Thursday, December 26, 2024
Home Global Trend วิเคราะห์ : เปิดเมืองมาเกือบ 2 เดือน แต่ทำไมชาวจีนยังคง “ว่างงาน” ในอัตราสูง

วิเคราะห์ : เปิดเมืองมาเกือบ 2 เดือน แต่ทำไมชาวจีนยังคง “ว่างงาน” ในอัตราสูง

(photo: pixabay)
โรงงานและห้างร้านในจีนเริ่มทยอยเปิดทำการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ชีวิตคนจีนในเมืองต่างๆ เริ่มกลับมาเป็นปกติ มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม แต่ทว่า ภาคการผลิตยังไม่กลับมาสดใสดังเก่า ทำให้กลุ่มแรงงานจีน “ว่างงาน” ต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานอาจสูงถึง 20%

ประเทศจีน ประเทศแรกที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเป็นประเทศแรกที่ควบคุมการระบาดได้พร้อมกลับสู่การใช้ชีวิตปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้หลายประเทศจับตาดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน เพื่อใช้รับมือเมื่อประเทศของตนพ้นขีดอันตราย

แม้จะมีภาพเชิงบวกเมื่อผู้บริโภคในประเทศกลับมาใช้จ่าย แต่ดีมานด์ของสินค้าโดยรวมยังตามไม่ทันกำลังผลิตทั้งหมดที่ประเทศจีนมี โดย สำนักสถิติแห่งชาติของประเทศจีน รายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ว่า ยอดขายสินค้ารีเทลยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง -16% ขณะที่ภาคการผลิตฟื้นตัวแล้วโดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ -1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ยอดขายสินค้าที่ต่ำกว่ากำลังผลิตถือว่าเป็นภาพกลับด้านกับช่วงสิ้นปี 2019 ก่อนเกิดไวรัส COVID-19 ระบาด ช่วงนั้นจีนมียอดขายสินค้าหรือก็คือ “ดีมานด์” เติบโตสูงเกิน “ซัพพลาย” เสียอีก โดยยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า ขณะที่กำลังผลิตเติบโต 6% จากปีก่อนหน้า แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นมีซัพพลายสูงกว่าดีมานด์

 

คนจีนไม่มั่นใจ ตลาดโลกยังไม่ฟื้น

ฝั่งดีมานด์สินค้าที่ลดลง สำหรับกำลังซื้อภายในประเทศยังฟื้นตัวช้าเพราะช่วงที่เกิดการระบาด คนจีนหลายคนตกงานหรือถูกตัดค่าจ้าง ทำให้ต้องพึ่งพิงเงินออมในการใช้ชีวิตช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน จนความมั่นใจในการจับจ่ายยังไม่กลับมาเต็มที่

อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มสำคัญในการบริโภคคือ “คนหนุ่มสาว” ของจีนที่เป็น “คนรวยใหม่” ที่มีไลฟ์สไตล์นิยมของใช้หรูหรา จ่ายเงินแบบถึงไหนถึงกัน เมื่อเผชิญกับการว่างงานจึงทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรม แม้หลังการระบาดผ่านพ้นไปแล้ว

The New York Times รายงานอ้างถึงตัวอย่างชาวจีนรายหนึ่ง “โคลอี้ เชา” นักแปลบทละครเวทีฝรั่งเศสผู้อาศัยอยู่ในเมืองปักกิ่ง เธอกล่าวว่า ชีวิตของเธอก่อนหน้านี้เคยเข้าร้านอาหารเป็นประจำและใช้จ่ายเงินส่วนนี้มากกว่า 6,000 บาทต่อเดือน เคยดื่มกาแฟคิดเป็นเงินเดือนละมากกว่า 2,000 บาท และซื้อครีมบำรุงผิวหน้านำเข้าราคามากกว่า 5,000 บาท มาถึงวันนี้ที่เธอตกงาน เชาต้องทำอาหารทานเอง ชงกาแฟเอง และซื้อครีมบำรุงผิวหน้าในประเทศราคาไม่ถึง 1,000 บาท

“กำลังซื้อของฉันตกลงราวกับตกหน้าผา” เชากล่าว “ถ้าฉันหางานใหม่ได้เมื่อไหร่ ฉันจะเริ่มเก็บออมเงิน และฉันไม่สามารถใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อเหมือนก่อนได้อีกแล้ว”

ศูนย์การค้าบางแห่งในมณฑลหูเป่ยเริ่มกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 30 มีนาคม 63 (photo: TPG/Getty Images)

ด้านกำลังซื้อต่างประเทศก็เช่นกัน เมื่อประเทศผู้ซื้อหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ยังคงไม่ฟื้นตัวจากการระบาด ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ถูกยกเลิกหรือเลื่อนการสั่งซื้อออกไป และหากมองไปถึงอนาคต กำลังซื้อจากต่างชาติก็อาจจะไม่กลับมาเป็นเช่นเดิมด้วยเหตุผลเดียวกับที่การบริโภคในจีนกำลังเผชิญอยู่

ผู้สื่อข่าว The New York Times รายงานด้วยว่า ยอดขายสินค้าบางกลุ่มของจีนคือ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องประดับ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงโดยยอดขายเดือนมีนาคม 2020 ตกลงไปถึง 1 ใน 3

 

อัตราการว่างงานอาจสูงถึง 20%

ดีมานด์สินค้าตกต่ำสะท้อนกลับไปสู่ซัพพลายเชนการผลิตแล้ว โดย South China Morning Post รายงานถึงตลาดแรงงานในเมืองกวางโจว แหล่งผลิตสินค้าหลักในภาคใต้ของจีน โดยเฉพาะตลาดเสื้อผ้าค้าส่ง

กวางโจวมีตลาดแหล่งร้านเย็บผ้ากระจุกรวมกันบนพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร มีร้านเย็บผ้ามากกว่า 20,000 แห่งในตลาด ปรากฏว่าแหล่งงานใหญ่แห่งนี้ยังคงเงียบเหงา มีหลายร้านหรือโรงงานขนาดเล็กที่ประกาศขายหรือให้เช่า ทำให้แรงงานอพยพจากชนบทต้องบ่ายหน้ากลับบ้านเกิดเพราะไม่มีงานทำ

ตลาดผ้าของกวางโจวได้รับอนุญาตให้เปิดทำการอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา แรงงานเย็บผ้าและเจ้าของโรงงานขนาดเล็กจึงกลับมาเปิดโรงงาน แต่ปรากฏว่าคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ได้มากมายเหมือนเก่า ทั้งที่ปกติเดือนมีนาคม-เมษายนจะเป็นหน้าขายของเหล่าโรงงานเย็บผ้า

ค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตต้องจ่ายออกไปทุกวัน แต่ไม่มีคำสั่งซื้อ ผลสุดท้ายคือต้องปิดโรงงานถาวร โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานที่ท่ารถรอกลับต่างจังหวัดต่างขนของใช้ขนาดใหญ่ เช่น จักรเย็บผ้า แอร์ ตู้เย็น เครื่องใช้ในครัว กลับบ้านด้วย สื่อให้เห็นว่าพวกเขาไม่คิดว่าจะได้กลับมาทำงานอีกในเร็วๆ นี้

โรงงานเย็บผ้าในเมืองผู่หนิงทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง (photo: Shutterstock)

ปัญหาการว่างงานกลายเป็นโจทย์หลักที่รัฐบาลจีนกำลังมุ่งมั่นแก้ไข โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนประเมินว่าจีนมีอัตราการว่างงานราว 5.9% อย่างไรก็ตาม Zhongtai Securities บริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่งของจีนประเมินว่า อัตราการว่างงานที่แท้จริงของจีนอาจจะสูงถึง 20% หากรวมการว่างงานของแรงงานต่างจังหวัดที่ปกติจะเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองด้วย (หลังจากนั้นบริษัทได้ดึงรายงานฉบับดังกล่าวออกจากระบบโดยไม่ระบุสาเหตุ)

South China Morning Post ระบุว่า จีนมีแรงงานจากต่างจังหวัดถึงกว่า 300 ล้านคน ดังนั้นหากมีการว่างงานในอัตรา 20% จะมีคนตกงานในจีนหลายสิบล้านคน เป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายเพราะระบบสวัสดิการช่วยเหลือผู้ว่างงานของจีนสามารถรองรับได้เพียง 2 ล้านคนเท่านั้น

ย้อนกลับมามองประเทศไทย ก่อนหน้านี้เอเจนซีการตลาด วันเดอร์แมน ธอมสัน รายงานงานวิจัยผู้บริโภคว่า คนไทยเพียง 14% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาทันทีที่โรคระบาดดีขึ้น เทียบกับคนจีนมีถึง 37% ที่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

เห็นได้ว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าคนจีน พฤติกรรมผู้บริโภคที่จะระวังการใช้จ่ายจึงน่าจะสูงยิ่งกว่า และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอัตราการว่างงานด้วยเช่นกัน

Source: The New York Times, SCMP