เมื่อคนทำธุรกิจขายอุปกรณ์ไอที ปลั๊กไฟ อยากขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านอาหารอยากให้แบรนด์เข้าถึงครัวเข้าไปอยู่ในบ้านลูกค้า เพื่อสร้างความรักผูกพันในแบรนด์ให้แน่นแฟ้นดีลธุรกิจนี้จึงเคาะกันลงตัวระหว่างบาร์บีคิวพลาซ่ากับแอนิเทค
ดีลนี้ไม่ใหญ่ ถ้าดูเม็ดเงินที่ตั้งเป้าไว้ คือมูลค่ายอดขายเพียงแค่ 5 ล้านบาท จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว 4 อย่าง คือ เครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำร้อน เครื่องปั่นน้ำผลไม้ และเตาอบ รวมทั้งหมด 10,000 ชิ้น
แต่ดีลนี้มีความหวังเต็มเปี่ยมมาก สำหรับทั้งสองฝ่าย
“บาร์บีกอน” ไม่ใช่แค่กู้วิกฤติแบรนด์
บาร์บีคิวพลาซ่า ภายใต้บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ตั้งเป้าให้คนอยากมาร้านบาร์บีคิวพลาซ่า เพราะรักแบรนด์ โดยมีสื่อรักเป็นคาแร็กเตอร์ มังกรเขียว “บาร์บีกอน” และที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาจะได้กู้วิกฤติแบรนด์ได้ง่ายขึ้น
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า กล่าวว่า ผลการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รักของลูกค้า จะทำให้เมื่อเกิดวิกฤติแบรนด์ ช่วยให้กู้วิกฤติได้ง่ายขึ้น อย่างที่บาร์บีคิวพลาซ่าเคยมีบทเรียนจากกรณีกระทะดำ และน้ำซุปดำเมื่อปีที่แล้ว ที่นับเป็นวิกฤติหนักสุดในรอบ 30 ปี ของบาร์บีคิวพลาซ่า
ด้วยกระบวนการคาแร็กเตอร์มาร์เก็ตติ้ง จนทำให้บาร์บีกอนเป็นที่จดจำและปัจจุบันก็สามารถขายสินค้าที่ระลึกคาแร็กเตอร์บาร์บีกอนได้แล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้นซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 65% แล้วจากเดิมมีเพียง 50%
และนี่คือสิ่งที่ได้จังหวะเร่งต่อยอด เพราะมังกรเขียวมีมูลค่า จึงเริ่มเจรจากับผู้ผลิตสินค้าหลายรายเพื่อขายลิขสิทธิ์ตัวบาร์บีกอนไปใช้เป็นลวดลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยมีรายแรกนี้คือแอนิเทค โดยหวังว่าเมื่อมีดีลนำร่องแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็จะสนใจบาร์บีกอนมากขึ้น
เกมนี้ไม่ได้ต้องการแค่รายได้ค่าลิขสิทธิ์ แต่เป้าหมายหลักคือให้คาแร็กเตอร์บาร์บีกอนอยู่ในไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ตามแผนที่หวังว่าเมื่อลูกค้าอยากทานอาหาร ก็จะมุ่งหน้าที่มาที่บาร์บีคิวพลาซ่า เพราะธุรกิจร้านอาหารขณะนี้มีความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก
ต้องยอมรับว่าตอนนี้เริ่มมีสัญญาณว่า ธุรกิจร้านอาหารอาจมีผลกระทบทางอ้อมจากเทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่ทำให้คนเดินห้างลดลง และยังพบว่าจุดประสงค์ของคนมาห้างเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมมาช้อปปิ้ง กินข้าว และไปธนาคาร แต่ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มคนมาห้างเพราะกินข้าวมากกว่าช้อปปิ้ง เพราะหลายคนช้อปออนไลน์ และใช้โมบายแบงกิ้ง ขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารยังมีผลกระทบจากเทรนด์ของบริการดีลิเวอรี่ ทำให้บาร์บีคิวพลาซ่าก็ต้องขยายสาขาอย่างระมัดระวังในปีหน้า
“จากปีนี้มีการขยายเพิ่ม 15 สาขา รวมปัจจุบันมี 138 สาขา ปีนี้อัตราการเติบโตธุรกิจยังคงเป็นไปตามเป้าหมายคือรายได้โต 13-14% ด้วยยอดขาย 3,800 ล้านบาท ปีหน้าต้องระมัดระวังเรื่องการขยายสาขา เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเติบโตของอีคอมเมิร์ช”
เบื้องหลังดีลเครื่องใช้ไฟฟ้าบาร์บีกอน
ส่วนแบรนด์ปลั๊กไฟ ไอที และรับจ้างผลิตสินค้าไอทีต่าง ๆ อย่างแอนิเทค ของบริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป ที่ทำธุรกิจขายอุปรณ์ต่อพ่วงไอทีมาเพียงอย่างเดียวก็อยากเพิ่มรายได้ แตกไลน์สินค้าด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน แต่งตัวให้มีธุรกิจ และรายได้ในพอร์ตมากขึ้น ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ประมาณเดือนพฤษภาคมปีหน้า
พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี เจ้าของแบรนด์แอนิเทค เปิดเผยเบื้องหลังดีลนี้ว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารและเจ้าของบาร์บีคิว พลาซ่า คุณ เป้ ชาตยา สุพรรณพงศ์ เกี่ยวกับการใช้คาแร็กเตอร์บาร์บีกอน คุยครั้งเดียวก็ตกลง และใช้เวลา 4 เดือนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมา โดยมีการตกลงจ่ายค่าลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์บาร์บีกอน เพื่อเอาเจ้ามังกรเขียวมาเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4 อย่าง หลังจากเจรจาคาแร็กเตอร์ระดับโลกมาแล้วหลายรายแต่ลงตัวที่บาร์บีกอน เพราะเป็นแบรนด์เดียวที่เป็นคาแร็กเตอร์ของร้านอาหาร
“แอนิเทคมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอยู่แล้ว แต่เลือกคาแรกเตอร์บาร์บิกอนในการเปิดตัว เพราะจะช่วยให้คนรู้จักได้เร็ว และตรงกับกลุ่มเป้าหมายในฐานะที่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าหน้าใหม่ในตลาด จึงจะจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ที่เวลาตัดสินใจซื้อจะเน้นราคาที่ไม่เพียง มีดีไซน์เฉพาะ อย่างลวดลายเตาปิ้งขนมปัง ก็มีคาแร็กเตอร์บาร์บีกอนอยู่บนขนมปังด้วย และสุดท้ายความมั่นใจเรื่องรับประกัน ส่วนเรื่องแบรนด์มาทีหลัง โดยคนรุ่นนี้จะเน้นซื้อทางออนไลน์มากกว่าอีกด้วย”
4 ผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวกับบาร์บีกอนนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมซื้อช่วงปีใหม่ จะวางขายที่ร้านบาร์บีกอน 19 สาขาใน กทม. นอกจากนี้ยังมีช่องทางจำหน่ายที่เป็นพันธมิตรกับแอนิเทค คือ บานาน่าไอที บิ๊กซี และเพาเวอร์บาย รวมถึงช่องทางอีคอมเมิร์ช 11Street และเฟซบุ๊กของบาร์บีกอน
ปีนี้เปิดตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวรวม 10 ผลิตภัณฑ์ และปีหน้าจะมีอีกจำนวนมาก โดยขยายทั้งในตลาดประเทศไทย และกลุ่มเออีซี ตั้งเป้าปีหน้าจะมียอดขายประมาณ1 ล้านชิ้น
พิชเยนทร์มองว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท เฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมีมูลค่าถึง 60,000 ล้านบาท และครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่.