กรณีศึกษา : อาหารเสริม “กาละแมร์” รีวิวเกินจริง กฎหมายไม่เข้ม คนขายไม่กลัว คนซื้อไม่แคร์?

กรณีศึกษาอาหารเสริมของ “กาละแมร์-พัชรศรี” กับการโฆษณาเกินจริงจนถูก อย. ตรวจสอบและแจ้งดำเนินคดีเป็นคดีที่ 8 แล้ว “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ให้ความเห็น อย. ต้องเข้มงวดในการใช้กฎหมาย แนะถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ สื่อสารกับประชาชนเป็นวงกว้าง ด้านผลเชิงปฏิบัติ ณ ขณะนี้ยัง ‘ไม่สะเทือน’ ยอดฟอลโลเวอร์ Instagram ของกาละแมร์แทบไม่ลดลง และลูกค้ายังรีวิวในหน้าเพจตามปกติ

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเมื่อ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” (อย.) แจ้งดำเนินคดี กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาส และ บริษัท พาวเวอร์ชอต จำกัด ผู้จำหน่ายและโฆษณา ในข้อหาโฆษณาสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดย อย. แจ้งว่านี่เป็นคดีที่ 8 แล้วที่เอาผิดกับกาละแมร์-พัชรศรี ทั้งที่บริษัทเธอเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

สรรพคุณของอาหารเสริมที่เธออวดอ้างจนถูกดำเนินคดีรอบนี้ มาจากคลิปที่เผยแพร่ทาง Facebook และ Instagram ของบริษัท ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ “โบเทรา ดริ้งค์” และ “โบเทรา ชอต” มีสรรพคุณช่วยกระชับผิวหน้า ลดไขมันส่วนเกิน เหนียงหาย ร่องแก้มตื้น จมูกดูโด่งขึ้น ตาขึ้นเป็นสองชั้น และดูเด็กขึ้นทั้งร่างกาย โดยไม่ต้องทำศัลยกรรม

รีวิวอาหารเสริมโบเทรา กาละแมร์อวดสรรพคุณดื่มแล้วหน้ายกกระชับ จมูกเข้ารูป ตาที่เคยตกยกเป็นสองชั้น

ทาง อย. ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ยังไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารใดสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายได้ดังที่อวดอ้าง จึงดำเนินคดีกับกาละแมร์-พัชรศรีตามกฎหมาย

หลังจากนั้น กาละแมร์-พัชรศรีทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงต่อสังคม ได้ระงับและลบคลิปดังกล่าวไปแล้ว พร้อมระบุว่าคลิปที่เผยแพร่เป็นการตัดออกมาจากวิดีโอถ่ายทอดสด ซึ่งเธอกำลังเล่าถึงประสบการณ์จริงของตนเองหลังจากทานอาหารเสริม แต่ได้น้อมรับความผิดพลาดและความคิดเห็นของทุกคน จะนำไปปรับปรุงต่อไป

แถลงการณ์จากกาละแมร์-พัชรศรี ชี้แจงเรื่องโฆษณาอาหารเสริมโบเทรา

อย่างไรก็ตาม โลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้พบการโฆษณาอาหารเสริมพาวเวอร์ชอตเพียงคลิปเดียว แต่ยังมีคลิปที่สร้างความฮือฮาต่อมาอีกถึง 3 คลิป

คลิปแรก กาละแมร์-พัชรศรีนั่งคู่กับ “ติช่า-กันติชา ชุมมะ” นางแบบสาวชื่อดัง เล่าถึงประสบการณ์จากลูกค้าของพาวเวอร์ชอตใน จ.สมุทรสาคร ที่ซื้ออาหารเสริมของแบรนด์ไปทานเฉพาะแม่กับลูก แต่คุณพ่อไม่ได้ทานด้วย ต่อมาพบว่าพ่อติดเชื้อโรค COVID-19 ขณะที่แม่และลูกไม่ติดเชื้อ และเมื่อคุณพ่อรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้ทานอาหารเสริมของพาวเวอร์ชอตควบคู่ไปด้วยเพียง 7 วันก็หายจากการติดเชื้อ COVID-19 ตบท้ายด้วยการโฆษณาว่าอาหารเสริมนี้สามารถเสริมภูมิคุ้มกันได้

คลิปที่สอง กาละแมร์บรรยายสรรพคุณอาหารเสริมพร้อมกับ “ซานิ นิภาภรณ์” นักร้องจากเวที AF6 กาละแมร์เล่าถึงลูกค้ารายหนึ่งที่ได้ทานอาหารเสริมของพาวเวอร์ชอตติดต่อกัน 2 เดือนจนทำให้โรคมะเร็งหายขาด และย้ำอีกครั้งว่า อาหารเสริมนี้สามารถเสริมภูมิคุ้มกันและซ่อมแซมเซลล์ที่อักเสบในร่างกายได้

คลิปที่สาม ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งในคลิปเกี่ยวกับอาหารเสริมต้านมะเร็ง กาละแมร์กล่าวถึงสรรพคุณอีกด้านของอาหารเสริมจากประสบการณ์ของลูกค้ารายหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้าและต้องทานยา หลังจากทานอาหารเสริมพาวเวอร์ชอตก็สามารถลดยารักษาโรคซึมเศร้าได้ และหายขาดในที่สุด เนื่องจากอาหารเสริมสามารถทำให้มีสติ สมองปลอดโปร่ง ไม่คิดอะไรวนไปวนมา

 

อย.ต้องเข้มงวดให้ถึงที่สุด ใช้ยาแรงถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์

คลิปที่ถูกชาวเน็ต ‘ขุด’ ออกมาเป็นระลอกๆ ทำให้ทาง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” กระตุ้นไปทาง อย. ว่าควรจะต้องดำเนินคดีเพิ่ม เพราะเป็นโฆษณาต่างกรรมต่างวาระ สามารถแจ้งความได้รวม 4 ข้อหาต่อการรีวิวหนึ่งครั้ง และควรจะยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์เหล่านี้

“สถาพร อารักษ์วทนะ” นักวิชาการด้านสื่อโฆษณา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่า กรณีของพาวเวอร์ชอต อย. สามารถแจ้งความได้ถึง 4 ข้อหา นอกจากการโฆษณาเกินจริงที่ผิดตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามที่กล่าวข้างต้น ยังผิด มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.เดียวกันด้วย โดยเป็นความผิดฐานไม่ขออนุญาตโฆษณาอาหาร ซึ่งจะต้องมีเลขใบอนุญาตโฆษณาอาหาร (ฆอ.) กำกับ มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการโฆษณาในอินเทอร์เน็ต สามารถแจ้งความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสุดท้ายคือการแจ้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 341-343 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กาละแมร์กับซานิ AF6 ระหว่างการไลฟ์บรรยายสรรพคุณอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้หายจากโรคมะเร็ง

ทั้งหมดนี้ แนะ อย. สามารถแจ้งต่างกรรมต่างวาระ เพราะพาวเวอร์ชอตมีการจัดทำโฆษณาหลายชุด หลายครั้ง ที่เผยแพร่คนละรอบกัน เมื่อรวมหลายคดีแล้วจะทำให้มีโทษที่แรงขึ้น จากเดิมแจ้งเฉพาะมาตรา 40 โทษอาจจะเบาเกินไปสำหรับบริษัทที่ทำรายได้หลักพันล้าน เนื่องจากพ.ร.บ.อาหารตราขึ้นตั้งแต่ปี 2522 ทำให้บทลงโทษ ‘ไม่น่ากลัว’ อีกแล้วเมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับ

ด้านการใช้อำนาจในมือ อย. เอง คือการถอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารของผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งจะเป็นการปกป้องประชาชนได้ดีที่สุด

สถาพรยังกล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อย. ควรจะต้องปรับปรุงการสื่อสารให้ไปถึงประชาชนเป็นวงกว้างด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบและตระหนักว่าผลิตภัณฑ์หรือบริษัทนั้นๆ เคยถูกลงโทษมาแล้ว พึงระมัดระวังในการรับข้อมูลโฆษณาและรับประทาน

 

สังคมดราม่า…แต่อาจจะช้าเกินไปแล้ว

การเปิดประเด็นโฆษณาเกินจริงโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นกระแสในสังคมตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 17 ม.ค. 64 ก่อนที่ อย. จะรับลูกแจ้งดำเนินคดีวันที่ 18 ม.ค. 64 แต่เรื่องนี้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ กาละแมร์-พัชรศรี และพาวเวอร์ชอตแค่ไหน?

Positioning ตรวจสอบบัญชี Instagram @kalamare ซึ่งเป็นบัญชีส่วนตัวของกาละแมร์ ผ่านทางเว็บไซต์ socialblade.com พบว่า ปัจจุบันเธอมีฟอลโลเวอร์ทั้งหมด 3,012,024 คน ในวันที่ 18 ม.ค. 64 จนถึงขณะนี้เธอมีฟอลโลเวอร์ลดลงเพียง 199 คนเท่านั้น! หรือเรียกว่าแทบจะไม่มีผลอะไรต่อเธอเลย รวมถึงเพจ Facebook @kalamare ก็ยังมีไลก์เกิน 9.5 แสนคน เท่ากับเมื่อเดือนธันวาคม 2563

ตัวอย่างคอมเมนต์ของแฟนๆ ที่เข้ามาให้กำลังใจ หลังกาละแมร์ตกเป็นข่าวถูก อย. แจ้งดำเนินคดี

นอกจากนี้ ช่องทางสื่อสารออนไลน์ของเธอและแบรนด์ ยังคงมีลูกค้าเข้ามาคอมเมนต์เชิงบวกตามปกติ เช่น “กินอยู่นะคะ เกือบทุกตัวเลย” “ทานทุกวันครับ” “ชงกินทุกวัน อร่อยมาก” “เป็นกำลังใจให้คุณกาละแมร์และทีมงานค่ะ” “ผลิตภัณฑ์ดีจริงค่ะ ใช้เองเลยกล้าพูด” ฯลฯ

สะท้อนให้เห็นว่าการตลาดที่สร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน ยังไม่สามารถทลายลงได้ในกลุ่มลูกค้า ด้วยกลยุทธ์การตลาดของเธอที่สร้างความเป็น “คอมมูนิตี้” คนที่รับประทาน ซึ่งจะมารีวิวผลลัพธ์กันเป็นประจำ ดังนั้น การแจ้งความดำเนินคดีหรือการตกเป็นข่าวสังคมอาจจะ “ช้าเกินไปแล้ว” สำหรับคนที่ “เชื่อ” ไปเต็มทั้งใจว่าได้ผลจริง

ปีที่ผ่านมา “อาหารเสริม” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจ โดย Euromonitor International คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดมีการเติบโตขึ้น 15% รวมถึงเม็ดเงินโฆษณาธุรกิจนี้ก็ลงทุนเพิ่มขึ้น 7.4% (ข้อมูลจาก มายด์แชร์) และยังมีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกในปีนี้ตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค

ธุรกิจนี้กำลังโตวันโตคืน หันไปทางไหนก็เจอแต่โฆษณาอาหารเสริม ถั่งเช่า คอลลาเจน ดีท็อกซ์ ฯลฯ หากภาครัฐไม่เข้มงวดแต่เนิ่นๆ ก็มีแต่ผู้บริโภคที่ต้องดูแลกันเอง ท่ามกลางนักธุรกิจที่เห็นโอกาสและมุ่งกอบโกยก่อนจ่ายค่าปรับทีหลังเหล่านี้!