กาแฟไทยหอมหวน “Louisa Coffee” น้องใหม่จากไต้หวัน ท้าชิง “สมรภูมิ” 1.7 หมื่นล้าน

ใครๆ ก็รู้ว่าสมรภูมิร้านกาแฟในเมืองไทยดุเดือดเลือดพล่านมากแค่ไหน มีตั้งแต่รถเข็นข้างทาง แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ ต่างแข่งขันยึดหัวหาดในทุกพื้นที่ขายกันตั้งแต่แก้วหลักสิบไปจนถึงหลักพันก็มี จากการประเมินของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารคาดธุรกิจกาแฟปี 2019 มีมูลค่ากว่า 25,860 ล้านบาทเติบโตจากปี 2018 ที่มีมูลค่า 23,470 ล้านบาท

ในขณะที่ข้อมูลจากสมาคมกาแฟไทย/สมาพันธ์กาแฟอาเซียน พบว่า ตลาดร้านกาแฟในไทยมีมูลค่าตลาดรวม 17,000 ล้านบาท แบ่งเป็นทั่วไป 9,000 ล้านบาท และพรีเมียม 8,000 ล้านบาท แม้การแข่งขันจะร้อนแรงมากแค่ไหน แต่ต้องบอกว่าตลาดไทยยังมีความน่าสนใจตรงที่คนไทยบริโภคกาแฟมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 100 แก้ว/คน/ปีคาดภายในระยะเวลา 5 ปี (2018 – 2022) จะเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

แต่ถึงจะเติบโตก็ตามคนไทยยังมีอัตราการบริโภคที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับคนไต้หวันเฉลี่ย 130-140 แก้ว/คน/ปี หรือคนเกาหลีใต้ 500 แก้ว/คน/ปี ยิ่งไปกว่านั้นเทียบไม่ได้กับชาวยุโรปที่ชอบกินกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ มีอัตราการบริโภคไม่น้อยกว่า 1,000 แก้ว/คน/ปี นี่เองกลายเป็นเหตุผลที่น้องใหม่อยากเข้ามาช่วงชิงตลาด

“Louisa Coffee” (หลุยซ่าคอฟฟี่) ร้านกาแฟพรีเมียมสัญชาติไต้หวันคือ แบรนด์ล่าสุดที่เข้ามาชิงเค้กก้อนนี้ Louisa Coffee มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 ที่กรุงไทเป ด้วยความหลงไหลในกาแฟของคริส ฮวงซึ่งสนใจตั้งแต่ที่พี่สาวนำเมล็ดกาแฟเข้ามาบดและชงกินในบ้าน ก่อนที่จะไปศึกษาอย่างจริงจังผ่านการทำงานในร้านกาแฟต่างๆ รวมไปถึงสตาร์บัคส์ด้วย

ตั้งแต่ปี 2006 – 2011 มีจำนวนสาขาทั้งหมดราว 50-60 สาขา ก่อนที่ในปี 2011 จะเริ่มเปิดเป็นแฟรนไชส์เริ่มจากคนรู้กันก่อนขยายไปถึงผู้สนใจอื่นๆ จนวันนี้มีสาขา 450 สาขาในไต้หวัน ส่วนใหญ่ 80% เป็นของแฟรนไชส์ มีเพียง 20% ที่ลงทุนเอง โดยกลายเป็น “เชนร้านกาแฟ” ที่ใหญ่ที่สุด ฝาการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ต่างๆ เป็นหมื่นแบรนด์ และแซงหน้าสตาร์บัคส์ในแง่ของจำนวนร้านซึ่งเข้าไปในไต้หวันก่อน 10 กว่าปีไปเรียบร้อยแล้ว

คริส ฮวงให้เหตุผลที่ Louisa Coffee ประสบความสำเร็จมาจากหลายองค์ประกอบด้วยกันคือ ทำเล บาริสต้า การออกแบบร้าน ราคา คุณภาพ รสชาติกาแฟ ซึ่งคั่วเองเป็นกาแฟอาราบิก้า 100% ดังนั้นเมื่อในบ้านตัวเองแข็งเกร่ง จึงต้องการบุกต่างประเทศ

การเปิดตลาดต่างประเทศของ Louisa Coffee มองการเจาะตลาดประเทศในโซนเอเชียซึ่งมีวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบใกล้เคียงกันเป็นอันดับแรก เริ่มด้วยจีนประเทศขนาดใหญ่จำนวนประชากรมาก หากการแข่งขันก็สูงมาก ที่สำคัญอัตราการบริโภคน้อยเกินไปคือ 4 แก้ว/คน/ปี จำต้องออกแรงกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มกาแฟ ซึ่งส่วนหนึ่งคนจีนยังติดชื่นชอบชาเพราะเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่มายาวนาน

จากนั้นจึงเลือกเมืองไทยด้วยภาพรวมตลาดที่ยังเติบโต พฤติกรรมของคนไทยที่มีแนวโน้มดื่มกาแฟ และชื่อแบรนด์ในไต้หวันยังเป็นที่รู้จักของคนไทย จึงตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนกับวงศ์พันธุ์ เหล่าธรรมทัศน์ทำธุรกิจโรงสีของที่บ้านและเป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว ตั้งเป็นบริษัทหลุยซ่าคอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด” ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด 49:51

โดยสาขาแรกได้เปิดที่ตึกอัมรินทร์ พลาซ่า มีพื้นที่ 130 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนประมาณ 5 ล้านบาท จับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุ 20-25 ปี และกลุ่มอาชีพอิสระอายุ 26-30 ปี นิยมพบปะสังสรรค์ที่ร้านกาแฟ โดยมาใช้บริการเพื่อดื่มกาแฟนัดพบพูดคุยธุรกิจ หรือใช้อินเทอร์เน็ต โดยพบว่าจะดื่มกาแฟ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เชื่อว่าราคา” ที่แข่งขันได้ เป็นราคาเดียวกับไต้หวัน

เมื่อเทียบกับตลาดร้านกาแฟระดับพรีเมียมในศูนย์การค้าแล้ว ราคา เท่ากันหรือต่ำกว่าคู่แข่ง 10-20% โดยมีเครื่องดื่มร้อนเย็นให้เลือกราว 40 เมนู ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ถึง 90 บาท โดยมีบาริสต้าเป็นคนไต้หวันเอง

เบื้องต้นภายใน 3 ปีจะขยาย 5 สาขา เพื่อต้องทดลองตลาดให้มั่นใจก่อน จึงจะขยายสาขา โดยรูปแบบร้านจะมีทั้งหมด 3-4 โมเดล เน้นทำเลใจกลางเมืองศูนย์รวมธุรกิจและมหาวิทยาลัย

ได้แก่ 1.คีออส พื้นที่ 20-30 ตารางเมตร ลงทุน 2 ล้านบาท, 2.ขนาด 40-60 ตารางเมตร ขยายไปตามออฟิศ ใช้เงินลงทุน 3-4 ล้านบาท, 3.สแตนอโลนพื้นที่ 500 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 8-10 ล้านบาท โดยภายในจะเปิดเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซ

ทั้งนี้สาขาที่ 2 ในเมืองไทยจะเตรียมเปิดที่ตึกอินเตอร์เชนจ์ และหากเปิดได้ครบ 10 สาขาถึงะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ส่วนประเทศต่อไปที่วางแผนขยายคืออินโดนีเซีย ใช้วิธีร่วมทุนเหมือนกัน.