“เลิกซื้อ ‘เสื้อผ้า’ ขูดรีดแรงงาน-ทำลายสิ่งแวดล้อม” ทัศนคติของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่แบรนด์ต้องฟัง

“แฟชั่น” หรือ “เสื้อผ้า” ดูเผินๆ เหมือนไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อมมาก หากเทียบกับพลาสติก และดูจะไม่ใช่สินค้าหนักที่ต้องขูดรีดแรงงาน แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เสื้อผ้าแฟชั่นคือหนึ่งในผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และขูดรีดแรงงานในหลายขั้นตอนการผลิต ความจริงเหล่านี้เมื่อออกสู่สายตาผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อเริ่มรับผิดชอบสังคมด้วยตนเอง นั่นคือเลิกซื้อแบรนด์ที่ไม่สนับสนุนการดูแลแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปเมื่อเช้าวันที่ 24 เมษายน 2013 ตึกรานา พลาซา ใกล้กรุงดากา ประเทศบังกลาเทศ เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,134 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,500 คน ตึก 8 ชั้นแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานเย็บผ้าหลายบริษัท และคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือคนงานเย็บผ้า

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ โครงสร้างตึกเริ่มมีอาการร้าวตั้งแต่วันก่อนหน้า ทำให้บริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงงานเย็บผ้าประกาศปิดชั่วคราว แต่คนงานเย็บผ้ากลับถูกสั่งให้กลับมาทำงานอีกในวันรุ่งขึ้น และกลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง

โศกนาฏกรรมตึกรานา พลาซา บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2013 (Photo : Shutterstock)

โศกนาฏกรรมนี้ทำให้ความจริงเบื้องหลังอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกเปิดโปง เพราะในบรรดากองเสื้อผ้าภายใต้ซากตึกถล่มคือเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Prada, Gucci, Versace, Mango ฯลฯ โดยที่เจ้าของแบรนด์ส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสื้อผ้าของตนถูกผลิตขึ้นที่นั่น จนต้องใช้เวลาสืบสาวกันหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ว่าสัญญากับซัพพลายเออร์รายใดที่ไปผูกโยงกับโรงงานในตึกรานา พลาซา

 

“แฟชั่น” ขูดรีดแรงงาน-ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดปริแตกที่รานา พลาซา ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงการขูดรีดแรงงาน เพราะแหล่งผลิตเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยด้วย และคนงานเหล่านี้มักจะได้รับรายได้ต่ำแต่ทำงานหนัก เพื่อแข่งขันทำต้นทุนให้ถูกที่สุด มิต้องพูดถึงความปลอดภัยในชีวิตและที่ทำงานซึ่งอยู่ในระดับต่ำจนเกิดเหตุตึกถล่มขึ้น

ไม่เฉพาะโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบทำเส้นใยผ้าอย่าง “ไร่ฝ้าย” ชาวไร่ฝ้ายในอินเดียก็ได้รับรายได้ต่ำเช่นกัน รวมถึงไร่ฝ้ายในเขตซินเจียง ประเทศจีน มีรายงานว่าจีนมีการใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตเส้นใยฝ้าย แต่ทางการจีนปฏิเสธเรื่องนี้เสมอมา (อ่านเพิ่มเติม : สหรัฐฯ เตรียมแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากซินเจียง โจมตีจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์)

ไร่ฝ้ายในมณฑลซินเจียง กำลังไถพรวนดินเพื่อรอหว่านเมล็ด ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 (Photo by VCG via Getty Images)

ในด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตผ้าคืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำล้างสีย้อมผ้าปริมาณมหาศาล และน้ำที่ชะล้างสีทำให้มีสารเคมีปนเปื้อน อุตสาหกรรมผ้าจึงเป็นตัวการสร้าง “น้ำเสีย” ถึง 20% ของโลก และถ้าย้อนกลับไปถึงไร่ฝ้าย ฝ้ายเป็นพืชที่มักจะใช้สารกำจัดศัตรูพืชสูง โดยคิดเป็น 10-20% ของสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ทั้งโลก (ข้อมูลจากธนาคารโลก)

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนตระหนักถึงความรับผิดชอบของแบรนด์แฟชั่น แม้ว่าแบรนด์หนึ่งๆ จะมีซัพพลายเออร์ที่ทำงานด้วยนับร้อยๆ ราย หรือบางบริษัทอาจมีนับพันๆ ราย แต่ผู้บริโภคก็ต้องการให้แบรนด์ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกรายว่ามีการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ ด้าน รวมถึงเริ่มมองเห็นความรับผิดชอบของตัวเอง และอำนาจของผู้ซื้อที่จะบีบให้แบรนด์ต้องสร้างความยั่งยืนขึ้น

 

ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ

กระแสการตระหนักถึงปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ผู้บริโภคมองการแก้ปัญหาเป็นสองทาง ทั้งตัวแบรนด์ที่ควรจะดูแลซัพพลายเชนดังกล่าว และตัวผู้บริโภคเองที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าด้วย

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ตลาดแฟชั่นกำลังฮิตแบรนด์สินค้าแบบ “ฟาสต์แฟชั่น” นั่นคือเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก คุณภาพต่ำ เปลี่ยนเทรนด์เร็ว เติมสินค้าแบบใหม่กันแทบจะสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ด้วยราคาที่ถูกและการสร้างค่านิยมเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแฟชั่นให้ทัน ทำให้ผู้บริโภคสบายใจที่จะใส่เสื้อผ้าแค่ 1-2 ครั้งแล้วโยนทิ้ง ซื้อใหม่ กลายเป็นการสร้างขยะเสื้อผ้ากองโต และกระตุ้นให้แบรนด์ผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก คุณภาพต่ำ เปลี่ยนเทรนด์เร็ว ด้วยราคาที่ถูกและการสร้างค่านิยมเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแฟชั่นให้ทัน ทำให้ผู้บริโภคสบายใจที่จะใส่เสื้อผ้าแค่ 1-2 ครั้งแล้วโยนทิ้ง ซื้อใหม่ กลายเป็นการสร้างขยะเสื้อผ้ากองโต

มีการสำรวจของ Greenpeace เมื่อปี 2015 ที่ประเทศเยอรมนี สอบถามคนเยอรมันวัย 18-69 ปี ให้จัดแบ่งเสื้อผ้าในตู้ของตนเองว่าได้ใส่บ่อยแค่ไหน ค่าเฉลี่ยสัดส่วนเสื้อผ้ามีดังนี้ 36% ถูกสวมใส่เป็นประจำ 25% ถูกสวมใส่อยู่เรื่อยๆ 20% นานๆ หยิบใส่สักครั้ง และน่าตกใจที่มี 19% ของเสื้อผ้าในตู้ที่เจ้าของไม่เคยสวมใส่เลย ทั้งนี้ รายงานนี้ยังระบุด้วยว่าประเภทเสื้อผ้าที่ถูกใส่น้อยที่สุดคือ “ชุดงานปาร์ตี้” มีการใส่เฉลี่ยแค่ 1.7 ครั้ง

เมื่อเป็นดังนี้ ผู้บริโภคเริ่มเข้าใจแล้วว่า “ฟาสต์แฟชั่น” และวิธีบริโภคของตนเองคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดการผลิตในราคาถูก ต้นตอการกดขี่แรงงาน ดังนั้น จึงเกิดกระแสลด ละ เลิกการใส่เสื้อผ้าแบบใช้ไม่กี่ครั้งก็โยนทิ้ง สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายความยั่งยืน รวมถึงนิยมเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น

 

กระแสจุดติด รณรงค์เลิก “ฟาสต์แฟชั่น”

เทรนด์เลิกซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ และการมองหาแบรนด์ที่สร้างความโปร่งใสด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อม เริ่มเห็นได้ชัดช่วง 3-4 ปีก่อนนี้เอง ยิ่งเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้น ยิ่งทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกคำนึงถึงผลการกระทำของตนเองที่มีต่อโลก จากการสำรวจของ McKinsey สอบถามผู้บริโภค 2,000 คนในสหราชอาณาจักรและเยอรมนี เมื่อเดือนเมษายน 2020 คำถามบางส่วนเจาะลึกไปที่ธุรกิจแฟชั่นและเศรษฐกิจหมุนเวียน

McKinsey พบว่า ผู้บริโภคมีปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกเมื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า คือ สไตล์ที่ชอบ สวมใส่สบาย และคุณภาพวัสดุ

McKinsey พบว่า ผู้บริโภคมี ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกเมื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า คือ สไตล์ที่ชอบ สวมใส่สบาย และ คุณภาพวัสดุ

ส่วนเรื่อง “ความใหม่ เทรนด์ออกใหม่” กลายเป็นปัจจัยสุดท้ายที่คนให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่อง “แบรนด์ที่มั่นใจ” ก็เป็นปัจจัยท้ายๆ เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคพร้อมจะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ตัวเองตั้งใจจะเก็บเสื้อผ้าไว้ใช้งานให้นานกว่าเดิม และ 57% ตอบว่าตัวเองตั้งใจจะซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อให้เสื้อผ้าชิ้นนั้นใช้ได้นานขึ้น

แบบสอบถามยังพบว่า 48% ของคนเจนวาย (อายุ 24-39 ปี) และคนเจนซี (อายุ 18-23 ปี) มีแนวโน้มที่จะซื้อเสื้อผ้ามือสอง หลังจากเกิด COVID-19 ส่วนเจนที่อายุมากกว่านี้จะมีแนวโน้มซื้อเสื้อผ้ามือสองน้อยกว่า

 

แบรนด์ยักษ์ขยับตามผู้บริโภค

เห็นได้ชัดว่ากระแสการตระหนักถึงความรับผิดชอบในการบริโภคแฟชั่นจุดติดแล้วในสังคมตะวันตก ส่วนผู้บริโภคไทยอาจจะยังเป็นนิชมาร์เก็ต แต่ก็มีการพูดถึงบนอินเทอร์เน็ต และมีบางแบรนด์ที่หยิบขึ้นมาเป็นจุดขาย เช่น Pomelo ที่ทำคอลเลกชัน Purpose ซึ่งผลิตเสื้อผ้าจากสีย้อมผ้าธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารเคมี

ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเครื่องจักรรีไซเคิลผ้าของ H&M

ความตระหนักรู้ได้กดดันให้แบรนด์ระดับโลกต้องยอมขยับทำอะไรสักอย่าง ยกตัวอย่างเช่น H&M เริ่มมีจุดรับคืนเสื้อผ้าเพื่อนำไปรีไซเคิลและนำเส้นใยนั้นมาผลิตใหม่ในคอลเลกชัน H&M CONSCIOUS หรือ Uniqlo เริ่มมีการรับเสื้อผ้าไปรีไซเคิลเช่นกัน รวมถึงมีเทคโนโลยีลดการใช้น้ำระหว่างผลิตผ้ายีนส์ด้วย (อ่านเพิ่มเติม : Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ “ความยั่งยืน” และอะไรที่ยังเป็นประเด็นอนาคต)

จากข้อมูลของ Fashion Revolution กลุ่มรณรงค์ให้แบรนด์แฟชั่นมีนโยบายที่โปร่งใสด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อมมีการจัดอันดับ Fashion Transparency Index 2020 โดยตรวจสอบนโยบายความยั่งยืนของแบรนด์ด้วยดัชนีชี้วัด 250 รายการ ตรวจสอบไปกว่า 250 แบรนด์ทั่วโลก รวมทั้งฟาสต์แฟชั่น ลักชัวรี และแบรนด์ที่ขายออนไลน์เท่านั้น โดยต้องเป็นแบรนด์ที่มียอดขายมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

แบรนด์ที่ได้คะแนนมากกว่า 50% จากการจัดอันดับความโปร่งใสของ Fashion Revolution Index 2020

องค์กรนี้พบว่า ค่าเฉลี่ยความโปร่งใสด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของโลกแฟชั่นอยู่ที่ 23% เท่านั้น แต่ดีขึ้นจากปี 2019 ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 21% โดยมุมบวกของปีที่ผ่านมาคือมีแบรนด์ที่ใส่ใจการจัดทำนโยบายมากขึ้น ส่วนมุมลบคือในแง่ความโปร่งใสด้านแรงงาน มีแบรนด์ไม่มากที่กล้าเปิดรายชื่อผู้ผลิตทั้งหมดในซัพพลายเชน และมีแค่ 5 แบรนด์เท่านั้นที่ประกาศไทม์ไลน์ชัดเจนในการส่งเสริมให้แรงงานในสายการผลิตทั้งหมดได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม

สำหรับแบรนด์ที่ทำคะแนนมากกว่า 60% มีเพียง 6 แบรนด์ ได้แก่ H&M (72.8%), C&A (69.8%), Adidas (69.4%), Reebok (69.4%), Esprit (64.2%) และ Patagonia (60.4%)

ส่วนแบรนด์กลุ่มฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ได้คะแนนความโปร่งใสในระดับรองลงมา เช่น ASOS (54.8%), Gap (50%), Zara (44.2%), Uniqlo (39.6%), Topshop (38.2%) และ Mango (21.6%)

กระเป๋า Gucci Dionysus (Photo : Christian Vierig/Getty Images)

แบรนด์ลักชัวรีเองก็เข้าร่วมในเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้วยเช่นกัน โดยในรายงานนี้ แบรนด์ลักชัวรีที่ได้คะแนนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Gucci (48.4%), Balenciaga (46.8%), Saint Laurent (46.8%), Bottega Veneta (46.4%) และ Burberry (36%)

กระแสผู้บริโภคมีพลังมากเมื่อร่วมมือกัน ทำให้แบรนด์ใหญ่ก็ต้องฟังความต้องการและปรับตัวตาม แต่จุดที่ต้องระวังจากนี้คือ นโยบายของแบรนด์เป็นสิ่งที่ ‘ทำจริง’ หรือเป็นเพียงแค่ข้อความการตลาด (greenwashing) เท่านั้น

Source: Fashion Revolution, McKinsey, EcoWatch