1112 Delivery อัดแคมเปญ Best Deal การันตีราคาถูกกว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่ 10-15%

1112 Delivery (1112 เดลิเวอรี่) ยูนิตธุรกิจเดลิเวอรี่ในเครือไมเนอร์ ฟู้ด สู้ศึกเดลิเวอรี่ด้วยแคมเปญใหญ่ Best Price รับประกัน ราคาดีที่สุด การันตีราคาถูกที่สุดในตลาด ถูกกว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่อื่น 10-15% เนื่องจากเป็นเจ้าของร้าน และแพลตฟอร์มเอง ทำให้ควบคุมราคาได้ หวังสร้างลอยัลตี้ให้ลูกค้า     

ได้เปรียบกว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่อื่น

ถ้าพูดถึงธุรกิจอาหารในประเทศไทย ตอนนี้คงหลีกเลี่ยงการทำเดลิเวอรี่คงไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น เน้นความสะดวกสบาย อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ตลาดเดลิเวอรี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ถ้าย้อนกลับไปในธุรกิจร้านอาหาร ต้องบอกว่าเชนใหญ่ๆ ที่ลงมาทำตลาดเดลิเวอรี่รายแรกๆ ก็คือ “ไมเนอร์ ฟู้ด” หรือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำร่องด้วยแบรนด์ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” ซึ่งกลุ่มอาหารประเภทพิซซ่าพึ่งพาจากการเดลิเวอรี่ค่อนข้างมาก เป็นเทรนด์ที่เห็นได้จากต่างประเทศ

ไมเนอร์ ฟู้ดได้เริ่มทำระบบคอลเซ็นเตอร์ในการสั่งอาหารตั้งแต่ปี 2544 หลังจากนั้นในปี 2553 ก็เริ่มทำเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการสั่ง และในปี 2562 ก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112 Delivery อย่างเป็นทางการ เพื่อรวมแบรนด์ในเครือทั้งหมด ให้สั่งได้ในแอปฯ เดียว เป็นช่วงของการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ด้วย

1112 delivery

1112 Delivery ชูจุดเด่นด้วยการสั่งร้านอาหารภายในเครือหลายแบรนด์ได้ภายในการสั่ง 1 ครั้ง ผ่านแอปพลิเคชัน 1112 Delivery และเว็บไซต์ www.1112delivery.com ปัจจุบันมีร้านอาหารในแพลตฟอร์ม แบ่งเป็น 7 ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ ฟู้ด ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์ คิง, สเวนเซ่นส์, แดรี่ควีน และเดอะ คอฟฟี่ คลับ รวมถึงร้านอาหารพันธมิตรที่เข้าร่วม อาทิ เอสแอนด์พี, เออร์เบินพิซซ่า, เบรดทอล์ค, ซงฟา, เซอร์เจนท์ คิทเชน, อีสาน แซ่บ แซ่บ เป็นต้น

แนวคิดของการปั้นแพลตฟอร์ม 1112Delivery มีความแตกต่างจากแอปพลิเคชันของ Food Aggregator เจ้าอื่นๆ ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ทางไมเนอร์ ฟู้ดชูว่า “เขาเป็น Owner ไม่ใช่ Trader” พูดง่ายๆ ก็คือ ไมเนอร์ ฟู้ดเป็นเจ้าของร้านอาหารเอง ปัจจุบันมีหน้าร้านกว่า 1,500 สาขา สามารถควบคุมคุณภาพ การจัดส่ง และราคาได้

จุดเด่นของ 1112 Delivery คือ การที่สามารถคุมพนักงานจัดส่งของตัวเองได้ เป็นพนักงานของบริษัท 100% ปัจจุบันมีคนขับรวมทั้งหมด 3,000 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และยังมีในส่วนที่เป็นพนักงานฟรีแลนซ์อีก เป็นการจ้างเพิ่มเมื่อมีโปรโมชัน หรือช่วงมีออเดอร์เยอะๆ

เพราะปัญหาเรื่องคนขับ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายค่ายต้องเจอ บางค่ายไม่ได้มีพนักงานประจำ เป็นการจ่ายตามค่าคอมมิชชั่น ทำให้ควบคุมลำบาก รวมถึงเรื่องการบริการ มารยาท และการแต่งกาย การที่ควบคุมคนขับได้ทำให้มีการอบรมเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ

พร้อมกับวิธีการทำงานแบบใหม่ เมื่อได้รับออเดอร์แล้ว ออเดอร์นั้นจะส่งเข้าที่สาขาทันที จากนั้นค่อยส่งไปให้ทางไรเดอร์รับงาน เพื่อเข้ามาที่สาขา ทำให้ประหยัดเวลา และจัดส่งอาหารได้เร็วขึ้น

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไมเนอร์ทุ่มเทในการผลักดันแอปพลิเคชันของตัวเอง มากกว่าที่จะทำตลาดกับ Food Aggregator ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับการกดเข้าแอปฯ เหล่านั้นมากกว่า ก็เพราะว่ามีขุมทรัพย์สำคัญที่เรียกว่า “ดาต้า” นั่นเอง

การทำแอปพลิเคชันของตัวเองทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า ชอบเมนูไหน ชอบแบรนด์ไหน มีการสั่งซื้อเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วทำลอยัลตี้ โปรแกรม หรือส่งโปรโมชันในการสื่อสารต่อไปในอนาคต ในขณะที่การสั่งบน Food Aggregator ทำให้ไมเนอร์ไม่ได้ดาต้าลูกค้าใดๆ เลย ไม่สามารถต่อยอดอะไรในอนาคตได้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่า GP ให้กับผู้เล่นเหล่านั้นด้วย

ปัจจุบัน 1112 Delivery ให้บริการครอบคลุม 75 จังหวัดในไทยแล้ว (ขาดพื้นที่แม่ฮ่องสอน และปัตตานี) มียอดดาว์นโหลด 2.5 ล้านครั้ง ยูเซอร์แอคทีฟเกิน 60% ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 67% และชาย 33% อายุเฉลี่ย 25-34 ปี สัดส่วน 34% และอายุ 35-44 ปี 28% อยู่ในพื้นที่กทม. 80% และต่างจังหวัด 20%

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“มีการประเมินว่าปีนี้ตลาดเดลิเวอรี่ยังเติบโต แต่น้อยลง คาดว่ามีมูลค่า 79,000 ล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ช่วง COVID-19 ทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ ได้กลุ่มต่างจังหวัดมากขึ้น การสร้างแพลตฟอร์ม 1112 Delivery ของเราเองทำให้มีข้อได้เปรียบ มีหน้าร้านทำให้ควบคุมคุณภาพ และความเร็วในการส่งอาหารได้ มีฮอตแบ็ก และระบบแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงบริหารซัพพลายเชนได้ ทำ offer เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้”

ก่อนหน้านี้ 1112 Delivery ก็ได้เริ่มโปรเจกต์กรีนเดลิเวอรี่ ด้วยการนำร่องใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการส่งอาหาร เริ่มต้นที่ 15 คัน มีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 ไรเดอร์จะมีการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอย่างน้อย 80%

ลูกค้าเลือกจากราคา และค่าส่ง

ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 1112 Delivery ได้เปิดโปรแกรมการันตีสปีด หรือความเร็วในการจัดส่งอาหาร เพราะด้วยความที่เป็นร้านในเครือข่าย สามารถควบคุมคุณภาพได้ ปัจจุบันมีระยะเวลาจัดส่งเฉลี่ย 25 นาที

ล่าสุดได้เปิดตัวแคมเปญ “Best Price รับประกัน ราคาดีที่สุด” กระตุ้นตลาดเดลิเวอรี่อีกระลอก เป็นการการันตีว่าถ้าสั่งอาหารจาก 1112 Delivery มั่นใจได้ว่าได้ราคาดีที่สุด ถูกจากแอปพลิเคชันอื่นๆ ครอบคลุม 7 แบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ด ทั้งเมนูเดี่ยว และชุดเซ็ตคอมโบที่ร่วมรายการ

หากเจอเมนูเดียวกันที่ราคาถูกกว่าในแพลตฟอร์มอื่นๆ เมื่อออเดอร์กับ 1112 เดลิเวอรี่ครั้งถัดไป รับส่วนลดทันทีสูงสุด 100 บาท แคมเปญนี้เริ่มตั้งแต่ 6 กันยายน – 5 ตุลาคม 2565 นี้ โดยหลังจากเปิดตัวแคมเปญนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 30%

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และธุรกิจเดลิเวอรี่ (1112 เดลิเวอรี่) เสริมว่า

“พฤติกรรมของลูกค้าในการเลือกสั่งเดลิเวอรี่ หลักๆ จะเลือกจากราคาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือค่าส่ง การทำแคมเปญนี้ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเทียบราคาหลายแอปฯ เพราะเราการันตีว่าถูกกว่าแอปฯ อื่นๆ มีราคาต่างกันเฉลี่ย 10-15% และยังมีแฟลชดีล โค้ดลดราคาอื่นๆ อีก ตอนนี้ยังมีส่งฟรีภายใน 3 กิโลเมตร นอกจากนั้นมีค่าส่ง 19-49 บาท”

ความสำคัญของการที่ไมเนอร์ ฟู้ดต้องเร่งเครื่องในการดันแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น ก็เพราะต้องการให้ลูกค้ามีลอยัลตี้กับแบรนด์มากขึ้น เพิ่มความถี่ในการเข้าแอปฯ สร้างการรับรู้ว่าในแอปฯ ตอบโจทย์มากกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่อื่นๆ อีกทั้งส่วนใหญ่ 43% ลูกค้ามักสั่งร้านอาหารที่เป็นเชนร้านอาหาร ส่วนอีก 57% สั่งร้าน SME ทั่วไป ทำให้เป็นโอกาสของเชนร้านอาหาร

ปัจจุบันไมเนอร์ ฟู้ดมีรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่ในสัดส่วนถึง 30% ทานที่ร้าน 40% และซื้อกลับบ้าน 30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ช่องทางเดลิเวอรี่มีสัดส่วนเพียงแค่ 14-15% เท่านั้น ทานในร้าน 60% และซื้อกลับบ้าน 30% มีการเติบโตอย่างมาก

นอกจากการนำแบรนด์ในเครือของไมเนอร์ ฟู้ดเองขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว 1112 Delivery ยังหารายได้เพิ่มจากการหาพาร์ตเนอร์ร้านอาหารอื่นๆ นอกเครือ โดยคิดค่า GP เหมือนแอปฯ อื่นๆ แต่อาจจะถูกกว่าตลาดนิดหน่อย 20-30% มีร้านอาหารที่เข้าร่วมแล้ว ได้แก่ เอสแอนด์พี, เออร์เบินพิซซ่า, เบรดทอล์ค, ซงฟา, เซอร์เจนท์ คิทเชน, อีสาน แซ่บ แซ่บ เป็นต้น สามารถสั่งได้ภายในแอปฯ เดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม