ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยอด ‘ว่างงาน’ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจ ‘ลาออกจากงาน’ ด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียด ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ทบทวนชีวิตเเละเริ่มฉุกคิดใหม่เรื่อง ‘career path’
The Wall Street Journal นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ชาวอเมริกันมีอัตราการลาออกจากงานสูงสุดในรอบ 20 ปี นับเป็นความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการลาออกจากงานของชาวอเมริกันในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.7% หรือราว 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000
“จำนวนผู้ที่ลาออกจากงานปรับตัวสูงขึ้น หลังช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อคนจำนวนมากต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน ขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ”
เทรนด์การเปลี่ยนงานเเละเปลี่ยนอาชีพใหม่ กระตุ้นให้นายจ้างต้องขึ้นค่าแรงและเสนอการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ โดยความต้องการที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ชี้ให้เห็นถึงความหวังเพื่อหา ’โอกาสที่ดีกว่า’ แม้ว่าจะมีอัตราว่างงานจะสูงขึ้นก็ตาม
เมื่ออัตราการเลิกจ้างสูง ก็ทำให้นายจ้างต้อง ‘เสียต้นทุน’ มากขึ้นเช่นกัน จากการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงาน ให้ความเห็นว่า การลาออกส่งสัญญาณว่า ตลาดเเรงงานเริ่มเเข็งเเกร่งขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาสนใจหางานที่เหมาะกับทักษะ ความสนใจของตัวเอง และต้องการมีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น
ยิ่งในปัจจุบันมีหลายปัจจัยส่งเสริมให้มีการ ‘เปลี่ยนงาน’ บ่อยขึ้น ประชาชนจำนวนมาก ‘ปฏิเสธ’ ที่จะกลับมาทำงานตามปกติในระบบเดิม เเละลังเลที่จะทำงานในออฟฟิศเหมือนก่อนช่วงก่อนโรคระบาด แต่พวกเขามีเเนวโน้มจะเลือกทำงานทางไกลที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เริ่มมองเห็นถึงกระเเสการลาออกนี้ จากสำรวจความเห็นพนักงาน 2,000 คนในช่วงเดือนมีนาคมโดย Prudential Financial พบว่า พนักงานกว่า 1 ใน 4 วางแผนหางานใหม่กับนายจ้างรายอื่นในเร็วๆ นี้
“หลายคนตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดจากโควิด-19 ขณะที่บางคนต้องมองหาค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยการสูญเสียงานของคู่สมรส หรือใช้ช่วงเวลาในปีที่ผ่านมาเพื่อคิดพิจารณาถึงเส้นทางอาชีพและการเปลี่ยนงานใหม่“
จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในสหรัฐฯ เเละมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตเเละภาคบริการ จนหลายบริษัทต้องเเย่งชิงเเรงงาน จัดโปรโมชันต่างๆ ให้ผู้สมัคร
โดยร้านอาหารและแฟรนไชส์บางแห่งในสหรัฐฯ ต้อง ‘เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ’ หรือ ‘ให้โบนัส’ ไปจนถึงเเจกสมาร์ทโฟน เพื่อจูงใจให้คนมากลับมาทำงาน แทนการอยู่บ้านและพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
- KFC จ้างงานเพิ่ม 20,000 ตำเเหน่งทั่วสหรัฐฯ รับดีมานด์ลูกค้ากลับมา หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
- ‘Zoom-free Friday’ งดประชุมทุกวันศุกร์ ลดความเหนื่อยล้าเกินไป เมื่อต้องทำงานที่บ้าน
ที่มา : WSJ , businessinsider