บริการทางการเงิน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 21 Nov 2022 10:11:34 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กลยุทธ์ ‘Krungsri One Retail’ผนึกกำลังทั้งเครือเพื่อลูกค้ารายย่อย ผสานจุดแข็งทุกบริการทางการเงิน https://positioningmag.com/1408486 Wed, 23 Nov 2022 10:00:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1408486

ความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและวิถีชีวิตของลูกค้า ทำให้ “กรุงศรี” ต้องวางแผนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านกลยุทธ์  “Krungsri One Retail” ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจเพื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลในเครือกรุงศรี ในทุกแง่มุม ตั้งแต่การเชื่อมโยง “ดาต้า” เข้าด้วยกัน จนถึงช่องทางการบริการลูกค้าที่จะมีการผสานช่องทางสาขา เพื่อให้บริการแบบ One-Stop Service และเชื่อมโยงแอปพลิเคชันซึ่งกันและกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายของกรุงศรีและบริษัทในเครือได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งหมดเพื่อให้บริการ “ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล” ได้อย่างตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งให้ ‘กรุงศรี’ มุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยเป็น 15 ล้านราย ภายในปี 2567

ยุคนี้ความแข็งแกร่งในตลาด มาจากการผนึกกำลังกันหลายฝ่าย ทำให้ ‘กรุงศรี’ วางกลยุทธ์ใหม่เรียกว่า “Krungsri One Retail” ซึ่งมุ่งผสานจุดแข็งของทุกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ลูกค้ารายย่อย” ในเครือกรุงศรี เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย รอบด้าน และตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการในทุกช่วงชีวิตของลูกค้ายิ่งขึ้น

“พงษ์อนันต์ ธณัติไตร” ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เล่าถึงที่มาของการวางกลยุทธ์ใหม่ ที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในโลกธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด “ดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption)” ลูกค้าหันมาติดต่อสื่อสารมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ชอบช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ต้องการบริการที่ตอบโจทย์ รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์เพื่อลูกค้ารายย่อยจึงถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน

“พงษ์อนันต์ ธณัติไตร” ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ในเครือกรุงศรีมีผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ทั้งที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารและภายใต้บริษัทในเครือ เช่น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งดูแลลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, กรุงศรี ออโต้ ดูแลลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำ และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น

แต่ละบริษัทนั้นมีกลยุทธ์สำหรับธุรกิจของตนเอง และสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี โดยนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจนั้น ๆ แต่การมีกลยุทธ์ “Krungsri One Retail” นั้นจะเป็นการผสานจุดแข็งในการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นการผนึกกำลังกันภายในเครือเพื่อส่งมอบบริการที่เหนือกว่าเดิมให้กับลูกค้าได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับ 4 แนวทางหลัก ได้แก่

1.Data Analytics – วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบ 360 องศา

สร้างแพลตฟอร์มรวมฐานข้อมูลลูกค้ารายย่อยที่ปัจจุบันกรุงศรีมีลูกค้าในความดูแลกว่า 12 ล้านราย ที่เป็นผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย  อาทิ บัญชีออมทรัพย์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผลิตภัณฑ์การลงทุน เป็นต้น

เมื่อมีดาต้าเบสที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งเครือ ภายใต้ความยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลจากลูกค้าเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ จึงทำให้กรุงศรีสามารถวิเคราะห์โปรไฟล์ของลูกค้าได้รอบด้าน จนสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดการ Customize/Personalize ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นรายบุคคล

ตัวอย่างกรณีการนำไปใช้งานจริง เช่น เมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายบัตรของลูกค้าบัตรเครดิตและพบว่าลูกค้าซื้อสินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน ทำให้กรุงศรีสามารถเลือกเสนอสินเชื่อ Home for Cash ที่น่าจะตรงกับความต้องการของลูกค้าได้

2.Financial Advisory – การให้ความรู้และคำแนะนำทางการเงิน

พงษ์อนันต์ กล่าวว่า มุมมองของกรุงศรีเล็งเห็นถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจตั้งแต่เกิดโรคระบาด ทำให้ผู้บริโภคอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเงิน และต้องการ “ที่ปรึกษาทางการเงินที่ไว้ใจได้”

ดังนั้น กรุงศรีจึงได้ผลิตคอนเทนต์เพื่อ “ให้ความรู้ด้านการเงิน” (Financial Literacy) หลายรายการ แยกตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจต่างกัน เช่น Krungsri The COACH รายการตอบโจทย์การดูแลสุขภาพการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไป, Double Espresso ตอบโจทย์นักลงทุนหุ้น อัปเดตสถานการณ์หุ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ, Krungsri Exclusive ร่วมกับ Blackrock จัดรายการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการลงทุน เน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้ากลุ่มที่มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ที่มีความมั่งคั่งสูง

สำหรับรายการ Krungsri The COACH นับว่าประสบความสำเร็จสูง เพราะการกำหนดประเด็นมาจากประสบการณ์จริงที่กรุงศรีพบ ทำให้ทราบ ‘Pain Point’ ด้านการเงินของลูกค้า เช่น วิธีการยื่นกู้สินเชื่อให้ได้รับอนุมัติ, การแก้หนี้, เทคนิคลงทุนให้ได้กำไร เป็นต้น ปัจจุบันรายการนี้เผยแพร่ไปแล้วกว่า 50 ตอน ยอดเข้าชมเฉลี่ย 84,000 ครั้งต่อ 1 คลิป มี Engagement เติบโตสูงถึง 43 เท่า ภายในเวลาเพียง 8 เดือน

“การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ไว้ใจได้ในวันนี้ จะสร้างความผูกพันให้ลูกค้าเลือกเราในอนาคตเมื่อลูกค้ามีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพงษ์อนันต์กล่าว

3.Innovative Financial Solution – สร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

อีกหนึ่งเป้าหมายร่วมกันของ Krungsri One Retail คือการสร้างนวัตกรรมการเงินของผลิตภัณฑ์/บริการต่าง ๆ ในเครือที่ได้เปิดตัวและมีการใช้งานแล้ว เช่น KSS iGlobal ให้ลูกค้ารายย่อยลงทุนโดยตรงในหุ้นตลาดต่างประเทศได้ เฟสแรกเปิดแล้ว 5 ประเทศ และเฟสสองในเดือนพฤศจิกายน 2565 จะเพิ่มเป็น 28 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมครบทุกตลาดหลักทั่วโลก หรืออย่างนวัตกรรม Krungsri Private Equity Fund ก็ช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนกับบริษัทนอกตลาดหุ้นได้ เป็นนวัตกรรมบริการลูกค้าหาน่านน้ำใหม่เพื่อลดความผันผวนในการลงทุน

ขณะเดียวกัน กรุงศรียังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมด้านไอทีที่จะช่วยสร้างความสะดวกหรือนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ให้ลูกค้ากรุงศรีเพิ่มมากขึ้น เช่น Kept Together ฟังก์ชันใหม่ในการออมเงินร่วมกัน, บัตรเครดิต Krungsri Now และ XU บัตรเครดิตดิจิทัลที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียล, First Choice SnapCash สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งต้องการเข้าถึงสินเชื่อ เป็นต้น

4.Channel – พัฒนาช่องทางแบบไร้รอยต่อ เพื่อประสบการณ์ลูกค้าที่ดี

กลยุทธ์นี้จะมีการผสานช่องทางเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายของกรุงศรีได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการผ่านช่องทาง “สาขา” กรุงศรีได้ริเริ่มโครงการนำร่อง พัฒนาสาขารูปแบบที่เรียกว่า ‘One Retail Branch’ ที่เป็นช่องทางบริการสำหรับลูกค้ารายย่อยแบบ One-Stop Service ในจุดเดียว จากเดิมสาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยา, กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และกรุงศรี ออโต้ จะแยกสาขาจากกัน แต่สาขารูปแบบใหม่นี้จะให้บริการรวมกันในแห่งเดียว เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการมาติดต่อทำธุรกรรม สามารถติดต่อขอใช้บริการต่าง ๆ ได้ครบในจุดเดียว ปัจจุบัน กรุงศรีได้เปิดตัวสาขาในรูปแบบ One Retail Branch ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายในปีนี้ 22 สาขา และในปี 2566 จะเพิ่มอีก 15 สาขา

สาขา One Retail Branch

ขณะที่ช่องทางการบริการผ่าน “แอปพลิเคชัน” ก็เป็นช่องทางที่กรุงศรีให้ความสำคัญเช่นกัน โดยขณะนี้กรุงศรีมีแอปพลิเคชันให้บริการธุรกรรมออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น Krungsri Mobile Application (KMA) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา, UCHOOSE ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์, GO ของกรุงศรี ออโต้ เป็นต้น

ในอนาคตกรุงศรีจะพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันและระบบงานด้านต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี Open API เพื่อเสริมฟังก์ชั่นการใช้งานของแอปฯ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัล จะสามารถทำผ่าน UCHOOSE และ GO ได้โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลด KMA เพิ่ม หรือการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code โดยเลือกตัดบัญชีเงินฝากหรือบัตรเครดิตของกรุงศรี ก็สามารถทำได้ในทุกแอปฯ เป็นต้น

เป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้า 15 ล้านราย

พงษ์อนันต์กล่าวสรุปถึงกลยุทธ์ ‘Krungsri One Retail’ ว่าเป็นการทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งสำคัญ เมื่อทุกหน่วยงานในกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลในเครือกรุงศรี ผนึกกำลังกันจะทำให้การดูแลลูกค้าทำได้ดีขึ้นอย่างมาก โอกาสที่ลูกค้าจะเกิดการใช้บริการต่อเนื่องก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยที่การปรับตัวภายในองค์กรเองไม่ได้ยุ่งยากมาก เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ใกล้เคียงกันในทุกส่วนเป็นทุนเดิม โดยทุกหน่วยธุรกิจต่างก็ให้ความสำคัญกับความต้องการและประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ทำให้มองเป้าหมายเดียวกันซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการเดินตามแผนกลยุทธ์นี้

“เมื่อเรารวมกัน เราจะมีโอกาสมากในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ายิ่งขึ้นได้ในอนาคต” พงษ์อนันต์กล่าว “เรามั่นใจกับ ‘กลยุทธ์ Krungsri One Retail’ มาก เพราะที่ผ่านมาหลังเริ่มทำงานมาแล้วประมาณ 1 ปี ลูกค้ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นกับการให้บริการรูปแบบนี้ของเรา เพราะช่วยให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นจริง ๆ ”

เป้าหมายของกรุงศรีจากกลยุทธ์นี้ที่วางเป้าการเติบโตไว้ภายในปี 2567

1.ขยายฐานลูกค้ากรุงศรี – จากปัจจุบันมีฐานลูกค้า 12 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านราย

2.จำนวน Mobile Users เติบโต – จากปัจจุบันมีผู้ใช้ 9 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านราย

3.เติบโตและขยายธุรกิจกรุงศรีในต่างประเทศ – กรุงศรีจะรุกต่างประเทศด้วยธุรกิจลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีความชำนาญ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่น่าสนใจ เช่น สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“กรุงศรียังมุ่งจะพัฒนาธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยในทุกมิติและเชื่อมโยงสู่อาเซียน เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กรุงศรีก้าวสู่ ‘เป็นสถาบันการเงินหลักที่ลูกค้าใช้บริการสำหรับลูกค้ารายย่อย’ ได้ในไม่ช้านี้” พงษ์อนันต์ กล่าวทิ้งท้าย

เชื่อแน่ว่าด้วยการผสานความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญของทุกหน่วยธุรกิจที่ดูแลลูกค้ารายย่อยในเครือกรุงศรีเข้าด้วยกัน ด้วยเป้าหมายหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น จะทำให้กรุงศรีมีโอกาสสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้ารายย่อยผ่านกลยุทธ์ใหม่ ‘Krungsri One Retail’ มุ่งเพื่อส่งมอบบริการลูกค้าได้อย่างเหนือชั้นยิ่งขึ้น!

]]>
1408486
‘กสิกรไทย’ กับกลยุทธ์การเติบโต ฉบับ ‘THE METAMORPHOSIS’ พัฒนาเทคโนโลยี จับโอกาสตลาดอาเซียน https://positioningmag.com/1367289 Fri, 17 Dec 2021 04:00:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367289

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวที่โดดเด่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBank) ที่สร้างปรากฏการณ์มาหลายครั้ง

ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับการประกาศยกทัพบุกตลาดภูมิภาค ด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคาร ให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต” น่าสนใจยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการ บุกทำตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคน ‘เข้าถึง’ การเงินบนโลกดิจิทัล

โอกาสนี้ เห็นได้จากทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคของ KBank ที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางความโกลาหลของเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยในปี 2564 มีการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า  พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567

เส้นทางสู่เป้าหมาย เต็มไปด้วยความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน วางเเผนกลยุทธ์รองรับทุกการเปลี่ยนเเปลง การสร้างสรรค์เทคโนโลยีเเละพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรให้เป็น ‘หนึ่งเดียวกัน’ ผสมผสานความหลากหลายของเชื้อชาติเเละวัฒนธรรม ดึงดูด Top Talent จากทั่วโลก


เติบโตไร้ขีดจำกัด ฉบับ THE METAMORPHOSIS

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เเละมีเเนวโน้มจะเติบโตได้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า เเละเส้นทางนี้ก็เหมือนการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่ต้องใช้ความพยายาม อดทนเเละต้องคว้าโอกาสสำคัญให้ได้ พร้อมการวางเเผนกลยุทธ์ที่ดี การเติบโตของ KBank จึงเปรียบเสมือน ‘Metamorphosis’ วิวัฒนาการเชิงความคิด การเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย

เปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจไปสู่การให้บริการที่เหนือกว่าธุรกิจธนาคาร ผ่านการสร้างโซลูชันและยกระดับการให้บริการเพื่อมอบชีวิตที่ดีให้ลูกค้า ตาม 3 วิสัยทัศน์หลัก คือ

Limitless Opportunity ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด

Seamless Connectivity ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

Borderless Growth สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ศักยภาพ (Capabilities) ทุก ๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต


โอกาสอยู่ในทุกๆ การเปลี่ยนเเปลง

ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า โลกยุคใหม่หลังโควิด-19 เปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก มีทั้งความซับซ้อนเเละท้าทาย เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปเร็วกว่าเดิม 4-10 ปี ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ โดยสามารถเเบ่งเป็น 4 ธีมการเปลี่ยนเเปลงของโลกในระยะต่อไป ได้เเก่

DECOUPLING สำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลานี้ เกิดการประลองกันของมหาอำนาจโลก มีการกีดกันทางการค้าและเเข่งขันกันด้านเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นโอกาสที่ไทยเเละ ‘อาเซียน’ จะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ทั้งจีน และสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ ซึ่งต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค

ในประเด็นต่อมาคือ REGIONALIZATION 2.0 การปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีน ที่จะผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศ ที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม

“ธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูง ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก รวมถึงมีความได้เปรียบทั้งเรื่องความสัมพันธ์ วิถีชีวิต มีศักยภาพสูงในการลงทุนทั้งเรื่องของค่าแรง กฎระเบียบต่างๆ”

สำหรับโอกาสของ NEXT-GEN DIGITALIZATION เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ส่วนอีกกระแสสำคัญของปัจจุบัน คือ DECARBONIZATION ที่นานาประเทศเริ่มมุ่งไปสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’ ซึ่งการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

โดยทางจีนที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด ก็มีการประกาศเป้าหมายนี้มาเเล้ว เชื่อว่าต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ ทั้งภาครัฐเเละเอกชนในด้านต่างๆ อย่างพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ เเละรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

“นี่เป็นโอกาสของการทำธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ของไทยเเละอาเซียน ยกระดับเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า”

ด้านความเห็นต่อกระเเส Crypto Economy ผู้บริหารกสิกรไทยมองว่า ต่อไปจะเป็นการรวมกันระหว่างตลาดการเงิน สินทรัพย์ดิจิทัลเเละภาคธุรกิจต่างๆ เช่นการนำ  Metaverse มาปรับใช้ จะช่วยสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น การซื้อขายผ่านเงินสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือซื้อขายผ่าน NFT (Non-Fungible Token) สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมรับทุกบริการเพื่อธุรกิจยุคใหม่

 ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา KBTG เพิ่งส่งบริษัทลูกในเครืออย่าง KASIKORN X หรือ KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi เปิดตัว ‘Coral’  มาร์เก็ตเพลส NFT ที่ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป สร้างโอกาสศิลปินไทยสู่ระดับสากล (คลิกอ่าน ที่นี่)

 โดยโจทย์หลักของ KBank คือ การมุ่งสู่โลกการเงินแห่งอนาคต ยกระดับความสามารถความรู้ให้ทั้งบุคลากรของธนาคาร และลูกค้าเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน และเรื่อง ESG ที่การเติบโตของธุรกิจไม่ได้ดูแค่ผลกำไรเท่านั้น เเต่จะต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย


เทคโนโลยีคือจุดเชื่อมโยง ต่อยอดฟินเทคจีน-อาเซียน

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (Group Chairman-KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนในของ ‘ตลาดจีน’ ว่ามี FinTech Landscape ที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,412 ล้านคน เเละมีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงมากๆ ใช้จ่ายด้านออนไลน์สูง เเละเป็นตลาดที่มีการเเข่งขันสูง เป็นโอกาสของกสิกรไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดเเละเรียนรู้ได้

ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไท่ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited : KTECH) ที่เซินเจิ้น ซึ่งภารกิจหลักๆ  คือการ ‘หาบุคลากร’ จีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เเลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

โดยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในจีน ก็คือ คลาวด์คอมพิวติ้ง นาโนไฟเเนนซ์ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน 5G เเละความปลอกภัยไซเบอร์

ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน  และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569  “การทำงานของเราจะเป็นไปในรูปแบบ Fast-Fun-Flow-Feedback ทำอย่างรวดเร็วด้วยความสนุก”

ส่วนเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 50 ล้านผู้ใช้ในอีก 5  ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้จำนวนผู้ใช้ในปัจจุบันก็ใกล้เเตะ 20 ล้านรายแล้ว


World Business Group : ก้าวต่อไป KBank ธนาคารเเห่งภูมิภาค

ภัทรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่ม World Business Group (WBG) ที่ได้สร้างการเปลี่ยนสู่ธุรกิจ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ว่า ด้วยความที่ KBank นิยามตัวเองว่าเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มี banking license จึงเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ ได้อย่าง ‘ตัวเบา’ โดยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ในจีนนั้นจะใช้บนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงินสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนพร้อมจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปต่อยัง ‘เวียดนาม’ ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ

ได้แก่ KBank Biz Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงินและ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย

“ในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”

สำหรับในตลาดกัมพูชา KBank พร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดาย ผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาวจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า

เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้าง บริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เปิดพื้นที่เเชร์ไอเดีย เป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น  WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

ธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ อย่าง

Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย

Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก

Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

“เราจะได้สร้างสิ่งใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เเค่พนักงานไม่เคยทำ เเต่ KBank เองก็ยังไม่เคยทำ เป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงานที่จะได้ไปเจอ ให้โอกาสในการเเสดงศักยภาพ เเชร์ไอเดียทำงาน เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่ใจกล้า มีความอยากเรียนรู้เข้ามาช่วยเราทำงาน เเละเติบโตไปด้วยกัน”  ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

โดยสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยอยากจะเป็นจริงๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือการเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือลูกค้า เเละ ‘เป็นที่รัก’ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ เเละก็เชื่อว่าทีมงานของเราทุกคนมีความเชื่อเเละปรัชญานี้เหมือนกัน ที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต พัฒนาสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก

 

]]>
1367289
ไปไกลกว่าค้าปลีก ‘Walmart’ ลุยปั้นสตาร์ทอัพ ‘ฟินเทค’ ให้บริการทางการเงินกับผู้บริโภค https://positioningmag.com/1313802 Tue, 12 Jan 2021 06:55:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313802 ในยุคที่เศรษฐกิจไม่เเน่นอนเเละพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเเปลงตลอดเวลาการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกต่อไป 

Walmart ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่เเห่งอเมริกา ที่มีสาขามากกว่า 4,700 เเห่ง เป็นอีกเจ้าที่มีการขยายการลงทุนธุรกิจไปในน่านน้ำอื่น ทั้งเเบรนด์เเฟชั่น คลินิกสุขภาพต้นทุนต่ำและธุรกิจประกันภัย 

ล่าสุด Walmart จับมือกับ Ribbit Capital บริษัทลงทุนที่อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นชื่อดังอย่าง Robinhood เตรียมปลุกปั้นสตาร์ทอัพฟินเทค’ (FinTech) บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของตัวเองขึ้นมา

โดยจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการค้าปลีกของ Walmart เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านฟินเทคของ Ribbit Capital เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับลูกค้าและพนักงานของ Walmart

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่ได้เปิดเผยว่าบริษัทใหม่เเห่งนี้จะมีชื่อว่าอะไรหรือจะให้บริการเมื่อใด โดยบอกแต่เพียงว่า “จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นเอกลักษณ์และราคาไม่แพง”

หลังประกาศข่าวนี้ ราคาหุ้นของ Walmart เพิ่มขึ้น 1.5% ทำให้มูลค่าบริษัทของ Walmart ขยับมาอยู่ที่ 416,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

John Furner ซีอีโอของ Walmart ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาลูกค้าหลายล้านคนได้ให้ความไว้วางใจใน Walmart ที่ไม่เพียงจะช่วยประหยัดเงินเมื่อซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยจัดการความต้องการทางการเงินของพวกเขาด้วย

(Photo by Al Bello/Getty Images)

Walmart หันมาสนใจธุรกิจให้บริการทางการเงิน โดยการเริ่มทดลองตลาดด้วยการออก Walmart MoneyCard บัตรเดบิตแบบเติมเงินเพื่อซื้อสินค้าภายในร้าน ชูจุดเด่นหลักๆ อย่างการไม่มีค่าธรรมเนียมเบิกเกินบัญชีหรือรายเดือน และไม่มีข้อกำหนดยอดเงินขั้นต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแผนชำระเงินทางเลือกเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโถคที่มีงบจำกัด เช่น Layaway และ Affirm ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคที่อนุญาตให้ลูกค้าซื้อสินค้าออนไลน์ เเละสามารถผ่อนชำระทีหลังได้ 

Bloomberg มองว่า เป้าหมายในธุรกิจฟินเทคของ Walmart คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับที่ Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในเอเชีย เป็นทั้งผู้ค้าปลีกออนไลน์และผู้ให้บริการทางการเงินในแพลตฟอร์มเดียวกัน

การขยายไปรุกตลาดฟินเทคอย่างจริงจังของ Walmart ครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในสงครามค้าปลีกยุคใหม่ที่จะเอามาต่อกรกับ Amazon ค้าปลีกออนไลน์ที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากในวิกฤต COVID-19

 

 

ที่มา : Bloomberg , CNBC , Businesswire

]]>
1313802
“กล้าที่จะดิสรัปตัวเองและพร้อมที่จะปรับตัวสู่อนาคต” วิธีคิดที่ทำให้เกิด Big Move ที่ขยายการเติบโตรูปแบบใหม่ๆ ของ KBank ล่าสุดยกเคแบงก์ไปไว้ในแชทของ LINE – Super App ที่มีคนไทยใช้งานกว่า 47 ล้านคน https://positioningmag.com/1306893 Mon, 30 Nov 2020 10:00:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306893

ธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์” ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเราทุกคนอยู่ในยุคเเห่งเทคโนโลยี ทุกวันนี้เเอปพลิเคชัน “โมบายเเบงกิ้ง” กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีติดไว้ในมือถือไปเเล้ว ทำให้ธนาคารต่างๆ กำลังเปิดศึกเเย่งฐาน “ลูกค้าออนไลน์” กันอย่างดุเดือด

แบงก์สีเขียวอย่าง ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เป็นค่ายแรกที่ประกาศบุกทางดิจิทัลอย่างเต็มตัว ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง ด้วยยอดผู้ใช้ K PLUS  ถึง 14 ล้านบัญชี จากฐานลูกค้าบุคคลที่มีบัญชีเงินฝากของกสิกรไทยทั้งหมดราว 16.7 ล้านบัญชี

แต่ KBank ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ นอกจากการปรับช่องทางการให้บริการให้เป็น multi-channels ที่พร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าหลากหลายรูปแบบแล้ว KBank ยังวางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Open Banking ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่ความสำเร็จของ K PLUS เท่านั้น และ KBank จะอยู่แค่ในที่ที่เคยอยู่ไม่ได้อีกต่อไปเพราะทุกวันนี้การแข่งขันไม่ได้มีแค่ธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่ม non-bank ฟินเทคต่างๆ อีก

“ดิสรัปตัวเองดีกว่าถูกคนอื่นดิสรัป” ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เคยพูดไว้และทำให้เห็นชัดเจนถึงยุทธศาสตร์สำคัญของ KBank

ด้วยวิธีคิดและวางแผนล่วงหน้าแบบนี้ เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวที่เป็น “บริการทางการเงิน” (Banking Service) รูปแบบใหม่ๆ ที่ KBank พัฒนาเพื่อไปรวมอยู่กับธุรกิจหรือบริการไหนๆ ก็ได้   มากกว่าติดยึดรูปแบบการให้บริการของธนาคารแบบเดิมๆ

ยกตัวอย่างเช่น บนแอป K PLUS ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของแบรนด์ดังๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการรูปแบบใหม่ๆ บน K PLUS ที่มากกว่าการโอน เติม จ่าย เช่น ฟีเจอร์เพิ่มบัตรสมาชิก The 1 ทำให้ลูกค้าสามารถแลกพ้อยท์ระหว่างแบรนด์ได้, เปิด K+ Market ที่เป็นแหล่งรวมดีลดีๆ ให้ลูกค้าได้ใช้คะแนนสะสมบัตรเครดิตกสิกรไทยแลกซื้อสินค้า เป็นต้น

และที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นข่าวคราวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า KBank ได้ประกาศความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายเจ้าที่มีสินค้าและบริการที่ลูกค้าใช้เป็นประจำทุกวันรวมกว่า 50 แบรนด์ เช่น Grab, Facebook, LINE, Lazada, Shopee, Central JD FinTech, JD Central, เครือ OR, YouTrip เป็นต้น เป็นการพาตัวเองไปหาโอกาสใหม่ๆ กับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางที่ตนเองใช้เป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ และสร้างรายได้ใหม่ต่อไปในอนาคต

พัฒนา LINE BK ตอบโจทย์วันนี้ที่คนไทยกว่า 47 ล้านคนใช้ LINE ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 63 นาที

LINE เป็น Super App ระดับโลก ในประเทศไทยมีคนใช้งานกว่า 47 ล้านคนหรือคิดเป็นประมาณ 67% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย LINE เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันประจำวันที่ขาดไม่ได้ของคนไทย โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 63 นาที

วันนี้ LINE BK เปิดให้บริการแล้ว โดยให้คำจำกัดความตัวเองว่า เป็นบริการทางการเงินแบบSocial Banking เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เหมือนยกบริการของ KBank ให้ลูกค้าได้ใช้งานง่ายๆ ในแชท LINE

งานนี้เรียกว่า KBank สยบทุกคำทำนายที่เคยบอกว่า แบงก์ไทยจะไม่รอดถ้า Social Banking เกิดขึ้น เพราะวันนี้ KBank จัดตั้ง Social Banking ขึ้นมาเองเลย เป็นดีลระดับโลกร่วมกับ LINE Financial ตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด เพื่อให้บริการสินเชื่อ เริ่มต้นทำงานกันมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนและใช้เวลาพัฒนาร่วมกันจนออกมาเป็นบริการ LINE BK วางคอนเซปต์เน้นสไตล์ใกล้ชิดลูกค้าว่า “เรื่องเงินง่ายใน LINE คุณ” “ยืมเงิน LINE ง่ายกว่า”

มีข้อมูลน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ซึ่งประชากร 69 ล้านคน เเบ่งเป็น

  • กลุ่มที่ 1 : Banked – คนไทย 37% เข้าถึงบริการธนาคาร และใช้บริการธุรกรรมการเงินอย่างเต็มรูปแบบ เช่น มีบัญชีเงินฝาก, มีบัตรเครดิต, ซื้อประกันเเละซื้อกองทุน
  • กลุ่มที่ 2 : Underbanked – คนไทย 45% มีโอกาสเข้าถึงบริการธนาคาร และบริการทางการเงินแบบ “ผิวเผิน” คือมีบัญชี แต่ยังไม่เข้าถึงผลิตภัณฑ์ บริการอื่นๆ
  • กลุ่มที่ 3 : Unbanked คนไทย 18% ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน คือไม่มีบัญชีเลย

ดังนั้น วิธีการใช้งาน LINE BK จึงง่ายมาก แค่เปิดบัญชี LINE BK บน LINE แล้ว เจ้าของบัญชีสามารถ แชท โอน ยืม จ่าย อยู่ใน LINE ได้เลย รวมถึงบริการสินเชื่อที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดให้กับลูกค้ากลุ่มฟรีแลนซ์ หรือคนไม่มีรายได้ประจำสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ผลจากการคิดก่อน มองไกล และเริ่มก่อน ย่อมได้เปรียบ เพราะมาวันนี้ การพัฒนาร่วมกันกับบิ๊กแบรนด์ทั้งหลาย ทำให้ KBank เริ่มทยอยปล่อยบริการใหม่ๆ ที่เรียกว่าพลิกโฉมวงการการเงินออกมาเรื่อยๆ และตอกย้ำความแข็งแกร่งของ KBank

]]>
1306893
MUFG จ่อลงทุน Grab กว่า 2 หมื่นล้าน ดันเป็น “ซูเปอร์เเอป” เจาะชาวอาเซียนที่เข้าไม่ถึงเเบงก์ https://positioningmag.com/1265381 Fri, 21 Feb 2020 05:01:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265381 สถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) เตรียมทุ่มลงทุนในสตาร์ตอัพยูนิคอร์น “Grab” กว่า 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายการบริการด้านการเงินในอาเซียนซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของ Grab เเละกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เข้าถึงธนาคาร

Nikkei Asian Review รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังจะประกาศข่าวการลงทุนอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ ซึ่งจะทำให้ MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้นหุ้นมากที่สุดในบรรดากลุ่มสถาบันการเงินด้วยกัน เเต่ก็ยังน้อยกว่า Softbank Group บริษัทด้านโทรคมนาคมเเละการสื่อสาร ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Grab เช่นเดิม

ทั้งนี้ Grab นับเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 1.4 หมื่นล้านเเละผู้นำด้าน ride-hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้ราว 170 ล้านคน (จากการโหลดเเอป) โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2012 เริ่มต้นจากการทำธุรกิจในมาเลเซีย จากนั้นได้ย้ายเข้าสู่ตลาดและกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ อย่างการส่งอาหารและบริการทางการเงิน

สำหรับกลยุทธ์ที่ MUFG จะร่วมมือกับ Grab คือการนำเสนอบริการใหม่ โดยตั้งเป้าจะเป็น “ซูเปอร์เเอป” ที่ให้บริการผู้บริโภคทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อและประกันภัยที่จะได้ต่อยอดจากข้อมูลดาต้าของผู้ใช้ Grab รวมถึงนำ Digital Skill จาก Grab มาพัฒนาดิจิทัลเเพลตฟอร์มของ MUFG ให้แข็งแกร่งขึ้น

MUFG มองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตในธุรกิจการเงินสูงซึ่งในปี 2013 ได้เข้าซื้อธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือเเบงก์กรุงศรีของไทย และลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในเวียดนามฟิลิปปินส์และที่อื่น ๆ เมื่อปีที่แล้วก็ได้ซื้อธนาคาร Danamon ของอินโดนีเซีย

รายงานระบุว่า ชาวอาเซียนจำนวนมาก ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจากธนาคารโดยในอินโดนีเซียมีประชากร 50% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคารส่วนเวียดนามและฟิลิปปินส์มีเพียง 30% เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีเกือบ 100% เเล้ว

ดังนั้นการที่ MUFG จับมือกับ Grab จึงเป็นการเดินเกมกลยุทธ์สำคัญในการหาลูกค้าใหม่ที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารนั่นเอง

 

ที่มา : Nikkei Asian Review , techinasia

]]>
1265381
เปิดศึกหาลูกค้าเงินกู้ ! บิ๊กธนาคาร เเข่งปล่อยสินเชื่อเอาใจ “ผู้ขายออนไลน์” บนอีคอมเมิร์ซ https://positioningmag.com/1256601 Wed, 11 Dec 2019 09:44:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1256601 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในไทยกำลังลงสนาม “สินเชื่อออนไลน์” เอาใจเหล่า “ผู้ขายอีคอมเมิร์ซ” กันโครมๆ ทั้งปล่อยหมัดเด็ดกู้เร็วใน  1 นาทีไม่ต้องใช้เอกสาร หรือให้วงเงินกู้ 1 ล้านในวันเดียว ถ้ามีเงินหมุนเวียนธุรกิจดี

การขยับมา “หาลูกค้าเงินกู้” บนเเพลตฟอร์มใหม่ของธนาคาร ถือเป็น “Big Move” สำคัญทั้งด้านความท้าทายเเละโอกาส เพราะในไทยมีพ่อค้าเเม้ค้าที่เป็น SMEs รายย่อยเยอะมาก ครองตลาดขายของออนไลน์ เเตกต่างจากประเทศอื่นที่มักเป็นบริษัทห้างร้านใหญ่

เเละเหมือนเป็นการอุดช่องโหว่ “กู้นอกระบบ” ที่ไม่ปลอดภัยของไทยด้วย ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของคนค้าขายไทยมาช้านาน นั่นคือการ “หมุนเงินไม่ทัน หาที่กู้ไม่ได้” คราวนี้ถ้าคุณค้าขายด้วยความสุจริต มีประวัติดีก็สามารถกู้ได้จากแอปพลิเคชั่นมือถือ ไม่ต้องเสียเวลามาธนาคาร ได้ทุนมาสต็อกของทันเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่อย่าง 11.11 , 12.12

เรียกได้ว่า “วิน-วิน” กันทั้ง 3 ฝ่าย คือผู้ขายได้เงินทุนมาหมุนทัน ขายของดี – ธนาคารได้ดอกเบี้ย – เเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดขายมากขึ้น สร้าง Branding เเละช่วยผู้ขายชั้นดีขยายกิจการในระยะยาว

ศึกชิงตลาดเงินกู้ผู้ขายออนไลน์  

ธนาคารกสิกรไทย เพิ่งออกสโลเเกน “ปฏิวัติเงินกู้ผู้ขายออนไลน์ รู้ผลไว 1 นาที” มาหมาดๆ หลังจับมือกับอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่เเห่งอาเซียนอย่าง Lazada (ลาซาด้า) เเละ Shopee (ช้อปปี้) เเละวันนี้ (11 ธ.ค. ) ธนาคารยูโอบี ก็เปิดตัว สินเชื่อ UOB BizMerchant เพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 วันพร้อมระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจรายย่อยเหมือนกัน

สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “เราเล็งเห็นถึงความต้องการในกลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ ด้านความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเอสเอ็มอีปัจจุบันต้องใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เพื่อทำการตลาดและเพิ่มยอดขายโดยรวม เราเข้าใจความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการออร์เดอร์และสต็อกสินค้าผ่านช่องทางการขายหลายช่องทาง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ Lazada และเบ็นโตะเว็บในครั้งนี้ ที่จะทำให้เราสามารถช่วยผู้ค้า ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่รวดเร็ว พร้อมเครื่องมือในการช่วยจัดการระบบร้านค้า”

ด้าน วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า  “เราเชื่อว่าผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีการสต็อกของไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ดังนั้นเราจึงให้กู้ตั้งเเต่ 2,000 บาทขึ้นไป โดยไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร ไม่ต้องยื่นเอกสาร ให้เอาเวลาไปทำมาหากินขายของดีกว่า ง่ายกว่าการแชทไปขอยืมเงินเพื่อนเสียอีก”

“เราตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นปี 2563 จะปล่อยกู้ได้ราว 1 หมื่นคน คิดเป็นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เเละคิดว่ายอดจะโตได้กว่านี้อีก เพราะเเพลตฟอร์ม Lazada ใหญ่มาก”

ผู้บริหารกสิกรไทย ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า “จะมีรายได้จากในส่วนของดอกเบี้ยอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกสิกรไทยเช่นกันในแพลตฟอร์มนี้ แต่ด้วยปัจจุบันเรามีลูกค้าเงินกู้ในระบบที่เป็น SMEs ถึง 40% จึงต้องการสนับสนุนอย่างแท้จริง”

เทียบชัดๆ เงินกู้ออนไลน์ UOB vs KBank

UOB BizMerchant  

สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์ม Lazada สินเชื่อดังกล่าวมอบ วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาสัญญา 12 เดือน อนุมัติวงเงินภายภายใน 1 วัน เมื่อได้รับเอกสารครบ ลดระยะเวลาจากเดิม 7 วัน ในการขอสินเชื่อธุรกิจแบบเดิม เนื่องจากธนาคารจะใช้ข้อมูลเชิงลึกจากลาซาด้า ในการพิจารณาการให้สินเชื่อ

โดยผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในนามบุคคลทั่วไปหรือจดทะเบียนนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจบน Lazada  มาอย่างน้อย 6 เดือน และมีรายได้รวมเฉลี่ยในรอบ 6 เดือนล่าสุดมากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป สามารถยื่นขอสินเชื่อ UOB BizMerchant ได้ และรับสิทธิพิเศษใช้บริการจากเบนโตะเว็บ ฟรี 3 เดือนแรก เพื่อบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน ทั้งในเรื่องการจัดการคลังสินค้า การคำนวณค่าจัดส่ง บริหารคำสั่งซื้อจากหลายช่องทาง การตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย เป็นต้น

Kbank Lazada (Xpress Loan)

จุดเด่นอยู่ที่การอนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องใช้หลักประกัน ไม่ต้องมีเอกสาร และฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยวงเงินกู้จาก 20,000 – 600,000 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ขายออนไลน์บนลาซาด้า มีเงินทุนเพื่อหมุนเวียนและต่อยอดได้ทันความต้องการของธุรกิจ

โดยผู้กู้ต้องเปิดร้านกับ Lazada มาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีประวัติการค้าขายที่ดี มียอดขายสม่ำเสมอ มีความน่าเชื่อถือเเละมีการเปิดบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย โดยจะได้รับการอนุมัติผ่านเเอปพลิเคชั่นอย่างเร็วที่สุดคือ 1 นาที เงินโอนเข้าบัญชีทันที เเละต้องดูเป็นรายบุคคล ซึ่งลาซาด้าจะเป็นผู้รับรองให้ว่าผู้ประกอบการว่าโปรไฟล์ดีพอจะกู้ผ่านหรือไม่

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น จะมีการคิดเเบบ Personalised Interest Rate ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราตามรายบุคคล เช่นหากคุณทำการค้าขายบน Lazada มายาวนาน ยอดขายสม่ำเสมอ รายได้ดี ก็จะได้รับดอกเบี้ยต่ำมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กสิกรไทยได้ประกาศความร่วมมือกับ ช้อปปี้ (Shopee) โดยมีการให้ “เงินกู้ธุรกิจออนไลน์” (MADFUND) ของร้านค้าบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ ไม่ต้องยื่นเอกสาร ไม่ต้องมีหลักประกัน สมัครง่ายผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS คัดกรองผู้รับสินเชื่อจากข้อมูลรายได้ และพฤติกรรมการค้าขายอื่น ๆ ประกอบกัน ด้วยวงเงินอนุมัติสูงสุด 600,000 บาทเช่นเดียวกัน

มองอนาคต ตลาดขายของออนไลน์ไทย 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ได้เริ่มจัดเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2557 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท เติบโต 10.4%  และปี 2561 มูลค่าพุ่งไปที่ 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 14.0%

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสะสมต่อปีอยู่ที่ 33% ระหว่างช่วงปี 2558-2562 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ เป็น 18,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2568 (อ้างอิงข้อมูลจาก Google, Temasek, Bain & Company e-Conomy SEA 2019 Report)

แจ๊ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวถึงความเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนเเละไทยว่า มีการเติบโตเป็นเท่าตัวเเละมีจำนวนผู้ซื้อโตกว่า 100% อย่างไรก็ตาม เเม้ตัวเลขจะดูเยอะเเต่คิดเป็นเพียง 3% ของภาพรวมทั้งหมด ด้วยจีนมีอยู่ถึง 20% เเละสหรัฐฯ อยู่ที่ 15% เเละนี่คือข้อบ่งชี้ว่าตลาดไทยเเละอาเซียนยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก จึงเป็นเป้าหมายของลาซาด้าที่ต้องการจะยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเพราะเชื่อว่าไม่มีแบรนด์ใดใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปสำหรับการประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ในขณะที่ จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่มีผู้ซื้อขายผ่านเเชทออนไลน์ในไทยมากขึ้นนั้นเป็นการผสมผสานข้อดีของการซื้อขายสินค้าในโลกออนไลน์เเละออฟไลน์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนประเทศอื่น โดยในไทยจะเป็นการพูดคุยเเบบ treat me like a friend ให้ความรู้สึกสนิทสนม ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจ เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่เน้นความเป็นสังคมและชุมชน เเละนั่นคือจุดเด่นของการขายสินค้าผ่านการเเชทออนไลน์ที่กำลังเติบโตนี้”

ผู้บริหาร Facebook มองว่า ในปี 2020 องค์กรหรือบริษัทห้างร้านใหญ่ จะกระโดดเข้ามาในตลาด Conversational Commerce มากขึ้น หลังจากผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SMEs คลองตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยมานาน ซึ่งธุรกิจก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันรับเทรนด์นี้

อ่านเพิ่มเติม : รู้จัก Conversational Commerce คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่าน “แชท” มากสุดในโลก

 

]]>
1256601
ไทยพาณิชย์ หั่นสาขา-ลดพนักงาน สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ในวันที่ดิจิทัลดิสรัปธนาคาร https://positioningmag.com/1154192 Mon, 22 Jan 2018 15:45:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1154192 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศปรับองค์กรครั้งใหญ่ รับมือยุคดิจิทัล และการไหลบ่าของแพลตฟอร์ม ที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญในอนาคต บวกกับผู้บริโภคยุคนี้ใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย ส่งผลกระทบให้การบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงสร้างรายได้ จากในอดีตที่ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 30% และ รายได้จากดอกเบี้ย 70% แต่จากนี้ไปรายได้จากค่าธรรมเนียมจะค่อย ๆ ลดลง

เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่า ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเคยได้จากการให้บริการโดยการใช้คน ได้ถูกเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การบริการอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ต้นทุนในการให้บริการลูกค้าลดลงอย่างมาก โจทย์ใหญ่ในปี 2561 จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง มิใช่เพียงให้อยู่รอดได้เท่านั้น แต่ต้องเป็น ธนาคารที่ลูกค้าเลือกและรักด้วย

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร บอกว่า หลังจากปีที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ได้ทรานสฟอร์มองค์กรเพื่อสร้างรากฐานใหม่รับกับยุคดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาใช้ ปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น โมบายแบงกิ้ง คิวอาร์โค้ด

รวมทั้งจัดโครงสร้างบริการใหม่ ให้เอื้อในการทดลองบริการ และผุดบริษัทลูกด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตร เพื่อมาร่วมต่อยอดบริการ แต่ก็ยังไม่พอ

พอมาปีนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังอยู่ในโหมดต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยใช้กลยุทธ์ กลับหัวตีลังกา หรือ Going Upside Down” ต้องบอกว่า ต่อจากนี้ ธนาคารต้องพลิกมุมคิด ฉีกทิ้งตำราเล่มเดิม เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้เท่าทันพฤติกรรมลูกค้าในโลกดิจิทัล

พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้แตกต่างจากเดิม และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสร้างพนักงานให้มีขีดความสามารถ และทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยพาณิชย์เป็น “The Most Admired Bank” (ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด)

กลยุทธ์ใหม่ที่ว่านี้ ครอบคลุมเรื่องปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และการเพิ่มบริการ และทำธุรกิจในโลกดิจิทัล โดยใน 3 ปีข้างหน้า จะมุ่งสู่การสร้าง Digital Platform ทางการเงิน ด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก

ส่วนรายได้หลักของะยังคงมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการบริโภค และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งธนาคารจะให้น้ำหนักมากขึ้น เพื่อต้องขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าแผนธุรกิจร่วมทุนกับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร และพันธมิตรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนระยะสั้น ธนาคารต้องลดจำนวนสาขาลง รวมทั้งลดจำนวนพนักงานลง ตั้งเป้าลดจำนวนสาขาเหลือ 400 จาก 1,153 สาขา ภายใน 3 ปี และลดจำนวนพนักงานเหลือ 15,000 คน จาก 27,000 คน

อาทิตย์บอกว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งปกติก็มีพนักงานลาออกอยู่แล้ว ปีละ 3,000 คน 3 ปีก็ 10,000 คน ซึ่งไม่ถือเป็นการปลดพนักงาน แต่เพื่อให้องค์กรเบาขึ้น และจะไม่หยุดรับพนักงาน แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ในยุคดิจิทัล แม้สาขาจะลดลง แต่ก็ต้องมีบริการอื่น ๆ เข้ามาแทน.

]]>
1154192
3 เทรนด์ พลิกโฉมบริการทางการเงิน ปี 2017 https://positioningmag.com/1113649 Tue, 17 Jan 2017 07:29:05 +0000 http://positioningmag.com/?p=1113649 แอมดอกซ์ ผู้ให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์และบริการในประเทศไทย โดย มาย่า บาร์เค่ ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลเปิดตัวระบบการชำระเงินแบบ พร้อมเพย์ (Promtpay) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payments System) คาดว่าประเทศไทยจะมีบัญชีบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตและมือถือจำนวน 30 ล้านบัญชีโดยประมาณ

การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีการชำระเงินที่ก้าวหน้ามากขึ้นกำลังเปลี่ยนทิศทางการทำธุรกิจทั่วโลก และเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการทางการชำระเงินบนมือถือต้องติดตามและปรับตัวตามเทรนด์ใหม่ๆ สำหรับเทคโนโลยีมือถือและดิจิทัล

โดยในปี 2560 จะมี 3 เทรนด์ดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินบนมือถือ มีดังต่อไปนี้

เงินเสมือนจริง

นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา การปรากฏตัวของ “บิทคอยน์” ได้รับอิทธิพลมาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้กลายเป็นสกุลเงินหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดในโลกนี้ แม้จะมีความไม่มีเสถียรภาพ ธุรกรรมของบิทคอยน์มากกว่า 100,000 รายการ เกิดขึ้นในแต่ละวัน และปริมาณธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากเทคโนโลยี “บล็อกเชนแบบเพียร์ทูเพียร์” ที่เปลี่ยนแปลงของบิทคอยน์ ซึ่งจัดเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลกและได้รับการอัพเดตแบบเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำหรับคลังสินค้ายอดขายและบัญชีตลาดการโอนเงินทั่วโลกจะกลายเป็นสถานที่ที่บิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอนาคต

ในปัจจุบันการโอนเงินมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ที่คอยสนับสนุนครอบครัวและชุมชนที่ในประเทศที่ยากจนมากที่สุดบางประเทศ และอยู่ในระดับเดียวกับปริมาณความช่วยเหลือทางการเงินที่ได้รับ ในความเป็นจริงแล้ว การโอนงานสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ได้รับการประเมินจากธนาคารโลกขยายตัวถึง 6.3% หรือ 414 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 และจะมีปริมาณสูงถึง 540 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2016

อย่างไรก็ตาม ยอดเงินของการโอนเงินที่สูงในปัจจุบันได้สูญไปกับการเรียกเก็บค่าบริการที่สูงจากบริษัทตัวกลางด้วยปริมาณที่ส่งไปที่ 7.60% โดยเฉลี่ย ขณะที่ขั้นตอนการโอนเงินใช้เวลาสูงสุด 5-6 วัน ซึ่งค่าธรรมเนียมที่สูงและความล่าช้าเหล่านี้ผลักดันให้คนทำงานนอกประเทศมองหาวิธีอื่นๆ ในการส่งเงินไปยังบ้านเกิดของตน ซึ่งธุรกรรมของ “บิทคอยน์” สามารถยืนยันจ่ายชำระ และลงชื่อโดยเครือข่ายโดยไม่เสียค่าบริการภายในหนึ่งชั่วโมงได้ พวกเขาจึงสร้างโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบเงินเสมือนจริงนี้ สามารถแปลงกลับไปเป็นสกุลเงินธรรมดาได้ใน อัตราแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าสำหรับการถอน โดยผู้รับผ่านโทรศัพท์มือถือหรือบัญชีธนาคาร ซึ่งดูเหมือนว่าการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของบิทคอยน์สำหรับการโอนเงินพร้อมที่จะเพิ่มอิทธิพลต่อภาคการเงินบนมือถือทั่วโลกแล้ว

ชำระเงินผ่าน Wearable Technology

1_money
ภาพจาก : Internet

การชำระเงินบนมือกลายเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคจำนวนมาก ในปัจจุบันผู้ผลิตกำลังมองหาการปรับเปลี่ยนกระบวนการดังกล่าวโดยช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้ชำระเงินด้วยเทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Technology)

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทด้านเทคโนโลยีได้เปิดตัวโซลูชั่นด้านวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายด้วยคลื่นความถี่ในระยะใกล้ (NFC) ที่สามารถใช้งานได้ดีกับโครงสร้างแบบไร้สัมผัสรวมทั้งเสียงกริ่งสายเชื่อมต่อและสติกเกอร์ อีกทั้งสายรัดข้อมือและนาฬิกาข้อมือที่สามารถทำงานในระบบการชำระเงินบนมือถือ ในขณะเดียวกันมีธนาคารจำนวนหนึ่งเลือกใช้เทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Technology) ในขณะที่หลายๆ องค์กรมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่นการชำระเงินบนมือถือมาเป็นนาฬิกาอัจฉริยะ

จากการพิจารณาสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม พบว่ามีผู้ใช้งานจำนวนมากที่ยังใช้งานสมาร์ทวอชเป็นจำนวนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558 และคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 34 พันล้านดอลลาร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ที่รองรับช่องทางการจ่ายเงินในรูปแบบ NFC ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการใช้งานของโซลูชั่นไร้สาย

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางแห่งคาดว่า สมาร์ทโฟนจะสามารถสร้างความโดดเด่นในกระบวนการชำระเงิน และอุปกรณ์ทางเลือกด้านการชำระเงิน

ไบโอเมตริกซ์

ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่เริ่มต้นทำธุรกรรมดิจิทัลบนมือถือมากกว่าในอดีต ซึ่งสามารถรองรับการตรวจสอบความถูกต้องได้ รวมทั้งการทำธุรกรรมบนมือถือจะมีการรองรับทางด้านความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายทางด้านความสมดุลของกระบวนการขั้นพื้นฐานที่เป็นไปได้สำหรับลูกค้าในอนาคต อีกทั้งกลุ่มของลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลหรือกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย ซึ่งให้ความสนใจกับมือถือเป็นอย่างมาก

2_money
ภาพจาก : Internet

แต่สำหรับลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มพิจารณาทางด้านดุลการชำระเงิน (BOP) จะอยู่ในส่วนล่างของพีระมิดทางเศรษฐกิจซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย AML และ KYC

ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2560 โซลูชั่นดังกล่าว ได้แก้เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์และกระบวนการจดจำลูกค้าแบบอัตโนมัติผ่านคุณลักษณะทางชีวภาพ เช่น การจดจำด้วยเสียงและลักษณะของรูม่านตา ลายนิ้วมือและรูปแบบการตรวจจับเส้นเลือดบนนิ้วมือ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ซ้ำกันสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคนเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

การใช้เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์สำหรับการจัดการ KYC ในบริการด้านการเงินและการธนาคารช่วยให้ตรวจสอบตัวตนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยลงอีกด้วย

โครงการ Biometrics Research Group เป็นการนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ระบบใหม่มาใช้งานในอุตสาหกรรมการเงินธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานของสถาบันทางการเงินอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า จนกว่าสถาบันทางการเงินจะพิจารณาและคิดค้นวิธีการตรวจสอบการด้านชีวภาพในระบบการดำเนินงานที่ดีที่สุด

เราได้ก้าวเข้าสู่ ปี 2560 เงินเสมือนจริงหรือเทคโนโลยี Block Chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Tech) และไบโอเมตริกซ์ล้วนเป็นเทรนด์ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อโลกแห่งบริการทางการเงินบนมือถือ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการพัฒนาภายในอุตสาหกรรมการบริการทางการเงินบนมือถือจากการมุ่งเน้นการทำงานสำหรับผู้ที่ต้องการตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของ ลูกค้ อนาคตของบริการทางการเงินบนมือถือจะกลายเป็นระบบดิจิทัลอย่างแท้จริง

]]>
1113649