“เชสเตอร์” เอาด้วย! ปั้นแบรนด์ “ตะหลิว” ร่วมวงสตรีทฟู้ด ท้าชน “เขียง-อร่อยดี”

กลายเป็นเทรนด์ของเชนร้านอาหารยุคนี้ที่ต้องแตกแบรนด์ใหม่เพื่อจับในทุกๆ เซ็กเมนต์ โดยกลุ่ม “สตรีทฟู้ด” มาแรง ล่าสุด “เชสเตอร์” QSR ในเครือ CPF ได้ปั้นแบรนด์ “ตะหลิว” เริ่มเข้าฟู้ดคอร์ท พร้อมขายแฟรนไชส์ปีหน้า

ขอร่วมวงอาหารตามสั่งขึ้นห้าง

ตลาดสตรีทฟู้ดร้อนแรงขนาดนี้ มีหรือที่ “เชสเตอร์” จะพลาดขบวนในการจับตลาดนี้ด้วย แบรนด์ “ตะหลิว” นี้ จะเป็นเหมือนแบรนด์ลูกในเครือของเชสเตอร์ ต่อยอดจากจุดเด่นของแบรนด์คือข้าว และพริกน้ำปลา

ตะหลิวได้วางจุดยืนเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ เน้นที่เมนูอาหารตามสั่ง เมนูอาหารไทยยอดนิยมอย่างข้าวผัดกะเพรา ผัดมาม่า ต้มยำ และเมนูเส้น มีราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท

ร้านตะหลิว

เชสเตอร์ได้นำร่องเปิดร้านตะหลิวแบบเงียบๆ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เลือกโลเคชั่นเป็นฟู้ดคอร์ทระดับพรีเมียม ได้แก่ อาคาร CP Tower 2 และโรงพยาบาลศิริราช และล่าสุดได้เปิดสาขาใหม่ที่อิมพีเรียล สำโรง เป็นโมเดลแบบร้านมีที่นั่ง

ถ้าถามถึงที่มาที่ไป “รุ่งทิพย์ พรหมชาติ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด เล่าให้ฟังว่า

“จุดเด่นของเชสเตอร์คือ เรื่องข้าว และพริกน้ำปลา เลยมองว่าจะมาต่อยอดอย่างไรได้บ้าง อีกทั้งตลาดสตรีทฟู้ดเป็นฐานใหญ่มากของตลาดร้านอาหารในไทย คิดเป็นสัดส่วน 50% เพียงแต่ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆ หรือโลคอลข้างทาง แต่ก็มีลูกค้าเยอะตลอด เราเลยมาปรับรูปแบบให้ร้านแบบนี้ขึ้นห้าง ปรับเมนูให้โดดเด่น เอามาผสมกับจุดเด่นของเรา”

รุ่งทิพย์เสริมอีกว่า แผนการขยายสาขาของตะหลิวในปีนี้ยังอยู่ช่วงทดลองตลาด ดูว่าโลเคชั่นไหนเหมาะ และการตอบรับของผู้บริโภค แรกเริ่มจะเป็นบริษัทลงทุนเองก่อน มองว่าจะมี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ ร้านเล็กๆ ในฟู้ดคอร์ท, ร้านแบบมีที่นั่ง และ Cloud Kitchen ที่เน้นเดลิเวอรี่ โดยจะใช้ครัวของเชสเตอร์เป็นหลัก

ซึ่งถ้าผลตอบรับดี จะเริ่มขยายแฟรนไชส์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ในปีหน้า จะเป็นอีกหนึ่งโมเดลในการหารายได้เพิ่ม และยังช่วยขยายสาขาได้เร็วขึ้นด้วย

เชนร้านอาหารแห่ลุยสตรีทฟู้ด

เทรนด์ของสตรีทฟู้ดเริ่มเห็นมาได้ 1-2 ปีแล้ว แรกเริ่มกลุ่ม ZEN ได้นำร่องเปิดตลาดด้วยแบรนด์ “เขียง” เป็นสไตล์อาหารตามสั่งยอดนิยม ปัจจุบันได้กลายเป็นแบรนด์ดาวรุ่งของกลุ่ม มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่ได้มากอีกด้วย

ในส่วนของกลุ่ม CRG ก็ร่วมวงด้วยการเปิดตัวแบรนด์ “อร่อยดี” เช่นกัน ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 สาขา และยังเตีรยมขยายแฟรนไชส์ในเร็วๆ นี้ด้วย

เชสเตอร์เป็นแบรนด์ล่าสุดที่ไม่พลาดขบวน แม้จะมาช้า แต่ก็ยังไม่หลุดขบวนเท่าไหร่ เพราะผู้บริโภคยังตอบรับกับเซ็กเมนต์นี้ เนื่องจากเป็นอาหารจานด่วน และเป็นอาหารยอดนิยมที่ทานได้ทุกวัน เมื่อเทียบกับเชนร้านอาหารแล้ว จะมีราคาย่อมเยากว่าด้วย

ต้องจับตาต่อไปว่า จะมีเชนร้านอาหารแบรนด์ไหน ลงมาจับตลาด แต่เชื่อว่าตลาดต้องร้อนแรงอย่างแน่นอน