ช้อปปิ้งออนไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 11 Oct 2023 06:32:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สยามพิวรรธน์ร่วมงาน Huawei Connect 2023 ณ นครเซี่ยงไฮ้ แสดงวิสัยทัศน์ “การจัดการข้อมูลสู่การสร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมาย” https://positioningmag.com/1447474 Wed, 11 Oct 2023 11:00:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447474

แรงกระเพื่อมของโลกดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และโลกเสมือนจริง กำลังพลิกโฉมโลกธุรกิจค้าปลีกที่ใช้พลังข้อมูลเป็นตัวเปลี่ยนเกม โดยการทำความเข้าใจ “Customer Journey” ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลจนเข้าใจความต้องการของลูกค้า เกิดการส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายและก้าวเข้าสู่การพลิกโฉมหน้าธุรกิจค้าปลีกแห่งอนาคตให้กับ สยามพิวรรธน์ ในฐานะผู้พัฒนา Global Destination และนำหน้าวงการด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจในยุค Intelligence Experience Economy

คุณไวยศ ปิยะกุลวรวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนลูกค้าและธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวในงาน Huawei Connect 2023 จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ในหัวข้อ “Data Drives New Retail For A Better Shopping Experience” ว่า ในฐานะผู้พัฒนาศูนย์การค้า Luxury ชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็น สยามพารากอน ไอคอนสยาม สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพรีเมียมเอาท์เล็ต

“เรามุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศบนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก การเปิดตัว ONESIAM SuperApp ที่ยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้ง โปรแกรมสะสมคะแนน และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่ความพึงพอใจของร้านค้าผู้เช่า เราเชื่อว่าความสำเร็จของร้านค้าผู้เช่าก็เป็นของเราเช่นกัน บริษัทจึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อรักษามาตรฐานให้การเป็นผู้นำ และส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้แก่ลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง”

ในธุรกิจค้าปลีกที่กำลังก้าวจากยุคของการใช้ออมนิชาแนลและบิ๊กดาต้าทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า เข้าสู่ยุคของ “The Intelligent Experience Economy” ที่เทคโนโลยี Generative AI, Web3, VR, AR และ MR กำลังมาบรรจบกัน โดยมีข้อมูลที่ขับเคลื่อนการโต้ตอบอุปกรณ์ตั้งแต่หน้าจอแสดงผลไปจนถึง IoT ส่งข้อความ และข้อเสนอเฉพาะบุคคลในเวลาที่เหมาะสม สร้างการเดินทางออนไลน์สู่ออฟไลน์ที่ราบรื่น ฉะนั้นบทบาทสำคัญของข้อมูลจึงช่วยปักหมุดประสบการณ์ที่มีค่าให้ลูกค้า การรวมรวมข้อมูลไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อมูลจำเพาะรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังต้องเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลในสังคมด้วย “ข้อมูลอยู่ทุกหนทุกแห่ง” นี้ ข้อมูลไม่ใช่เครื่องมืออีกต่อไป แต่เป็นรากฐานสำคัญที่เราสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าอย่างตรงใจ และสร้างความผูกพันให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลตัวเปลี่ยนเกม

คุณบุญเลิศ สินสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด เสริมว่า “เราได้ใช้ข้อมูลเพื่อปฏิวัติการช้อปปิ้งออนไลน์ และยกระดับการบริการลูกค้าแบบออฟไลน์ เริ่มต้นด้วยข้อมูลจากแอปพลิเคชันซึ่งทำให้เราเข้าใจ customer journey รวมถึงโปรแกรมสะสมคะแนน และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สำหรับการโต้ตอบแบบออฟไลน์จะเก็บข้อมูลจากระบบ POS และเคาน์เตอร์เซอร์วิสของเรา แม้แต่ในการโฆษณายังปรับใช้ Google Analytics และเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ เพื่อการสร้างปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าไปจนการตัดสินใจซื้อสินค้า เชื่อมโยงโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ อาทิ การเชื่อมหมายเลขบัตรสะสมคะแนนกับป้ายทะเบียนทำให้จดจำลูกค้าได้เมื่อพวกเขาขับรถเข้าศูนย์การค้า หรือเยี่ยมชมร้านค้า สยามพิวรรธน์เชื่อมโยงข้อมูลจุดต่างๆ เหล่านี้ connected the dot และหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูล และสร้างเรื่องราวความสำเร็จสำหรับผู้เช่าและพันธมิตรของเรา โลกทุกวันนี้เข้าสู่การเดินทางที่ข้อมูลมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราไม่ได้เพียงเก็บรวบรวมข้อมูล แต่เราสร้างอีโคซิมเต็มของข้อมูลโดยทำความเข้าใจ ปรับตัว และนวัตกรรมที่เป็นหัวใจของพันธกิจ”

การเชื่อมโยงข้อมูลจะทำให้บริษัทสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในทุกจุดบริการ และส่งมอบประสบการณ์ออนไลน์ออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ ทั้งสร้างความสำเร็จให้ผู้เช่าและพันธมิตร รวมถึงระบุโอกาสการสร้างรายได้และการเติบโตของบริษัท เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ สยามพิวรรธน์เชื่อในพลังของ 5 Vs ประกอบด้วย: Volume: ปริมาณของข้อมูลที่สร้างขึ้นทุกวินาที Value: คุณค่าของข้อมูลที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง Variety: ความหลากหลายของข้อมูลที่ครอบคลุม Velocity: ความเร็วให้ทันต่อการตัดสินใจ และ Veracity: ความจริงของข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้

Customer Journey การเดินทางอันน่าจดจำ

ข้อมูลทำให้เห็นเรื่องราวที่ซับซ้อนของพฤติกรรมลูกค้า มองเห็นรูปแบบ ความชอบ และคาดการณ์การกระทำในอนาคตโดยอิงจากการโต้ตอบในอดีต นำเสนอการตลาด และการส่งเสริมการขายเฉพาะบุคคลได้ด้วยการวิเคราะห์ความชอบของลูกค้า ทำให้สามารถปรับแต่งข้อเสนอที่ตรงใจในระดับบุคคลได้ ไม่ใช่แค่การขายสินค้าเท่านั้นแต่เป็นสร้างการเชื่อมโยงที่มีความหมาย ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าอีกต่อไป แต่เริ่มต้นการเดินทางสู่โลกการช้อปปิ้งที่น่าจดจำ และสุดท้ายข้อมูลยังช่วยกระตุ้นกิจกรรม และการส่งเสริมการขายแบบไดนามิกของทำให้ระบุเวลา สถานที่ และผู้ชมที่เหมาะสมสำหรับแคมเปญได้ การคาดเดาจะถูกแทนที่ด้วยความแม่นยำ “เพื่อให้มั่นใจว่าความพยายามของเราให้ผลลัพธ์สูงสุด”

ลายนิ้วมือดิจิทัล

ลายนิ้วมือดิจิทัลบ่งบอกพฤติกรรม ความชอบ และการโต้ตอบกับแบรนด์ เป็นเอกลักษณ์ที่กำหนดลูกค้าแต่ละรายในระบบนิเวศ ด้วยอัลกอริทึ่มส์ SVD (Singular Value Decomposition) ที่วิเคราะห์ข้อมูลออกเป็นองค์ประกอบหลัก ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของพฤติกรรมลูกค้า และ K-Mean ที่หากลุ่มเฉพาะที่มีลักษณะโดดเด่นของลูกค้า ทำให้เกิดการตอบสนองเฉพาะบุคคลในทุกปฎิสัมพันธ์ตามความชอบของปัจเจก และคาดการณ์การกระทำในอนาคต รวมถึงการเพิ่มประสบการณ์ และประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า การโต้ตอบกับลูกค้าทุกครั้งเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเข้าใจ ลูกค้าคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อกประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา เป็นเข็มทิศที่จัดหาสิ่งที่ลูกค้าปรารถนา อนาคตของการค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งนวัตกรรม เทคโนโลยี และการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางกำลังมาบรรจบกัน เป็นการขับเคลื่อนโดยข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการค้ายุคใหม่

Data-First Thinking

แม้ว่าผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจะมีมากมายมหาศาลภายใต้แนวทาง “Data-First Thinking” แต่ก็มีความท้าทายทั้งการรักษาความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัย ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างระมัดระวัง การบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีคุณภาพและความถูกต้อง “Data-First” ไม่ใช่แค่กลยุทธ์เท่านั้น แต่เป็นมายด์เซ็ทที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในการยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้ง ข้อมูลคือตัวแปรสำคัญในการกำหนดรูปแบบการค้าปลีก ซึ่งเริ่มจากการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยเหตุนี้ ผู้ค้าปลีกจึงได้รับข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ความชอบ และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งส่วนบุคคลที่ตอบสนองรสนิยมของแต่ละบุคคลได้ นอกจากนี้ยังปูทางไปสู่การจับจ่ายในหลายช่องทางที่ไร้รอยต่อ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน

สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เชื่อว่า ข้อมูล ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น แต่เป็นเข็มทิศนำทางการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ค้าปลีกมีข้อมูลในการตัดสินใจ ปรับแต่งกลยุทธ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อความสำเร็จ และยังเป็นเข็มทิศอันทรงพลังที่จะนำทางเราไปสู่การสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่เหนือความคาดหมาย

]]>
1447474
กลยุทธ์ ‘Krungsri One Retail’ผนึกกำลังทั้งเครือเพื่อลูกค้ารายย่อย ผสานจุดแข็งทุกบริการทางการเงิน https://positioningmag.com/1408486 Wed, 23 Nov 2022 10:00:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1408486

ความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและวิถีชีวิตของลูกค้า ทำให้ “กรุงศรี” ต้องวางแผนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านกลยุทธ์  “Krungsri One Retail” ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจเพื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลในเครือกรุงศรี ในทุกแง่มุม ตั้งแต่การเชื่อมโยง “ดาต้า” เข้าด้วยกัน จนถึงช่องทางการบริการลูกค้าที่จะมีการผสานช่องทางสาขา เพื่อให้บริการแบบ One-Stop Service และเชื่อมโยงแอปพลิเคชันซึ่งกันและกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายของกรุงศรีและบริษัทในเครือได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งหมดเพื่อให้บริการ “ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล” ได้อย่างตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งให้ ‘กรุงศรี’ มุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยเป็น 15 ล้านราย ภายในปี 2567

ยุคนี้ความแข็งแกร่งในตลาด มาจากการผนึกกำลังกันหลายฝ่าย ทำให้ ‘กรุงศรี’ วางกลยุทธ์ใหม่เรียกว่า “Krungsri One Retail” ซึ่งมุ่งผสานจุดแข็งของทุกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ลูกค้ารายย่อย” ในเครือกรุงศรี เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย รอบด้าน และตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการในทุกช่วงชีวิตของลูกค้ายิ่งขึ้น

“พงษ์อนันต์ ธณัติไตร” ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เล่าถึงที่มาของการวางกลยุทธ์ใหม่ ที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในโลกธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด “ดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption)” ลูกค้าหันมาติดต่อสื่อสารมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ชอบช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ต้องการบริการที่ตอบโจทย์ รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์เพื่อลูกค้ารายย่อยจึงถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน

“พงษ์อนันต์ ธณัติไตร” ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ในเครือกรุงศรีมีผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ทั้งที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารและภายใต้บริษัทในเครือ เช่น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งดูแลลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, กรุงศรี ออโต้ ดูแลลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำ และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น

แต่ละบริษัทนั้นมีกลยุทธ์สำหรับธุรกิจของตนเอง และสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี โดยนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจนั้น ๆ แต่การมีกลยุทธ์ “Krungsri One Retail” นั้นจะเป็นการผสานจุดแข็งในการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นการผนึกกำลังกันภายในเครือเพื่อส่งมอบบริการที่เหนือกว่าเดิมให้กับลูกค้าได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับ 4 แนวทางหลัก ได้แก่

1.Data Analytics – วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบ 360 องศา

สร้างแพลตฟอร์มรวมฐานข้อมูลลูกค้ารายย่อยที่ปัจจุบันกรุงศรีมีลูกค้าในความดูแลกว่า 12 ล้านราย ที่เป็นผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย  อาทิ บัญชีออมทรัพย์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผลิตภัณฑ์การลงทุน เป็นต้น

เมื่อมีดาต้าเบสที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งเครือ ภายใต้ความยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลจากลูกค้าเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ จึงทำให้กรุงศรีสามารถวิเคราะห์โปรไฟล์ของลูกค้าได้รอบด้าน จนสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดการ Customize/Personalize ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นรายบุคคล

ตัวอย่างกรณีการนำไปใช้งานจริง เช่น เมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายบัตรของลูกค้าบัตรเครดิตและพบว่าลูกค้าซื้อสินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน ทำให้กรุงศรีสามารถเลือกเสนอสินเชื่อ Home for Cash ที่น่าจะตรงกับความต้องการของลูกค้าได้

2.Financial Advisory – การให้ความรู้และคำแนะนำทางการเงิน

พงษ์อนันต์ กล่าวว่า มุมมองของกรุงศรีเล็งเห็นถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจตั้งแต่เกิดโรคระบาด ทำให้ผู้บริโภคอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเงิน และต้องการ “ที่ปรึกษาทางการเงินที่ไว้ใจได้”

ดังนั้น กรุงศรีจึงได้ผลิตคอนเทนต์เพื่อ “ให้ความรู้ด้านการเงิน” (Financial Literacy) หลายรายการ แยกตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจต่างกัน เช่น Krungsri The COACH รายการตอบโจทย์การดูแลสุขภาพการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไป, Double Espresso ตอบโจทย์นักลงทุนหุ้น อัปเดตสถานการณ์หุ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ, Krungsri Exclusive ร่วมกับ Blackrock จัดรายการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการลงทุน เน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้ากลุ่มที่มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ที่มีความมั่งคั่งสูง

สำหรับรายการ Krungsri The COACH นับว่าประสบความสำเร็จสูง เพราะการกำหนดประเด็นมาจากประสบการณ์จริงที่กรุงศรีพบ ทำให้ทราบ ‘Pain Point’ ด้านการเงินของลูกค้า เช่น วิธีการยื่นกู้สินเชื่อให้ได้รับอนุมัติ, การแก้หนี้, เทคนิคลงทุนให้ได้กำไร เป็นต้น ปัจจุบันรายการนี้เผยแพร่ไปแล้วกว่า 50 ตอน ยอดเข้าชมเฉลี่ย 84,000 ครั้งต่อ 1 คลิป มี Engagement เติบโตสูงถึง 43 เท่า ภายในเวลาเพียง 8 เดือน

“การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ไว้ใจได้ในวันนี้ จะสร้างความผูกพันให้ลูกค้าเลือกเราในอนาคตเมื่อลูกค้ามีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพงษ์อนันต์กล่าว

3.Innovative Financial Solution – สร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

อีกหนึ่งเป้าหมายร่วมกันของ Krungsri One Retail คือการสร้างนวัตกรรมการเงินของผลิตภัณฑ์/บริการต่าง ๆ ในเครือที่ได้เปิดตัวและมีการใช้งานแล้ว เช่น KSS iGlobal ให้ลูกค้ารายย่อยลงทุนโดยตรงในหุ้นตลาดต่างประเทศได้ เฟสแรกเปิดแล้ว 5 ประเทศ และเฟสสองในเดือนพฤศจิกายน 2565 จะเพิ่มเป็น 28 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมครบทุกตลาดหลักทั่วโลก หรืออย่างนวัตกรรม Krungsri Private Equity Fund ก็ช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนกับบริษัทนอกตลาดหุ้นได้ เป็นนวัตกรรมบริการลูกค้าหาน่านน้ำใหม่เพื่อลดความผันผวนในการลงทุน

ขณะเดียวกัน กรุงศรียังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมด้านไอทีที่จะช่วยสร้างความสะดวกหรือนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ให้ลูกค้ากรุงศรีเพิ่มมากขึ้น เช่น Kept Together ฟังก์ชันใหม่ในการออมเงินร่วมกัน, บัตรเครดิต Krungsri Now และ XU บัตรเครดิตดิจิทัลที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียล, First Choice SnapCash สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งต้องการเข้าถึงสินเชื่อ เป็นต้น

4.Channel – พัฒนาช่องทางแบบไร้รอยต่อ เพื่อประสบการณ์ลูกค้าที่ดี

กลยุทธ์นี้จะมีการผสานช่องทางเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายของกรุงศรีได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการผ่านช่องทาง “สาขา” กรุงศรีได้ริเริ่มโครงการนำร่อง พัฒนาสาขารูปแบบที่เรียกว่า ‘One Retail Branch’ ที่เป็นช่องทางบริการสำหรับลูกค้ารายย่อยแบบ One-Stop Service ในจุดเดียว จากเดิมสาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยา, กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และกรุงศรี ออโต้ จะแยกสาขาจากกัน แต่สาขารูปแบบใหม่นี้จะให้บริการรวมกันในแห่งเดียว เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการมาติดต่อทำธุรกรรม สามารถติดต่อขอใช้บริการต่าง ๆ ได้ครบในจุดเดียว ปัจจุบัน กรุงศรีได้เปิดตัวสาขาในรูปแบบ One Retail Branch ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายในปีนี้ 22 สาขา และในปี 2566 จะเพิ่มอีก 15 สาขา

สาขา One Retail Branch

ขณะที่ช่องทางการบริการผ่าน “แอปพลิเคชัน” ก็เป็นช่องทางที่กรุงศรีให้ความสำคัญเช่นกัน โดยขณะนี้กรุงศรีมีแอปพลิเคชันให้บริการธุรกรรมออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น Krungsri Mobile Application (KMA) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา, UCHOOSE ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์, GO ของกรุงศรี ออโต้ เป็นต้น

ในอนาคตกรุงศรีจะพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันและระบบงานด้านต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี Open API เพื่อเสริมฟังก์ชั่นการใช้งานของแอปฯ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัล จะสามารถทำผ่าน UCHOOSE และ GO ได้โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลด KMA เพิ่ม หรือการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code โดยเลือกตัดบัญชีเงินฝากหรือบัตรเครดิตของกรุงศรี ก็สามารถทำได้ในทุกแอปฯ เป็นต้น

เป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้า 15 ล้านราย

พงษ์อนันต์กล่าวสรุปถึงกลยุทธ์ ‘Krungsri One Retail’ ว่าเป็นการทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งสำคัญ เมื่อทุกหน่วยงานในกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลในเครือกรุงศรี ผนึกกำลังกันจะทำให้การดูแลลูกค้าทำได้ดีขึ้นอย่างมาก โอกาสที่ลูกค้าจะเกิดการใช้บริการต่อเนื่องก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยที่การปรับตัวภายในองค์กรเองไม่ได้ยุ่งยากมาก เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ใกล้เคียงกันในทุกส่วนเป็นทุนเดิม โดยทุกหน่วยธุรกิจต่างก็ให้ความสำคัญกับความต้องการและประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ทำให้มองเป้าหมายเดียวกันซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการเดินตามแผนกลยุทธ์นี้

“เมื่อเรารวมกัน เราจะมีโอกาสมากในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ายิ่งขึ้นได้ในอนาคต” พงษ์อนันต์กล่าว “เรามั่นใจกับ ‘กลยุทธ์ Krungsri One Retail’ มาก เพราะที่ผ่านมาหลังเริ่มทำงานมาแล้วประมาณ 1 ปี ลูกค้ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นกับการให้บริการรูปแบบนี้ของเรา เพราะช่วยให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นจริง ๆ ”

เป้าหมายของกรุงศรีจากกลยุทธ์นี้ที่วางเป้าการเติบโตไว้ภายในปี 2567

1.ขยายฐานลูกค้ากรุงศรี – จากปัจจุบันมีฐานลูกค้า 12 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านราย

2.จำนวน Mobile Users เติบโต – จากปัจจุบันมีผู้ใช้ 9 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านราย

3.เติบโตและขยายธุรกิจกรุงศรีในต่างประเทศ – กรุงศรีจะรุกต่างประเทศด้วยธุรกิจลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีความชำนาญ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่น่าสนใจ เช่น สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“กรุงศรียังมุ่งจะพัฒนาธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยในทุกมิติและเชื่อมโยงสู่อาเซียน เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กรุงศรีก้าวสู่ ‘เป็นสถาบันการเงินหลักที่ลูกค้าใช้บริการสำหรับลูกค้ารายย่อย’ ได้ในไม่ช้านี้” พงษ์อนันต์ กล่าวทิ้งท้าย

เชื่อแน่ว่าด้วยการผสานความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญของทุกหน่วยธุรกิจที่ดูแลลูกค้ารายย่อยในเครือกรุงศรีเข้าด้วยกัน ด้วยเป้าหมายหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น จะทำให้กรุงศรีมีโอกาสสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้ารายย่อยผ่านกลยุทธ์ใหม่ ‘Krungsri One Retail’ มุ่งเพื่อส่งมอบบริการลูกค้าได้อย่างเหนือชั้นยิ่งขึ้น!

]]>
1408486
TikTok ต้อนรับเทศกาล Mega Sales อวดอินไซต์ผู้ใช้เพลินกับ ‘วิดีโอขายของ’ บนแพลตฟอร์ม https://positioningmag.com/1342526 Thu, 15 Jul 2021 10:46:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1342526 TikTok ปูพรมแดงต้อนรับเทศกาล Mega Sales ปลายปี อวดอินไซต์ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเพลินกับ ‘Shoppertainment’ นำไปสู่ยอดขายสินค้านอกลิสต์ที่ลูกค้าตั้งใจจะซื้อ และยินดีซื้อแบรนด์ที่ไม่เคยรู้จักมากขึ้น โดยชูจุดแข็งเป็น “แหล่งแรงบันดาลใจ” คนเข้ามาดูรีวิวและเทียบราคา แนะแบรนด์เร่งปลุกกระแสก่อนเริ่มเทศกาลลดราคา 1 เดือน

“สิรินิธิ์ วิรยศิริ” Head of Business Marketing – Thailandของโซเชียลมีเดีย TikTok ตีฆ้องเชิญชวนแบรนด์ทั้งใหญ่จนถึงเล็กเตรียมลงโฆษณาหรือทำแคมเปญใน TikTok ต้อนรับเทศกาล Mega Sales ปลายปี ไม่ว่าจะเป็น 9.9, 10.10, 11.11, 12.12 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงฤดูกาลขายประจำปีเสมอมา

จากกระแส Shoppertainment และความนิยมชมคลิปวิดีโอสั้นที่เกิดขึ้นในไทยมาระยะหนึ่ง ทำให้ TikTok ยืนยันว่า แพลตฟอร์มนี้มีประสิทธิภาพในการเรียกผู้ชมและเปลี่ยนเป็นยอดขาย โดยอ้างอิงข้อมูลจากนีลเส็นว่า 62% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า ตนตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์จากอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย โดยคลิปวิดีโอสั้นคือรูปแบบสื่อที่มีอิทธิพลที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก GWI สนับสนุนว่า ยุคนี้คนถึง 1 ใน 3 ต้องการจะซื้อสินค้าพร้อมกับมีความบันเทิงควบคู่ไปด้วย หรือก็คือ Shoppertainment นั่นเอง

“สิรินิธิ์ วิรยศิริ” Head of Business Marketing – Thailand ของโซเชียลมีเดีย TikTok

สิรินิธิ์ชี้ให้เห็นว่า TikTok วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับ Shoppertainment เพราะมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้านในการทำวิดีโอขายของ ได้แก่ 1.Discovery – ฟีดส์ของ TikTok ทำให้คนค้นพบสินค้าได้ง่ายและยิงตรงกลุ่มเป้าหมาย 2.Entertainment – เครื่องมือที่มีให้ช่วยสร้างคอนเทนต์ที่สนุกสนานได้ดีและง่าย 3.Community Commerce – แพลตฟอร์มช่วยสร้างไวรัลได้ ทั้งการติดแท็กและการชาเลนจ์ ทำให้สินค้าได้รับการบอกต่อ

 

เห็นแล้วอยากซื้อ + เปิดรับแบรนด์ใหม่

ในแง่ของการค้นพบสินค้าใหม่ๆ สิรินิธิ์อธิบายว่าแพลตฟอร์ม TikTok จะมี “For You Feed” คือหน้าฟีดส์ที่เลือกวิดีโอที่ผู้ใช้น่าจะชื่นชอบขึ้นมาแบบเฉพาะบุคคล ผู้ใช้จะได้เห็นสินค้าที่ตรงกับตัวเอง และผู้ใช้ TikTok ยังเปิดรับการดูคอนเทนต์ที่เป็นการโฆษณาด้วย โดยรอบเดือน ม.ค. 2563 – ม.ค. 2564 พบว่าผู้ใช้มี engagement กับคอนเทนต์โฆษณาที่ 10.3% สะท้อนว่าผู้ใช้พร้อมรับชมและไม่กด ‘ข้าม’ ทำให้สินค้าและแบรนด์มีโอกาสไปถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

หน้าฟีดส์ของแต่ละคนจะได้เห็นคลิปวิดีโอแตกต่างกัน

TikTok สำรวจจากผู้ใช้ 368 คนในแพลตฟอร์ม พบว่า 58% มีการซื้อสินค้าอื่นๆ เพิ่มนอกเหนือจากที่ตั้งใจทำช้อปปิ้งลิสต์ไว้ และ 79% มีการเลือกซื้อแบรนด์ใหม่ๆ ที่ไม่รู้จัก

 

คนสนใจซื้อสินค้าอะไรบน TikTok

ด้านประเภทสินค้าที่ผู้ใช้ TikTok ซื้อออนไลน์ในช่วง Mega Sales ปี 2563 ที่นิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ บิวตี้และของใช้ส่วนตัว, แฟชั่นและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

ส่วนหมวดสินค้ารองๆ ลงมา ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ในบ้าน สุขภาพและออกกำลังกาย ดิจิทัล หนังสือและเครื่องเขียน และกลุ่มสินค้าสำหรับทารก

แฟชั่นและเครื่องประดับ เป็นหนึ่งในสินค้า Top 3 ที่คนบน TikTok ซื้อในช่วง Mega Sales

 

แหล่งแรงบันดาลใจ ดูรีวิว เทียบราคา

ปัจจุบัน TikTok ยังไม่มี in-app purchase ดังนั้นการซื้อจะเป็นการดึงลูกค้าออกไปสู่ landing page ของร้านค้าในแอปพลิเคชันอื่น เช่น หน้าร้านในมาร์เก็ตเพลซอย่าง Lazada, Shopee หรือให้แอดไลน์ร้านค้าเพื่อสั่งสินค้า สิรินิธิ์จึงมองว่า จุดแข็งของ TikTok ขณะนี้คือการเป็น “แหล่งแรงบันดาลใจ” ทำให้ลูกค้าได้เห็นและต้องการสินค้านั้น

TikTok พบว่า ผู้ใช้แพลตฟอร์มนี้ 53% ต้องการจะดูรีวิวสินค้าก่อนซื้อ และ 68% มีการเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ สินค้าแต่ละประเภท ผู้ซื้อจะมีความต้องการแตกต่างกัน ดังนี้

  • สินค้าที่ผู้ซื้อสนใจราคาเป็นสำคัญ ได้แก่ สุขภาพและออกกำลังกาย ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์
  • สินค้าที่ผู้ซื้อสนใจทั้งราคาและรีวิว ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่ม บิวตี้และของใช้ส่วนตัว ดิจิทัล หนังสือและเครื่องเขียน และกลุ่มสินค้าสำหรับทารก
ผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการแรงกระตุ้นทั้งราคาและรีวิว และรีวิวมีอิทธิพลมากกว่าเล็กน้อย

 

นักช้อปออนไลน์วางแผนล่วงหน้า 1 เดือน!

เทศกาล Mega Sales ยังเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ซื้อด้วย เพราะทุกคนทราบว่าจะมีมหกรรมลดราคา ทำให้ 51% ของผู้ใช้ TikTok จะเริ่มมองหาสินค้าและเทียบราคาล่วงหน้าก่อนเทศกาลลดราคา 3-4 สัปดาห์!

สิรินิธิ์จึงแนะนำแบรนด์ที่สนใจลงโฆษณาหรือทำแคมเปญกับ TikTok ควรเริ่มประกาศว่าจะมีการลดราคาล่วงหน้าก่อนวันขายจริง 10-30 วัน เพราะเป็นช่วงที่คนเริ่มเล็งสินค้าที่ชอบแล้ว จากนั้น 7-10 วันก่อนขาย ควรกระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มสินค้าลงตะกร้าไว้ได้เลย จนถึง 1-2 วันก่อนขายและวันลดราคา ควรย้ำกระตุ้นการซื้ออีกครั้งเพื่อให้ลูกค้าคลิกซื้อจริง

สำหรับจำนวนผู้ใช้ในไทยและเวลาการใช้งานต่อวัน TikTok ประเทศไทยไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนกลุ่มอายุผู้ใช้นั้น เมื่อปีก่อน TikTok ระบุว่า 60% เป็นคนวัย 16-34 ปี รองลงมา 30% เป็นน้องๆ วัย 13-15 ปี และมี 10% เป็นผู้ใหญ่วัย 35 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สิรินิธิ์บอกเป็นภาพกว้างว่าปีนี้กลุ่มอายุมีความหลากหลายกว่าเดิม พบคนวัยมากกว่า 40 ปีเข้ามาใช้แอปฯ มากขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถระบุสัดส่วนชัดเจนได้

TikTok ไทยเพิ่งจะรุกตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซเมื่อปี 2563 ถือเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่กำลังลุยเต็มสูบเพื่อดึงโฆษณามาลง โดยปีนี้จะเน้นหนักในช่วง Mega Sales ปลายปีที่แบรนด์ต่างๆ น่าจะอัดงบทิ้งทวนช่วง 4 เดือนสุดท้าย

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1342526
ผู้บริโภคไทยมุ่งซื้อสินค้าบน “มาร์เก็ตเพลซ” แต่ทางที่ยั่งยืนกว่าของแบรนด์คือดึงลูกค้าเข้า D2C https://positioningmag.com/1339611 Tue, 29 Jun 2021 13:49:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339611 “วันเดอร์แมน ธอมสัน” เปิดรายงานวิจัยผู้บริโภคชาวไทย พบว่า คนไทยตอบรับการช้อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก โดยช่องทางที่คนไทยเลือกใช้มากที่สุดคือ “มาร์เก็ตเพลซ” แต่ที่จริงแล้ว หนทางที่ยั่งยืนของแบรนด์คือการดึงลูกค้าให้ช้อปผ่าน D2C (Direct-to-Consumer) เช่น เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของแบรนด์ แล้วจะดึงจุดเด่นให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ D2C แทนได้อย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย จัดทำวิจัย Future Shopper ใน 17 ประเทศทั่วโลก จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามรวม 28,000 คน เฉพาะประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,025 คน ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุทั้ง Gen X, Gen Y, Gen Z แบ่งเป็นเพศชาย 46% และเพศหญิง 54% และแบ่งเป็นคนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 58.8% ที่เหลือ 41.2% อยู่ในหัวเมืองต่างจังหวัดทั่วประเทศ

รายงานชิ้นนี้เผยให้เห็นว่า พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้วหลังเกิดโรคระบาด COVID-19 เพราะคนหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และจะเป็นพฤติกรรมระยะยาว โดยเฉพาะคนไทยที่มีถึง 94% ตอบว่า การช้อปออนไลน์เป็นผู้ช่วยชีวิตในปี 2563 เป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก และคนไทย 90% ยังตอบด้วยว่า ตนจะยังใช้ช่องทางดิจิทัลช้อปปิ้งต่อไปในปีหน้า เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่มีเพียง 62% เท่านั้น

เห็นได้ว่า ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่สำคัญยิ่งของแบรนด์ และควรจะให้ความสำคัญควบคู่ไปกับช่องทางออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้แบบ Omnichannel

 

ลูกค้าชอบ “มาร์เก็ตเพลซ” เพราะสะดวก

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจของรายงานคือ พฤติกรรมผู้บริโภคไทยบนออนไลน์สามารถแบ่ง journey การซื้อได้เป็น 3 ขั้น คือ ได้รับแรงบันดาลใจในการซื้อ, ค้นหาสินค้า และ การซื้อสินค้า ซึ่งการซื้อในอุดมคติของลูกค้าคือต้องการให้ 3 ขั้นตอนนี้จบภายในแพลตฟอร์มเดียว

โดยวันเดอร์แมนฯ พบว่า “มาร์เก็ตเพลซ” (เช่น ลาซาด้า, ช้อปปี้) คือช่องทางอันดับ 1 ในทุกๆ ขั้นตอนของลูกค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ได้รับแรงบันดาลใจในการซื้อ”
อันดับ 1 – มาร์เก็ตเพลซ 70%
อันดับ 2 – โซเชียลมีเดีย 61%
อันดับ 3 – เสิร์ชเอ็นจิ้น เช่น Google 38%

“ค้นหาสินค้า”
อันดับ 1 – มาร์เก็ตเพลซ 78%
อันดับ 2 – โซเชียลมีเดีย 58%
อันดับ 3 – เสิร์ชเอ็นจิ้น เช่น Google 44%

“ซื้อสินค้า”
อันดับ 1 – มาร์เก็ตเพลซ 45%
อันดับ 2 – เว็บไซต์ของร้านค้าปลีก เช่น เทสโก้, บิ๊กซี, ท็อปส์ 11%
อันดับ 3 (ร่วม) – โซเชียลมีเดีย และ เว็บไซต์ของแบรนด์ที่จะซื้อ 10% เท่ากัน

ปัจจุบันลูกค้าต้องการ journey การซื้อที่สั้นที่สุด ทำให้ลูกค้ามักจะไม่ไปเสิร์ชใน Google เพื่อหาแหล่งซื้อสินค้าอีกแล้ว แต่มักจะตรงไปที่มาร์เก็ตเพลซทันทีเพื่อมองหาสินค้าที่ต้องการ และมักจะจบการซื้อสินค้าได้ในแพลตฟอร์มนี้ ยกเว้นบางหมวดสินค้าที่อาจจะมีสัดส่วนการมองหาและซื้อสินค้าในเว็บไซต์ของร้านค้าปลีกมากกว่า เช่น ของกินของใช้ (grocery) เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทที่ผู้บริโภคมักต้องการสั่งและส่งของแบบออนดีมานด์ ซึ่งร้านค้าปลีกออนไลน์เหล่านี้ตอบสนองได้ดีกว่า

 

D2C ที่แข็งแกร่ง ยั่งยืนกว่าในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การดึงลูกค้าให้กลับมาช้อปผ่าน D2C หรือ Direct-to-Consumer ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ของแบรนด์เองนั้น สำคัญไม่แพ้กันกับการปั้นแบรนด์ให้โดดเด่นบนมาร์เก็ตเพลซหรือโซเชียลคอมเมิร์ซต่างๆ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว

ฌอน ลี ออง ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ระบุว่า ประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์กำลังถูกครอบงำโดยแพลทฟอร์มตลาดออนไลน์ เช่นเดียวกับประสบการณ์ช้อปปิ้งออฟไลน์ที่มีเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เป็นผู้ครองเกม

“หากแบรนด์ไม่ต้องการตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ทรงอิทธิพลในตลาดทั้งสองฟากฝั่ง พวกเขาจะต้องเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม D2C และเส้นทางใหม่เพื่ออนาคตของตนเองในระยะยาว” ฌอนกล่าว

Photo : Shutterstock

จากผลสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่าช่องทาง D2C ไม่อยู่ใน 3 อันดับแรกของ journey ของลูกค้าในขั้นตอนหาแรงบันดาลใจและการค้นหาสินค้าเลย รวมถึงในขั้นการซื้อสินค้า ก็เป็นช่องทางที่มีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น แต่มีตัวอย่างจากในประเทศจีนว่า บางแบรนด์สามารถดึงลูกค้าของตนให้ซื้อผ่าน D2C ได้ถึง 30%

 

แบรนด์จะดึงลูกค้ามาช้อปผ่าน D2C ได้อย่างไร

วันเดอร์แมน ธอมสันสอบถามผ่านแบบสำรวจนี้ว่า “อะไรจะทำให้คุณหันมาช้อปผ่านช่องทางโดยตรงของแบรนด์?” และคำตอบ 7 ข้อที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่าของสินค้า, มีสินค้าให้เลือกครบ, ราคาถูกกว่า, มีจัดส่งฟรี, มีสินค้าพิเศษ, คืนสินค้าฟรี และมีระบบลอยัลตี้ โปรแกรม

จุดสำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อของออนไลน์จากช่องทาง D2C ของแบรนด์ (ที่มา: วันเดอร์แมน ธอมสัน)

จากความต้องการของผู้บริโภค วันเดอร์แมนฯ ให้คำแนะนำ 4 ข้อนี้แก่แบรนด์หรือบริษัทที่กำลังพิจารณาผลักดันให้ช่องทาง D2C เป็นที่สนใจของลูกค้ามากขึ้น

  • ชูจุดเด่นของช่องทาง D2C เช่น มีระบบคืนสินค้าฟรี, มีสินค้าพิเศษ (exclusive) รวมถึงตัวแพลตฟอร์มออกแบบมาเหมาะกับการชมรายละเอียดสินค้าที่มากกว่า
  • มีพื้นที่รีวิวสินค้าที่จริงใจและโปร่งใส ปกติลูกค้ามักหันไปหามาร์เก็ตเพลซเพราะต้องการอ่านรีวิว และแม้ว่าลูกค้าที่ตรงเข้ามายังช่องทาง D2C มักจะเป็นแฟนแบรนด์ของคุณอยู่แล้ว แต่การมีรีวิวให้อ่านในเว็บไซต์ D2C จะเป็นการแสดงความโปร่งใส รวมถึงคุณยังจะได้เก็บข้อมูล feedback เพื่อไปพัฒนาสินค้าต่อได้ด้วย
  • Personalization ช่องทาง D2C ได้เปรียบเรื่องการเจาะลึกไปที่ลูกค้าเป็นรายบุคคลได้ง่ายขึ้น และยืดหยุ่นกว่าเพื่อตอบสนองลูกค้า
  • ลอยัลตี้ โปรแกรม ใช้ดาต้าของลูกค้าสร้างลอยัลตี้ โปรแกรมที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่ในด้านฟังก์ชันนอล แต่เป็นด้านอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าด้วย

ตัวอย่างเคสที่ใช้จุดเด่นของแบรนด์ในการดึงลูกค้าเข้า D2C เช่น Nike ประเทศจีน ดังที่ทราบกันดีว่า Nike มักจะมีรองเท้าแบบ Limited Edition ออกใหม่เสมอ ทำให้ Nike ใช้กลยุทธ์นี้ดึงลูกค้าเข้า D2C โดยการเปิดจองหรือขายผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์เท่านั้น

]]>
1339611
COVID-19 เปลี่ยนพฤติกรรมคนซื้อบ้าน! “พฤกษา” สร้างยอดขายผ่านออนไลน์ถึง 70% https://positioningmag.com/1332605 Mon, 17 May 2021 16:00:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332605
  • หลังโรคระบาดเกิดขึ้น ผู้บริโภคเคยชินกับการซื้อของออนไลน์ รวมถึงลูกค้า “พฤกษา” ที่เปลี่ยนพฤติกรรม ซื้อผ่านออนไลน์ถึง 70% แล้ว
  • บริษัทพบสถิติไตรมาสแรกปีนี้ ผู้ซื้อค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ใน Google Search เพิ่มขึ้น 20% การให้ข้อมูลทางดิจิทัลอย่างละเอียดคือสิ่งที่ต้องทำ การถ่ายภาพจำลอง 360 องศาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
  • ด้านยอดเข้าชมโครงการของพฤกษาช่วงระบาดรอบ 3 ไม่กระทบ แต่ลูกค้าตัดสินใจซื้อยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าทั้งปี 2564 ตลาดจะโตกว่าปีก่อนอย่างน้อย 5% ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
  • “บ้าน” หรือ “คอนโดฯ” เป็นสินค้าใหญ่ ลงทุนสูง หลายคนอาจเคยกังขาว่าอสังหาฯ จะ “ขายออนไลน์” ได้จริงหรือ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้วหลังเกิดโรคระบาดขึ้น “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2564 บริษัททำยอดขายได้รวม 6,940 ล้านบาท โต 14% YoY โดยเป็นยอดขายจากออนไลน์ถึง 70%

    นอกจากนี้ ยังพบสถิติจาก Google Search ว่า ผู้บริโภคค้นหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% บางโครงการอาจเพิ่มขึ้น 30% เห็นได้ว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เกาะติดกับโลกดิจิทัลสูงขึ้น

    “ลูกค้าใช้ดิจิทัลเยอะขึ้นในการศึกษาสินค้า ดังนั้น การให้ข้อมูลในโลกดิจิทัลสำคัญมาก ต้องมีให้อย่างละเอียด ข้อมูลที่ลงต้องครบถ้วน อย่างเทคโนโลยีถ่ายภาพห้องหรือบ้าน 360 องศาจะต้องมี” ปิยะกล่าว

    แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดการให้ข้อมูลหรือโฆษณาออฟไลน์ได้สิ้นเชิง เพราะถึงแม้ออนไลน์จะมีอิทธิพลมากกับความสนใจหรือการตัดสินใจของลูกค้า แต่สื่อออฟไลน์ยังต้องมี เช่น ป้ายบอกทางไปที่โครงการ เพื่อนำทางลูกค้าไปที่โครงการได้ถูกต้อง

    ตัวอย่างการชมบ้านแบบ 360 องศาจากโครงการ PATIO พระราม 2 (ซอย 33)

    ที่จริงแล้ว แนวโน้มของผู้บริโภคมุ่งมาทางออนไลน์มากขึ้นตั้งแต่ปี 2562 โดยการวิจัยของ Terra BKK พบว่า คนเจนวายนั้นเปิดรับสื่อเกี่ยวกับอสังหาฯ จำพวกรีวิวออนไลน์และงานอีเวนต์มาก ขณะที่เจนซีนั้นเปิดรับสื่อจากทาง YouTube มาก เป็นกลุ่มที่พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ที่ยังรับสื่อออฟไลน์มากอยู่

    เมื่อคนกลุ่มเจนวายจนถึงเจนซี (เกิดหลังจากปี 2523 หรืออายุไม่เกิน 41 ปีในปีนี้) มาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ซื้ออสังหาฯ ในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่โรคระบาดยิ่งเป็นตัวเร่งให้การใช้ดิจิทัลเข้าหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยยิ่งสูงขึ้น

     

    ยอดเข้าชมปกติ แต่ตัดสินใจยากขึ้น

    ด้านผลกระทบจาก COVID-19 ระบาดรอบ 3 ปิยะกล่าวว่า ค่อนข้างน่าแปลกใจที่ยอดเข้าชมโครงการไม่ตกลง ยังมีลูกค้าเข้าชมปกติ

    แต่ที่ต้องจับตาคือ “การตัดสินใจซื้อ” จากเดิมโดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าชมโครงการที่ตัดสินใจซื้อ 1 คนจากผู้เข้าชม 4 คน ขณะนี้เพิ่มเป็น 1 ใน 5 หรือ 6 คนแล้วแต่โครงการ เห็นได้ว่าผู้ซื้อตัดสินใจยากขึ้น และทำให้ยอดขายไตรมาส 2/64 ของพฤกษาอยู่ที่ราวๆ 80-90% ของยอดปกติที่ควรทำได้

    บ้านแบรนด์ The Connect ของพฤกษา ทาวน์เฮาส์ราคาเริ่ม 2 ล้านกว่าบาท

    สำหรับเซ็กเมนต์ที่มองว่ายังไปได้ดี ได้แก่ ทาวน์เฮาส์ราคา 2-3 ล้านบาท, บ้านเดี่ยวราคา 5-15 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมราคา 2-5 ล้านบาท เพราะสินค้ากลุ่มนี้จะจับลูกค้ารายได้ 30,000-100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งยังได้รับผลกระทบเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ 50,000-100,000 บาทต่อเดือน ถือว่าขายดีมาก

     

    ไม่ปรับเป้า เชื่อตลาดยังโตได้ 5%

    ผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบจาก COVID-19 รอบ 3 จะทำให้พฤกษาปรับเป้าหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ปิยะยังยืนยันว่าไม่มีการปรับเป้าใดๆ ทั้งการเปิดตัวโครงการยังคงไว้ที่ 29 โครงการเช่นเดิม และเป้าหมายยอดขาย-รายได้ยังเท่าที่ประกาศเมื่อต้นปี

    “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

    เนื่องจากมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 มาแล้ว เชื่อว่าตลาดรวมอสังหาฯ เองก็น่าจะโตจากปีก่อนได้อย่างน้อย 5% ขึ้นอยู่กับความเร็วในการกระจายวัคซีนและฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจด้วย โดยดูจากโมเมนตัมไตรมาสแรกก่อนเกิดโรคระบาด ตลาดอสังหาฯ รวมทำยอดขายไป 7.39 หมื่นล้านบาท โต 32% YoY สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดี

    พฤกษายังรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ทำรายได้ไป 6,888 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย -4% YoY และกำไรสุทธิ 606 ล้านบาท ลดลงแรง -34% YoY เนื่องจากไตรมาสแรกยังใช้กลยุทธ์ลดราคาโปรโมชันเพื่อล้างสต็อกอยู่ เช่น โปรโมชันอยู่ฟรี 36 เดือน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ

    ]]>
    1332605
    อำลา “Robinsons” ห้างเก่าเเก่ในสิงคโปร์ ปิด 2 สาขาสุดท้าย หลังเปิดมานานกว่า 162 ปี https://positioningmag.com/1303907 Fri, 30 Oct 2020 12:04:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303907 Robinsons หนึ่งในห้างเก่าเเก่ที่สุดของสิงคโปร์ ที่ดำเนินกิจการมากว่า 162 ปี ประกาศปิด 2 สาขาสุดท้าย หลังคนเดินห้างลดฮวบจากผลกระทบ COVID-19 เเละพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

    Robinsons (โรบินสันส์) บริษัทลูกในเครือของ Al-Futtaim Group ระบุว่า บริษัทได้ตัดสินใจปิดห้างสรรพสินค้า 2 สาขาสุดท้ายในสิงคโปร์ที่ The Heeren เเละศูนย์การค้า Raffles City ลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อสินค้าในห้าง และดีมานด์ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

    โดย Robinsons ได้เริ่มกระบวนการชำระบัญชีของทั้ง 2 สาขา และแจ้งพนักงานให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ชำระบัญชีชั่วคราวจะเข้าจัดการทรัพย์สินของบริษัท พร้อมประเมินทางเลือก เพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดให้แก่เจ้าหนี้ ส่วนพนักงานจะได้รับเงินตามกฎหมายล้มละลาย การปรับโครงสร้าง และเลิกกิจการ

    ตอนนี้ ทางห้างฯ จะยังเปิดทำการต่อไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ก่อนที่จะปิดตัวลงอย่างถาวร โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้เช่าพื้นที่

    ทั้งนี้ Al-Futtaim Group ยังดำเนินธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ เช่น Marks & Spencer และ Zara ในสิงคโปร์และมาเลเซีย

    การซื้อของออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการเดินห้างขนาดใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดขายของห้างสรรพสินค้าในสิงคโปร์ ลดลงถึง 35.3% ในเดือนสิงหาคม

    มรสุมห้างค้าปลีก เริ่มมีมาตั้งเเต่ช่วงก่อนโรคระบาดทั้งในสิงคโปร์และทั่วโลก เเต่ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น

    ในช่วงที่ผ่านมา เเบรนด์เเฟชั่นค้าปลีกทั้งหลายอย่าง Zara เเละ H&M เริ่มกลยุทธ์ ปิดร้านเพิ่มขึ้นเปิดน้อยลงเพิ่มการลงทุนดิจิทัล เพื่อรองรับผู้บริโภคทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น

    โดย Zara ตั้งเป้าจะปิดร้านค้าขนาดเล็กประมาณ 1,000-1,200 สาขาทั่วโลก ภายในช่วง 2 ปีนี้โฟกัสเฉพาะสาขาใหญ่เท่านั้น เเละหันมาบุกออนไลน์อย่างเต็มสูบ

    ไม่ใช่เเค่เจ้าใหญ่อย่าง H&M และ Zara เท่านั้น ตอนนี้ค้าปลีกเเฟชั่นอย่าง American Eagle Outfitter (AEO) และ GameStop (GME) ก็เพิ่งประกาศแผนการปิดสาขาไปหลายร้อยแห่ง เนื่องจากกระเเสช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระตุ้นให้เเบรนด์ต่างๆ ต้องรีบมาทุ่มลงทุนด้านดิจิทัลเเทนนั่นเอง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้
    ห้างสรรพสินค้าที่เป็นเเลนด์ลอร์ด…ต้องปรับทัพกันยกใหญ่เลยทีเดียว

     

    ที่มา : CNA , Business Times

     

    ]]>
    1303907
    เชนร้านอาหารพร้อมใจไม่คิดค่าส่งเดลิเวอรี่! ผู้ส่งเน้นมาตรการ Contactless ลดการสัมผัส https://positioningmag.com/1269331 Mon, 23 Mar 2020 14:00:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1269331 ร้านอาหารแบรนด์ดังพร้อมใจงดค่าส่งเดลิเวอรี่ เพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มีการสั่งขั้นต่ำ 100-200 บาท มีการจัดส่งฟรี พร้อมกับแนะนำการชำระเงินแบบ Cashless ป้องกันการสัมผัสเงิน

    งดค่าส่งผ่านเดลิเวอรี่

    จากมาตรการกึ่งๆ ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราว ส่วนร้านอาหารต้องปรับรูปแบบเป็นแบบซื้อกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่เท่านั้น เพื่อป้องกันการรวมตัวกันของคนกลุ่มใหญ่

    นี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ที่คนไทยต้องเผชิญด้วยกัน!

    กลายเป็นการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ทางร้านเองก็ลูกค้าหาย รายได้หดแน่นอน เพราะไม่มีลูกค้าทานในร้าน ต้องซื้อกลับบ้านอย่างเดียว ผู้บริโภคเองก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น

    หลังจากที่เกิดการล็อกดาวน์ปิดห้าง ปิดศูนย์การค้า แน่นอนว่าร้านอาหารของแบรนด์ใหญ่ๆ ย่อมอยู่ในศูนย์การค้า แม้จะไม่ได้มีมาตรการว่าต้องปิดให้บริการ แต่ก็เป้นการให้ปรับรูปแบบเป็นซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี่เท่านั้น

    หลายแบรนด์ หลายเชนร้านอาหารดังๆ ก็ต่างพร้อมใจในการปรับตัวครั้งนี้ พร้อมกับลุยบริการเดลิเวอรี่กันอย่างเต็มที่ ซึ่งบางแบรนด์ถึงกับออกนโยบายไม่คิดค่าส่งเดลิเวอรี่ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคสั่งอาหารทาที่บ้าน และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

    เครือที่เห็นชัดสุดก็คือ “ไมเนอร์ฟู้ด” ที่ผนึกร้านอาหารในเครืออย่าง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เบอร์เกอร์ คิง, ซิซซ์เล่อร์, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน และเดอะ คอฟฟี่ คลับสามารถสั่งอาหารได้โดยไม่เสียค่าจัดส่ง เพียงแค่มีขั้นต่ำ 100 บาท โดยสั่งผ่านช่องทาง www.1112delivery.com หรือแอปพลิเคชัน 1112Delivery (ยกเว้นบอนชอนที่ต้องเสียค่าส่ง เพราะยังไม่อยู่ในแอปพลิเคชัน)

    ทางด้าน “แมคโดนัลด์” เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็ขอร่วมมาตรการไม่คิดค่าจัดส่งอาหาร เพียงแค่มีการสั่งขั้นต่ำ 200 บาท และชำระเงินผ่านช่องทางบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ Cashless ลดการสัมผัสเงินสดโดยตรง

    MK Restaurants ก็งดค่าบริการจัดส่งด้วยเช่นกัน เมื่อสั่งอาหารขั้นต่ำ 150 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เฉพาะพื้นที่ให้บริการ สามารถสั่งได้ผ่านช่องทาง www.mk1642.com, Call center 1642 และHotline 02-2485555

    ส่วน CRG หรือเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป มีเปิดให้บริการเดลิเวอรี่ในทุกแบรนด์ร้านอาหารทั้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1312 และผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่

    แต่แบรนด์ “อร่อยดี” เป็นแบรนด์ร้านอาหารสตรีทฟู้ดน้องใหม่ ได้เปิดให้บริการแบบซื้อกลับ และบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีค่าจัดส่ง

    สำหรับเชนร้านอาหารอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการเดลิเวอรี่อย่างเช่น “โออิชิ กรุ๊ป” เปิดให้บริการทั้งในช่องทางคอลเซ็นเตอร์ และเว็บไซต์ รวมทั้งกับพันธมิตรฟู้ดเดลิเวอรี่

    ผู้ส่งใช้มาตรการ Contactless ลดการสัมผัสโดยตรง

    ในส่วนของผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ ก็มีการปรับตัว ออกมาตรการเพื่อรองรับการแพ่รระบาดของ COVID-19 เช่นกัน โดยที่บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างใช้มาตรการ Contactless Delivery เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง

    ได้เห็น Grab และ KFC ได้นำร่องบริการนี้ก่อนใครเพื่อน เพื่อป้องกันความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ส่ง และผู้สั่งอาหารเองก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งหมด

    พร้อมแนะนำชำระเงินผ่านช่องทาง Cashless หรือบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ GrabPay เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคโดยเงินสด

    ล่าสุดทาง LINE MAN ได้เพิ่มฟีเจอร์ Contactless ให้ลูกค้าได้เลือกเพื่อลดการสัมผัสติดต่อระหว่างพนักงานขับและลูกค้า พร้อมด้วยฟีเจอร์ Self Pick-up ให้สามารถเลือกสั่งอาหารผ่านแอปฯ และไปรับเองที่ร้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบจะทยอยขึ้นให้บริการภายในเดือนเมษายนนี้

    ส่วน KERRY Express ได้เปิดบริการรับส่งสินค้าแบบ Door to Door ลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการและลูกค้าทั่วไป เป็นบริการจัดการไปรับสินค้าถึงหน้าบ้าน

    ช้อปปิ้งออนไลน์ก็ส่งฟรี

    ในส่วนของห้างสรรพสินค้าก็ไม่น้อยหน้า แม้จะมีการปิดทำการในช่องทางออฟไลน์ แต่ชอ่งทางออนไลน์ยังเดินหน้าต่อ โดยกลุ่ม CRC หรือเซ็นทรัล รีเทล ได้ผุดการช้อปปิ้งออนไลน์ให้คึกคักมากขึ้น

    ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เปิดบริการ “เซ็นทรัล แอท ยัวร์ โฮม” เปิดให้ชอป 3 ช่องทาง ได้แก่ www.central.co.th, ผู้ช่วยส่วนตัวผ่านไลน์ @CentralOfficial (10.00-21.00 น.) และผ่านโทรศัพท์ 0-2793-7555 (09.00-21.00 น.) และประกาศ “ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ” ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 เปิดให้ชอปผ่านหน้าจอตลอด 24 ชั่วโมง

    ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เปิดให้ช้อป 2 ช่องทาง ได้แก่ www.robinson.co.th และผู้ช่วยช้อปส่วนตัวผ่านไลน์ @robinson (10.30-20.00 น.)

    ยังรวมไปถึงทุกธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้แก่ เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG), ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย, ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, วีฟิกซ์ รวมทั้งท็อปส์ออนไลน์

    จะเห็นว่าในวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา แต่ทางด้านผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วถ้าทุกคนร่วมมือกัน ป้องกันตัวเองให้มาที่สุด ประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

    ]]>
    1269331
    ยอด “ซื้อของออนไลน์” ในเกาหลีใต้พุ่ง ท่ามกลางความหวาดกลัวไวรัสโคโรนาระบาด https://positioningmag.com/1263916 Tue, 11 Feb 2020 11:48:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263916 ยอดช้อปปิ้งออนไลน์ในเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

    Lee So-joong นักวิเคราะห์จาก SK Securities เปิดเผยว่า ช่วงนี้คนเกาหลีใต้มั่นใจที่จะสั่งซื้อของทางออนไลน์มากกว่าออกไปซื้อเอง หลังพบว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เดินทางไปยังร้านค้าปลอดภาษีและไฮเปอร์มาร์เก็ต

    นับตั้งแต่เกาหลีใต้ประกาศยืนยันการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม เป็นต้นมา ยอดช้อปปิ้งออนไลน์ในเกาหลีใต้ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก

    11Street แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของเกาหลีใต้ ระบุว่า ช่วงระหว่างวันที่ 27 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. มีการสั่งซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของการซื้อในช่วงระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. ถึง 1 ม.ค. โดยเฉพาะการสั่งซื้ออาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้นถึง 53% และการสั่งซื้ออาหารสดเพิ่มขึ้นกว่า 46%

    ด้าน Coupang อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกเจ้าของเกาหลีใต้ บอกว่าทางบริษัทมียอดสั่งซื้อทางออนไลน์พุ่งสูงถึง 3.3 ล้านคำสั่งซื้อในวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนร้านขายของออนไลน์และบริษัทช้อปปิ้งอื่น ๆ รวมถึง Gmarket และ Market Kurly ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

    การประกาศปิดตัวชั่วคราวของ “ร้านค้าออฟไลน์” บางร้านดูเหมือนจะส่งผลให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปสู่การช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

    โดยห้างสรรพสินค้า Lotte ได้สั่งปิดสาขาหลักในกรุงโซล ตั้งเเต่วันศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ หลังพบว่ามีผู้ติดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางคนเคยไปซื้อของที่ห้าง

    ฝั่ง E-Mart Inc. ผู้ให้บริการเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของประเทศ ก็ได้สั่งปิดร้านค้าบางส่วนของกรุงโซล ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เพื่อทำความสะอาด หลังพบว่ามีผู้ป่วยเข้าไปซื้อของในร้านเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

    โดยทั่วไปนักช้อปชาวเกาหลีใต้ นิยมสั่งซื้อของออนไลน์เป็นประจำ ตั้งเเต่เสื้อผ้าไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมียอดธุรกรรมออนไลน์รวมสูงถึง 12.5 ล้านล้านวอน (10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนธันวาคม 2019 เพิ่มขึ้น 17.6% จากปีก่อนหน้านี้

     

    ที่มา : YonhapNews

    ]]>
    1263916
    เทศกาลช้อปออนไลน์ “Cyber Monday” คาดเงินสะพัด 9.4 พันล้านเหรียญ โต 19% https://positioningmag.com/1255612 Mon, 02 Dec 2019 15:40:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255612 Adobe Analytics คาดการณ์เม็ดเงินสะพัดวันช้อปออนไลน์ “Cyber Monday” 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โต 19% จากปีก่อน ยอดรวมสะสมตลอด 5 วันของเทศกาลช้อปปิ้งช่วงขอบคุณพระเจ้าแตะ 3 หมื่นล้านเหรียญ

    วันสุดท้ายของเทศกาลช้อปปิ้งแห่งสหรัฐอเมริกา โดยปีนี้บังเอิญว่าวันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันที่ 28 พ.ย. 2019 ติดกับ Black Friday วันที่ 29 พ.ย. 2019 เทศกาลลดราคาประจำปี และยังมี Cyber Monday ในวันที่ 2 ธ.ค. 2019 รออยู่ ทำให้ปีนี้คนอเมริกันจะตกอยู่ในช่วงลดกระหน่ำ 5 วันติดต่อกัน

    Adobe Analytics ติดตามเม็ดเงินที่ใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและคาดการณ์ว่า ตลอด 5 วันนี้จะมีการใช้จ่ายสะสม 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะวันสุดท้ายคือ Cyber Monday คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายราว 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 19% ทั้งนี้ สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติอเมริกันยังเสริมด้วยว่า น่าจะมีประชากรอเมริกันราว 69 ล้านคนช้อปปิ้งออนไลน์กันในช่วงเทศกาลลดราคาของปีนี้

    อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลข 9.4 พันล้านเหรียญของ Cyber Monday 2019 จะเป็นสถิติสูงสุดที่เคยมีมา แต่การเติบโต 19% ก็เป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยสถิติ Cyber Monday 2018 ที่มียอดขาย 7.9 พันล้านเหรียญนั้นเติบโตขึ้น 19.7% เทียบกับปี 2017

    เทศกาลลดราคาของสหรัฐฯ และจีนมักจะถูกนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกันบ่อยครั้งเพื่อวัดกำลังซื้อของสองชาติ ซึ่งปีนี้ วันคนโสด 11.11 ที่จัดโดย Alibaba กวาดยอดขายไป 3.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 26%

    Source

    ]]>
    1255612
    Walmart ยกเลิกบริการส่ง “สินค้าสด” ถึงบ้านผ่าน Jet.com แล้ว https://positioningmag.com/1254620 Sun, 24 Nov 2019 07:15:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254620 Jet.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของ Walmart ประกาศยกเลิกให้บริการส่ง “สินค้าสด” (fresh groceries) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ หลังทดลองให้บริการมา 1 ปี เเต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

    โดยบริการส่งสินค้าสดถึงบ้านของ Jet.com นั้นเริ่มต้นธุรกิจในนครนิวยอร์กก่อน เเละเคยมีเเผนจะขยายไปยังบอสตัน ฟิลาเดเฟีย และวอชิงตัน ดีซีด้วย เเต่หลังเปิดให้บริการไปเพียง 1 ปี ทางบริษัทเเม่อย่าง Walmart ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ ก็ประกาศยกเลิกบริการในส่วนนี้ของ Jet.com โดยจะหันไปโฟกัสกับการขายสินค้าเเห้งเเละสินค้าทั่วไปอื่นๆ เเทน

    Walmart เปิดเผยว่า บริษัทได้เรียนรู้อย่างมากจากการทดสอบขายของประเภทสดเเละส่งตรงถึงบ้านลูกค้าในนิวยอร์ก ซึ่งต่อไปจะได้มุ่งเน้นที่ตลาดของแห้งและสินค้าทั่วไปที่มีอยู่ใน Jet.com นับล้านรายการเเทน โดยจะยังคงพัฒนาเเละมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในเมืองใหญ่ต่อไป

    รายงานข่าวของ CNBC ระบุว่าบริการส่งสินค้าสดนี้เป็นเเค่ส่วนที่เล็กที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณธุรกรรมทั้งหมดของ Jet.com

    Walmart เข้าซื้อ Jet.com ด้วยมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 เพื่อขยายฐานค้าปลีกออนไลน์เเละระบบส่งเดลิเวอรี่ของบริษัทที่เป็นห้างสรรพสินค้าเเบบดั้งเดิม เเละการที่ Walmart มาทุ่มเงินเปิดบริการเดลิเวอรี่สินค้าประเภทของสดผ่าน Jet.com นั้นก็เพื่อแข่งกับยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon เเต่ก็จะต้องถอยไปตั้งหลักเสียใหม่

    ภายหลังมีข่าวประกาศยกเลิกให้บริการส่ง “สินค้าสด” ครั้งนี้ ทำให้หุ้น Walmart ลดลงน้อยกว่า 1% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เเต่โดยรวมเเล้วหุ้นของ Walmart ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่า 28% ในปีนี้ โดยปัจจุบัน Walmart มีมูลค่าตลาดประมาณ 3.4 เเสนล้านเหรียญสหรัฐ

    ที่ผ่านมา Walmart เปลี่ยนนโยบายมาโฟกัสกับอีคอมเมิร์ซเป็นอันดับแรกพร้อมขยายกลุ่มลูกค้าจากการเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพต่างๆ เเละนำเทคโนโลยีมาต่อยอดบริการทั้งการช้อปปิ้งออนไลน์เเละออฟไลน์

    Photo : Jet.com  via facebook

    Source

     

    ]]>
    1254620