อัตราการเกิด ‘จีน’ ลดลง 20% โตช้าสุดในรอบ 10 ปี คาดประชากร ‘อินเดีย’ จะแซงใน 5 ปี

ภาพจาก shutterstock
‘จีน’ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีประชากรมาสุดที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับ ‘อัตราการเกิด’ ที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยลดลงจาก 20% แม้ว่าในปี 2016 จีนจะยกเลิกนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ ที่เคยประกาศใช้เมื่อปี 1979 เพื่อเป็นมาตรการควบคุมการเติบโตของประชากร

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรของประเทศจีนสูงถึง 1.41 พันล้านคนเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีประชากร 1.33 พันล้านคน โดยอัตราการเติบโตของประชากรเฉลี่ยต่อปี 0.53% ช้ากว่า 0.57% ที่วัดได้ในปี 2010 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของจีน โดยจำนวนทารกแรกเกิดในปี 2020 อยู่ที่ 12 ล้านคนลดลงเกือบ 20% จากปีก่อนหน้า

สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 18.7% ซึ่งมากกว่าปี 2010 ที่มีจำนวน 13.26% ในขณะที่ประชากรวัยทำงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปีลดลงเหลือ 63.35% จาก 70.14% แม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 0-14 ปีจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 16.6% เป็น 17.95%

“อายุเฉลี่ยของประชากรจีนคือ 38.8 ปี ซึ่งร่ำรวยและแข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับอายุ 38 ปีของสหรัฐฯ แต่สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและผู้สูงวัยจะกลายเป็นพื้นฐานของประเทศเราในอนาคต” Ning Jizhe หัวหน้า NBS กล่าว

(Photo by Miguel Candela/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนการพึ่งพา ซึ่งหมายถึงภาระในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุของคนวัยทำงาน และเนื่องจากครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง รวมถึงผู้สูงวัยที่มากขึ้น และกำลังแรงงานในอนาคตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

ทั้งนี้ ประชากรวัยทำงานของจีน คือ คนที่มีอายุ 16-59 ปี แม้ว่าจะลดลงไป 40 ล้านคน เมื่อเทียบกับการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2010 แต่ เจิง ยู่ผิง หัวหน้านักระเบียบวิธี กล่าวว่า ขนาดประชากรวัยทำงานทั้งหมด 880 ล้าน ยังมีขนาดใหญ่อยู่ และยังมีกำลังแรงงานมากมาย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนไม่เห็นว่าการลดลงของประชากรทำให้แผนการเติบโตในระยะยาวของจีนลดลง โดย Fang Hanming ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มองว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนแรงงานที่ลดลงได้

“การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรไม่ควรก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ สำหรับเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ต่อคนเป็นสองเท่าภายในปี 2035 หากจีนเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ”

ตามรายงานของ United Nation ในปี 2019 ประชากรของจีนคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 ในขณะที่อินเดียปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 1.36 พันล้านคน โดยคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในราวปี 2025

Source