คอนเทนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 12 May 2023 11:43:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ซีรีส์ “เกาหลี” ที่ Netflix จะลงทุนกว่า 8.5 หมื่นล้าน ตั้งเป้าเพื่อตอบโจทย์ผู้ชม “ทั่วโลก” ไม่ใช่แค่เอเชีย https://positioningmag.com/1430360 Fri, 12 May 2023 09:06:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430360 Netflix ประกาศมาก่อนหน้านี้ว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนซีรีส์-หนัง “เกาหลี” อีก 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท โดยทั้งหมดจะเน้นการเจาะตลาดผู้ชม “ทั่วโลก” ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น จากผลสำเร็จของคอนเทนต์เกาหลีที่สามารถเข้าถึงใจผู้ชมทั่วโลกได้

Don Kang รองประธาน Netflix ด้านคอนเทนต์เกาหลี เปิดเผยกับ CNBC ว่า แผนการลงทุนคอนเทนต์เกาหลีอีก 2,500 ล้านเหรียญใน 4 ปีนั้น จะทำให้เกาหลีมีคอนเทนต์ประเภทที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) เช่น รายการวาไรตี้ เพิ่มเป็นเท่าตัว จากที่เคยมี 4 เรื่องในปี 2022 ปีนี้จะมี 8 เรื่อง

ในจำนวนนี้รวมถึงเรียลลิตี้โชว์ที่ออกฉายไปแล้วต้นปีนี้อย่าง “Physical 100” ที่รวบรวมผู้เข้าแข่งขันมาแข่งกันผ่านด่านที่ท้าทายต่อกำลังร่างกาย

“ผมคิดว่านั่นจะเป็นรายการวาไรตี้รายการแรกที่ได้คนดูในระดับโลก ทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น” Kang กล่าว ปกติแล้วรายการวาไรตี้ของเกาหลีจะไม่ค่อยได้รับความนิยมนักนอกประเทศเกาหลีและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก แต่ปรากฏว่า Physical 100 สำเร็จในการดึงคนดูนอกทวีป เป็นสัญญาณบวกในการกรุยทางต่อ

Physical 100 ขึ้นสู่อันดับ 1 รายการที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุดประจำสัปดาห์ เป็นเวลาสองสัปดาห์ต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้รายการวาไรตี้เกาหลีที่มีคนดูระดับโลกก็เคยมีให้เห็นบ้างแล้วในปี 2022 เมื่อรายการเรียลลิตี้จับคู่เดตอย่าง Single’s Inferno ขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกเมื่อปีก่อน

 

คอนเทนต์ “เกาหลี” ไปสู่ระดับโลก

Kang กล่าวว่า ตนเคยทำงานด้านการจัดจำหน่ายคอนเทนต์เกาหลีในระดับโลกมาก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับ Netflix ในปี 2018 เขามองว่า ก่อนหน้านี้คอนเทนต์เกาหลีที่ได้รับความนิยมจะเป็นประเภทโรแมนติกคอมเมดี้ และมักจะได้รับความนิยมในประเทศใกล้เคียงเท่านั้น เช่น ญี่ปุ่น ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไกลกว่านี้ก็จะเริ่มมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม

แต่ Netflix ลงทุนสูงกับการพากย์เสียงและใส่คำบรรยายที่ทำให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นได้ดีขึ้น ทำให้ลดกำแพงภาษาลงได้และ “เปลี่ยนโลกให้แตกต่าง” เขากล่าว

squid game
Squid Game คอนเทนต์เกาหลีที่ได้รับความนิยมระดับโลก

“คุณไม่ควรปรามาสรสนิยมที่หลากหลายของผู้คนรอบโลก” Kang กล่าว และยกตัวอย่างถึง “Squid Game” ที่ Netflix เลือกเปลี่ยนชื่อเรื่องให้เหมาะกับสากลมากขึ้น

ในปีนี้คอนเทนต์ “เกาหลี” ของ Netflix ก็จะสร้างความแตกต่างหลากหลายให้มากกว่าแค่คอนเทนต์โรแมนติกด้วย โดยจะมีคอนเทนต์แนวดราม่า วันสิ้นโลก เสียดสีสังคม และแน่นอนว่าต้องมีรายการวาไรตี้

Kang มองว่า “เกาหลี” มีศักยภาพในการร้อยเรียงเรื่องราวที่สื่อสารวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมต่อกับผู้ชมในระดับโลกได้เช่นกัน

“เมื่อคนเกาหลีชื่นชอบคอนเทนต์นั้นๆ มันก็มีโอกาสมาก มากๆ ทีเดียวที่คนทั่วโลกจะชื่นชอบเช่นเดียวกัน” Kang กล่าวปิดท้าย

Source

]]>
1430360
กระแสดีไม่ช่วยอะไร! เหตุที่ Netflix ยกเลิกภาคต่อ ‘ซีรีส์’ เพราะคน ‘ไม่ดูจนจบ’ https://positioningmag.com/1415273 Thu, 12 Jan 2023 06:00:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415273 ‘ซีรีส์’ หลายเรื่องบน Netflix ถูกยกเลิกไม่ให้งบสร้างซีซั่นต่อไป ทั้งๆ ที่กระแสดีมาก เป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต หรือถูกใจนักวิจารณ์ เหตุเพราะดาต้าเบื้องหลังพบว่า แม้คนจะเริ่มกดดูกันเยอะแต่ส่วนใหญ่แล้ว “ไม่ดูจนจบ”

“เราใช้สัญชาตญาณ 70% และใช้ดาต้า 30% …ส่วนใหญ่ดาต้าก็มายืนยันสัญชาตญาณและลางสังหรณ์เนี่ยแหละ ดาต้าเหมือนมาเพิ่มน้ำหนักให้ลางไม่ดีที่คุณรู้สึก หรือมาสนับสนุนสิ่งที่คุณตัดสินใจจะทำ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” Ted Sarandos ประธานกรรมการของ Netflix เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงวิธีตัดสินใจว่าคอนเทนต์ไหนที่จะได้ไฟเขียวให้สร้าง และเรื่องไหนจะถูกยกเลิกไม่ให้ทำต่อ

แต่วันนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่าการใช้สัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ของ Netflix นั้นจริงหรือเปล่า

ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ Netflix ยกเลิกสร้างภาคต่อจนทำให้ผู้ชมงงกันเป็นทิวแถวคือเรื่อง ‘1899’ ทำให้สตรีมมิ่งเจ้านี้มีซีรีส์ที่คนดูจะไม่มีวันได้รู้ตอนจบกองพะเนิน และหลายคนไม่เชื่อแล้วว่าบริษัทนี้ใช้ “สัญชาตญาณ” ในการตัดสินใจ เพราะมันดูสวนทางกับความรู้สึกผู้ชม หลายคนมองว่าจริงๆ แล้ว Netflix หันมาใช้ “ดาต้า” แทนต่างหาก

Netflix
ซีรีส์เรื่อง 1899 ที่เป็นกระแสเปิดตัว แต่สุดท้ายถูกยกเลิกภาคต่อ

มีมาตรวัดอย่างหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญนั่นคือ “อัตราการดูจบของผู้ชม” จากบริษัทภายนอกที่ทดลองติดตามดูมาตรวัดนี้ของซีรีส์ Netflix พวกเขาพบว่า อัตราการดูจบมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการ ‘ได้ไปต่อ’ ของซีรีส์เรื่องนั้น

มาดูกันว่าซีรีส์ดังแต่ละเรื่องมีอัตราดูจบสูงหรือต่ำแค่ไหน

  • Heartstopper ดูจบ 73% และได้ไปต่ออีก 2 ซีซั่น
  • Squid Game ดูจบสูงถึง 87% และได้ไฟเขียวซีซั่นถัดไปทันที
  • Arcane ดูจบ 60% ทำให้รอดตัวและได้สร้างต่อ
  • Resident Evil ขึ้นอันดับ 1 ในช่วงที่ซีรีส์เปิดตัว แต่กลับมีอัตราดูจบแค่ 45% ทำให้ถูกยกเลิกซีซั่นถัดไป ถือเป็นอีกเรื่องที่ช็อกแฟนๆ
  • 1899 ที่เป็นกระแสในอินเทอร์เน็ต แต่มีอัตราดูจบ 32% เท่านั้น ยอดที่ต่ำขนาดนี้ทำให้ซีรีส์ถูกยกเลิกง่ายๆ
Heartstopper ที่มีอัตราดูจบสูงและได้ไฟเขียวภาคต่ออีก 2 ซีซั่น

วิธีคิดนี้น่าจะเรียกได้ว่าสมเหตุสมผล เพราะถึงกระแสจะดีมาก แต่ถ้ามีคนดูไปจนจบแค่ 30-40% เท่านั้น แปลว่าเมื่อซีซั่นต่อไปออกฉาย ผู้ชมน่าจะไม่กลับมาดูต่อ (ซีซั่นก่อนหน้ายังดูไม่จบเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้น จะลงทุนสร้างภาคต่อไปเพื่ออะไร

แต่แน่นอนว่าผู้ชม 30-40% ที่สู้อุตส่าห์ดูจนจบก็ต้องมาอารมณ์ค้าง เพราะซีรีส์ของพวกเขาไม่ได้ไปต่อ ประเด็นนี้สำคัญมากต่อวิธีคิดของผู้ชมในภายภาคหน้า เพราะถ้าดูทรงแล้วซีรีส์เรื่องที่สนใจอยู่ในกลุ่ม ‘ดูยาก’ และคงจะไม่ได้สร้างภาคต่อ ผู้ชมอาจจะเลือกไม่รับชมเสียแต่แรกไปเลย

ในขณะที่ซีรีส์ประเภท ‘ดูง่าย’ เนื้อหาดูไปเพลินๆ แถมใช้เวลาเพียง 30 นาทีต่อตอน ก็จะทำให้อัตราการดูจบสูงกว่า มีโอกาสได้สร้างภาคต่อมากกว่า

นั่นแปลว่าผู้สร้างอาจจะหันมาหาซีรีส์ที่มีเนื้อหาเบาสมองกว่า และตัดเป็นตอนสั้นๆ กันมากขึ้น

นอกจากอัตราการดูจบแล้ว Netflix น่าจะพิจารณาเรื่องงบลงทุนว่าคุ้มค่าพอที่จะ ‘ถัวเฉลี่ย’ กับอัตราดูจบที่ต่ำไหม ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง The Lincoln Lawyer มีอัตราดูจบ 56% ผ่านเส้นยาแดงมาไม่ไกล แต่ด้วยทุนสร้างไม่สูงมาก จึงได้ไปต่อ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากบริษัทภายนอก และการคาดเดาของนักวิเคราะห์ เพราะทาง Netflix ไม่เคยให้ข้อมูลเรื่องอัตราดูจบ จะให้เฉพาะจำนวนชั่วโมงรับชม แต่ถ้าอนาคตคุณสังเกตเห็นซีรีส์ที่เปิดตัวเป็นอันดับ 1 บนชาร์ต แถมยังมีจำนวนชั่วโมงรับชมสูง แต่สุดท้ายถูกแคนเซิลซีซั่นหน้า ก็เป็นไปได้ว่าอัตราดูจนจบนี่แหละที่เป็นปัญหา

Source

]]>
1415273
บันเทิงก่อนขายทีหลัง! สู่เทรนด์ ‘Shoppertainment’ แก้ปัญหาลูกค้ายี้โฆษณา https://positioningmag.com/1397589 Thu, 25 Aug 2022 08:14:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397589 หากพูดถึงตลาด อีคอมเมิร์ซ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามา ไม่ใช่แค่กับแพลตฟอร์ม E-Marketplace แต่รวมถึง Social Media ด้วย ดังนั้น เราจะได้เห็นคำใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น แชทคอมเมิร์ซ, ไลฟ์คอมเมิร์ซ แต่ไม่ว่าจะมีแพลตฟอร์มสำหรับขายของมากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ยังสำคัญเสมอคือ คอนเทนต์ เมื่อผู้บริโภคเบื่อการขายของแบบเดิม ๆ จนนำไปสู่เทรนด์ Shoppertainment

ลูกค้ายี้โฆษณาแบบเดิม ๆ

จากงานวิจัยของ TikTok ที่ทำร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) โดยสำรวจความคิดผู้คนกว่า 2,000 ราย ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ออนไลน์ของกลุ่มผู้บริโภคถึงจุดอิ่มตัวในแง่ของการโฆษณา โดย

  • 34% ของผู้บริโภคไม่ไว้วางใจเนื้อหาที่มีความเป็นแบรนด์มากเกินไป รู้สึกถูกยัดเยียด จนตัดสินใจไม่ซื้อแบรนด์นั้น ๆ
  • 26% ของผู้บริโภคต้องการเวลามากขึ้นในการตัดสินใจซื้อ
  • 46% จะตัดสินใจซื้อในวันอื่น
  • 89% ของผู้บริโภคจะหาข้อมูลทั้งในและนอกแพลตฟอร์มที่ตัวเองกำลังใช้อยู่
  • 63% จำเป็นต้องได้รับชมคอนเทนต์ 3-4 ครั้งถึงจะซื้อ
  • 85% ของผู้บริโภคจะท่องไปในหลายแพลตฟอร์มก่อนจะตัดสินใจซื้อจริง

บันเทิงก่อนขายทีหลัง

กลับกันหากให้ ความบันเทิง เป็นหัวใจของการค้าขาย หรือ บันเทิงก่อนขายทีหลัง จะนำไปสู่เส้นทางนำไปสู่การซื้ออย่างเป็นธรรมชาติ โดย

  • 81% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าจะเห็นคอนเทนต์ที่เน้นเล่าเรื่องและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อน
  • 76% ของผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ที่เน้นภาพเคลื่อนไหวเป็นหลัก เช่น วิดีโอ หรือ livestream พร้อมมีเนื้อหาความบันเทิงเพื่อดึงดูดผู้บริโภค
  • 71% ของผู้บริโภคเห็นว่าข้อมูลจริงและถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนื้อหาดึงดูดน่าสนใจ และคอนเทนต์ที่จะ ช่วยกระตุ้นคือ การรีวิวหรือถ่ายวิดีโอแกะกล่องสินค้า
  • 71% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าแบรนด์จะไม่บังคับให้ตัดสินใจซื้อในระหว่างนำเสนอคอนเทนต์
  • 65% ของผู้บริโภคอยากได้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับแบรนด์จากโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้น แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับเสียงของผู้เชี่ยวชาญในคอมมูนิตี้ออนไลน์และอำนวยความสะดวกให้เพื่อนและผู้ใช้งานได้คุยกันเกี่ยวกับแบรนด์

 

ไลฟ์ขายของขึ้น TOP5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิต

อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยชี้ชัดถึงเทรนด์ Shoppertainment ได้เป็นอย่างดี ก็คือ การที่ Live Commerce ติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด โดยพบว่ามีชาวเน็ตถึง 41.51% เคยดูและซื้อสินค้าและบริการผ่านไลฟ์ จากการสำรวจของ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

และถ้าใครเป็นนักช้อปก็จะรู้ว่า e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, JD.Central ต่างก็ใช้กลยุทธ์ Shoppertainment มาช่วยในการขายหรือดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาในแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการมีฟีเจอร์ไลฟ์ให้กับร้านค้า, การไลฟ์เองโดยการดึงดาราและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาเป็นตัวชูโรง รวมไปถึงการมีเกมให้ผู้ใช้ได้เล่น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Metaverse เพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภค ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

ทำไม TikTok ถึงให้ความสำคัญ Shoppertainment

เนื่องจากการตอบรับของผู้บริโภคของเทรนด์ Shoppertainment ทาง TikTok และ BCG ก็มีการคาดการณ์ว่า เทรนด์ดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสให้กับการช้อปปิ้งออนไลน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ส่วนไทยเองก็มีโอกาสถึง 12,000 ล้านเหรียญ ภายในอีก 3 ปี เติบโตถึง 54%

แน่นอนว่าว่าตัวเลขดังกล่าวถือเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกาะเทรนด์ Shoppertainment ส่วน TikTok ที่พึ่งจะปล่อยฟีเจอร์ TikTok Shop มาหมาด ๆ ก็ต้องพยายามจะดึง ร้านค้า ให้มาขายของบนแพลตฟอร์ม โดย TikTok เองก็พยายามจะชูความเป็น Entertainment แพลตฟอร์มมาขาย แน่นอนว่าหากมีร้านค้ายิ่งเข้ามามากเท่าไหร่ โอกาสที่ TikTok จะทำรายได้จาก โฆษณา ก็มากขึ้น

สุดท้ายแล้ว ยิ่งมีแพลตฟอร์มมาก โอกาสเข้าถึงผู้บริโภคของแบรนด์ก็ยิ่งมาก แต่หากพูดถึง Shoppertainment แม้จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงแต่แก่นแท้ของมันคือ Content ที่จะเป็นโจทย์ของแบรนด์ต่อไปว่าจะทำให้ Content มัน Entertain ลูกค้าจนอยากซื้อได้อย่างไร

]]>
1397589
โฆษณาที่คน Gen Z จะไม่กดข้าม! ‘LINE WEBTOON’ หมัดเด็ดของ “แบรนด์” เพื่อครองใจคนรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1379582 Tue, 29 Mar 2022 14:00:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379582

‘คนรุ่นใหม่ไม่ดูโฆษณากันแล้ว’ ข้อความนี้เป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่แก้ไขได้ หากแบรนด์สามารถพลิกแพลงด้วย ‘Storytelling’ เข้ากับคอนเทนต์ที่คน Gen Z และ Gen Y ชื่นชอบ โดย ‘LINE WEBTOON’ เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับแบรนด์ จากความนิยมที่สูงมากในกลุ่มวัยรุ่นไทย มาดูกันว่า กลยุทธ์ที่แบรนด์สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

คนทั่วไปเมื่อเอ่ยชื่อ LINE (ไลน์) อาจจะนึกถึงแอปพลิเคชัน “แชท” เป็นแพลตฟอร์มเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แต่จริงๆ แล้วระบบนิเวศของ LINE นั้นขยายไปไกลกว่าแค่การแชท โดยมีโปรดักส์อื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น LINE TODAY, LINE WEBTOON, LINE SHOPPING และ LINE OpenChat เป็นต้น

ระบบนิเวศทั้งหมดนี้ทำให้ LINE เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันทุกช่วงของคนไทย รวมถึงเป็นช่องทางให้กับธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ระบบนิเวศของ LINE เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นและครอบคลุม

ในยุคที่แพลตฟอร์ม “ดิจิทัล” มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจและการตลาด LINE ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยจึงจัดงานสัมมนาเพื่อช่วยติดอาวุธธุรกิจไทยให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ชื่องาน “THAILAND NOW AND NEXT 2022: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD” รวมกูรูในวงการมาให้ข้อมูลด้านดิจิทัลที่ผู้ประกอบการควรรู้ ตั้งแต่เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ การใช้ดาต้าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ จนถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

โดยหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจของงานสัมมนาคือหัวข้อ WEBTOON: THE NEXT MOVEMENT IN THAILAND” ชี้เป้าให้นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจเห็นว่า เทรนด์ที่กำลังมาในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทยและจะเป็นโอกาสทางการตลาดให้แบรนด์ คือแพลตฟอร์มอ่านการ์ตูนออนไลน์นี่เอง


LINE WEBTOON แพลตฟอร์มยอดนิยมของคนรุ่นใหม่

อันแชวอน Partnership Manager ของ LINE WEBTOON อธิบายถึงโปรดักส์นี้ก่อนว่า เป็นแพลตฟอร์มที่นำความเพลิดเพลินจากหนังสือการ์ตูนในอดีตมาสู่อุปกรณ์ดิจิทัล โดยมีการปรับรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะกับอุปกรณ์มากขึ้น

คอนเทนต์ยอดนิยมของ LINE WEBTOON มีการขายลิขสิทธิ์ไปผลิตเป็นซีรีส์และภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง

LINE WEBTOON เปิดตัวครั้งแรกที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2004 ก่อนจะเริ่มขยายไปยังต่างประเทศเมื่อปี 2014 จนปัจจุบันเป็นผู้นำในธุรกิจแพลตฟอร์มอ่านการ์ตูนออนไลน์ มียอดผู้ชมประจำเดือนทั่วโลก (MAUs) กว่า 82 ล้านคน และมีระยะเวลาการอ่านเฉลี่ยต่อคนต่อวันมากกว่า 24 นาที

จากการสั่งสมฐานแฟนและครีเอเตอร์มายาวนาน ทำให้ LINE WEBTOON อัดแน่นด้วยคอนเทนต์คุณภาพจนได้รับการต่อยอด ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปสร้างเป็นซีรีส์-ภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Nevertheless, Hellbound, All of Us Are Dead, คุณแม่วัยใส และแต่ละเรื่องล้วนกลายเป็นคอนเทนต์สุดฮิตบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นตลาดสำคัญของ LINE WEBTOON เพราะแพลตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมสูงมาก ไทยมียอดผู้ชมประจำเดือน (MAUs) 3.5 ล้านคน และมีระยะเวลาอ่านเฉลี่ยต่อคนต่อวันถึงมากกว่า 100 นาที! นอกจากนี้ ไทยยังเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มสูงเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและจีน สะท้อนให้เห็นว่าผู้อ่านไทยชื่นชอบคอนเทนต์ มีการเข้าอ่านเป็นประจำ และเป็นแฟนตัวยง

ผู้อ่านหลักของ LINE WEBTOON จะเป็นกลุ่ม Gen Z และ Gen Y โดยมีผู้อ่านวัยต่ำกว่า 24 ปี และวัย 24-34 ปี รวมกันถึง 76% ทำให้ถ้าหากแบรนด์ใดมีเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มเดียวกัน นี่จะเป็นช่องทางที่ใช่สำหรับแบรนด์นั้นทันที


ช่องทางเข้าถึงใจ Gen Z + Gen Y

กลุ่มคน Gen Z และ Gen Y ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่นักการตลาดดิจิทัลไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะเป็น ‘media savvy’ รับชมคอนเทนต์ออนไลน์ถึงวันละ 8 ชั่วโมง กลุ่มนี้ยังเป็นผู้นำความคิดในโลกออนไลน์ คอนเทนต์จากแบรนด์จะ “ไวรัล” หรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเขา

นอกจากนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังเปิดใจกว้างกว่าวัยอื่น มากกว่า 20% ของคนกลุ่มนี้พร้อมจะลองแบรนด์ใหม่ๆ และมีกำลังซื้อพอที่จะจับจ่าย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการส่งคอนเทนต์สู่สายตาคน Gen Z และ Gen Y คือ “พวกเขามีระยะความสนใจต่ำเพียง 8 วินาที” และไม่ชอบรับชมโฆษณา ทำให้การทำโฆษณาแบบดั้งเดิมนั้นอาจจะไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะพวกเขาจะกดข้ามทันที

ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร? แชวอนแนะนำถึงกลยุทธ์การโฆษณาที่ซับซ้อนขึ้น ด้วยการสร้าง ‘storytelling’ เมื่อร้อยเรียงข้อความของแบรนด์เข้ากับเนื้อเรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจอยู่แล้ว จะทำให้คนรุ่นนี้สนใจมากกว่าการอ่านข้อความธรรมดาที่บอกเล่าตรงๆ ถึง 22 เท่า!

เหตุนี้เอง LINE WEBTOON จึงเข้ามาตอบโจทย์นักการตลาด ด้วยแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ที่แฟนๆ ชื่นชอบ ทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าถูกรบกวนหรือยัดเยียดเมื่อร้อยเรียงแบรนด์ลงไป และยังคงได้รับความบันเทิงพร้อมๆ กับการอ่านโฆษณา


Branded Story: สร้างเนื้อเรื่องของแบรนด์เข้ากับตัวละครดัง

แชวอนยกตัวอย่างงานโฆษณาในประเทศอื่นๆ ที่ร่วมมือกับ LINE WEBTOON และประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนความคิดของคน Gen Z ที่ไม่ชอบโฆษณา มาเป็นแนวหน้าช่วยเผยแพร่โฆษณาของแบรนด์ออกไปจนไวรัล ผ่านกลยุทธ์เหล่านี้

กุญแจสำคัญคือแบรนด์จะมีการสร้าง Branded Story ร่วมกับครีเอเตอร์ที่สามารถคอลแลปกันได้ โดยครีเอเตอร์จะใช้ตัวละครจากเรื่องมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง มีการคิดสร้างสรรค์เนื้อเรื่องที่ช่วยส่งเสริมจุดประสงค์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการโปรโมตแคมเปญ

ตัวอย่างจาก Com2Us: เนื้อเรื่องของแบรนด์ที่คอลแลปกับครีเอเตอร์วางอยู่ในช่วงท้ายตอนของเนื้อเรื่องปกติ (BEP: Branded Epilogue)

ในแง่วิธีการเผยแพร่ Branded Story บน LINE WEBTOON มีหลายตัวเลือกขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแบรนด์ เช่น Com2Us ซึ่งเป็นบริษัทเกม ต้องการจะสร้าง Brand Awareness ในระยะยาว จึงเลือกวางโฆษณาไว้ท้ายตอนปกติของการ์ตูนรวมทั้งหมด 25 เรื่อง

ขณะที่ Devsisters บริษัทเกมอีกแห่งหนึ่ง ต้องการเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ด้วย จึงเพิ่มแบนเนอร์ไว้ที่หน้าแรกของ LINE WEBTOON เพื่อให้คนอ่านคลิกเข้ามาที่เนื้อเรื่องโฆษณาได้ทันที และมีปุ่มกดคลิกดาวน์โหลดเกมแทรกไปใน Branded Story ของแบรนด์

ส่วน Samsung มีแคมเปญโปรโมตวิธีใช้งานผลิตภัณฑ์ใหม่คือ Samsung Galaxy Fold 3 และ Flip 3 จึงเลือกที่จะสร้าง Branded Story ยาวถึง 8 ตอนแยกออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ลงรายละเอียดการใช้งานผลิตภัณฑ์ตามเป้าหมายของแบรนด์ได้ดีกว่า ผลของการร่วมมือครั้งนี้ทำให้ Samsung มียอดเยี่ยมชมสโตร์ออนไลน์สูงขึ้นถึง 150%

ตัวอย่างจาก Samsung: พัฒนา Branded Story เป็นเนื้อเรื่องพิเศษ 8 ตอน แสดงถึงฟังก์ชันการใช้งานของผลิตภัณฑ์

อีกไอเดียที่น่าสนใจมาจาก Cash App แอปฯ ตัวกลางในการชำระเงินในสหรัฐฯ แบรนด์นี้ต้องการดึงผู้ใช้เข้ามามากขึ้น จึงมีแคมเปญกับ ‘Coins’ ในแอปฯ LINE WEBTOON

อธิบายก่อนว่าระบบ Coins คือสิ่งที่ใช้ในการปลดล็อก Fast Pass อ่านตอนต่อไปที่ล็อกอยู่บน LINE WEBTOON ซึ่งทำให้ Coins เป็นที่ต้องการของผู้อ่าน ดังนั้น Cash App จึงสร้างแคมเปญแจก Coins เมื่อผู้อ่านคลิกเข้ามาอ่าน Branded Story ของแบรนด์และดาวน์โหลด Cash App ปรากฏว่าแคมเปญนี้ทำให้มีผู้ใช้รายใหม่ของ Cash App มากกว่า 25,000 ราย

เนื้อเรื่องที่โดนใจของแต่ละแคมเปญยังทำให้ผู้อ่านนำไปพูดถึงจนเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์มอื่น เช่น แคมเปญของ Devsisters ที่กลายเป็นไวรัลคอนเทนต์บนเว็บบอร์ด Reddit

โดยสรุปแล้ว แบรนด์ที่คอลแลปกับครีเอเตอร์และอาศัยช่องทาง LINE WEBTOON มีโอกาสที่ดีกว่าในการเข้าถึงคน Gen Z และ Gen Y เพราะสามารถโฆษณาแบรนด์ได้อย่างเป็นมิตร ไม่ถูกกดข้าม และแปลผลไปสู่ยอดขายได้จริง!

สำหรับผู้ที่สนใจงานสัมมนา “THAILAND NOW AND NEXT 2022: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD”  งานนี้เปิดให้เข้าชมแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่าน LINE Official Account: @linebizth, FB Fanpage: LINE for Business และผ่านเว็บไซต์: https://lin.ee/JtJGilH/wcvn  ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคมนี้ ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจรออยู่สำหรับผู้ประกอบการทุกท่าน

]]>
1379582
จีนลุย ‘Clean Cyberspace’ คุมเอเยนซี่ที่ดูเเลอินฟลูเอนเซอร์ จับตาคอนเทนต์-เลี่ยงภาษี https://positioningmag.com/1378053 Fri, 18 Mar 2022 09:33:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378053 รัฐบาลจีน เตรียมกำหนดมาตรการควบคุมเอเยนซี่ที่ดูแลเหล่าอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเเผนการ ‘Clean Cyberspace’

Sheng Ronghua รองผู้อำนวยการ Cyberspace Administration of China (CAC) หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของจีน ระบุว่า จะมีการมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงเเละแก้ไขการดำเนินงานของบรรดาเอเยนซี่ประเภท MCN (Multi-channel Network) ,วิดีโอสั้นและสตรีมมิ่งไลฟ์สด รวมถึงการปราบปรามข่าวลือทางอินเทอร์เน็ต

การเพิ่มการควบคุมเอเยนซี่ MCN ในเเผนการ Clean Cyberspace ถือเป็นการตอกย้ำถึงความกังวลของ CAC เกี่ยวกับบริษัทที่อยู่เบื้องหลังคอนเทนต์ที่เป็นกลายไวรัลบนโซเชียลมีเดียของจีน

จากข้อมูลของ iiMedia Research ที่ปรึกษาด้านการวิจัย พบว่า ในประเทศจีนมีบริษัทที่ทำธุรกิจ MCN มากกว่า 28,000 แห่ง ซึ่งบริหารเเละดูเเลเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์ชื่อดังที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมหลายราย 

โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์และบริษัทเอเยนซี่กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนักในประเด็นต่างๆ เช่นการหลีกเลี่ยงภาษี

ยกตัวอย่างเช่น ‘Viya’ เจ้าแม่อีคอมเมิร์ซไลฟ์สดของจีน ที่สตรีมมิ่งทำยอดขายได้หลายหมื่นล้าน ถูกสั่งปรับกว่า 1.34 พันล้านหยวน (ราว 7 พันล้านบาท) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังปกปิดรายได้ส่วนบุคคล รวมถึงยังไม่จ่ายภาษีประเภทอื่น ในปี 2019-2020

Zhang Yongjun เจ้าหน้าที่ของ CAC เปิดเผยว่า ปัจจุบันอเยนซี่ MCN เป็นผู้ดูแลบัญชีของอินฟลูเอนเซอร์กว่า 40% จากทั้งหมด ซึ่งมียอดผู้ติดตามรวมกว่า 10 ล้านคนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักๆในจีน

สำหรับมาตรการกำกับดูแลในอนาคตในอนาคต จะมุ่งเป้าไปที่บริษัทประเภท MCN ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัดทำคอนเทนต์ที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อสังคมด้วย

โดยแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งรายใหญ่ของจีนอย่าง Tencent และ iQIYI รวมถึง Douyin ได้เปิดตัวโหมดเยาวชนสำหรับผู้เยาว์แล้ว

ในปีที่ผ่านมา CAC ได้ดำเนินการตรวจสอบอัลกอริธึมของบริษัทอินเทอร์เน็ต สื่อเเละแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มวิดีโอกว่า 300 แห่ง โดยอธิบายว่านี่เป็นการเรียนรู้เพื่อวางรากฐานสำหรับมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมในปีนี้

ขณะเดียวกัน CAC ก็ได้สร้างพื้นที่ออนไลน์ที่สะท้อนคุณค่าสังคมนิยมของจีน พร้อมลบบัญชี 1.34 พันล้านบัญชี ข้อมูลออนไลน์ 22 ล้านชิ้น รวมถึงสตรีมเมอร์และเว็บไซต์กว่า 7,200 รายการ

 

ที่มา : Reuters , asiafinancial 

]]>
1378053
‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ลุยปรับลดการมองเห็นคอนเทนต์ ‘การเมือง’ บน Faecbook ทั่วโลก https://positioningmag.com/1317108 Fri, 29 Jan 2021 09:08:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317108 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กซีอีโอเเละผู้ก่อตั้ง Facebook เริ่มเอาจริงกับการเดินหน้าลดการเเสดงคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการเมืองบน News Feed โดยยกให้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของปีนี้เลยทีเดียว

เจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย กล่าวถึงประเด็นดังนี้ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4 ปีของ 2020 ว่า Facebook จะเริ่มลดการมองเห็นเนื้อหาทางการเมืองในแพลตฟอร์ม เเละหยุดการแนะนำกลุ่มและเพจการเมืองบน News Feed  เพื่อลดความแตกแยก ซึ่งจะเริ่มทำจริงจังในปีนี้

ผู้ใช้งาน Facebook ไม่ได้ต้องการให้การเมืองและการปะทะบนคีย์บอร์ดมาทำลายประสบการณ์ใช้งานของแพลตฟอร์ม เราจะมุ่งทำงานเพื่อสร้างพลังบวกและสร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้คนมากขึ้น

บริษัทเริ่มปรับลดความสำคัญของคอนเทนต์การเมืองลงเรื่อยๆ นำร่องด้วยการหยุดแนะนำกลุ่มการเมืองในสหรัฐฯ ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 รวมไปถึงการประกาศ ‘แบน’ บัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ จนกว่าโจ ไบเดนจะเข้ารับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการปลุกปั่น

โดยหลังจากนี้ Facebook จะลดการนำเสนอคอนเทนต์ทางการเมืองด้วยอัลกอริทึมในระยะยาวเเละจะไม่จำกัดเเค่ในอเมริกาอีกต่อไป เเต่จะขยายให้ครอบคลุมเเพลตฟอร์มทั่วโลก

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตามซักเคอร์เบิร์กไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเเน่ชัดว่า เนื้อหาเเบบใดที่จะเข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มการเมือง เเละไม่ได้ระบุว่าการนโยบายใหม่นี้จะกระทบต่อการรับข้อมูลข่าวสารบน News Feed ของผู้ใช้หรือไม่ เเต่เขาเน้นย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงออกบน Facebook ยังมีอยู่และจะไม่มีจำกัดการเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองแน่นอน

ที่ผ่านมา Facebook ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สร้างความแตกแยกทางการเมือง โดยมีการเรียกร้องให้จำกัดการแนะนำ ‘Facebook Group’ ของระบบอัลกอริทึม เนื่องจากมีผู้ใช้บางกลุ่มทำเป็นเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ปั่นข่าวปลอม (Fake News) หรือนัดจัดกิจกรรมที่มีความรุนแรง เป็นต้น

Facebook เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2020 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 33% มีผลกำไรอยู่ที่ 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนรายได้ของตลอดทั้งปี 2020 อยู่ที่ 8.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2019 โดยเป็นรายได้จากค่าโฆษณาถึง 98% ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการล็อกดาวน์ในช่วงเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียขณะเดียวกันธุรกิจต่างๆ ก็หันมาทุ่มงบทำตลาดในเเพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

 

ที่มา : Engadget , BBC , Reuters , Yahoo

]]>
1317108
Google ขู่ระงับบริการใน ‘ออสเตรเลีย’ หากบังคับใช้กฎหมาย จ่ายค่า ‘คอนเทนต์’ ให้สื่อท้องถิ่น https://positioningmag.com/1315935 Fri, 22 Jan 2021 14:47:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1315935 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง ‘Google’ ขู่จะระงับการให้บริการ ‘เสิร์ชเอนจิน’ ในออสเตรเลีย หากรัฐบาลออกกฎหมายให้บรรดาบริษัทแพลตฟอร์มทั้งหลาย ต้องจ่ายค่าจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสำนักข่าวท้องถิ่น

รัฐบาลออสเตรเลีย เตรียมออกกฎหมายให้บริษัทเทครายใหญ่ เช่น Google เเละ Facebook ต้องแบ่งรายได้ให้กับสื่อท้องถิ่น กรณีนำเนื้อหาข่าวไปใช้ ไม่ว่าจะโดยการสืบค้นข้อมูลหรือทาง News Feed ก็ตาม และหากตกลงกันไม่ได้รัฐบาลก็จะแต่งตั้งผู้เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อกำหนดราคาเอง

กฎหมายนี้ ยังกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องแจ้งต่อบริษัทสื่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะทำการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม ซึ่งจะมีผลต่อการแพร่กระจายเนื้อหาข่าว และยังมีบทลงโทษในกรณีที่บริษัทเทคเหล่านี้ “บล็อก” ปิดกั้นเนื้อหาเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน

Mel Silva ผู้อำนวยการ Google ประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แจ้งต่อคณะกรรมการวุฒิสภา ว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผ่านและบังคับใช้จริง ก็คง ‘ไม่มีทางเลือกอื่น’ ให้บริษัท นอกจากจะต้องยุติให้บริการ Google Searchในออสเตรเลีย

เธอยังให้สัมภาษณ์เพิ่มกับ The Sydney Morning Herald อีกว่า มีความจำเป็นที่ต้องสรุปผลต่างๆ หลังจากที่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง เรามองไม่เห็นหนทางอื่นๆ เมื่อต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงิน รวมถึงการที่เราจะให้บริการในออสเตรเลียต่อไป

โดย Google วิจารณ์ร่างกฎหมายของออสเตรเลียฉบับนี้ว่า ‘มีเนื้อหากว้างเกินไป’ และหากไม่มีการปรับแก้ใหม่ ก็จะก่อความเสี่ยงแก่ผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูล

ด้าน Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ตอกกลับคำขู่นี้ทันที โดยบอกว่า เขาไม่ได้สนใจท่าทีหรือปฏิกิริยาตอบโต้ของ Google แต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าจะต้องดำเนินการต่างๆ ต่อไปตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

ที่มาของรูป : Pixabay/LoboStudioHamburg

การตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียครั้งนี้ คาดว่าได้รับปัจจัยจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหดหาย มีการกดดันให้รัฐต้องปกป้องธุรกิจสื่อในประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียตระหนักได้ว่าระเบียบโดยสมัครใจไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่ออำนาจการต่อรองไม่เท่าเทียมกัน” ประธานสหพันธ์สื่อบันเทิงและศิลปะกล่าว โดยสหพันธ์นี้เป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจสื่ออาชีพซึ่งเรียกร้องการจัดเก็บค่าคอนเทนต์ดังกล่าวมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน

บางส่วนของ Google และ Facebook เติบโตขึ้นมาได้จากคอนเทนต์ข่าวที่ปรากฏในแพลตฟอร์ม แต่ผู้สร้างคอนเทนต์ตัวจริงคือธุรกิจสื่อข่าวทั้งหลายกลับต้องตกที่นั่งลำบาก ระหว่างที่ยังเป็นคนผลิตข่าวที่สำคัญยิ่งต่อสาธารณะ

บริษัทเทคโนโลยีจะต้องเจรจากับบริษัทสื่อด้วยความรับผิดชอบแล้ว และเริ่มจ่ายค่าคอนเทนต์หลังจากที่ใช้ประโยชน์ฟรีๆ มาตลอด

อ่านเพิ่มเติม : สงครามรีดค่าลิขสิทธิ์ออสเตรเลียสั่ง Google-Facebook จ่ายค่า “คอนเทนต์” ให้สื่อดั้งเดิม

ด้านทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้ออสเตรเลียระงับแผนการออกกฎหมายดังกล่าว และขอให้หันไปใช้หลักปฏิบัติที่เน้นความสมัครใจ (voluntary code) แทน

กฎหมายที่บังคับ Facebook และ Google แบ่งรายได้ให้สื่อท้องถิ่น ถูกเสนอขึ้นมาตั้งเเต่ปีที่แล้ว ถือเป็นมาตรการบังคับขั้นรุนแรงต่อบริษัทเทครายใหญ่จากสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อเป็นอย่างมาก และออสเตรเลียมองว่าอาจเป็นการบั่นทอนกลไกที่ดีของระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ฝั่งบริษัทเทคกลับมองว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมสื่อในประเทศตามที่รัฐบาลคิดไว้ โดยที่ผ่านมา Google ยืนยันที่จะปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัฐ เเละอ้างว่าสร้างรายได้เพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากโฆษณาที่เชื่อมโยงข่าวในออสเตรเลียเท่านั้น

 

ที่มา : AP , SMH , AFP , BBC

]]>
1315935
Netflix 2020 : 10 อันดับซีรีส์ยอดวิวสูงสุดของโลก + เปิดโผ 15 คอนเทนต์ฮิตในไทย https://positioningmag.com/1311795 Wed, 23 Dec 2020 14:11:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311795 Netflix ประกาศ 10 อันดับซีรีส์-รายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 แชมป์ครองอันดับหนึ่งของปีนี้ได้แก่ “Money Heist” Season 4 ซีรีส์แก๊งโจรปล้นธนาคารสุดมันส์ ส่วนประเทศไทยไม่ได้ประกาศอันดับอย่างชัดเจน แต่มีรายชื่อซีรีส์-หนัง-อนิเมะที่มาแรงของปี ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์เกาหลีที่สร้างปรากฏการณ์ สะท้อนภาพความนิยมของคนไทยที่อย่างไรก็รักคอนเทนต์เอเชียน

กำลังจะพ้นปี 2020 (อันโหดร้าย) ในอีกไม่กี่วัน ปีนี้ชาวโลกส่วนใหญ่ต้องเผชิญสถานการณ์ล็อกดาวน์อย่างน้อย 1 รอบเพื่อสกัดการระบาดของโรค COVID-19 และส่งผลบวกให้บริการ “สตรีมมิ่ง” ไปโดยปริยาย รวมถึง Netflix หนึ่งในผู้เล่นหลักของวงการ

ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ Netflix ยอมแปะป้าย Top 10 คอนเทนต์ยอดนิยมในแพลตฟอร์ม จากที่เคยยืนหยัดมาตลอดว่าแพลตฟอร์มจะไม่ชี้นำการเลือกรับชมด้วยอันดับ โดยมีการเปิดเผยยอดรับชมเฉพาะเรื่องที่ฮิตสุดๆ เท่านั้น แต่สุดท้ายก็ต้องยอมปรับตามเสียงเรียกร้องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020

สำหรับ 10 อันดับซีรีส์-รายการที่มีผู้ชมมากที่สุดบน Netflix ปี 2020 แพลตฟอร์มระบุว่า จะวัดเฉพาะยอดเข้าชม 28 วันแรกที่คอนเทนต์นั้นขึ้นสู่สตรีมมิ่ง และต้องมีการรับชมอย่างน้อย 2 นาทีจึงจะนับเป็นการชม 1 ครั้ง มีเรื่องไหนบ้างติดตามได้ด้านล่าง

Money Heist Part 4
1.Money Heist Season 4 – 65 ล้านครั้ง

ซีรีส์ที่แฟนๆ ต่างรอคอยการกลับมา Money Heist ซีรีส์ภาษาสเปนเกี่ยวกับแก๊งโจรปล้นธนาคารสุดฉลาดในชุดหมีสีแดงและหน้ากากดาลี พวกเขากลับมาปล้นกันอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน กวาดคนดูไป 65 ล้านครั้ง

2.Tiger King – 64 ล้านครั้ง

ตามมาแบบหายใจรดต้นคอ ซีรีส์เชิงสารคดีเกี่ยวกับ “โจ เอ็กโซติก” เจ้าของสวนสัตว์ กลายเป็นคอนเทนต์ไวรัลในช่วงล็อกดาวน์ทั่วโลกพอดีและได้ยอดวิวไป 64 ล้านครั้ง

3.The Queen’s Gambit – 62 ล้านครั้ง

มาทีหลังแต่มาแรง เรื่องราวของ “เบธ ฮาร์มอน” เด็กกำพร้าที่กลายมาเป็นอัจฉริยะกีฬาหมากรุกหญิง เข้าฉายในช่วงเดือนตุลาคม และกลายเป็นกระแสฮิตจนกีฬาหมากรุกกลับมานิยมอีกครั้ง ซีรีส์เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในซีรีส์ฝั่งตะวันตกที่ติดอันดับฮิตในประเทศไทย

Too Hot Too Handle
4.Too Hot Too Handle – 51 ล้านครั้ง

รายการแนวเรียลลิตี้โชว์ที่จับหนุ่มสาวหน้าตาทรวดทรงสุดฮอตมาอยู่รวมกันในรีสอร์ต เป้าหมายเพื่อฝึกทักษะให้คนฮอตเหล่านี้รู้จักมีความสัมพันธ์ที่จริงจังและยั่งยืน

5.Ratched – 48 ล้านครั้ง

ซีรีส์ธริลเลอร์เกี่ยวกับ “มิลเดรด แรทเช็ด” หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวชช่วงปี 1940s ถ่ายทอดชีวิตของเธอและโรงพยาบาลที่โหดร้าย และการเผชิญหน้ากับอาชญากรที่ได้รับโทษจากการข่มขืนเด็กหญิง

6.The Umbrella Academy Season 2 – 43 ล้านครั้ง

เด็ก 6 คนที่ถูกรับเลี้ยงโดยเศรษฐีเป็นกลุ่มเด็กที่มีพรสวรรค์มหัศจรรย์ พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อโตขึ้น และพบว่าโลกกำลังเผชิญภัยร้ายครั้งใหญ่ ทำให้ต้องรวมตัวกันเพื่อกู้โลก

Never Have I Ever
7.Never Have I Ever – 40 ล้านครั้ง

ซีรีส์ดราม่า-คอมเมดี้ของวัยรุ่น เมื่อเด็กสาวอินเดีย-อเมริกันสุดเนิร์ด อยากจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองด้วยการเข้าหาหนุ่มฮอตที่สุดของโรงเรียน เหมือนจะเป็นซีรีส์เบาสมองทั่วไป แต่จริงๆ เรื่องราวจะเจาะลึกดราม่าของชีวิตเธอ

8.Space Force – 40 ล้านครั้ง

เรื่องของผู้บัญชาการกองทัพอวกาศแห่งสหรัฐฯ ซึ่งต้องนำทัพไปบุกดวงจันทร์ภายในปี 2024 สร้างจากแรงบันดาลใจเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตั้งกองทัพอวกาศเมื่อปี 2018 ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้จะมีมุกตลกเสียดสีสถานการณ์จริงทางการเมือง

9.Lucifer Season 5, part 1 – 38 ล้านครั้ง

ซีรีส์แบบผสมผสานทั้งแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน และดราม่า-คอมเมดี้ เรื่องของยมทูต (สุดหล่อ) ลาพักร้อนจากนรกมาอยู่บนโลกมนุษย์ พบกับนางเอกนักสืบสาว และได้เข้าไปมีส่วนในการสืบคดีฆาตกรรม

10.The Floor is Lava – 37 ล้านครั้ง

รายการเรียลลิตี้โชว์อีกชุดที่ขึ้นมาติดอันดับสำเร็จ แนวคิดจากเกมวัยเด็กที่เราทุกคนน่าจะเคยเล่น สมมติกับเพื่อนว่า “ห้ามโดนพื้นเพราะพื้นเป็นลาวา” จากนั้นเราก็จะปีนป่ายไปรอบๆ ห้อง ใครตกพื้นก่อนแพ้ …และนั่นคือแนวคิดเกมโชว์ชุดนี้แต่เปลี่ยนมาใช้ผู้ใหญ่แข่งกัน

 

15 คอนเทนต์สุดฮิตใน Netflix ไทย

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย Netflix ไม่ได้จัดอันดับแบบรวบตึงทุกคอนเทนต์ แต่มีการประกาศ “คอนเทนต์ยอดฮิต” โดยแบ่งตามหมวดหมู่ย่อยกันออกไป ซึ่งเราขอหยิบมานำเสนอ ดังนี้

It’s Okay to Not Be Okay
  • It’s Okay Not to Be Okay (เรื่องหัวใจ ไม่ไหวอย่าฝืน) *อันดับ 1 ที่ยืนระยะ Top 10 ได้นานที่สุด
  • Itaewon Class (ธุรกิจปิดเกมแค้น) *อันดับ 3 ที่ยืนระยะ Top 10 ได้นานที่สุด
  • Kingdom (ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด) Season 2 *อันดับ 1 ในหมวดซีรีส์เกาหลี
  • The King: Eternal Monarch (จอมราชัน บัลลังก์อมตะ) *อันดับ 2 ในหมวดซีรีส์เกาหลี
  • Snowpiercer (ปฏิวัติฝ่านรกน้ำแข็ง) *อันดับ 1 ในหมวดซีรีส์ไซไฟ
Emily in Paris
  • Emily in Paris (เอมิลี่ในปารีส) *อันดับ 1 ในหมวดซีรีส์คอมเมดี้
  • The Queen’s Gambit (เกมกระดานแห่งชีวิต) *อันดับ 1 ในหมวดซีรีส์ดราม่า
  • Howl’s Moving Castle (ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์) *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์อนิเมะ
  • Extraction (คนระห่ำ ภารกิจเดือด) *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์แอคชั่น
  • The Old Guard (ดิ โอลด์ การ์ด) *อันดับ 2 ในหมวดภาพยนตร์แอคชั่น
Low Season สุขสันต์วันโสด
  • Low Season สุขสันต์วันโสด *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์ไทยและหมวดภาพยนตร์โรแมนติก
  • #Alive (คนเป็นฝ่านรกซอมบี้) *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์สยองขวัญ
  • BLACKPINK: Light Up the Sky *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์สารคดี
  • Hope Frozen: A Quest to Live Twice (ความหวังแช่แข็ง ขอเกิดอีกครั้ง) *อันดับ 1 ในหมวดสารคดีไทย
  • Over the Moon (เนรมิตฝันสู่จันทรา) *อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์เด็ก

นอกจากโผอย่างเป็นทางการแล้ว Positioning ยังรวบรวมข้อมูลจาก flixpatrol.com ซึ่งวัดความนิยมจาก engagement บนโซเชียลมีเดีย คือ Twitter และ Instagram โดยพบว่าในหมวด Top 10 ซีรีส์ยอดนิยมนั้น 6 ใน 10 เรื่องเป็นซีรีส์สัญชาติเกาหลี นอกจากนี้ยังมีซีรีส์ไทย 1 เรื่องที่ติดโผคือ “Unlucky Ploy ชีช้ำกะหล่ำพลอย” และอนิเมะญี่ปุ่นอีก 1 เรื่องคือ “ดาบพิฆาตอสูร” เห็นได้ว่าซีรีส์สายเอเชียนติดท็อปฮิตความนิยมในไทยถึง 8 ใน 10 อันดับ

The King: Eternal Monarch (จอมราชัน บัลลังก์อมตะ)

Netflix เริ่มเปิดเกมอัดซีรีส์เกาหลีเข้าแพลตฟอร์มมาตั้งแต่ปี 2561 แต่มาเห็นได้ชัดเจนช่วงปี 2562 ยิ่งมาถึงปี 2563 แพลตฟอร์มนี้ประสบความสำเร็จกับการทุ่มทุนสร้างและโปรโมต เพราะซีรีส์เกาหลีที่เป็นออริจินอลของ Netflix อย่าง It’s Okay to Not Be Okay และ The King : Eternal Monarch ไปจนถึงภาพยนตร์
ออริจินอลอย่าง #Alive ต่างติดอันดับยอดนิยมกันหมด

เป็นบทพิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มกำลังมาถูกทาง กับการ Localization เน้นโปรโมตคอนเทนต์เกาหลี-เอเชียนในประเทศ เพราะรสนิยมคนไทยมีความแตกต่างจากตะวันตกหรือคนทั่วโลก และเป็นวิสัยทัศน์ที่ทำให้แพลตฟอร์มรับมือได้ทันสถานการณ์ที่สารพัดสตรีมมิ่งบูมเป็นดอกเห็ดในไทย และต่างต้องการจะกวาดคนดูทุกแขนงมาอยู่ในแพลตฟอร์มของตนเอง

Source: Independent UK, flixpatrol.com

]]>
1311795
เปิดเส้นทาง 11 ปี “นาดาวบางกอก” จากกำไร 26,000 บาท สู่โปรดักชั่นมือทองของ GDH https://positioningmag.com/1301319 Thu, 15 Oct 2020 17:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301319 เเม้ชื่อของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จะเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เริ่มต้นได้สวยงาม จากหนังดังในตำนานอย่าง “แฟนฉัน” มาตั้งเเต่ปี 2546 เเต่เส้นทางการพลิกบทบาทสู่ผู้บริหาร ปลุกปั้น “นาดาวบางกอก” มากว่า 11 ปีนั้น ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก

จากผู้กำกับร่วมในเเฟนฉัน ลงสนามเป็นผู้กำกับเดี่ยวในภาพยนตร์เด็กหอ ตามมาด้วย 5 แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และวัยรุ่นพันล้าน โกยความสำเร็จไปด้วยดี เเต่จากนั้นเขาตัดสินใจออกจาก Safe Zone ด้วยการมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ “นาดาวบางกอก” ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทดูแลศิลปินในสังกัดของ GTH

ย้อนความหลัง : วันที่ “นาดาว” เกือบต้อง “ปิดบริษัท” 

ช่วง 3-4 ปีเเรกของนาดาว ลุ่มๆ ดอนๆ มาก ตอนนั้นจับทางไม่ได้ว่าการพัฒนาศิลปินเเล้วมาทำรายได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งตอนนั้นเกือบจะปิดกิจการบริษัทไปเเล้ว เพราะปีนั้นทำกำไรเเค่ 26,000 บาท

ย้งเล่าย้อนไปในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาของนาดาว ว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ซีซัน 1 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ช่วย “กู้วิกฤต” ให้เขาไม่ต้องทำธุรกิจ “เจ๊ง” 

ช่วงเริ่มเเรก นาดาวบางกอก มีทีมงานเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น โดยระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซีซัน 1 นั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ “คนทั้งออฟฟิศ” มาทำงานเดียว จนทำให้ไม่มีเวลาไปรับงานอื่น ไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้ผลประกอบการของนาดาวในปีนั้นมีกำไรเพียงแค่ 26,000 บาท (เป็นตัวเลขที่พนักงานรุ่นเก่าจำได้ขึ้นใจ)

ตอนนั้นรู้สึกท้อ คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เราทำไม่เป็นจริงๆ เเหละ…ทำใจเเล้ว ตอนฮอร์โมนส์ฯ ออกฉาย เราหา
สปอนเซอร์ได้เเค่เจ้าเดียว พอฉาย 2 ตอนเเรก กระเเสเริ่มมีบ้างประปราย ก็คิดว่าเราก็จะ “จบสวยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) พอฉายไปจนจบซีซัน กระเเสตอบรับดีเกินคาด ผู้ชมเเละสปอนเซอร์ถามหาเยอะ ตอนนั้นเเหละผมถึงมีความคิดว่าต้องไปต่อ ซึ่งซีซัน 2 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุกวันนี้

จากซีรีส์ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น นาดาวบางกอก ขยับฝ่ายโปรดักชั่นไปต่อยอดทำออริจินัลคอนเทนต์ ให้กับ LINE TV เเละทำซีรีส์ที่เจาะตลาดคนทุกวัยอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซัน 1

รายได้ของ “นาดาว” มาจากอะไรบ้าง 

ปัจจุบันงานหลักๆ ของนาดาวบางกอก มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปินนักแสดง ฝ่ายโปรดักชั่นผลิตซีรีส์คอนเทนต์ และค่ายเพลง Nadao Music

ด้วยความที่ธุรกิจของนาดาวขึ้นอยู่กับคนอื่นเยอะทั้งลูกค้าเเละสปอนเซอร์ พรีเซ็นเตอร์เเละอีเวนต์ต่างๆ จึงทำให้คาดการณ์รายได้ยากว่าในเเต่ละปีบริษัทจะโตเท่าไหร่ โดยรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ราว 270 ล้านบาท

เเบ่งรายได้ของนาดาวง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้เเก่ ดูแลศิลปินและนักแสดง ราว 60% ส่วนอีก 40% มาจากการทำซีรีส์และคอนเทนต์ต่าง ๆ

ที่น่าสนใจคือกำไรที่ได้นั้นกลับสวนทางกัน โดยฝ่ายโปรดักชั่น เเม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เเต่ทำกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายเเล้วได้ประมาณ 20-30% ขณะที่ส่วนดูเเลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า เเละเมื่อหักลบอะไรต่าง ๆ แล้ว จึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทเพียงแค่ประมาณ 8-15% ต่องานเท่านั้น

ช่วงที่จัดอีเวนต์ไม่ได้ หายไปเลยกว่า 2 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น กระทบงานส่วนดูเเลศิลปินโดยตรง เพราะรายได้ศิลปินทั้งหมดมาจากงานอีเวนต์ราว 20% พรีเซ็นเตอร์ 70% เเละออนไลน์ 10%”

ยัง เล่าลึกลงไปถึงการลงทุนในโปรดักชั่นว่า ซีรีส์ส่วนใหญ่ของนาดาว มีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าละครในช่วง Prime-Time ของทีวีช่องใหญ่ทั่วไป ที่มักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาท

การจะให้ลดต้นทุนโปรดักชั่นเพื่อเพิ่มกำไร ไม่ใช่ทางของนาดาว มันเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ รายละเอียดของงาน เพราะคนทำงานก็มาจากคนทำหนัง พอลงมาทำสเกลเล็กกว่าอย่างซีรีส์ ค่าตัวของทีมงานก็ยังเหมือนเดิม มีซีนเยอะขึ้นก็มีค่าตัดต่อเพิ่มอีก เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในเเต่ละปี จึงได้ชมซีรีส์จากนาดาวเพียง 1-2 เรื่อง

โดยตอนนี้รายได้ของนาดาวบางกอก มาจากในประเทศ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ซื้อซีรีส์ไปฉาย)

ความท้าทายของธุรกิจ “ดูเเลศิลปิน” 

ตอนนี้นาดาวบางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 36 คน การทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่านเเตกต่างกันตามเจเนอเรชันนั้น “ไม่ใช่งานง่ายๆ”

ทรงยศ บอกว่า นโยบายของนาดาวยังคงเหมือนเดิม คือ การพัฒนาคนขึ้นมาให้เป็นนักเเสดงเเละศิลปินที่ดีพอให้คนข้างนอกมาจ้าง อยากทำงานกับพวกเขา ไม่ใช่วนเล่นหนังให้กับ GDH หรือนาดาว

ถ้าเห็นน้องคนไหนไปทำงานข้างนอกเยอะๆ ไม่ได้ทำนาดาวเลย นั่นคือนักเเสดงที่เราภูมิใจนะ เราพยายามส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาตัวรอด ทำงานกับผู้จัดข้างนอกได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าภูมิใจในสิ่งที่เราทำมา เเละน้องๆ ก็ได้ออกไปทำในสิ่งที่อยากทำด้วย

“เเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เเผนการตลาดเเละสื่อสารองค์กรของนาดาวบางกอก เสริมว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ศิลปินอยู่กับเราตั้งเเต่เด็กจนโต ทำให้เห็นความเปลี่ยนเเปลง พอเป็นวัยรุ่นก็ต้องใช้เหตุผลคุยกัน มุมหนึ่งก็คุยกันง่ายขึ้น เเต่อีกมุมเขาก็เริ่มมีทัศนคติ มีเเนวคิดของตนเอง

อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินยังอยู่กับนาดาว” ?

ย้งตอบว่าผมไม่เคยถามน้องๆ นะ เเต่เดาว่า คงเป็นการที่เราอยู่เเบบพี่น้อง การทำสัญญากับนาดาวไม่มีการผูกมัด ถ้าศิลปินรู้สึกว่าวันหนึ่งไม่อยากทำเเล้ว อยากยกเลิกสัญญา ก็ทำ เมื่อไหร่ก็ได้ เเต่ต้องมาคุยกันก่อน มีเหตุผลที่เข้าใจได้เเละไม่มีอะไรค้างคา ทำงานเเบบรับผิดชอบต่อกัน เรื่องการบริหารคนก็มีปัญหาหยุมหยิมไปหมด เเต่ต้องคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้สึกสบายใจ

ย้ง ทรงยศเเละเเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา สองผู้บริหารของนาดาวบางกอก

ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เฟ้นหาเด็กมา “ปั้นเป็นดารา” อย่างไร มองจากอะไร ?

ผมว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เวลาเเคสติ้งนักเเสดงมาเล่นหนังก็เจาะจงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องรสนิยมส่วนตัว เเต่เด็กที่ทำให้เราสนใจได้ ต้องมีคาเเร็กเตอร์บุคลิกเฉพาะตัวของเขา เช่น เดินมาเเล้วพูดอะไรบางอย่าง เเล้วเราจำเด็กคนนี้ได้ ไม่ใช่เเค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น เเต่ชวนมอง มองได้ไม่เบื่อ

นาดาวบางกอก มีการเสริมทักษะให้ศิลปินต่างๆ เริ่มจากการให้เรียนการเเสดงก่อนจากนั้นค่อยๆ ให้เข้าสู่โปรเจกต์ที่ไม่ยากเกินตัว เวลาส่งศิลปินไปเเคสติ้งงาน ก็อยากรู้ฟีดเเบ็กจากลูกค้าว่าทำไมเลือกศิลปินเรา เเละทำไมไม่เลือก เพื่อนำมาปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป

ความเป็นเด็กนาดาว ทำให้มีภาษีกว่าที่อื่นไหม ?

ถ้าเป็นช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีบ้าง มีข้อได้เปรียบว่ารุ่นพี่สร้างภาพจำที่ดีว่าสังกัดนี้ตั้งใจ รับผิดชอบเเละมีทักษะการ
เเสดงที่โอเคระดับหนึ่ง เเต่สุดท้ายเเล้วก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคลว่าตัวเขาเองทำได้ดีเเค่ไหน

Nadao Music กับความฝัน T-POP ระดับเอเชีย

ย้งเล่าว่า การทำค่ายเพลงของนาดาว เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เเต่เกิดจากการที่มีกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง โดยสมัยก่อนจะให้ไปเซ็นสัญญากับที่อื่น เเต่พอมาคิดดูเเล้ว คงถึงเวลาเเล้วที่นาดาวจะต้องจะทำเองเพื่อซัพพอร์ตความสามารถของศิลปิน

เมื่อพอคิดจะมียูนิตนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ ด้วยความบังเอิญที่ตอนนั้นซีรีส์รักสุดใจนายฉุกเฉิน เเล้วทำเพลงประกอบ “รักติดไซเรนเกิดกระเเสฮอตฮิตขึ้นมา จึงเป็นการปูทางให้บริษัทได้เรียนรู้การทำตลาดจากเพลงจริงจัง โดยตอนนี้มีเบลสุพล นักร้องชื่อดัง มานั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่

ล่าสุดมีศิลปินในสังกัด 6 คน คือ เจเลอร์ กฤษณภูมิ , ไอซ์ พาริส , กัปตัน ชลธร , บิวกิ้น พุฒิพงศ์ , แพรวา ณิชาภัทร เเละนาน่า ศวรรยา โดยมีเเผนจะเพิ่มศิลปินในอนาคต เเต่ขอโฟกัสที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีก่อน

ถ้าถามว่านาดาว บางกอกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอบคุณซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ถ้าถามว่าเกิด Nadao Music ได้ยังไง ก็ต้องขอบคุณเพลงรักติดไซเรน

ความคืบหน้าของ Nadao Music นั้น ย้งบอกว่า เพิ่งเปิดตัวเป็นปีเเรก…ต้องสู้กันอีกยาวยังยากลำบากเเละผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วง เเต่ไปต่อเเน่นอน

ผู้บริหารนาดาว มองว่า เเม้ธุรกิจค่ายเพลงจะอยู่ในช่วงขาลง เเต่วงการนี้ยังมี “ลู่ทาง” ที่จะไปต่อได้ เช่น การขยายฐานตลาดเเฟนเพลงออกไปยังต่างประเทศแทน เริ่มจากประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้นาดาวมีฐานแฟนอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน อยู่แล้ว ถ้าเราอยากทำเพลงดี ลงทุนสูง ตลาดในบ้านเรา อาจจะไม่พอ

โดยตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ฝันอยากจะไปให้ถึงก็คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  เพราะทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมด้านบันเทิงที่แข็งเเกร่งมาก

ถ้าถามว่าเป้าหมายอยากทำ T-POP ให้โด่งดังในระดับเอเชียไหม คำตอบคืออยากมาก เเต่จะสำเร็จไหมก็ต้องดูกันยาวๆ”

ซีรีส์วาย ต้อง “หลากหลาย” ถ้าอยากไปต่อ

นาดาวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าเเรกๆ ที่ลงสนามมาทำ “ซีรีส์วาย” จนตอนนี้กลายเป็นกระเเสฮิตติดลมบนไปเเล้ว

“เรากำลังทำความเข้าใจเเละเรียนรู้ตลาดซีรีส์วายอยู่ตลอด เเต่ไม่ได้มองว่าพอตลาดมันฮิตเเล้วค่อยลงไปทำ เเต่เราทำเพราะทีมงานเราอยากทำ มาเสนอโปรเจกต์ที่เห็นว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาเเละพอจะขายได้ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นการต่อยอดการเเสดงของ #พีพีบิวกิ้น จากบทหมอเต่าทิวเขาในละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

ผู้บริหารนาดาว มองว่า ตลาดซีรีส์วาย ถือว่าเติบโตเร็วเเละใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เเม้ทุกวันนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม เเต่เป็นกลุ่มที่กว้างมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เป็น Niche Market จะกลายเป็นตลาดเเมส ไม่มีอะไรที่เเมสจริงๆ เเล้ว ซีรีส์วายก็จะเป็น Niche ที่เเมสไปอีกเเบบหนึ่ง

ผมว่าซีรีส์วาย ถ้าอยากจะไปต่อ เราต้องทำคอนเทนต์ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เเละมีมาตรฐานชัดเจน

ซีรีส์วายเรื่องใหม่ของนาดาวบางกอก -แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ศิลปินคอนเทนต์กับวิกฤต COVID-19

ทรงยศ กล่าวถึงการปรับตัวของนาดาวบางกอก ในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ฟังว่า ตอนเเรกก็ตั้งตัวไม่ทัน ต้องเเก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเเทบทุกอย่าง เพราะตอนนั้นถึงเวลาเปิดกล้องถ่ายทำละครแปลรักฉันด้วยใจเธอเเต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เเบบวีคต่อวีค

ส่วนมากต้องเจรจากับลูกค้า เพราะการเลื่อนถ่ายทำคือการเลื่อนฉาย เเต่จะเลื่อนไปได้ถึงไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ เเต่หลังเราชนฝาได้เพียงสิ้นปี จะข้ามปีไม่ได้ ทั้งปัญหางบประมาณเเละคิวนักเเสดง จากใบเสนอราคาที่เคยเข้าบริษัทเดือนละ 30 ใบ ตอนนั้นเข้าเเค่ 6 ใบ” 

ส่วนธุรกิจดูเเลศิลปินนั้น ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะงานอีเวนต์ต่างๆ ที่บริษัทรับไว้ถูกยกเลิกเพราะสุ่มเสี่ยงเกินไป เหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ได้รับผลกระทบหมด เพราะขายของไม่ได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงบที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์สักเรื่องมีทั้งเจ้าที่ยกเลิกเเละระงับโปรเจกต์ไปก่อน

ช่วง COVID-19 ดูเหมือนนาดาวจะเงียบๆ ไม่มีงาน เเต่งานหลักของเราคือการเเก้ปัญหาความวุ่นวายหลังบ้าน เช่น ลูกค้าที่ซื้อพรีเซ็นเตอร์ศิลปินเรา ถ่ายโฆษณาไม่ได้ ออกอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ทำอะไรทดเเทนได้บ้าง

เเบรนด์ต่างๆ ก็ปรับตัวเร็ว อย่างการเปลี่ยนให้ศิลปินไลฟ์เองจากที่บ้าน โพสต์รูปกักตัวอยู่บ้านในอินสตาเเกรมเเละทวิตเตอร์ รวมไปถึงให้ศิลปินช่วยไลฟ์ในเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นขายของ ซึ่งต่อไปการจัดอีเวนต์หรือโปรโมตสินค้า ก็คงต้องเป็นรูปแบบผสมออฟไลน์ออนไลน์

ศิลปินก็ต้องปรับตัว ทำคอนเทนต์กึ่งๆ โฆษณาจากที่บ้านเอง เเต่งหน้าเองเพราะไม่มีกองถ่ายไปดูเเล พวกเขาต้องถ่ายเอง ลองผิดลองถูก มีการทำคอนเทนต์กักตัวเดอะซีรีส์ ทุกอย่างโปรโมตผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เข้าใจการใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ของศิลปินในยุค New Normal”

หลังคลายล็อกดาวน์ ทีมงานสามารถกลับมาทำงานโปรดักชั่นได้เต็มรูปแบบเเล้ว เดินหน้ากองละครต่อเนื่องได้ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคม ตอนนี้ก็ถือว่ากลับเข้าสู่โหมดปกติศิลปินเริ่มมีงานอีเวนต์เเละลูกค้าหลายๆ เจ้าก็พร้อมเตรียมลุยงานปีหน้าเเล้ว

ใจเราก็อยากโตทุกปี ไม่เคยมีเป้าตัวเลขชัดเจน ขอเเค่ไม่ต่ำกว่าเดิม ปีที่เเล้วเราจบที่ 270 ล้านบาท เเต่เมื่อเจอโรคระบาด ปีนี้ก็คงไม่โตเเน่นอน ต้องลุ้นกันว่าจะไปได้ถึงจุดไหนมากกว่า คาดว่าสินปีนาดาวคงทำรายได้ไม่เกินที่ 230 ล้าน

ผู้กำกับสู่ผู้บริหาร : มุมมองที่เปลี่ยนไป

จริงๆ ผมก็อยากกลับไปเป็นผู้กำกับนะ เเต่ก็ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้บริหารเยอะมาก เรานิ่งขึ้น ได้ใช้สกิลหลายๆ อย่างไปจัดการงานในเชิงสร้างสรรค์

ไม่ได้ชอบงานบริหาร ไม่ได้อินขนาดนั้น เเต่ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกมาก ตลอด 11 ปีที่ผ่านมามีช่วงเครียด มีปัญหารุมเร้า เเต่เพราะได้ทำงานที่เราชอบ กับคนที่เราอยากทำงานด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายเวลาต้องลงไปเเก้ปัญหา ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับก็ทำให้เห็นภาพรวม ก็เลยช่วยให้ทำงานบริหารได้

เเม้กลุ่มผู้ชมของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นมัธยมมหาลัยเเต่เวลาทำงานคอนเทนต์จะต้องมองให้ครบทุกเจเนอเรชัน ผลักดันให้ไปถึงทุกกลุ่ม อย่างเช่น ตอนทำละครเลือดข้นคนจางเเรกๆ จะดันศิลปิน 9by9 เเต่เราก็ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าถึงเยอะที่สุดเเต่ก่อนเราทำหนังทำซีรีส์มา เเม่เราไม่เคยได้ดูเลย เราก็เลยอยากทำเลือดข้นฯ ให้เเม่ดูบ้าง

โดยได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ชมในทุกช่องทาง เช่นการอ่านคอมเมนต์ใน “ทวิตเตอร์” ซึ่งเขามองว่าเป็นฟีดเเบ็กที่สดเเละจริง เพราะคนดูเเล้วรู้สึกอย่างไรก็ทวีตออกมาเลย

“ผมสนใจคำติมากกว่าคำชมด้วยซ้ำ เพราะเราจะได้รู้ทิศทางว่าควรพัฒนางานเราต่อไปยังไง” 

ในวันที่ “ย้ง-ทรงยศ” ขยับจากผู้กำกับมาเป็นผู้บริหาร เเละนาดาวประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มภารกิจ
“ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เเละ บอสนฤเบศ กูโน ผู้กำกับ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ เเละแปลรักฉันด้วยใจเธอ

“การปั้นคนทำงานยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงวันที่นาดาวมีพนักงาน 50 คน จากจุดเริ่มต้น 7-8 คน ตอนนี้มองว่าการที่เราจะไปต่อได้ไกลๆ ยังไงก็ต้องสร้างคนทำงาน จะสร้างเเค่ศิลปินไม่ได้ นาดาวจะพยายามเดินไปในเส้นทางที่ทำงานในปริมาณที่เราทำได้ดี อยู่มือเเละควบคุมภาพได้ต่อไป

 

 

]]>
1301319
อานิสงส์ล็อกดาวน์! ดัน JKN ขายคอนเทนต์มากขึ้น เตรียมอิมพอร์ตซีรีส์วาย-จีนเสริมทัพ https://positioningmag.com/1300078 Mon, 05 Oct 2020 17:00:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300078 ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังได้เห็นธุรกิจขายคอนเทนต์ไปได้สวย เพราะผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ถ่ายทำไม่ได้ จำเป็นต้องใช้คอนเทนต์สำเร็จรูป ดันยอด JKN เติบโต เตรียมขนซีรีส์จีน ซีรีส์วายเสริมทัพซีรีส์อินเดียที่เคยเป็นกระแสฟีเวอร์อยู่พักใหญ่

เพิ่มดีมานด์หาคอนเทนต์ ทีวีจะจอดำไม่ได้!

แม้ในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะกระทบหลากหลายธุรกิจ ในวงการทีวีดิจิทัลเองก็มีปัญหาซบเซามาสักพักใหญ่ เพราะเม็ดเงินโฆษณาลดลง ยิ่งมีไวรัสเข้ามายิ่งซ้ำเติมรายได้หนักเข้าไปอีก แต่ทางผู้ประกอบการเองก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะปล่อยให้จอดำไม่ได้เป็นอันขาด

แต่วิกฤตก็มีโอกาสให้เห็น เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การดูทีวี เสพคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็ต้องหาคอนเทนต์มาป้อนให้กับสถานีอยู่ตลอด เมื่อดีมานด์การดูคอนเทนต์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการต้องเจอคือไม่สามารถเปิดกองถ่ายได้ บางเจ้าต้องใช้มุกละครรีรัน เพื่อหล่อเลี้ยงเรตติ้งให้ไม่ตกลงมากกว่านี้

ทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดคือการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูปนั่นเอง จึงทำให้ JKN ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศยังสามารถเติบโตได้ เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการลูกหนี้ให้เหมาะสม

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เล่าว่า

“แนวโน้มอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์คอนเทนต์ หลังวิกฤติ COVID-19 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ต่างชะลอการผลิตคอนเทนต์แล้วหันมาซื้อลิขสิทธิ์สำเร็จรูปเพื่อนำไปออกอากาศแทนการผลิตรายการเอง จึงเป็นโอกาสทองของ JKN ในการทำตลาดเพื่อจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นปีที่ดีของ JKN ในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด”

แอน จักรพงษ์ หรือสาวข้ามเพศสุดฮอตที่สุดในยุคนี้ ได้เสริมเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ธุรกิจขายคอนเทนต์ยังไปได้ดี เพราะหลังจากช่วงล็อกดาวน์คนอยู่บ้านมากขึ้น ดูทีวีมากขึ้น สถานีต้องเลือกที่จะซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป เพราะถ่ายทำรายการไม่ได้ และเปิดกองถ่ายไม่ได้

“ตอนนี้คนทำคอนเทนต์สำเร็จรูปรวยทุกคน เพราะสถานีไม่ผลิตเองได้ แค่สถานีในไทยจองคอนเทนต์มายอด 500 ล้านบาท ตอนนี้มียอดขายเกิน 2,000 ล้านแล้ว แต่ต้องสร้างสมดุลให้ดี ต้องมีวิธีเก็บเงินจากลูกค้า ข้อดีของการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป ทางช่องไม่ต้องซื้อเองจากต่างประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปิดสัญญา ถ้าซื้อกับเราพร้อมใช้งาน”  

ซีรีส์อินเดียยังไปได้สวย เสริมทัพซีรีส์จีน-ซีรีส์วาย

ในส่วนของตัวคอนเทนต์ JKN เคยสร้างปรากฏการณ์ “ซีรีส์อินเดีย” ฟีเวอร์มาแล้วเมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว JKN เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายใหญ่ ทำให้ทีวีดิจิทัลต่างซื้อคอนเทนต์ไปเติมสล็อตเพื่อจับกระแส บางช่องสามารถสร้างเรตติ้งสูงที่สุดอีกด้วย

จากซีรีส์อินเดียในวันนั้นจนถึงตอนนี้ ก็ถือว่ากระแสแผ่วลงไปจนอยู่ในสภาวะปกติ แต่ก็ยังมีบางช่องที่ยังมีฉายอยู่ราวๆ 4 ช่อง แต่มีการขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น

ธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงิน และบัญชี JKN บอกว่า

“ซีรีส์อินเดียในประเทศไทยแม้จะซาลง แต่ยังไปได้เรื่อยๆ ยังมีทีวีดิจิทัลซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายอยู่ เพียงแค่ไม่พีคในระดับนั้น จะไปเติบโตในต่างประเทศมากกว่า ทางเราได้เติมคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม จะมีซีรีส์จีน ซีรีส์วาย และฮอลลีวูด”

รูปแบบการเลือกคอนเทนต์ของ JKN จะเน้นซีรีส์เน้นแอคชั่น ดราม่า วัฒนธรรมของเอเชีย เพราะในตลาดต่างประเทศมีความเกี่ยวโยงกันด้านวัฒนธรรม ทำให้คอนเทนต์ขายได้ดี รวมถึงคอนเทนต์สารคดีก็มีมากขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน JKN มีปริมาณคอนเทนต์ในมือรวม 3,000 กว่าเรื่อง รวมเวลาทั้งหมด 20,000 ชั่วโมง ในปีนี้ได้ใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์ 1,500-1,800 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าปกติที่ลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น

โดยที่สัดส่วนรายได้ของ JKN อยู่ที่ขายคอนเทนต์ 90% และโปรดักชั่น 10%

ถ้าถามถึง “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเป็นที่นิยมในไทย จักรพงษ์บอกว่า เราต้องมีทุกรูปแบบ จะมีเอาเข้ามาอยู่แล้ว โดยจะมีเปิดผังครั้งใหญ่ และพันธมิตรในวันที่ 3 พ.ย. นี้

สำหรับในครึ่งปีหลัง JKN ยังรุกขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 สามารถขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์อินเดีย และฟิลิปปินส์ ให้แก่ มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น รวมถึงทยอยส่งมอบคอนเทนต์ซีรีส์ละครไทยจากช่อง 3 ให้แก่ TV5 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดรายการฟรีทีวีช่องหลักของประเทศฟิลิปปินส์

ไตรมาสสุดท้ายมีการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมทั้งในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา บรูไน ไต้หวัน ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาณ

จากการขยายตลาดต่างประเทศจะช่วยให้ JKN มีการเติบโต 10-15% คาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งเป้าว่ามีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 30%

]]>
1300078