ที่ทำงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 02 Jan 2024 05:08:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 6 เทรนด์ที่ผู้นำควรจับตาเพื่อบริหาร “ที่ทำงาน” ในปี 2024 (ข้อมูลจาก Gallup) https://positioningmag.com/1457497 Fri, 29 Dec 2023 15:49:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457497 Gallup สำรวจความคิดเห็นพนักงานและผู้นำองค์กรในปี 2023 และพบเทรนด์ที่น่าสนใจ 6 หัวข้อที่จะส่งผลต่อการบริหาร “ที่ทำงาน” ในปี 2024 ที่ผู้นำควรให้ความสนใจและเปลี่ยนทิศทางการบริหารบุคลากรให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

การสำรวจของ Gallup พบว่า ปี 2024 จะเป็นปีแห่งการ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์ของพนักงานในที่ทำงาน

ความเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานเริ่มขึ้นเพราะโรคระบาด หากย้อนไปในปี 2019 มีถึง 60% ของพนักงานที่มาทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลาทุกวัน (ออนไซต์) แต่มาถึงปี 2023 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 20%

อย่างไรก็ตาม สถิตินี้วัดผลเฉพาะตำแหน่งงานที่สามารถยืดหยุ่นให้ทำงานออนไลน์จากบ้านได้ โดยในตลาดงานสหรัฐฯ นั้น Gallup พบว่ามีถึง 5 ใน 10 ของกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถปรับไปทำงานออนไลน์จากบ้านหรือว่าทำงานแบบไฮบริดได้เลย

การบริหารพนักงานที่ทำงานจากต่างสถานที่กันให้สร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กับหัวหน้างาน ผู้นำองค์กร กับตัวองค์กรเอง เหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพราะความต้องการของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรกำลังเปลี่ยนอีกครั้งหลังโรคระบาดสงบลง

โดย Gallup สรุปเทรนด์หลักออกมา 6 หัวข้อที่มองว่าเป็นเสียงสะท้อนจากพนักงานที่ผู้นำควรใส่ใจ เพื่อนำไปปรับกลยุทธ์การบริหารที่ทำงานและบุคลากรในปี 2024 ต่อไป

 

1.สถิติ “ความเครียด” ของพนักงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

รายงาน State of the Global Workplace ของ Gallup พบว่า พนักงานทั่วโลกโดยเฉลี่ยยังคงมี “ความเครียด” ในระดับสูงอยู่เหมือนเดิมนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดขึ้น

โดยเมื่อปี 2022 ผู้ถูกสำรวจ 44% ตอบว่ารู้สึกเครียดมาก เทียบกับปี 2019 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 38%

ความเครียดเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญว่าคนเรารู้สึกอยู่ดีมีสุขทั้งในที่ทำงานและในบ้านหรือไม่ และจะส่งผลกระทบทั้งต่อประสิทธิภาพการทำงานและอายุที่ยืนยาวของพนักงานด้วย เรื่องความเครียดจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะต้องใส่ใจต่อไปในปีหน้า

 

2.ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ที่ทำงาน

เมื่อถามว่า “ภารกิจหรือจุดประสงค์ขององค์กรทำให้คุณรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่ของตนเองมีความสำคัญหรือไม่” สัดส่วนของผู้ที่ตอบว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แยกตามลักษณะการทำงานมีดังนี้

ทำงานออนไลน์ทั้งหมด – 28%
ทำงานออนไซต์ทั้งหมด – 33%
ทำงานแบบไฮบริด – 35%

ภาพรวมของความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญกับองค์กรนั้นตกต่ำลงมาตั้งแต่ปี 2022 และค่อยๆ ดีขึ้นบ้างตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2023

ความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมกับองค์กรของพนักงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้พนักงานมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ‘เกินตำแหน่ง’ ไม่ได้ทำแค่เรื่องพื้นฐานประจำวันแต่จะพยายามทำให้ยอดเยี่ยมที่สุด รวมถึงสร้างความภักดีต่อองค์กร นำมาสู่การดึงคนให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น

 

3.ความมั่นใจในผู้นำองค์กรกำลังไต่ระดับขึ้น

ความมั่นใจในตัวผู้นำองค์กรต่ำลงทันทีที่เกิดโรคระบาด และค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ขึ้นปี 2023

แน่นอนว่าความยากลำบากและดิสรัปชันที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ได้สร้างอุปสรรคต่อผู้นำองค์กร และทำให้พนักงานไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้นำองค์กรสื่อสารให้ชัดเจน สนับสนุนและนำทาง สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมั่นใจในอนาคต ก็จะทำให้พนักงานเต็มใจเชื่อมั่นในตัวผู้นำได้

 

4.ระดับหัวหน้างานตกอยู่ในสภาวะบีบคั้น

Gallup พบว่าในปี 2023 พนักงานใน “ระดับหัวหน้างาน” มีแนวโน้มมากกว่าพนักงานทั่วไปที่จะรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร รู้สึกหมดไฟ และอยู่ระหว่างหางานใหม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่า “องค์กรไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของฉัน” และ “ฉันพยายามสร้างสมดุลชีวิตกับการงานอย่างยากลำบาก”

โดยผลสำรวจพบว่ามีเพียง 22% ของระดับหัวหน้างานที่คิดว่าองค์กรมีความใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน และมีถึง 55% ที่กำลังหางานใหม่

ความรู้สึกบีบคั้นของระดับหัวหน้างานคือข่าวร้ายขององค์กร เพราะความรู้สึกนี้จะถูกส่งต่อไปให้ลูกน้องในทีม หัวหน้างานคือคนสำคัญในการสร้างความร่วมมือร่วมใจในการทำงานและประสิทธิภาพที่ออกมา หัวหน้างานมีส่วนถึง 70% ในการสร้างความร่วมมือในหมู่ลูกน้อง

สภาวะบีบคั้นของหัวหน้างานที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาระงานที่สูงขึ้นและการต้องปรับตัวตามโครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนใหม่หลายครั้ง Gallup พบว่าหัวหน้างานปัจจุบันนี้ต้องทำงานมากขึ้นแต่ได้งบและคนในทีมน้อยลงกว่าเดิม หัวหน้างานกลายเป็นคนที่ต้องติดอยู่ตรงกลางระหว่างทิศทางใหม่ที่ถูกส่งมาจากระดับบริหารขององค์กรกับการต้องมาบริหารลูกน้องให้เป็นไปตามคาดหวัง

หัวหน้างานจะเป็นคนที่ต้องการแรงสนับสนุนอย่างมากที่สุดในสภาวะแวดล้อมของที่ทำงานแบบใหม่ในปีหน้า

 

5.องค์กร “ต้อง” มีกลยุทธ์บริหารการทำงานแบบ “ไฮบริด” ให้ได้ในระยะยาว

ตั้งแต่กลางปี 2022 เทรนด์ “สถานที่ปฏิบัติงาน” ของพนักงานในสหรัฐฯ เริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น นั่นหมายความว่าพนักงานเริ่มจะเห็นว่าการทำงานแบบ “ไฮบริด” เป็นวัตรปฏิบัติปกติของการทำงานไปแล้ว โดยพนักงานในสหรัฐฯ​ มีสัดส่วนที่ “ชื่นชอบ” สถานที่ปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

52% ชอบการทำงานแบบไฮบริด
29% ชอบการทำงานแบบออนไลน์ทั้งหมด
20% ชอบการทำงานแบบออนไซต์ทั้งหมด

เมื่อแนวโน้มของพนักงานในอนาคตก็จะยังต้องการทำงานแบบไฮบริดเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องทำให้การทำงานไฮบริดมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้คนในทีมร่วมมือกันทำงานได้ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงระบบการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน และเทรนนิ่งระดับหัวหน้างานให้ฝึกลูกน้องให้ทำงานแบบไฮบริดได้

 

6.ฝ่าอุปสรรคการทำงานแบบไฮบริด

การทำงานแบบไฮบริดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือพนักงานจะรู้สึกอยู่ดีมีสุขมากกว่า ลดความเสี่ยงในการลาออกมากกว่าพนักงานทั้งแบบที่ให้มาทำงานออนไซต์ทั้งหมดและแบบทำงานออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงองค์กรจะมีโอกาสจ้างทาเลนต์เข้ามาทำงานได้มากกว่า

แน่นอนว่าข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะการทำงานจากต่างสถานที่กันบ่อยๆ และอาจจะมีตารางเข้างานต่างกัน ทำให้เกิดอุปสรรคการทำงานขึ้น

ฝั่งพนักงานทั่วไปมีความคิดเห็นว่าความท้าทายหลักในการทำงานไฮบริด เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์และทรัพยากรในที่ทำงานยุ่งยากและมีให้น้อยลงกว่าไปทำงานออนไซต์, รู้สึกซึมซับวัฒนธรรมองค์กรได้น้อยลง, ความร่วมมือทำงานระหว่างกันในทีมมีน้อยลง เป็นต้น

ส่วนฝั่งผู้นำและระดับหัวหน้างานก็รู้สึกว่าการทำงานไฮบริดมีข้อเสีย เช่น การสื่อสารในที่ทำงานลดลง, ความร่วมมือกันในการทำงานลดลง, สร้างผลเสียต่อวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น

Gallup จึงแนะนำว่า บริษัทต้องมีแผนที่จะทำงานแบบไฮบริดให้ได้ดีในระยะยาว ต้องวางกลยุทธ์และทุ่มเต็มที่ให้การทำงานแบบไฮบริดเกิดขึ้น ต้องเอาชนะอุปสรรคด้านการสื่อสาร การร่วมมือกันในทีม และสร้างความสัมพันธ์ในทีมที่จะทำให้วัฒนธรรมองค์กรยังคงแข็งแกร่งให้ได้

Source

 

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ 

]]>
1457497
4 รูปแบบ “ออฟฟิศ” ในยุคการทำงานแบบ “ไฮบริด” ที่เราจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ https://positioningmag.com/1365866 Wed, 08 Dec 2021 09:46:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365866 “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” มองภาพอนาคตอันใกล้ของ “ออฟฟิศ” ในโลกยุคหลัง COVID-19 ที่คนจะทำงานแบบ “ไฮบริด” มากขึ้น ทำให้การดีไซน์ออฟฟิศและการร่วมงานกันเปลี่ยนแปลงไปเป็น 4 รูปแบบเหล่านี้

ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ในเครือ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Present (?) Perfect (?) Continuous (?)” จัดโดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

หัวข้อหนึ่งที่ ดร.ภัณณินกล่าวถึงและน่าสนใจ คือการจัดการ “ออฟฟิศ” รูปแบบใหม่หลังผ่านโรคระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของโรคบีบให้การทำงานต้องจัดเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานออนไลน์ 100% หรือแบบ “ไฮบริด” มีทั้งออนไซต์และออนไลน์ เพื่อให้คนพบปะกันให้น้อยที่สุด

ถึงแม้ว่าโรคระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่บริษัท 51% พบว่าการทำงานแบบออนไลน์หรือไฮบริดในช่วงก่อนนี้ ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของงานลง ซึ่งทำให้เป็นไปได้ว่าหลายบริษัทจะเปลี่ยนมาทำงานแบบออนไลน์หรือไฮบริดถาวร

ข้อมูลที่ดร.ภัณณินรวบรวมจาก การ์ทเนอร์ และ Boston Consulting Group สรุปข้อมูลรูปแบบ “ออฟฟิศ” ยุคใหม่เป็น 4 แบบ ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้

1.Clubhouse
(Photo: Shutterstock)

รูปแบบออฟฟิศสำหรับการทำงานแบบไฮบริด พนักงานสามารถไปที่ออฟฟิศเฉพาะเมื่อต้องการการทำงานร่วมกันเป็นทีม ส่วนงานที่ทำคนเดียวได้สามารถอยู่ทำได้ที่บ้าน

ทำให้ออฟฟิศจะออกแบบใหม่ให้เป็นเหมือน ‘social hub’ เน้นส่งเสริมการทำงานเป็นทีม พูดคุย สานสัมพันธ์กัน แต่ละออฟฟิศมีความเป็นตัวเองสูงขึ้น เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกหรือฟังก์ชันจะแสดงออกถึงวัฒนธรรมขององค์กร

2.Activity-based Working

รูปแบบออฟฟิศที่ยังเน้นคนทำงานแบบเข้าออฟฟิศเป็นส่วนมาก แต่จะจัดออฟฟิศสมัยใหม่คือไม่มีที่นั่งตายตัว ทุกที่นั่งเป็น hot-desk นั่งตรงไหนก็ได้ และแยกโซนตามกิจกรรมที่ต้องทำในออฟฟิศ เช่น โซนที่นั่งทำงาน โซนห้องคุยโทรศัพท์ โซนห้องประชุม โซนนั่งเล่นพักผ่อน

การดีไซน์แบบนี้จะทำให้ออฟฟิศลดพื้นที่โต๊ะทำงานลง พนักงาน 10 คนอาจจะมีโต๊ะเพียงแค่ 5 ตัวก็พอ (เพราะระหว่างนั้นพนักงานคนอื่นก็หมุนเวียนไปอยู่ในจุดอื่น เช่น ห้องประชุม) ทำให้ต้นทุนการเช่าลดลง

3.Hub and Spoke
(Photo: Shutterstock)

คนตั้งคำถามมากที่สุดเกี่ยวกับ “ทำเล” ของออฟฟิศยุคใหม่ว่ายังจำเป็นไหมที่ออฟฟิศควรตั้งอยู่กลางซีบีดี ซึ่งแนวคิด ณ ตอนนี้มองว่าอาจจะยังมีอยู่บ้างเพราะคนรุ่นใหม่ก็ยังต้องการไปพื้นที่กลางเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีแหล่งแฮงเอาต์ไว้ไปต่อกับเพื่อนๆ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทุกวันเพราะทำงานออนไลน์ได้แล้ว

ทำให้เกิดแนวคิดการกระจายออฟฟิศไว้หลายจุด มีออฟฟิศเล็กๆ ตามชานเมืองคู่กับออฟฟิศกลางเมืองด้วย ไว้สำหรับการนัดประชุมแบบเจอหน้ากันที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปถึงกลางเมือง

4.Fully Virtual

รูปแบบนี้คือการทำงานแบบออนไลน์ 100% พนักงานทุกคนทำงานจากบ้านได้ ไม่มีออฟฟิศถาวร ซึ่งทำให้บริษัทลดต้นทุนค่าเช่าออฟฟิศได้ทั้งหมด

บริษัทแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมและวิธีทำงานที่เหมาะกับรูปแบบออฟฟิศแต่ละแบบแตกต่างกันไป รวมถึงการเลือกแบบออฟฟิศก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันด้วย

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก Beaux-Arts Group บริษัทสถาปนิกจากแทมปา ฟลอริดา พูดถึงการออกแบบสไตล์ Clubhouse ว่า ข้อดีคือทำให้ออฟฟิศมักจะเป็นแบบ open-plan เปิดโล่งสว่างไสว ทำให้พนักงานรู้สึกดี และทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงาน ลดความต่างด้านยศตำแหน่งได้จริง แต่ข้อเสียคือกลายเป็นว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลง 15-28% และการพูดคุยแบบตัวต่อตัวยากขึ้นจนต้องคุยผ่านอีเมลแทน

รูปแบบออฟฟิศสมัยใหม่จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ต้องจับตามองจากนี้!

]]>
1365866
เตรียมตัวก่อนกลับออฟฟิศ : อย่าปล่อยให้พนักงานเลือกวัน Work from Home เอง https://positioningmag.com/1334258 Fri, 28 May 2021 06:24:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334258 หลายบริษัทเตรียมจัดแผน Work from Home ระยะยาว แต่รายละเอียดการจัดการควรเป็นอย่างไร? นักวิจัยจากสแตนฟอร์ดพบว่าบริษัทไม่ควรให้พนักงานเลือกวันทำงานจากบ้านเองได้โดยอิสระ แต่ควรจะเคาะเลือกวันอยู่บ้านให้ตรงกันทั้งทีม ด้วยเหตุผลเหล่านี้

หลังผ่านพ้นโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าหลายบริษัทจะเปลี่ยนมาทำงานแบบ “ไฮบริด” อนุญาตให้พนักงาน Work from Home หรือทำงานจากบ้านได้เป็นบางวัน

งานวิจัยจาก “นิโคลัส บลูม” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับ โฮเซ่ มาเรีย บาร์เรโร่ และ สตีเว่น เจ. เดวิส นักวิจัยจากสถาบันเดียวกัน พบว่า 70% ของบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่อย่าง Google, Citi, HSBC มีแผนจะปรับแผนการทำงานเป็นรูปแบบไฮบริด

แต่การปรับแผนนี้ยังมีคำถามที่สำคัญรออยู่คือ “พนักงานควรมีสิทธิเลือกวิถีการทำงานได้มากแค่ไหน?”

จากการสำรวจของทีมวิจัยนี้ในหมู่ชาวอเมริกัน 30,000 คน เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 หลังโรคระบาดเริ่มต้นขึ้น พบว่าความเห็นของคนอเมริกันต่อการ Work from Home มีหลากหลายมาก

(Photo : Shutterstock)

32% ของพนักงานที่สำรวจ “ไม่ต้องการ” กลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกเลย ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักเป็นพนักงานที่มีลูกแล้ว อาศัยอยู่ในบ้านชานเมือง ทำให้การเดินทางไปกลับบ้านกับที่ทำงานเป็นเรื่องเหนื่อยใจและกาย แต่ในทางกลับกัน มีพนักงานถึง 21% ที่บอกว่า พวกเขาไม่ต้องการจะ Work from Home อีกเลย ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะเป็นพนักงานที่ยังโสด หรือพนักงานที่ลูกหลานโตจนออกจากบ้านไปหมดแล้ว และมักจะอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ใจกลางเมือง

ส่วนอีก 47% ที่เหลือคือพนักงานที่ “อยู่ตรงกลาง” คือมองว่าต้องการจะ Work from Home 1-4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานจากบ้าน 2-3 วันต่อสัปดาห์

 

ให้พนักงานเลือกเองแบบอิสระ…ใช่ว่าจะดีเสมอไป

ทีมวิจัยนี้จึงสำรวจความเห็นของระดับผู้จัดการว่าจะจัดการทำงานอย่างไร โดยพบว่าผู้จัดการจำนวนมากเอียงไปทางการยินยอมให้พนักงาน “เลือกเองได้ว่าจะทำงานแบบไหน ตราบใดที่งานเสร็จเรียบร้อย”

แต่ก็มีผู้จัดการอีกมากที่มีข้อกังวล หากอนุญาตให้พนักงานเลือกเองแบบอิสระ ข้อกังวลหลัก 2 ข้อนั้นคือ

หนึ่ง ความเครียดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในการบริหารงานระหว่างกลุ่มพนักงานที่อยู่ในออฟฟิศกับที่อยู่ที่บ้าน ตัวอย่างเช่น เมื่อประชุมรวมทั้งคนที่อยู่ออฟฟิศและอยู่บ้าน พนักงานที่อยู่บ้านมักจะเห็นคนในออฟฟิศมองหน้ากันหรือแอบกระซิบบางอย่างกันในห้องประชุม แม้บริษัทจะเปลี่ยนมาประชุมแบบให้ทุกคนออนไลน์จากโต๊ะของตัวเองเพื่อให้การพูดคุยทุกอย่างได้ยินกันชัดเจน แต่สุดท้ายพนักงานในออฟฟิศก็ยังมีโอกาสไปคุยกันแบบ ‘หลังไมค์’ ในโถงทางเดินบริษัท หรือตอนไปชงกาแฟอยู่ดี

(Photo : Shutterstock)

สอง คือความเสี่ยงต่อความหลากหลายในที่ทำงาน เพราะหากเลือกได้อย่างอิสระ กลุ่มคนที่มักจะเลือกทำงานจากบ้านแบบถาวรคือ “ผู้หญิงที่มีลูกเล็ก” ซึ่งมีแนวโน้มจะเลือกทำงานจากบ้านถาวรมากกว่าผู้ชายถึง 50%

ปัญหาที่เกิดกับตัวพนักงานจากการ Work from Home ตลอดเวลาคือ บลูมเคยทำงานวิจัยมาแล้วเมื่อปี 2014 โดยวิจัยในองค์กรระดับนานาชาติในประเทศจีน พบว่า กลุ่มที่เลือกทำงานระยะไกล 4 วันต่อสัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศทุกวัน เมื่อผ่านไป 21 เดือน กลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศทุกวันมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งสูงกว่าอีกกลุ่มถึง 50% โดยคาดว่าเกิดจากกลุ่มที่ WFH ถูกมองข้ามจากการไม่มีส่วนร่วมกับคนในออฟฟิศ

ดังนั้น ปัญหาความหลากหลายจะเกิดขึ้นในออฟฟิศในระยะยาวถ้าให้พนักงานเลือกจัดตารางตัวเองแบบอิสระ เพราะเป็นไปได้ว่ากลุ่ม “ชายโสดวัยหนุ่ม” มักจะเลือกเข้าออฟฟิศทุกวันและอาจจะกลายเป็นกลุ่มนำในออฟฟิศ ขณะที่พนักงานที่มีลูกแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิง มักจะเลือก WFH หลายวันหรือทุกวัน และทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับการเลื่อนขั้น จนความหลากหลายในกลุ่มระดับบริหารหายไป

 

สรุป : การ WFH วันไหนควรผ่านการควบคุม

บลูมจึงเปลี่ยนข้อสรุปจากการวิจัยว่า พนักงานไม่ควรเลือก WFH ได้อย่างอิสระ แต่ผู้จัดการควรจะระบุวันที่อนุญาตให้ WFH สำหรับทุกคน เช่น สมมติว่าผู้จัดการเลือกให้ทีม A สามารถ WFH ได้ในวันพุธและวันศุกร์ วันอื่นๆ ทุกคนจะต้องมาที่บริษัท ยกเว้นกลุ่มพนักงานใหม่อาจจะให้เข้าออฟฟิศ 4 วันหรือทุกวัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มพนักงานเข้าใหม่ด้วยกันก่อน ซึ่งจะสร้างความเป็นปึกแผ่นและทำงานเป็นทีมได้ง่ายกว่า

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมองประโยชน์ของการ WFH ว่าเป็นการลดภาระค่าเช่าออฟฟิศ ทำให้จัดออฟฟิศขนาดเล็กลงได้ ดังนั้น แต่ละทีมก็ไม่จำเป็นต้องมาออฟฟิศพร้อมกันและอยู่บ้านพร้อมกัน ควรจะสลับกันมา แต่ต้องระวังให้ทีมที่ต้องทำงานร่วมกันควรจะต้องมีวันที่เข้าออฟฟิศพร้อมกันอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

โรคระบาดนั้นเข้ามาปฏิวัติวิถีการทำงาน แต่จะออกแบบโมเดลอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้สร้างประสิทธิผลให้กับองค์กร และสร้างความสุขให้กับพนักงานด้วย ผู้นำองค์กรจึงต้องระมัดระวังในการออกแบบให้ดีที่สุด

Source

]]>
1334258
HR ไม่ใช่ผู้คุมกฎ…6 กลยุทธ์ผสานพนักงาน ‘ต่างวัย’ หลากหลาย-เท่าเทียม ฉบับ ‘ดิอาจิโอ’ https://positioningmag.com/1334079 Thu, 27 May 2021 13:16:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334079 สังคมการทำงานยุคใหม่ เปลี่ยนไปมากมายในช่วงที่ผ่านมา องค์กรไม่สามารถนำกลยุทธ์เดิมๆ กฎระเบียบเดิมๆ มากำหนดวิถีการทำงานของพนักงานได้อีกต่อไป

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ เทรนด์ทำงานได้ทุกที่ ‘Remote Working’ ทำให้ออฟฟิศไม่ใช่เรื่องจำเป็นสูงสุด

เหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องปรับตัว เปลี่ยนเเปลงการสื่อสารกับพนักงาน มาคิดกันใหม่ว่า ทำอย่างไรจะให้พนักงานมีความสุขเเละมีประสิทธิภาพ หาจุดสมดุลของความหลากหลาย บริหารคนต่างวัยให้มีเป้าหมายร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้

Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับเจน รุ่งกานต์ รตนาภรณ์ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮสเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT เจ้าของแบรนด์สุรานอกอย่าง Johnnie Walker, Smirnoff, Hennessy ฯลฯ

คำเเนะนำเเละกลยุทธ์การทรานส์ฟอร์มจากผู้คลุกคลีอยู่ในวงการ HR มานานกว่า 20 ปี ผ่านงานทั้งสายพลังงาน อุตสาหกรรมยา จนมาถึงธุรกิจเครื่องดื่ม อย่าง ‘รุ่งกานต์’ มีเทคนิคต่างๆ ที่น่านำไปปรับใช้ได้ดีทีเดียว

เป็นตัวเองได้ในที่ทำงาน 

เธอเล่าให้ฟังถึงการวางกลยุทธ์ดำเนินงานว่า ยึดหลักแนวคิด Connecting People to Purposes เชื่อมโยงบุคคลกับวัตถุประสงค์ของบริษัท โดยให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ในการทำงาน ไม่จำกัดความคิด มอบอิสระในการออกแบบวิธีการทำงานและการแสดงออก พร้อมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อการไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ให้พนักงานรู้สึกสบายใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัท มาทำงานอย่างมีความสุขและกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ดี เติมเต็มความต้องการได้ ขณะเดียวกันก็ต้องต่อยอดไปสู่เป้าหมายทางอาชีพของพวกเขาด้วย” 

Reverse Mentoring : พื้นที่เเลกเปลี่ยนไอเดีย 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่รุ่งกานต์นำมาใช้ในการผสาน ‘พนักงานต่างวัย’ ให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในการทำงานกัน ก็คือ Reverse Mentoring

โดย DMHT มีการจับคู่พนักงานมาเข้าร่วมโปรเเกรมนี้ เริ่มต้นด้วยคู่ของคุณ ‘อัลแบร์โต อิเบอัส’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กับพนักงาน Gen Y คนหนึ่ง ให้มาพูดคุยเเลกเปลี่ยน ‘ไลฟ์สไตล์’ เรียนรู้การทำงาน มุมมองของธุรกิจต่างๆ

ผลเบื้องต้นพบว่า เกิดไอเดียหลายอย่างจากการสนทนากัน โดยอัลแบร์โตที่ทำงานมากว่า 22 ปี ก็ได้เห็นถึงการคิดนอกกรอบ เทรนด์เเละนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนพนักงานรุ่นใหม่ก็ได้รู้ถึงประสบการณ์การทำงาน บทเรียนชีวิตเเละวิธีเเก้ปัญหาต่างๆ  

“ถ้าโครงการทดลองนี้สำเร็จ เราจะขยายไปทำทั้งองค์กร เพื่อให้มีแพลตฟอร์มที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้”

พื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมี คือความเท่าเทียม

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในองค์กร ก็คือ ‘ความเท่าเทียม’ โดยยกตัวอย่างเป้าหมาย 10 ปีของดิอาจิโออย่าง SOCIETY 2030: SPIRIT OF PROGRESS

โดยในแผนงานนี้ มีประเด็นการส่งเสริมความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมภายในองค์กรที่น่าสนใจ เช่น บริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะมี ผู้นำหญิง ในองค์กรให้ได้สัดส่วน 50% มีผู้นำที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ให้ได้ 45% และจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับคนจำนวน 1.7 ล้านคน เเละสนับสนุนความหลากหลายในทุกตำแหน่งงาน

ปัจจุบัน DMHT มีสัดส่วนของผู้บริหารหญิงอยู่ที่ 50% แล้ว เฟสต่อไปคือการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งที่เตรียมก้าวขึ้นสู่ระดับบริหารให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สังคมคุ้นเคยว่าผู้ชายมีบทบาทมากกว่า โดยริเริ่มออกแบบและดำเนินการโปรแกรม Female in Field Sales Incubation เพื่อปั้นผู้นำหญิงสู่การเป็นผู้จัดการเขต (District Manager) ภายในปี 2025

สำหรับในประเทศไทย DMHT มีนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยบริษัทให้สิทธิ์พนักงานทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ พร้อมรับเงินเดือนเต็ม

สลัดภาพจำ…HR ยุคใหม่ต้องไม่ใช่ผู้คุมกฎ

หลังจากทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 2 ทศวรรษ รุ่งกานต์ยอมรับว่า ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย มีพนักงานจำนวนไม่น้อยรู้จักไม่ใกล้ชิดกับฝ่าย HR มากนัก หลายคนมีภาพจำว่าเเผนกนี้เป็น ‘ผู้คุมกฎ’ หรือ ‘ครูปกครอง’ เวลามีการเรียกคุยจะรู้สึกกังวลว่าตัวเองทำผิดอะไรหรือไม่ นี่คือความท้าทายที่ต้องเปลี่ยนเเปลงภาพลักษณ์เหล่านี้ให้ได้

“เราต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าบทบาทของ HR คือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ที่มีหน้าที่ช่วยส่งเสริมพนักงานทุกคนให้มีพลังทำงานในทุกๆ ด้าน เรื่องของกฎระเบียบก็ยังจำเป็นต้องมี เเต่ HR ต้องใช้การสื่อสารรูปเเบบใหม่ให้เข้าถึงคนเเต่ละยุคสมัย” 

เธอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการใช้หลัก Why’ คือ HR ต้องอธิบายให้ได้ว่า ‘ทำไม’ จึงต้องมีกฎนี้ ทำไมจึงต้องทำกิจกรรมนี้ ถ้าทำตามเเล้วจะมีผลอย่างไร ถ้าไม่ทำตามจะส่งผลอย่างไร เเม้บางครั้งจะเป็นกฎเดิมที่ใช้ต่อกันมาเป็น 10 ปี ก็ต้องปรับการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในบริบทสังคมใหม่ด้วย 

ความยืดหยุ่น’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 

สำหรับเเนวทางการบริหารงานบุคคลของดิอาจิโอนั้น มีการประยุกต์เทคโนโลยีกับปรัชญามาใช้งาน HR ที่มีชื่อว่า ‘DIAGEO Flex Philosophy’ ให้อิสระพนักงานในการบริหารจัดการเวลาทำงานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หรือเข้างานตาม Office Hours เพียงสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ตามเวลาที่กำหนด

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องให้พนักงาน Work from Home นั้น พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ยังทำงานได้ตามปกติ แถม Productivity เพิ่มขึ้นอีก ใครเบื่อบรรยากาศทำงานที่บ้านจะมาทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ บางคนชอบเริ่มงานตอนเช้า บางคนสายหน่อย หรือบางคนชอบทำงานตอนดึกๆ ก็สามารถจัดสรรเวลาเองได้

“หลักๆ คือเราให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าเวลาเข้างาน” 

โดยฝ่าย HR จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘สวัสดิการ’ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและให้ตรงกับความต้องการของพนักงานมากที่สุด ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เเต่ก่อนจะมีบริการคาเฟ่ในออฟฟิศ เเต่ช่วงโควิด-19 ต้องงดไปก่อน ก็จะมีการจัดข้อเสนออื่นๆ ให้เเทน

‘อัพสกิล’ ตามความชอบ 

ในด้านการพัฒนาทักษะ DMHT มุ่งเสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นให้แก่พนักงานตามความสนใจด้านอาชีพของแต่ละคน โดยให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ สอดคล้องกับปรัชญาหลักของบริษัท นั่นก็คือ Celebrating Life, Every Day, Everywhere 

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายการอบรมทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมการบริการ ให้ได้ 15,000 คนผ่านโครงการ Learning for Life ภายในปี 2030 ครอบคลุมนักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพการท่องเที่ยวและการบริการ ขยายการฝึกอบรมมาสู่บุคลากรในสายอาชีพการบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการต้องออกจากงาน หรือหยุดงานชั่วคราว รวมถึงคนในชุมชน บุคคลที่มีความจำเป็นและกลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมทักษะสำหรับบาร์เทนเดอร์ผ่าน Diageo Bar Academy เพื่อส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบในสังคม และการรับมือสถานการณ์ที่ท้าทายขณะทำงานในสายอาชีพ 

เหล่านี้เป็นไปตาม Brand Purpose ของดิอาจิโอที่ว่า ทำอย่างไรให้คนอยากเฉลิมฉลอง แต่ไม่ใช่การสนับสนุนให้คนดื่มจนขาดสติ เเต่ต้องดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ (Positive Drinking)

สำหรับเป้าหมายของประเทศไทย DMHT มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายหลักใน 3 ด้าน จะดำเนินการผ่านโครงการที่มีอยู่แล้วเพื่อความต่อเนื่อง ได้แก่

  • รณรงค์การดื่มอย่างรับผิดชอบ ผ่านโครงการ DRINKiQ และแพลตฟอร์ม Don’t Drink Drive E-Learning
  • ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านความหลากหลาย (Inclusion and Diversity)
  • สร้างความยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต (Grain to Glass Sustainability) ผ่านการนำเข้าสินค้าของดิอาจิโอที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากวัสดุรีไซเคิล ที่มีความปลอดภัยมาจำหน่ายในประเทศไทย และสานต่อโครงการรีไซเคิลขวดจอห์นนี่ วอล์กเกอร์หลังการบริโภค โดยการนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้

หลังจากประสบการณ์ HR มากว่า 20 ปี รุ่งกานต์มองว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่มองหาจากองค์กรมากที่สุด คือการเปิดกว้างทางความคิด ให้พวกเขาได้มีโอกาสเเสดงศักยภาพเเละรับฟังข้อเสนอเเนะโดยไม่ติดเรื่องอายุ พร้อมการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น

รวมถึงการสนับสนุนให้ทุกคนมี ‘Career Path’ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เเละมีความสุขในการใช้ชีวิต

ส่วนสิ่งที่องค์กรอยากได้จากคนรุ่นใหม่’ ก็คือความคิดสร้างสรรค์ พลังในการทำงาน เเพชชั่นที่จะเห็นความก้าวหน้าเเละการเปลี่ยนเเปลง…

 

 

]]>
1334079
ส่องนโยบายบริหาร “ที่ทำงาน” ของบริษัทเทคสหรัฐฯ หลังผ่านพ้น COVID-19 https://positioningmag.com/1326457 Mon, 05 Apr 2021 03:46:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326457 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกคือหนึ่งในต้นแบบของการบริหารจัดการที่ทำงาน บริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกนโยบาย Work from Home ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด COVID-19 หลังจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทิศทางวิธีการบริหาร “ที่ทำงาน” ของบริษัทเหล่านี้จึงชัดเจนขึ้นว่าจะให้ “ตัวเลือก” พนักงานอย่างไรบ้าง

การออกนโยบาย Work from Home หรือจะทำงานระยะไกลจากที่ไหนก็ได้ ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนกทรัพยากรบุคคล ธุรกิจสำนักงานให้เช่า ฯลฯ ต้องอภิปรายกันถึงความเป็นไปได้ที่วิธีทำงานแบบนี้จะกลายเป็นวิถีระยะยาวของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่น ตั้งแต่อาคารสำนักงาน บ้านพัก คมนาคม ไปจนถึงธุรกิจร้านสูทเลยทีเดียว

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดในสหรัฐฯ เริ่มเห็นแสงสว่าง โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปเกือบครบ 100 ล้านคนแล้ว ทำให้บริษัทเทคฯ เริ่มปรับนโยบายอีกครั้งและกลับมา “เปิดออฟฟิศ”

ลองมาชมตัวอย่างวิธีบริหาร “ที่ทำงาน” ของบางบริษัทดูว่าวางนโยบายไว้อย่างไรบ้าง

 

Facebook – ขออนุญาตทำงานระยะไกลได้

สำนักงานใหญ่ Facebook ที่ซิลิคอน วัลเลย์ (Photo : Shutterstock)

Facebook เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทจะเริ่มเปิดออฟฟิศสำนักงานใหญ่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ให้พนักงานกลับเข้างานได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 แต่จะทยอยเปิดให้พนักงานเข้าเพียง 10% ในช่วงเริ่มต้น ก่อนจะค่อยๆ เปิดไปจนถึง 50% ของทั้งหมดภายในต้นเดือนกันยายน 2021

สำหรับพนักงานที่ได้รับอนุญาตให้ Work from Home ยาวมาตั้งแต่ปีก่อน จะได้รับผ่อนผันให้ทำงานจากบ้านต่อไปได้อีก 1 เดือนหลังจากออฟฟิศของบุคคลนั้นมีพนักงานกลับเข้าออฟฟิศแตะ 50% แล้ว (แต่ละแห่งอาจเรียกพนักงานกลับออฟฟิศเร็วช้าต่างกัน)

อย่างไรก็ตาม พนักงานจะยังต้องทำตามระบบรักษาสุขอนามัย เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และมีสุ่มตรวจ COVID-19 ทุกสัปดาห์

แต่ก็มิใช่ว่า Facebook จะบังคับให้พนักงานกลับมาทุกคน ตามวิสัยทัศน์ของ Mark Zuckerberg ซีอีโอบริษัท มองว่าประมาณ 50% ของพนักงาน Facebook จะทำงานจากระยะไกลภายในทศวรรษหน้า และบริษัทอนุญาตพนักงานบางส่วนให้ย้ายไปทำงานระยะไกลถาวรแล้วด้วย เพียงแต่ต้องยอมรับการตัดเงินเดือน เพราะถือว่าพนักงานได้ย้ายออกจากพื้นที่ค่าครองชีพสูงอย่างซิลิคอน วัลเลย์ไปแล้ว

 

Google – เข้างาน 3 วันต่อสัปดาห์

Photo : Shutterstock

ผู้นำแห่งการจัดการออฟฟิศ Google ศึกษาผลของการ Work from Home ในช่วงโรคระบาด และพบว่า พนักงาน 62% ต้องการจะเข้าออฟฟิศ “บ้าง” เพื่อพบปะกับพนักงานคนอื่น ดังนั้น รูปแบบออฟฟิศแบบไฮบริดจึงน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด

ในที่สุด เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ซีอีโอ Sundar Pichai ก็ออกแถลงการณ์คร่าวๆ ว่าต้องการให้พนักงานวางแผนพักอาศัยในระยะที่ไปกลับออฟฟิศได้สะดวก เพราะบริษัทจะให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 2 วันสามารถทำงานที่บ้านหรือที่ใดก็ตามที่ต้องการ

ทั้งนี้ หากเป็นพนักงานที่ทำหน้าที่ตอบสนองลูกค้าโดยตรง หรือต้องดูแลดาต้า เซ็นเตอร์ หรือต้องเข้าแล็บเพื่อใช้อุปกรณ์พิเศษ ยังจำเป็นต้องเข้าสถานที่ทำงานทุกวัน

สำหรับช่วงแรกของการกลับเข้าออฟฟิศซึ่งยังต้องระวังเรื่องสุขอนามัย ออฟฟิศจะจัดให้มีระบบจองห้องประชุมที่ให้คนเข้าร่วมได้ไม่เกิน 12 คน หากต้องการประชุมคนเยอะกว่านั้นสามารถจัดได้ในพื้นที่กลางแจ้ง

Pichai ยังกล่าวในแถลงการณ์ด้วยว่าบริษัทจะพัฒนาโปรแกรม Meet และ Workspace อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงลดช่องว่างระหว่างเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในออฟฟิศและทำงานจากบ้านให้มากที่สุด

Google ยังประกาศเปิดออฟฟิศเร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน 2021 แต่จะทยอยเปิดตามสถานการณ์ของแต่ละรัฐ โดยยังไม่บังคับให้กลับมาทุกคน เพราะกำหนดการเดิมคือจะเริ่มให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 เป็นต้นไป

 

Microsoft – ทำงานแบบ “ไฮบริด”

Photo : Pixabay

คล้ายกับ Google เพราะ Microsoft มีการสำรวจพนักงานของตนเองเหมือนกันว่าชอบการทำงานระยะไกลแค่ไหน โดยพนักงานบริษัท 73% ตอบว่าต้องการจะทำงานระยะไกลซึ่งยืดหยุ่นกว่าต่อไป

ทำให้ Microsoft พิจารณาที่จะให้พนักงานมีเวลา Work from Home ได้เป็นมาตรฐานใหม่ของบริษัท และจะใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมต่อให้การทำงานของคนที่อยู่บ้านกับคนที่อยู่ออฟฟิศราบรื่น โดยมีโปรแกรมหัวใจสำคัญคือ Microsoft Team ซึ่งจะถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น

ขณะนี้ Microsoft ยังอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีการจัดทำฉากทัศน์หลายๆ รูปแบบเพื่อค้นหารูปแบบที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำงานแบบไฮบริด

ปัจจุบัน Microsoft เริ่มเปิดออฟฟิศให้พนักงานกลับเข้างานแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2021 และยังใช้ระบบสมัครใจ สามารถเลือกเองได้ว่าจะกลับเข้าออฟฟิศหรือไม่ รวมถึงจะมาเป็นประจำ หรือจะสลับวันมาออฟฟิศกับการอยู่บ้านก็ได้

 

Twitter – ทำงานจากบ้านตลอดไป

สำนักงานใหญ่ Twitter ในซานฟรานซิสโก (Photo : Shutterstock)

หนึ่งในบริษัทใหญ่แห่งแรกๆ ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ “ตลอดไป” บริษัท Twitter นั้นมีแผนมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วที่จะอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้แบบตลอดเวลาและตลอดไป เพราะซีอีโอ Jack Dorsey มองจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าการทำงานจากบ้านทำให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่า

แน่นอนว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นทางเลือกให้พนักงานที่ต้องการ Work from Home สามารถทำได้เลย

โดยแผนของ Twitter ถูกวางไว้มานาน 2 ปี เมื่อเผชิญโรคระบาดบีบสถานการณ์จึงทำให้แผนถูกนำมาใช้เร็วกว่ากำหนดเท่านั้นเอง

 

Salesforce – เปิด 3 ทางเลือก

(Photo : Shutterstock)

บริษัทซอฟต์แวร์และคลาวด์คอมพิวติ้งแห่งนี้ พิจารณาจากสถานการณ์ช่วงโรคระบาดและออกทางเลือกเป็น 3 ทางให้กับพนักงาน เรียกว่า Flex, Fully Remote และ Office-based

ตามชื่อเรียกของแต่ละแผน คือพนักงานสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเข้าออฟฟิศตามปกติ หรือทำงานถาวรจากบ้าน หรือเข้าบ้างเป็นบางวันนั่นคือแผน Flex แปลว่าควรจะเข้าออฟฟิศประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์เพื่อมาทำงานที่อาจจะทำแบบออนไลน์ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทเทคฯ จะเป็นผู้นำเรื่องการทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่ใช่ว่าทุกบริษัทจะมองแบบเดียวกันหรือทำตามได้หมด และไม่ใช่แค่เรื่องการปรับใช้เทคโนโลยี แต่ยังมีเรื่องธรรมชาติของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น Goldman Sachs, J.P.Morgan หรือกระทั่ง Netflix ต่างต่อต้านไอเดียการทำงานจากบ้านแบบถาวร เพราะมองว่าไม่เหมาะกับองค์กรของตนเอง

Source: Bloomberg, CNBC, The Verge, Business Insider

]]>
1326457
เปิด 10 สุดยอดองค์กรในฝัน ปี 2560 https://positioningmag.com/1145972 Fri, 10 Nov 2017 08:01:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1145972 จ๊อบส์ ดีบี เปิดผลสำรวจ 10 สุดยอดองค์กรชั้นนำที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุด พบ ปตท.-เอสซีจี บริษัทสัญชาติไทยยังรั้ง 2 อันดับแรก ด้านบริษัทในธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ยานยนต์และโทรคมนาคมยังครองใจพนักงาน พร้อมแนะองค์กรสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีคุณภาพและปรับทัศนคติเพื่อเฟ้นหาคนเก่งมาร่วมงานด้วย

บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รวบรวมผลสำรวจจากกลุ่มผู้หางานแบ่งตามช่วงอายุได้แก่ ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหรือกลุ่ม Baby Boomer (7%) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 34-49 ปีหรือ Gen X (49%) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 26-33 ปี หรือ Gen Y (27%) และผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี หรือกลุ่ม Gen Z (16%) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560

ในประเด็นเกี่ยวกับ “องค์กรที่พนักงานต้องการร่วมงาน และปัจจัยสนับสนุนให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ” พบว่า

อันดับแรกเป็นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ตามมาด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ถือเป็นสององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่ครองใจคนทำงาน

อันดับ 3 เป็นของ ด้านบริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นระดับโลก Google ประเทศไทย ซึ่งโดดเด่นในด้านผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นที่ประทับใจ ซึ่งขยับขึ้นจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ

ตามมาด้วยเป็นลำดับที่ 4 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นและเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประเทศไทย

ในส่วนของธุรกิจด้านโทรคมนาคม DTAC หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไต่อันดับจากรองสุดท้ายขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 5

ขณะที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อชื่อดังติดลำดับที่ 6  และบริษัทที่ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 7 ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

ด้านธุรกิจสายการบินชั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ติดอันดับที่ 8 ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ อย่าง บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 9 และลำดับสุดท้ายเป็นของบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด 

และหากเปรียบเทียบจากผลสำรวจระดับภูมิภาคยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ยังคงติดอันดับเป็นบริษัทในฝันของพนักงานและมีสัดส่วนเท่ากันกับบริษัทท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลยังติดอันดับต้นๆ ของทุกประเทศ

สำหรับ Google ติดลำดับที่หนึ่งในประเทศฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ติดลำดับที่ 3 ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ติดลำดับที่ 4 ในประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกันกับธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำของโลกยังติดอันดับบริษัท 1 ใน 10 บริษัทในฝันของพนักงานในภูมิภาคนี้ด้วย ขณะที่บริษัทท้องถิ่นที่ติดอันดับต้น ๆ ของแต่ละประเทศยังคงเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร และกลุ่มบริษัทในเครือต่างๆ

นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากผลสำรวจจะเห็นได้ชัดว่า บริษัทที่พนักงานอยากร่วมงานทั้งสิบอันดับในครั้งนี้ยังคงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในองค์กร ภาพลักษณ์ รวมทั้งการพัฒนาและขยายองค์กรสู่ตลาดใหม่ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ส่งผลให้คนหางานรุ่นใหม่ เล็งเห็นโอกาสของการสร้างความสำเร็จในชีวิต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและพร้อมกระโจนสู่ความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

สภาพแวดล้อมองค์กร -ใช้ชีวิตสมดุล แรงดึงดูดคนทำงาน

ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกบริษัท คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น รวมไปถึง สภาพแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลของนายจ้างและอุปนิสัยของเพื่อนร่วมงานด้วย

จากปัจจัยข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดคนหางานและยังช่วยรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนั้นๆ ได้นาน ปัจจัยถัดมาคือเรื่องของความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้การสร้างสิ่งจูงใจเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะทำให้องค์กรมีตัวเลือกมากขึ้น

ด้านมุมมองของนักศึกษาจบใหม่ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการยื่นใบสมัครงานคือการที่บริษัทให้โอกาสเติบโตในอาชีพและหน้าที่การงานการมีทีมบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพและมีความเป็นผู้นำ และโอกาสในการได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน

ดังนั้นในปัจจุบันองค์กรหลายแห่งจึงพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์กำหนดคุณค่าองค์กรและทำให้องค์กรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่ากับการทำงาน ความก้าวหน้าในสายงาน และโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่ผู้หางานเลือกทำงานด้วย

“ปัจจัยข้างต้นนับเป็นสาระสำคัญที่นายจ้างทั้งรายใหญ่และรายเล็กควรพิจารณาเพื่อให้ได้คนคุณภาพมาร่วมงาน รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่ต้องเอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของคนทำงานยุคนี้

]]>
1145972
เผยโฉมออฟฟิศ “โค้ก” ในไทย รีโนเวตใหม่ให้เป็น “บ้านที่สอง” ของพนักงาน https://positioningmag.com/1139104 Sat, 09 Sep 2017 00:55:29 +0000 http://positioningmag.com/?p=1139104 บรรยากาศภายในออฟฟิศยุคนี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยในการดึงดูดใจพนักงาน ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ๆ แถมทุกวันนี้พนักงานใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานมากกว่าบ้านเสียอีก หลายองค์กรจึงต้องลุกขึ้นมาปรับโฉมสำนักงานให้มีบรรยากาศเหมือนบ้าน 

เหมือนอย่าง บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์น้ำอัดลมที่คนไทยและคนทั่วโลกคุ้นเคยกันดี ลงมือปรับปรุงออฟฟิศใหม่ ให้เป็นเสมือน “บ้าน” อีกหลังหนึ่งของพนักงาน เพราะถือเป็น “ฟันเฟือง” สำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ จึงต้องสร้างสถานที่ทำงานให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และทำงานด้วยความสุข

การออกแบบ เน้นทั้งคอนเซ็ปต์ functional และ emotional คือ ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอย ขณะเดียวกันก็ต้องสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึก ด้วยพื้นที่เปิดโล่งให้ดูโปร่ง และรู้สึกผ่อนคลาย การตกแต่งเน้นความทันสมัย

ส่วนโทนสี แน่นอนว่าต้องใช้ขาว-แดง สะท้อนแบรนด์โคคา-โคลา และยังกระตุ้นให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า เพิ่มความมีชีวิตชีวาด้วยสีเขียวของต้นไม้ภายนอก

สิ่งอำนวยความสะดวกเน้นคอนเซ็ปต์ “โมบายเวิร์คกิ้ง” ตั้งแต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัว มุมเครื่องเขียน ที่ประกอบไปด้วยเครื่องถ่ายเอกสารและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พนักงานมาหยิบใช้สอยได้เอง และที่ขาดไม่ได้ คือ ตู้เย็นบริการน้ำดื่ม น้ำอัดลม และน้ำผลไม้แบรนด์ต่างๆ ของโคคา-โคลา ให้พนักงานเลือกดื่มกินได้ตลอดวัน

มุมสันทนาการ ทั้งนั่งเล่น ทีวี นิตยสาร เกม รวมถึงโต๊ะปิงปองให้พนักงานได้ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งมุมนั่งเล่นเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนเป็นห้องประชุมอย่างไม่เป็นทางการได้

คนทำงานยุคนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลของชีวิตและการทำงาน พื้นที่ส่วนหนึ่งของออฟฟิศแห่งนี้ จึงจัดเป็นห้องออกกำลังกาย พร้อมด้วยอุปกรณ์ มีเทรนเนอร์ให้ด้วย ส่วนพนักงานหญิงที่มีลูกเล็กก็มีห้องสำหรับปั๊มนมที่สะอาดและมิดชิด เพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นการเฉพาะ

ทั้งหมดนี้ โคคา-โคลา เชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่ดีมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ทั้งยังสร้างความสุข และการมีส่วนร่วมกับองค์กร ทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร และเป็น โคคา-โคลาแอมบาสเดอร์ ทำหน้าที่ส่งต่อผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์ของโคคา-โคลา ผู้บริโภคคนไทย

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของแบรนด์ รับผิดชอบกิจกรรมตลาด และสองพันธมิตรผู้ผลิตและจัดจำหน่าย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด รับผิดชอบ 62 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัทหาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบใน 14 จังหวัดภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทยได้แก่ โค้ก, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปร์ท, ชเวปปส์, รูทเบียร์ เอแอนด์ดับบลิว รวมถึงน้ำผลไม้มินิทเมด สแปลช มินิทเมด พัลพิ มินิทเมด น้ำดื่มน้ำทิพย์และอควาเรียส

]]>
1139104