ตลาดอีคอมเมิร์ซ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 22 Aug 2024 12:19:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เสร็จศึกฆ่าขุนพล! ‘วอลมาร์ท’ เตรียมเทหุ้น ‘JD.Com’ หลังธุรกิจค้าปลีกของตัวเองไปได้สวย ปิดฉากการลงทุน 8 ปี https://positioningmag.com/1487155 Thu, 22 Aug 2024 12:12:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487155 หลังจากที่ Pinduoduo ผงาดในตลาดอีคอมเมิร์ซจีน อดีตเบอร์ 1 และ 2 อย่าง Alibaba และ JD.com ต่างระส่ำกันหมด และด้วยการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศ ทำให้ วอลมาร์ท (Walmart) บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ก็ได้ถอนการลงทุนจาก JD.com ทั้งหมด

Walmart เทขายหุ้น JD.com ทั้งหมดมูลค่ารวมราว 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยบริษัทได้เข้าลงทุนใน JD.com ตั้งแต่ ปี 2016 โดยขายร้านขายของชำออนไลน์ในจีนอย่าง Yihaodian ให้กับ JD.com เพื่อแลกกับหุ้น 5% ใน JD.com และในปีเดียวกันนั้น วอลมาร์ทเพิ่มการถือหุ้นใน JD.com เป็นมากกว่า 10% ดังนั้น การขายหุ้นทั้งหมดนี้ ถือเป็นการปิดฉากการลงทุน 8 ปี

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Walmart ตัดสินใจเทขายหุ้นมาจาก ผลตอบแทนที่ลดลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงของอีคอมเมิร์ซจีน ทำให้ทั้ง Alibaba และ JD.com ต่างต้องอัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าแพลตฟอร์ม ซึ่งนั่นส่งผลให้อัตรา กำไรลดลง

ส่วนอีกสาเหตุก็คือ Walmart ต้องการจะ นำเงินทุนไปใช้กับสิ่งที่มีความสำคัญกว่า โดย Walmart ระบุว่า บริษัทจะมุ่งไปที่การดำเนินธุรกิจของตัวเองในจีน ซึ่งก็คือ Walmart China และ Sam’s Club อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมุ่งมั่นรักษาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องกับ JD.com ซึ่ง JD.com จะยังคงเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าของ Walmart บนเว็บไซต์

ด้าน JD.com ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทมีความมั่นใจในความร่วมมือในอนาคตระหว่างทั้งสองบริษัท โดยภายใต้สัญญาเดิม Walmart และ JD.com จะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานของตน เพื่อขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์นำเข้าสำหรับผู้บริโภคชาวจีน

อย่างไรก็ตาม โทมัส เฮย์ส ประธานบริษัทการลงทุน Great Hill Capital ให้ความเห็นว่า “ในปี 2016 บริษัท Walmart ต้องการขยายธุรกิจในประเทศจีน และพวกเขาทำสำเร็จผ่านการเรียนรู้ตลาดจาก JD.com  และตอนนี้พวกเขาก็มีช่องทางในการขยายธุรกิจและมีผลประโยชน์ในจีนเป็นของตัวเอง และพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้ส่วนเสียใน JD อีกต่อไป เมื่อพวกเขามีธุรกิจที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ราคาหุ้นของ JD.com ร่วงลงราว 70% จากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2021 และราคาหุ้นก็ใกล้เคียงกับระดับเปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 นอกจากนี้ การเติบโตของยอดขายของ JD.com หยุดนิ่งหลังจากการระบาดใหญ่ เนื่องจากผู้ซื้อแห่กันไปที่บริษัทอีคอมเมิร์ซราคาประหยัดคู่แข่งอย่าง Pinduoduo

โดยหุ้นของ JD.com ที่จดทะเบียนในฮ่องกงปิดตลาดลดลงเกือบ -9% ในวันพุธ ส่วนหุ้นที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ลดลง -5% ในการซื้อขายช่วงเที่ยงวัน ด้านหุ้นของ Walmart เพิ่มขึ้น 0.6% ในวันพุธ หลังจากแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 75.58 ดอลลาร์

โดยในไตรมาสล่าสุด Walmart รายงานว่า รายได้จากธุรกิจในประเทศจีนเพิ่มขึ้น +17.7% เมื่อเทียบเป็นรายปีที่ 4.6 พันล้านดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเครือข่ายคลังสินค้า Sam’s Club และช่องทางดิจิทัล โดยรายได้จากสมาชิกจากธุรกิจ Sam’s Club ในประเทศจีนเติบโตขึ้น +26% ขณะที่จำนวนสมาชิกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

]]>
1487155
‘Priceza’ ฉายภาพ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ไทย 2024 แนะควรมี ‘First party data’ ของตัวเอง ลดพึ่งพา ‘E-Marketplace’ https://positioningmag.com/1463828 Fri, 23 Feb 2024 09:05:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463828 หากพูดถึงตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทย หลายคนก็จะนึกถึง Shopee, Lazada ที่เป็นอีมาร์เก็ตเพลส ถ้าชอบเล่นโซเชียลก็จะเห็น TikTok Shop, Facebook Live ขายของ แต่ E-Commerce Landscape ปีนี้จะเป็นอย่างไร Priceza Insights ได้มาอัปเดตให้ได้เห็นกัน

อีคอมเมิร์ซ 2023 โต 14%

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปี 2023 คาดการณ์ว่าจะไปแตะอยู่ที่ 932,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปี 2022 อยู่ที่ 818,000 ล้านบาท นับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การซื้อขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งเคยซื้อสินค้า/บริการผ่าน E-Commerce ด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ขยายตัวและครอบคลุมมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีความเปลี่ยนเเปลงทั้งในด้านเเพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัว รวมถึงระบบนิเวศทั้งหลายของธุรกิจที่เข้าสู่ออนไลน์อย่างเต็มรูปเเบบหลังจากช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา โดยตลาดอีคอมเมิร์ซในตอนนี้ครอบคลุมหลายด้านของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น Food Delivery, Online Grocery, การท่องเที่ยว และ On-Demand Delivery

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับปี 2024 สมรภูมิการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มดุเดือดยิ่งขึ้น! แม้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประเมินถึงมูลค่าตลาดในปีนี้ แต่ทาง Google, Temasek และ Bain & Company ประเมินว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยภายในปี 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายที่สุดของร้านค้าไทย นอกจากปัจจัยเรื่องราคา และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคดิจิทัลแล้ว สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาผ่านอีมาร์เก็ตเพลส ปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยผ่านช่องทาง E-Commerce และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

ทั้งนี้ ทางภาครัฐเองก็เริ่มตระหนักและหันมา ทบทวนนโยบายการเรียกเก็บภาษี ที่เหลื่อมล้ำเพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เติบโตได้และไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากสินนค้าประเทศจีนและมีการแข่งอย่างเสรีและเป็นธรรมซึ่งเราคงได้เห็นการปรับโครงสร้างภาษีในปีนี้

ภาพจาก Shutterstock

ต้องพึ่งพาตัวเอง และใช้เอไอช่วย

ในด้าน Retail Commerce การพึ่งพาแพลตฟอร์มอย่างอีมาร์เก็ตเพลสอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้แบรนด์ เริ่มเห็นความสำคัญของการมี First party data เป็นของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับการใช้ Gen AI การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อ Personalization สร้างประสบการณ์ Commerce Experience ในการช่วยแบรนด์สร้างยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้บริการ E-Commerce สามารถดึงดูดและรักษาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ปัจจุบัน ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ออกเป็น 4  กลุ่มได้แก่

  • Marketing & Supporting (การตลาดและการสนับสนุน) เช่น Priceza Affiliate, Pundai, ShopBack, RadarPoint, MyCashback, Access Trade, Involve Asia, Ecomobi ที่เป็นกลุ่ม Affiliate Marketing หรือ Etailligence, KaloData, Wisesight, Mandala ที่เป็นกลุ่ม Data Insights
  • E-Commerce Channels (ช่องทางอีคอมเมิร์ซ) เช่น Shopee, Lazada, Tiktok, Central, MOnline
  • Payment (การชำระเงิน) เช่น TrueMoney Wallet, LINE Pay, ShopeePay, GrabPay, LazWallet, Paotang
  • Delivery (การจัดส่ง) เช่น ปณ.ไทย, Kerry, Flash, DHL, J&T และในกลุ่ม On-Demand Delivery เช่น Grab, LINE MAN, Robinhood, Lalamove, นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Fulfillment เช่น MyCloud, SokoChan, SiamOutlet, Akita เป็นต้น
]]>
1463828
Rakuten ขายหุ้น 8.3% ให้ ‘ไปรษณีย์ญี่ปุ่น’ เสริมแกร่งอีคอมเมิร์ซ-ขนส่ง ดึง Tencent ร่วมลงทุน https://positioningmag.com/1323231 Fri, 12 Mar 2021 10:46:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323231 อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ‘Rakuten’ ผนึกกำลัง ’Japan Post’ ไปรษณีย์ญี่ปุ่น รับตลาดช้อปปิ้งออนไลน์บูม วางเเผนระดมทุน 2.2 พันล้านเหรียญ ดึงพันธมิตรร่วมลงทุนอย่าง Tencent บิ๊กเทคของจีน เเละห้างค้าปลีก Walmart ในสหรัฐฯ ขยายสู่ธุรกิจ AI การเงิน เกม เเละเครือข่ายมือถือ

โดย Rakuten จะขายหุ้น 8.32% ให้กับไปรษณีย์ญี่ปุ่น เป็นมูลค่าประมาณ 150 พันล้านเยน (ราว 1.38 พันล้านเหรียญ) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ ช้อปปิ้งออนไลน์และบริการดิจิทัลอื่น ๆ

การบรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรด้านเงินทุนระหว่าง Rakuten เเละไปรษณีย์ญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ Rakuten จะได้ประโยชน์จากเครือข่ายขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ญี่ปุ่น ที่มีฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านคน มีที่ทำการไปรษณีย์ 24,000 แห่ง เข้าถึงทุกครัวเรือนในประเทศ อีกทั้งยังมีบริษัทลูกเป็นสถาบันการเงินและบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ ที่มีลูกค้าเปิดบัญชีออมทรัพย์กว่า 120 ล้านบัญชี

ขณะเดียวกัน Rakuten ก็ตั้งเป้าจะเข้ามาพลิกโฉมไปรษณีย์ญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย เเละปรับการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของทั้งสองบริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุค New Normal ที่หันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ เเละมีการส่งพัสดุไปยังที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19

หากไปรษณีย์ญี่ปุ่นรวมบริการออนไลน์ของ Rakuten เข้ากับเครือข่ายทั่วประเทศ ก็จะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของทั้งสองบริษัท Amir Anvarzadeh นักวิเคราะห์จาก Asymmetric Advisors ระบุ

สำหรับเเผนของ ‘Rakuten’ เเละไปรษณีย์ญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะมีสร้างศูนย์โลจิสติกส์ร่วมกัน เเชร์ระบบจัดส่งเเละรับสินค้า พร้อมแบ่งปันข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

โดยที่ทำการไปรษณีย์ จะเพิ่มเคาน์เตอร์ให้ผู้คนสามารถสมัครใช้บริการโทรศัพท์เครือข่ายมือถือของ Rakuten และใช้บริการอื่นๆ ได้ รวมถึงจะขยายบริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และบริการประกันภัย ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมของความร่วมมือดังกล่าว จะมีการเปิดเผยอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

ในปีที่ผ่านมา Rakuten ผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่น ได้รับประโยชน์จากการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เฟื่องฟูในช่วงระบาดใหญ่ แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง จากคู่เเข่งต่างชาติที่เข้ามารุกตลาดเเดนปลาดิบอย่าง Amazon

โดยผลประกอบการของ Rakuten ในปี 2020 ยังคงขาดทุนอยู่ เนื่องจากบริษัทนำเงินจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไปทุ่มลงทุนในบริษัทลูกที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเเละพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องจัดโปรลดค่าบริการเพื่อขยายฐานลูกค้าเเละแข่งขันกับบริษัทรายอื่นๆ ในตลาด

นอกจาก Japan Post เเล้ว Rakuten กำลังเจรจากับพันธมิตรใหม่ๆ อย่างห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อย่าง Walmart ที่เคยร่วมโปรเจกต์จัดส่งสินค้าสดในญี่ปุ่นด้วยกันมาเเล้ว เมื่อ 3 ปีก่อน ส่วน Tencent บริษัทเทคยักษ์ใหย่ของจีนนั้นเพิ่งมีการพูดคุยกันเมื่อไม่กี่เดือนมานี้

โดยมีความเป็นไปได้ว่า Rakuten จะร่วมมือกับ Tencent ในการพัฒนาเกม เเละมองหาโอกาสในการเชื่อมโยงแบรนด์และร้านค้าเข้ากับแพลตฟอร์ม WeChat เพื่อขยายธุรกิจทั้งในจีนเเละญี่ปุ่นต่อไป

 

ที่มา : Bloomberg , Kyodonews 

]]>
1323231
อ่าน 5 ข้อ ทำความเข้าใจธุรกิจ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น KEX https://positioningmag.com/1310803 Thu, 17 Dec 2020 09:28:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310803 ตัวท็อปวงการขนส่งพัสดุเมืองไทยอย่างเคอรี่ เอ็กซ์เพรส” (KEX) เตรียมระดมทุนสูงสุด 8.4 พันล้านในตลาดหลักทรัพย์ฯ  24 ..นี้ เคาะราคาขาย IPO จำนวน 300 ล้านหุ้นที่ราคา 28.00 บาทต่อหุ้น ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าจับตามองส่งท้ายปีนี้ ท่ามกลางการเเข่งขันในสงครามโลจิสติกส์อันดุเดือด หลังธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตพุ่งพรวดจากวิกฤต COVID-19

Positioning ขอสรุปพื้นฐานธุรกิจ เเผนเเละกลยุทธ์การเติบโต รายละเอียดไทม์ไลน์ของหุ้น IPO เเละภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากการแถลงของทีมผู้บริหาร เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย เบื้องต้นไว้ดังนี้

ส่องธุรกิจ Kerry Express

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” (Kerry Express) ข้ามน้ำข้ามทะเลจากฮ่องกง มาบุกธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2549 เริ่มให้บริการจัดส่งพัสดุภาคเอกชนรายเเรกในประเทศไทย ให้บริการจัดส่งพัสดุแบบครบวงจร เจาะกลุ่มลูกค้าทุกประเภท

ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อ 2561 หลังบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านยักษ์ใหญ่ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ทุ่มเงินเกือบ 6 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ในสัดส่วน 23% ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 (ปัจจุบันเหลือ 19%)

เรามาย้อนการเติบโตของธุรกิจ “ส่งพัสดุ” ของเคอรี่ ดังนี้

ปี 2554 จัดส่งพัสดุ 8,000 ชิ้นต่อวัน ในวันที่ความต้องการการบริการจัดส่งพัสดุสูง (peak day)

ปี 2556 เปิดร้านรับส่งพัสดุแห่งแรก เพื่อให้บริการด้านการจัดส่งพัสดุผ่านเคาน์เตอร์ของร้าน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณถนนอโศก กรุงเทพมหานคร

ปี 2558 เริ่มให้บริการจัดส่งพัสดุภายในวันเดียวกัน (Bangkok Sameday : BSD) และได้เปิดตัวศูนย์บริการ
โลจิสติกส์บางนา ซึ่งเป็นศูนย์คัดแยกพัสดุแห่งแรกของบริษัท

ปี 2559 เร่ิมให้บริการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ร้านรับส่งพัสดุและจุดรับ-ส่งพัสดุ

ปี 2560 จัดส่งพัสดุรวมทั้งหมดได้ 71 ล้านชิ้น เริ่มใช้ระบบ EasyShip แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยลูกค้าที่ใช้บริการการจัดส่งพัสดุแบบ C2C

ปี 2561 จัดส่งพัสดุรวมทั้งหมดได้ 173 ล้านชิ้น โดยจัดส่งพัสดุในประเทศไทย กว่า 1 ล้านชิ้นต่อวันที่มีความต้องการการบริการจัดส่งพัสดุสูงสุด

ปี 2562 ส่งพัสดุรวมทั้งหมดได้ 274 ล้านชิ้น เร่ิมให้บริการการจัดส่งพัสดุ แบบรับถึงบ้าน (D2D) และขยายเครือข่ายไปตามต่างจังหวัด มีพนักงานในสังกัดราว 2 หมื่นคน

ปี 2563 (ช่วง 9 เดือนเเรก) จัดส่งพัสดุรวมทั้งหมด 223.9 ล้านชิ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมมาซื้อของออนไลน์ สามารถจัดส่งพัสดุจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านชิ้นต่อวันทำการ

ปัจจุบัน Kerry Express มีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จุดให้บริการ 15,000 แห่ง พร้อมศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง จำนวนรถรับส่งพัสดุ 25,000 คัน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (2557-2562) ราว 134.9%

นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทภาคเอกชนที่ให้บริการเก็บเงินปลายทาง รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉลี่ย 6,500 ล้านบาทต่อเดือน มีอัตราพัสดุตีกลับราว 1.5% โดยรายได้ของบริษัท 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้กว่า 14,689 ล้านบาท กำไร 1,030 ล้านบาท

ขณะที่รายได้ และกำไรย้อนหลัง 3 ปีมีดังนี้

ปี 2560 รายได้ 6,626.41 ล้านบาท กำไรสุทธิ  730.26 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 13,565.35 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,185.10 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 19,781.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,328.55 ล้านบาท

ด้านสัดส่วนลูกค้าของเคอรี่กว่า 53% เป็นลูกค้าในกลุ่ม C2C หรือแบบบุคคลส่งถึงบุคคล เเละอีก 44% เป็นลูกค้ากลุ่ม B2C หรือแบบธุรกิจส่งถึงบุคคล และ 1.7% เป็นกลุ่มลูกค้าแบบ B2B หรือธุรกิจส่งถึงธุรกิจ

เมื่อเจาะลึกลงไปในสัดส่วนรายได้ จะเห็นว่าในปี 2563 (9 เดือนเเรก) เคอรี่มีรายได้ส่วนใหญ่ 53.9% จากกลุ่ม C2C รองลงมาคือ 44.3% จากกลุ่ม B2C เเละ 1.7% จากกลุ่ม B2B ส่วนที่เหลือ 0.1% มาจากรายได้โฆษณา

อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกว่า เคอรี่ชอบทำอะไรเป็น “เจ้าเเรก” อย่างการเป็นผู้บุกเบิกการจัดส่งแบบ Next Day ในไทย เป็นเจ้าแรกที่ให้บริการรับชำระเงินปลายทาง และตอนนี้กำลังเป็น “เจ้าแรก” ของบริษัทส่งพัสดุด่วนของไทยที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“การเติบโตของกลุ่ม C2C ลูกค้าส่งถึงลูกค้านั้นมีความสำคัญมากกับธุรกิจของเรา ทิศทางที่มุ่งต่อไปคือการขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้น เจาะพื้นที่ใหม่ ลูกค้าใหม่ เเละธุรกิจใหม่ๆ”

โตตาม “อีคอมเมิร์ซ” 

ตามที่ทราบกันว่า การเติบโตของธุรกิจขนส่งนั้นยึดโยงกับธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” และ “โซเชียลมีเดีย” โดยยอดค้าปลีกออนไลน์ในไทยนั้น มีการเติบโตเฉลี่ย 22.2% (ปี 2557-2562) เเละคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้น 26.7%

ในปี 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,285 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5,406 ล้านบาทในปี 2567

ส่วนการพัฒนาของระบบ “โมบายเเบงกิ้ง” ก็ช่วยเร่งการเติบโตของรายได้ในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยมีมูลค่าธุรกรรมเติบโตเฉลี่ย 53.1% (ปี 2557-2562) เเละคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้น 22.1%

ทาง “เคอรี่” ตั้งเป้าว่าบริษัทจะขยายไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมซื้อของออนไลน์ที่เฟื่องฟู โดยหวังจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 20% ภายในอีก 5 ปี รั้งตำเเหน่งเบอร์ 1 ขนส่งเอกชนเมืองไทย 

กลยุทธ์สู้เเข่งดุ : เข้าหาลูกค้าตาม “ซอกซอย” 

KEX คาดว่าหลัง IPO ในตลาดหุ้น จะระดมทุนได้ราว 8,400 ล้านบาท โดยจะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ผู้บริหารเคอรี่ เน้นย้ำว่า จะยังคงใช้เเนวคิด “Kerry Express Everywhere” เพื่อเเข่งขันในตลาด ซึ่งจะมีการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างการพัฒนาระบบจัดเก็บเเละกู้คืนข้อมูลในกรณีฉุกเฉิน การวิเคราะห์ข้อมูล เเละหาพันธมิตรใหม่ๆ

รวมไปถึงการพิจารณา “ควบรวมกิจการ” ในธุรกิจที่น่าสนใจเเละนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งตอนนี้ “เล็งไว้” หลายเจ้า เเต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ 

วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บอกว่า สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การขยายธุรกิจ ขยายจุดส่งพัสดุให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด จากตอนนี้ที่มีจุดให้บริการตาม “ถนนสายหลัก” ต่อไปจะเข้าไปหาลูกค้าตาม “ซอกซอย” ให้ได้

ทั้งนี้ จุดให้บริการ 15,000 แห่งนั้น ปัจจุบันเป็นสาขาที่เคอรี่ดำเนินการเองราว 2,000 เเห่ง เป็นการจับมือกับพันธมิตรอีก 3,000 เเห่ง เเละที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นเเห่งเป็นสาขาของ SME รายย่อย

เมื่อถามถึงการเเข่งขันด้าน “ราคา” ที่หลายคนมองว่าเคอรี่อาจจะมีค่าบริการที่สูงกว่าเจ้าอื่นในตลาดนั้น วราวุธ ตอบว่า บริษัทมีการดูเเลเรื่องนี้โดยตลอด เช่นการจัดเรตราคาตามหมวดหมู่ของสินค้า โดยอยากให้ผู้บริโภคเห็นถึง “คุณภาพ” ในการจัดส่งว่ามีความชัวร์เเละคุ้มค่า ในราคาที่ไม่เเพงไปกว่ากันมากนัก 

ทั้งนี้ คู่เเข่งรายสำคัญที่เพิ่งเข้ามาตีตลาดใหม่อย่าง “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ก็เพิ่งได้รับการระดมทุน Series D มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน “เเย่งลูกค้า” กันขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างเเน่นอน

Photo : Shutterstock

เคาะราคา 28 บาทต่อหุ้น 

KEX เคาะราคาขายหุ้น IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น ที่ราคา 28.00 บาทต่อหุ้น จากช่วงราคา 24-28 บาทต่อหุ้น มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 33 เท่า ใกล้เคียงกับธุรกิจขนส่งพัสดุในระดับภูมิภาคที่มีค่า P/E ที่ 20-30 เท่า

พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันแรก 24 ธ.ค. 2563 เปิดให้จองซื้อตั้งแต่ 8-18 ธ.ค. นี้ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เเละบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เเละเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม

ในราคาที่ 28 บาทต่อหุ้นนั้น ถือเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อท่วมท้น มากกว่า 23 เท่า จากจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ โดยมีกองทุนให้ความสนใจมากกว่า 100 กองทุน

การดำเนินการเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 300 ล้านหุ้นครั้งนี้ คิดเป็น 17.24% ของหุ้นทั้งหมด เเบ่งให้รายย่อยจำนวน 100 ล้านหุ้น (ครึ่งหนึ่งเป็นรายย่อยผู้มีอุปการคุณ) เเละที่เหลืออีก 200 ล้านหุ้น เป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยมุ่งเน้นไปยังกองทุนที่มีกลยุทธ์การ “ลงทุนระยะยาว” เป็นหลัก

ลุ้นเข้า SET50 กลางปีหน้า 

วีณา เลิศนิมิตร กรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ KEX มองว่า หลังการระดมทุนของเคอรี่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 24 ธ.ค. นั้น มีโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปคำนวณในดัชนี SET 50 ได้ในช่วงกลางปี 2564 เพราะมองว่าเป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูง ตามเทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีนักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อาจทำให้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดแตะระดับแสนล้านบาทได้ ทั้งนี้ หากประเมินตามราคา IPO ที่ 28 บาทนั้น เคอรี่จะมีมาร์เก็ตแคปราว 4.87 หมื่นล้านบาท

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 ของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย หลังระดมทุน 8.6 พันล้านนั้น ต้องจับตาความเคลื่อนไหวกันต่อไป โดยเฉพาะผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่เป็นหนึ่งในลูกค้าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสงครามธุรกิจนี้ 

 

 

]]>
1310803
Amazon เริ่มใช้ “รถสามล้อไฟฟ้า” ส่งสินค้าในอินเดีย ตั้งเป้าถึงหมื่นคันในปี 2025 https://positioningmag.com/1261696 Thu, 23 Jan 2020 11:11:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261696 Amazon ไม่หวั่นศึกอีคอมเมิร์ซในอินเดีย เดินเกมลงทุนต่อ เเม้มหาเศรษฐี Mukesh Ambani ผู้ร่ำรวยที่สุดในเอเชียจะเปิดตัว “JioMart” ลงสนามเเข่งธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ท้องถิ่น

อ่านเพิ่มเติม : ศึกเดือดอีคอมเมิร์ซ “อินเดีย” เศรษฐีผู้รวยที่สุดในเอเชีย เปิดตัว JioMart ท้าชิง Amazon

ล่าสุด Jeff Bezos ซีอีโอของ Amazon ลงพื้นที่ทัวร์อินเดียด้วยตนเอง พร้อมประกาศจะใช้ “รถส่งของพลังงานไฟฟ้า” โดยตั้งเป้าใช้มากถึง 10,000 คันภายในปี 2025 นี้

สำหรับรถส่งของไฟฟ้าของ Amazon นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างการดำเนินการจัดส่ง โดยได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตในประเทศหลายรายเพื่อออกแบบเเละผลิตขึ้นมา
ซึ่งในจำนวนรถไฟฟ้ากว่า 10,000 คันนี้จะมีทั้งรถสามล้อและสี่ล้อ

Amazon จะเริ่มทดลองใช้ “รถส่งของไฟฟ้า” ในปีนี้ที่เมืองต่างๆ ของอินเดีย 20 เมืองเช่น Delhi NCR, Bangalore, Hyderabad, Ahmedabad, Pune, Nagpur และ Coimbatore

ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนประกอบมอเตอร์และแบตเตอรี่ที่ทันสมัย

Amazon ระบุว่า นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในประเทศและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ ช่วยให้บริษัทวางวิสัยทัศน์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียจนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา

 

ที่มา : 10,000 Electric Vehicles in our delivery fleet by 2025

]]>
1261696
ก้าวต่อไปของ LnwShop ปรับตัวครั้งใหญ่ ในยุคที่คนซื้อของผ่านเว็บไซต์น้อยลง https://positioningmag.com/1257766 Thu, 19 Dec 2019 11:32:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257766 ตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยเเละอาเซียนกำลังเฟื่องฟูสุด มูลค่าพุ่งถึง 3.2 ล้านล้านบาท ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็โตเกือบ 4 เท่าจาก 10 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดนักช้อปออนไลน์ทำให้อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยในตลาดเเทบไม่เหลือ เเต่ “เทพช็อป LnwShop” ยังคงอยู่เเละกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 โดยให้บริการระบบบริหารร้านค้าออนไลน์เเบบครบวงจร

ปรับตัวอย่างไร เมื่อคนไม่นิยมซื้อของในเว็บไซต์เเล้ว…

ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง Lnw Shop (เทพช็อป) กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจในปัจจุบันว่าผู้ประกอบการเริ่มหันไปเปิดร้านใน E-Market Place มากขึ้นเพราะขายง่าย
เเละมีโปรโมชั่นใหญ่ทุกเดือน เเต่ข้อจำกัดที่ยังเป็นจุดเเข็งของเว็บไซต์คือ “ความน่าเชื่อถือ” การมีเว็บไซต์ทำให้คนจดจำเเละเป็นลูกค้าประจำได้

ขณะเดียวกันเมื่อเทคโนโลยีโซเชียลพัฒนาขึ้นมาก คนก็หันไปเปิดร้านในสังคมออนไลน์ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยได้เป็นอย่างดี เพราะคนไทยชอบเเชทถามก่อนซื้อ เเละยังขึ้นเเท่นซื้อของผ่านเเชทออนไลน์มากที่สุดในโลกด้วย

“เราต้องก้าวออกมาจากการเป็นเเค่เว็บไซต์ที่คนอาจเข้าน้อยกว่า โดยปรับมุมมองจากเว็บไซต์สำเร็จรูปให้เป็นระบบการจัดการร้านค้าออนไลน์มากขึ้น เชื่อมต่อแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ลาซาด้า และช้อปปี้ ทำให้ร้านค้าสามารถขายทุกช่องทางเเละมีระบบเพย์เมนต์รองรับ”

ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง Lnw Shop

ข้อมูลล่าสุดมีจำนวนคนที่เข้ามาเปิดร้านกับ Lnwshop แล้วราว 740,000 ร้านเเละเเอคทีฟอยู่ประมาณ 5-6 หมื่นร้าน มียอดผู้ชมต่อวัน 2 ล้านคน โดยมี 3 กลุ่มสินค้าขายดี คือ กลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น กลุ่มแก็ดเจ็ตอุปกรณ์ไอที
ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องสำอางเเละอาหารเสริม

“ยุคนี้ต้องทำควบคู่กันทั้งขายใน E-MarketPlace เเละต้องมีเว็บไซต์เป็นพื้นที่ของตนเอง ไม่ควรทำช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ร้านค้าต้องขายทุกช่องทาง อย่าผูกติดกับแพลตฟอร์มใดเพียงเเพลตฟอร์มเดียว”

บิ๊กโซเชียลชิงตลาดเเชท E-MarketPlace เเข่งส่งเร็ว

Lnwshop เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจสำหรับผู้ขายของออนไลน์ว่า ตอนนี้ผู้ซื้อของออนไลน์ที่หน้าเว็บนั้นมาจาก Google 50% จากการโฆษณา 19% การเข้าชมโดยตรง 17% และจาก Facebook 12%

“ในปีหน้าเราจะได้เห็นผู้ให้บริการโซเซียลคอมเมิร์ซ ลงสนามเเข่งพัฒนาระบบเพื่อให้บริการกับลูกค้าของตัวเองกันดุเดือดมาก โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางการเเชท ขณะที่ผู้ให้บริการ E-MarketPlace รายใหญ่จะหันมาพัฒนาความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าให้ส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ในวันเดียว หรือ “Same Day Delivery” ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ที่ซื้อเเล้วต้องได้ทันที” ณัฐวิทย์กล่าว

สำหรับ Lnwshop ตอนนี้ได้พัฒนาระบบภายในให้ผู้ขายสามารถปรับข้อมูลสินค้าบริการต่างๆ ไปจนถึงระบบการสั่งซื้อ การชำระเงิน ให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลที่อัพเดตหน้าร้านออนไลน์ของตัวเองไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ได้พร้อมกันโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ Lnw มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เเก่ LnwShop, LnwPay, LnwMall, LnwPickPack และ LnwDropShip

LnwX.com X Google เจาะร้านค้าหน้าใหม่

ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กูเกิลได้ร่วมมือกับ Lnw เปิดตัวแพลตฟอร์มน้องใหม่ LnwX เครื่องมือโฆษณา Google Shopping Ads ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ว่าจะขายผ่านช่องทางไหนจะ Facebook Line หรือ IG ก็สามารถลงโฆษณากับกูเกิลได้ผ่าน LnwX.com

“ตอนนี้ร้านค้าของเราเริ่มหันมาลงโฆษณากับกูเกิลเเล้วราว 1-2% เป็นร้านค้าเจ้าใหญ่ มีผลเพิ่มยอดขายได้สูงสุด 9 เท่า โดยที่ยังน้อยอยู่อาจเป็นเพราะว่าผู้ขายใน Lnwshop ยังชินกับการขายบนเเพลตฟอร์มของเราที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เเต่เชื่อว่าเมื่อผู้ขายเริ่มเห็นว่าการโฆษณามีผลช่วยเพิ่มยอดขายอย่างมาก ก็จะมีผู้ใช้งาน LnwX.com มากขึ้น โดยตั้งเป้าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 10% เเละต้องการตีตลาดผู้ขายออนไลน์ที่เป็น SMEs ในไทยราว 4 เเสนราย ”

พ่อค้าเเม่ค้าเตรียมปรับตัว EEC เร่งสินค้าจีนส่งถึงไทยไว

ปฐมพล แสงอุไรพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง Lnw Shop กล่าวว่า ความท้าทายในปี 2020 และอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ในไทย คือการเข้ามาของศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของอาลีบาบา เพราะอนาคตสินค้าที่ส่งเข้ามาจากจีนจะถึงมือลูกค้าในเมืองไทยเร็วขึ้น จากการที่จุดพักสินค้ารองรับภายในประเทศแล้วและทำให้สินค้าไทยแข่งขันเรื่องราคายากขึ้น

“ผู้ขายที่เน้นรับพรีออเดอร์สินค้าจากจีนจะได้รับผลกระทบส่วนนี้เยอะมาก ดังนั้นควรวางเเผนรีบปรับตัว หรือเสนอขายสินค้าให้โดดเด่นมากขึ้น เจาะตลาด niche market มากขึ้น เเละใช้จุดเเข็งของ SMEs ไทยคือเเชทขายกับลูกค้าที่เเสดงถึงความเอาใจใส่ ความเข้าใจเเละใกล้ชิดลูกค้ามาสู้ รวมถึงเพิ่มบริการหลังการขาย เเละอาจมีการปรับราคาให้เหมาะสม”

ทั้งนี้ ในปี 2561 LnwShop มีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีอัตราการเติบโตธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10% ต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซ มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-30%

ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด (ซ้าย) เเละ
ปฐมพล แสงอุไรพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด (ขวา) สองผู้ร่วมก่อตั้ง LnwShop

LnwShop กับ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

“สิ่งที่ทำให้ Lnw Shop สามารถดำเนินกิจการจนถึงในปัจจุบันได้ ท่ามกลางการเเข่งขันของธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะการเข้ามาของแพลตฟอร์ม E-MarketPlace รายใหญ่ คือการปรับตัวเสมอ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปเร็วเเค่ไหน ผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องปรับตัวเช่นกัน”

ซีอีโอ Lnw ทิ้งท้ายไว้ว่า ท่ามกลางการเเข่งขันที่สูงมากเเละกำลังมีบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาทำธุรกิจเดียวกันกับเทพช็อป สิ่งที่เราจะทำต่อไปที่นอกเหนือจากการพัฒนาเเพลตฟอร์มเเละการเชื่อมต่อกับอีคอมเมิร์ซรายอื่นๆ เเล้วก็คือการชูการให้บริการความเอาใจใส่ ความไว้วางใจเเละการจับมือไปด้วยกันกับผู้ประกอบการรายย่อยของไทยให้มีการขยายธุรกิจต่อไปได้

 

]]>
1257766
ล้วงอินไซด์ eBay เหตุใดถึงให้ความสนใจ “เมืองไทย” พร้อมเผย 5 กลุ่มสินค้าขายดี https://positioningmag.com/1236678 Fri, 28 Jun 2019 03:11:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1236678 ถึงหลายคนรู้จัก eBay จากการเป็นเว็บไซต์ประมูลสินค้าที่เปิดมาแล้วกว่า 24 ปี แต่ในความเป็นจริงยอดขายหลักไม่ได้มาจากการประมูลอีกแล้ว ข้อมูลในปี 2018 ระบุว่า 89% ของผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้าทันทีไม่รอประมูล โดย 79% ของสินค้าขายดีคือสินค้าใหม่

ยิ่งไปกว่านั้นจากยอดขาย 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดขายที่มาจากนอกสหรัฐฯ ถึง 60% จาก 190 ประเทศทั่วโลก 62% ของผู้ซื้อกดสั่งสินค้าบนสมาร์ทโฟน 70% เป็นสินค้าแบบจัดส่งฟรี จำนวนผู้ซื้อสินค้าบนมีจำนวนกว่า 180 ล้านคนทั่วโลก

จากตัวเลขที่เกิดขึ้นทำให้การค้าปลีกส่งออกข้ามประเทศ” (Cross Border Trade: CBT) ถูกยกเป็น 1 ใน 4 กลยุทธ์หลักที่ eBay ให้ความสำคัญร่วมกับ B2C, C2C และ Mobile

สาเหตุที่ eBay ให้ความสำคัญกับ CBT มาจากข้อมูลที่ว่า CBT มีสัญญาณเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก มีการประเมินว่า มีอัตราเติบโตมากกว่าอีคอมเมิร์ซ คาดว่ามูลค่าตลาด CBT จะโตทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก 20% ภายในปี 2022

โดยเอเชียแปซิฟฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ CBT ขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในด้านการนำเข้าและการส่งออก ในปี 2018 ที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวม 23.2 พันล้านเหรียญ คาดว่าจะเติบโตเป็น 102,000 ล้านเหรียญภายในปี 2025

ขณะเดียวกันเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดที่เติบโตมากที่สุดของ eBay แม้จะไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของภาพรวมก็ตาม โดยปัจจัยของการเติบโตนั้นมาจาก 3 เรื่องด้วยกัน 1.สินค้าเป็นที่ต้องการ

2.โครงสร้างข้อมูลทำให้สินค้าหาง่ายขายคล่อง ซึ่งนี่ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่กระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น ร่วมกับการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีโดยเชื่อมต่อ API กับบริษัทโลจิกติกส์ชั้นนำ อย่างของไทยมี 3 บริษัท ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส และ 3.ราคาสินค้าอยู่ในระดับแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับสินค้าในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เจนนี หุย ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอีเบย์ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน อธิบายว่า

แต่เดิมนั้นการขายสินค้าแบบ CBT มักเป็นสินค้าที่น้ำหนักเบา ราคาไม่แพงมาก แต่วันนี้สินค้าไม่ได้ถูกจำกัดขนาดอีกต่อไป สินค้าราคาแพงจำพวกแบรนด์เนมก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ฝั่งคนขายเองก็พัฒนาใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ส่วนคนซื้อก็ต้องการบริการที่ไม่ต่างจากหน้าร้านเลยทีเดียว

จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นเมืองไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ eBay ให้ความสนใจ เพราะถือติด 1 ใน 3 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างร้อนแรง คาดว่าในปี 2020 จะมีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตัวเลขที่เติบโต 30% จากปี 2015

ข้อมูลจาก eBay เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา 5 สินค้าเด่นของไทยคือ เครื่องประดับ เม็ดพลอย รองลงมาคือสินค้าสุขภาพความงาม สินค้าเด่นอันดับ 3 ของไทยคือชิ้นส่วน อะไหล่รถ ตามมาด้วยเครื่องใช้ในบ้าน และอันดับ 5 คือของสะสม

แต่ละประเทศจะมีสินค้าที่นิยมแตกต่างกันออกไป อย่างฮ่องกงเด่นที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนไต้หวันจะเด่นที่อะไหล่รถ ขณะที่ญี่ปุ่นประเทศที่ขึ้นชื่อด้านอนิเมะ สินค้าเด่นย่อมไม่พ้นกลุ่มตัวการ์ตูนของเล่น กระเป๋าแบรนด์เนมมือสองที่เชื่อถือได้ และกระโปรงฟูหวานสไตล์ Lolita

ตลาดหลักที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ของไทยคือสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 50% รองลงมาเป็นตลาดอังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน และรัสเซีย โดยผู้ขายหลัก 70% อยู่ในกรุงเทพฯ อีก 20% กระจายตัวอยู่ในเชียงใหม่และภาคเหนือ ที่เหลือ 10% อยู่ในภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคอีสาน

ทั้งนี้เครื่องประดับ เม็ดพลอยถูกยกให้เป็นสินค้าที่เติบโตสูงสุดเพราะช่างไทยรู้จักเลือกเม็ดพลอย และกำหนดราคาขายสอดคล้องไปกับคุณภาพ ขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปถือว่ามีโอกาสขายหากสอดคล้องกับตลาดผู้ซื้อ เช่น กลุ่มชา สมุนไพร เมล็ดกาแฟ แต่จะไม่มีจำหน่ายสินค้าสดเช่นทุเรียน

อย่างไรก็ตาม eBay ไม่ได้มองความท้าทายหลักเป็นเรื่องคู่แข่งในตลาดอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมองว่าตัวเองนั้นมีสินค้าที่ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และอาจหาได้ที่เดียวในโลกตัวอย่างเช่น ของสะสมหายาก เหรียญรุ่นพิเศษ การ์ดเบสบอลหรือการ์ดดารา

แต่ความท้าทายที่สุดคือการพัฒนาเทคโนโลยี และแชร์ข้อมูลเทรนด์ของผู้บริโภคให้กับผู้ขายที่มากขึ้น.

]]>
1236678
5 เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยและวิธีการรับมือของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ https://positioningmag.com/1169746 Sat, 12 May 2018 02:29:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1169746 ปี พ.ศ. 2560 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย iPrice บริษัทเปรียบเทียบร้านขายสินค้าออนไลน์ใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากวันสำคัญต่างๆ ในปีที่ผ่านมา iPrice จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการเข้าชมสินค้าออนไลน์ของคนไทยโดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 ถึง 17 เมษายน พ.ศ. 2561

การศึกษาถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา จะเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการในการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาที่เหลือ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีถือเป็นช่วงเวลาทองของตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าจับตามอง เพราะมีเทศกาลช้อปออนไลน์หลัก ๆ ถึงสองเทศกาลอย่าง 11.11 และ 12.12

การศึกษาวันสำคัญตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาพบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

วันที่ 31 ธันวาคมเป็นหนึ่งวันที่คนไทยให้ความสำคัญ คนไทยออกเดินทางไปเที่ยวเฉลิมฉลองเคาต์ดาวน์กับเพื่อนๆ และครอบครัว

ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นั้นคนไทยเริ่มออกเฉลิมฉลองช้ากว่าในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยคนไทยเริ่มออกฉลองในช่วง 19.00 โดยเห็นจากยอดเข้าชมสินค้าที่ลดลงกว่า 30% อย่างไรก็ตาม ในคืนข้ามปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560) จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ลดลงตั้งแต่เวลา 16.00 น. กล่าวคือ คนไทยเริ่มออกเดินทางไปเฉลิมฉลองรวดเร็วกว่าในปีก่อน

เทศกาลสงกรานต์

เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ทางรัฐบาลให้หยุดยาวนานถึง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ทำให้จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ลดลงกว่า 14% เนื่องจากผู้คนต่างออกเดินทางไปพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ

โดยสามารถจำแนกกลุ่มผู้เข้าชมตามอายุได้ดังต่อไปนี้

กลุ่มอายุ 55-64 และ 25-34 ปี เป็นกลุ่มช่วงวัยที่มีการลดของจำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ โดยกลุ่มวัย 55 – 64 ลดลงกว่า 22% และกลุ่มวัย 25 -34 ลดลงกว่า 20% ซึ่งกลุ่มผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะออกไปสังสรรค์กับครอบครัว กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานส่วนมากนิยมไปสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนตามสถานบันเทิงและสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ

วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (26 ตุลาคม พ.ศ. 2560)

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คนไทยต่างร่วมใจกันเดินทางไปเข้าร่วมพระราชพิธี ณ ท้องสนามหลวง และติดตามข่าวผ่านทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยจำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ในกรุงเทพฯ ลดลงกว่า 26% และจำนวนผู้ชมสินค้าออนไลน์ในต่างจังหวัดลดลงกว่า 21%

จากภาพเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนชาวไทยมีความรักต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีที่สำคัญนี้ ไม่ว่าฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ

วันคนโสด 11.11 และ 12.12 ออนไลน์เซล

ในปีที่ผ่านมาเทศกาลช้อปออนไลน์อย่าง 11.11 และ 12.12 เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย โดยยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ได้จัดแคมเปญโปรโมตและสร้างยอดขายถล่มทลาย งานเซล 12.12 ในปีที่ผ่านมา Lazada สร้างยอดขายกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านแคมเปญช้อปทะลุจักรวาล

งานออนไลน์เซล 11.11 และ 12.12 ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองแคมเปญได้รับการโปรโมตจากสามบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada, Shopee และ 11Street จึงส่งผลให้จำนวนผู้ช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้นสูง โดยมีรายละเอียดการเพิ่มขึ้นของผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ผ่านทางอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

จากข้อมูลข้างต้นพบว่ามีผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ในช่วงกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสำหรับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้ชมสินค้าออนไลน์ถนัดในการชมสินค้าผ่านทางจอสกรีนใหญ่ ๆ และการใช้คอมพิวเตอร์ยังสะดวกในการชำระค่าสินค้า และที่สำคัญระบบการชำระค่าสินค่าผ่านทางคอมพิวเตอร์มีความเสถียรมากกว่าสมาร์ทโฟน

สำหรับการเข้าชมผ่านทางโทรศัพท์และแท็บเล็ตนั้น มีผู้เข้าชมผ่านช่องทางดังกล่าวในช่วงแคมเปญ 11.11 มากกว่า 12.12 โดยแคมเปญ 11.11 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 43% และแคมเปญ 12.12 เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20%

จากการศึกษา State of eCommerceพบว่า จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20% โดยประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 12% กล่าวคือ ยอดเข้าซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

วิธีการรับมือกับการลดลงของจำนวนผู้ชมสินค้าออนไลน์ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ

เทศกาลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าชมสินค้าและซื้อสินค้าออนไลน์ลดลง ดังนั้นร้านค้าที่ทราบถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงดังกล่าวจะสามารถวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เช่น การลดจำนวนของผู้ชมในช่วงสงกรานต์ ร้านค้าสามารถโปรโมตสินค้าที่คนนิยมในช่วงสงกรานต์ได้ เช่น ครีมกันแดด, ครีมบำรุงผิว, อุปกรณ์กันน้ำต่าง ๆ, ชุดไทยที่กำลังเป็นที่นิยมตามกระแสออเจ้า เป็นต้น หรือแม้กระทั่งวันขึ้นปีใหม่ ร้านค้าก็สามารถเตรียมจัดกิจกรรมวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้เช่นกัน ร้านค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์อาจะโปรโมตให้คนซื้อสื้อผ้าใหม่ตามเคล็ดของคนไทยต้อนรับปีใหม่ด้วยอะไรใหม่ ๆ

ในช่วงเทศกาลข้อจำกัดที่ส่งผลต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดคงจะเป็นการจัดส่งสินค้าที่ดีเลย์และไปรษณีย์ไทยปิดทำการ นี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงเทศกาลลง หากนี่เป็นหนึ่งอุปสรรค แบรนด์ที่มองเห็นโอกาสคงสามารถสร้างกลยุทธ์เพื่อเรียกยอดขายได้ไม่น้อย

ในต่างประเทศซึ่งประสบปัญหาเดียวกันนั้น แบรนด์กลับพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการเปิดรับพรีออเดอร์ในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยใช้การส่งเสริมการขายมาล่อและสัญญาที่จะจัดส่งสินค้าในภายหลังอย่างรวดเร็ว

เตรียมพร้อมรับมือกับช่วงเวลาทองปลายปีนี้

เทศกาลออนไลน์เซล 11.11 และ 12.12 เป็นช่วงเทศกาลที่ร้านค้าอีคอมเมิร์ซสามารถทำรายได้สูง ถ้าหากผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะทำการโปรโมตในช่วงดังกล่าวแล้วนั้น การเตรียมพนักงานให้มีจำนวนที่พอสำหรับการรับมือต่อปริมาณการสั่งซื้อนั้นมีความสำคัญ นอกจากนี้พนักงานในส่วนของ Customer Service จะต้องสามารถคอยให้คำแนะนำและตอบคำถามลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพื่อทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาดีเยี่ยมซึ่งนำไปสู่การซื้อสินค้าในลำดับต่อไป และขาดไม่ได้เลยคือผู้จัดส่งจะต้องมีความพร้อมและสามารถรับมือกับการเตรียมสินค้าเพื่อส่งต่อให้กับไปรษณีย์ไทยหรือบริการส่งสินค้าต่อไป

นอกจากนี้ผู้ดูแลระบบออนไลน์อย่างโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาจะต้องสแตนด์บายในช่วงดังกล่าว เพื่อป้องกันการขัดข้องของระบบ และต้องมั่นใจว่าเว็บไซต์ของร้านค้าสามารถรองรับจำนวนผู้เข้าชม และให้บริการลูกค้าทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถจำหน่ายและจัดส่งสินค้าได้อย่างสมบูรณ์

ในช่วงปีที่ผ่านมา การใช้ Live Video ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการโปรโมตกิจกรรม หลาย ๆ ร้านค้าใหญ่และเล็ก ต่างโปรโมตกิจกรรม และกระตุ้นการขายให้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านทาง Live Video ทางโซเชียลมีเดียเช่น Facebook, Youtube กันมากขึ้น บางแบรนด์ก็มีการใช้ดาราและคนดังมาร่วมโปรโมตกิจกรรมอีกด้วย ยิ่งเป็นการกระจาย word of mouth ไปอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียแล้ว ช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็ยังคงมีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น Email Marketing, Onsite Content ก็ยังเป็นอีกหนึ่ง Point of Contact ที่สร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าเกี่ยวกับเทศกาลออนไลน์นี้ ดังนั้นเทศกาลใหญ่อย่าง 11.11 และ 12.12 นี้ ร้านค้าอีคอมเมิร์ซควรนำช่องทางต่าง ๆ ที่บริษัทมีออกมาใช้ให้เกิดการรับรู้สูงที่สุด.

]]>
1169746
ร้านค้าออนไลน์ต้องรู้ เผยคนไทยช้อปกระจาย “บ่าย 3” ก่อนเลิกงาน พีคสุด “อังคาร-พุธ” https://positioningmag.com/1159791 Sat, 03 Mar 2018 00:15:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1159791 บริษัท iPrice ซึ่งเป็นเว็บ meta search ในตลาดอีคอมเมิร์ซใน 6 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดทำการศึกษาสภาพตลาดอีคอมเมิร์ซภายใต้การศึกษาที่ชื่อว่า State of eCommerce” โดยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากร้านค้าพาร์ตเนอร์กว่า 1,000 ร้านค้า

จากการศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทย ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ควรเรียนรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์การขายเพื่อเพิ่มยอดการเข้าชมและสั่งซื้อ

คนใน 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อสินค้าออนไลน์สูงสุดช่วงเวลา 11.00 น. และคนไทยนิยมเบราซ์ก่อนเลิกงาน

คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมช้อปออนไลน์ในช่วงเวลาทำงาน กล่าวคือช่วงก่อนพักเที่ยง เวลาประมาณ 11.00 น. เป็นช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยคนเวียดนามช้อปออนไลน์สูงกว่าปกติกว่า 89% และคนไทยช้อปออนไลน์ในช่วงเวลาดังกล่าวสูงกว่าปกติ 53%

ช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมในการช้อปออนไลน์ของคนไทยสูงสุดเป็นช่วง 15.00 น. คือช่วงเตรียมตัวก่อนกลับบ้าน ซึ่งมีการสั่งซื้อสูงกว่าเวลาปกติถึง 69% ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคนไทยช้อปมากกว่าคนชาติอื่น ๆ ในอีก 5 ประเทศ

โดยยอดการสั่งซื้อจะลดต่ำลงในช่วงเวลา 16.00-19.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่คนเดินทางกลับบ้าน, พักผ่อนกับเพื่อนและครอบครัวหลังเลิกงาน

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่น่าสนใจคือคนไทยนิยมช้อปสินค้าออนไลน์สูงกว่าคนในประเทศอื่น ๆ ในช่วงกลางคืน เวลา 21.00 น. คนไทยช้อปสูงกว่าคนในประเทศอื่น ๆ โดยมียอดการสั่งซื้อสูงกว่าปกติ 34%

คนในทุกประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมซื้อสินค้าวันพุธ

หากใช้วันจันทร์เป็นค่าเฉลี่ย เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่วันพุธเป็นวันที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในสัปดาห์ สำหรับประเทศไทยวันอังคารและพุธมียอดสั่งซื้อมากกว่าวันจันทร์ 7-8% จากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดการณ์ได้ว่า คนไทยนิยมเบราซ์หาสินค้าออนไลน์ตั้งแต่วันจันทร์และตัดสินใจซื้อสินค้าวันอังคารและพุธ

วันพุธเป็นวันกลางสัปดาห์ เป็นหนึ่งวันที่คนไม่แอคทีฟกับการทำงาน เนื่องจากจะต้องพยายามดำเนินกิจกรรมของตนเองอย่างต่อเนื่องจากวันจันทร์ที่มีการถาถมของงาน ดังนั้นคนจึงแก้เบื่อในวันอังคารและพุธโดยการเบราซ์และซื้อสินค้าออนไลน์

จำนวนยอดสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันพฤหัสบดีไปจนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยยอดสั่งซื้อลดลงสูงสุดในวันเสาร์กว่า 22% เนื่องจากคนนิยมออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จึงทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลง อย่างไรก็ตามถึงแม้ยอดสั่งซื้อจะลดลง แต่คนยังให้ความสนใจในการค้นหาสินค้าผ่านทางมือถือในช่วงวันหยุด โดยเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นกว่า 10%

ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ในประเทศไทย ควรปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือการพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เหล่านี้ เพื่อเพิ่มยอดการเข้าชมและยอดการสั่งซื้อ หนึ่งตัวอย่างเช่นการนำเสนอโปรโมชั่นให้ถูกกับวันที่ได้รับความนิยม ถ้าหากร้านค้าต้องการเพิ่มยอดการสั่งซื้อ การนำเสนอโปรโมชั่นเช่นการจัดส่งฟรี หรือส่วนลดต่าง ๆ ในวันอังคารและวันพุธ ย่อมสามารถกระตุ้นพฤติกรรมให้คนไทยตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น.

การศึกษาฉบับเต็ม : State of eCommerce

]]>
1159791
ย้อนรอยอีคอมเมิร์ซไทย 2017 https://positioningmag.com/1153449 Sun, 14 Jan 2018 00:15:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1153449 e-Conomy Southeast Asia Spotlight 2017 รีพอร์ต เป็นการศึกษาล่าสุดโดยบริษัท Google และ Temasek เผยว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีขนาดกว่า 88.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันตลาดมีขนาดอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใช้เวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าคนในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 2 เท่า โดยใช้เวลาเฉลี่ย 140 นาทีต่อเดือนขณะที่คนอเมริกันใช้เวลาเพียง 80 นาทีต่อเดือนเท่านั้น

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทางบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซเฉพาะในประเทศไทยในด้านต่างๆ ดังนี้ ความสนใจของคนไทยต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซชื่อดัง, จัดอันดับแอพพลิเคชั่นในปี 2017, ร้านค้าออนไลน์ที่มีความโดดเด่นทางด้านโซเชียลมีเดีย และไฮไลต์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่จะส่งผลต่อเกมอีคอมเมิร์ซในปีหน้า โดยพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

งานออนไลน์เซล 12.12 คนไทยให้ความสนใจพุ่งแซงหน้างานออนไลน์เซล 11.11

เพิ่งจบไปหมาดๆ กับงานออนไลน์เซลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้อย่าง 11.11 และ 12.12 คงไม่มีใครคาดคิดว่างานออนไลน์เซล 12.12 จะได้รับความสนใจจากคนไทยมากกว่า 11.11 เสียอีก เนื่องจากงาน 11.11 ได้รับการโปรโมตอย่างล้นหลามผ่านทางโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวต่างๆ ที่สำคัญงาน 11.11 ยังนำทัพมาโดยเว็บออนไลน์ชื่อดังอย่างของจีนอีกด้วย

จากการศึกษา Google Trends พบว่า งานเซลสินค้า 12.12 ของ Lazada ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นพุ่งนำ 11.11 อย่างไม่น่าเชื่อ โดยดัชนี search interest index ที่เป็นตัวชี้ความสนใจของคนไทยต่อ Lazada วันที่ 12 ธันวาคมนั้นสูงถึง100 คะแนนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบปี ส่วนดัชนี search interest index ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนั้นอยู่ที่ 93 คะแนน

งานออนไลน์เซลกระตุ้นความสนใจของคนไทยต่อการช้อปออนไลน์

ในปี 2017 ที่ผ่านมายังมีเทศกาลออนไลน์เซลที่ร้านค้าชื่อดังนำมาใช้ในการกระตุ้นยอดขายกันอีกมากมาย เช่น งาน 5th Lazada Birthday Sale ซึ่งจัดขึ้นทุกปีและปีนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้วโดยปีนี้จัดขึ้นตรงกับวันที่ 21-23 มีนาคมทำให้มีการค้นหาชื่อร้าน Lazada ในช่วงเทศกาลดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ

เทศกาล Carnival Summer Sale เป็นงานที่ทางห้าง Central จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายระหว่างวันที่ 1-12 เมษายนที่ห้าง Central World นั้น ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินเท้าเข้าไปช้อปกระจายกันในห้างแต่ยังพบว่าคนในโลกออนไลน์ให้ความสนใจต่อร้านค้า CentralOnline ในช่วงนี้เช่นกัน โดยดัชนี search interest index ของร้านค้า Central Online ในช่วงต้นเดือนเมษายนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 18 คะแนนเท่านั้น

อีกหนึ่งร้านค้าออนไลน์ชื่อดังอย่าง Shopee ก็ได้มีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายเช่นกัน ในวันที่ 9 เดือนกันยายน ภายใต้แคมเปญ 9.9 Mobile Shopping Day ซึ่งนำดาราดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ และ อุรัสยา เสปอร์บันด์มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Shopee เพื่อเรียกความสนใจจากเทศกาลออนไลน์ดังกล่าว คนไทยหันมาให้ความสนใจร้านค้า Shopee มากขึ้น เห็นได้จาก search interest index ในเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา

5 สุดยอดแอพฯ แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ประจำปี 2017

ในปี 2017 พบว่า 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากสมาร์ทโฟน ช่วยให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ในโลกอีคอมเมิร์ซที่เล็งเห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ได้หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าออนไลน์เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต

จากการศึกษาพบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา แอพฯ สำหรับการช้อปออนไลน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างเข้มข้น โดยผลการศึกษาแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ App Store และ Google Play

Shopee ขึ้นนำ Lazada ใน App Store

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่าง Lazada และ Shopee โดย Shopee เป็นร้านค้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแอพฯ ให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภคสามารถขึ้นมาเป็นที่หนึ่งบน App Store ตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปีนี้ ทิ้ง Lazada ให้เป็นรองอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้นำตลาดอย่าง Lazada ยังคงครองแชมป์ใน Google Play อย่างแข็งแกร่ง และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าในปี 2018 นี้ Shopee จะงัดกลยุทธ์ไหนออกมาโค่นแชมป์ลง

Chilindo ขึ้นชิงตำแหน่งอย่างต่อเนื่อ

ร้านขายสินค้าออนไลน์ Chilindo ที่ขายสินค้าในรูปแบบการประมูล ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่จับตามองในสื่อต่างๆ มากนัก แต่จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า Chilindo เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกรายหนึ่ง โดยมีการไต่ตำแหน่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั้งใน App Store และ Google Play โดยในปัจจุบัน Chilindo ครองตำแหน่งอยู่อันดับ3 ในทั้งสองแพลตฟอร์ม

Aliexpress คู่แข่งรายใหม่ที่ค่อนข้างน่ากลัว

คนไทยอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อแอพฯ หรือเว็บไซต์ Aliexpress กันมากนัก แต่ถ้าหากพูดถึง Alibaba ที่เป็นบริษัทแม่ของ Aliexpress เชื่อว่าหลายๆ คนต้องรู้จักแน่นอน โดยเจ้าแอพฯ Aliexpress เป็นเสมือนม้ามืดที่เข้าตำแหน่งที่ 5 ทั้งที่แอพฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจาก Aliexpress มีเวอร์ชั่นภาษาไทยจึงทำให้ง่ายต่อการช้อปสินค้าของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าจากประเทศจีน จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปีหน้านี้ว่า Aliexpress จะสามารถขึ้นครองใจคนไทยได้ถึงตำแหน่งไหน

คู่แข่งที่น่าสนใจ

ร้าน Pomelo ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าประเภทแฟชั่นนั้นได้ติดอันดับ 4 ในไตรมาสที่สามของ App Store เนื่องจาก Pomelo เพิ่งเข้ามาพัฒนาแอพฯอย่างจริงจังจึงทำให้ Pomelo สามารถติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องพ่ายให้กับเจ้าเก๋าอย่าง Konvy และ Aliexpress ในไตรมาสสุดท้ายของปี

อีกหนึ่งรายที่น่าจับตามองก็คือ 11 Street ที่มีการอัดเงินทุนโปรโมตแบรนด์อย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนแอพฯ ติดอันดับที่ 3 ทั้งใน App Store และ Google Play แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้น 11 Street ก็ต้องหล่นจากท็อป 5 ใน App Store และลงเป็นอันดับที่ 4 บน Google Play

5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มียอดโซเชียลมีเดีย (Facebook) สูงสุดประจำปี 2017

จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดียพบว่า ในปี 2017 มีรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่ติดอันดับยอดผู้ติดตามบน Facebook สูงสุดดังต่อไปนี้

อันดับที่หนึ่งคงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ที่มีการใช้กลยุทธ์แบบ regional strategy คือการรวมเพจของทุกประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี Lazada Thailand ก็ยังเป็นที่หนึ่งนำแฟนเพจร้านช้อปปิ้งออนไลน์อื่นๆ ในประเทศไทย สาเหตุมาจาก Lazada นั้นใช้ Facebook เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดขายสินค้า, การโปรโมตเทศกาลออนไลน์ต่างๆ, การนำเสนอส่วนลดและสินค้าลดราคาแบบ Flash Sale นี่จึงเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดคนให้มากดไลค์ให้เพจ Lazada เพื่อติดตามดีลดีๆ นั่นเอง

ส่วนแฟนเพจของ Chilindo นั้นมีการโปรโมตที่แอ็กทีฟกว่าเพจอื่นๆ กล่าวคือมีการโพสต์รูปภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรือการใช้เกมสร้าง engagement กับลูกเพจอีกทั้ง Chilindo ยังเข้าใจถึงความตลกและขี้เล่นของคนไทย ในปีที่ผ่านมาจึงมีโพสต์ขำๆ มาให้ลูกเพจได้ร่วมแสดงความเห็นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งแฟนเพจที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ We Mall ซึ่งมีการสร้างจุดเด่นเป็นร้านขายสินค้าออนไลน์แบรนด์เนมแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวคือ We Mall จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ที่ชื่นชอบแบรนด์เนม และความสะดวกสบายในโลกยุคดิจิทัลด้วยรูปแบบการโปรโมตสินค้าแบรนด์เนมอย่างต่อเนื่องบน Facebook จึงทำให้คนไทยเชื่อว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพจาก We Mall

ไฮไลต์เหตุการณ์ประจำปี 2017

อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นทุกปี และในปี 2017 ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เป็นไฮไลต์เด่น ๆ มากมาย ที่ทำให้ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยไปข้างหน้า

การขยายตัวของ Central

เป็นข่าวครึกโครมจนสะเทือนวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเอเชียกับการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์เพราะ JD.com ก็ตั้งเป้าขยายอนาเขตให้ครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนเช่นกัน แต่คงต้องผ่านคู่แข่งอย่าง Lazada ที่มีเงินสนับสนุนจาก Alibaba ก่อน นอกจากการผนึกกำลังกับ JD.com แล้ว ปี 2017 ยังถือเป็นปีที่ Central ขยายธุรกิจอีกผ่านหลายข่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ Zalora แล้วเปลี่ยนเป็น Looksi ในไทย แถมยังเป็นแหล่งเงินทุนกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Pomelo ร้านค้าแฟชั่นที่หลายคนรู้จัก

ETDA สนับสนุนคนไทยโตด้วย E-Commerce

ETDA หรือ สพธอ จัดงาน ‘Online! Shall We Go… วิ่งให้ทันโอกาส เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไม่รอใคร’ ขึ้นเมื่อวันที่ 24-26 พฤศจิกายน ภายในงานมีการให้ความรู้ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อาทิ การจัดบูทรวมบริการอีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างคอนเนคชั่น และนำไอเดียไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง, สัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งไทย-เทศ พร้อมเทรนด์การตลาดรูปแบบใหม่ และ Work Shop เทคนิคการขายที่แฝงกลเม็ดเคล็ดลับดีๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง กิจกรรมทั้งหมดนี้ทาง ETDA เพื่อเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยแข็งแกร่ง และเจริญเติบโตกว่าเดิม

11 Street เจาะตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ

หลังจากประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี และอินโดนีเซีย ล่าสุด 11 Street ได้เลือกประเทศไทยเป็นสาขาที่ 5 อย่างเต็มตัว พร้อมแผนเปิด 11 Street Campus เพื่อช่วยเหลือควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ค้าด้วยบริการด้านการเรียนรู้และการอบรมผ่านบริการต่างๆ เช่น สตูดิโอถ่ายภาพสินค้าที่มีเทคโนโลยีครบครัน

การที่11 Street เลือกประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ 11 Street ต้องแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่มีเงินสนับสนุนมากเห็นได้ชัดจากการที่ผู้บริหารเริ่มวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมวางแผนโปรโมตอย่างต่อเนื่อง แต่จากประสบการณ์ที่สร้างสมมานานในต่างแดน คาดว่าคงไม่ยากเกินกำลังของ 11 Street ถึงแม้จะมีข่าว SK Planet บริษัทแม่ของ 11 Street ถอนธุรกิจจากอินโดนีเซียโดยการ Joint Venture กว่า 50% กับบริษัท Elevenia และอาจตามมาเลิกกิจการ 11 Street ในไทย แต่มันก็เป็นข่าวลือ เพราะทาง SK Planet ออกมาแถลงแล้วว่าไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต จึงไม่มีแพลนถอนทุนออกแน่นอนและยังมุ่งร่วมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าในประเทศไทยต่อไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา 11 Street เพิ่งได้มีการจับมือกับ True Shopping ร้านขายของใช้ภายในบ้านชื่อดังในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

คุมเข้มภาษี e-Business แต่ไม่เพิ่มภาษีอีคอมเมิร์ซ

แม้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจะไม่ต้องเสียภาษีเทียบเท่ากับการค้าทั่วไป แต่กลับมีช่องโหว่จนทำให้เกิดความอยุติธรรม ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อความเท่าเทียมรัฐบาลจึงมีการถกเถียง และออกนโยบายให้มีการเรียกเก็บภาษี e-Business เพื่อกันปัญหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการค้าผูกขาดในไทย ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2018 คงได้เห็นข้อกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องรอขณะกรรมการสรุปให้ทราบอีกครั้ง

และปี 2017 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย โดยมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 9.86%  ยิ่งถ้าเจ้าไหนทำการตลาดแบบ Micro-Moments ที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าที่อยากซื้อสินค้าทันที ยิ่งจับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อยู่หมัด แต่ใจความสำคัญของการช้อปออนไลน์ไม่ได้อยู่ที่สินค้าเพียงอย่างเดียว ระบบ Delivery และ e-payment ก็สำคัญ ดังนั้นในปี 2018 ที่จะถึงจึงเป็นอีกปีที่น่าจับตามองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด และมีผู้แข่งขันหรือบริการใดที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยแข็งแกร่งขึ้นจนเติบโตเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ภายในปี 2025 นี้


ขั้นตอนการศึกษา

เก็บข้อมูลจาก Google Trends ประจำปี พ.ศ. 2560 โดยใช้คีย์เวิร์ดเป็น 5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ได้รับการค้นหามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งใช้ค่า Search Interest Index เป็นเกณฑ์ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงความสนใจในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซนั้นๆ ใน Google ซึ่ง 100 หมายถึงมีค่าความสนใจสูงสุด และ 0 คือมีค่าความสนใจต่ำที่สุด

การจัดอันดับแอพฯ เก็บข้อมูลจาก App Annie ซึ่งเป็นเว็บไซต์ผู้นำด้านข้อมูลทางการตลาดและอินไซต์ โดยเก็บอันดับของแต่ละแอพพลิเคชั่นทุกวันจันทร์ตลอดทั้งปีและนำมาหาค่าเฉลี่ย

การจัดอันดับ Facebook Page เก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดีย รายชื่อแฟนเพจที่ได้รับการจัดอันดับเป็นแฟนเพจในหมวดหมู่ e-shop ในประเทศไทยเท่านั้นและเป็นร้านค้าประเภทที่มีการขายสินค้าออนไลน์หลายหมวดหมู่ กล่าวคือ ไม่รวมร้านค้าประเภทแบรนด์เนม โดยเก็บข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

]]>
1153449