแฟนด้อมของตัวเองได้เหมือนกัน ถ้าหากแบรนด์เป็นผู้ยืนหยัดเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า แบรนด์กำลังอยู่เคียงข้างพวกเขา

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรม – ความยั่งยืนของการจัดเก็บดาต้า

ปัญหาโลกร้อนมักจะถูกผูกโยงกับสิ่งที่จับต้องได้เป็นหลัก แต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง “ดาต้า” ก็เป็นตัวการปัญหาเหมือนกัน Bloomberg รายงานว่า ดาต้า เซ็นเตอร์บนโลกนี้กินพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 2% ของการใช้พลังงานทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า นั่นคือ 8% ภายในปี 2030

Shift Project ยังเคยเผยงานวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ด้วยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เท่าๆ กับที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการบิน ตัวเลขนี้ทำให้เรารู้ว่า อีเมลทุกฉบับที่เราส่งหรือเกมทุกเกมที่เราเล่นสามารถมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด

กระแสนี้ทำให้ยักษ์บริษัทเทคฯ ออกตัวไปก่อนแล้วในการแก้ปัญหา เช่น Microsoft เจ้าของระบบคลาวด์ Azure กล่าวว่า บริษัทกำลังพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนไว้ใช้กับดาต้า เซ็นเตอร์ของตน หรือในหมวดเกมมิ่ง ทั้งเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 และ Xbox Series S กับ X ต่างก็มีหมวดประหยัดพลังงานปรับปรุงใหม่ให้ใช้

เทรนด์เรื่องดาต้ากับโลกร้อนจึงเป็นก้าวที่น่าสนใจหากแบรนด์จะนำไปพิจารณา และนำมาปรับใช้กับนโยบายด้านความยั่งยืน

 

ท่องเที่ยว – บริการมีระดับเฉพาะสมาชิก

ทริปท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ทัวร์แบบส่วนตัวและหรูหรา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ปีที่ผ่านมามีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นคือการยกระดับให้การท่องเที่ยวแบบลักชัวรีเป็น “ระบบสมัครสมาชิก”

ยกตัวอย่างเช่น Chateau Marmont L.A. โรงแรมหรูที่ดาราฮอลลีวูดนิยม ออกโมเดลธุรกิจใหม่ ปิดโรงแรมให้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกใช้งานเป็นเวลา 12 เดือน (กรกฎาคม 2020 – มิถุนายน 2021) ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของโรงแรม ก่อนที่จะได้เข้าพักและใช้บริการต่างๆ เช่น พื้นที่โต๊ะทานอาหารค่ำส่วนตัว บัตเลอร์ส่วนตัว เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นโมเดลที่ฮิตมากจนเจ้าของจะขยายไปใช้ที่สาขาอื่นใน มิลาน ปารีส โตเกียว ลอนดอน และนิวยอร์ก

ดูเหมือนว่าเทรนด์ของเศรษฐีในโลกยุค COVID-19 ต่างต้องการความเป็นส่วนตัวและหรูหราเหนือระดับกว่าที่เคยด้วยการท่องเที่ยวที่ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น

 

แบรนด์และการตลาด – ตารางคะแนนแบรนด์ที่มี ‘คุณธรรม’

การสำรวจจาก IBM เปิดเผยเมื่อปี 2020 พบว่า 40% ของผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าโดยดูจากจุดยืนของแบรนด์เป็นหลัก ขณะที่ Forbes ให้นิยามปี 2020 ว่าเป็นปีที่ “จุดยืนของแบรนด์ก้าวสู่กระแสหลัก”

แรงกระตุ้นการซื้อจากคุณธรรมของแบรนด์ ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว เช่น Disney+ มีการติดแท็กคำเตือนก่อนฉายการ์ตูนเก่าแก่บางเรื่อง เช่น The Jungle Book, Dumbo, Lady and the Tramp ว่าเนื้อเรื่องอาจจะ “มีการให้ภาพเชิงลบและ/หรือการปฏิบัติที่ผิดต่อกลุ่มคนหรือวัฒนธรรม”

ไปจนถึงเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ เช่น Black Lives Matter หรือการตอบสนองต่อ COVID-19 กลายเป็นตัวชี้ชะตาว่าแบรนด์จะแสดงออกต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร (อ่านเคสเพิ่มเติม : กรณีศึกษา : เมื่อ Nike สนับสนุน ‘BlackLivesMatter’ ยืนหยัดรับความเสี่ยงจากการ ‘เลือกข้าง’)

“แบรนด์มีจุดยืนอย่างไร มีความเชื่อและการให้คุณค่ากับอะไร จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญกับผู้ซื้อมากพอๆ กับตัวสินค้าและสุนทรียะของแบรนด์” ริคคาร์โด เบลลินี ซีอีโอบริษัท Chloe กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020

 

อาหารและเครื่องดื่ม – Plant-based ปักหลักในเอเชีย

Photo : Shutterstock

Plant-based หรือเนื้อทำจากพืช เป็นกระแสในฝั่งตะวันตกมาแล้วหลายปี แต่ปีที่แล้วคือจุดที่กระแสเริ่มติดลมบนอย่างแท้จริงในทวีปเอเชีย

วัดจากการเปิดตัว Beyond Burger เป็นครั้งแรกในประเทศจีนของบริษัท Beyond Meat และสตาร์ทอัพด้าน Plant-based ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเอเชีย และเป็นไปได้ว่าเนื้อทำจากพืชแบบนี้จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกบนเมนูอาหารคนเอเชียในอนาคต

โดยในปี 2019 วันเดอร์แมน ธอมสันเคยจัดสำรวจความเห็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นรวม 9 ประเทศทวีปเอเชีย พบว่า 56% ของผู้ถูกสำรวจตั้งใจที่จะทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เนื่องจากใส่ใจเรื่องผลพวงเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ รายได้คนเอเชียที่มากขึ้นยังนำไปสู่การทานเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น และต้องการสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้นตามไปด้วย โดย Euromonitor พบว่าตลาดสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่า 1.53 หมื่นล้านหรียญสหรัฐเมื่อปี 2019 เติบโตขึ้น 4.75% จากปีก่อนหน้า (อ่านเคสเพิ่มเติม : เมื่อ Sizzler หาเหตุให้คนเข้าร้าน ปั้นเทศกาลเจ ยอม “ลดราคา” ดึงคนทาน Plant-based มากขึ้น)

 

ความงาม – Skinfluencers

ช่อง Skincare by Hyram ใน YouTube มีผู้ติดตาม 4.38 ล้านคน แต่ที่ปังจริงๆ คือใน TikTok เพราะมีคนตามมากกว่า 6 ล้านคน

คุณอ่านไม่ผิด อินฟลูเอนเซอร์ความงามที่กำลังมาแรงยุคนี้คือ “สกินฟลูเอนเซอร์” คนดังที่รีวิวแต่สกินแคร์เท่านั้น ตอบสนองกระแสความนิยมสกินแคร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบน TikTok แพลตฟอร์มนี้เป็นแหล่งรวมผู้บริโภคเจนซี ผู้ชื่นชอบวิดีโอสั้น ตัดกระชับฉับไวและบันเทิง และนี่จะเป็นโอกาสให้แบรนด์สกินแคร์ทั้งหลายมีช่องทางเจาะตลาด

“เจนซีนิยมสกินฟลูเอนเซอร์บน TikTok เมื่อหาคำแนะนำเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ เพราะพวกเขาต้องการเสียงของผู้ใช้จริง” ลิซ ฟลอรา นักข่าวอาวุโสด้านความงามและเวลเนสที่ Glossy ให้ความเห็นกับวันเดอร์แมน ธอมสัน อินเทลลิเจนซ์

“สกินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่าง Hyram Yarbro เป็นที่รู้จักทั้งในฐานะคนดังที่แนะนำสกินแคร์ที่เขาชอบ และคนที่ให้ความเห็นแบบโต้งๆ เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ความจริงใจตรงนี้ทำให้เขาเหนือกว่าในตลาดที่อินฟลูเอนเซอร์มักจะได้รับสิ่งตอบแทนเพื่อให้รีวิวสินค้า และสำคัญมากกับคนเจนซีซึ่งมีเรดาร์ตรวจจับสปอนเซอร์คอนเทนต์ที่แม่นยำ” ฟลอรากล่าว

Yarbro เป็นเจ้าของช่อง Skincare by Hyram บน TikTok เขามีฟอลโลเวอร์ 1 แสนคนในช่วงเริ่มต้นเกิดโรคระบาด ตัวเลขนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วไปถึงมากกว่า 6 ล้านคนเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2020 จนหนังสือพิมพ์ The New York Times ถึงกับขนานนามว่าเขาเป็น “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่ทั้งสร้างหรือทำลายแบรนด์สกินแคร์ก็ได้”

โมเดลเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายคน เช่น ช่อง @katyaniomi จากแคนาดา มีฟอลโลเวอร์ 1.4 แสนคน เพราะเธอเน้นรีวิวสกินแคร์ราคาไม่แพงจาก Costco และ Walmart ทำให้ผู้ติดตามไม่ต้องไปซื้อเซรั่มราคาแพงๆ หรือชาวเกาหลีมี Young-Seok Yuh กำลังมาแรงด้วยฟอลโลเวอร์กว่า 1 ล้านคน เน้นรีวิวสกินแคร์แบบให้ความรู้ด้วยตลกด้วย พร้อมกับสโลแกนที่ซื้อใจคนเจนซีคือ “ฉันไม่ใช้ฟิลเตอร์”

 

ค้าปลีก – สู้กับ Amazon

(Photo : Shopify)

ในโลกตะวันตก Amazon แทบจะเป็นผู้ค้ารายเดียวที่ครองโลกอีคอมเมิร์ซ และ COVID-19 ยังช่วยดันให้ Amazon โตเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ในทางกลับกัน SMEs กลับต้องทุกข์ระทมเพราะสร้างที่ทางของตัวเองบนโลกออนไลน์ไม่ได้มากพอ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคโต้กลับด้วยกระแสอย่าง #boycottamazon ซึ่งเป็นเทรนด์ทั้งบน Twitter และ Instagram ชวนให้คนเลิกซื้อของบน Amazon และมาสนับสนุนการซื้อของจากร้านเล็กๆ โดยตรงมากขึ้น

กระแสนี้ทำให้ Shopify แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สร้างร้านค้าออนไลน์เติบโตถึง 71% ในช่วงไตรมาส 2/2020 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีข้อดีที่เหนือกว่า Amazon สำหรับร้านค้าคือ ร้านจะจ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมใช้งานซอฟต์แวร์รายเดือน และเปอร์เซ็นต์ที่หักจากการซื้อขายแต่ละครั้ง แต่หักน้อยกว่ามาร์เก็ตเพลซ รวมถึงไม่ต้องทำตามกฎของ Amazon เพราะนี่คือหน้าร้านของธุรกิจนั้นๆ บริหารเองได้

เมื่อโลกปรับสู่การค้าแบบอีคอมเมิร์ซ รายใหญ่คือผู้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทำอย่างไรให้ SMEs ได้ประโยชน์มากเช่นกันในห้วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงแบบนี้

 

การงาน – อาชีพเกี่ยวกับ “โลกร้อน”

“โลกร้อน” เป็นประเด็นที่พูดกันมาเนิ่นนาน แต่ระดับความเข้มข้นในการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมถูกบรรจุเป็นวิชาบังคับอยู่ในคอร์สเรียนของมหาวิทยาลัย หรือลงลึกถึงระดับในโรงเรียนสำหรับบางประเทศ และแน่นอนว่า “อาชีพ” ที่เกี่ยวข้องกลายเป็นกระแสที่มาแรงด้วยเช่นกัน

งานวิจัยจาก US Census Bureau แสดงให้เห็นว่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นสาขาวิชาที่มาแรงจำนวนบัณฑิตที่จบด้านทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาทรัพยากรเติบโตขึ้น 4.59% ระหว่างปี 2017-2018

ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า คาดการณ์กันว่าตัวเลขนี้จะทำให้ตลาดงานของสหรัฐฯ เปลี่ยนโฉมหน้าไป โดย สำนักสถิติแรงงานของสหรัฐฯ มองว่าการจ้างงานนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะเติบโต 8% ระหว่างปี 2019-2029 สูงกว่าค่าเฉลี่ยการจ้างงานของตลาดแรงงานโดยรวมมาก

ทุกอย่างนั้นสัมพันธ์กันหมด งานศึกษาจาก Amnesty International พบว่า คนเจนซี 4 ใน 10 คนมองว่าปัญหา “โลกร้อน” คือหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลกใบนี้ และเมื่อคนเจนซีเริ่มเข้ามาเป็นแรงงานในระบบแล้ว โดยปัจจุบันคิดเป็นราว 25% ของจำนวนแรงงาน พวกเขาจะพกอุดมคติในการต่อสู้กับโลกร้อนเข้าไปในที่ทำงานด้วย ส่งผลให้โครงสร้างขององค์กรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

สุขภาพ – Calmtainment

ศัพท์ใหม่ในวงการ ผู้บริโภคสื่อยุคนี้กำลังอินกับเทรนด์ “คอนเทนต์ที่ช่วยสร้างความสงบสุขในจิตใจ” (Calmtainment) Netflix เพิ่งจะฉายซีรีส์อนิเมชันชื่อ Headspace Guide to Meditation ซึ่งช่วยให้คำแนะนำคนดูในการทำสมาธิและสงบจิต และกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมทันทีที่ออกฉายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021

ซีรีส์ของ Netflix เป็นดัชนีชี้วัดล่าสุดของผู้บริโภค แต่กระแสเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดยปีที่แล้ว HBO Max ร่วมมือกับ Calm แอปพลิเคชันเกี่ยวกับจิตใจ จัดทำซีรีส์ชื่อ A World of Calm โดยแนะนำว่าเป็นซีรีส์ที่จะเป็น “ยาต้านชีวิตสมัยใหม่ของเราเป็นครั้งคราว” เพราะเนื้อหาแต่ละตอนคือการนำดาราดัง เช่น คีนู รีฟส์, นิโคล คิดแมน, เคท วินสเลท มาเล่าเรื่องที่ผ่อนคลายอารมณ์ให้เราฟัง พร้อมๆ กับเสียงประกอบที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

Disney+ ก็มีซีรีส์แบบนี้แล้วในชื่อ Zenimation รวมคลิปตัดต่อจากอนิเมชันหลายเรื่องของ Disney เองแล้วปูทับเสียงการ์ตูนด้วยเสียงผ่อนคลายอารมณ์ เช่น เสียงคลื่น เสียงลมพัดเบาๆ

ธุรกิจเกี่ยวกับความสงบทางจิตใจยิ่งพุ่งทะยานขึ้นในช่วงโรคระบาด แอปฯ Calm เพิ่งได้รับการตีมูลค่าบริษัทแตะ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) เพราะคนเรายิ่งต้องการคอนเทนต์ที่สร้างประสบการณ์ความสงบทางใจมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเงิน – สงครามอี-วอลเล็ท

โรคระบาดทำให้โลกไร้เงินสดยิ่งเติบโตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ตัวเลขจาก Bain & Co. ระบุว่า สัดส่วนของการใช้เงินสดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2020 ลดลงเหลือ 37% เทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งยังอยู่ที่ 48% และในสัดส่วนของการใช้จ่ายแบบที่ไม่ใช่เงินสด อี-วอลเล็ทเติบโตขึ้นจาก 18% เป็น 25%

การต่อสู้ในสมรภูมินี้ร้อนแรงมาก หลายบริษัทกระโจนเข้าร่วมสงคราม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่งอย่าง GrabPay หรือ GoPay (บริษัทของ GoJek) ธุรกิจโทรคมนาคม JioMoney เจ้าใหญ่ในอินเดีย ธุรกิจมาร์เก็ตเพลซอย่าง ShopeePay เจ้าใหญ่ของสิงคโปร์และอินโดนีเซีย หรือแม้แต่สมาร์ทการ์ดที่เริ่มจากการใช้แตะจ่ายค่าทางด่วนและจอดรถ Touch’n Go ของมาเลเซียก็มาลุยตลาดนี้ด้วย

ตลาดนี้แข่งขันกันดุเดือดอย่างไร ขอยกตัวอย่างตลาดที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “อินโดนีเซีย” Ipsos พบว่าอินโดฯ มีผู้เล่นหลักในตลาดถึง 5 ราย เรียงตามอัตราการเข้าถึงประชากร ได้แก่ ShopeePay (48%), OVO (46%), GoPay (35%), Dana (26%) และ LinkAja (16%)

และถ้านั่นยังแน่นไม่พอ WeChat เพิ่งจะเข้าตลาดอินโดนีเซียเมื่อปีก่อน ตามด้วย Alipay ที่เซ็นดีลจับมือกับธนาคารท้องถิ่นแล้ว โดยทั้งคู่ต้องการจะเจาะคนท้องถิ่น ไม่ใช่แค่วางแพลตฟอร์มไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น

มีการคาดการณ์ว่าสงครามอี-วอลเล็ทกำลังจะถึงจุดอิ่มตัวในไม่ช้า เวลานั้นเราน่าจะได้เห็นทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ (อ่านเคสเพิ่มเติม : โลมาผงาด! ‘ดอลฟิน’ ผนึก KBank ปล่อยกู้ 3 พันล้าน ชิงความได้เปรียบสงคราม e-Wallet)

ติดตามอ่านรายงาน The Future 100 ทั้ง 100 หัวข้อเทรนด์ที่น่าสนใจ ดาวน์โหลดได้ที่นี่

]]>
1319409